Tuesday, July 31, 2007

บรรษัทภิบาล vs. บรรษัทบริบาล

เมื่อกล่าวถึงคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ หลักการที่มักถูกอ้างถึงคือ ธรรมาภิบาลในธุรกิจ ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งถือเป็นหลักการเบื้องต้นที่มุ่งสร้างให้องค์กรมีความ "ดี" อันเป็นรากฐานแห่งความยั่งยืนของกิจการ นอกเหนือจากการบริหารกิจการ เพื่อให้องค์กรมีความ "เก่ง" และนำไปสู่การเจริญเติบโตของกิจการ

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทภิบาล มาจากคำว่า บรรษัท + อภิ (แปลว่า เฉพาะ ข้างหน้า ยิ่ง) + บาล (แปลว่า การปกครอง การรักษา) หมายถึง การกำกับดูแลกิจการให้เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงื่อนไขของความถูกต้องโปร่งใส การมีจริยธรรมที่ดี โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในกิจการเป็นหลัก เรื่องของบรรษัทภิบาล ถือเป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่ต้องจัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลผลการปฏิบัติงานของกิจการ ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

หลักการสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทบริบาล ซึ่งถือเป็นหลักการที่มุ่งสร้างให้องค์กรมี "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ในการดำเนินธุรกิจด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองบรรษัท (Corporate Citizen)

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทบริบาล มาจากคำว่า บรรษัท + บริ (แปลว่า ทั้งหมด ออกไป โดยรอบ) + บาล หมายถึง การดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข เรื่องของบรรษัทบริบาล จึงเป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่จัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลัง และความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, July 24, 2007

จากแผนฯ 1 สู่แผนฯ 10 : สังคมได้อะไรบ้าง

แนวคิดเศรษฐศาสตร์ตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลในการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (2504-2509) และ 2 (2510-2514) โดยแนวคิดที่เป็นตัวแบบสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจในขณะนั้น คือ ตัวแบบของฮาร์รอด-โดมาร์ ที่เน้นการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยการกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ที่เสนอให้แก่ประเทศไทยโดยธนาคารโลกและที่ปรึกษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา

ครั้นถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (2515-2519) ซึ่งเป็นยุคที่ในสหรัฐอเมริกาได้นำเอา ตัวแบบของโซโลว์ มาศึกษา และเริ่มมี แนวคิดทุนมนุษย์ โดยชุลทซ์ ประเทศไทยก็ได้รับการถ่ายทอดความคิดนี้ผ่านผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ โดยรวมเอาการศึกษาที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสะสมทุนมนุษย์เข้าไปด้วย แต่ก็มิได้มีการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างสำคัญ ยังเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจากเงินกู้ต่างประเทศ และหาทางชำระหนี้ด้วยการเร่งการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายพื้นที่เพาะปลูก ลดพื้นที่ป่า และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก

ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว มีอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 7-8 ต่อปี ขณะเดียวกัน ก็เกิดปัญหาช่องว่างของการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมาก แต่การจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมก็มิได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีปัญหาการกระจายรายได้ที่แตกต่างกันมากตามมา

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 (2520-2524) ปรากฏว่า เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2522 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 11.6 ต่อปี นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เช่น กรณีการล้มของบริษัทราชาเงินทุน

ปัญหาสำคัญๆ หลายประการยังปรากฏอยู่ในช่วง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (2525-2529) เช่น เรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเกินตัวทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ ปัญหาสังคม และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (2530-2534) ปรากฏว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เพราะกลุ่มคนยากจน 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้ลดลง การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและวัฒนธรรม ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (2535-2539) ที่เริ่มให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่ามีบางเรื่องประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.2 ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.2 สัดส่วนคนยากจนในปี พ.ศ. 2535 ลดลงเหลือร้อยละ 13.7 ของประชากรทั้งประเทศ บริการพื้นฐานทั้งถนน ไฟฟ้า และประปา ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ คนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น และได้รับบริการทางสาธารณสุขครอบคลุมกว้างขวางขึ้น

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (2540-2544) ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาจากเดิมที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นจุดมุ่งหมายหลักแต่เพียงอย่างเดียว เป็นการเน้นให้คนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 และปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ประเทศไทยประสบปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า ฟองสบู่แตก ค่าเงินบาทผันผวน ปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาการว่างงาน ซึ่งสืบเนื่องมาจากสาเหตุทั้งภายในประเทศและจากภายนอกประเทศ จึงได้มีการปรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เป็นการด่วนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมุ่งเน้นการระดมและใช้ทรัพยากรจากทุกส่วนในสังคมมาใช้ เพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ได้มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ กระนั้นก็ตาม ก็มิได้มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ยังคงยึดการพัฒนาตามตัวแบบของระบบทุนนิยม และการใช้นโยบายประชานิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้ชุมชนขาดความเข้มแข็ง รอคอยแต่การรับความช่วยเหลือจากรัฐ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ปัญหาสังคม ปัญหาทุจริต โดยเฉพาะความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงยังต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society) ที่นอกจากจะมีเป้าหมายการพัฒนาคน ชุมชน เศรษฐกิจ ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมุ่งให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะในการบริหารจัดการประเทศด้วย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เพิ่มเติม: 8 มกราคม 2555) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555–2559) ได้จัดทำขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ ให้แก่ ปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ โดยใช้แนวคิดและทิศทางการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 พร้อมทั้งขยายการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพจาก 3 ทุน ทั้งทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น 6 ทุน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน

Tuesday, July 17, 2007

ค่าเงินบาท กับ หน้าที่ของเงิน

สถานการณ์ของค่าเงินบาทในปัจจุบัน ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการบริหารจัดการเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่หากดำเนินการอย่างไม่รอบคอบ จะสามารถส่งผลต่อสภาวการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ค่าเงินบาทที่แข็ง เป็นทั้ง “เหตุ” ที่ก่อให้เกิดผลต่างๆ ติดตามมา เช่น ส่งออกได้ยากขึ้น กำไรจากการค้าขายกับเมืองนอกลดลง ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็ง ก็เป็น “ผล” มาจากเหตุการณ์อื่นๆ เช่น เงินนอกไหลเข้ามามากด้วยเช่นกัน

เมื่อให้ความสำคัญกับสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีค่าขึ้นมาทันที คือ สัจธรรมของเรื่องทั้งหมด การมองย้อนกลับไปพิจารณาว่าหน้าที่ของเงินแต่ดั้งเดิมนั้น เป็นเพียงสื่อในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้การค้าขายมีความสะดวกคล่องตัว แทนการนำสินค้าต่อสินค้า หรือบริการต่อบริการมาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง และเพื่อขจัดปัญหาของความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงกัน

แต่ด้วยความสะดวกคล่องตัวในการถือเงินไว้เพื่อเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนนี้เอง ทำให้เงินกลายเป็นเครื่องมือในการสะสมมูลค่าขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครที่ต้องการเงินเพื่อไปลงทุนหรือใช้จ่าย ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนมือในรูปของดอกเบี้ยกู้ยืม ทำให้เงินกลายสภาพมาเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้เงินอีกสกุลหนึ่งในการซื้อขาย โดยมีการกำหนดราคาในรูปของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงิน

เมื่อเงินบาทเป็นที่ต้องการมาก ราคาย่อมสูงขึ้น ในทางการเงินเรียกว่า ค่าเงินบาทแข็งขึ้น เช่น เดิมทีเงิน 1 ดอลลาร์ สามารถซื้อสินค้าเงินบาทได้ 38 บาท แต่เมื่อเงินบาทแข็ง เงินดอลลาร์เดียวกันสามารถซื้อเงินบาทได้เพียง 33 บาท หากคิดในแบบชั้นเดียวว่า ถ้าอยากให้เงินบาทอ่อนลง ก็ผลิตเงินบาทออกมาให้มากขึ้น เหมือนสินค้าที่หากผลิตออกมาสู่ตลาดมากๆ ราคาก็ย่อมลดลง วิธีการนี้ส่งผลให้เงินบาทอ่อนตัวลงจริง แต่ก็มีผลอย่างอื่นเกิดขึ้นด้วย นั่นคือ ทำให้ค่าของเงินบาทลดลง เมื่อต้องนำเงินบาทไปซื้อสินค้าจริงๆ จะต้องใช้เงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า เงินเฟ้อ ตัวอย่างนี้ ชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของเหตุและผล (Cause and Effect) ที่ไม่ใช่แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งทำให้การแก้ปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องระมัดระวังผลอื่นที่จะติดตามมาด้วย

วิธีการที่ควรจะเป็นคือ การสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณเงินนอกที่ไหลเข้าและเงินบาทที่อยู่ในตลาด โดยทำได้สองทางๆ แรก มี 2 กรณีคือ การลดเงินนอกที่ไหลเข้า ซึ่งแน่นอนว่า ในระบบตลาดเสรี จะไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดได้โดยตรง แต่สามารถที่จะสร้างเหตุปัจจัยในการลดแรงจูงใจต่อการนำเข้าของเงินนอก โดยหากเป็นการไหลเข้าชั่วครั้งชั่วคราวหรือเข้ามาแสวงหาผลกำไรระยะสั้น การสร้างเหตุปัจจัยที่เหมาะสมก็ต้องเป็นมาตรการในระยะสั้น เช่น การใช้วิธีส่งสัญญาณด้วยข้อมูลข่าวสาร แต่หากเป็นการไหลเข้าเพื่อการลงทุนระยะยาว ก็สมควรที่จะพิจารณามาตรการในระยะยาว เช่น การปรับโครงสร้างภาษีหรือโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ

กรณีที่สองคือ การนำเงินนอกที่ไหลเข้าไปลงทุนนอกประเทศ ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณของเงินนอกที่อยู่ในลิ้นชักให้มีปริมาณที่พอเหมาะ โดยรัฐอาจไปลงทุนเอง หรือการอนุญาตให้เอกชนนำเงินไปลงทุนนอกประเทศได้เสรีมากขึ้น แต่วิธีนี้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมและบ่มเพาะความเชี่ยวชาญเพิ่มเติม เนื่องจาก การลงทุนมีความสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนเสมอ

ในอีกทางหนึ่ง คือ การเพิ่มปริมาณเงินบาทที่อยู่ในตลาด ด้วยวิธีกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีเงินบาทหมุนเวียนอยู่ในตลาดเพิ่มขึ้น แทนที่ต่างคนต่างเก็บเงินบาทไว้อยู่กับบ้านหรือในธนาคารโดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนมือ การกระตุ้นให้ใช้จ่ายมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ซึ่งต้องมีความระมัดระวัง เพราะจะสัมพันธ์กับภาวะการมีภูมิคุ้มกันของประชาชนในทางเศรษฐกิจยามที่ประสบปัญหา กับการใช้จ่ายเพื่อการสร้างและพัฒนาอาชีพของตัว หรือเพื่อการลงทุน ซึ่งประเภทหลังนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคตที่พึงส่งเสริมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

นอกเหนือจากสองแนวทางข้างต้น สำหรับปัจเจกชนคนธรรมดาที่เป็นทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ ก็สามารถนำสัจธรรมที่ว่า เมื่อให้ความสำคัญกับสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีค่าขึ้นมาทันที มาพิจารณาเพื่อค้นหาว่า จะมีหนทางใดหรือไม่ที่สามารถนำไปสู่การลดความสำคัญของเงินในฐานะที่เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง แต่ยังคงบทบาทของการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและการรักษาคุณค่า โดยไม่เลยไปถึงขั้นที่สะสมมูลค่าจนทำให้เกิดความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันเป็นจุดกำเนิดของลัทธิการถือเงินเป็นใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ระบบทุนนิยม

คำตอบของหนทางนี้ มีปรากฎอยู่แล้วอย่างชัดเจนในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ซึ่งมิได้ปฏิเสธความสำคัญหรือคุณค่าของเงิน แต่ต้องประกอบด้วยความพอประมาณในการให้ความสำคัญหรือคุณค่าของเงิน เช่น การไม่เห็นเงินเป็นนายเหนือชีวิต ความมีเหตุผลในการแสวงหาและการใช้จ่ายเงินไปในทางที่ถูกต้องและดีงาม เช่น การหารายได้ด้วยการประกอบสัมมาชีพอย่างซื่อสัตย์สุจริต การหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินไปกับอบายมุข รวมถึงการใช้คุณค่าของเงินเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีในรูปแบบต่างๆ เช่น การออม การประกันชีวิต การประกันสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับชีวิตในด้านจิตใจ นอกเหนือจากด้านวัตถุ ด้วยหนทางนี้ เงินจึงจะมีบทบาทสมกับหน้าที่ของการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, July 10, 2007

ดัชนี GNH (สุขแต่เฉื่อย) - GDP (เหนื่อยแต่ทุกข์)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เป็นการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีข้อจำกัดอยู่หลายประการสำหรับใช้วัดระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงทำให้มีผู้พยายามพัฒนาดัชนีทางเลือกเพื่อใช้เป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจแทนตัวเลข GDP และหนึ่งในดัชนีทางเลือกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ได้แก่ ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ที่ให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนในประเทศมากกว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ GDP ก็คือ ปัจจัยส่งออกจากกระบวนการผลิต และ GNH ก็คือ ปัจจัยส่งออกจากกระบวนการบริโภค ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ GDP แล้วหันมาใช้ GNH เป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจแทนนั้น เปรียบเหมือนกับการถ่ายโอนน้ำหนักความสำคัญจากกิจกรรมการผลิตมาสู่กิจกรรมการบริโภค ทั้งที่ในทางปฏิบัติไม่สามารถละเลยความสำคัญของกิจกรรมการผลิตหรือการบริโภคอันใดอันหนึ่งลงไปได้... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, July 03, 2007

จุดตรวจตราความพอเพียงของเศรษฐกิจชุมชน

ชุมชนถือเป็นหน่วยเศรษฐกิจระดับพหุภาคีที่เล็กที่สุด อันประกอบด้วยหน่วยการผลิต หน่วยการบริโภค อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนหลายๆ หน่วย มีหน่วยงานรัฐ และประชาคมเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้อง จนเกิดเป็นชุมชนทางเศรษฐกิจที่มีขอบเขตนับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนกระทั่งถึงระดับประเทศ

การจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนฐานล่างของปิระมิด โดยหากไร้ซึ่งความเข้มแข็งในเศรษฐกิจฐานรากนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

ปัจจัยที่เป็นข้อพิจารณาสำคัญของเศรษฐกิจในระดับชุมชน ก็คือ สภาพภูมิสังคมหรือปัจจัยเชิงพื้นที่ (Area-based Factor) ที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการไหลเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน และมักจะเกี่ยวข้องกับ 3 ฐานปัจจัยหลัก ได้แก่ ฐานทรัพยากร เช่น ป่า หรือวัตถุดิบที่หาได้เฉพาะในท้องถิ่น ที่เป็นปัจจัยนำเข้าสู่กระบวนการ (เทียบได้กับทุนทางกายภาพ และทุนสิ่งแวดล้อม) ฐานความรู้ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทักษะหรือความถนัดที่ใช้ในการประกอบการ (เทียบได้กับทุนมนุษย์) และฐานวัฒนธรรมหรือความเชื่อ เช่น ตำนานท้องถิ่นที่มีอิทธิพลต่อการประกอบการ (เทียบได้กับทุนทางสังคม) ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือเสริมสร้างความพอเพียงของเศรษฐกิจชุมชนที่ถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีของชุมชน

การสร้างจุดตรวจตรา (Checkpoint) ทางเศรษฐกิจขึ้นในชุมชน นับเป็นวิธีการหนึ่งในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความพอเพียงทางเศรษฐกิจของชุมชน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]