Tuesday, July 31, 2007

บรรษัทภิบาล vs. บรรษัทบริบาล

เมื่อกล่าวถึงคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ หลักการที่มักถูกอ้างถึงคือ ธรรมาภิบาลในธุรกิจ ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งถือเป็นหลักการเบื้องต้นที่มุ่งสร้างให้องค์กรมีความ "ดี" อันเป็นรากฐานแห่งความยั่งยืนของกิจการ นอกเหนือจากการบริหารกิจการ เพื่อให้องค์กรมีความ "เก่ง" และนำไปสู่การเจริญเติบโตของกิจการ

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทภิบาล มาจากคำว่า บรรษัท + อภิ (แปลว่า เฉพาะ ข้างหน้า ยิ่ง) + บาล (แปลว่า การปกครอง การรักษา) หมายถึง การกำกับดูแลกิจการให้เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงื่อนไขของความถูกต้องโปร่งใส การมีจริยธรรมที่ดี โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในกิจการเป็นหลัก เรื่องของบรรษัทภิบาล ถือเป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่ต้องจัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลผลการปฏิบัติงานของกิจการ ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

หลักการสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทบริบาล ซึ่งถือเป็นหลักการที่มุ่งสร้างให้องค์กรมี "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ในการดำเนินธุรกิจด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองบรรษัท (Corporate Citizen)

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทบริบาล มาจากคำว่า บรรษัท + บริ (แปลว่า ทั้งหมด ออกไป โดยรอบ) + บาล หมายถึง การดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข เรื่องของบรรษัทบริบาล จึงเป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่จัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลัง และความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

No comments: