สถานการณ์ของค่าเงินบาทในปัจจุบัน ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการบริหารจัดการเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่หากดำเนินการอย่างไม่รอบคอบ จะสามารถส่งผลต่อสภาวการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ค่าเงินบาทที่แข็ง เป็นทั้ง “เหตุ” ที่ก่อให้เกิดผลต่างๆ ติดตามมา เช่น ส่งออกได้ยากขึ้น กำไรจากการค้าขายกับเมืองนอกลดลง ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็ง ก็เป็น “ผล” มาจากเหตุการณ์อื่นๆ เช่น เงินนอกไหลเข้ามามากด้วยเช่นกัน
เมื่อให้ความสำคัญกับสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีค่าขึ้นมาทันที คือ สัจธรรมของเรื่องทั้งหมด การมองย้อนกลับไปพิจารณาว่าหน้าที่ของเงินแต่ดั้งเดิมนั้น เป็นเพียงสื่อในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้การค้าขายมีความสะดวกคล่องตัว แทนการนำสินค้าต่อสินค้า หรือบริการต่อบริการมาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง และเพื่อขจัดปัญหาของความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงกัน
แต่ด้วยความสะดวกคล่องตัวในการถือเงินไว้เพื่อเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนนี้เอง ทำให้เงินกลายเป็นเครื่องมือในการสะสมมูลค่าขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครที่ต้องการเงินเพื่อไปลงทุนหรือใช้จ่าย ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนมือในรูปของดอกเบี้ยกู้ยืม ทำให้เงินกลายสภาพมาเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้เงินอีกสกุลหนึ่งในการซื้อขาย โดยมีการกำหนดราคาในรูปของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงิน
เมื่อเงินบาทเป็นที่ต้องการมาก ราคาย่อมสูงขึ้น ในทางการเงินเรียกว่า ค่าเงินบาทแข็งขึ้น เช่น เดิมทีเงิน 1 ดอลลาร์ สามารถซื้อสินค้าเงินบาทได้ 38 บาท แต่เมื่อเงินบาทแข็ง เงินดอลลาร์เดียวกันสามารถซื้อเงินบาทได้เพียง 33 บาท หากคิดในแบบชั้นเดียวว่า ถ้าอยากให้เงินบาทอ่อนลง ก็ผลิตเงินบาทออกมาให้มากขึ้น เหมือนสินค้าที่หากผลิตออกมาสู่ตลาดมากๆ ราคาก็ย่อมลดลง วิธีการนี้ส่งผลให้เงินบาทอ่อนตัวลงจริง แต่ก็มีผลอย่างอื่นเกิดขึ้นด้วย นั่นคือ ทำให้ค่าของเงินบาทลดลง เมื่อต้องนำเงินบาทไปซื้อสินค้าจริงๆ จะต้องใช้เงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า เงินเฟ้อ ตัวอย่างนี้ ชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของเหตุและผล (Cause and Effect) ที่ไม่ใช่แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งทำให้การแก้ปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องระมัดระวังผลอื่นที่จะติดตามมาด้วย
วิธีการที่ควรจะเป็นคือ การสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณเงินนอกที่ไหลเข้าและเงินบาทที่อยู่ในตลาด โดยทำได้สองทางๆ แรก มี 2 กรณีคือ การลดเงินนอกที่ไหลเข้า ซึ่งแน่นอนว่า ในระบบตลาดเสรี จะไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดได้โดยตรง แต่สามารถที่จะสร้างเหตุปัจจัยในการลดแรงจูงใจต่อการนำเข้าของเงินนอก โดยหากเป็นการไหลเข้าชั่วครั้งชั่วคราวหรือเข้ามาแสวงหาผลกำไรระยะสั้น การสร้างเหตุปัจจัยที่เหมาะสมก็ต้องเป็นมาตรการในระยะสั้น เช่น การใช้วิธีส่งสัญญาณด้วยข้อมูลข่าวสาร แต่หากเป็นการไหลเข้าเพื่อการลงทุนระยะยาว ก็สมควรที่จะพิจารณามาตรการในระยะยาว เช่น การปรับโครงสร้างภาษีหรือโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ
กรณีที่สองคือ การนำเงินนอกที่ไหลเข้าไปลงทุนนอกประเทศ ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณของเงินนอกที่อยู่ในลิ้นชักให้มีปริมาณที่พอเหมาะ โดยรัฐอาจไปลงทุนเอง หรือการอนุญาตให้เอกชนนำเงินไปลงทุนนอกประเทศได้เสรีมากขึ้น แต่วิธีนี้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมและบ่มเพาะความเชี่ยวชาญเพิ่มเติม เนื่องจาก การลงทุนมีความสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนเสมอ
ในอีกทางหนึ่ง คือ การเพิ่มปริมาณเงินบาทที่อยู่ในตลาด ด้วยวิธีกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีเงินบาทหมุนเวียนอยู่ในตลาดเพิ่มขึ้น แทนที่ต่างคนต่างเก็บเงินบาทไว้อยู่กับบ้านหรือในธนาคารโดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนมือ การกระตุ้นให้ใช้จ่ายมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ซึ่งต้องมีความระมัดระวัง เพราะจะสัมพันธ์กับภาวะการมีภูมิคุ้มกันของประชาชนในทางเศรษฐกิจยามที่ประสบปัญหา กับการใช้จ่ายเพื่อการสร้างและพัฒนาอาชีพของตัว หรือเพื่อการลงทุน ซึ่งประเภทหลังนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคตที่พึงส่งเสริมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
นอกเหนือจากสองแนวทางข้างต้น สำหรับปัจเจกชนคนธรรมดาที่เป็นทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ ก็สามารถนำสัจธรรมที่ว่า เมื่อให้ความสำคัญกับสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีค่าขึ้นมาทันที มาพิจารณาเพื่อค้นหาว่า จะมีหนทางใดหรือไม่ที่สามารถนำไปสู่การลดความสำคัญของเงินในฐานะที่เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง แต่ยังคงบทบาทของการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและการรักษาคุณค่า โดยไม่เลยไปถึงขั้นที่สะสมมูลค่าจนทำให้เกิดความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันเป็นจุดกำเนิดของลัทธิการถือเงินเป็นใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ระบบทุนนิยม
คำตอบของหนทางนี้ มีปรากฎอยู่แล้วอย่างชัดเจนในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ซึ่งมิได้ปฏิเสธความสำคัญหรือคุณค่าของเงิน แต่ต้องประกอบด้วยความพอประมาณในการให้ความสำคัญหรือคุณค่าของเงิน เช่น การไม่เห็นเงินเป็นนายเหนือชีวิต ความมีเหตุผลในการแสวงหาและการใช้จ่ายเงินไปในทางที่ถูกต้องและดีงาม เช่น การหารายได้ด้วยการประกอบสัมมาชีพอย่างซื่อสัตย์สุจริต การหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินไปกับอบายมุข รวมถึงการใช้คุณค่าของเงินเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีในรูปแบบต่างๆ เช่น การออม การประกันชีวิต การประกันสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับชีวิตในด้านจิตใจ นอกเหนือจากด้านวัตถุ ด้วยหนทางนี้ เงินจึงจะมีบทบาทสมกับหน้าที่ของการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) [Archived]
Tuesday, July 17, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment