Saturday, December 31, 2022

3 ธีม ขับเคลื่อน ESG ประเทศไทย ปี 2566 (2)

สังคมไทย กำลังเผชิญกับความเสื่อมถอยทางจริยธรรมในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน การรับสินบนและการทุจริตเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทุกระดับ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อีกทั้งหน่วยงานป้องกันและปราบปรามต้องเผชิญกับการขาดความเป็นอิสระและได้รับอิทธิพลแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งการสมรู้ระหว่างฝั่งผู้ที่ถูกกล่าวหากับฝั่งผู้ที่มีอำนาจเหนือหน่วยงาน เพื่อร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริง และขัดขวางกระบวนการยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง

ตัวอย่างในภาคธุรกิจ มีกรณีกลุ่มทุนจีนสีเทา การฉ้อโกงกรณีแชร์ลูกโซ่และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในภาคการเมือง มีกรณีการจ้างหรือซื้อตัว ส.ส. ในการลงมติ ในภาคราชการ มีกรณีเรียกเงินวิ่งเต้นตำแหน่งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับอธิบดี ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์เชิงประจักษ์ที่วิญญูชนสามารถรับรู้ได้


CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ
ในการสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า คะแนนด้านธรรมาภิบาลของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 แห่ง อยู่ที่ 3.92 คะแนน จาก 10 คะแนน โดยประเด็นที่มีการเปิดเผยข้อมูลน้อยสุด ได้แก่ สภาพการจ้าง (Collective Bargaining) การให้ความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก (External Assurance) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ตามลำดับ

และจากข้อมูลดัชนีการปริวรรตเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Transformation Index: BTI) ที่บ่งชี้ถึงสถานะการพัฒนาและธรรมาภิบาลของประเทศกำลังพัฒนาต่อกระบวนการปริวรรตเศรษฐกิจและการเมืองใน 137 ประเทศ ซึ่งจัดทำมาตั้งแต่ปี 2546 เผยแพร่ประจำทุกสองปี พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีคะแนนด้านธรรมาภิบาลอยู่ที่ 4.02 จาก 10 คะแนน ซึ่งพิจารณาจาก 5 เกณฑ์ ได้แก่ ระดับความยากลำบาก สมรรถนะการอำนวยการ ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การสร้างฉันทามติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยดัชนีธรรมาภิบาลของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 92 จาก 137 ประเทศ

ขณะที่ ข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่ 110 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ปีล่าสุด (พ.ศ.2564) ได้ 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยทั้งระดับคะแนนและอันดับของประเทศไทยลดต่ำลงเรื่อยมาตลอดระยะ 5 ปี และยังเป็นคะแนนและอันดับในระดับที่ตกต่ำสุดของประเทศในรอบ 10 ปี

ในส่วนของภาคเอกชน มูลค่าการทุจริตที่เกิดระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกันเอง อาจสูงกว่ายอดทุจริตที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายเท่า และมีความยากต่อการตรวจสอบเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ ทำให้ไม่สามารถเก็บตัวเลขได้แน่ชัด ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตจะถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการ ที่ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงาน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า และยังไปบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจด้วย

ในการต้านทุจริตให้เกิดผล องค์กรธุรกิจต้องเข้าใจถึงช่องทางที่ตัวธุรกิจและวิธีดำเนินการของธุรกิจในจุดที่อาจเกิดการทุจริตขึ้น ซึ่งการประเมินความเสี่ยง จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดระดับของนโยบายที่ใช้ดำเนินการต่อต้านการทุจริตที่เหมาะสมกับกิจการ

การประเมินความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำแผนงานต่อต้านการทุจริตขององค์กร โดยใช้หลักที่ว่า “เสี่ยง” ที่ใด “ต้าน” ที่นั่น ซึ่งเริ่มจากการพิจารณาความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตจากลักษณะกิจกรรมทางธุรกิจ แหล่งดำเนินงาน สภาพอุตสาหกรรม เงื่อนไขทางธุรกิจและธรรมเนียมปฏิบัติในท้องถิ่น จากนั้นดำเนินการระบุโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ขนาดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร และที่สำคัญ คือ แนวทางในการลดความเสี่ยงและมาตรการในการป้องกันหรือต่อต้านการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลชุดหลังนี้ คือ ข้อมูลสำหรับใช้จัดทำนโยบายเพื่อระบุการดำเนินงานของกิจการ

สำหรับแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กระบวนงานหลัก ได้แก่ การให้คำมั่น (Commit) ประกอบด้วย การเปิดเผยคำมั่นที่จะดำเนินการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ การจัดทำแนวนโยบายให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารและการดำเนินการให้เป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร

การลงมือทำ (Establish) ประกอบด้วย การกำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตที่ระบุระดับการดำเนินการของบริษัท การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ เพื่อระบุการดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยที่มีความเสี่ยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การจัดทำนโยบายละเอียดสำหรับส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริต การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการเกิดทุจริต การสื่อสารและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตแก่พนักงานในทุกระดับ การสร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแส และกลไกการติดตามสำหรับการรายงานข้อกังวลหรือขอรับคำแนะนำ การวางกระบวนการดูแลติดตามและประเมินผลการต่อต้านการทุจริต การทบทวนผลการดำเนินการและการปรับปรุงนโยบายให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์

การขยายวง (Extend) ประกอบด้วย การจัดทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ การผลักดันให้คู่ค้าดำเนินการตามคำมั่น การเข้าเป็นแนวร่วมต้านทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ธุรกิจสังกัดอยู่หรือเรื่องที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจสอบเพื่อให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายนอก

การทุจริตเปรียบเหมือนโรคระบาดที่ติดต่อกันง่าย สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในองค์กรที่มีการป้องกันอย่างรัดกุม เนื่องจากผู้ก่อเหตุจะมีการพัฒนาเทคนิคการทุจริตใหม่ๆ ตลอดเวลา องค์กรจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามกรณีทุจริตอย่างรอบด้าน มีความทันสมัยและทันต่อเหตุทุจริตที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ ความเสียหายทางสังคมทั้งในเชิงกายภาพที่กระทบกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่จากโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคหรือบริการที่ไม่ได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและไม่ทั่วถึงแล้ว การทุจริตยังส่งผลถึงความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุจากการยักยอกและเบียดบังรายได้และงบประมาณแผ่นดินในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ที่เกิดขึ้นจากการเรียกเงินวิ่งเต้นตำแหน่งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอนุรักษ์ การคุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังกรณีที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานนี้

ในปี 2566 ภาคเอกชนที่มีกรอบการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน จำต้องเป็นผู้ริเริ่มลงมือดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังด้วย “ตนเอง” มากกว่าการบอกให้ “ผู้อื่น” ดำเนินการ จวบจนสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ลงมือปฏิบัติตามในที่สุด

ในบทความตอนหน้า จะพูดถึงแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ในธีม GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา โดยสามารถติดตามได้ทางคอลัมน์ Sustainpreneur แห่งนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 17, 2022

3 ธีม ขับเคลื่อน ESG ประเทศไทย ปี 2566 (1)

ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่มารุมเร้าทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งแยกสายอุปทานโลก ปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งจากปัจจัยภายในที่เป็นความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารแรงงานและความหลากหลาย รวมทั้งช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงาน เป็นต้น

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นอย่างมาก จนเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจ และได้กลายมาเป็นคำที่ใช้กันสามัญในปัจจุบัน


บทความในซีรีส์นี้ แบ่งเป็น 3 ตอน เพื่อนำเสนอแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ปี 2566 ใน 3 ธีม ได้แก่ LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ และ GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา

LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย
ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ที่เผยแพร่โดยธนาคารโลก ระบุว่าแม้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวและการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยประมาณการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2566 ขณะที่การขยายตัวของบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 4 เนื่องจากแรงกระตุ้นจากการกลับมาเปิดประเทศเริ่มแผ่วลง และการชะลอตัวในการเติบโตของการส่งออกสินค้ายังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย

สภาพัฒน์ ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. โดยรวมในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เทียบกับร้อยละ 7.5 ในปี 2565 โดยปริมาณการส่งออกสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนการส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับร้อยละ 3.9 ในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก

ในปี 2566 ภาคเอกชนที่มีกรอบการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน จำต้องมองหาความ “คุ้มค่า” มากกว่า “มูลค่า” จากการดำเนินงาน ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายรายรับจากการเน้นตัวเลขมูลค่างานที่สูง ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ การตั้งเป้าหมายหรือทำให้มีตัวเลขสุทธิในบรรทัดสุดท้ายเป็นบวก ด้วยการดูแลควบคุมรายจ่ายหรือต้นทุนของกิจการ ให้คุ้มกับมูลค่างานที่ได้รับ

หนึ่งในแนวทางการพัฒนาสมรรถนะทางธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ ได้แก่ การบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการของเสีย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การรีดไขมันส่วนเกินจากการใช้ทรัพยากรนำเข้าที่ด้อยประสิทธิภาพ อันเป็นบ่อเกิดของการสูญเปล่า อาทิ การผลิตเกิน การขนส่ง การรอคอย สินค้าคงคลัง การชำรุด การมีกระบวนการมากเกินไป และการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้กิจการพัฒนาปรับปรุงไปสู่การเป็น Lean Enterprise สำหรับรองรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงในปีหน้า

อีกแนวทางหนึ่งเป็นการลงทุนสร้างสมรรถนะให้แก่ธุรกิจในระยะยาว ด้วยการปรับให้ธุรกิจสามารถดำเนินอยู่ได้โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในช่องทางดิจิทัลเพิ่มเติมจากช่องทางแบบเดิม การฝึกฝนแรงงานให้สามารถปรับตัวเข้ากับทุกอุปสงค์ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถทำงานผสานเวลาทั้งในสำนักงานและจากระยะไกลได้ การปรับขนาดสถานประกอบการหรือเปลี่ยนแนวการดำเนินงานที่สามารถทำได้ในหลายสถานที่ตั้ง ทั้งในระยะไกล หรือโดยให้หุ้นส่วนดำเนินการแทน การลงทุนในเทคโนโลยีที่ถอดประกอบได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนของกิจการ แต่ยังคงไว้ซึ่งความปราดเปรียว (Agility) ในการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็ว หรือรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ได้ รวมถึงการเติบโตที่เหมาะกับขอบเขตงานหรือสอดคล้องกับกฎระเบียบที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งในแบบค่อยเป็นค่อยไปและในแบบพลิกผันได้อย่างทันท่วงที

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อกลยุทธ์การปรับตัวหลังโควิด องค์กรกว่าสองในสาม ระบุว่า การมีแผนการปรับตัว (Resilience) จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ หนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว โดยในบรรดาองค์กรที่มีแผนการปรับตัว ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด อยู่ที่ร้อยละ 90.7 รองลงมาคือ ด้านลูกค้า ร้อยละ 58.1 และด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 53.5 ตามลำดับ

ในบทความตอนหน้า จะพูดถึงแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ในธีม CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ โดยสามารถติดตามได้ทางคอลัมน์ Sustainpreneur แห่งนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 03, 2022

10 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับที่มาและตลาดคาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิต เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เห็นว่า ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศได้กำหนดให้มีการใช้กลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการซื้อขาย และการใช้คาร์บอนเครดิตในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและการตอบสนองต่อการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC)


การทำความเข้าใจถึงที่มาและกลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรูปแบบของตลาดคาร์บอนเครดิต จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในที่นี้ จะเป็น 10 ข้อควรรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับที่มาและตลาดคาร์บอนเครดิต

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ถูกริเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1992 เพื่อวางเป้าหมายการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในภาพรวม โดยกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นผู้นำร่องในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมให้มีการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา

พิธีสารเกียวโต ภายใต้กรอบ UNFCCC ถูกจัดทำขึ้นในปี ค.ศ.1997 เพื่อกำหนดกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายอันเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีพันธกรณีช่วงแรก ในระหว่างปี ค.ศ.2008-2012 และขยายเป็นพันธกรณีช่วงที่สอง ในระหว่างปี ค.ศ.2013-2020 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมโดฮา

ความตกลงปารีส ภายใต้กรอบ UNFCCC ถูกจัดทำขึ้นในปี ค.ศ.2015 ให้มีผลบังคับแทนที่กลไกพิธีสารเกียวโต เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการกำหนดพันธกรณี จากเดิมที่ผูกพันเฉพาะสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว มาเป็นการกำหนดเป้าหมายร่วมกันของรัฐภาคีทั้งหมด ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

● ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้ง UNFCCC (ในปี ค.ศ.1994) พิธีสารเกียวโต (ในปี ค.ศ.2002) การแก้ไขเพิ่มเติมโดฮา (ในปี ค.ศ.2015) และความตกลงปารีส (ในปี ค.ศ.2016)

● โดยที่ประเทศไทยไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในภาคผนวก 1 ของ UNFCCC อันเป็นผลให้ไม่เป็นประเทศที่มีข้อผูกพันในภาคผนวก B ตามพิธีสารเกียวโต จึงไม่มีเป้าหมายในการดำเนินการที่เป็นข้อผูกพันตามกฎหมาย

● จนกระทั่งการบังคับใช้ความตกลงปารีส ซึ่งกำหนดให้ทุกประเทศต้องเสนอแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ประเทศไทยจึงได้แถลงว่า จะมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ.2030 (หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ) และวางเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 รวมทั้งการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065

● ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงปารีส โดยยังมิได้มีการนำระบบตลาดคาร์บอนในรูปแบบ “ภาคบังคับ” มาใช้สำหรับการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดหรือใช้เพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ

● ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยปัจจุบัน ยังเป็นรูปแบบ “ภาคสมัครใจ” ที่เป็นการซื้อขาย และการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ภายในประเทศ

● แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ต้องเป็นคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและการผลิตความร้อน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน และในครัวเรือน การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นธรรมชาติ การใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ด การจัดการขยะมูลฝอย การจัดการน้ำเสียชุมชน การนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์ การจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม การลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร การดักจับ กักเก็บ และ/หรือใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก หรือโครงการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

● โครงการที่พัฒนาขึ้นสำหรับใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ต้องเป็นโครงการที่ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดหรือเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ในส่วนเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และมีกำหนดระยะเวลาการรับรองคาร์บอนเครดิต ไม่เกินระยะเวลาการดำเนินงานตามเป้าหมายของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งต้องเป็นโครงการที่มีการส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง และการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินเพื่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการลดก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดหรือเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นกลไกทางตลาด ตามความตกลงปารีส (และการเปลี่ยนผ่านจากพิธีสารเกียวโต) สามารถศึกษาได้จาก A Guide to UN Market-based Mechanisms


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 19, 2022

COP 27 กับการหารือกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (6-18 พ.ย.) ได้มีการจัดประชุม COP 27 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์

COP หรือ Conference of Parties เป็นการประชุมประจำปีเพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือ และกำหนดทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก โดยมีรัฐสมาชิก 193 ประเทศขององค์การสหประชาชาติส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม โดยได้จัดประชุมสมัยแรกเมื่อปี ค.ศ.1995


โดยสาระสำคัญของการประชุม COP ในสมัยที่ 27 นี้ คือ การทำตามคำมั่นสัญญาที่จะบรรลุเป้าหมายตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ประชาคมโลก ต้องร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ภายในปี ค.ศ.2100

หนึ่งในวาระการประชุมที่ได้รับความสนใจมาก คือ การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตที่เป็นไปตามบทบัญญัติของความตกลงปารีส ในข้อ 6

ในบทบัญญัติ ข้อ 6 มีเนื้อหาสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ข้อ 6 ย่อหน้า 2 ที่รัฐภาคีจะต้องมีกลไกการบันทึกบัญชีคาร์บอนที่มีการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ (ITMO) เพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) โดยมิให้เกิดการนับซ้ำ (Double Counting) ตามแนวทางที่รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

และข้อ 6 ย่อหน้า 4 ที่รัฐภาคีจะต้องมีกลไกที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีองค์กรกำกับดูแล (Supervisory Body) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส เป็นผู้ให้ความเห็นชอบและรับรองคาร์บอนเครดิต ที่ในเอกสารร่างข้อบท (draft text) ผลการประชุม เรียกว่า คาร์บอนเครดิตประเภท A6.4ERs ที่สามารถใช้เป็น ITMO และ/หรือบรรลุ NDC ได้

หมายความว่า คาร์บอนเครดิตประเภท Certified Emission Reductions (CERs) ซึ่งเป็นใบรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงภายใต้โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ซึ่งออกโดยคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาดแห่งสหประชาชาติ ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต จะมีการถ่ายโอนมาใช้บรรลุ NDC ตามความตกลงปารีสได้บางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด (ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการและระยะเวลาที่ได้ใบรับรอง)

ส่วนคาร์บอนเครดิตประเภท Voluntary Emission Reductions (VERs) ซึ่งเป็นใบรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อบรรลุ NDC ได้ จนกว่าจะมีกฎกติกาจาก Supervisory Body ที่แสดงถึงมาตรฐานการรับรองที่เทียบเท่ากับคาร์บอนเครดิตประเภท A6.4ERs ตามที่รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

ทำให้ราคาของคาร์บอนเครดิตประเภท VERs ที่ได้จากการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในปัจจุบัน จะไม่สามารถถีบตัวสูงขึ้นเท่าราคาตลาดคาร์บอน (ภาคบังคับ) ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เพราะเป็นคาร์บอนเครดิตคนละตลาดกับที่ใช้ในกลไก NDC

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอที่บางประเทศ เห็นต่างกับการมี Supervisory Body ในลักษณะการรวมศูนย์จัดการ รวมถึงแนวทางในการกักเก็บคาร์บอนที่ควรจะเป็นไปแบบถาวร โดยไม่มีโอกาสถูกปลดปล่อยใหม่ ซึ่งยังมีข้อถกเถียงว่า วิธีการทางธรรมชาติ อย่างการปลูกป่า สามารถใช้ได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติ เช่น ไฟป่า หรือการรุกล้ำโดยมนุษย์ เช่น ถางป่าเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน ในอนาคต ฯลฯ

หลังจากนี้ ยังคงต้องมีการเจรจาอีกหลายรอบ โดยเฉพาะการหาข้อสรุปในเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรี เพราะในเอกสารร่างข้อบท (draft text) ยังมีการใส่ทางเลือกในหลายหัวข้อ และเนื้อหาในวงเล็บอีกหลายเรื่องที่รอการตัดสินใจ

ผู้สนใจเนื้อหาการประชุมในส่วนที่เป็นเอกสารร่างข้อบทเพื่อจัดตั้งกลไกตามความตกลงปารีส ข้อ 6 ย่อหน้า 4 สามารถติดตามได้จากลิงก์ https://unfccc.int/documents/621594


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 05, 2022

การส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้ยั่งยืน ด้วยปัจจัย ESG

เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่ข้อริเริ่มด้านการเงินของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP FI) ได้เชื่อมร้อยองค์การสหประชาชาติกับสถาบันการเงินทั่วโลกในการกำหนดวาระด้านการเงินที่ยั่งยืน และสร้างกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญระดับโลกในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการเงินรับมือกับความท้าทายต่อประเด็น ESG ในระดับสากล


กรอบความยั่งยืนที่ UNEP FI ได้ริเริ่มและร่วมจัดทำ ประกอบด้วย

หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ที่เปิดตัวในเดือนกันยายน พ.ศ.2562 ปัจจุบัน มีธนาคารกว่า 300 แห่ง มีสัดส่วนเกือบครึ่งของอุตสาหกรรมธนาคารในโลก เข้าร่วมลงนาม

หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (Principles for Sustainable Insurance: PSI) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2555 โดย UNEP FI ปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 200 ราย ประกอบด้วย บริษัทประกันที่ลงนามเป็นภาคี PSI จำนวน 132 แห่ง (ถือเบี้ยประกันภัยรวมทั่วโลกอยู่ราว 33%) และสถาบันสนับสนุน PSI อีกจำนวน 97 แห่ง ในบรรดาข้อริเริ่มที่จัดทำขึ้น PSI นับเป็นแนวทางของอุตสาหกรรมในการผนวกการพิจารณาความเสี่ยงด้าน ESG ครอบคลุมทั้งธุรกิจประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันวินาศภัย

หลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment: PRI) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2549 โดยความร่วมมือระหว่าง UNEP FI และ UN Global Compact ปัจจุบัน มีผู้ลงทุนสถาบันราวครึ่งโลก (มีขนาดสินทรัพย์รวมกันราว 83 ล้านล้านเหรียญ) เข้าร่วมลงนาม

กรอบดังกล่าวข้างต้น ได้กลายเป็นบรรทัดฐานด้านการเงินที่ยั่งยืน เป็นพื้นฐานสำหรับการกำหนดมาตรฐาน และช่วยให้มั่นใจว่าระบบการเงินภาคเอกชนดำรงบทบาทอย่างเต็มศักยภาพในการสนับสนุนการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั่วโลกในปี ค.ศ.2015

ESG เป็นแกนหลักของ Sustainable Insurance
การประกันภัยที่ยั่งยืน เป็นแนวดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ ที่ซึ่งกิจกรรมทั้งปวงในสายคุณค่าประกันภัย รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ถูกดำเนินการอย่างรับผิดชอบและคาดการณ์ล่วงหน้า ด้วยการระบุ การประเมิน การบริหาร และการเฝ้าสังเกตความเสี่ยงและโอกาสที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น ESG ทั้งนี้ การประกันภัยที่ยั่งยืน มุ่งที่จะลดความเสี่ยง พัฒนาการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม ปรับปรุงผลประกอบการทางธุรกิจ และสนับสนุนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ความริเริ่มว่าด้วยหลักการประกันภัยที่ยั่งยืน เป็นกรอบการทำงานระดับสากลสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยที่คำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และเป็นความริเริ่มระดับสากลที่ใช้เสริมแรงสนับสนุนของอุตสาหกรรมประกันภัยในฐานะผู้บริหารความเสี่ยงภัย ผู้รับประกันภัย และผู้ลงทุน ในอันที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจและประชาคมที่ยั่งยืน ทั่วถึง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง บนโลกที่มีสุขภาวะ

การส่งเสริม ESG ในธุรกิจประกันภัยไทย
ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีการบรรจุเรื่อง ESG ไว้ในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 - 2568) โดยส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยเป็นส่วนหนึ่ง ที่ผลักดันให้สังคมโดยรวม มีความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ด้วยมาตรการที่จะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เช่น การประกันภัยต้นไม้เพื่อส่งเสริมการปลูกต้นไม้ การพิจารณาปรับลดเบี้ยประกันภัยให้กับอุตสาหกรรมสีเขียว หรือรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ

การนำมาตรการจูงใจให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการ ESG มาใช้ เช่น มาตรการทางภาษีและการให้รางวัลแก่บริษัทประกันภัยที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG

รวมทั้งมาตรการที่จะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยสนับสนุนธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เช่น การลงทุนในโครงการที่มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือลงทุนในกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับ ESG จากหน่วยงานประเมินด้าน ESG โดยบริษัทประกันภัยจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการลงทุนในโครงการหรือกองทุนดังกล่าว เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้มีการตั้งคณะทำงานการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของสำนักงาน โดยนำหลักการ ESG มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และให้เกิดความยั่งยืน

เข็มมุ่งของธุรกิจในทุกสาขา รวมถึงธุรกิจประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG ธุรกิจในภาคประกันภัย จำต้องปรับตัวรองรับกับทิศทางดังกล่าว เพื่อร่วมสร้างให้เกิดระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, October 22, 2022

"ไทย" ติดกลุ่มประเทศที่มีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนสูงสุด

เมื่อวันอังคาร (18 ต.ค.) ที่ผ่านมา เคพีเอ็มจี ได้เผยแพร่ผลสำรวจการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนฉบับล่าสุด ภายใต้เอกสารที่ชื่อว่า Survey of Sustainability Reporting 2022: Big shifts, small steps โดยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อสิบปีที่แล้ว บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่งจากแต่ละประเทศที่ทำการสำรวจ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน คิดเป็นร้อยละ 64 มาในปีปัจจุบัน (ค.ศ.2022) บริษัทในกลุ่มดังกล่าว ที่เคพีเอ็มจีเรียกว่า บริษัทในกลุ่ม N100 ซึ่งประกอบด้วย 5,800 บริษัท จาก 58 ประเทศทั่วโลก มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 79

ขณะที่ ผลการสำรวจในกลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500 หรือที่เรียกว่า บริษัทในกลุ่ม G250 มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ อยู่ในอัตราสูงถึงร้อยละ 96 ในปีปัจจุบัน
การสำรวจดังกล่าว ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1993 และทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องเป็นประจำในทุกๆ 2 ปี โดยในปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นผู้นำในการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89 ตามมาด้วยยุโรป ร้อยละ 82 อเมริกา ร้อยละ 74 ตะวันออกกลางและแอฟริกา ร้อยละ 56 ตามลำดับ

โดยประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่มีอัตราการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน สูงกว่าร้อยละ 90 โดยเพิ่มจากร้อยละ 84 ในปี ค.ศ.2020 มาอยู่ที่ร้อยละ 97 ในปี ค.ศ.2022 และเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในรายงานประจำปี อยู่ในอัตราร้อยละ 86 ในปี ค.ศ.2022

ในการสำรวจมาตรฐานและแนวทางที่บริษัทใช้ในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน พบว่า มาตรฐาน GRI ยังคงเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้อ้างอิงมากสุดทั้งในกลุ่มบริษัท N100 และในกลุ่มบริษัท G250

โดยรายงานการสำรวจ ระบุว่า ร้อยละ 68 หรือราวสองในสามของบริษัทในกลุ่ม N100 และร้อยละ 78 หรือราวสามในสี่ของบริษัทในกลุ่ม G250 มีการอ้างอิงมาตรฐาน GRI ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ

GRI เป็นองค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นหน่วยงานที่ให้กำเนิดกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนของกิจการฉบับแรก ที่เรียกว่า G1 ในปี พ.ศ.2543 ถัดจากนั้น GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก ในปี พ.ศ.2545 และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม

กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 และพัฒนามาเป็นฉบับ G4 เมื่อปี พ.ศ.2556 จนนำมาสู่การยกระดับเป็นมาตรฐานการรายงาน GRI ในปี พ.ศ.2559

จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน ต่างมีการใช้ GRI เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการจัดทำรายงานเป็นหลัก เพื่อที่คุณภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

อนึ่ง รายงานความยั่งยืน เป็นเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการใช้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลการดำเนินงานในภาพรวมของกิจการได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน

องค์กรที่เป็นผู้นำในการเผยแพร่รายงานความยั่งยืน ได้แก่ เหล่าบริษัทมหาชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน และผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอันที่จะสะท้อนถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานของกิจการ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, October 08, 2022

การวางตำแหน่ง "ESG" กับ โอกาสทางธุรกิจ

ปัจจุบัน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และกระทบกับกิจการในทุกขนาด ทุกสาขา

ที่น่าสนใจ คือ ผลกระทบที่ว่านี้ มิได้เข้ามาทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยง หรือถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายเพียงทางเดียว แต่กลับเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ช่วยเพิ่มยอดขายและลดต้นทุนของกิจการ ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับกระแสในเรื่องนี้ แล้วแปลงมาเป็นโจทย์ทางธุรกิจได้ ก็จะทำให้ได้ประโยชน์จากเรื่อง ESG ดังกล่าวไม่มากก็น้อย

จากการสำรวจของ เคพีเอ็มจี กับบุคลากรในฝ่ายบริหารที่ดูแลรับผิดชอบรายงานทางการเงินจำนวน 246 คน ซึ่ง 31% อยู่ในองค์กรซึ่งมียอดรายรับต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี และอีก 23% เป็นองค์กรซึ่งมีรายรับต่อปีระหว่าง 1 – 4.9 พันล้านเหรียญ ที่เหลือเป็นองค์กรซึ่งมีรายรับต่อปีมากกว่า 5 พันล้านเหรียญ พบว่า 83% เชื่อว่า องค์กรที่มุ่งเน้นเรื่อง ESG จะช่วยให้ธุรกิจดีขึ้น ขณะที่ 11% ยังมีความไม่แน่ใจ และอีก 6% ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

เมื่อสอบถามถึงระดับของการผนวก ESG เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ 41% ตอบว่า องค์กรได้มีการผูกโยง ESG ไว้ในกลยุทธ์ธุรกิจอย่างชัดเจน ขณะที่ 27% ยังมีความไม่แน่ใจ ส่วนอีก 25% บอกว่าการดำเนินงาน ESG มิได้เกี่ยวโยงกับกลยุทธ์ธุรกิจ และอีก 7% ระบุว่า กลยุทธ์ขององค์กรพัฒนาขึ้นจากการคำนึงถึง ESG

ผลสำรวจนี้ สอดคล้องกับการวิจัยของศูนย์สเติร์นว่าด้วยธุรกิจที่ยั่งยืน แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงอภิพันธุ์ กับงานวิจัยมากกว่า 1,000 ชิ้น ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.2015-2020 ต่อผลกระทบของการลงทุน ESG ที่มีต่อผลประกอบการทางการเงิน แล้วพบว่า มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัย ESG ช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงานทางการเงินของกิจการในหลายสาขา และยังช่วยสร้างเกราะป้องกันให้แก่กิจการในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตขึ้นด้วย

เมื่อสอบถามถึงสถานะปัจจุบันของการรายงาน ESG พบว่า ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินงาน โดย 30% บอกว่า องค์กรได้มีการพัฒนากลยุทธ์การรายงานและได้จัดทำรายงานอย่างน้อยหนึ่งฉบับที่เกี่ยวข้องกับ ESG ขณะที่ 28% ระบุว่า ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนากลยุทธ์การรายงาน ESG และอีก 15% ตอบว่าได้เคยมีการรายงานและกำลังอยู่ระหว่างการประเมินกลยุทธ์การรายงานใหม่ ส่วนอีก 13% บอกว่ายังมิได้เริ่มพัฒนากลยุทธ์การรายงาน ESG อีก 8% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ และที่เหลืออีก 6% แจ้งว่าได้มีการพัฒนากลยุทธ์การรายงานแต่ยังมิได้มีการจัดทำรายงานออกมาแต่อย่างใด

ต่อข้อคำถามที่ถามว่า หน่วยงานหรือฝ่ายใดในองค์กรที่มีความมุ่งเน้นและเป็นผู้ให้ข้อมูลมากสุดต่อการจัดทำกลยุทธ์การรายงาน ESG โดย 23% ระบุว่าเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน ขณะที่ 21% บอกว่าเป็นคณะกรรมการบริษัท/ตรวจสอบ อีก 21% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ ส่วนอีก 13% เป็นฝ่ายสื่อสาร/นักลงทุนสัมพันธ์ 10% เป็นฝ่ายการเงิน 6% เป็นฝ่ายความเสี่ยง และอีกอย่างละ 3% เป็นฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายตรวจสอบภายใน

ต่อข้อคำถามถึงความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญเมื่อต้องมุ่งเน้นเรื่อง ESG อย่างจริงจัง (ตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อ) ผลสำรวจพบว่า 57% เป็นเรื่องของขีดความสามารถและความเชี่ยวชาญของทรัพยากรที่องค์กรมี ขณะที่ 48% เป็นเรื่องส่วนขยายของการรายงานและกรอบที่องค์กรต้องปฏิบัติตาม 46% เป็นเรื่องความอุตสาหะในการสร้างกระบวนการรายงานที่มีประสิทธิผล 41% เป็นเรื่องของความไม่ชัดเจนในกฎระเบียบ 31% เป็นเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงมือดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผล 18% เป็นเรื่องของการขาดกลยุทธ์การดำเนินงาน 11% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ อีก 8.1% บอกว่าเป็นเรื่องที่ฝ่ายจัดการมิได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และอีก 3.7% มองว่าไม่ใช่ความท้าทาย ณ ปัจจุบัน

และเมื่อถามว่า องค์กรมีมุมมองอย่างไรต่อการให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก (External Assurance) ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความโปร่งใส ความแม่นยำ และความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ ที่มีต่อการรายงานของกิจการ

42% ตอบว่า มีความสำคัญ แต่องค์กรยังมิได้มีการให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก ขณะที่ 24% ระบุว่า มีความสำคัญ และได้มีการให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก ส่วนอีก 21% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ และที่เหลืออีก 13% ระบุว่า ยังไม่มีความสำคัญ

อนึ่ง ผลสำรวจที่ เคพีเอ็มจี จัดทำขึ้นในครั้งนี้ มาจากการสอบถามองค์กรที่เป็นสถาบันการเงินมากสุดในสัดส่วน 26% รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและค้าปลีก 17% กลุ่มการผลิตอุตสาหกรรม 12% กลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี อย่างละ 9% กลุ่มสุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ 8% กลุ่มสื่อและบันเทิง 3% องค์กรภาครัฐ 1% และอื่นๆ อีก 15%


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 24, 2022

ความเชื่อมโยงระหว่าง ESG กับ Bottom Line ของกิจการ

ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่มารุมเร้าทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะชะงักงันในสายอุปทาน ปัญหาเงินเฟ้อโลก ความผันผวนของค่าเงิน และจากปัจจัยภายในที่เป็นผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อพนักงาน ลูกค้า ชุมชนอันเป็นแหล่งที่ตั้งของสถานประกอบการ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นอย่างมาก จนเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งที่ถูกบรรจุเป็นหลักเกณฑ์ในการขอสินเชื่อของธนาคาร พัฒนาเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบของผู้ลงทุนสถาบัน เป็นปัจจัยใหม่ในการตัดสินใจจับจ่ายของลูกค้า และกลายมาเป็นข้อพิจารณาในการสมัครเข้าทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เป็นต้น

มัวร์ โกลบอล กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและการบัญชี อายุกว่า 100 ปี ซึ่งมีสำนักงานกระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ ได้ให้ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจ (Cebr) ทำการสำรวจอัตราการรับเอาหลักการ ESG ของกิจการขนาดใหญ่จำนวน 1,262 แห่งในสามภูมิภาคหลัก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปี พ.ศ.2565 โดยวิเคราะห์อิทธิพลที่มีต่อผลประกอบการ เทียบกับกิจการที่มิได้ให้ความสำคัญต่อการนำเอาหลักการ ESG ไปปฏิบัติใช้

ผลสำรวจในรายงานที่มีชื่อว่า The $4 Trillion ESG Dividend: Bottom line benefits of adopting ESG practices ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน พบว่า กิจการที่เน้นเรื่อง ESG ในรอบสามปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 9.7% ขณะที่กิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 4.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน

โดยยอดรายได้ที่เพิ่มขึ้นของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG ในกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ มีมูลค่าอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับกิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG จะเติบโตอยู่เพียง 402.4 พันล้านเหรียญ

ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่า หากกิจการทั้งหมดที่ทำการสำรวจ หันมาเน้นเรื่อง ESG อย่างถ้วนหน้า ยอดรายได้ที่เติบโตขึ้นจะขยับไปอยู่ที่ 4 ล้านล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นอีก 27%

ส่วนอัตราการเติบโตของกำไร สำหรับกิจการที่เน้นเรื่อง ESG ในรอบสามปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 9.1% ขณะที่กิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่ 3.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน

หนึ่งในเหตุผลที่ยอดรายได้และกำไรมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG เป็นเพราะ 83%ของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG เชื่อว่า การนำเอาเรื่อง ESG มาขับเคลื่อนธุรกิจ ได้ช่วยเพิ่มการคงอยู่ของลูกค้า (Customer Retention)

และแน่นอนว่า การรับเอาเรื่อง ESG มาปฏิบัติใช้ มิได้เกิดขึ้นโดยปราศจากต้นทุน โดยกิจการชั้นนำที่ถูกสำรวจ รายงานว่า ได้มีการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณในการดำเนินการ จึงทำให้อัตราการเติบโตของกำไร มีตัวเลขที่ต่ำกว่าการเติบโตของรายได้อยู่เล็กน้อย

อย่างไรก็ดี 84% ของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG ระบุต่อว่า ค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับการปรับปรุงพัฒนาเรื่อง ESG ได้ถูกชดเชยด้วยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

ในแง่ของบุคลากร จากข้อมูลการสำรวจ พบว่า กิจการที่เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของกำลังคน (Headcount) อยู่ที่ 9.9% ขณะที่กิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของกำลังคนอยู่ที่ 4.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

เหตุผลที่อัตราการเติบโตของกำลังคนสูงกว่ากิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG เป็นเพราะ 51% ของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG มีตำแหน่งงานเฉพาะด้าน ESG รองรับในผังองค์กร และมีโอกาสการบรรจุบุคลากรในตำแหน่งงานทั่วไปที่ว่างลง เนื่องจากสามารถดึงดูดผู้สมัครงานใหม่ที่มีคุณสมบัติ จากภาพลักษณ์ด้าน ESG ที่องค์กรดำเนินการและเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ

ผลสำรวจชิ้นล่าสุดนี้ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ESG กับ Bottom Line ทางธุรกิจ ซึ่งกิจการยากที่จะปฏิเสธว่า การดำเนินงานเรื่อง ESG ไม่มีส่วนสัมพันธ์ในทางที่ไปเสริมรายได้หรือผลกำไร (หลายกิจการปัจจุบัน มองว่าเป็นภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายทางเดียว) และยังอาจสูญเสียโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งการได้บุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานกับองค์กร


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 10, 2022

มาตรฐาน GRI กับความเข้าใจผิดเรื่องความยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจทั่วโลก ต่างให้ความสนใจกับการดำเนินงานโดยคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่เป็นปัจจัยความยั่งยืนอันส่งผลต่อสถานะของกิจการ ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่า เรื่องความยั่งยืน มิได้เป็นเพียงความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการ แต่ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจและตลาดใหม่ที่เอื้อต่อการเติบโตของกิจการ

การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในกิจการโดยทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ การวางแผน การดำเนินการ และการเปิดเผยผลการดำเนินงาน ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่นิยมใช้ คือ การใช้กระบวนการรายงานตามมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) ในการขับเคลื่อน ด้วยความที่เป็นวิธีซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เพราะเป็นการคิดย้อนกลับจากผลการดำเนินงานที่คาดหวังก่อนล่วงหน้า เพื่อนำมาใช้กำกับทิศทางการดำเนินการผ่านตัวชี้วัดที่ระบุให้สอดคล้องกับผลที่คาดหวัง และย้อนมาสู่การกำหนดกรอบการทำงาน นโยบาย และกลยุทธ์ ก่อนที่จะดำเนินงาน

เป็นการหาคำตอบด้านความยั่งยืนที่ต้องการบรรลุในบริบทของกิจการ แล้วนำมาตั้งเป็นโจทย์สำหรับการขับเคลื่อนได้อย่างตรงจุด มากกว่าการกำหนดเป็นนโยบายหรือหลักการด้านความยั่งยืนแล้วถ่ายทอดลงไปในระดับปฏิบัติการให้ดำเนินการหรือกำหนดตัวชี้วัดกันเองในแต่ละฝ่าย

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ KPMG ระบุว่า มาตรฐาน GRI เป็นมาตรฐานสากลที่ภาคธุรกิจนิยมใช้มากสุด โดยมีสัดส่วนราว 3 ใน 4 ของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม G250 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500)

อย่างไรก็ดี องค์กรธุรกิจหลายแห่งที่นำมาตรฐาน GRI มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

ความเข้าใจผิด #1 มาตรฐาน GRI ใช้สำหรับเขียนรายงานความยั่งยืน ตอนสิ้นปี

ที่ถูก คือ มาตรฐาน GRI มุ่งเน้นให้กิจการสามารถพัฒนากระบวนการรายงาน (Reporting) ขึ้นในองค์กร มิใช่มาตรฐานแนวทางในการเรียบเรียงเนื้อหารายงานเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เพราะหลักการสำคัญของ GRI คือ การบูรณาการเรื่องความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการผ่านกระบวนการรายงาน

ในมาตรฐาน GRI คำว่า การรายงานความยั่งยืน อ้างถึงกระบวนการรายงานที่เริ่มตั้งแต่การกำหนดประเด็นสาระสำคัญ (Material Topics) ของกิจการ โดยพิจารณาจากผลกระทบที่มีนัยสำคัญที่สุดขององค์กร ไปจนถึงผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลซึ่งเปิดเผยแก่สาธารณะต่อการดำเนินงานกับผลกระทบเหล่านั้นในรอบปี ดังนั้น การใช้มาตรฐาน GRI จึงต้องเริ่มตั้งแต่ต้นปี

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การนำมาตรฐาน GRI ไปใช้อ้างอิง กิจการจะได้ “กระบวนการรายงาน” เป็น Product และได้ “เล่มรายงาน” เป็น By-product

ความเข้าใจผิด #2 บริษัทต้องดำเนินการและรายงานให้ครบถ้วนทุกประเด็นความยั่งยืน

ที่ถูก คือ กิจการต้องดำเนินงานและรายงานในประเด็นความยั่งยืนที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีนัยสำคัญโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการในทุกประเด็น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดบนเงื่อนไขของทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ความสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการเลือกประเด็นที่สำคัญเพื่อดำเนินการ มากกว่าความสามารถในการเปิดเผยประเด็นทั้งหมดที่ได้ดำเนินการ

หลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ สามารถใช้กับการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของกิจการ ที่มิใช่การดำเนินการให้ดูครบทั้ง 17 เป้าประสงค์ (Goals) แต่ควรจะเลือกตอบสนองเฉพาะเป้าประสงค์ที่มีความเกี่ยวโยงกับลักษณะธุรกิจและนัยสำคัญของผลกระทบที่เกิดจากกิจการ โดยลงลึกไปถึงระดับเป้าหมาย (Targets) และระดับตัวชี้วัด (Indicators) ที่เกี่ยวข้อง

ในมาตรฐาน GRI ระบุให้กิจการควรกำหนดประเด็นสาระสำคัญสำหรับการรายงาน ด้วยการเข้าใจบริบทองค์กร การระบุผลกระทบที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้น การประเมินนัยสำคัญของผลกระทบ และการจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบที่มีนัยสำคัญที่สุดสำหรับการรายงาน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ตามมาตรฐาน GRI กิจการไม่จำเป็นต้องรายงานใน “ทุกเรื่อง” แต่ต้องดำเนินการและรายงานให้ “ถูกเรื่อง”

ความเข้าใจผิด #3 บริษัทต้องให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ

เรื่องนี้มีความเข้าใจผิดกันมาก ในหมู่ที่ปรึกษา นักวิชาชีพด้านความยั่งยืน แม้กระทั่งองค์กรผู้จัดทำรายงานที่เป็นบริษัทชั้นนำ ก็ยังมีการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่คลาดเคลื่อน โดยไปให้น้ำหนักกับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ

ที่ถูก คือ กิจการต้องจัดลำดับความสำคัญของประเด็นโดยให้น้ำหนักกับผลกระทบที่เกิดจากธุรกิจที่มีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (People และ Planet) ในลักษณะที่มุ่งไปภายนอก (Outwards) มิใช่การให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนที่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท (Profit) ในลักษณะที่มุ่งมาภายใน (Inwards)

ในมาตรฐาน GRI ระบุว่า กิจการอาจระบุผลกระทบที่ต้องการรายงานได้ในหลายรูปแบบ แต่เมื่อใช้มาตรฐาน GRI กิจการต้องลำดับความสำคัญของการรายงานในประเด็นซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ในมาตรฐาน GRI นิยามประเด็นดังกล่าวว่า เป็นประเด็นสาระสำคัญของกิจการ

เพราะวัตถุประสงค์ของการรายงานความยั่งยืนโดยใช้มาตรฐาน GRI เน้นให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานของกิจการ ที่สนับสนุนหรือมุ่งตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ในบริบทความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI กิจการต้องให้ความสำคัญในเรื่องที่ “เรากระทบโลก” มิใช่ในเรื่องที่ “โลกกระทบเรา”

หวังว่า บทความนี้ จะช่วยไขความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่องค์กรธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนอย่างถูกทิศทาง สมตามเจตนารมณ์ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากมาตรฐาน GRI ไม่มากก็น้อย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 27, 2022

ECO3 : ธีมเศรษฐกิจยุคใหม่ ใส่ใจโลก

เมื่อพูดถึงคำว่าสิ่งแวดล้อม อาจไม่ใช่การนำคำว่า สีเขียว มาใช้แทนที่กันได้เสมอไป เพราะนิยามของคำว่า “สีเขียว” มีความหลากหลายตามแต่ละกิจการที่นำไปใช้ ซึ่งอาจหมายรวมถึงเรื่อง Environmental, Ecological, Eco-friendly เป็นต้น

โดยทั่วไป คำว่า สีเขียว มักใช้สื่อถึง การผลิตพลังงานไฟฟ้าและยานพาหนะที่ใช้คาร์บอนต่ำ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การควบคุมมลพิษ การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การจัดการของเสียและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของทรัพยากรใหม่หรือแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Waste of Energy) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นใดที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน โลกได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จำต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ หลายองค์กรในภาคธุรกิจ กำลังมองหาโจทย์ใหม่ ๆ ในการนำเทรนด์สีเขียวมาพัฒนาให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ และใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

สำหรับประเทศไทย มีเส้นทางที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า ธีมการพัฒนาเศรษฐกิจ จะขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ BCG อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เน้นการนำความรู้ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเทศไทยมีอยู่มาเป็นตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เน้นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ ตลอดวัฏจักรชีวิต และการนำวัสดุเหลือทิ้งเดิมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทางอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เน้นส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายสูงสุด

ทั้งนี้ สถานะของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคเอกชน ประกอบด้วยกิจการในสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่หัวขบวน ซึ่งมีศักยภาพพร้อมที่จะนำการขับเคลื่อน แต่ผู้กำกับนโยบายต้องมีการเปิดทางหรือ Enable ให้มีบรรยากาศที่เอื้ออำนวย เช่น การให้สิทธิประโยชน์ หรือการใช้กลไกทางภาษี ในการส่งเสริมผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน

ส่วนกลุ่มที่อยู่กลางขบวน จะเป็นกิจการที่รอทิศทางตลาดให้มีความชัดเจนว่าเกิดประโยชน์จริง ฉะนั้น ผู้ดูแลนโยบายต้องมีการจัดวางระบบนิเวศในทางที่ยุยงส่งเสริม หรือ Encourage ให้เกิดการดำเนินงานอย่างกว้างขวาง เพราะสัดส่วนกิจการที่จะเคลื่อนตัวในกลุ่มนี้ มีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มที่อยู่หัวขบวนมาก

ส่วนกลุ่มที่อยู่ท้ายขบวน จะเป็นกิจการที่เป็นผู้ตามตลาด ไม่ได้เห็นประโยชน์ในการดำเนินรอยตาม หรืออาจไม่จำเป็นต้องเดินตามก็ได้ ซึ่งหากผู้กำกับดูแลต้องการให้กิจการในกลุ่มนี้ดำเนินการด้วย อาจต้องมีการออกเป็นข้อกำหนดและบังคับใช้ หรือ Enforce ให้เกิดการปฏิบัติตาม

สำหรับการนำกระแสสีเขียว มาใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถจำแนกได้เป็นสามรูปแบบหลัก ได้แก่ รูปแบบแรก คือ การทำให้อุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ปริวรรตตนเอง เช่น การเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงสันดาป มาเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง การเปลี่ยนอุตสาหกรรมภาคพลังงานดั้งเดิมไปเป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก การใช้เชื้อเพลิงสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน สำหรับรองรับการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน

รูปแบบที่สอง เป็นการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งสินค้าและบริการ เช่น การนำแนวคิด Carbon Negative หรือการทำให้กระบวนการผลิตมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบมาใช้ในธุรกิจ ตัวอย่างกิจการที่นำแนวคิด Carbon Negative มาใช้ ได้แก่ อินเตอร์เฟซ ผู้นำระดับโลกด้านการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายพรมแผ่น มีการปรับสายการผลิตแผ่นรองพรมที่สามารถกักเก็บคาร์บอนจนทำให้ได้พรมแผ่นชนิดแรกในโลกที่เป็น Carbon Negative เมื่อวัดค่าการปลดปล่อยในขอบเขต Cradle-to-Gate

รูปแบบที่สาม เป็นการพลิกทุนทางธรรมชาติให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการอนุรักษ์ระบบนิเวศพร้อมกับการลงทุนทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดโอกาสในการสร้างกำไรและการจ้างงาน เช่น การเกษตรแบบเจริญทดแทน (Regenerative Agriculture) เป็นการดำเนินธุรกิจการเกษตรที่เน้นการคืนสภาพของหน้าดิน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงวัฏจักรของน้ำ การเพิ่มพูนบริการจากระบบนิเวศ การสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีการทางชีวภาพ การเพิ่มภาวะพร้อมผันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง การจัดจำหน่าย การบริโภค ไปจนถึงกระบวนการกำจัดของเสีย

การวัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือตัวเลข GDP ในแบบเดิม กำลังจะถูกเบียด ด้วยการวัดอัตราความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ด้วยตัวเลขความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-zero Emissions นับจากนี้ไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 13, 2022

มรรค 8 CSR : ทางสายกิจการสู่ความยั่งยืน

ตั้งแต่ที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR หลังจากที่ได้ร่วมก่อตั้งสถาบันไทยพัฒน์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2544 และได้ริเริ่มเครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR Network) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชน ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ได้เห็นพัฒนาการเรื่อง CSR ในแต่ละยุค กับชุดความคิดที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง

ใครที่เคยคลุกคลีกับเรื่อง CSR ในยุคต้นๆ จะเคยได้ยินคำปรารภว่า “CSR มันเกี่ยวอะไรกับธุรกิจ ถ้าอยากช่วยเหลือสังคมมาก ก็ไปทำมูลนิธิไป” ผ่านมาในยุคปัจจุบัน คำปรารภที่ได้ยินมีว่า “ใครไม่ทำเรื่องนี้ อยู่ไม่ได้หรอก ไปดูกิจการในวอลสตรีตสิ เบอร์ต้นๆ ของโลกยังต้องทำเลย”

เรื่องนี้ไม่มีถูกผิด ชุดความคิดหนึ่ง จะเป็นจริงและใช้ได้ในสมัยหนึ่ง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง ก็จะมีชุดความคิดอื่น ที่เป็นจริงและถูกนำมาใช้แทน

การทำ CSR จึงไม่มีชุดความคิดหรือทฤษฎีเดียวที่จะยึดเป็นสรณะได้ ทำให้ในห้วงเวลาที่ผ่านมา เกิดคำใหม่ๆ ที่ถูกนำเสนอ เช่น CSV, ESG, SD, SE ฯลฯ ด้วยว่าจะมาทดแทนเรื่อง CSR บ้าง หรือจะมาต่อเติมเป็นส่วนขยายของเรื่อง CSR บ้าง

ในระหว่างการทำงานตลอด 20 ปี ได้เจอทั้งบริษัทหน้าเก่าที่ต้องการยกระดับงาน CSR และบริษัทหน้าใหม่ที่ต้องการเริ่มงาน CSR อย่างเป็นกิจจะลักษณะ พบว่าบทสนทนาที่มีร่วมกันต่อเรื่อง CSR มักจะวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า CSR คืออะไร ใครเป็นคนทำ ทำอย่างไร ทำไมต้องทำ ต้องทำเมื่อไร ทำแบบไหนถึงจะดี แล้วควรเน้นที่ไหน และทำแล้วผลเป็นของใคร

คำถามที่ว่า CSR อะไร (What) ที่ควรทำ องค์กรจะต้องตระหนักว่าที่มาของกิจกรรม CSR ซึ่งสามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืน จะมีมูลเหตุมาจากการ “ทำเพราะใช่” ไม่ใช่ทำเพราะชอบ คือ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อองค์กร ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในทิศทางเดียวกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย

คำถามที่ว่า ใคร (Who) ควรเป็นคนทำ CSR ก็ต้องระลึกว่าจุดที่หลายองค์กรก้าวข้ามไม่ได้ คือ ขีดความสามารถของส่วนงาน CSR ในการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า CSR เป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ หรือในการปฏิบัติงานประจำวัน ไม่ใช่เป็นงานเพิ่ม หรือภาระนอกเหนือจากงานปกติ

คำถามที่ว่า ควรทำ CSR อย่างไร (How) สิ่งที่องค์กรจะมองข้ามไม่ได้เลย คือ ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) เป็นต้นเรื่องของการหารูปแบบหรือวิธีดำเนินงาน CSR ที่ตรงกับความสนใจหรือสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มนั้นๆ และชื่อของการดำเนินงาน CSR ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย จะใช้คำเรียกที่แตกต่างกันออกไป

คำถามที่ว่า ทำไม (Why) ต้องทำ CSR คำตอบมีมากกว่าคำตอบเดียว ธุรกิจที่มองเรื่องความยั่งยืนของกิจการเป็นที่ตั้ง จะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ ประชาสัมพันธ์ ขณะที่ ธุรกิจซึ่งมุ่งไปที่ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม จะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างคุณค่าร่วมระหว่างกิจการกับสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

คำถามที่ว่า ต้องทำ CSR เมื่อไร (When) ข้อนี้หลายองค์กรทราบอยู่แล้วว่า CSR ในเวลางาน และ CSR นอกเวลางานของบุคคล รวมทั้ง Responsive CSR และ Strategic CSR ขององค์กร ต่างมีความสำคัญตามบริบทที่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่สามารถทำเรื่องหนึ่ง เพื่อทดแทนอีกเรื่องหนึ่งได้ เนื่องเพราะมีการให้ผลได้ที่ต่างกัน

คำถามที่ว่า CSR แบบไหน (Which) ถึงจะดี หลักการในเรื่องนี้ถูกระบุไว้ในมาตรฐานและแนวทาง CSR ที่ภาคเอกชนนิยมใช้อ้างอิง ซึ่งแนะนำให้องค์กรมีการดำเนินการในประเด็นความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นในประเด็นที่องค์กรมีความเกี่ยวข้องหรือมีการสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญ

คำถามที่ว่า เรื่อง CSR ควรเน้นที่ไหน (Where) มีเกณฑ์พิจารณาอยู่ตรงที่ความสามารถในการระบุพิกัดหรือบริเวณที่ผลกระทบเกิดขึ้น เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ อันเป็นกลไกที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่อง CSR สัมฤทธิ์ผล ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดทางทรัพยากร เพราะองค์กรไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่สามารถทำให้ถูกเรื่องได้

คำถามที่ว่า ทำ CSR แล้วผลเป็นของใคร (Whose) ข้อนี้มีคำตอบสองฝั่ง คือ ผลได้ตกเป็นของส่วนรวม (คิดแบบ Outwards) กับผลได้ตกเป็นขององค์กร (คิดแบบ Inwards) ซึ่งปัจจุบัน มีหลักการที่เรียกว่า “ทวิสารัตถภาพ” หรือ Double Materiality Principle รองรับทั้งสองฝั่ง คือ พิจารณาที่ผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (People และ Planet) ควบคู่กับการคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท (Profit)

สำหรับผู้สนใจที่อยากจะได้คำตอบของ 8 คำถามข้างต้น ในเวอร์ชันยาวๆ ผมได้ประมวลไว้เป็นหนังสือ ชื่อ มรรค 8 CSR: ทางสายกิจการ โดยเป็นคำตอบจากประสบการณ์ในทัศนะส่วนตน ที่ได้พบเห็นปรากฏการณ์ในบริษัทหลายๆ แห่งในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่สามารถนำไปอ้างอิงตามหลักวิชา แต่น่าจะพอเป็นประโยชน์กับองค์กรที่มีข้อคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นเช่นกัน

และถือโอกาสใช้เป็นหนังสือฉลองวาระที่สถาบันไทยพัฒน์มีอายุครบ 20 ปี เป็นหลักไมล์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาสู่ความยั่งยืนร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่สถาบันได้ก่อตั้งขึ้น

องค์กรและผู้ที่สนใจ สามารถขอรับเล่มหนังสือ หรือดาวน์โหลดเป็นไฟล์หนังสือ ได้ที่เว็บไซต์ thaipat.org โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 30, 2022

ธุรกิจบริการข้อมูล ESG โต สวนกระแสเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน ความสนใจของผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ที่มีต่อข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) สำหรับใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ได้ทวีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ตามเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน

โดยจากการสำรวจของ บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ เผยว่า ขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ในกอง ESG ทั่วโลก ในปี พ.ศ.2563 มีตัวเลขอยู่ที่ 35 ล้านล้านเหรียญ และในปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 41 ล้านล้านเหรียญ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านล้านเหรียญ ในอีกสามปีข้างหน้า

ขณะที่ ตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า ขนาดของตลาดข้อมูล ESG มีมูลค่าเกินระดับ 1 พันล้านเหรียญเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีมูลค่าเกิน 1.3 พันล้านเหรียญในปีนี้ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 28 ต่อปี (CAGR) แยกเป็นข้อมูลในส่วนวิเคราะห์วิจัย เติบโตร้อยละ 24 ต่อปี มีสัดส่วนตลาดอยู่ราวร้อยละ 70 ของขนาดตลาด ขณะที่ข้อมูลในส่วนดัชนี เติบโตร้อยละ 38 ต่อปี โดยมูลค่าตลาดข้อมูลดัชนี ESG มีตัวเลขเกิน 300 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา

ในส่วนที่เป็นข้อมูลวิเคราะห์วิจัย ผู้เล่นสำคัญในตลาด คือ หน่วยงานผู้ประเมิน ที่เรียกว่า ESG Rating Providers ซึ่งทำการประมวลข้อมูลป้อนให้กับผู้จัดทำดัชนี และยังมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของกิจการ ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้แก่กิจการ และช่วยขับเน้นภาพลักษณ์ให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม

ด้วยบทบาทของผู้ให้บริการ ทำให้งานประเมิน ESG ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในตลาดทุน ที่ช่วยลดภาระงานวิจัยของผู้จัดการกองทุนในการมองหาการลงทุนที่มีศักยภาพ ช่วยชี้จุดที่เป็นข้อควรกังวลต่อการลงทุน รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการสานสัมพันธ์ภายใต้ธีมกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ดี งานประเมิน ESG มิใช่งานที่ทำให้ดีได้โดยง่าย เนื่องจาก ประการแรก ข้อมูลเบื้องหลังที่ใช้สำหรับประเมินมีปริมาณที่มากและซับซ้อน เพราะการประเมินต้องครอบคลุมข้อมูลที่มาจากสามส่วนหลักทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ผู้ประเมินจำต้องวิเคราะห์ประเด็นย่อยนับร้อยในแต่ละหัวข้อหลัก พร้อมกับการให้น้ำหนักหรือการจัดลำดับความสำคัญ (ในแต่ละอุตสาหกรรม ก็จะมีน้ำหนักและลำดับความสำคัญของประเด็นที่แตกต่างกัน)

ประการที่สอง รูปแบบการประเมิน มิได้มีแบบเดียวที่เหมือนกันตายตัว เพราะผู้ประเมินจะต้องออกแบบการประเมินให้เหมาะสมกับความมุ่งประสงค์ในการใช้และกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลายแตกต่างกัน จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์ประเมินในหลายรูปแบบ อาทิ การประเมินที่เน้นพิจารณาเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคในมิติหญิงชาย การต้านทุจริต ฯลฯ

ประการที่สาม ความพร้อมใช้และความเพียงพอของข้อมูลที่ใช้ประเมิน แม้การรายงานความยั่งยืนจะมีมานานระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องดำเนินการสำหรับองค์กรส่วนใหญ่ โดยจากการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี พ.ศ.2564 (The State of Corporate Sustainability in 2021) โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีเพียงร้อยละ 15.13 จาก 826 กิจการ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report)

นอกจากนี้ มาตรฐานและแนวทางการรายงานที่กิจการใช้อ้างอิง ก็ยังมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ ตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมิได้มีมาตรฐานหรือแนวทางการรายงานเดียวที่ถูกแนะนำให้กิจการใช้ในการเปิดเผยข้อมูล ทำให้รูปแบบการรายงานของกิจการมิได้คล้องจองเป็นแบบเดียวกัน ส่งผลให้มีความยากลำบากต่อการประเมิน และเมื่อไม่พบข้อมูลที่จะใช้สำหรับประเมิน บ่อยครั้งที่สำนักประเมินจะใช้วิธีสันนิษฐานข้อมูลจากแบบจำลองที่สร้างขึ้นเอง ซึ่งอาจให้ผลลัพธ์การประเมินที่ขาดความแม่นยำ และไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้

ด้วยเหตุผลข้างต้น เราจึงพบว่า ผลการประเมิน ESG ของแต่ละสำนักประเมิน มิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้แต่การประเมิน ESG ของกิจการเดียวกัน ยังให้ผลประเมินที่ต่างกัน จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลประเมิน ESG ยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและการตัดสินใจเลือกใช้ผู้ให้บริการประเมินตามแต่บุคคล รวมถึงความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ระหว่างกิจการที่ถูกประเมิน อาทิ การเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินงาน (Benchmarking) ก็ยังมีข้อสงสัยในความเที่ยงตรงของผลการเปรียบเทียบเช่นกัน

เส้นทางของธุรกิจผู้ให้บริการข้อมูลการประเมิน ESG ยังมีโอกาสพัฒนาและเติบโตได้อีกมาก จึงไม่แปลกที่ขนาดของตลาดข้อมูล ESG จะมีมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านเหรียญในปีนี้ โดยมากกว่าสองในสามของตลาด เป็นของผู้ให้บริการในส่วนข้อมูลวิเคราะห์วิจัย ESG ตามการคาดการณ์ของออพิมัส


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 16, 2022

7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล ที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG

นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์

คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น

ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

ในบทความนี้ จะพูดถึง 7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยต่อสาธารณชน ตามข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศเป็นแนวทางไว้อยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด

ตัววัดด้านธรรมาภิบาลทั้ง 7 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม (Number of board meetings and attendance rate) เป็นตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการบริษัท และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลและสมรรถนะของกลไกการกำกับดูแลกิจการ

จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง (Number and percentage of women board members) เป็นตัวเลขจำนวนกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท และร้อยละของกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายในมิติหญิงชาย

ช่วงอายุของกรรมการ (Board members by age range) เป็นข้อมูลแสดงลักษณะเฉพาะของกรรมการบริษัทจำแนกตามช่วงอายุ ความสมดุลด้านอายุในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจที่รอบด้าน

จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและอัตราการเข้าร่วมประชุม (Number of meetings of audit committee and attendance rate) เป็นตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผล ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของกลไกการกำกับดูแลกิจการ

ค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ (Total compensation per board member) เป็นตัวเลขค่าตอบแทนของกรรมการในรอบการรายงาน ทั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหาร (Executive Director) และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร (Non-executive Director: NED)

ค่าปรับจ่ายหรือค้างจ่ายเพื่อระงับข้อพิพาท (Amount of fines paid or payable due to settlements) เป็นจำนวนเงินค่าปรับจ่ายหรือที่ค้างจ่าย อันเนื่องมาจากกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริต ที่ถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานกำกับดูแล และศาล ในรอบการรายงาน

ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตต่อปีต่อคน (Average hours of training on anti-corruption issues per year per employee) เป็นตัวเลขจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตที่พนักงานได้รับในรอบการรายงาน

ทั้ง 7 ตัววัดธรรมาภิบาลข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 5.5.2) และเป้าที่ 16 ความสงบสุข ความยุติธรรม และการมีสถาบันที่เข้มแข็ง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 16.5.2 เป้าหมาย SDG ที่ 16.6 และตัวชี้วัด SDG ที่ 16.7.1)

นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดของ 7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 02, 2022

ESG เครดิต: หมุดหมายใหม่แห่งความยั่งยืน

ความพยายามของสังคมโลกในการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาอันเป็นผลพวงจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล มีมาอยู่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ที่ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาแบบมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และได้ริเริ่มกระบวนการเตรียมตัวด้านสภาวะแวดล้อมโดยข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่สืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UNCHE) จนนำมาสู่การเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า อนาคตของเรา ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ.1987 อันเป็นที่มาของแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

การพัฒนาทางเศรษฐกิจจากการปรับให้เป็นอุตสาหกรรมของนานาประเทศ เพื่อหวังจะให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น กลับก่อให้เกิดการปล่อยมลภาวะอย่างขนานใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สะสมต่อเนื่องจนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ย้อนกลับมาเป็นภัยต่อมนุษย์เอง

ในปี ค.ศ.1997 พิธีสารเกียวโต ได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความเห็นชอบจากกว่า 170 ประเทศในขณะนั้น ซึ่งหนึ่งในกลไกที่เกิดขึ้นจากพิธีสารเกียวโต คือ กลไกการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการคิด “คาร์บอนเครดิต” ให้ผู้ดำเนินการเป็นหน่วยปริมาณก๊าซที่ลดได้ (ERU)

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก ได้ใช้กลไกคาร์บอนเครดิต เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในประเทศของตน โดยมีการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ตามความตกลงปารีส เพื่อรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ในภาคเอกชน การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ดำเนินภายใต้บริบทของการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีคำว่า ESG (Environmental, Social and Governance) เป็นภาษาหลักในการสื่อสารกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ

นั่นหมายความว่า การสื่อสารเรื่องปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ในรูปคาร์บอนเครดิต สามารถแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมได้ ขณะเดียวกัน ธุรกิจก็ยังต้องมีเครื่องมือสื่อสารถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านสังคมและด้านธรรมาภิบาลเพิ่มเติม

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจที่รู้จักหลายแห่งว่า จะมีเครื่องมือที่คล้ายคลึงกับคาร์บอนเครดิต ที่สามารถสื่อสารถึงความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนในด้านสังคมและด้านธรรมาภิบาลด้วยหรือไม่

ด้วยคำถามนี้เอง ได้นำมาสู่การแสวงหาคำตอบ โดยการขยายกรอบแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิตที่เจาะจงในเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องสังคมและธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้องค์กรซึ่งคำนึงถึงเรื่อง ESG อยู่แล้ว สามารถได้รับ “ESG เครดิต” จากการดำเนินงานในด้านสังคมและธรรมาภิบาล นอกเหนือจากด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะสมาชิกภาคองค์กร ประเภทที่ปรึกษา ของ IEMA (Institute of Environmental Management and Assessment) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นนักวิชาชีพด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก จำนวนกว่า 18,000 คน ใน 113 ประเทศ โดยมีบทบาทหลักในการสนับสนุนการกำหนด การรับรอง และการนำมาตรฐานและข้อปฏิบัติไปใช้เพื่อการแปรเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน ได้จัดทำแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจนำโครงการที่เข้าเกณฑ์ได้รับ ESG เครดิต มาขึ้นทะเบียนเพื่อรับการประเมินและใช้ประโยชน์จาก ESG เครดิตในการสื่อสารถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนของกิจการ ที่ครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยที่กิจการสามารถสะสมเครดิตได้อย่างต่อเนื่องจากโครงการและกิจกรรมทางธุรกิจที่ได้รับการประเมิน

แพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้น จะไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทในประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์ แต่จะเป็นแพลตฟอร์มสากลที่บริษัทในประเทศอื่นๆ สามารถเข้าร่วมผ่านทางนายทะเบียนในประเทศนั้นๆ ภายใต้เครือข่ายภาคีที่ร่วมดำเนินงานกันในระดับภูมิภาค

จากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (Disclosure) ที่บริษัทใช้สานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านมาสู่เวทีรางวัลด้านความยั่งยืน (Award) ที่บริษัทใช้เพิ่มสถานะความน่าเชื่อถือด้วยการรับรองโดยหน่วยงานภายนอก วันนี้ เรากำลังจะมีแพลตฟอร์มที่บริษัทสามารถใช้สร้างการยอมรับจากสาธารณะต่อพัฒนาการด้าน ESG ของกิจการ ที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องผ่านทาง ESG เครดิต ในรูปของการสะสมคุณค่าเชิงผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งความยั่งยืนของกิจการ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, June 18, 2022

7 ตัววัดด้านสังคมที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG

นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์

คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น

ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

ในบทความนี้ จะพูดถึง 7 ตัววัดด้านสังคม ที่กิจการสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด

ตัววัดด้านสังคมทั้ง 7 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

สัดส่วนหญิงในตำแหน่งจัดการ (Proportion of women in managerial positions) เป็นจำนวนของหญิงในตำแหน่งจัดการ ต่อจำนวนพนักงานรวมทั้งหมด โดยพิจารณาจากตัวเลขพนักงาน ณ วันสิ้นรอบการรายงาน แสดงเป็นรายหัว (Head Count) หรือเป็นค่าเทียบเท่าพนักงานเต็มเวลา (Full Time Equivalent)

ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน (Average hours of training per year per employee) เป็นมาตราส่วนการลงทุนของกิจการในการฝึกอบรมพนักงาน (ในทุนด้านมนุษย์) และระดับความเข้มข้นของการลงทุนที่มีต่อฐานพนักงานทั้งหมด ในรูปของชั่วโมงการฝึกอบรม

รายจ่ายการฝึกอบรมพนักงานต่อปีต่อคน (Expenditure on employee training per year per employee) เป็นมาตราส่วนการลงทุนของกิจการในการฝึกอบรมพนักงาน (ในทุนด้านมนุษย์) และระดับความเข้มข้นของการลงทุนที่มีต่อฐานพนักงานทั้งหมด ในรูปของรายจ่ายค่าฝึกอบรม

สัดส่วนค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานต่อรายได้ จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย (Employee wages and benefits as a proportion of revenue, by employment type and gender) เป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าแรงพนักงานทั้งหมดของกิจการ จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย เทียบกับรายได้รวมของกิจการ

สัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพและความปลอดภัยพนักงานต่อรายได้ (Expenditures on employee health and safety as a proportion of revenue) เป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายรวมในด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่กิจการมีต่อพนักงาน เทียบกับรายได้รวมของกิจการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ที่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ

ความถี่และอัตราการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน (Frequency/incident rates of occupational injuries) เป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับวันทำงานที่สูญเสียอันเนื่องมาจากโรค การบาดเจ็บ และอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ในรอบการรายงาน ที่แสดงถึงประสิทธิผลของนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน

ร้อยละของพนักงานที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (Percentage of employees covered by collective agreements) เป็นตัวเลขอัตราส่วนจำนวนพนักงานที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เทียบกับจำนวนพนักงานทั้งหมดในรอบการรายงาน

ทั้ง 7 ตัววัดสังคมข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 3 สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี (ตามเป้าหมาย SDG ที่ 3.8) เป้าที่ 4 การศึกษาที่ได้คุณภาพ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 4.3.1) เป้าที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 5.5.2) เป้าที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 8.5.1 และเป้าหมาย SDG ที่ 8.8 ตัวชี้วัด SDG ที่ 8.8.1, 8.8.2) และเป้าที่ 10 ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 10.4.1)

นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดของ 7 ตัววัดด้านสังคม สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, June 04, 2022

เปิดโผ... หุ้น "ESG Emerging" ปี 2565

แม้ว่าในภาพรวมของกองทุนยั่งยืนทั่วโลก ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะมีเงินทุนไหลเข้าลงทุนสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเด็นเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงสงครามในยูเครน

แต่ในภูมิภาคเอเชีย จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ เม็ดเงินลงทุนในกองทุนยั่งยืน ยังโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 21% โดยมีเงินไหลเข้ากองทุนยั่งยืนในภูมิภาค (ไม่นับรวมจีนและญี่ปุ่น) สุทธิอยู่ที่ 911 ล้านเหรียญในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ตัวเลขสินทรัพย์รวมที่ลงในกองทุนยั่งยืนในภูมิภาค มีตัวเลขสะสมอยู่ที่ 71 พันล้านเหรียญ โดยแบ่งเป็นกองทุนหุ้น 58% กองทุนผสม 37% และในตราสารหนี้ 5% ตามลำดับ

และในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนในกองทุนประเภท Passive ESG (Environmental, Social and Governance) อยู่ที่ 22% ซึ่งใช้นโยบายการลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ด้วยความสนใจของผู้ลงทุนที่ต้องการใช้ปัจจัย ESG ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่น่าลงทุนในกลุ่ม ESG Emerging ปี 2565 ด้วยการคัดเลือกจาก 851 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 15,760 จุดข้อมูล

การพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ในปีนี้ นับเป็นปีที่สามของการประเมิน โดยใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ปรากฏในการเปิดเผยข้อมูล การดำเนินงานที่สะท้อนปัจจัยด้าน ESG และความริเริ่มหรือลักษณะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับประเด็นด้าน ESG ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ หรือการประหยัดต้นทุนของกิจการ ในรอบปีการประเมิน

ในปี 2565 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังได้ริเริ่มรูปแบบการลงทุนที่เน้นปัจจัย ESG ผ่านกองทุนส่วนบุคคล Thaipat ESG Emerging Private Fund ที่คัดเลือกหลักทรัพย์จาก ESG Emerging Universe ตามเกณฑ์ประเมินด้าน ESG ของสถาบันไทยพัฒน์

โดยหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณราคาของหน่วยลงทุนในรอบปี 2565 คัดเลือกจากยูนิเวิร์สของกลุ่ม ESG Emerging (ปี 2563-2565) ประกอบด้วย 2S AIMRT AKP AP ASIAN AYUD BOL CKP ETC HL III IP LEO PAP PHOL PJW RBF RCL SA SCGP SEAOIL SELIC SFLEX SKR SMD SONIC SSP STARK STGT STI TNP TPIPL TVI UTP WICE YGG รวมทั้งสิ้นจำนวน 36 หลักทรัพย์*

Thaipat ESG Emerging Private Fund เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่ให้น้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์คุณภาพที่มีมูลค่าตลาดขนาดกลางและขนาดเล็ก และผ่านเกณฑ์ด้าน ESG โดยเป็นการลงทุนในแบบ Passive Strategy ที่อาศัยความเคลื่อนไหวของช่วงราคาที่กว้างกว่าหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ และการปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance) ทุก 3 เดือน ในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิงพื้นฐาน

กองทุนส่วนบุคคล Thaipat ESG Emerging Private Fund บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด โดยจากการทำข้อมูลจำลองการลงทุน (Back-testing) ผลตอบแทนของหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging ตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2563 จนถึง 23 พฤษภาคม 2565 ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 43.3% เมื่อเทียบกับ SET TRI ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 28.7%

สำหรับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging ที่คัดเลือกนี้ จะใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนแก่บริษัทจัดการลงทุนที่มีการให้บริการผลิตภัณฑ์การลงทุนในธีม ESG โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ S&P Dow Jones' Custom Indices

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG Emerging สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgemerging.com

* หมายเหตุ: การนำเสนอข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์จดทะเบียน ESG Emerging รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้เป็นข้อมูลเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นคำแนะนำในการลงทุน หรือการเสนอซื้อเสนอขายใดๆ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, May 21, 2022

11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อมที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG

นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์

คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น

ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

ในบทความนี้ จะพูดถึง 11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อม ที่กิจการสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด

ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 11 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

-ปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำและที่ปรับสภาพเพื่อใช้ใหม่ (Water recycling and reuse)
-ประสิทธิภาพการใช้น้ (Water use efficiency)
-ความตึงตัวทางทรัพยากรน้ำ (Water stress)
-ปริมาณการเกิดของเสียที่ลดได้ (Reduction of waste generation)
-ปริมาณของเสียที่แปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ ที่นำมาใช้ผลิตใหม่ และที่นำกลับมาใช้ซ้ำ (Waste reused, re-manufactured and recycled)
-ปริมาณของเสียอันตราย (Hazardous waste)
-ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Greenhouse gas emissions: scope 1)
-ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Greenhouse gas emissions: scope 2)
-ปริมาณสารเคมีและสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Ozone-depleting substances and chemicals)
-อัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable energy)
-ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy efficiency)

ทั้ง 11 ตัววัดสิ่งแวดล้อมข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 6.3.1, 6.4.1, 6.4.2) เป้าที่ 7 พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 7.2.1, 7.3.1) เป้าที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 9.4.1) และเป้าที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 12.4.2 และเป้าหมาย SDG ที่ 12.5 ตัวชี้วัด SDG ที่ 12.5.1)

นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดของ 11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, May 07, 2022

8 ตัววัดด้านเศรษฐกิจที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG

นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์

คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น

ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

ในบทความนี้ จะพูดถึง 8 ตัววัดด้านเศรษฐกิจ ที่กิจการมีข้อมูล เพราะได้ดำเนินการอยู่แล้วในกระบวนการทางธุรกิจ และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัดอีกด้วย

ตัววัดด้านเศรษฐกิจทั้ง 8 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

ยอดรายได้ (Revenue) คือ การเพิ่มขึ้นของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลาบัญชีในรูปของกระแสรับเข้าของสินทรัพย์ หรือการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ หรือการลดลงของหนี้สิน ซึ่งส่งผลให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น โดยไม่รวมถึงส่วนทุนที่ได้รับจากผู้มีส่วนร่วมในส่วนของเจ้าของ

มูลค่าเพิ่ม (Value added) คือ ส่วนต่างระหว่างรายได้และต้นทุนค่าวัสดุ สินค้าและบริการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ความมั่งคั่งที่กิจการสามารถสร้างและกระจายในหมู่ผู้มีส่วนได้เสีย (พนักงาน เจ้าหนี้ องค์การของรัฐ ผู้ถือหุ้น) โดยคำนวณจาก มูลค่าเศรษฐกิจทางตรง (ยอดรายได้ + รายได้อื่น) หักด้วยมูลค่าเศรษฐกิจที่จำหน่ายออก (ต้นทุนการดำเนินงาน + ค่าจ้างและสวัสดิการพนักงาน เงินที่ชำระแก่เจ้าของเงินทุน + เงินที่ชำระแก่รัฐ + การลงทุนในชุมชน)

มูลค่าเพิ่มสุทธิ (Net value added) คือ ตัวเลขที่นำค่าเสื่อมราคา (Depreciation) มาหักออกจากมูลค่าเพิ่ม โดยจะหักเฉพาะค่าเสื่อมราคา ซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ มิได้นำค่าตัดจำหน่าย (Amortization) ซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิการเช่า ลิขสิทธิ์ มาหักออกด้วย

ภาษีและเงินอื่นที่จ่ายให้แก่รัฐ (Taxes and other payments to the Government) คือ ยอดภาษี ที่รวมถึงภาษีเงินได้ ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ค่าปรับ ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าสิทธิ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จ่ายแก่รัฐ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเข้าครอบครองทรัพย์สินของรัฐ (เช่น การเข้าซื้อกิจการรัฐวิสาหกิจ) เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เกิดจากมาตรการลงโทษที่มิได้เกี่ยวกับการชำระภาษีอากร (เช่น การปล่อยมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม)

การลงทุนสีเขียว (Green investment) คือ ยอดการลงทุนทางตรงและทางอ้อมด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของการป้องกัน การลด และการขจัดมลภาวะและการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ซึ่งหมายรวมถึง การผลิตพลังงานไฟฟ้าและยานพาหนะที่ใช้คาร์บอนต่ำ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การควบคุมมลพิษ การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การจัดการของเสียและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของทรัพยากรใหม่หรือแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Waste of Energy) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นใดที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการลงทุนที่เป็นความจำเป็นด้านเทคนิคและเป็นไปตามข้อกำหนดภายในที่เกี่ยวกับสุขอนามัย ความปลอดภัย และความมั่นคงของกิจการ

การลงทุนชุมชน (Community investment) คือ ยอดการบริจาคและการลงทุนในชุมชนแก่ผู้ได้รับประโยชน์กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ภายนอกกิจการ หมายรวมถึง การลงทุนในสิ่งปลูกสร้างที่อยู่นอกเหนือธุรกิจหลักของกิจการ (เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สำหรับแรงงานและครอบครัว) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการลงทุนหรือธุรกรรมในเชิงพาณิชย์และที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีเจตจำนงที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการในทางธุรกิจ (เช่น การสร้างถนนหนทางเข้าสู่โรงงาน)

ยอดรายจ่ายรวมในการวิจัยและพัฒนา (Total expenditures on research and development) คือ รายจ่ายด้านการวิจัยทั้งที่เป็นงานแรกเริ่มและงานตามแผนเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจใหม่ในเชิงเทคนิคและเชิงวิทยาศาสตร์ (เรียกว่า รายจ่ายการวิจัย อาทิ รายจ่ายการทดลองเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ในการพัฒนาวัคซีนของกิจการในเภสัชอุตสาหกรรม) รวมถึงการประยุกต์ข้อค้นพบในการวิจัยหรือความรู้อื่นใดในการวางแผนและออกแบบซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ ระบบ หรือบริการ ก่อนเริ่มต้นผลิตหรือใช้ในเชิงพาณิชย์ (เรียกว่า รายจ่ายการพัฒนา อาทิ การออกแบบ การสร้าง และการทดลองตัวแบบรถยนต์ในขั้นตอนเตรียมการก่อนการผลิตของกิจการในอุตสาหกรรมยานยนต์)

ร้อยละของการจัดหาท้องถิ่น (Percentage of local procurement) คือ สัดส่วนการใช้จ่ายที่มีต่อผู้ส่งมอบท้องถิ่นของกิจการ ที่แสดงถึงขอบเขตความเกี่ยวโยงของกิจการกับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาควรระมัดระวังมิให้เกิดข้อกังขาในแง่ของการกีดกันทางการค้ากับผู้ส่งมอบต่างถิ่น และในทางกลับกัน ผู้ส่งมอบซึ่งมีแหล่งที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น อาจเป็นผู้จัดหาสินค้าจากแหล่งภายนอกที่มิได้มาจากท้องถิ่น

ทั้ง 8 ตัววัดเศรษฐกิจข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 7 พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 7.b.1) เป้าที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 8.2.1) เป้าที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 9.3.1, 9.4.1, 9.5.1 และเป้าหมาย SDG ที่ 9.b) และเป้าที่ 17 การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 17.1.2 และ 17.17.1)

นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]