ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์
คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น
ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง
ในบทความนี้ จะพูดถึง 11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อม ที่กิจการสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด
ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 11 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย
- | ปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำและที่ปรับสภาพเพื่อใช้ใหม่ (Water recycling and reuse) |
- | ประสิทธิภาพการใช้น้ (Water use efficiency) |
- | ความตึงตัวทางทรัพยากรน้ำ (Water stress) |
- | ปริมาณการเกิดของเสียที่ลดได้ (Reduction of waste generation) |
- | ปริมาณของเสียที่แปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ ที่นำมาใช้ผลิตใหม่ และที่นำกลับมาใช้ซ้ำ (Waste reused, re-manufactured and recycled) |
- | ปริมาณของเสียอันตราย (Hazardous waste) |
- | ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Greenhouse gas emissions: scope 1) |
- | ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Greenhouse gas emissions: scope 2) |
- | ปริมาณสารเคมีและสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Ozone-depleting substances and chemicals) |
- | อัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable energy) |
- | ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy efficiency) |
นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย
สำหรับรายละเอียดของ 11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
No comments:
Post a Comment