Thursday, December 30, 2010

ทำทุกวันให้เป็นวัน CSR

นับตั้งแต่ที่โครงการ CSR DAY ได้ถูกริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2552 จนถึงปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่สนใจ เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 200 แห่ง รวมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 8,000 คน ในระยะเวลา 21 เดือน

โครงการ CSR DAY มีวัตถุประสงค์ที่จะรณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปได้จัดกิจกรรม CSR DAY ขึ้น “ในสถานประกอบการ” เพื่อมุ่งให้เกิด “กระบวนการมีส่วนร่วมของพนักงาน” ในกิจกรรม CSR ขององค์กร และส่งเสริมให้ “ทุกๆ วันของการทำงาน เป็นวัน CSR”

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจหรือการดำเนินงานโดยคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กร กิจกรรมในโครงการ CSR DAY ได้ทำให้องค์กรต่างๆ มีช่องทางและพื้นที่สำหรับให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น หลายกิจกรรมที่ถูกเสนอโดยพนักงานขององค์กรต่างๆ ได้รับการพิจารณาให้นำไปดำเนินการจนกลายเป็นกิจกรรม CSR ขององค์กรนั้นๆ และเป็นเครื่องบ่งชี้ความสำเร็จหนึ่งของโครงการ นอกเหนือจากจำนวนองค์กรและจำนวนพนักงานที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม

การที่พนักงานได้มีโอกาสนำความรู้ความสามารถของตนไปใช้เพื่อทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ถือเป็น CSR ที่ควรปลูกฝังให้งอกงามจากรุ่นสู่รุ่น และจากองค์กรหนึ่งสู่อีกองค์กรหนึ่ง และทำให้พนักงานได้มีส่วนในการเรียนรู้ที่จะทำประโยชน์ต่อตนเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อชุมชน สังคมไปพร้อมๆ กัน

ภายใต้กระบวนการที่ดี กิจกรรม CSR ที่คิดร่วมกันในหมู่พนักงาน เสนอร่วมกันโดยกลุ่มพนักงาน และขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างพนักงานในองค์กร จะมีพลังมากกว่าการคิดโดยคนนอก หรือนำเสนอโดยบริษัทเอเจนซี่ หรือให้หน่วยงานภายนอกไปดำเนินการโดยลำพัง

จากกระแสตอบรับโครงการ CSR DAY ที่ผ่านมา ทำให้สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ รวมทั้งผู้ให้การสนับสนุนอย่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในการดำเนินงานด้าน CSR และได้รับรางวัล CSR AWARD จากตลาดหลักทรัพย์ฯ มาแล้วทั้งสองแห่ง ตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการ CSR DAY ในปี 2554 ต่อเป็นเฟสที่ 3

โดยในปี 54 สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม จะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการจัดทำรายงาน CSR และยังมีแผนที่จะพัฒนากรณีศึกษา CSR ของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มธุรกิจ และจะอาศัยช่องทางการจัดกิจกรรมในโครงการ CSR DAY เผยแพร่กรณีศึกษาตัวอย่าง เพื่อให้บริษัทที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้มีแนวทางและไอเดียที่สามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินงาน CSR ขององค์กรตนเอง

สถานประกอบการที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการในปี 54 จะได้รายงานผลการจัดกิจกรรม (CSR Day Report) ที่มีการรวบรวมข้อเสนอ CSR ที่น่าสนใจจากกลุ่มพนักงาน ณ วันที่จัดกิจกรรม รวมทั้งจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเข้าร่วมกิจกรรมสำหรับองค์กร (CSR Day Certificate) พร้อมเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม (CSR Guidelines) ฉบับปรับปรุงใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 3) จัดทำโดย ก.ล.ต. เพื่อใช้เป็นคู่มือช่วยบอกพิกัดการดำเนินงาน CSR ของบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปด้วย

บริษัทจดทะเบียนและองค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ CSR DAY เฟส 3 สามารถสำรองวันจัดกิจกรรมได้ที่สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ โทร 02 229 2394 หรือที่สถาบันไทยพัฒน์ โทร 02 930 5227 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.csrday.com)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 23, 2010

ให้ข้อมูล CSR ให้ได้สาระ

หลายองค์กรธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม มักจะประสบกับคำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาอยู่ในใจเสมอๆ ในช่วงขับเคลื่อนงาน CSR นั่นคือ กิจกรรมหรือประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดำเนินการอยู่นี้ ใช่สิ่งที่องค์กรควรทำหรือไม่ หรือเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ แล้วควรจะไปหาคำตอบที่ใช่จากใคร

แน่นอนว่า การแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในทุกๆ กิจกรรมนั้น ย่อมมีประโยชน์ต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และย่อมจะส่งผลกระทบในทางใดทางหนึ่งแก่องค์กรด้วยเช่นกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ องค์กรไม่อยากทำ CSR หรือ ทำ CSR อะไรก็ได้ ย่อมดีทั้งนั้น ทว่า องค์กรต้องการทำ CSR ที่ก่อให้เกิดผลจริงๆ และเป็น CSR ที่เหมาะสมกับองค์กรจริงๆ

แล้วคำตอบของปัญหานี้ ก็ไม่ได้อยู่ที่คนนอกองค์กร หรืออยู่กับผู้เชี่ยวชาญที่ไหน แต่อยู่ภายในองค์กรเอง คนในองค์กรจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด เพราะมีข้อมูลอยู่กับตัวมากที่สุด สิ่งที่เป็นข้อจำกัด ถ้าจะมีอยู่ ก็คือ การขาดกระบวนวิธีในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เหมาะสมและกิจกรรมที่ควรดำเนินการ ซึ่งอาจต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมาคอยชี้แนะเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ

เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยองค์กรในการวิเคราะห์ประเด็นและกิจกรรม CSR ที่เหมาะสม ซึ่ง GRI ได้พัฒนาขึ้น ได้แก่ การทดสอบสารัตถภาพ (Materiality Test) ของข้อมูลแนวการดำเนินงานในหมวดเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อเรื่องความยั่งยืน ซึ่งได้มาจาก 3 แหล่ง คือ แง่มุม (aspect) ที่ถูกระบุโดยผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร แง่มุมที่ถูกแนะนำโดยผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร และแง่มุมที่ตกหล่นจาก 2 แหล่งแรก แต่มีความสำคัญ (เมื่อเทียบกับแนวปฏิบัติที่สากลยอมรับ) และถูกเสนอให้รวมไว้โดยคณะทำงาน CSR


การทดสอบสารัตถภาพ เป็นการคัดเลือกตัวบ่งชี้ที่มีนัยสำคัญ (significant) ต่อองค์กร โดยพิจารณาถึงผลกระทบจากการดำเนินการตามแง่มุมนั้นๆ (รวมทั้งผลกระทบจากการไม่ดำเนินการตามแง่มุมนั้นๆ) และเป็นการคัดเลือกตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวเนื่อง (relevant) กับองค์กร โดยพิจารณาจากความคาดหวังหรือการให้น้ำหนักความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสียในแง่มุมดังกล่าว

เกณฑ์ในการคัดเลือกตัวบ่งชี้ในกระบวนการทดสอบสารัตถภาพตาม G3 Guidelines ประกอบด้วยคำถามสำคัญ 8 ข้อ ดังนี้

ตัวบ่งชี้นี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญโดยผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เป็นสิ่งท้าทายหรือสามารถสร้างให้เกิดอุปสรรคทางธุรกิจในวันข้างหน้าได้หรือไม่ และสิ่งนี้ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในวงธุรกิจแล้วหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่มีนัยสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ต่อองค์กร / ผู้มีส่วนได้เสีย หรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เอื้ออำนวยให้เกิดโอกาสบางอย่างให้แก่องค์กรหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้ก่อให้เกิดแนวโน้มที่ทำให้องค์กรต้องประสบกับความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ / ผู้เชี่ยวชาญ ยอมรับว่าเป็นภัยเสี่ยงต่อความยั่งยืนหรือไม่
องค์กรมีความรู้หรือความสามารถที่ชำนาญพิเศษในการเสริมหนุนความยั่งยืนในเรื่องที่ตัวบ่งชี้นี้ได้กล่าวถึงหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้มีส่วนที่ทำให้เกิดผลสำเร็จของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติหรือไม่ หรือมีส่วนช่วยเสริมสร้างคุณค่าหรือค่านิยมขององค์กรหรือไม่

ผลจากการทดสอบสารัตถภาพ จะทำให้องค์กรได้มาซึ่งตัวบ่งชี้ที่ “มีนัยสำคัญ” และ “เกี่ยวเนื่อง” กับองค์กร ซึ่งจะถูกใช้ในการติดตามเก็บข้อมูลและนำมารายงาน ที่สำคัญ จะทำให้คณะทำงานหรือผู้รับผิดชอบงานด้าน CSR ขององค์กร สามารถอธิบายถึงหลักการและเหตุผลในการเลือกประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เหมาะสมและกิจกรรมที่องค์กรควรดำเนินการได้ ต่างจากปัญหาก่อนหน้าที่องค์กรไม่แน่ใจและไม่สามารถจะอธิบายได้ ก็เพราะไม่รู้ว่า อะไรที่ควรบริหารจัดการ อะไรที่ควรวัดผล (You can’t describe because you don’t know what to manage and measure) สำหรับการรายงานในขั้นสุดท้าย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 16, 2010

เปิดข้อมูล CSR ฉบับ ก.ล.ต.

เห็นข่าวชิ้นหนึ่งของ ก.ล.ต. ที่มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นรองรับนโยบายการกำกับดูแลการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ไปสู่แนวทางสากลที่มุ่งเน้นความเพียงพอและคุณภาพการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนผ่านช่องทางตลาดทุนได้คล่องตัวขึ้น โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป

หลักเกณฑ์ใหม่นี้ ก.ล.ต. จะยังคงกำหนดให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จะไม่กำหนดคุณสมบัติในเรื่องการดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติตามกฎหมายอื่น ได้แก่ การประกอบธุรกิจหลักเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม การไม่มีเหตุสงสัยว่าบริษัทจะไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และการประกอบธุรกิจไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเน้นให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาข้อมูลเพื่อตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง

เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต. ข้างต้น แต่บริษัทผู้ออกหุ้นสามารถใช้เป็นแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกับการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลในการประกอบการพิจารณาลงทุนเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investing: SRI) ภายใต้ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

แนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR Guidelines ที่ ก.ล.ต. ได้ประกาศเผยแพร่ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีหัวข้อที่แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

หลักการ ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นการปฏิบัติตามแนวทาง CSR ที่บริษัทฯได้ดำเนินการ โดยข้อมูลที่เปิดเผยนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ยังช่วยในการสอบทานให้บริษัทฯทราบว่า ได้ดำเนินการในเรื่อง CSR ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ อย่างไร

แนวปฏิบัติ (1) จัดทำรายงานเปิดเผยการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR report) โดยอาจระบุไว้ในรายงานประจำปี (annual report) หรือจัดทำเป็นฉบับแยกต่างหากจากรายงานประจำปี ที่เรียกว่า รายงานความยั่งยืน (sustainability report) ตามรูปแบบที่สากลยอมรับและควรครอบคลุมเนื้อหาในหัวข้อดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

การดำเนินงานด้านธุรกิจ กล่าวถึง
วิสัยทัศน์
กลยุทธ์ของธุรกิจที่สะท้อนหลักการและแนวทางปฏิบัติตามหลักการ CSR
โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ผลการดำเนินงาน

การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กล่าวถึง
นโยบายการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
กระบวนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูธรรมชาติ
กระบวนการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต
ลักษณะของผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานด้านสังคม กล่าวถึง
นโยบายการจัดการด้านแรงงานและพนักงาน
สวัสดิภาพในการทำงานของพนักงาน
การพัฒนาและฝึกอบรมพนักงาน
การส่งเสริมและพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรอบพื้นที่ตั้งของธุรกิจ

(2) จัดทำข้อมูลในรายงานให้ชัดเจน กระชับ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย หลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่จำเป็น โดยสรุปการดำเนินการทั้งด้านดีและด้านไม่ดีตามข้อเท็จจริง หากมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากภายนอก ให้ระบุแหล่งที่มาของข้อมูล และกลั่นกรองความถูกต้องของข้อมูลก่อนนำมาเปิดเผยไว้ในรายงาน

(3) จัดให้มีช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก เช่น จัดทำรายงานทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของธุรกิจ/บริษัท

การเปิดเผยข้อมูลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้จะมิใช่ข้อกำหนดให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องปฏิบัติ แต่เป็นการสมัครใจเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวด้วยตนเอง ทั้งนี้ ผลการวิจัยทางตลาดทุนในต่างประเทศหลายชิ้นระบุในแนวทางเดียวกันว่า ส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ภาพลักษณ์ของบริษัท และผลตอบแทนการลงทุน (ดู www.socialinvest.org/resources/factsheets_resources/)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 09, 2010

CSR Report ในสไตล์ ISO 26000

เมื่อถึงใกล้สิ้นปี องค์กรธุรกิจต่างก็วุ่นกับการจัดทำรายงานประจำปี แถมในบางแห่ง ก็ยังต้องรับนโยบายจากผู้บริหารในการให้มีการจัดทำรายงาน CSR ขององค์กรอีกด้วย ความแตกต่างสำคัญของการจัดทำรายงานการเงินกับรายงานแห่งความยั่งยืน ก็อยู่ตรงที่ ความมีอยู่ของข้อมูลการเงินที่ได้เก็บบันทึกไว้แล้วตลอดทั้งปี ขณะที่ความมีอยู่ของข้อมูลการดำเนินงาน CSR ที่แม้จะได้มีการทำจริง เห็นผลจริง แต่หากไม่ได้มีการวางระบบหรือระเบียบวิธีในการเก็บบันทึกข้อมูลไว้ล่วงหน้า ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถหาข้อมูลมารายงานได้อย่างครบถ้วนตามความประสงค์ของกิจการได้

องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ประกาศแนวปฏิบัติว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Guidance on social responsibility) มาตรฐาน ISO 26000:2010 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 หลังจากการริเริ่มจุดประกายกระบวนการจัดทำร่างนี้นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2544 หรือเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี โดยในมาตรฐานฉบับดังกล่าว ได้ให้ข้อแนะนำที่เกี่ยวกับการรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

องค์กรควรมีการรายงานผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมภายในห้วงเวลาที่เหมาะสมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยจำนวนองค์กรที่ดำเนินการดังกล่าวตามรอบเวลาอย่างสม่ำเสมอมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรทำได้หลายช่องทาง ทั้งการจัดประชุมร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย หนังสือแจ้งผลการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรายคาบ การเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ และการจัดทำเป็นรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามช่วงเวลา

องค์กรควรมีข้อมูลที่แสดงถึงวัตถุประสงค์และผลการดำเนินงานจำแนกตามหัวข้อหลักและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดชอบต่อสังคมในรายงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และควรมีรายละเอียดของวิธีการและกำหนดเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียได้เข้ามีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้ด้วย

ข้อมูลการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ควรให้ภาพที่สมบูรณ์และเป็นธรรม โดยเปิดเผยทั้งผลสำเร็จและข้อบกพร่องพร้อมแนวทางในการแก้ไข

องค์กรอาจเลือกที่จะรายงานการดำเนินงานของทั้งกิจการพร้อมกันในคราวเดียว หรือจะรายงานแยกตามแหล่งที่ตั้งประกอบการ สำหรับชุมชนที่มักคำนึงถึงเป็นกลุ่มย่อย การรายงานแบบจำเพาะตามท้องที่ จะได้รับประโยชน์กว่ารายงานแบบที่เป็นภาพรวมของกิจการ

การเผยแพร่รายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยังสามารถสร้างเสริมลักษณะเชิงคุณค่าให้แก่กิจกรรมการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร โดยข้อที่องค์กรพึงพิจารณาในการจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่

-ขอบเขตและขนาดของรายงาน ควรให้มีความเหมาะสมกับขนาดและลักษณะโดยธรรมชาติของกิจการ
-ระดับของรายละเอียด ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงขีดประสบการณ์ขององค์กรจากการรายงาน ในบางกรณี องค์กรริเริ่มความพยายามด้วยการรายงานที่จำกัดครอบคลุมเพียงไม่กี่ประเด็น และในปีต่อมา ก็ขยายวงครอบคลุมในประเด็นอื่นๆ ตามประสบการณ์และข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอจนสามารถขยายฐานการรายงานให้กว้างขึ้นได้
-ในรายงานควรอธิบายถึงวิธีในการตัดสินเลือกประเด็นที่องค์กรดำเนินการ และแนวทางดำเนินการกับประเด็นเหล่านั้น
-รายงานควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นเป้าประสงค์ขององค์กร ผลการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์และบริการในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน และ
-ตัวรายงานสามารถจัดทำในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจการและความประสงค์ของผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ รายงานเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเอกสารเว็บเชิงโต้ตอบ หรือเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ อาจจัดทำเป็นรายงานในรูปแบบที่เป็นฉบับแยกต่างหาก หรือจัดทำเป็นส่วนหนึ่งในรายงานประจำปีขององค์กรก็ได้

อนึ่ง ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถหาอ่านได้จากเอกสารมาตรฐาน ISO 26000 ในส่วนที่เป็นข้อแนะนำการจัดทำรายงานและเครื่องมือสำหรับการรายงาน (หัวข้อ 7.5, 7.8 และภาคผนวก A)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 02, 2010

จาก Blue สู่ Green

กระแสโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เป็นประเด็นทาง CSR มานานระยะหนึ่งแล้ว และก็จะยังเป็นประเด็นที่อยู่คู่กับสังคมโลกไปอีกนานจวบจนสิ้นอายุขัยของคนรุ่นปัจจุบัน

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งล่าสุด ยังได้เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเรื่องอุปสงค์สีเขียว ได้กลายเป็นปัจจัยที่สาม (Third Factor) ในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่มีความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืน นอกเหนือจากเรื่องราคาและคุณภาพ (ข้อมูลจาก PSB Survey on Sustainability in the 2009 Recession)

อุปสงค์สีเขียวได้ผลักดันให้องค์กรธุรกิจต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงาน สายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการต่างๆ ที่อิงกับ Green Concept เพิ่มขึ้น โดยองค์กรหลายแห่งได้พยายามผนวกความเป็นสีเขียวเข้าในฝั่งอุปทานให้ได้ตลอดทั้งสายเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์สีเขียวสู่ตลาด ผู้ประกอบการหลายแห่งได้ให้ความสนใจกับการใช้ฉลากคาร์บอนกับผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ควบคู่ไปกับประโยชน์ที่ได้จากการลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

กลยุทธ์ Blue Ocean Strategy ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ด้วยการคำนึงถึงการสร้างตลาดใหม่ หรือการสร้างและยึดอุปสงค์ใหม่เพียงลำพัง ไม่อาจนำไปสู่คำตอบของธุรกิจในบริบทของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ผลิตภัณฑ์สนองตลาดใหม่ที่มีทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ แต่ส่งผลกระทบเสียหายกับสิ่งแวดล้อม จะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

การกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ เพื่อหวังจับจองผลได้ในทางธุรกิจด้วยกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม แต่ไปสร้างให้เกิดมลพิษหรือความเสื่อมโทรมต่อระบบนิเวศ หรือคุกคามต่อความอุดมสมบูรณ์ของทุนทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงไม่อาจจัดเป็นกลยุทธ์ที่ใช้การได้ของธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

หากธุรกิจไม่สามารถรักษาฐานที่มั่นในผลิตภัณฑ์ที่เป็น Cash Cow หรือยึดครองพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดในปัจจุบันของตน ด้วยการเติมองค์ประกอบทางด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม อย่าว่าแต่ตลาดใหม่ที่ไร้การแข่งขันซึ่งยากแก่การจับจองในสภาวการณ์เช่นนี้ ตลาดหลักที่สร้างรายได้ให้แก่กิจการอยู่ตรงหน้าก็จะมีอันต้องหลุดลอยไปด้วย

ความพยายามที่จะยกระดับการเติบโตด้วยการสร้างนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) ในแบบ Blue Ocean เพื่อหลีกหนีสมรภูมิการแข่งขันในแบบ Red Ocean จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต่างเห็นโอกาสและกระโจนเข้าสู่ตลาดใหม่เดียวกัน ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ไม่ด้อยไปกว่ารายเดิม จนกลายเป็น Red Ocean ในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจำต้องยกระดับการดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้และผลกำไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงตลาดที่มีความต้องการเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกอยู่ในขณะนี้

กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว หรือ Green Ocean strategy จึงเป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ธุรกิจได้ใช้เป็นกลยุทธ์ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจ ภายใต้กรอบการพัฒนาความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value) ให้คงอยู่กับธุรกิจในระยะยาว ด้วยการเติมองค์ประกอบทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม

การนำกลยุทธ์ Green Ocean มาใช้ในธุรกิจ จะเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางคุณค่าที่พัฒนาขึ้นจากกลยุทธ์ Blue Ocean ให้มีระยะห่างเหนือผู้เล่นหน้าใหม่ และเป็นกลยุทธ์ที่ใช้รักษาฐานที่มั่นของผลิตภัณฑ์ในส่วนแบ่งตลาดแบบ Red Ocean ให้แข็งแกร่งเหนือคู่แข่งยิ่งขึ้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 25, 2010

ต่อยอดเอสเอ็มอี ด้วย CSR Profile

ในธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเป็นเอสเอ็มอี เอกสารสำคัญ 2 ชิ้นที่ทุกองค์กรต้องมี คือ Product Catalogue กับ Company Profile เอาไว้สำหรับนำเสนอลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างให้เกิดธุรกรรมตามที่องค์กรได้ตั้งเป้าหมายไว้

หน้าที่ของ Product Catalogue มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนรู้ว่า เราขายอะไร (what) ผลิตภัณฑ์ของเราช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ท่าน หรือใช้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร พร้อมสรรพคุณกำกับว่า สินค้าและบริการของเรามีดีและโดดเด่นกว่าเจ้าอื่นอย่างไร

ส่วนหน้าที่ของ Company Profile มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนเชื่อมั่นว่า ทำไม (why) ต้องซื้อจากเรา องค์กรของเราน่าเชื่อถือและมั่นคงอย่างไร มีขอบข่ายการให้บริการกว้างขวางขนาดไหน และเมื่อเป็นลูกค้าแล้ว ย่อมไว้วางใจได้อย่างแน่นอน

แต่ในวันนี้ ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย มิได้คำนึงถึงเพียงคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือที่องค์กรมอบให้ตนเองอย่างไรเท่านั้น แต่ยังพิจารณาเพิ่มต่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้หรือองค์กรที่ตนเป็นลูกค้าอยู่นั้นสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไรด้วย

ความต้องการในเอกสารหรือข้อมูลที่ทำให้คนเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และองค์กรในมุมมองของการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มักจัดทำในรูปของรายงานที่เรียกกันว่า Sustainability Report หรือ CSR Report และมักจะมีให้เห็นแต่เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ โดยในปัจจุบันมีกิจการอยู่หลายพันแห่งทั่วโลกที่ดำเนินการจัดทำรายงานเผยแพร่ดังกล่าว

แต่ก็ใช่ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีข้อมูลหรือจัดทำเอกสารประเภทนี้ไม่ได้ เพียงแต่เรายังไม่ค่อยเห็นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากนัก สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะขาดแรงจูงใจหรือไม่เห็น Benefit มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้และมีอยู่ค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว

ทว่าก็มีเอสเอ็มอีหลายแห่งที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ทางธุรกิจต่อการเผยแพร่ข้อมูลความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เพียงแต่ไม่ได้ทำในรูปแบบที่เป็นทางการ เหมือนอย่างรายงานแห่งความยั่งยืนในองค์กรขนาดใหญ่ แต่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเผยแพร่ “ข้อมูลเด่นทาง CSR” หรือ CSR Profile เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน

CSR Profile จึงมีหน้าที่ในการทำให้คนรู้ว่า ผลิตภัณฑ์และองค์กรที่เขาเหล่านั้นใช้บริการอยู่นั้น ไม่สร้างผลลบ และ/หรือ สร้างผลบวกให้แก่สังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง (how good)

เมื่อพิจารณาเทียบกับ Product Catalogue ซึ่งมีข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) เป็นหลัก หรือใน Company Profile ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและสายผลิตภัณฑ์ในภาพรวม เนื้อหาในเอกสารประเภท CSR Profile จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลดีหรือผลกระทบในเชิงบวกของผลิตภัณฑ์และองค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไข (หรือคำมั่นว่าจะแก้ไข) ผลเสียหรือผลกระทบในเชิงลบที่ผ่านมาของกิจการ

ในทางปฏิบัติ เราอาจรวมข้อมูลใน CSR Profile ไว้ในเอกสาร Product Catalogue หรือ Company Profile ด้วยได้ แต่เนื่องจากกระแสเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกวันนี้ ได้รับความสนใจจากสังคม และผู้บริโภคก็มีความตื่นตัวมาก การเน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลนี้ ด้วยการแยกเป็นเอกสาร CSR Profile จึงเป็นเรื่องที่หลายองค์กรดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อกระแส CSR ดังกล่าว

CSR Profile จึงสามารถพัฒนามาเป็นแค็ตตาล็อกทางธุรกิจอันทรงคุณค่าของกิจการ ที่ทำให้คู่ค้า/ลูกค้า รู้ว่าองค์กรของเรามีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถสร้างเป็นจุดขาย และการต่อยอดธุรกิจ ด้วยการค้นหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในเชิง CSR การแปลงจุดด้อยของผลิตภัณฑ์ให้เป็นโอกาสทาง CSR และการค้นหาตลาดใหม่จากการสำรวจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ของกิจการ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 18, 2010

ทำรายงาน CSR ให้เป็นมากกว่ารายงาน

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative : GRI) ได้เดินทางมาเปิดเวิร์คชอปแนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 90 คน

หน่วยงาน GRI เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ด้วยความยึดมั่นในการปรับปรุงและการนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในระดับโลก โดยกรอบการรายงานของ GRI ปัจจุบันพัฒนาอยู่ที่ฉบับ G3 ได้มีการนิยามหลักการและตัวชี้วัด ซึ่งองค์กรสามารถใช้วัดและรายงานผลการดำเนินงานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปควบคู่กัน

ในกรอบการรายงานฉบับ G3 ได้แบ่งกระบวนการจัดทำรายงานออกเป็น 5 ระยะ (Prepare -> Connect -> Define -> Monitor -> Report) โดยมีรายละเอียดในแต่ละระยะอย่างสังเขป ดังนี้

PREPARE - เป็นขั้นของการเตรียมการภายในองค์กร ซึ่งกิจการอาจมีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกได้ แต่จุดมุ่งหมายหลักคือการปรับวางกระบวนภายในให้พร้อมเริ่มต้น ด้วยความเข้าใจและสามารถระบุถึงแง่มุมที่สำคัญสุดขององค์กรในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

CONNECT - เป็นขั้นของการพูดคุยหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกองค์กรต่อเรื่องที่ได้เลือกมารายงาน อันนำไปสู่การกำหนดเนื้อหาของรายงานและการจัดเตรียมระบบที่ให้ได้มาซึ่งเนื้อรายงาน ในขั้นตอนนี้ กิจการจำต้องสามารถที่จะระบุตัวผู้มีส่วนได้เสียหลักๆ ทั้งในและนอกองค์กร เพื่อขอความเห็นประกอบการตัดสินใจต่อการจัดทำรายงานที่เหมาะสม

DEFINE - เป็นขั้นของการกำหนดเป้าประสงค์และเนื้อหารายงาน ซึ่งอาจมีการปรับกระบวนการภายใน ให้เอื้อต่อการจัดทำรายงาน หลังจากที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนในองค์กรและข้อแนะนำจากภายนอก รวมถึงการพิจารณาเพิ่มเติมตัวชี้วัดสำหรับการรายงานในระยะต่อไป

MONITOR - เป็นขั้นของการติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการรายงานตามตัวชี้วัดที่กำหนด ข้อมูลที่ได้ต้องมีคุณภาพและความถูกต้องน่าเชื่อถือ มีวิธีการและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนนี้จะทอดระยะเวลานานสุดและดำเนินไปได้ไม่สิ้นสุด

REPORT - เป็นขั้นของการลงมือเขียนรายงาน ที่เริ่มจากการพิจารณารูปแบบและช่องทางของการรายงาน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ได้รับรายงานกันอย่างทั่วถึง โดยโครงสร้างของตัวรายงานนั้นไม่มีแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละองค์กร อย่างไรก็ดี ในคู่มือของ GRI ได้ให้คำแนะนำสำหรับการวางโครงสร้างไว้เป็นแนวทางเบื้องต้นด้วย

กรอบการรายงานของ GRI ได้คำนึงถึงวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึง และทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงานที่ถูกกำหนดให้เป็นกระบวนการ (Process) มากกว่าการกำหนดให้เป็นเพียงโครงการ (Project) ที่มุ่งหวังเพียงแค่เอกสารรายงานขั้นสุดท้ายเท่านั้น

เวิร์คชอปแนะนำการจัดทำรายงานที่ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ได้เปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทย สามารถนำความรู้ไปพัฒนาการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการ ให้มีความก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 11, 2010

ทำรายงาน GRI ให้ได้งาน CSR

นอกจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในเชิงของการกระทำแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องดำเนินควบคู่กันไป ก็คือ การเปิดเผยข้อมูลที่สามารถอธิบายถึงเป้าประสงค์ การวางแผน ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงาน วิธีการติดตาม เกณฑ์การวัดผล ตลอดจนผลจากการดำเนินงานทั้งในทางบวกและลบที่พร้อมรองรับต่อการตรวจสอบจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ในรูปของการรายงานสาธารณะ (Public Reporting)

เมื่อพูดถึงกรอบการจัดทำรายงานสาธารณะซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น หนีไม่พ้นที่จะพูดถึงองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ทำงานในลักษณะเครือข่ายที่มีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนราว 20,000 รายทั้งในภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมทั้งสมาคมการค้าต่างๆ จากกว่า 80 ประเทศ ช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนากรอบและแนวปฏิบัติในการจัดทำรายงานความยั่งยืน จนในปัจจุบันได้มีการประกาศแนวปฏิบัติหลัก หรือ Core Guidelines สำหรับการจัดทำรายงานเป็นรุ่นที่สาม (G3) และมีองค์กรธุรกิจที่จัดทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวปฏิบัติดังกล่าวนับหลายพันแห่งทั่วโลก

และเป็นครั้งแรกที่ GRI จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) แนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดยวิทยากรจาก GRI (Mr.Enrique Torres) ผู้จัดการอาวุโสด้านการสอนและการอบรมเดินทางมาถ่ายทอดความรู้โดยตรงให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งจากบริษัทจดทะเบียน รัฐวิสาหกิจ เอสเอ็มอี และองค์การสาธารณประโยชน์ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรม

กรอบการรายงาน GRI ฉบับ G3 ได้ถูกหยิบยกมาแนะนำ พร้อมวิธีการใช้แนวปฏิบัติ G3 ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ในแบบเดียวกัน ตลอดจนการชี้ให้เห็นถึงเหตุผลและวิธีการที่กรอบแนวปฏิบัติ G3 สามารถช่วยให้องค์กรบริหารและรายงานผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

มีการอธิบายให้เห็นถึงกระบวนการรายงาน 5 ระยะตามแบบฉบับ GRI อย่างถ่องแท้ รวมทั้งเทคนิคการเลือกตัวชี้วัดด้วยการทดสอบสารัตถภาพ (Materiality Test) ที่จะช่วยคัดกรองตัวชี้วัดให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร ตลอดจนการระบุถึงระดับของการรายงานข้อมูลตามเกณฑ์อ้างอิง GRI

นอกจากนี้ GRI ยังได้พัฒนาคู่มือจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน “เส้นทางสร้างคุณค่า” ที่ชี้ให้เห็นวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงาน ซึ่งจะได้มาก็ต่อเมื่อการรายงานนั้นถูกกำหนดให้เป็นกระบวนการ (Process) มากกว่าที่จะทำเป็นโครงการ (Project) และมิใช่เป็นเพียงกระบวนการที่มุ่งหวังแค่เอกสารรายงานขั้นสุดท้าย

Mr. Enrique Torres วิทยากรจาก GRI ซึ่งเดินทางมาถ่ายทอดความรู้ในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ในหลักสูตรอบรมที่ได้รับการรับรองจาก GRI และมีประสบการณ์ด้านการอบรมให้แก่หน่วยงานทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม มากว่า 15 ปี

งานประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียภาคองค์กร (Organizational Stakeholder) ของ GRI และสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือซิเมนต์ไทย (SCG) บมจ.บางจากปิโตรเลียม และ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท

องค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่กำลังพัฒนารายงานแห่งความยั่งยืน จะได้ใช้แนวปฏิบัติของ GRI ในการสร้างกระบวนการจัดทำรายงานให้เป็นเครื่องมือ (mean) ในการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กรตลอดทั้งปี มากกว่าที่จะมุ่งให้ได้รายงานเป็นจุดหมาย (end) ตอนท้ายปีเท่านั้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 28, 2010

การพัฒนา (จำเป็น) ต้องยั่งยืน

หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งนิยามโดย Brundtland Commission เมื่อปี 2520 หมายถึง การพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

กลไกสำคัญซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร แต่ยังต้องผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในทุกกระบวนการดำเนินงานขององค์กรให้ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ กับการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมภายใต้ข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป ซึ่งหมายรวมถึง วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน (sustainable consumption) และแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน (sustainable resource)

แนวทางนี้จะคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ Profit-People-Planet ในมุมมองของ Triple Bottom Line ที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น การขจัดความยากจน จำเป็นต้องคำนึงถึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมประกอบกัน โดยมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืน (state of sustainability) ของสังคมโลกโดยรวม ไม่ใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง


ขณะที่ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เป็นเรื่องระดับองค์กรที่คำนึงถึงการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถใช้เป็นเครื่องมือขององค์กร ทั้งในการสร้างความยั่งยืนและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร โดยที่การสร้างความยั่งยืนหรือขีดความสามารถในการอยู่รอดขององค์กร อาจมีวิธีการที่แตกต่างหรือสวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวมก็ได้

ในวันนี้ การคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มิได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานเชิงมหภาคเท่านั้น แต่มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานในระดับองค์กรด้วย การวัดผลการดำเนินงานด้วยการพิจารณาที่งบกำไรขาดทุน (income statement) มีบรรทัดสุดท้ายคือ กำไรสุทธิ ไม่เพียงพออีกต่อไป กิจการต้องพิจารณาที่งบผลลัพธ์ (outcome statement) ซึ่งมีบรรทัดสุดท้าย คือ เรื่องเศรษฐกิจ (profit) สังคม (people) และสิ่งแวดล้อม (planet) ควบคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การวัดผลที่เป็นรูปธรรมในทางธุรกิจสำหรับการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการบริหารจัดการทางธุรกิจมีหลักยึดว่า “You can’t manage what you can’t measure” และเมื่อต้องวัดผล ธุรกิจก็ใช้หลักว่า “You can’t measure what you can’t describe” ทุกวันนี้การอธิบายผลประกอบการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและหลากหลาย

ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามในการวัดผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการแปลงให้อยู่ในหน่วยวัดที่เป็นเงิน เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางบัญชีต่อกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ค่าเสียหายหรือค่าปรับต่อการละเมิดด้านแรงงานหรือการคุกคามทางเพศที่ลดลง อย่างไรก็ดี แนวทางนี้มีความยากลำบากต่อการคำนวณและการเทียบเคียง จึงทำให้การยอมรับอยู่ในวงจำกัด

ความเป็นจริง การวัดผลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติ การนำหน่วยวัดทางเศรษฐกิจที่แม้จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ไปใช้กับการวัดผลประกอบการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาจผิดแผกไปจากธรรมชาติ พัฒนาการที่เกิดขึ้นในวันนี้สำหรับการวัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มเผยหน่วยวัดที่แตกต่างกันชัดเจนขึ้น เช่น การวัดด้วยหน่วย Carbon ที่แสดงถึงประสิทธิภาพในกระบวนการจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการวัดผลการดำเนินงานด้านสังคม ด้วยหน่วยวัด Inclusion ที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมหรือการเข้าถึงคนชั้นฐานรากและผู้ด้อยโอกาสเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น


การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็น Megatrend ที่เกิดขึ้นหลังจาก Megatrend เรื่องคุณภาพ ในช่วงทศวรรษ 70 และเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ในช่วงทศวรรษ 80 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “The Sustainability Imperative” โดย David A. Lubin และ Daniel C. Esty ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review เดือนพฤษภาคม 2553) และเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจในวันนี้และวันข้างหน้า...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 21, 2010

จากองค์กรธุรกิจ สู่องค์กรพลเมือง

หากเปรียบเทียบระหว่างหลักของการจัดการในยุคสมัยต่างๆ พบว่าในช่วงทศวรรษ 70 เป็นยุคของการจัดการที่คำนึงถึงคุณภาพ ทศวรรษต่อมาเป็นเรื่องของการบริการลูกค้า และในยุค 90 เป็นยุคของการรีเอ็นจิเนียริ่ง

สำหรับในศตวรรษที่ 21 นี้ จะเป็นเรื่องของ Corporate Citizenship ที่องค์กรธุรกิจจะต้องคำนึงถึงการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอันที่จะเพิ่มพูนผลกระทบที่ดี (maximize positive impact) และลดผลกระทบที่เป็นลบ (minimize negative impact) ต่อสังคมโดยรวมให้ได้มากที่สุด


คำศัพท์ที่จะพบบ่อยในการบริหารจัดการยุคนี้ อาทิ sustainability, corporate social responsibility, the triple bottom line หรือ corporate ethics จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงบริบทการแข่งขันในยุคสมัยปัจจุบัน

สำนักที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Corporate Citizenship คือ Boston College Center for Corporate Citizenship (BCCCC) ซึ่งมีรากที่มาจาก The Institute on Community Relations ที่ก่อตั้งโดย Edmund Burke เมื่อปี ค.ศ. 1983 เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างองค์กรธุรกิจกับชุมชน ที่ก้าวข้ามการตอบสนองความคาดหวังของชุมชน ต่อการช่วยเหลือในรูปแบบของการบริจาคเพื่อการกุศล สู่หลักการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจที่พึงมีต่อชุมชน

กิจกรรมขณะนั้นเป็นหลักสูตรภาคฤดูร้อนใน Boston College Graduate School of Social Work จนกระทั่งในปี 1985 จึงได้ขยายบทบาทสู่การเรียนการสอนและการวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น Center for Corporate Community Relations

หลังจากการเกษียณของผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งสำนัก Bradley K. Googins ได้รับหน้าที่สืบต่อในปี ค.ศ. 1997 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น Center for Corporate Citizenship ในปี ค.ศ. 2001 ภายใต้พันธกิจที่จะพัฒนาความเป็นผู้นำขององค์กรธุรกิจ ในบทบาทขององค์กรพลเมือง ที่คำนึงถึงประโยชน์ทางสังคม ผสมผสานกับเป้าหมายหลักทางธุรกิจ

ในปี ค.ศ. 2007 BCCCC ได้เผยแพร่ Corporate Citizenship Management Framework (CCMF) ซึ่งเป็นผลจากการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจมากว่า 20 ปี ที่ประกอบด้วย เรื่อง Corporate Mission, Values and Governance ในแง่มุม Integration and Accountability เรื่อง Community Engagement ที่ให้ความสำคัญกับ Addressing Social Challenges เรื่อง Operations โดยเน้นการดำเนินงานในแบบ Responsible Business Practices และเรื่อง Products and Services ที่คำนึงถึงการใช้ Market Strategy เป็นสำคัญ


นอกจากนี้ BCCCC ยังได้พัฒนา Corporate Citizenship Assessment Tool สนับสนุนเพื่อใช้ในการประเมินสถานะของความเป็นองค์กรพลเมืองที่ถูกผนวกเข้ากับระบบจัดการและการปฏิบัติงานในองค์กรอีกด้วย

องค์กรธุรกิจที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Corporate Citizenship สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ BCCCC ได้ที่ www.bcccc.net ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 30, 2010

ใช้ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ค แบบ SMART

ทุกวันนี้ เยาวชนกำลังซึมซับวัฒนธรรมการใช้งานเครื่องมือติดต่อสื่อสารในเครือข่ายทางสังคมกันอย่างแพร่หลาย โดยไม่รู้ว่าจะมีกฎ กติกา มารยาท ที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราได้มากน้อยแค่ไหน ในหลายครั้งเยาวชนตกเป็นเหยื่อของการคุกคามจากผู้ที่ไม่หวังดี การป้องกันจึงย่อมดีกว่าการแก้ไข

แม้โลกออนไลน์จะเป็นประตูเปิดไปสู่แหล่งความรู้มากมายมหาศาล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเราใช้งานไม่เป็นและรู้ไม่เท่าทัน ภัยร้ายที่แฝงมาก็อันตรายมหาศาลเช่นกัน เราจึงควรใช้มันอย่างฉลาด ด้วยกฎ “SMART” ที่ประมวลมาจากคู่มือ Child Online Protection (COP) ซึ่งจัดทำโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)

SET YOUR LIMITS
ระมัดระวังในการที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลในครอบครัว รวมทั้งของเพื่อนๆ บนโลกออนไลน์ โดยตั้งค่าโปรแกรมสื่อสารหรือเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คให้ปกป้องข้อมูลส่วนตัวสูงสุด หรือเปิดเผยได้เฉพาะกับเพื่อนหรือบุคคลที่รู้จักจริงๆ เท่านั้น (ใช้ชื่อเล่น แทนชื่อจริงก็ปลอดภัยดี) จงอย่าปักใจเชื่อข้อมูลที่ได้รับร้อยเปอร์เซ็นต์ หากจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้น ควรตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อื่นๆ ประกอบ และเมื่อต้องส่งข้อมูลให้ผู้อื่น ให้แน่ใจว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นการละเมิดสิทธิ หลอกลวง หรือหมิ่นประมาทผู้อื่น เพราะกฎหมายยังคงตามไปคุ้มครองในโลกออนไลน์เหมือนในโลกจริง ที่สำคัญ คิดให้หนัก เวลาจะโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือไฟล์ส่วนตัว เพราะเมื่อส่งไปแล้ว มันอาจจะไม่สามารถลบหรือยกเลิกได้ มีหลายคนต้องเสียใจ เจ็บใจ และทุกข์ใจไปตลอดชีวิต

MEETING ONLINE FRIENDS OFFLINE
เราอาจพบเพื่อนใหม่ในโลกออนไลน์ได้ จงคิดให้รอบคอบ หากจะต้องนัดพบกันจริงๆ ควรพาผู้ใหญ่หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปกับเราด้วย เพราะคนที่เราคุยด้วยผ่านโลกออนไลน์ที่ดูว่าจะดี อาจจะไม่เหมือนกับตัวตนจริงๆ เวลาพบกันก็ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ควรบอกพ่อแม่หรือชวนคนที่สามารถคุ้มครองเราได้ไปกับเราด้วย ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร

ACCEPTING INVITATIONS / FRIENDSHIPS
การสนทนาพูดคุยออนไลน์กับคนที่เรารู้จักในโลกจริงอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ แต่บางทีเราอาจจะมีเพื่อนของเพื่อน...และของเพื่อน มาขอทำความรู้จักกับเราในโลกออนไลน์ด้วย เราก็จะรู้สึกสนุกที่ได้รู้จักเพื่อนเพิ่มขึ้น แต่ให้จำไว้เสมอว่า เพื่อนของเพื่อน ไม่ใช่เพื่อนของเราตรงๆ การจะบอกข้อมูลหรือให้การสนิทสนมเสมือนเพื่อนของเราโดยตรงนั้น เขาอาจจะไม่รักษาความลับหรือ take care เราเหมือนเพื่อนเราจริงๆ ก็ได้ อย่าไปคิดว่าการเก็บสะสมคอนแทคหรือเฟรนด์ให้ได้ “ปริมาณ” เยอะๆ จะดูโก้เก๋ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค การคัดเลือกเพื่อนที่มี “คุณภาพ” ต่างหากที่จะทำให้เราดูไฮโซกว่า

REACT
บางครั้งเราอาจจะหลุดไปยังเว็บไซต์หรือวงสนทนาซึ่งมีเนื้อหาไม่เหมาะสมหรือน่าขยะแขยง ให้รีบกลับออกมาหรือบล็อกไม่ให้เข้ามา ทางที่ดีควรจะปรึกษาผู้ใหญ่หรือใครที่ไว้ใจได้ ถ้าดูแล้วเหตุการณ์จะเลยเถิดหรือบานปลาย เช่น มีการยั่วยวนด้วยภาพหรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม มีความพยายามนัดพบเพื่อติดต่อสัมพันธ์ในแบบรักๆ ใคร่ๆ มีการพูดจาดูถูกดูหมิ่นให้เสียๆ หายๆ ขอให้ระลึกว่า การจะสั่งสมประสบการณ์หรือพยายามแก้ไขปัญหาโดยลำพังคนเดียวนั้น ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เราควรต้องหาตัวช่วยในการเสริมพลังบวก เริ่มจากเพื่อนสนิท พ่อแม่ คุณครู หรือผู้ใหญ่ที่เราเชื่อใจ

TELL SOMEONE ABOUT YOUR CONCERNS
ไม่มีข้อกังวลหรือปัญหาใดๆ ในโลก (ออนไลน์) นี้ ที่ยากเกินแก้ไข การหันหน้ามาปรึกษาหารือกับผู้ที่เราไว้วางใจในโลก (ออปไลน์) เป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ใช่เราคนเดียวที่อาจต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือปัญหาแบบนี้ เพื่อนของเราหลายคนได้รับการแก้ไข และใช้ชีวิตอย่างชิลด์ชิลด์ได้ ก็เพราะมีผู้ไกด์ช่องทางให้ในแบบสุโค่ย คำตอบหลายเรื่องรอเราอยู่ อย่าลืมว่า โลกออปไลน์ยังมีที่ให้เรายืนอยู่เสมอ วันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะกลายเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือคนที่เคยเจอปัญหาเหมือนเราบ้างก็ได้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link

Thursday, September 23, 2010

ปฏิรูปเรื่องใหญ่ คอร์รัปชันเรื่องใหญ่กว่า

ปัจจุบันคำว่า Collective Action หรือ การทำงานวิถีกลุ่ม กำลังได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความตื่นตัวภายในภาคธุรกิจเอกชนกันเอง ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทางที่ดีขึ้น ด้วยการร่วมไม้ร่วมมือกันทำงานในลักษณะภาคีเครือข่าย

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ได้แก่ การที่หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย และศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเอกชนระหว่างประเทศ (CIPE) ร่วมกันผลักดันความริเริ่มการทำงานวิถีกลุ่มในประเทศไทย (Collective Action Initiative in Thailand) ในการต่อต้านคอร์รัปชัน เริ่มจากการประมูลงานภาครัฐ โดยมีแผนจะประกาศเปิดตัวในเวทีการประชุมเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันระดับโลกในราวกลางเดือน พ.ย. นี้

สำหรับกรอบแนวทางการทำงานวิถีกลุ่มที่ได้จากเวทีประชุมกลุ่ม Dealing with Moral for Competitiveness: Ethical and Moral Guideline for Thailand เมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อตกลงว่าการทำงานวิถีกลุ่มนั้น จะตั้งอยู่บนวิถีเชิงบวก ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสวงหาความร่วมมือตามความถนัดและประสบการณ์ของแต่ละองค์กร

การทำงานวิถีกลุ่ม เน้นการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ และไม่ผลักภาระรับผิดชอบให้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สนับสนุนให้องค์กรประเภทภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะสมาคมธุรกิจการค้า และอุตสาหกรรมต่างๆ ดำรงบทบาทนำในการพัฒนาทักษะกระบวนการทำงานวิถีกลุ่ม

ความก้าวหน้าในการทำงานวิถีกลุ่มจะวัดจากการชักนำสมาชิกในภาคีเครือข่ายให้มาร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิด Economy of Scale และขยายพลังจากการสะสม Collect Action ของหน่วยงานที่เข้าร่วม โดยจัดให้มีคณะทำงานรับผิดชอบ จัดการ กำกับดูแล ติดตามและพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นตอน

คณะทำงานรับผิดชอบ อาจจัดตั้งในลักษณะ Joint Group ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในลักษณะ Action-Oriented โดยการนำของผู้นำภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการทำหน้าที่ส่งเสริมการทำงานวิถีกลุ่มให้เติบโตและเข้มแข็ง ด้วยหลัก 4 ประการ

ยึดคุณค่าและวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม
ปรับทัศนคติที่เห็นว่าการทำธุรกิจด้วยคุณธรรมจริยธรรมจะทำให้สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน
มุ่งขจัดค่านิยมในทางที่ส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชันในหมู่ธุรกิจ
ใช้มาตรการทางสังคม (Social Sanction) ในการปกป้องการกระทำที่ชอบ และประณามการกระทำที่ไม่ดี (ในเชิงพฤติกรรม) มากกว่าที่ตัวบุคคล (ในเชิงปัจเจก)

การสำรวจความคิดเห็นต่อเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ในเวที “Thailand Competitiveness Conference 2010” ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 100% คิดว่าการปฏิบัติทางจริยธรรม (Ethical Practices) มีส่วนสำคัญกับขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน มีความรุนแรงที่สุดในภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 87 ขณะที่ในภาคธุรกิจเอกชน ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 13 โดยผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่าการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยการริเริ่มจากภาคเอกชนในแบบ Collective Effort ที่จะไม่ส่งเสริมเรื่องการให้สินบน หรือว่าจูงใจที่ผิดกฎหมาย มีความเป็นไปได้มาก คิดเป็นร้อยละ 30 อยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 40 เป็นไปได้น้อย คิดเป็นร้อยละ 40 และไม่มีผู้ใดเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลย (ร้อยละ 0)

สำหรับตัวบ่งชี้ด้านคุณธรรมที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยในปัจจุบันเรียงลำดับจากมากสุด ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต อยู่ที่ร้อยละ 60.7 ความรับผิดชอบต่อสังคม อยู่ที่ร้อยละ 32.1 และความพอเพียง อยู่ที่ร้อยละ 7.1

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดต่างแสดงความเห็นว่าสมควรจะนำประเด็นการปฏิบัติทางจริยธรรม (Ethical Practices) มาพิจารณาอย่างต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

ขอเชิญท่านร่วมสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจเอกชน เกี่ยวกับ "การสร้างแนวร่วม (Collective Action) ในการต่อต้านคอร์รัปชัน" (Opinion Survey of Private Sector Leaders on Anti-Corruption Collective Action in Thailand) โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย หอการค้าไทย ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้ที่ http://bit.ly/cqPqEG ภายในวันที่ 24 กันยายนนี้ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 16, 2010

ถึงเวลาทำคุณธรรมให้จับต้องได้

สัปดาห์นี้ ศูนย์คุณธรรมร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดการประชุมเวทีสมัชชาคุณธรรม : ภาคกลาง ใน โครงการสมัชชาคุณธรรมปี 2553 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านคุณธรรมในประเด็นที่มีความสำคัญ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง ร่วมกับองค์กรทางศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ ซึ่งมีองค์กรและเครือข่ายภาคีต่างๆ ในภาคกลางเข้าร่วมการประชุมจำนวน 170 คน

สมัชชาคุณธรรมเป็นกลไกสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรภาคีในทุกภาคส่วนของสังคมที่มีปณิธานและเป้าหมายร่วมกันเพื่อร่วมมือรวมพลังทั้งในด้านความคิด ความรู้ การกระทำ เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีสู่สังคมและนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนคุณธรรมความดีอย่างมีพลังต่อเนื่อง ในการประชุมครั้งนี้ได้นำเอาผลการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) ที่มีการวางกรอบแนวทางในการขับเคลื่อน และจากการประชุมโต๊ะกลม (roundtable) ที่เสนอยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน มาเป็นข้อมูลตั้งต้น

กรอบแนวทางในการขับเคลื่อนจากเวทีประชุมกลุ่มย่อย ได้แก่ แนวทางปฏิบัติในด้านคุณธรรม ควรเริ่มจากครอบครัวไปสู่ระดับนโยบาย ควรมีคู่มือคุณธรรมในการเตรียมตัวเป็นพ่อแม่เพื่อปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกตั้งแต่เล็ก ใช้โมเดลการปฏิบัติเรื่องศาสนชุมชน เช่น โครงการพระธรรมจาริก มจร. และผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น ประเพณีตากคัมภีร์ จ.แพร่ เป็นกรณีศึกษา โดยองค์กรสื่อต้องมีบทบาทเชิงรุกในการเผยแพร่หรือส่งเสริมเรื่องนี้ ในที่ประชุมได้เสนอให้มีการตั้งสภาคุณธรรมสูงสุด 5 ศาสนาในประเทศไทย โดยภาคศาสนาต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน เนื่องจากไม่สามารถพึ่งภาคการเมืองในปัจจุบันได้

ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนจากเวทีประชุมโต๊ะกลม จะใช้ “วิถีชุมชนวัด” (หมายรวมถึง วัด โบสถ์ มัสยิด และศาสนสถานอื่นๆ) นำสังคมสู่สันติสุข โดยคำนึงถึงบริบทของชุมชนเป็นฐาน เพราะในศาสนาพุทธ วัดถือเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชีวิตจิตใจของคนไทยมาแต่ดั้งเดิม ในศาสนาคริสต์ ชุมชนวัดเป็นรากฐานสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติพันธกิจกิจร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้อภิบาลในแต่ละวัด ชุมชนคริสต์ชนพื้นฐานเป็นเครื่องหมายของการมีชีวิตชีวาของชุมชน ในศาสนาอิสลาม มัสยิด ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวมุสลิมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันรวมตัวกันสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน รวมทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ก็จะมีโบสถ์และวัดในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและปฏิบัติศาสนกิจอย่างมั่นคงเรื่อยมา

วิถีชุมชนวัด เป็นวิธีการสำคัญในการพัฒนาชีวิตจิตใจ สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันฉันพี่น้อง ด้วยการสนับสนุนให้สมาชิกในชุมชน อาทิ พระ นักบวช ครู และผู้นำชุมชน ได้รับการปลุกจิตสำนึกและสร้างทักษะเรื่องกระบวนการวิถีชุมชนวัด กระทั่งสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนวัดอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง โดยต้องจัดให้มีคณะทำงานรับผิดชอบ จัดการ กำกับดูแล ติดตามและพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นตอน

คณะทำงานรับผิดชอบ อาจจัดตั้งเป็นสภาชุมชนวัด โดยการนำของพระสงฆ์เจ้าอาวาส หรือผู้นำของศาสนสถาน ร่วมกับองค์กรและเครือข่ายภาคีต่างๆ ในการทำหน้าที่ส่งเสริมวิถีชุมชนวัดให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยยึดคุณค่าทางวัฒนธรรมของชุมชน มุ่งรื้อฟื้นคุณค่าที่ดีงามของสถาบันครอบครัว เน้นให้ชุมชนวัดเป็นแหล่งอบรมคุณค่าศาสนา วัฒนธรรม และการเคารพวิถีชีวิตที่งดงามของพี่น้องร่วมชุมชน ตลอดจนคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยตระหนักว่าการเสวนาทางสังคม (Social Dialogue) จะนำมาซึ่งความเข้าอกเข้าใจและเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้ชุมชน

กระบวนการพัฒนาวิถีชุมชนวัด จะตั้งอยู่บนวิถีเชิงบวก ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสวงหาสิ่งที่ดีตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคลและองค์กร ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการมองไปข้างหน้า ร่วมกันถักทอความฝันให้เป็นความจริง สร้างสรรค์แนวทาง รูปแบบ และวิธีการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานที่ประสานสอดคล้องขับเคลื่อนอนาคตที่นำไปสู่สังคมสันติสุขร่วมกัน

สำหรับผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในเวทีสมัชชาคุณธรรมภาคกลาง ได้มาซึ่งแผนงาน/แผนปฏิบัติการตามแนวทางวิถีชุมชนวัดประมาณ 15 เรื่องจากผู้แทนทั้ง 5 ศาสนาและเครือข่ายภาคี เพื่อที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยการประชุมเวทีนี้จัดครั้งต่อไปที่ภาคอีสาน จ.สกลนคร (24 กันยายน) ภาคใต้ จ.สงขลา (30 กันยายน) และภาคเหนือ จ.แพร่ (13 ตุลาคม) ผู้สนใจติดตามจาก moralcenter.or.th และ thaipat.org ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 09, 2010

เวทีนี้...นับหนึ่งแล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงาน Thailand Competitiveness Conference 2010 เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมีศูนย์คุณธรรม และสถาบันไทยพัฒน์เป็นหนึ่งใน Knowledge Partners ที่รับผิดชอบดำเนินการสัมมนาและสรุปผลของกลุ่ม Dealing with Moral for Competitiveness : Ethical and Moral Guideline for Thailand ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นเป็นปีแรก ก็ด้วยเหตุที่สถานการณ์เรื่องคุณธรรม จริยธรรมในประเทศไทย มีทีท่าว่าจะเสื่อมถอยอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐและเอกชนที่มีระดับของความรุนแรงมากขึ้น ที่หากไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่ออันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

อุปสรรคสำคัญที่ได้มีการสะท้อนในเวทีการระดมความคิด ได้แก่ ทัศนคติของนักธุรกิจที่เห็นว่าการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม จะทำให้แข่งขันไม่ได้ หรือถ้าต้องแข่งขันในกติกา ทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ก็จะไม่สามารถมีชัยชนะเหนือคู่แข่งขันได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องขวนขวายดิ้นรนเพื่อจะอยู่รอดในธุรกิจ เมื่อผนวกกับการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายและขาดการกำกับดูแลกติกาอย่างเข้มงวดของภาครัฐ จึงทำให้วิกฤตการณ์ด้านคุณธรรม จริยธรรมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

หนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่มีการตกผลึกความคิดร่วมกันในที่ประชุมคือ การขับเคลื่อนการทำงานในแบบร่วมไม้ร่วมมือกัน (Collective Effort) โดยมีกติกาในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ชัดเจนและวัดผลได้ และมีมาตรการในการดำเนินงาน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ มาตรการสร้างสำนึกและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เน้นให้เกิดความตระหนักจากภายใน และนำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมภายนอก (อาทิ การอบรมจิต) และมาตรการทางกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการบังคับใช้ (Law Enforcement) รวมไปถึงการใช้กฎทางสังคมในลักษณะที่เป็น Soft Law (อาทิ Social Sanction) ซึ่งต้องดำเนินควบคู่กันทั้งสองมาตรการ

สำหรับข้อตกลงเรื่องตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ในระดับปัจเจกบุคคล จะใช้ตัวบ่งชี้ 3 ตัวหลัก คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความพอเพียง ที่สามารถขยายให้ครอบคลุมในระดับองค์กร ในมิติของ บรรษัทภิบาล (CG) บรรษัทบริบาล (CSR) และเศรษฐกิจพอเพียง (SE) ในระดับสังคมส่วนรวม จะใช้ตัวบ่งชี้ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความเสมอภาค ที่นำไปสู่การสร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ส่วนแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม (Initiatives) ที่พร้อมริเริ่มดำเนินงาน มีอยู่ 6 แผนงาน คือ

(1)การรณรงค์ต่อต้านการทุจริตโดยภาคเอกชนร่วมกันดำเนินงานในลักษณะ Collective Action โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยเป็นผู้ริเริ่มดำเนินงาน
(2)การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีเอสซีจีอาสาเป็นผู้ริเริ่มดำเนินงาน เพื่อการขยายผลสู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม
(3)การจัดทำตัวอย่างการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) และการเยี่ยมชมกิจการตัวอย่าง โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
(4)การผลักดันยุทธศาสตร์และแนวทางดำเนินงานให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในหมู่บริษัทจดทะเบียน โดย CSR Club
(5)การจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมเพื่อเสริมสร้างค่านิยมในเรื่องคุณธรรมให้เกิดจากภายใน ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(6)การพัฒนาหลักสูตรสำหรับนักการเมือง โดยมีความร่วมมือเบื้องต้นระหว่างศูนย์คุณธรรมและคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา

โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยการและการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ซึ่งจะมีการตั้งกลุ่มทำงานในลักษณะ Joint Group ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในลักษณะ Action-Oriented และในระหว่างทางก็จะมีการเพิ่ม Partnership ในแต่ละภาคส่วนให้มาร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิด Economy of Scale และการขยายพลังจาก Collect Action ของหน่วยงานที่เข้าร่วม

องค์กรใดที่สนใจเข้าร่วมการขับเคลื่อนในครั้งนี้ ก็ขอได้โปรดอดใจรอสักนิด เพราะหน่วยงานที่อาสารับผิดชอบการขับเคลื่อนทั้ง 6 แผนงานข้างต้น กำลังกำหนดรูปแบบกิจกรรม วิธีการเข้าร่วม ฯลฯ และจะได้มีการทยอยประกาศในเร็ววันนี้ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 02, 2010

4 บทบาท CSR ภาครัฐ

เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การพิทักษ์ประโยชน์ของส่วนรวมถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของภาครัฐ แต่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงกิจกรรมขององค์การภาคเอกชน และกลุ่มที่ผลักดันนโยบายสาธารณะต่างๆ ได้เรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมแสดงจุดยืนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกอบการ
เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐ ได้มีการออกกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการทางภาษี ทั้งในเชิงบังคับและจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ในอันที่จะปกป้องประโยชน์ของส่วนรวมและเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม

อย่างไรก็ดี บทบาทของหน่วยงานของรัฐในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในปัจจุบัน มิได้จำกัดอยู่เพียงการใช้กฎหมายแบบบังคับและควบคุม การวางระเบียบและตรวจสอบ หรือการใช้มาตรการทางภาษี ในลักษณะที่ทำให้เป็นไปตามอาณัติ (mandating) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบทบาทของการอำนวยการ (facilitating) การเป็นหุ้นส่วน (partnering) และการสนับสนุน (endorsing) ภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคมนั้นๆ ได้อีกด้วย

ธนาคารโลกได้ระบุถึงบทบาทของหน่วยงานของรัฐในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ไว้ 4 ลักษณะ ดังนี้

บทบาทของรัฐ
การใช้อำนาจ (mandating)การใช้กฎหมายแบบบังคับและควบคุมการเป็นผู้วางกฎระเบียบและจัดตั้งหน่วยงานตรวจตราเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการใช้รางวัลจูงใจและบทลงโทษทางการเงินและทางกฎหมาย
การอำนวยการ (facilitating)การใช้บทกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ

การจัดหาเงินทุนสนับสนุน
การสร้างสิ่งจูงใจ

การเพิ่มความตระหนัก
การสร้างเสริมสมรรถภาพ

การสร้างเหตุกระตุ้นทางการตลาด
การเป็นหุ้นส่วน (partnering)การควบรวมทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมการสร้างพันธภาพกับผู้มีส่วนได้เสียการสานเสวนา
การสนับสนุน (endorsing)การสนับสนุนทางการเมือง การประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณชน
ที่มา: Fox, Ward, Howard (2002), World Bank

ในลักษณะของการใช้อำนาจ จะประกอบด้วย การใช้กฎหมายแบบบังคับและควบคุม (command and control legislation) การเป็นผู้วางกฎระเบียบและมีหน่วยงานคอยตรวจตราให้เป็นไปตามระเบียบนั้น (regulators and inspectorates) การใช้รางวัลจูงใจและบทลงโทษทางการเงินและทางกฎหมาย (legal and fiscal penalties and rewards)

ในลักษณะของการอำนวยการ จะประกอบด้วย การใช้บทกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ (enabling legislation) การสร้างสิ่งจูงใจ (creating incentives) การสร้างเสริมสมรรถภาพ (capacity building) การจัดหาเงินทุนสนับสนุน (funding support) การเพิ่มความตระหนัก (raising awareness) และการสร้างเหตุกระตุ้นทางการตลาด (stimulating markets)

ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วน จะประกอบด้วย การควบรวมทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม (combining resources) การสร้างสัมพันธภาพกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder engagement) และการสานเสวนา (dialogue)

ในลักษณะของการสนับสนุน จะประกอบด้วย การสนับสนุนทางการเมือง (political support) และการประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณชน (publicity and praise)

ฉะนั้น หน่วยงานของรัฐที่กำลังสนใจหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดทำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของหน่วยงานที่ต้องดำเนินการเองก็ดี หรือเป็นนโยบายที่ต้องไปส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินการก็ดี พึงระลึกว่า จะต้องใช้องค์ประกอบใน 4 ลักษณะข้างต้นเพื่อการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ในฐานะผู้กำกับที่ต้องมีทั้งพระเดช-พระคุณ และอย่างเสมอภาคเป็นธรรมต่อผู้เล่นในภาคอุตสาหกรรมทั้งพระเอก-พระรอง ไม่อย่างนั้น ก็จะมีแต่ผู้ร้ายทีเผลอกันหมดทั้งวงการ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 26, 2010

ทำ CSR แบบตัวจริงเสียงจริง (เสียที)

ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) สามารถปรับให้เป็นทิศทางเดียวกับการทำธุรกิจได้ เป็นการแสวงหากำไร (Maximize profit) ไปพร้อมๆ กับลดปัญหาความขัดแย้ง (Minimize conflict) ที่อาจเกิดขึ้นกับบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด (Stakeholder) ทำให้กิจการสามารถทำธุรกิจได้อย่างราบรื่นและเกิดความยั่งยืน

เรื่องที่พูดกันมากในเวลานี้คือ การพัฒนา CSR เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR ที่เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการปรับทิศทางของธุรกิจและสังคมให้ไปในทิศเดียวกัน เป็นการผสานคุณค่าระหว่างองค์กรกับสังคมไปด้วยกัน เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่เพียงเพื่อให้องค์กรได้รับการยอมรับเท่านั้น แต่ทำให้องค์กรสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย จากการสร้างความแตกต่างในกิจกรรม โดยไม่มองเพียงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย แต่ยังมองว่ากิจการมี Core Value หรือ Competency อะไรบ้าง ที่สามารถส่งมอบให้แก่สังคมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงเป็นการมองทั้งแบบ Outside-In และแบบ Inside-Out นอกจากนั้น ยังเป็นการทำ CSR ในเชิงรุก คือ ไม่ได้รอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยไปแก้ไข หรือทำโครงการที่เป็นในลักษณะของการเยียวยา แต่เป็นการพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การทำ CSR เชิงกลยุทธ์ จะต้องเข้าใจหลักการ (Principle) และประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ CSR ทั้งหมด และต้องรู้ความสัมพันธ์ของ CSR ระหว่างองค์กร สังคม และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ตลอดจนต้องเข้าใจว่า CSR ของแต่ละองค์กรนั้น มีความแตกต่างกันด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ ความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ความมีนัยสำคัญ (Significance) และลำดับความสำคัญ (Priorities) ของกิจกรรม CSR

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า CSR ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม คู่ค้าทั้งที่เป็นผู้ส่งมอบ (supplier) และผู้แทนจำหน่าย (dealer) จนกระทั่งถึงลูกค้าหรือผู้บริโภค นอกจากนั้น CSR ยังเกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน และการกำกับดูแลองค์กร หรือที่เรียกว่า ธรรมาภิบาล โดยเฉพาะกับพนักงานขององค์กร อาทิ การจ่ายเงินเดือนตรงตามเวลา การให้สวัสดิการตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด หรือแม้แต่การมีหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้พนักงานสามารถก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็นับเป็นการทำ CSR อย่างหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า มิติของ CSR มีความครอบคลุมและสามารถนำมาพัฒนาเป็นนโยบายขององค์กรได้ และไม่ใช่ว่าทุกองค์กรจะต้องทำเหมือนๆ กัน กิจการจะต้องรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับสังคม และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างไร องค์กรที่ไม่ได้สร้างผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อม ก็อาจไม่จำเป็นต้องทำ CSR ในด้านสิ่งแวดล้อม เหมือนกับโรงงานหรือกิจการที่มีกระบวนการที่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมทางใดทางหนึ่ง แต่เราอาจเน้นหนักหรือให้ความสำคัญกับเรื่องคน/พนักงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญของเราแทนก็ได้

ในการวางนโยบาย (Policy) ด้าน CSR ประการแรก องค์กรต้องสามารถจัดกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder Segmentation เพื่อให้ทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นเป็นอย่างไร (how) นอกเหนือจากการระบุผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder Identification ที่บอกแต่เพียงใคร (who) ที่เกี่ยวข้องหลัก/รองเท่านั้น ประการต่อมาคือ การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียเป้าหมาย หรือ Targeted Stakeholder Analysis เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ (why) ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อย่างนั้น (ทั้งดีและไม่ดี) เพื่อนำไปสู่การกำหนดจุดยืนทางกลยุทธ์ หรือ Strategic Positioning ที่จะเป็นกรอบในการพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นๆ ได้อย่างตรงจุด

ในการนำไปสู่การปฏิบัติ (Practice) หลังจากที่เราได้กำหนดนโยบายแล้ว ผู้บริหารต้องนำนโยบายนั้นมาทำให้เกิด 3 สิ่ง คือ ก่อนทำต้องสร้าง Credibility เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำ CSR ระหว่างทำต้องได้ Performance โดยมีเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน CSR อย่างเป็นระบบ และหลังทำต้องให้เกิด Recognition มิฉะนั้น สิ่งที่ลงทุนลงแรงทำอย่างตั้งใจและทุ่มเทก็อาจจะสูญเปล่า

สำหรับรายละเอียดของการดำเนิน CSR อย่างมีกลยุทธ์ ตามแนวทาง Triple Streamline (Principle -> Policy -> Practice) นี้ ปรากฏอยู่ในหลักสูตร CSR Day for Directors (ดูข้อมูลเพิ่มเติม www.csrday.com) ซึ่งออกแบบเฉพาะสำหรับผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท สำหรับใช้ในการปรับวางทิศทางของ CSR ให้สอดคล้องกับทิศทางของธุรกิจ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการ หรือ Triple Bottom Line (People - Profit - Planet) นั่นเอง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Friday, August 13, 2010

CSR กับ ถุงกล้วยแขก

“แม่ครับ ผมได้งานแล้วครับแม่” เสียงของเอก ชายหนุ่มลูกโทนวิ่งกระหืดกระหอบกลับบ้าน เพื่อมาบอกข่าวดีกับแม่ หลังจากที่เขาร่อนจดหมายสมัครงานไปหลายสิบแห่ง

“จริงหรือเอก แม่ดีใจด้วยจ้ะลูก” แม่ตอบด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นไม่แพ้เอก พร้อมกับยิงคำถามอีกชุดใหญ่อย่างที่เอกไม่ทันตั้งตัว

“แล้วไหน บริษัทอะไรที่รับเราล่ะ ไปทำตำแหน่งอะไร เงินเดือนดีมั๊ย ...”

“แม่...แม่...ใจเย็นๆ เดี๋ยวเอกจะเล่าให้ฟัง” พลันทั้งคู่ก็นั่งสนทนาจนลืมเรื่องราวที่อยู่รอบตัวไปชั่วขณะใหญ่

ชีวิตของเอกตั้งแต่เรียนหนังสือจนจบ ไม่ได้ราบรื่นเหมือนครอบครัวทั่วไป แม่เอกต้องทำงานรับจ้างหาเงินมาส่งเสียให้เอกโดยไม่เคยปริปากเอ่ยถึงความเหน็ดเหนื่อย ไหนจะต้องค่ากิน ค่าเช่าบ้าน ที่แม่ต้องแบกภาระโดยลำพัง แม้เอกจะกลับมาช่วยแม่หลังเลิกเรียนอยู่เป็นประจำ แต่ก็โดนแม่เอ็ดให้ไปทำการบ้านหรือท่องหนังสือทุกทีเหมือนกัน ด้วยหวังจะให้ลูกเรียนจบไวๆ และมีงานดีๆ ทำ จะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยเหมือนแม่

*****************************

“ตั้งใจทำงานนะลูก อย่าไปเกี่ยงงาน ทำให้เขาเต็มที่นะ” คำอวยพรของแม่ที่ส่งไล่หลังเอกในวันแรกของการทำงาน

“รู้แล้วครับแม่” คำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำระคนกับความมุ่งมั่นกับการได้พบกับประสบการณ์การทำงานหน้าแรกของชีวิต

*****************************

“เอาล่ะ ขอต้อนรับพนักงานใหม่ทุกท่านที่ได้เข้ามาร่วมงานกันนะครับ นอกจากข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่อยู่ตรงหน้าน้องๆ จะได้เอาไปศึกษากันแล้ว พี่ยังมีเอกสารที่เป็นระเบียบของบริษัทและคู่มือพนักงานใหม่แจกให้กับน้องๆ ด้วย ในนี้จะพูดถึงเรื่อง...(โน้น)...(นี่)...(นั่น)...แล้วก็เรื่องของ CSR”

“วันนี้ เผอิญเรามีวิทยากรจากสถาบันไทยพัฒน์มาจัดกิจกรรม CSR Day ให้กับทางบริษัทพอดี พี่จึงถือโอกาสให้น้องๆ ทุกคนได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้กันเลย จะได้รู้ว่า CSR คือเรื่องอะไร”

*****************************

“CSR มาจากคำว่า Corporate Social Responsibility หมายถึง ....” เสียงวิทยากรหน้าใสไม่แพ้น้องๆ หน้าใหม่ เล่าเรื่องราวของ CSR ให้ได้ฟังกันอย่างทั่วถึง พร้อมกับสาธยายต่ออีกหลายยก

CSR เบื้องต้นที่น้องๆ ปฏิบัติได้ ก็คือ การทำหน้าที่ในงานที่ได้รับมอบหมายอย่างรับผิดชอบนั่นเอง ส่วนคำว่า สังคมที่เราต้องรับผิดชอบนั้น ใกล้ตัวน้องที่สุดก็คือ สังคมของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าของเรา ถัดออกมาหน่อยก็เป็นลูกค้าและคู่ค้าของบริษัท แล้วก็ครอบครัวและชุมชนของเรา ตลอดกระทั่งถึงสิ่งแวดล้อมทั้งที่อยู่รอบตัวและโลกที่เราอาศัยอยู่

เรื่อง CSR เป็นสิ่งที่จะต้องไปด้วยกันกับการทำงานหรือธุรกิจ “อย่าพยายามเอา CSR มาเป็นงาน แต่ต้องทำงานให้มี CSR” คือ ไม่ใช่ว่าทำธุรกิจก็เรื่องหนึ่ง ทำ CSR ก็อีกเรื่องหนึ่ง

“น้องคนไหนที่สนใจเรื่อง CSR เพิ่มเติม ก็ลองไปที่เว็บไซต์ thaicsr.com ก็ได้นะ เว็บนี้มีข้อมูลเพียบ...ขอบอก” วิทยากรตบท้ายการบรรยาย CSR ด้วย PR เนียนๆ

*****************************

สิ้นเดือนแรกของการทำงาน เอกดูเหมือนจะสนุกสนานเพลิดเพลินกับการทำงานอยู่ไม่น้อย จนเจ้านายเอ่ยปากชมว่า ตั้งใจทำงานดี และชอบช่วยเหลือผู้อื่น สามเดือนจากนี้ไป เอกคงจะผ่านการทดลองงานได้โดยไม่ยาก ที่สำคัญ เขาระลึกถึงคำอวยพรของแม่ที่ให้ไว้ในวันแรกของการทำงานอยู่ตลอดเวลา และคิดไว้ว่าจะต้องทำอะไรซักอย่างให้แม่ในวันนี้

“แม่ รู้มั๊ยที่บริษัทเขาสอนเอกตั้งหลายอย่างแน่ะ นอกจากที่แม่บอกให้เอกตั้งใจทำงานให้เต็มที่แล้วนะ ที่บริษัทเค้าบอกว่าต้องทำงานให้มี CSR ด้วยน้า”

“เอ้อ แม่ไม่รู้หรอก ไอ้ CSO หรือ CSR อะไรของแกน่ะ ขอให้เขาสอนแกเป็นคนดี ทำแต่สิ่งที่ดี มีความรับผิดชอบ ก็พอแล้ว”

“โห แม่นี่สุดยอดเลย รู้ได้ไงอ่ะ”

“แม่อ่านจากถุงกล้วยแขก เมื่อวันก่อนที่แกซื้อมาฝากน่ะ เห็นมีคอลัมน์ หน้าต่าง CSR แม่ก็เลยอ่านไป กินกล้วยแขกไป”

“จริงเหรอแม่ แล้วเค้าเขียนว่ายังไงอีก”

“แม่ก็จำไม่ค่อยได้ รู้สึกว่า เค้าจะมีโครงการ CSR Campus เดินสายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ บรรยายเรื่องศีลธรรมกับเยาวชน อะไรนี่แหละ แม่ก็เลยรู้สึกว่า CSR นี่ น่าจะเป็นอะไรที่เค้าสอนให้คนทำดี ไม่เบียดเบียนคนอื่นนะ”

(แม่ๆ อันนี้เค้าเรียก Tie-in) เอกคิดในใจและต้องรีบตัดบท พร้อมกับยื่นซองกระดาษหนาให้แม่

“โอเค แม่ นี่รางวัลสำหรับการตอบถูกต้องคร้าบ” เอกให้เงินเดือนๆ แรกทั้งเดือนกับแม่ ตามที่ได้ตั้งใจไว้

*****************************

(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR)

Thursday, August 05, 2010

Climate Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้น ได้เป็นทั้งความท้าทายและความเสี่ยงใหม่ขององค์กรธุรกิจที่จะต้องรับมือกันอย่างจริงจังเสียแล้ว โดยเฉพาะกับมาตรการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas Emissions) ในกระบวนการธุรกิจ ที่นับวันจะมีกฎระเบียบใหม่ๆ ออกมาบังคับ ทำให้เกิดต้นทุนการประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมหรือภาษีด้านสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจไม่ปฏิบัติตาม หรือมีแรงกดดันจากคู่ค้าด้วยกันเองในสายอุปทาน

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้จัดทำรายงานเรื่อง “Transition to a Low-Carbon Economy: Public Goals and Corporate Practices” หนา 102 หน้า เผยแพร่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยความรับผิดชอบของกิจการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงแนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติในส่วนที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและสิ่งแวดล้อม

เนื้อหาของรายงานฉบับนี้ มีความน่าสนใจตรงที่ได้แบ่งขั้นตอนการปฏิบัติของภาคธุรกิจออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (Accounting GHG) ลดปริมาณการปล่อย (Reducing Emissions) และชักนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม (Reaching out)

ในเรื่องการจัดทำบัญชีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจการ คิดจากหลักที่ว่า “you can manage what you know” คือ ถ้าองค์กรจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ต้องมี Baseline Data ก่อนว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ปริมาณการปล่อยของกิจการมีมากน้อยขนาดไหน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศอันส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่อย่างไร การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกนี้ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการวางนโยบายหรือแผนการลดปริมาณการปล่อยขององค์กรเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อาทิ ผู้บริโภค หุ้นส่วนการค้า สถาบันการเงิน ฯลฯ จากการที่องค์กรได้แสดงให้เห็นถึงข้อสนเทศและแนวการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกิจการที่เป็นรูปธรรม

ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กิจการมีแนวโน้มที่จะเผชิญ ได้แก่ ความเสี่ยงจากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นทั้งจากในประเทศและระหว่างประเทศ ความเสี่ยงในการประกอบการจากการที่ต้นทุนด้านพลังงานและคมนาคมเพิ่มขึ้นหรือจากความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ ความเสี่ยงในตัวผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น (carbon intensive) ความเสี่ยงในการสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ความเสี่ยงต่อชื่อเสียงจากการด้อยบทบาทในเรื่องดังกล่าว ความเสี่ยงทางกายภาพที่ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจ เช่น การขาดแคลนปัจจัยการผลิต ปัญหาสุขภาพจากมลภาวะ ความเสี่ยงต่อการเป็นคดีความจากการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และความเสี่ยงในสายอุปทานกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากผู้ส่งมอบที่ไม่ดำเนินการปรับตัว

จากการสำรวจของ WRI/WBCSD (2008) พบว่ามีความริเริ่ม แนวปฏิบัติ หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้อยู่ไม่น้อยกว่า 70 แหล่ง อาทิ ISO 14067 (carbon footprint of products) ที่กำลังร่างกันอยู่ นอกเหนือจาก ISO 14025 (environmental labels and declarations) และในซีรีส์ ISO 14040 (environmental management - life cycle assessment) หรือแนวปฏิบัติสำหรับการบัญชีและการรายงานก๊าซเรือนกระจก (GHG accounting and reporting) สำหรับผลิตภัณฑ์และสายอุปทานภายใต้ GHG Protocol Initiative ที่กำลังจะเผยแพร่ภายในปีนี้

ในเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นสำคัญคือการกำหนดเป้าหมายที่จะลด โดยแผนงานที่มีข้อมูลฐานมาจากส่วนแรกจะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่วัดผลได้ และช่วยเพิ่มในเรื่องประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงาน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีในองค์กร กลยุทธ์ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิผล จะต้องฝังรากความคิดและการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในกลไกการกำกับดูแลกิจการ (corporate governance) เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตั้งแต่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานตลอดทั่วทั้งองค์กร

ในเรื่องการชักนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม จะเกี่ยวโยงกับผู้มีส่วนได้เสียสำคัญสองกลุ่มหลัก คือ คู่ค้าในสายอุปทาน (supply chain) และลูกค้าในสายคุณค่า (value chain) บรรดาบริษัทผู้นำในการลดรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ต่างใช้วิธีการในการชักจูงผู้ส่งมอบ (suppliers) และผู้บริโภค (consumers) ด้วยการให้ข้อมูล สร้างการรับรู้ ผลักดันให้มีการส่งมอบวัตถุดิบที่มาจากกระบวนการปล่อยคาร์บอนต่ำ จูงใจให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการผลิตและการขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนต่ำเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ธุรกิจยังสามารถชักนำด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐ การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาหรือในท้องถิ่นที่ธุรกิจไปตั้งถิ่นฐานประกอบการอยู่ หรือการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในระดับของการรณรงค์และการจัดทำโครงการความร่วมมือในลักษณะต่างๆ

ท่านที่สนใจอ่านรายงานฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.oecd.org/dataoecd/40/52/45513642.pdf...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 15, 2010

ความต่างระหว่าง Social Enterprise กับ Social Business

คำว่า ‘วิสาหกิจ’ (enterprise) ตามพจนานุกรม หมายถึง การประกอบการที่ยากสลับซับซ้อนหรือเสี่ยงต่อการขาดทุนล้มละลาย ส่วนคำว่า ‘ธุรกิจ’ (business) หมายถึง การประกอบกิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอย่างอื่นเป็นการค้า หรือหมายถึง การงานประจำเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่นที่สำคัญและที่ไม่ใช่ราชการ

หากดูตามความหมายนี้ คำว่าวิสาหกิจมีความหมายกว้างกว่าธุรกิจ เพราะหมายรวมถึงการประกอบการที่มิใช่เพื่อการค้า (ที่หมายถึง การซื้อขายสินค้าหรือบริการ) หรือได้รวมถึงเรื่องที่เป็นราชการเข้าไว้ด้วย เมื่อมีการเติมคำขยายว่าเป็น วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) และ ธุรกิจเพื่อสังคม (social business) จึงทำให้การประกอบการเหล่านี้ ล้วนต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะสนองตอบต่อเป้าหมายทางสังคม (และสิ่งแวดล้อม) เป็นหลัก

ด้วยการที่ธุรกิจซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่แสวงหากำไร แม้จะมีวัตถุประสงค์ทางสังคมมากำกับ ธุรกิจเพื่อสังคมก็มิได้ปฏิเสธการแสวงหากำไร (และยิ่งต้องไม่ทำให้ขาดทุนด้วย) เพียงแต่กำไรที่ได้จากการทำธุรกิจนั้น จะต้องถูกนำกลับมาทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ไม่สามารถนำมาปันกลับคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นการส่วนตัวได้ (ยกเว้นก็แต่เงินลงทุนที่มีสิทธิ์ได้รับกลับคืน)

มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศ ได้ขยายความว่า ธุรกิจเพื่อสังคมตามนิยามของเขามี 2 ประเภทๆ แรก ยูนูสเรียกว่า Type I social business คือ non-loss, non-dividend company ที่ทำงานอุทิศให้กับการแก้ไขปัญหาทางสังคมและถือหุ้น โดยนักลงทุนที่/พร้อมจัดสรรกำไรจากการดำเนินงานทั้งหมดในการขยายและปรับปรุงธุรกิจเพื่อสังคมของตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ประเภทที่สองเรียกว่า Type II social business คือ profit-making company ที่มิได้ถือหุ้นโดยนักลงทุนหรือบุคคลทั่วไป แต่เป็นคนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสที่เข้าเป็นเจ้าของ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และได้รับโอกาสให้นำกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ไปบรรเทาปัญหาความยากจนนั้น ได้ตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจเพื่อสังคมนั้นๆ

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่องค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร (non-profit organization) เช่น มูลนิธิที่มิได้มีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเป็นหลัก แต่รายรับส่วนใหญ่มาจากการบริจาค เพื่อนำไปใช้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ และที่สำคัญไม่มีผู้เป็น ‘เจ้าของ’ เหมือนกับธุรกิจเพื่อสังคม

ด้วยเหตุที่ กฎหมายว่าด้วยมูลนิธิในหลายประเทศส่วนใหญ่ ถือว่าทรัพย์สินของมูลนิธิที่ได้รับจากการบริจาคหรือที่เป็นดอกผลเพิ่มเติมขึ้นภายหลังนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ (ในฐานะผู้ว่าการสังคม) แต่เนื่องจากรัฐไม่สามารถดูแลหรือจัดการได้อย่างทั่วถึง จึงมอบหมาย (ตามบทบัญญัติของกฎหมาย) ให้คณะกรรมการชุดหนึ่ง (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ คณะผู้ก่อการมูลนิธินั้น) ทำหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมแทนเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการมูลนิธิจึงไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็น ‘เจ้าของ’ ทรัพย์สินที่เป็นของส่วนรวมนั้นแต่ต้น (รัฐจึงมีสิทธิ์เข้ามาจัดการได้ทุกเมื่อ โอ้จริงหรือนี่)

ครั้นเมื่อเทียบระหว่างวิสาหกิจเพื่อสังคมกับธุรกิจเพื่อสังคม ในแง่ของขอบเขต วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นกินความหมายกว้างกว่า เพราะรูปแบบขององค์กรเป็นได้ทั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (non-profits) และที่แสวงหากำไร (for-profits) ซึ่งหากมีกำไร ก็จะนำกำไรส่วนใหญ่ไปขยายหรือลงทุนในกิจการหรือโครงการเพื่อสังคมต่อ และกำไรบางส่วนแบ่งปันกลับคืนให้เจ้าของได้

ขณะที่ธุรกิจเพื่อสังคม (ตามนิยามของยูนูส) รูปแบบขององค์กรนั้นเป็นแบบที่แสวงหากำไรอย่างเดียว และกำไรที่ได้ต้องใช้หมุนเวียนในธุรกิจเพื่อสังคมทั้งหมด ไม่ปันกลับไปให้ผู้ถือหุ้น (ในกรณีของ Type I) ดังนั้น ธุรกิจเพื่อสังคม จึงเป็น subset ของวิสาหกิจเพื่อสังคม

ไอเดียของยูนูสในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ดูจะแข็งและเข้มงวดมากกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคม ในแง่ของการแบ่งปันผลกำไรที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ปันผลส่วนตัว” กับ “ประโยชน์ส่วนรวม” เพราะมีฐานคิดว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน และประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง

บรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs น่าจะชอบใจหรือถูกจริตกับรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมของยูนูส ในประเด็นที่ไม่ต้องการนำเรื่องธุรกิจมาหากินหรือค้ากำไรกับความยากจนของชาวบ้าน ขณะที่องค์กรธุรกิจทั่วไปน่าจะขานรับกับแนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมมากกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นในแง่ของการปันผลกำไรที่ถูกกับจริตของนักธุรกิจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ยังมีรูปแบบใหม่ๆ ของวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ และดูจะเป็นเรื่องที่น่าศึกษาไม่น้อย อย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ Community Interest Company (CIC) ที่มีกฎหมายรองรับมาตั้งแต่ปี 2005 หรือในสหรัฐอเมริกา Low-profit Limited Liability Company (L3C) ที่รับรองในปี 2008 และเพิ่งเมื่อเดือนเมษายน ปีนี้ รัฐแมรี่แลนด์เป็นรัฐแรกที่ได้ให้การรับรอง Benefit Corporation (B-Corp) เป็นรูปแบบล่าสุด ตามมาด้วยอีกกว่า 10 รัฐที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การรับรอง เช่น แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน โคโลราโด ซึ่งคงจะได้หาโอกาสมาขยายความในรายละเอียดกันต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 08, 2010

เมื่อองค์กรถูกขนาบด้วย CSR

สัปดาห์ที่แล้ว มีประชุมโต๊ะกลมเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ ในหัวข้อ "Launching an Update of the OECD Guidelines for Multinational Enterprises" ที่จัดขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มกระบวนการปรับปรุงแนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ ที่ได้มีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ปัจจุบัน

การทบทวน OECD Guidelines for MNEs ฉบับปัจจุบันที่มีรัฐบาล 42 ชาติได้เข้าร่วมในข้อตกลงได้เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประเทศที่มิใช่สมาชิก OECD และมิได้เข้าร่วมเป็นภาคี เพื่อปรับปรุงเนื้อหาของแนวปฏิบัติในหลายหัวข้อ อาทิ สายอุปทาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม นโยบายทั่วไปเกี่ยวกับความระมัดระวังตามสมควร การเปิดเผยข้อมูล แรงงานและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ การต้านทุจริต ประโยชน์แห่งผู้บริโภค และการเสียภาษี

การประชุมที่เพิ่งผ่านมานี้ ได้มีการหารือกันใน 3 หัวข้อหลัก คือ เรื่อง Suply Chains, Human Rights และ Environment/Climate Changes โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวง CSR จะได้เห็นทิศทางและแนวโน้มของการขับเคลื่อน CSR ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ความรับผิดชอบของกิจการในสายอุปทาน หรือ CSR in Supply Chain เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากนับจากนี้ไป กรณีที่เกิดขึ้นในสายอุปทานไม่ว่าจะเป็นเรื่องความบกพร่องหรือการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติด้านแรงงานที่ไม่เป็นธรรม (เช่น ปัญหาของโรงงานของ Foxconn ในจีน) เป็นตัวเร่งเร้าให้บรรดาบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายต้องผลักดันให้ผู้ส่งมอบ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในสายอุปทานแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่สากลยอมรับอย่างเข้มงวด

ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่ว่าจะอยู่ในซีกโลกไหนก็จะต้องรับเอาข้อกำหนดเหล่านี้มาปฏิบัติต่อกันเป็นทอดๆ ด้วยความจำยอม (และอาจมาถึงองค์กรของท่านในไม่ช้านี้) แม้ไม่มีกฎหมายในประเทศบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม

ในหลายประเทศผู้ส่งมอบ บรรดา SMEs ต่างต้องปวดหัวและเสียเวลาไปกับภาระเกินจากการฝึกอบรม (Training) และการตรวจสอบ (Auditing) หลายซ้ำหลายซ้อนจากภายนอก เพียงเพื่อให้บรรดาคู่ค้ามีความเชื่อมั่นและวางใจในกระบวนการดำเนินธุรกิจของตนว่ามีความรับผิดชอบถึงขนาดที่ค้าขายกันได้ อุบัติการณ์นี้เป็นเงื่อนไขใหม่ที่องค์กรธุรกิจต่างต้องเผชิญในเวทีการค้าสากล

คำถามมีอยู่ว่า SMEs ต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ สำหรับองค์กรธุรกิจกลุ่มหนึ่งอาจไม่ต้องปรับอะไร หากสินค้าและบริการยังเป็นที่ต้องการอยู่ หรือธุรกิจของท่านไม่เดือดร้อนเพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพายอดขายจากคู่ค้าเหล่านี้ ในอีกมุมหนึ่งอย่าลืมว่า ท่านก็มีผู้ส่งมอบหรือผู้จำหน่ายวัตถุดิบในฝั่งต้นน้ำที่ต้องให้ความเชื่อมั่นกับท่านได้ว่าวัตถุดิบที่ได้รับมีความปลอดภัย ได้คุณภาพ และไม่สร้างปัญหากับสังคม (โดยเฉพาะกับลูกค้าของท่าน) ในภายหลัง หมวกใบหลังนี้ ท่านเองก็มีหน้าที่ตรวจตราในฐานะคู่ค้าที่ต้องการระดับของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยอมรับได้เหมือนกัน ต่างกันเพียง ใครจะส่งอิทธิพลต่อกันก่อนหรือหลังเท่านั้นเอง

ส่วนองค์กรธุรกิจที่ได้รับอิทธิพลจากคู่ค้าในแบบที่เลี่ยงไม่ได้หลบไม่พ้น ต้องเล่นตามกติกาใหม่ ท่านก็จำต้องศึกษาและหาวิธีบริหารจัดการกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพและคุณค่าจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตัวอย่างเช่น การรับการฝึกอบรมจากภายนอกที่มีความหลากหลายสะเปะสะปะและไม่ได้เนื้อได้หนัง ก็เปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) ของบุคลากรจากภายในอย่างต่อเนื่องเป็นระบบและทันต่อสถานการณ์ การบริหารการตรวจสอบกระบวนการจากหลายคู่ค้าที่กินเวลาและซ้ำซ้อน ก็เปลี่ยนมาเป็นการปรับกระบวนการให้เข้ากับมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่บรรดาคู่ค้าเหล่านั้นให้การยอมรับร่วมกันและมีระยะเวลาการรับรองและการตรวจสอบที่แน่ชัด เป็นต้น

ยังมีเนื้อหาอีกหลายส่วนจากการประชุมในครั้งนี้ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มีการพูดถึงกรอบสหประชาชาติว่าด้วย “Protect-Respect-Remedy” และเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่พูดถึง GHG Accounting และแนวคิดการผนวกการรายงาน (Integrated Reporting) ด้านเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบ 3-in-1 ซึ่งจะหาโอกาสเล่าสู่กันฟังต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 01, 2010

Corporate Engagement in (New Normal) Society

การขับเคลื่อนบทบาทขององค์กรพลเมือง สำหรับสังคมไทยในวันนี้ มิได้อยู่ที่ความจำกัด หรือศักยภาพของธุรกิจ แต่อยู่ที่การยกระดับการทำงานร่วมกัน

การตื่นตัวของภาคธุรกิจ ในการดำรงบทบาทขององค์กรพลเมือง (Corporate Citizen) ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมเด่นชัดมากขึ้น จากการแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ขององค์กรในระดับ Engagement ที่มีความเข้มข้นกว่าระดับ Participation หรือ Involvement คือ สูงกว่าขั้นการมีส่วนร่วมหรือการเข้าร่วมในระดับการกระทำ แต่ยังเป็นเรื่องของ Emotional and Intellectual Commitment ในระดับจิตใจและสติปัญญาร่วมด้วย

ส่วนเรื่องของ New Normal กับสังคมนั้น เป็นคำที่ใช้ในการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ภาวะของสังคมหรือสภาพบางอย่างที่คงตัวหรือคุ้นเคย เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่สามารถคืนสภาพกลับเป็นดังเดิม เช่น ประเทศมีการเปลี่ยนระบอบการปกครอง เศรษฐกิจที่มีการเลื่อนไหลของเงินทุนในวิถีโลกาภิวัตน์ ระบบนิเวศน์ที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ต้องมีการปรับตัวเข้าสู่จุดปกติใหม่ ที่มิใช่จุดเดิม

ในต่างประเทศ เรื่อง Corporate Engagement in Society ประกอบด้วย 5 หลักการสำคัญ ได้แก่ Corporate Governance, Corporate Philanthropy, Corporate Social Responsibility, Corporate Social Entrepreneurship และ Global Corporate Citizenship (Klaus Schwab, 2008) โดยหลักการเหล่านี้ กำลังมีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจในดินแดนตะวันตกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับในประเทศไทย เรามีหลักการที่ทรงคุณค่าสำคัญ อาทิ หลักพุทธธรรม และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็น Corporate Engagement Strategy ได้ ขณะที่ในดินแดนตะวันออก อย่างประเทศภูฏาน ก็กำลังมีการศึกษาเรื่อง Gross National Happiness (GNH) มาประยุกต์ใช้ในระดับองค์กรด้วย


โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกับศูนย์คุณธรรม ในการดำเนินโครงการสมัชชาคุณธรรมปี 2553 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านคุณธรรมใน 3 ประเด็นหลัก คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของหลักการบรรษัทภิบาล (CG) ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และเศรษฐกิจพอเพียง (SE) ในภาคธุรกิจ

มีการจัดประชุมระดมความคิดในหัวข้อ “Corporate Engagement in (New Normal) Society” เพื่อการขับเคลื่อนสังคมที่ยั่งยืน ที่ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม SVN (Thailand) ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บมจ.บางจากปิโตรเลียม บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น PricewaterhouseCoopers FAS Limited ฯลฯ


โดยการระดมความคิดครั้งนี้ ได้มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และมีโอกาสที่จะขยายเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่าย อาทิ
การใช้ Partnership Model กับการร่วมดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม
การบรรจุเรื่อง Ethics ในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ
การจัดเวทีสานเสวนาระดับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม
การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหยิบยกเรื่องศีลธรรมมาสื่อสารในรูปแบบสมัยใหม่
การริเริ่มเครือข่ายการค้าที่โปร่งใสเป็นธรรมด้วยการผลักดันขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่
การสร้างสำนึกขั้นคุณธรรมในตัวผู้บริหาร ที่สูงกว่าขั้นกฎหมายและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้ในการปฏิบัติงานขององค์กร
การหลีกเลี่ยงกิจกรรม CSR ที่เป็นการบริจาคในส่วนที่เป็นเหตุทำให้สังคมอ่อนแอลง

ข้อเสนอหลายประเด็นข้างต้น หากองค์กรธุรกิจใดจะพิจารณานำไปดำเนินการในเครือข่ายของท่าน ก็จะช่วยเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการสร้างให้เกิด Corporate Engagement in (New Normal) Society ได้ด้วยเช่นกัน

ข้อจำกัดในการขับเคลื่อนบทบาทขององค์กรพลเมือง สำหรับสังคมไทยในวันนี้ มิได้อยู่ที่ความจำกัดหรือศักยภาพของธุรกิจ ในการทำหน้าที่หรือแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่อยู่ที่การยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรในแบบร่วมไม้ร่วมมือ สู่การร่วมใจร่วมใส่สติปัญญา ที่เป็นระดับ Engagement จริงๆ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 24, 2010

อย่าสับสน CSR กับ Social Enterprise

วันนี้กระแสเรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ของกิจการต่างๆ ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีรูปแบบขององค์กรหรือคำเรียกใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ขององค์กรที่ต้องการยกระดับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมโลกที่มีพลวัตสูงขึ้น

คำเรียกใหม่ๆ ที่ได้ยินกันถี่ขึ้นในช่วงนี้ ก็มีอย่างเช่น Social Enterprise, Social Entrepreneur, Social Entrepreneurship ฯลฯ โดยมีผู้ที่พยายามเปรียบเทียบกับคำว่า CSR ว่าต่างกันอย่างโน้นอย่างนี้บ้าง จนชวนให้สับสนและบ้างก็เข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปก็มี

ความพยายามในการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Social Enterprise กับ CSR ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจทั้งสองเรื่องได้ชัดเจนขึ้น แต่การเทียบโดยมิได้ศึกษาเนื้อหาอย่างรอบด้านของทั้งสองเรื่อง หรือมีเจตนาที่จะส่งเสริมเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเอนเอียง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสียแล้ว ความพยายามนั้นก็อาจส่งผลร้ายกับคนในสังคมที่บริโภคข้อมูลโดยขาดการพินิจพิเคราะห์ไปอย่างน่าเสียดาย

เริ่มด้วยรูปศัพท์ (Social) Enterprise คือ วิสาหกิจ, การประกอบการ ส่วน (Corporate Social) Responsibility คือ ความรับผิดชอบ คำแรกนั้นนำหน้าด้วย “การ” หมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ทำ (รวมๆ กันหลายเรื่อง ก็เรียก “องค์การ”) ขณะที่คำหลังนั้นนำหน้าด้วย “ความ” เพื่อแสดงสภาพของเรื่องที่ทำ การจะเปรียบเทียบ “การกระทำ” กับ “สภาพของการกระทำ” ก็อาจพิจารณาได้ว่าอยู่กันคนละฐาน ไม่สามารถนำมาเทียบกันโดยตรงได้

ด้วยเหตุที่ประเภทของวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น เป็นได้ทั้ง องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (non-profits) และที่แสวงหากำไร (for-profits) เมื่อการประกอบการเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคม ก็เรียกได้ว่า วิสาหกิจนั้นไม่ว่าจะแสวงหากำไรหรือไม่แสวงหากำไร ก็ถือว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยนัยอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สำหรับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ก็มักเรียกว่า มี SR (ยึดตามฐานนิยมที่มองว่า Corporate มักเรียกกับองค์กรธุรกิจ จึงตัดตัว C ออก) ขณะที่องค์กรที่แสวงหากำไร ก็เรียกว่า มี CSR (อันที่จริงคำว่า Corporate หมายรวมถึงองค์กรประเภทอื่นได้ด้วย การที่หน่วยงานรัฐหรือองค์กรพัฒนาเอกชนจะเรียกว่าตนเองมี CSR ด้วย ก็ดูจะไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด) ดังนั้น Social Enterprise จึงมี CSR ในตัวโดยปริยาย

ส่วนที่มีการกล่าวว่า CSR คือ กิจกรรมเพื่อสังคม เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกิดขึ้นปลายทางหลังจากที่ธุรกิจมีกำไรและมั่นคงแล้ว จึงหาหนทางในการตอบแทนคืนสู่สังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจาก Social Enterprise ที่มีหัวใจหลักของการประกอบการอยู่ที่สังคมตั้งแต่ต้นทาง ถ้อยความนี้แสดงให้เห็นถึงการมอง CSR ในมิติที่เป็น CSR-after-process เพียงด้านเดียว

ในแวดวงขององค์กรที่ทำ CSR ทั้งในประเทศและนานาประเทศ ต่างเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในบริบทของ CSR นั้น เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นทาง หรือ ณ วันแรกของการประกอบการ เป็น CSR ที่ผนวกเข้าในกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจ (หรือที่เรียกกันว่า CSR-in-process) อาทิ การกำกับดูแลองค์กร การปฏิบัติด้านแรงงาน การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค ฯลฯ การที่มิได้ศึกษาเนื้อหาอย่างรอบด้านหรือจงใจที่จะตีความ CSR ในความหมายที่แคบ แม้จะมีเจตนาดีที่จะส่งเสริมเรื่อง Social Enterprise ให้แพร่หลาย แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลดีต่อความเข้าใจของสังคมในระยะยาว

แม้การที่องค์กรธุรกิจส่วนหนึ่ง จะพยายามใช้ประโยชน์จาก CSR ในการสร้างภาพลักษณ์หรือใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ จนทำให้คุณค่าของ “การปฏิบัติ” เรื่อง CSR ดูจะด้อยค่าลงไปในสายตาของสาธารณชน แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับ “หลักการ” ของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้นิยามไว้

ในทำนองเดียวกัน การที่องค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง กำลังจะเปลี่ยนคำเรียกตนเองว่าเป็น Social Enterprise นั้น ก็อาจทำได้เพียงรูปแบบ (form) แต่มิได้ยกระดับการทำงานในเชิงเนื้อหา (substance) ด้วยการใช้ market-based strategies หรือ business models ในการตอบสนองวัตถุประสงค์ทางสังคมได้อย่างที่นิยามไว้เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ เจ้าของกิจการหรือนักธุรกิจบางท่านที่กำลังจะผันกิจการไปสู่ Social Enterprise ก็ต้องพึงระลึกว่า ตนเองและพนักงานในองค์กรพร้อมแล้วที่จะปรับพันธกิจในการดำเนินงานขององค์กรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หรือจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบปกติแต่มี CSR ที่สังคมให้การยอมรับ หรือจะดำเนินธุรกิจในแบบที่เรียกว่า Social Business โดยมีวัตถุประสงค์ทางสังคมกำกับ ซึ่งก็เป็นอีกคำหนึ่งที่มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศ บอกว่ามีความแตกต่างจาก Social Enterprise (อีกแล้ว) ซึ่งในโอกาสต่อไป จะได้นำมาขยายความกัน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 10, 2010

โลกาภิวัตน์ความดีสู่เศรษฐกิจคุณธรรม

วันนี้ขอเปลี่ยนบทบาทเป็นนักข่าวภาคสนาม รายงานจากแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากได้รับเชิญเป็นวิทยากรร่วมอภิปรายในการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยเรื่อง “Globalization for the Common Good” ภายใต้หัวข้อ “In Search of the Virtuous Economy: A plea for Dialogue, Wisdom, and the Common Good” ซึ่งจัดขึ้นที่ California Lutheran University, Center for Leadership & Values ในระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2553

งานนี้เป็นการรวมตัวกันของบรรดานักวิชาการจากนานาประเทศร่วม 60-70 คน เพื่อมาแลกเปลี่ยนทัศนะและค้นหาวิถีการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานคุณธรรม เพื่อเป็นหนทางในการพลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจในวิถีปัจจุบันที่กำลังนำพาโลกเข้าสู่ทางตัน ก่อปัญหานานัปการทั้งด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต

หลักการสำคัญที่ใช้ในการตอบโจทย์การประชุมครั้งนี้ หนีไม่พ้นเรื่องหลักธรรมคำสอนที่มีรากเหง้ามาจากศาสนาต่างๆ โดยมีผู้นำทางจิตวิญญาณของหลายศาสนาเข้าร่วมเสนอทางออกด้วยแนวคิดที่เชื่อว่าเจตนารมณ์ของศาสนธรรมที่จรรโลงให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัตินั้น ตั้งอยู่บนฐานความดีเดียวกัน (Common Good) และจะอภิวัฒน์อย่างไรเพื่อให้แผ่ขยายไปในวงกว้าง

ในเวทีย่อยวันแรก นอกเหนือจากการระบุถึงที่มาของปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีทีท่าว่าจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ อันมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีขีดสุดและยึดประโยชน์ตนเป็นหลัก ในที่ประชุมยังได้มีข้อเสนอถึงการปรับรูปแบบและวิธีการเผยแผ่เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เฉพาะข้อเสนอนี้ ก็ทำให้สามารถแตกออกเป็นประเด็นในการพัฒนามากมาย อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เราได้ฉุกคิดว่า การปลูกฝังคุณธรรมความดีงาม ที่ดูจะพัฒนาไม่ทันกับยุคสมัยของสังคมทั่วทั้งโลก ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ดีการปรับรูปแบบหรือวิธีการในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลดทอนหรือดัดแปลงหลักคุณธรรมให้เข้ากับยุคสมัย เพราะต้องเข้าใจว่าคุณธรรมความดีงามในจิตใจคนนั้น ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ก็มีเกณฑ์เดียวกัน เป็นแต่เพียงวิธีการถ่ายทอดหรือปลูกฝังที่จำต้องมีการทบทวน ผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทำงานด้านนี้ จะต้องไม่แสวงหาความแพร่หลายหรือความนิยมด้วยการลดหย่อนหรือบิดเบือนข้อคุณธรรมเพียงเพื่อให้คำสอนของตนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ข้อเสนออื่นๆ ที่ได้พูดคุยกัน มีทั้งที่เป็นข้อเสนอสำหรับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นอกเหนือจากภาคการศึกษา ในส่วนที่เป็นระดับธุรกิจ จะมาจากเวทีอภิปรายในหัวข้อ “Role of Business Education in Creating Prosperity based on Moral Responsibility” และหัวข้อ “Mass Media, Finance Crises and Social Responsibility: The Quest for Ethical and Balanced Reporting”

ในส่วนของภาคสังคม มีเวทีที่ถกในประเด็นสำคัญๆ อย่างเช่น “Civic Engagement for the Elder and Opportunities for Community Service” และ “Engaging Youth Spirituality for Positive Change” รวมทั้ง “The Democratization of Philanthropy: Positive Alternatives to Traditional Ways”

สำหรับเวทีที่ผมได้เข้าร่วมอภิปรายเป็นหัวข้อ “Ethical Investments for a Sufficiency Economy” ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งศาสนาพุทธ (จากไทย) คริสต์ (จากอเมริกา) อิสลาม (จากอียิปต์) เข้าร่วมถกในประเด็นการลงทุนที่มีจริยธรรมต่อเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเสนอความเคลื่อนไหวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ

คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้อภิปรายกันในที่นี้ เป็นคำทั่วไป มิได้จำกัดอยู่เพียงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทย เราจึงได้เห็นทัศนะในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศอื่นๆ และจากมุมมองของศาสนาอื่นไปด้วยพร้อมกัน

ในเวทีนี้ นอกจากตัวผมเองซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวง CSR จะได้มาอภิปรายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว วิทยากรอีกท่านหนึ่งซึ่งมาจากนิวยอร์ก ก็เป็นผู้ที่ทำงานด้าน CSR เช่นกัน เธอเป็นผู้อำนวยการ Interfaith Center on Corporate Responsibility ก็เป็นบทพิสูจน์บทหนึ่งว่า เรื่องของ CSR กับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ได้อยู่ไกลกันเลย ฉะนั้น องค์กรธุรกิจที่ทำเรื่อง CSR แน่นอนว่าจะต้องมีวิถีการดำเนินงานที่อยู่ในแนวของเศรษฐกิจพอเพียงไม่มากก็น้อย

ณ วันที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ การประชุมเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเป็นวันแรก ทางผู้จัดงาน ซึ่งมี Globethics.net เป็นหนึ่งในแม่งานหลัก จะได้มีการประมวลเนื้อหาและบทสรุปจากการประชุมเผยแพร่สู่สาธารณะในโอกาสต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของผู้จัดงานได้ตามสะดวกครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]