Thursday, September 16, 2010

ถึงเวลาทำคุณธรรมให้จับต้องได้

สัปดาห์นี้ ศูนย์คุณธรรมร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดการประชุมเวทีสมัชชาคุณธรรม : ภาคกลาง ใน โครงการสมัชชาคุณธรรมปี 2553 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านคุณธรรมในประเด็นที่มีความสำคัญ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง ร่วมกับองค์กรทางศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ ซึ่งมีองค์กรและเครือข่ายภาคีต่างๆ ในภาคกลางเข้าร่วมการประชุมจำนวน 170 คน

สมัชชาคุณธรรมเป็นกลไกสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรภาคีในทุกภาคส่วนของสังคมที่มีปณิธานและเป้าหมายร่วมกันเพื่อร่วมมือรวมพลังทั้งในด้านความคิด ความรู้ การกระทำ เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีสู่สังคมและนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนคุณธรรมความดีอย่างมีพลังต่อเนื่อง ในการประชุมครั้งนี้ได้นำเอาผลการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) ที่มีการวางกรอบแนวทางในการขับเคลื่อน และจากการประชุมโต๊ะกลม (roundtable) ที่เสนอยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน มาเป็นข้อมูลตั้งต้น

กรอบแนวทางในการขับเคลื่อนจากเวทีประชุมกลุ่มย่อย ได้แก่ แนวทางปฏิบัติในด้านคุณธรรม ควรเริ่มจากครอบครัวไปสู่ระดับนโยบาย ควรมีคู่มือคุณธรรมในการเตรียมตัวเป็นพ่อแม่เพื่อปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกตั้งแต่เล็ก ใช้โมเดลการปฏิบัติเรื่องศาสนชุมชน เช่น โครงการพระธรรมจาริก มจร. และผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น ประเพณีตากคัมภีร์ จ.แพร่ เป็นกรณีศึกษา โดยองค์กรสื่อต้องมีบทบาทเชิงรุกในการเผยแพร่หรือส่งเสริมเรื่องนี้ ในที่ประชุมได้เสนอให้มีการตั้งสภาคุณธรรมสูงสุด 5 ศาสนาในประเทศไทย โดยภาคศาสนาต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน เนื่องจากไม่สามารถพึ่งภาคการเมืองในปัจจุบันได้

ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนจากเวทีประชุมโต๊ะกลม จะใช้ “วิถีชุมชนวัด” (หมายรวมถึง วัด โบสถ์ มัสยิด และศาสนสถานอื่นๆ) นำสังคมสู่สันติสุข โดยคำนึงถึงบริบทของชุมชนเป็นฐาน เพราะในศาสนาพุทธ วัดถือเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชีวิตจิตใจของคนไทยมาแต่ดั้งเดิม ในศาสนาคริสต์ ชุมชนวัดเป็นรากฐานสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติพันธกิจกิจร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้อภิบาลในแต่ละวัด ชุมชนคริสต์ชนพื้นฐานเป็นเครื่องหมายของการมีชีวิตชีวาของชุมชน ในศาสนาอิสลาม มัสยิด ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวมุสลิมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันรวมตัวกันสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน รวมทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ก็จะมีโบสถ์และวัดในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและปฏิบัติศาสนกิจอย่างมั่นคงเรื่อยมา

วิถีชุมชนวัด เป็นวิธีการสำคัญในการพัฒนาชีวิตจิตใจ สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันฉันพี่น้อง ด้วยการสนับสนุนให้สมาชิกในชุมชน อาทิ พระ นักบวช ครู และผู้นำชุมชน ได้รับการปลุกจิตสำนึกและสร้างทักษะเรื่องกระบวนการวิถีชุมชนวัด กระทั่งสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนวัดอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง โดยต้องจัดให้มีคณะทำงานรับผิดชอบ จัดการ กำกับดูแล ติดตามและพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นตอน

คณะทำงานรับผิดชอบ อาจจัดตั้งเป็นสภาชุมชนวัด โดยการนำของพระสงฆ์เจ้าอาวาส หรือผู้นำของศาสนสถาน ร่วมกับองค์กรและเครือข่ายภาคีต่างๆ ในการทำหน้าที่ส่งเสริมวิถีชุมชนวัดให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยยึดคุณค่าทางวัฒนธรรมของชุมชน มุ่งรื้อฟื้นคุณค่าที่ดีงามของสถาบันครอบครัว เน้นให้ชุมชนวัดเป็นแหล่งอบรมคุณค่าศาสนา วัฒนธรรม และการเคารพวิถีชีวิตที่งดงามของพี่น้องร่วมชุมชน ตลอดจนคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยตระหนักว่าการเสวนาทางสังคม (Social Dialogue) จะนำมาซึ่งความเข้าอกเข้าใจและเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้ชุมชน

กระบวนการพัฒนาวิถีชุมชนวัด จะตั้งอยู่บนวิถีเชิงบวก ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสวงหาสิ่งที่ดีตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคลและองค์กร ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการมองไปข้างหน้า ร่วมกันถักทอความฝันให้เป็นความจริง สร้างสรรค์แนวทาง รูปแบบ และวิธีการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานที่ประสานสอดคล้องขับเคลื่อนอนาคตที่นำไปสู่สังคมสันติสุขร่วมกัน

สำหรับผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในเวทีสมัชชาคุณธรรมภาคกลาง ได้มาซึ่งแผนงาน/แผนปฏิบัติการตามแนวทางวิถีชุมชนวัดประมาณ 15 เรื่องจากผู้แทนทั้ง 5 ศาสนาและเครือข่ายภาคี เพื่อที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยการประชุมเวทีนี้จัดครั้งต่อไปที่ภาคอีสาน จ.สกลนคร (24 กันยายน) ภาคใต้ จ.สงขลา (30 กันยายน) และภาคเหนือ จ.แพร่ (13 ตุลาคม) ผู้สนใจติดตามจาก moralcenter.or.th และ thaipat.org ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: