Thursday, September 09, 2010

เวทีนี้...นับหนึ่งแล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงาน Thailand Competitiveness Conference 2010 เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมีศูนย์คุณธรรม และสถาบันไทยพัฒน์เป็นหนึ่งใน Knowledge Partners ที่รับผิดชอบดำเนินการสัมมนาและสรุปผลของกลุ่ม Dealing with Moral for Competitiveness : Ethical and Moral Guideline for Thailand ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นเป็นปีแรก ก็ด้วยเหตุที่สถานการณ์เรื่องคุณธรรม จริยธรรมในประเทศไทย มีทีท่าว่าจะเสื่อมถอยอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐและเอกชนที่มีระดับของความรุนแรงมากขึ้น ที่หากไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่ออันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

อุปสรรคสำคัญที่ได้มีการสะท้อนในเวทีการระดมความคิด ได้แก่ ทัศนคติของนักธุรกิจที่เห็นว่าการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม จะทำให้แข่งขันไม่ได้ หรือถ้าต้องแข่งขันในกติกา ทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ก็จะไม่สามารถมีชัยชนะเหนือคู่แข่งขันได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องขวนขวายดิ้นรนเพื่อจะอยู่รอดในธุรกิจ เมื่อผนวกกับการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายและขาดการกำกับดูแลกติกาอย่างเข้มงวดของภาครัฐ จึงทำให้วิกฤตการณ์ด้านคุณธรรม จริยธรรมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

หนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่มีการตกผลึกความคิดร่วมกันในที่ประชุมคือ การขับเคลื่อนการทำงานในแบบร่วมไม้ร่วมมือกัน (Collective Effort) โดยมีกติกาในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ชัดเจนและวัดผลได้ และมีมาตรการในการดำเนินงาน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ มาตรการสร้างสำนึกและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เน้นให้เกิดความตระหนักจากภายใน และนำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมภายนอก (อาทิ การอบรมจิต) และมาตรการทางกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการบังคับใช้ (Law Enforcement) รวมไปถึงการใช้กฎทางสังคมในลักษณะที่เป็น Soft Law (อาทิ Social Sanction) ซึ่งต้องดำเนินควบคู่กันทั้งสองมาตรการ

สำหรับข้อตกลงเรื่องตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ในระดับปัจเจกบุคคล จะใช้ตัวบ่งชี้ 3 ตัวหลัก คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความพอเพียง ที่สามารถขยายให้ครอบคลุมในระดับองค์กร ในมิติของ บรรษัทภิบาล (CG) บรรษัทบริบาล (CSR) และเศรษฐกิจพอเพียง (SE) ในระดับสังคมส่วนรวม จะใช้ตัวบ่งชี้ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความเสมอภาค ที่นำไปสู่การสร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ส่วนแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม (Initiatives) ที่พร้อมริเริ่มดำเนินงาน มีอยู่ 6 แผนงาน คือ

(1)การรณรงค์ต่อต้านการทุจริตโดยภาคเอกชนร่วมกันดำเนินงานในลักษณะ Collective Action โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยเป็นผู้ริเริ่มดำเนินงาน
(2)การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีเอสซีจีอาสาเป็นผู้ริเริ่มดำเนินงาน เพื่อการขยายผลสู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม
(3)การจัดทำตัวอย่างการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) และการเยี่ยมชมกิจการตัวอย่าง โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
(4)การผลักดันยุทธศาสตร์และแนวทางดำเนินงานให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในหมู่บริษัทจดทะเบียน โดย CSR Club
(5)การจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมเพื่อเสริมสร้างค่านิยมในเรื่องคุณธรรมให้เกิดจากภายใน ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(6)การพัฒนาหลักสูตรสำหรับนักการเมือง โดยมีความร่วมมือเบื้องต้นระหว่างศูนย์คุณธรรมและคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา

โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยการและการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ซึ่งจะมีการตั้งกลุ่มทำงานในลักษณะ Joint Group ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในลักษณะ Action-Oriented และในระหว่างทางก็จะมีการเพิ่ม Partnership ในแต่ละภาคส่วนให้มาร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิด Economy of Scale และการขยายพลังจาก Collect Action ของหน่วยงานที่เข้าร่วม

องค์กรใดที่สนใจเข้าร่วมการขับเคลื่อนในครั้งนี้ ก็ขอได้โปรดอดใจรอสักนิด เพราะหน่วยงานที่อาสารับผิดชอบการขับเคลื่อนทั้ง 6 แผนงานข้างต้น กำลังกำหนดรูปแบบกิจกรรม วิธีการเข้าร่วม ฯลฯ และจะได้มีการทยอยประกาศในเร็ววันนี้ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: