Saturday, November 30, 2024

เปิดผลสำรวจความยั่งยืนของธุรกิจไทย ปี 67

นับจากที่สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ได้ริเริ่มสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2561 ขณะนั้นมีประชากรในกลุ่มสำรวจจำนวน 100 ราย และได้ทยอยเพิ่มกิจการที่ทำการสำรวจเรื่อยมาเป็นลำดับ จนในปีปัจจุบัน มีกิจการที่ได้ทำการสำรวจ อยู่จำนวน 930 ราย

วัตถุประสงค์ของการสำรวจนี้ เป็นไปเพื่อต้องการประมวลพัฒนาการด้านความยั่งยืนของธุรกิจไทย สะท้อนผ่านผลสำรวจของกลุ่มกิจการที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั้งในมุมมองที่สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานสากล (GRI) การคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ในบริบทของกิจการ

ผลสำรวจปี 67 ครอบคลุม 930 กิจการ
ในปี 2567 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียน 838 แห่ง กองทุนและกิจการอื่น ๆ อีก 92 ราย รวมทั้งสิ้น 930 ราย (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ทำการสำรวจ 904 ราย) พบว่า การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ด้านสังคม 52.68% ด้านสิ่งแวดล้อม 28.70% และด้านเศรษฐกิจ 18.62% ตามลำดับ

หากวิเคราะห์ข้อมูลกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่ได้คะแนนการดำเนินงาน ESG รวมสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กิจการในกลุ่มธุรกิจการเงิน (4.98 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10) รองลงมาเป็นกิจการในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (4.83 คะแนน) และกิจการในกลุ่มเทคโนโลยี (4.73 คะแนน) ตามลำดับ

สำหรับประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ การต้านทุจริต 83.33% อาชีวอนามัยและความปลอดภัย 73.33% และการจ้างงาน 71.29% ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ตามลำดับ

ไฮไลต์ผลสำรวจความยั่งยืนที่น่าสนใจ
ในการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 930 ราย พบว่า ในปี 2567 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.13 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีก่อนหน้าที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.53 คะแนน (ปี 2566 จากการสำรวจ 904 ราย) และ 2.46 คะแนน (ปี 2565 จากการสำรวจ 854 ราย)

เมื่อพิจารณาผลสำรวจโดยใช้ประเด็นความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI พบว่ากิจการกว่าครึ่ง (52.15%) มีการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นมลอากาศ (Emissions) แต่มีเพียง 7.63% ที่มีการรายงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และพบว่า ยังมีไม่ถึง 10% ที่เปิดเผยข้อมูลการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้ส่งมอบ (Supplier Environmental / Social Assessment)

สำหรับการประเมินสาระสำคัญ (Materiality Assessment) เพื่อระบุประเด็นความยั่งยืนสำหรับการดำเนินงานและการรายงานของกิจการ พบว่า 61% ของกิจการที่ถูกสำรวจ ยังไม่มีการประเมินสาระสำคัญ ส่วนกิจการที่มีการประเมินสาระสำคัญมีจำนวน 37% และมีเพียง 2% ที่มีการประเมินสาระสำคัญสองนัย (Double Materiality Assessment)

โดยในจำนวน 2% ที่มีการประเมินสาระสำคัญสองนัย พบว่า มีกิจการถึง 4 ใน 5 แห่ง ที่ยังมีการประเมินสาระสำคัญสองนัย ไม่สอดคล้องตามหลักการที่ควรจะเป็น

สาระสำคัญสองนัย (Double Materiality) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ทวิสารัตถภาพ’ เป็นการระบุประเด็นสาระสำคัญตามนัยทางการเงิน (Financial) อันเกิดจากปัจจัยความยั่งยืนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ และประเด็นสาระสำคัญตามนัยของผลกระทบ (Impact) อันเกิดจากการประกอบการที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับเป็นข้อมูลให้กิจการนำไปใช้ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งได้กลายเป็นหลักการที่ถูกบรรจุอยู่ในมาตรฐานระหว่างประเทศ อาทิ มาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards) ที่กำหนดให้กิจการซึ่งอยู่ในข่ายต้องดำเนินการตามหลักการดังกล่าว

โดยหลักการสำคัญ 2 ประการของทวิสารัตถภาพ ได้แก่ ประการแรก การประเมินประเด็นที่เป็นสาระสำคัญตามนัยทางการเงินและตามนัยของผลกระทบ ควรได้รับการพิจารณาให้ลำดับความสำคัญตามเกณฑ์ที่ขึ้นกับนัยนั้น ๆ แยกต่างหากจากกัน (ไม่ใช้เกณฑ์ร่วม) และประการที่สอง ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญมาจากการรวมประเด็น (Union) ที่ได้จากการประเมินว่าสำคัญในแต่ละนัย มิได้มาจากการคัดเฉพาะประเด็นสำคัญที่ตรงกัน (Intersection) ในทั้งสองนัย

สำหรับข้อมูลผลสำรวจอื่น ๆ ที่น่าสนใจ สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ในเมนู ‘ความยั่งยืน’ ภายใต้หัวข้อ ‘รายงานสถานภาพความยั่งยืน’ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 16, 2024

เวที COP 29 ไฟเขียวรับมาตรฐานกลไกตลาดคาร์บอน

ในช่วงสองสัปดาห์นี้ (11-22 พ.ย.) ได้มีการจัดประชุม COP 29 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

COP หรือ Conference of Parties เป็นการประชุมประจำปีเพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือ และกำหนดทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก โดยหนึ่งในความคืบหน้าสำคัญในการประชุมครั้งนี้ (ณ วันที่เผยแพร่บทความ) ได้แก่ การรับมาตรฐานกลไกตลาดคาร์บอนที่เป็นไปตามบทบัญญัติของความตกลงปารีส ในข้อ 6 ย่อหน้า 4 (Article 6.4)

ด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกลไกที่เห็นชอบโดยองค์กรกำกับดูแล (Supervisory Body) ที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐภาคีความตกลงปารีส (CMA) จะเปิดโอกาสให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุนไปยังผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ภายใต้ความตกลงปารีส ลงได้ราว 2.5 แสนล้านเหรียญต่อปี

ก่อนหน้านี้ ข้อเสนอแนะเรื่องกลไกตลาดคาร์บอนที่จัดทำโดยองค์กรกำกับดูแล ไม่ได้ถูกรับรอง (Adopt) จากที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส ติดต่อกัน 2 สมัย (ค.ศ. 2022-2023) ทำให้ในสมัยประชุมนี้ องค์กรกำกับดูแลเลือกใช้วิธีรับรองข้อเสนอแนะของตนเอง และแปลงเป็นมาตรฐาน 2 ฉบับ คือ มาตรฐานข้อกำหนดสำหรับการพัฒนาและการประเมินระเบียบวิธี (Methodologies) ตามกลไกข้อ 6.4 และมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการกำจัดก๊าซเรือนกระจก (Removals) ภายใต้กลไกข้อ 6.4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2567 ก่อนสมัยประชุม CMA จากนั้น จึงส่งให้ที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงฯ รับทราบ

ทั้งนี้ ได้มีข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า กระบวนการรับรองดังกล่าว รวบรัดและขาดความโปร่งใส เนื่องจากไม่เปิดให้รัฐภาคีได้มีโอกาสพิจารณาเนื้อหาและสามารถอภิปรายในวงกว้าง

ผลที่คาดว่าจะตามมาในบริบทของธุรกิจ คือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกลไกที่เห็นชอบโดยองค์กรกำกับดูแลที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐภาคีความตกลงปารีส จะกลายเป็นบรรทัดฐานของตลาดซื้อขายคาร์บอนภายใต้กลไกที่เป็นทางการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับมากกว่ากลไกตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market: VCM) ที่ใช้มาตรฐานอิสระ ดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน

โดยจะเห็นได้จากมูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2023) มีตัวเลขอยู่ที่ 723 ล้านเหรียญ ลดลงจากมูลค่าในปีก่อนหน้า (ค.ศ. 2022) ที่มีอยู่ราว 2 พันล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากข้อกังวลในเรื่องคุณภาพเครดิต รวมถึงระเบียบวิธีและความน่าเชื่อถือของโครงการ และยังส่งผลไปถึงการกดดันราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจด้วย

ด้วยกลไกตลาดคาร์บอนที่มีการรับรองโดยองค์กรกำกับดูแลภายใต้ความตกลงปารีส เชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในเรื่องเสถียรภาพราคา และการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก (Reductions) และโครงการกำจัดก๊าซเรือนกระจก (Removals) ในเรื่องมาตรฐานของกลไกที่จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

โดยการประกาศรับรองกลไกตลาดคาร์บอนที่เกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้ จะเอื้อให้องค์กรกำกับดูแลสามารถเตรียมการเพื่อเปิดให้ขึ้นทะเบียนระเบียบวิธีตามกลไกข้อ 6.4 ได้ภายในครึ่งหลังของปีหน้า (ค.ศ. 2025) หลังจากที่หาข้อยุติไม่ได้มาร่วม 2 ปี

อย่างไรก็ดี ยังมีเอกสารร่างข้อบท (draft text) เกี่ยวกับกลไกตลาดตามข้อ 6.4 จากองค์กรย่อยเพื่อคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SBSTA) ซึ่งทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลและคำแนะนำให้ CMA ที่ยังคงเว้นทางเลือกไว้ในหลายหัวข้อ และเนื้อหาในวงเล็บอีกหลายเรื่องที่รอการตัดสินใจ

ทั้งนี้ การเร่งรัดดำเนินการรับมาตรฐานที่เกี่ยวกับกลไกตลาดตามข้อ 6.4 ในสมัยประชุมนี้ ก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่จะต้องบรรลุ Carbon Halving ให้ได้ภายในทศวรรษนี้ หรือ คือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี ค.ศ. 2030 เพื่อให้สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

สำหรับผู้สนใจเนื้อหาการประชุมในส่วนที่เป็นเอกสารร่างข้อตัดสินใจ (draft decision) ว่าด้วยการแนะแนวกลไกตามความตกลงปารีส ข้อ 6 ย่อหน้า 4 สามารถติดตามได้จากลิงก์ https://unfccc.int/documents/642623


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 02, 2024

15 บริษัทใน SET50 ต้องเปิดข้อมูล Biodiversity ภายในปี 2573

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ได้มีการจัดประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 (Sixteenth meeting of the Conference of the Parties to the Convention on Biological Diversity : CBD COP 16) ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย

CBD มีการจัดประชุมสมัชชาภาคี หรือ Conference of the Parties: COP เป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อกำหนดทิศทางและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประชาคมโลก รวมทั้งเสนอแนวทางต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนประเทศภาคีจำนวน 196 ประเทศ ให้สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ

สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP 15) เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ได้รับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) เพื่อเป็นกรอบให้ภาคีนำไปจัดทำเป้าหมายชาติ (National Targets) และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAP)

เลขาธิการสหประชาชาติ Antonio Guterres ได้กล่าวถึงความสำคัญของการประชุม CBD COP 16 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานตาม KM-GBF โดยขอให้ภาคีอนุสัญญาฯ หารือถึงวิธีการที่จะนำแผนไปสู่การปฏิบัติ การระดมทรัพยากรทางการเงินให้เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน การพิจารณากลไกสำหรับข้อมูลดิจิทัลของลำดับพันธุกรรมที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการปฏิบัติของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

โดยประเทศไทย ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ใน 3 ประเด็นสำคัญระหว่างการประชุม CBD COP 16 ได้แก่

ประเด็นกลไกการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้มีการนำเสนอเเละเเลกเปลี่ยนการดำเนินงาน ร่วมกับภาคการเงินการธนาคารในการระดมทุน เพื่อมุ่งสู่ธรรมชาติเชิงบวก (nature positive) เพื่อปิดช่องว่างทางการเงิน ผ่านทางผลิตภัณฑ์และการศึกษา เพื่อวางเเนวทางการออกตราสารหนี้เพื่อธรรมชาติ การจัดทำอนุกรมวิธานทางการเงิน การศึกษาประเมินความเสี่ยง และการพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพของภาคธุรกิจ

ประเด็นแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และร่วมเปิดตัวแผนอาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเด็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ได้มีการเเลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานด้านพื้นที่ OECMs โดยเน้นย้ำบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดหุ้นส่วนความร่วมมือและเครือข่ายการทำงาน เพื่อปิดช่องว่าง ขยายโอกาส และแสวงหากลไกสนับสนุนการทำงาน

ก่อนหน้านี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการดำเนินงาน ครั้งที่ 5 (the Fifth meeting of the Subsidiary Body on Implementation: SBI5) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2567 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกร่างเอกสารการวิเคราะห์เป้าหมายและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ รวมถึงเอกสารข้อเสนอแนะในการดำเนินงานตามเป้าหมายและแผนปฏิบัติการฯ ได้มีข้อเสนอให้ริเริ่มกลไกการระดมทรัพยากรทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น biodiversity finance, investment for green initiatives, synergies carbon credit for biodiversity conservation เพื่อนำเสนอให้ CBD COP 16 พิจารณาเป็นมติที่ประชุม สำหรับภาคีอนุสัญญาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินงานต่อไป

และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 (ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 12 เป้าหมาย) และเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จำนวน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายแรก มีพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ของประเทศ ทั้งบนบกและในทะเล อย่างน้อยร้อยละ 30 เป้าหมายที่สอง ดัชนีสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List index) ไม่น้อยลง จากข้อมูลปีฐาน พ.ศ. 2568 เป้าหมายที่สาม มีมาตรการในการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานที่มีลำดับความสำคัญสูงอย่างน้อยร้อยละ 35 และเป้าหมายที่สี่ สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 ที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

โดยในเป้าหมายที่สี่นี้ หมายความว่า จะมีอย่างน้อย 15 บริษัทจดทะเบียน ที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือภายในอีก 6 ปี นับจากนี้

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ในฐานะผู้กำหนดมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ได้ออกมาตรฐาน GRI 101: Biodiversity 2024 ที่สอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก เพื่อช่วยองค์กรธุรกิจทำความเข้าใจถึงการตัดสินใจและการดำเนินงานทางธุรกิจที่อาจนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในสายคุณค่า และวิธีการในการจัดการผลกระทบดังกล่าว

มาตรฐาน GRI 101: Biodiversity 2024 ประกอบด้วยรายการเปิดเผยข้อมูล 8 รายการ ได้แก่ Disclosure 101-1: นโยบายการหยุดหรือผันกลับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-2: การจัดการผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-3: การเข้าถึงและปันส่วนประโยชน์ Disclosure 101-4: การระบุผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-5: ทำเลที่ตั้งกับผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-6: ปัจจัยขับทางตรงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-7: การเปลี่ยนแปลงภาวะความหลากหลายทางชีวภาพ Disclosure 101-8: บริการทางระบบนิเวศ

องค์กรธุรกิจที่สนใจในมาตรฐานดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่ GRI Topic Standard for Biodiversity (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]