Saturday, January 27, 2024

เพิ่มแต้มต่อในธุรกิจ ด้วยการเปิดเผยข้อมูล ESG

หนึ่งในการดำเนินงานที่นำไปสู่ความยั่งยืน คือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่สนใจหรือที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของกิจการ อันได้แก่ บรรดาผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของกิจการ


สาเหตุที่การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ นำไปสู่ความยั่งยืน เนื่องเพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจที่พร้อมรับการซักถามและตรวจสอบ รวมทั้งข้อชี้แนะต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในทางที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม จนสามารถพัฒนาไปเป็นการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ในที่สุด

โดยประโยชน์ที่กิจการจะได้รับจากการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส คือ การลดข้อพิพาทที่จะช่วยทั้งด้านทรัพยากรเวลา บุคลากร และงบประมาณที่สูญเสียไปกับการแก้ไขปัญหากับผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และมีเวลาในการมุ่งเน้นธุรกิจอย่างเต็มที่

สหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศ (International of Federation of Accountants - IFAC) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบสถานะการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนและการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผยของบริษัทจดทะเบียนใน 42 ประเทศ จำนวน 1,850 กิจการ เผยแพร่ในเอกสารชื่อว่า The State of Play: Sustainability Disclosure & Assurance เมื่อปี ค.ศ. 2023 ระบุว่า 95% ของกิจการที่สำรวจ (1,350 กิจการ) ในกลุ่มประเทศ G20 มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และ 64% มีการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย เทียบกับ 89% ของกิจการที่สำรวจ (500 กิจการ) นอกกลุ่มประเทศ G20 ที่มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และ 48% ที่มีการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย

กิจการที่เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนจากผลสำรวจพบว่า ในกลุ่มประเทศ G20 มีการใช้หรืออ้างอิงมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) จำนวน 74% และผลสำรวจนอกกลุ่มประเทศ G20 มีจำนวน 79% โดยผลการสำรวจในประเทศไทย (จำนวน 25 กิจการ) มีการใช้หรืออ้างอิงมาตรฐาน GRI สูงถึง 96%

สำหรับผลสำรวจการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผยของกิจการในประเทศไทย 25 แห่ง โดย IFAC พบว่า ในปี ค.ศ. 2021 มีสัดส่วนอยู่ที่ 68% (เพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี ค.ศ. 2020 และ 52% ในปี ค.ศ. 2019) โดยมาตรฐานการให้ความเชื่อมั่นที่ใช้อ้างอิงมากสุด ได้แก่ มาตรฐาน ISAE3000 (67%) รองลงมาเป็นมาตรฐาน AA1000 (44%) ตามลำดับ

ขณะที่ผลสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการไทย จำนวน 904 แห่ง โดยสถาบันไทยพัฒน์ ในปี ค.ศ. 2023 พบว่า กิจการที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนแยกเล่ม (จำนวน 172 แห่ง) มีการใช้หรืออ้างอิงมาตรฐาน GRI อยู่จำนวน 93% (เพิ่มขึ้นจาก 89% ในปี ค.ศ. 2022 และ 86% ในปี ค.ศ. 2021) และมีการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผยอยู่จำนวน 56 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 33% (เพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี ค.ศ. 2022 และ 24% ในปี ค.ศ. 2021)

ธุรกิจที่มีการรายงานข้อมูลอย่างโปร่งใส และยังสามารถเปิดเผยได้ตามมาตรฐานสากล จะได้รับการยอมรับทั้งจากหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรผู้ประเมินทั้งในระดับประเทศและในต่างประเทศ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและเครดิตจากการดำเนินงานที่ปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืน

โดยผลสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ในประเด็นด้านข้อปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure Practices) ในปี ค.ศ. 2023 ยังพบด้วยว่า ร้อยละ 74 ของกิจการที่อยู่ในทำเนียบ ESG100 มีคะแนนด้านข้อปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับกิจการทั้งหมดที่ได้รับการสำรวจ

นอกจากนี้ การให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย จะช่วยให้กิจการสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องความเชื่อถือได้และคุณภาพของข้อมูลที่เปิดเผยในด้านการดำเนินงานความยั่งยืนของกิจการ ที่ไปเสริมหนุนการกำกับดูแล การตัดสินใจ และการจัดการความเสี่ยงองค์กรให้เกิดประสิทธิผล

กิจการที่ให้ความใส่ใจในเรื่องความยั่งยืน จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำ ในรูปของ GSSSB (Green, Social, Sustainable, and Sustainability-linked Bond) ซึ่ง S&P Global คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2024 จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนราว 1 ล้านล้านเหรียญ (สรอ.)

ประโยชน์สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ การเพิ่มแต้มต่อในการเข้าถึงตลาดที่เน้นเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ดังเช่นในภูมิภาคยุโรปที่มีการสร้างกลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) หรือการออกข้อบังคับว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (EUDR) ทำให้ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานความยั่งยืน มีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือกว่าธุรกิจปกติ ทั้งโอกาสการเพิ่มยอดขายในตลาดเดิม ไปจนถึงการเจาะตลาดใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มผลประกอบการในระยะยาว


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, January 13, 2024

3 ความท้าทายและความเสี่ยง ESG ปี 2024

มุมมองที่มีต่อเรื่อง ESG ของกิจการจึงมีความสำคัญ เพราะทางหนึ่ง สามารถนำไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับองค์กรบางกลุ่ม ในอีกทางหนึ่ง ก็สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นความเสี่ยงให้กับอีกหลายองค์กรได้เช่นกัน

แม้เรื่อง ESG จะมีโมเมนตัมหรือแรงส่งที่ผลักให้ธุรกิจต้องดำเนินการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานใหม่ ๆ ที่ออกโดยรัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง หรือโดยแรงบีบจากตลาดระหว่างคู่ค้าด้วยกันเอง แต่ก็ใช่ว่าการขับเคลื่อนเรื่อง ESG จะเลื่อนไหลไปโดยปราศจากแรงเสียดทาน เนื่องจากเงื่อนไขภายในกิจการ อาทิ ความพร้อม ทรัพยากร และทัศนคติที่มีต่อเรื่อง ESG ของแต่ละกิจการไม่เหมือนกัน ประกอบกับเงื่อนไขภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและกติกาทางสังคมที่เกี่ยวข้อง ทำให้การปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองเรื่องดังกล่าว จึงมีจังหวะก้าวที่แตกต่างกัน


สำหรับความท้าทายที่สำคัญต่อการดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจไทย ในปี ค.ศ. 2024 ได้แก่

การบังคับใช้กฎหมาย แม้การดำเนินงานด้าน ESG ไม่จำเป็นต้องพึ่งการออกกฎหมายฉบับใหม่ เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG อยู่แล้ว ดังนั้นหนึ่งในอุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจ ในปี ค.ศ. 2024 จึงไม่ได้อยู่ที่ประเด็นการไม่มีกฎหมายรองรับ แต่เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเฉียบขาด เช่น กรณีทุจริตหุ้น STARK กรณีโกงหุ้น MORE หรือกรณีลักลอบนำเข้าหมู ฯลฯ

การเปลี่ยนผ่าน โดยประเด็นด้าน ESG ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการ เช่น การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถูกดึงให้มีความล่าช้าออกไป ตัวอย่างกรณีการประชุม COP28 ที่มีการแก้ไขถ้อยคำเรื่องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากการทยอยเลิกใช้ (Phase out) มาเป็นการเปลี่ยนผ่าน (Transition away) โดยการผลักดันของกลุ่มประเทศที่มีผลประโยชน์ในเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจโดยรวม ในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และยังได้กลายเป็นความเสี่ยงต่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของแต่ละประเทศ

การฟอกเขียว ปัจจุบันคำว่า ESG ได้ถูกหยิบมาใช้ในวงกว้าง ไม่เว้นในแวดวงการตลาดที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์อย่างแพร่หลาย จนในปัจจุบัน กิจกรรม ESG ส่วนใหญ่ที่ปรากฏในสื่อ ถูกตีความว่าเป็นการฟอกเขียว (Green Washing) ซึ่งคือการดำเนินการที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่น การประกาศตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกินจริงหรือที่พิสูจน์ไม่ได้ การแสดงเครื่องหมายรับรองที่ออกโดยหน่วยงานที่ขาดความน่าเชื่อถือหรือได้มาด้วยการซื้อเครื่องหมายรับรองที่ไม่ได้มีมาตรฐานรองรับ การฟอกเขียว จึงยังเป็นอุปสรรคและความท้าทายสำคัญในการดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจ ในปี ค.ศ. 2024 และมีแนวโน้มที่ขยายวงเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับธุรกิจที่ยังไม่ใส่ใจดำเนินการด้าน ESG ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างใดก็ตาม ความเสี่ยงต่อการดำเนินงาน ในปี ค.ศ. 2024 ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจเหล่านั้น ได้แก่

ตกขบวน เพราะ ESG เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ธุรกิจไม่ว่าขนาดใหญ่ขนาดเล็ก ต้องนำมาดำเนินการในกิจการของตนไม่มากก็น้อย บริษัทขนาดใหญ่ที่มีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยคู่ค้าจำนวนมาก นับเป็นหลายพันหลายหมื่นราย จำเป็นต้องทำเรื่อง ESG ในกิจการ เพราะได้รับแรงกดดันจากผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ และยังถูกคาดหวังให้ต้องดำเนินการในห่วงโซ่อุปทานด้วย นั่นหมายความว่า บริษัทที่มีการดำเนินการด้าน ESG จำเป็นต้องค้าขายกับคู่ค้าที่มี ESG ในระดับเดียวกัน หรือมีในเกณฑ์ขั้นต่ำที่บริษัทเป็นผู้กำหนด ซึ่งหากคู่ค้าหรือธุรกิจรายใดในเครือข่าย ไม่ดำเนินการหรือดำเนินการได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็อาจตกขบวนหรือหมดโอกาสที่จะค้าขายกับบริษัทเหล่านั้นได้ตามปกติ จนกว่าจะสามารถปรับปรุงสถานะเรื่อง ESG ให้ได้ตามเกณฑ์

มีต้นทุนเพิ่ม เพราะ ESG ในหลายประเด็นมาพร้อมกับการออกเป็นกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติ มิฉะนั้นจะมีค่าปรับหรือบทลงโทษ หากยังไม่มีการดำเนินการด้าน ESG นั้น ๆ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงด้านต้นทุนที่ธุรกิจต้องเผชิญ ในทางกลับกัน การดำเนินการด้าน ESG ให้เป็นไปตามกฎระเบียบ จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมจากเดิมไม่มากก็น้อย ซึ่งก็เป็นภาระด้านต้นทุนที่ธุรกิจต้องเผชิญเช่นกัน ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนดำเนินการด้าน ESG ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงมิให้เกิดความเสียหายขึ้น กับต้นทุนที่เป็นค่าปรับหรือการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เสียโอกาสในการเข้าถึงตลาด เพราะ ESG ไม่ได้มาในรูปของการบังคับให้ปฏิบัติ ด้วยการออกเป็นกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังมาในรูปของแรงกดดันหรือการกีดกันจากภาคธุรกิจด้วยกันเองในกรณีที่เป็น B2B ซึ่งหากกิจการไม่มีการดำเนินการด้าน ESG (แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับ) ก็อาจทำให้ค้าขายต่อไปเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะคู่ค้ารายใหญ่ผลักดันให้มีการดำเนินการ พร้อมกับเงื่อนไขที่หากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็จะปฏิเสธการซื้อสินค้าหรือบริการจากกิจการรายนั้น ๆ กลายเป็นความสูญเสียทางธุรกิจ ทั้งการเสียตลาดเดิมที่ผูกด้วยเงื่อนไขใหม่ และการเสียโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่ที่มาพร้อมกับเงื่อนไขปกติ (ด้าน ESG) นอกจากนี้ ESG ยังมาในรูปของแรงกดดันหรือพฤติกรรมจากผู้บริโภคในกรณีที่เป็น B2C ซึ่งมีความต้องการที่จะอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นมากในปัจจุบัน ทำให้กิจการที่ไม่ปรับตัวก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงตลาดกลุ่มนี้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ มุมมองที่มีต่อเรื่อง ESG ของกิจการจึงมีความสำคัญ เพราะทางหนึ่ง สามารถนำไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับองค์กรบางกลุ่ม ในอีกทางหนึ่ง ก็สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นความเสี่ยงให้กับอีกหลายองค์กรได้เช่นกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]