หนึ่งในการดำเนินงานที่นำไปสู่ความยั่งยืน คือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่สนใจหรือที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของกิจการ อันได้แก่ บรรดาผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของกิจการ
สาเหตุที่การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ นำไปสู่ความยั่งยืน เนื่องเพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจที่พร้อมรับการซักถามและตรวจสอบ รวมทั้งข้อชี้แนะต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในทางที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม จนสามารถพัฒนาไปเป็นการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ในที่สุด
โดยประโยชน์ที่กิจการจะได้รับจากการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส คือ การลดข้อพิพาทที่จะช่วยทั้งด้านทรัพยากรเวลา บุคลากร และงบประมาณที่สูญเสียไปกับการแก้ไขปัญหากับผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และมีเวลาในการมุ่งเน้นธุรกิจอย่างเต็มที่
สหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศ (International of Federation of Accountants - IFAC) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบสถานะการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนและการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผยของบริษัทจดทะเบียนใน 42 ประเทศ จำนวน 1,850 กิจการ เผยแพร่ในเอกสารชื่อว่า The State of Play: Sustainability Disclosure & Assurance เมื่อปี ค.ศ. 2023 ระบุว่า 95% ของกิจการที่สำรวจ (1,350 กิจการ) ในกลุ่มประเทศ G20 มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และ 64% มีการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย เทียบกับ 89% ของกิจการที่สำรวจ (500 กิจการ) นอกกลุ่มประเทศ G20 ที่มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และ 48% ที่มีการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย
กิจการที่เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนจากผลสำรวจพบว่า ในกลุ่มประเทศ G20 มีการใช้หรืออ้างอิงมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) จำนวน 74% และผลสำรวจนอกกลุ่มประเทศ G20 มีจำนวน 79% โดยผลการสำรวจในประเทศไทย (จำนวน 25 กิจการ) มีการใช้หรืออ้างอิงมาตรฐาน GRI สูงถึง 96%
สำหรับผลสำรวจการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผยของกิจการในประเทศไทย 25 แห่ง โดย IFAC พบว่า ในปี ค.ศ. 2021 มีสัดส่วนอยู่ที่ 68% (เพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี ค.ศ. 2020 และ 52% ในปี ค.ศ. 2019) โดยมาตรฐานการให้ความเชื่อมั่นที่ใช้อ้างอิงมากสุด ได้แก่ มาตรฐาน ISAE3000 (67%) รองลงมาเป็นมาตรฐาน AA1000 (44%) ตามลำดับ
ขณะที่ผลสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการไทย จำนวน 904 แห่ง โดยสถาบันไทยพัฒน์ ในปี ค.ศ. 2023 พบว่า กิจการที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนแยกเล่ม (จำนวน 172 แห่ง) มีการใช้หรืออ้างอิงมาตรฐาน GRI อยู่จำนวน 93% (เพิ่มขึ้นจาก 89% ในปี ค.ศ. 2022 และ 86% ในปี ค.ศ. 2021) และมีการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผยอยู่จำนวน 56 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 33% (เพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี ค.ศ. 2022 และ 24% ในปี ค.ศ. 2021)
ธุรกิจที่มีการรายงานข้อมูลอย่างโปร่งใส และยังสามารถเปิดเผยได้ตามมาตรฐานสากล จะได้รับการยอมรับทั้งจากหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรผู้ประเมินทั้งในระดับประเทศและในต่างประเทศ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและเครดิตจากการดำเนินงานที่ปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืน
โดยผลสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ในประเด็นด้านข้อปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure Practices) ในปี ค.ศ. 2023 ยังพบด้วยว่า ร้อยละ 74 ของกิจการที่อยู่ในทำเนียบ ESG100 มีคะแนนด้านข้อปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับกิจการทั้งหมดที่ได้รับการสำรวจ
นอกจากนี้ การให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เปิดเผย จะช่วยให้กิจการสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องความเชื่อถือได้และคุณภาพของข้อมูลที่เปิดเผยในด้านการดำเนินงานความยั่งยืนของกิจการ ที่ไปเสริมหนุนการกำกับดูแล การตัดสินใจ และการจัดการความเสี่ยงองค์กรให้เกิดประสิทธิผล
กิจการที่ให้ความใส่ใจในเรื่องความยั่งยืน จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำ ในรูปของ GSSSB (Green, Social, Sustainable, and Sustainability-linked Bond) ซึ่ง S&P Global คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2024 จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนราว 1 ล้านล้านเหรียญ (สรอ.)
ประโยชน์สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ การเพิ่มแต้มต่อในการเข้าถึงตลาดที่เน้นเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ดังเช่นในภูมิภาคยุโรปที่มีการสร้างกลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) หรือการออกข้อบังคับว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (EUDR) ทำให้ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานความยั่งยืน มีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือกว่าธุรกิจปกติ ทั้งโอกาสการเพิ่มยอดขายในตลาดเดิม ไปจนถึงการเจาะตลาดใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มผลประกอบการในระยะยาว
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, January 27, 2024
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment