Sunday, January 08, 2006

อย่าไว้ใจความคิดตัวเอง

เราพบกับ พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้ที่นอกจากจะมีความสนใจในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว CEO หนุ่มวัยย่างเข้าเลขสี่คนนี้ยังสนใจการปฏิบัติธรรม และมุ่งมั่นศึกษาธรรมะอย่างเอาจริงเอาจังอีกด้วย

"ผมไม่ได้เพิ่งมาสนใจตอนเรียนปริญญาเอก สาขาพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) แต่โดยส่วนตัวแล้ว อ่านหนังสือธรรมะมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ตั้งแต่อายุประมาณ 15 ปี"

นั่นไง เริ่มต้นมาตั้งแต่วัยรุ่น สำหรับช่วงแรกที่พิพัฒน์สนใจ คือหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาส

"ผมประทับใจ เพราะท่านเขียนหนังสือธรรมะด้วยภาษาธรรมดา ไม่อิงบาลีมากมาย ก็อ่านมาเรื่อย"

การอ่านแต่ละครั้ง สำหรับหนังสือเล่มเดียวกัน ได้ให้ความเข้าใจที่แตกต่างกันในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป

"ผมอ่านหนังสือของท่านแทบทุกเล่ม ตอนหลังซื้อเก็บไว้ เล่มแรกที่อ่านคือ "เกิดมาทำไม" ชีวิตผมตอนเรียนมัธยมปลายที่เตรียมอุดมศึกษา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการตั้งคำถามแก่ตัวเองที่ว่า คนเราเกิดมาเพื่ออะไร ผมขบปัญหานี้อย่างจริงๆ จังๆ แล้วก็รู้สึกดีใจเล็กๆ ที่ได้ตอบคำถามนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะถ้าไปตอบคำถามตอนอายุมากหรือใกล้เข้าฝั่งแล้ว และพบว่า ที่เราทำมาทั้งชีวิตนั้นไม่ใช่เลย ก็จะรู้สึกเสียดายมากว่า สิ่งที่เราดำเนินมาทั้งหมดไม่ใช่คำตอบของชีวิต"

พอพิพัฒน์ตั้งคำถามนี้ตั้งแต่วัยรุ่น และได้คำตอบว่า คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ จากนั้นเขาก็ตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วเรียนรู้อะไรล่ะ

"วันนี้ ผมคิดว่ามีการเรียนรู้บนสองเส้นทาง ทางหนึ่ง คือเรียนรู้เพื่อที่จะดำรงชีวิต จะต้องเรียนรู้โดยการเข้าสู่ระบบการศึกษา วิชาชีพ มีความรู้เชิงลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อทำมาหากิน เพื่อประกอบอาชีพ ส่วนอีกทางหนึ่ง คือเรียนรู้เรื่องชีวิต ต้องเป็น วิชาชีวิต ไม่ใช่วิชาชีพ เพื่อค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมคนเราถึงเกิดมา แล้วเราจะไปถึงจุดยอดสุดที่มนุษย์พึงจะได้รับได้อย่างไร"

"ทำไมผมจึงเรียนวิศวะ ทำไมจึงศึกษาเรื่องไอที เพราะนี่คือเรื่องของอาชีพที่ผมใช้ในการดำเนินชีวิต กับการศึกษาปฏิบัติธรรม หรือไปเรียนปริญญาเอกที่ มจร. ก็เพราะอยากเรียนรู้เรื่องขีวิต เพื่อที่จะนำพาตัวเองให้เข้าไปสู่เส้นทางของการพ้นทุกข์นั่นเอง"

เนื่องจากหลักสูตรปริญญาเอกของมจร. กำหนดไว้ว่าต้องเรียนทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ โดยมีข้อกำหนดให้ผู้เรียนต้องเข้าคอร์สกรรมฐานเป็นเวลา 45 วัน การปฏิบัติในหลักสูตรนี้ เป็นสิ่งที่พิพัฒน์ปรารถนาอยู่ลึกๆ จึงได้ตัดสินใจเข้าเรียนและได้ผ่านคอร์สกรรมฐานนี้มาแล้วที่วัดภัททันตะอาสภาราม จ.ชลบุรี

"วัดนี้เป็นวัดสอนวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐาน 4 ไม่เน้นพิธีกรรม ก่อตั้งขึ้นตามชื่อของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระภัททันตะ อาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ พระวิปัสสนาจารย์ผู้สืบสายวิปัสสนาวงศ์นับแต่พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ สาวกองค์สำคัญหลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว 235 ปี โดยมีพระอธิการสมศักดิ์ โสรโท เป็นเจ้าอาวาสและพระวิปัสสนาจารย์ผู้ให้การอบรมวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐาน 4 ซึ่งถือเป็นทางสายเอกที่พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้ว่า นี่คือหนทางพ้นทุกข์ที่ตรงที่สุด โดยการกำหนดรู้กาย เวทนา จิต และธรรม จนกว่าจะเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสังขารที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป"

เมื่อไปถึง พระอาจารย์ท่านจะให้ผู้ปฏิบัติขอสมาทานศีล 8 และขึ้นพระกรรมฐานก่อนการปฏิบัติ เริ่มต้นจากการนั่งกำหนดและเดินจงกรมสลับกัน อิริยาบทละ 30 นาที เพื่อเอาจิตเข้าไปจดจ่อเฝ้าดูสภาวธรรมอันปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง โดยปราศจากการคิดนึกพิจารณาปรุงแต่ง หรือเพิ่มเติมสิ่งใดๆ ลงไปในทุกๆ ขณะที่มีการกำหนด

"สำหรับคนที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ช่วง 3 วันแรกจะบีบคั้นพอสมควร จนอาจทำให้หลายคนเลิกปฏิบัติกลางครัน แต่ถ้าผ่าน 3 วันแรกมาได้ โอกาสที่จะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเกิดขึ้นได้"

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่พระวิปัสสนาจารย์ส่วนใหญ่บอกว่า ถ้าจะเข้ากรรมฐานอย่างน้อยต้อง 7 วัน ถ้าเข้า 3 วันอาจจะไม่ได้อะไร เพราะพอจิตเริ่มมีกำลังตั้งมั่นเป็นสมาธิ ที่เอื้อต่อการเกิดปัญญาเห็นแจ้ง ก็กลับซะแล้ว แต่สำหรับพิพัฒน์เขาอยู่ตลอด 45 วัน

พอปฏิบัติไประยะหนึ่ง พระอาจารย์จะให้เพิ่มระยะเวลาการนั่งกำหนดและการเดินจงกรม เป็นคราวละ 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ที่ต้องมีการสลับอิริยาบถระหว่างการเดิน และการนั่ง รวมไปถึงการยืนกำหนด การนอนกำหนด และการกำหนดอิริยาบถย่อยด้วยนั้น ก็เพื่อการปรับแต่งอิริยาบถและอินทรีย์ 5 อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้มีความสม่ำเสมอกัน เป็นการกำหนดให้มีความต่อเนื่องไม่ขาดสาย

"พอนั่งแล้ว ก็ดูกาย มีสติระลึกรู้อาการนั่ง หรืออาการเคลื่อนไหวของท้องพอง-ยุบ เมื่อเวทนาหรือความรู้สึกที่เกิดกับการนั่งปรากฏ บางทีก็ปวด เป็นเหน็บ ชา ก็ให้กำหนดรู้อาการนั้นๆ อย่าไปอยากให้หาย อย่าไปอยากเอาชนะ อย่าไปอยากรู้ว่ามันจะดับหรือไม่ดับอย่างไร ให้ทำหน้าที่เพียงแค่เฝ้าดูอย่างมีสติเท่านั้น จนเมื่ออาการปวด หรืออาการเหน็บชารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จิตจะปรุงแต่ง เกิดความคิดว่า อยากจะลุก ไม่อยากนั่งต่อบ้าง กลัวเป็นอันตรายบ้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตที่มีหน้าที่คิดและรับรู้อารมณ์ตามสภาพของเหตุปัจจัย ขอให้กำหนดรู้อย่างเดียว คิดอะไรก็ให้กำหนดรู้ไปตามนั้น เมื่อการกำหนดถึงขั้นดีมาก จะทำให้เราเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง มองเห็นการเกิดดับของอารมณ์ที่กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว ทุกขัง ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นทุกข์ และอนัตตา ความไม่สามารถบังคับไม่ให้เป็นทุกข์ได้ เป็นสภาวธรรมที่ไม่สามารถบังคับเพื่อไม่ให้เกิด หรือเพื่อไม่ให้ดับตามอำนาจของตน ซึ่งหากเกิดการพิจารณาธรรมอย่างนี้ ก็ให้กำหนดอาการพิจารณานี้ด้วย ให้ตระหนักรู้อยู่ในสภาวะปัจจุบันเท่านั้น"

สำหรับประสบการณ์ของพิพัฒน์ เขาเล่าว่า...

"วิปัสสนาสามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน ทุกขณะสามารถปฏิบัติได้ ตราบใดที่เรามีตัวสติกำหนดรู้ในอิริยาบท เราก็กำลังปฏิบัติอยู่ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมที่ง่ายที่สุด คือ การระลึกรู้ในปัจจุบันขณะ โดยปราศจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้นเอง"

อย่างไรก็ตาม เขาระลึกอยู่เสมอว่า การปฏิบัติที่ตนเพียรอยู่ เป็นเพียงการเริ่มต้นออกศึกกับกิเลสตัวเองเท่านั้น

"ผมมีคีย์เวิร์ดเตือนตัวเองเสมอว่า อย่าไว้ใจความคิดตัวเอง เพราะความคิดของเรามักเจือปนไปด้วยกิเลสเสมอ เราจะเห็นกิเลสแปดเปื้อนอยู่เสมอเวลาเราคิด เวลาที่เราภาคภูมิใจกับเรื่องอะไรๆ ในชีวิต ผมยังรู้สึกอายๆ เลยว่า บางทีการเสนอความคิดเห็นทางวิชาการอะไรไป ผมต้องกลับมาทบทวนว่า แน่ใจแล้วหรือว่าความคิดที่เราเสนอไปเป็นความจริงแท้ ผมจึงได้เตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า คนเราทุกคนมักจะคิดเข้าข้างตัวเองเสมอ

"พระอาจารย์ท่านบอกว่า ปัญญาญาณที่บริสุทธิ์จะเกิดขึ้นได้ต้องปราศจากความคิด และอยู่กับปัจจุบันขณะ ขอให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เถอะ พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่เกิน 7 ปี ทุกคนมีโอกาสบรรลุธรรมเท่ากันหมด ถ้าคนๆ นั้นตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มรรคผลย่อมปรากฎ"

"สำหรับผม ตราบใดที่ยังไม่เข้ากระแส ยังปฏิบัติไม่เต็มที่ ความรู้สึกจะขึ้นๆ ลงๆ อย่างขณะปฏิบัติอยู่ที่วัด ก็มีความคิดปรุงแต่งเรื่องงาน ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ มันจะเข้าๆ ออกๆ อันนี้คือสภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นไปตามอำนาจของตน ขณะเวลาทำงานอยู่ออฟฟิศ อยากไปปฏิบัติ ก็เกิดทุกข์ ไม่ได้ดั่งใจ แต่พอมาอยู่ที่วัด อยากมาทำงาน ก็เป็นทุกข์อีก นี่แสดงกฎไตรลักษณ์เห็นๆ เลย ทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้าเราระลึกรู้อยู่เสมอว่า นี่คือสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เราก็จะรู้สึกผ่อนคลายลง ความทุกข์ก็จะน้อยลง"

พอมาถึงวันนี้ พิพัฒน์เล่าว่าสามารถปรับวิธีการทำงานและการปฏิบัติธรรมให้มีความลงตัวได้มากขึ้น

"เมื่อก่อนรู้สึกว่า แปลกแยก เพราะการทำงานต้องเจรจาต่อรอง ต้องไปคุยกับคนนั้นคนนี้ อาจมีข้อมูลบางอย่างที่เราบอกไม่หมด เราก็รู้สึกว่ามันขัดกับการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ในที่สุด วิถีการทำงานกับการปฏิบัติธรรมก็เริ่มปรับเข้าหากันเอง เข้าข่ายธรรมะจัดสรร ทำให้มีโอกาสได้มาทำงานเรื่อง CSR ที่อำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมมากขึ้น ในขณะที่ประโยชน์ขององค์กรก็ไม่เสีย สอดคล้องกับหลักธรรมะที่ว่า ไม่เบียดเบียนทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น"

CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility เป็นความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสังคม ในขณะนี้ เมืองไทยมีเครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR) เกิดขึ้นแล้ว จากการริเริ่มโดยสถาบันไทยพัฒน์ สังกัดภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่ง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำในการก่อตั้งร่วมกับบุคคลในวงราชการและธุรกิจเอกชนจำนวนหนึ่งเมื่อปี 2510 ซึ่งตอนนี้พิพัฒน์มารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์อยู่ด้วย

"เราพูดกันว่า ทำไมธุรกิจบางแห่งไม่มีความยั่งยืน เพราะรากฐานของธุรกิจนั้นไม่คำนึงถึงสังคม CSR คือ การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม นอกเหนือจากผลประโยชน์ส่วนตน เป็นการช่วยเหลือแบ่งปันให้กับผู้อื่น หรือให้กับสังคมนั่นเอง CSR ของธุรกิจเกิดได้ทั้งจากแรงขับดันภายในและภายนอก CSR ที่แท้จะต้องเกิดขึ้นจากการอาสาหรือสมัครใจยินดีในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยตนเอง ในขณะที่ CSR อีกแบบหนึ่ง ผู้ทำธุรกิจจำต้องทำตามเงื่อนไขของสังคม ระบบนี้คล้ายเป็นตัวแทนของสังคม เป็นผู้กดดันให้องค์กรดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการดำเนินกิจกรรมที่ทำให้สังคมได้รับความเสียหาย"

ธุรกิจจะอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและจารีตหรือบรรทัดฐานของสังคมที่เป็นตัวกำกับอย่างหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อยู่ภายใต้กฎอีกอันหนึ่ง คือ กฎธรรมชาติ ถ้าพูดทางธรรมะก็คือ กฎแห่งกรรม ฉะนั้นหากธุรกิจใดเอารัดเอาเปรียบสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ เขาย่อมได้รับผลกรรมทางสังคมนั้นไม่ช้าก็เร็ว

"อย่างที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า การศึกษาทุกวันนี้มุ่งไปที่ทำให้คนประกอบอาชีพได้ แต่ลืมเรื่องการศึกษาชีวิตไป เพราะต้องเอาปากท้องไว้ก่อน มุ่งแต่เรื่องปากท้อง เรื่องทรัพย์ทางวัตถุจนเกินพอดี ในทางพระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า จุดสูงสุดที่มนุษย์พึงจะได้รับ ไม่ใช่เรื่องความมั่งคั่งทางวัตถุ เมื่อใดก็ตามที่เรายังไม่สามารถละเรื่องนี้ได้ ก็ยังจะก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงไม่ได้"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ก็ได้ทรงเน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คือทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นบาทฐานที่นำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าทุกคนเลื่อมใสต้องพอเพียงก็ปฏิบัติเถิด เพราะถ้าปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง มันใช้ได้จริงๆ ไปได้จริงๆ แต่ว่าอาจจะไม่ค่อยสบาย นี่เป็นพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานไว้

พิพัฒน์บอกว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสอดคล้องกับหลักพุทธธรรม คือ ทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายสูงสุดที่มนุษย์พึงจะได้รับ

"ธุรกิจพึ่งตนเองได้ ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นเรื่องหนึ่ง หากมีกำลังเหลือ ก็จะทุ่มกับงานของสถาบันไทยพัฒน์ สองอย่างนี้ทำให้ผมมีความสุขแล้วครับ"

พระพรหมคุณาภรณ์สอนว่า คนเราจะพัฒนาให้เป็นคนเต็มคนได้ ต้องประกอบด้วยสามอย่างคือ เก่ง ดี และมีความสุข ถ้าเป็นคนเก่งแต่ไม่ดี ก็ทำให้โลกนี้ปั่นป่วนได้มหาศาล แต่ถ้าคนดีเป็นคนเก่งด้วย ก็จะเป็นผู้นำที่มีคุณูปการกับโลกมากมาย เพราะว่าเขามีความดีเป็นรากฐานอยู่แล้ว และที่สำคัญคนเราต้องมีความสุขให้เป็น อย่ามัวแต่เป็นคนที่คอยแสวงหาความสุขไปชั่วชีวิต เหมือนที่เห็นในโลกปัจจุบัน คนจำนวนมากมีความสามารถในการแสวงหาสิ่งที่มาสนองความต้องการของตนเพื่อให้เกิดความสุข แต่กลับสูญเสียความสามารถในการมีความสุข เขาก็จะมีความสุขยากขึ้น ทำให้ต้องยิ่งแสวงหามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ทุกวันนี้ พิพัฒน์บอกว่า มีความสุขที่ได้ทำงานซึ่งมีประโยชน์ต่อสังคม ขณะเดียวกัน ก็มีค่าตอบแทนและรายได้พอประมาณ สามารถหล่อเลี้ยงสถาบันและจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานได้ในระดับที่สมเหตุสมผล

จากธุรกิจแรกเริ่มที่ทำเรื่อง IT เมื่อตอนปี 2543 เป็นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาระบบงาน ระบบฐานข้อมูลให้แก่องค์กรต่างๆ จนระยะหลัง ก็เริ่มมาพัฒนาระบบงานในโครงการที่มิได้เป็นประโยชน์กับบริษัทใดบริษัทเดียว แต่เป็นโครงการที่สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์ เช่น โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง และโครงการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งโครงการหลังนี้ ผมและทีมงานได้ช่วยกันทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของหน่วยงานหรือบุคคลที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาพัฒนาเป็นฐานข้อมูล และระบบสืบค้นฐานข้อมูลที่สามารถเรียกใช้งานผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้โดยง่าย

ฐานข้อมูลนี้ พิพัฒน์บอกว่าเป็นจุดเริ่มต้น เป็นแหล่งข้อมูลแรกที่ได้พยายามรวบรวมข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตไว้ในที่เดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และการเรียนรู้ ขยายผลให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง

"เช่น ในภาคธุรกิจที่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มักนึกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเกษตรกรรม เป็นเรื่องของคนชนบท และเป็นเรื่องไกลตัว จึงไม่สนใจศึกษาหรือนำมาประยุกต์ใช้ หรือกรณีที่ธุรกิจมีความสนใจและเริ่มเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้วอยากนำมาปฏิบัติ แต่ไม่รู้จะนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร การศึกษาจากฐานข้อมูลนี้ ก็จะทำให้เกิดการขยายผลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปในวงกว้างมากขึ้น"

สำหรับคนในวงกว้างจะทราบได้อย่างไรว่า มีกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่สามารถศึกษาเป็นแนวทางตัวอย่าง หรือว่ามีเครื่องมือใดบ้างที่สามารถใช้ประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรและภาคธุรกิจเอกชน

"เราได้รวบรวมผลงานวิจัย และองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรและภาคธุรกิจไว้ในเว็บไซต์ โดยใช้ที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ตว่า www.sufficiencyeconomy.com"

ทุกอย่างที่ทำ พิพัฒน์บอกว่า ทำให้เรื่องของทางโลกกับทางธรรมสอดคล้องกันมากขึ้น เลยทำให้ไม่รู้สึกแปลกแยกเหมือนเมื่อก่อน

"ทุกวันนี้ เราไม่ถึงกับต้องวิ่งหาลูกค้าอย่างเอาเป็นเอาตาย จากการที่เรามีรายจ่ายอย่างพอประมาณ ทำให้เราไม่ต้องไปขวนขวายหางานเพื่อที่จะมาชดเชยกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากๆ หรือรายจ่ายที่เกินตัว เมื่อรายจ่ายมันพอดีหรือพอประมาณ เวลาเราหางาน เราก็สามารถเลือกพิจารณารับงานที่เป็นประโยชน์ได้มากกว่า ส่วนการคิดค่าตอบแทนจากการทำงาน ก็ไม่ต้องมุ่งกำไรอย่างสูงสุด แต่พอประมาณกับต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง"

นั่นคือ หัวใจของการนำธรรมะมาใช้ในธุรกิจได้อย่างพอเพียง และเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่าทำได้จริงๆ

(เรียบเรียงจากหนังสือรหัสชีวิต โดยนงนาถ ห่านวิไล และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์, 2549.)