Saturday, March 23, 2024

ตลาดข้อมูล ESG โตไม่หยุด ไต่ระดับขึ้น 2 พันล้านเหรียญ

แม้คำว่า ESG ได้พัฒนากลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองในสหรัฐ แต่ก็มิได้ทำให้นัยของเรื่อง ESG ด้อยความสำคัญลง ตรงกันข้าม ในปี ค.ศ. 2024 เราได้เห็นวิวัฒนาการอีกขั้นของการลงทุนโดยใช้ปัจจัย ESG ที่อวตารมาเป็น “การลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยน”

ตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า ขนาดของตลาดข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) จะมีมูลค่าเกิน 2 พันล้านเหรียญในปีนี้ จากที่เพิ่งทำสถิติที่ระดับ 1 พันล้านเหรียญ ในปี ค.ศ. 2021 หรือเมื่อสามปีที่แล้ว

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะอัตราการเติบโตเทียบปีต่อปี (YoY) ของตลาดข้อมูลวิจัยและบทวิเคราะห์ ESG ในปี ค.ศ. 2021 และปี ค.ศ. 2022 ที่มีอัตราสูงถึง 62% และ 42% เป็นผลพวงมาจากการออกข้อบังคับว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่ยั่งยืน (SFDR) ของสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นจุดชนวนสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของตลาดข้อมูล ESG

สำหรับอัตราการเติบโตเทียบปีต่อปี (YoY) ของตลาดข้อมูล ESG ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2023) อยู่ที่ 17% โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญ และคาดว่าจะเติบโตอีก 14% ในปีนี้ โดยแบ่งเป็นการเติบโตของตลาดข้อมูลวิจัยและบทวิเคราะห์ ESG ที่ 12% และการเติบโตของตลาดข้อมูลดัชนี ESG ที่ 19%

จะเห็นว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ที่ตลาดข้อมูล ESG มีมูลค่าอยู่เพียง 305 ล้านเหรียญ ได้มีการเติบโตเทียบปีต่อปีเพิ่มขึ้นในอัตราที่เป็นเลขสองหลักมาโดยตลอด โดยโตสูงสุดถึง 59% ในปี ค.ศ. 2021 (ปีที่ SFDR ประกาศใช้) และในปีปัจจุบัน คาดการณ์ว่าจะมีตัวเลขมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.1 พันล้านเหรียญ

ในฟากของประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศสำหรับบรรษัทขนาดใหญ่ กำลังจะพิจารณาผ่านร่างหลักเกณฑ์การรายงานสำหรับกองทุน ESG หรือเป็นการเปิดเผยข้อมูล ESG สำหรับผู้แนะนำการลงทุนและบริษัทจัดการลงทุน ซึ่งหลักเกณฑ์หลังนี้ คาดหมายว่าจะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดความต้องการในข้อมูล ESG ยิ่งขึ้นจากเดิม แม้หลักเกณฑ์แรก จะยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านกฎหมายอยู่ก็ตาม

ทั้งกรณีการออกหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของ ก.ล.ต. สหรัฐ และข้อกำหนดการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (CSRD) ของสหภาพยุโรป ได้ส่งผลให้เกิดยอดใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับซอฟต์แวร์และบริการด้านการรายงานข้อมูล ESG และสร้างโอกาสการขยายตัวแนวดิ่งของบรรดาผู้ค้าข้อมูล ESG อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากพัฒนาการด้านกฎระเบียบที่กระตุ้นให้เกิดการเติบโตของตลาดข้อมูล ESG แล้ว การครอบงำและการควบรวมกิจการ (M&A) ระหว่างผู้ให้บริการข้อมูล ESG ยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง ทั้งในแบบที่เป็นการยุบรวมระหว่างผู้ค้าในแนวราบ และในแบบที่เป็นการผนวกกิจการในแนวดิ่ง ที่ซึ่งธุรกิจข้อมูล ESG ควบรวมกับกิจการข้อมูลดัชนี หรือกับผู้ให้บริการรายงานข้อมูลกองทุน ฯลฯ

แม้คำว่า ESG ได้พัฒนากลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา แต่ก็มิได้ทำให้นัยของเรื่อง ESG ด้อยความสำคัญลง ตรงกันข้าม ในปี ค.ศ. 2024 เราได้เห็นวิวัฒนาการอีกขั้นของการลงทุนโดยใช้ปัจจัย ESG ที่อวตารมาเป็น “การลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยน” (Transition Investing) อีกหนึ่งภาค

จึงเป็นไปได้สูงที่ ยอดการลงทุนในหมวด ESG ซึ่งแสดงตัวเลขขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่ลดลงมามากในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ถูกถ่ายโอนไปอยู่ในหมวดการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนแทน

(หมายเหตุ: ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนในสหรัฐอเมริกา ลดลงจาก 17.1 ล้านล้านเหรียญ มาอยู่ที่ 8.4 ล้านล้านเหรียญ หรือลดลงกว่าร้อยละ 50 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.2020-2022 จากการรวบรวมของ GSIA)


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, March 09, 2024

เมื่อ ESG กลายเป็น License to Earn

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) หยิบเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงกว้างขณะนั้น มายกร่างเป็นมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 โดยมีภาคสังคมร่วมผลักดัน (Social-driven) เพื่อให้ภาคธุรกิจมีการประกอบการอย่างรับผิดชอบ จนเป็นที่มาของคำว่า License to Operate

CSR เป็นการนำข้อพิจารณาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาประกอบการตัดสินใจ และพร้อมรับผิดชอบในผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการตัดสินใจและการดำเนินงานดังกล่าว ด้วยความโปร่งใสและการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กฎหมายและหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล และมีลักษณะเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกบูรณาการอยู่ในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์และประโยชน์ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ (ISO26000, 2010)

รูปแบบการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร การปฏิบัติด้านแรงงาน ด้านสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม การดูแลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการตัดสินใจและการดำเนินงานขององค์กรทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มลภาวะและของเสีย ผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความรับผิดชอบในตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่มีต่อผู้บริโภค ตลอดจนการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เป็นต้น

ถัดจากนั้น ในปี ค.ศ. 2011 กระแสของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อผลกระทบทางลบที่เกิดจากการประกอบการ ได้ขยายวงไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจที่สามารถส่งผลกระทบทางบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วม (CSV) ที่คำนึงถึงการเติบโตทางธุรกิจและความก้าวหน้าทางสังคมควบคู่กัน โดยมีตลาดเป็นตัวขับ (Market-driven) จนเกิดเป็นคำว่า License to Grow

CSV เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผสานการดำเนินงานเพื่อสร้างให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับผลประโยชน์ที่สังคมกลุ่มเป้าหมายได้รับ ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จทางธุรกิจและความก้าวหน้าทางสังคมไปพร้อมกัน หรืออีกนัยหนึ่ง CSV คือ บทบาทของภาคธุรกิจที่จะร่วมพัฒนาสังคมด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน (Michael Porter and Mark Kramer, 2011)

ตัวอย่างของการสร้างคุณค่าร่วม ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ในลักษณะที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย การทานอาหารที่มีการปรุงแต่งน้อย เพื่อป้องกันมิให้เจ็บป่วย โดยจะได้รับส่วนลดเบี้ยกรมธรรม์กรณีไม่เจ็บป่วย ซึ่งต่างจากกรมธรรม์ประกันสุขภาพทั่วไปที่เน้นให้สิทธิคุ้มครองการเข้ารับการรักษาพยาบาลหลังเจ็บป่วย และเสี่ยงต่อการถูกเพิ่มเบี้ยจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ทำให้กรมธรรม์ประเภทส่งเสริมสุขภาพถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณค่าร่วมทั้งแก่ ผู้ถือกรมธรรม์ (ที่ลดโอกาสเจ็บป่วย) สังคม (ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข) และบริษัทผู้ออกกรมธรรม์ (ที่มีแนวโน้มการจ่ายค่าสินไหมทดแทนลดลง)

และในปี ค.ศ. 2021 ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ริเริ่มนำมาใช้โดยกลุ่มผู้ลงทุน (Investor-driven) สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ได้ยกระดับไปสู่การออกเป็นข้อบังคับว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่ยั่งยืน (SFDR) โดยรัฐสภายุโรป ที่กำหนดให้ผู้ออกผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่เข้าเกณฑ์ ต้องรายงานข้อมูลความยั่งยืนให้ผู้ลงทุนรับทราบ โดยมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา

ข้อบังคับ SFDR (Sustainable Finance Disclosures Regulation) ในมาตรา 6 ระบุให้มีการเปิดเผยข้อมูลการบูรณาการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนในการตัดสินใจลงทุน และข้อมูลผลกระทบจากความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่มีต่อผลตอบแทนการลงทุน ส่วนในมาตรา 8 ระบุให้มีการเปิดเผยข้อมูลการส่งเสริมลักษณะเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในผลิตภัณฑ์ทางการลงทุน และข้อมูลการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในบริษัทที่เข้าลงทุน ขณะที่ในมาตรา 9 กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่าการลงทุนที่ยั่งยืนเป็นวัตถุประสงค์และต้องมีการกำหนดดัชนีชี้วัดที่ใช้บรรลุวัตถุประสงค์โดยอธิบายให้เห็นถึงวิธีและเหตุผลซึ่งใช้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากดัชนีชี้วัดทั่วไปในตลาด

การดำเนินงานตามมาตรา 6 ถือเป็นประโยชน์ขั้นต้นที่เกิดกับผู้ลงทุนในการได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการพิจารณา ESG เป็นปัจจัยนำเข้า ส่วนการดำเนินงานตามมาตรา 8 ถือเป็นประโยชน์ขั้นกลางที่เกิดกับกิจการในการได้รับเม็ดเงินลงทุนจากการที่บริษัทให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG ในธุรกิจ ขณะที่การดำเนินงานตามมาตรา 9 ถือเป็นประโยชน์ขั้นปลายที่เกิดกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในการได้รับผลกระทบทางบวกจากการนำเอาปัจจัย ESG มาเป็นวัตถุประสงค์ของการลงทุนและผลักดันให้บริษัทที่เข้าลงทุนดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ทำให้จากนี้ไปเราจะได้เห็นกิจการที่ใส่ใจดูแลผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จะนำเรื่อง ESG มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ในลักษณะที่เสริมกับการสร้างการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพของกิจการ โดยยังส่งผลต่อมูลค่าของกิจการในทิศทางที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน เสมือนเป็น License to Earn หรือใบอนุญาตรับผลตอบแทนหรือเงินลงทุนจากการประกอบธุรกิจโดยใส่ใจเรื่อง ESG ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]