Thursday, March 20, 2014

ส่องรายงาน CSR

สิ้นเดือนมีนาคมนี้ บรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่างขมีขมันในการเตรียมจัดส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ให้เสร็จสิ้นตามกำหนดต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งในปีนี้ จะมีการเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเน้นที่การดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ปรับปรุงเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556

บริษัทจดทะเบียนจำนวนหนึ่ง เลือกใช้วิธีเปิดเผยข้อมูล CSR โดยอ้างอิงไปยังรายงานที่จัดทำแยกเล่ม ในรูปของรายงานความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือรายงานแสดงผลการดำเนินงานครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในชื่ออื่นที่เปิดเผยในเว็บไซต์ของบริษัท โดยไม่จำเป็นต้องสรุปรายละเอียดไว้ภายใต้หัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม ในแบบ 56-1 เพิ่มเติมอีก

เพื่อให้เห็นภาพรวมของการจัดทำรายงานความยั่งยืนหรือรายงานในรูปอื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน บทความนี้ จะขอนำผลการดำเนินงานจากโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืน มาประมวลให้เห็นจุดเด่น จุดด้อยในการจัดทำรายงานของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการในปี 2556 จำนวน 48 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET 43 แห่ง บริษัทจดทะเบียนในตลาด mai จำนวน 2 แห่ง และบริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 3 แห่ง

จากจำนวนของรายงานที่ส่งเข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วย รายงานความยั่งยืน/CSR ร้อยละ 77.1 และรายงานประจำปี ร้อยละ 22.9 ปรากฏผลดังนี้

ด้านความสมบูรณ์ ในหัวข้อสารัตถภาพที่คำนึงถึงประเด็น ตัวบ่งชี้ ผลกระทบที่มีสาระสำคัญ และในหัวข้อบริบทขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการรายงานในระดับดีมาก สำหรับหัวข้อกลยุทธ์ที่ให้น้ำหนักกับข้อยึดมั่นของฝ่ายบริหาร การผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าไว้ในกลยุทธ์หลักทางธุรกิจ และการวัดผลการดำเนินงาน มีการรายงานในระดับดี ส่วนหัวข้อความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย ที่เป็นเรื่องของการระบุผู้มีส่วนได้เสีย การให้ลำดับความสำคัญผู้มีส่วนได้เสีย และการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียนั้น มีการรายงานในระดับปานกลาง

เรื่องที่บริษัทส่วนใหญ่ยังขาดการรายงานหรือมีการรายงานที่ยังไม่ชัดเจน คือ การแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงานในทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่เกี่ยวโยงกับความยั่งยืน สำหรับหัวข้อที่บริษัทส่วนใหญ่ควรดำเนินการปรับปรุงและทำการรายงานเพิ่มเติม คือ การระบุผู้มีส่วนได้เสียองค์กร และการบ่งชี้ระดับของความสำคัญที่เกี่ยวโยงกับองค์กร รวมทั้งกระบวนการและรายละเอียดของการบ่งชี้และการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย

ด้านความเชื่อถือได้ ในหัวข้อกระบวนการจัดการที่เป็นเรื่องของระบบการบริหาร มาตรฐานที่นำมาใช้ และการมอบหมายผู้รับผิดชอบ หัวข้อการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับภาระรับผิดชอบ การดูแลการปฏิบัติงาน และการประเมินผลการปฏิบัติงาน หัวข้อผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย มีข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบได้และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้ และหัวข้อการสอบทานที่คำนึงถึงประเภทและระดับของการตรวจสอบ รวมทั้งหน่วยงานที่ให้ความเชื่อมั่นนั้น มีการรายงานในระดับดี ส่วนหัวข้อความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่ให้ความสำคัญกับการสานเสวนา การสนองตอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย และกระบวนการที่โปร่งใสนั้น มีการรายงานในระดับปานกลาง

เรื่องที่บริษัทส่วนใหญ่ยังมีการรายงานที่ไม่ชัดเจน คือ การกำกับดูแลในแง่ของการมอบหมายกรรมการที่รับผิดชอบในประเด็นเรื่องความยั่งยืน สำหรับในหัวข้อที่บริษัทส่วนใหญ่ ควรดำเนินการปรับปรุงและทำการรายงานเพิ่มเติม คือ การระบุและให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบและการดำเนินงานขององค์กรที่อยู่ในความสนใจและมีเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งกระบวนการในการคัดเลือกความเห็นเหล่านั้นมาเปิดเผย

ด้านการสื่อสารและนำเสนอ ในหัวข้อความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่คำนึงถึงความหลากหลายของช่องทางการเข้าถึงรายงาน การให้ความสมดุลของกลุ่มผู้ใช้รายงานที่มีความแตกต่างกัน และช่องทางการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้รายงาน ทำได้ในระดับดีมาก สำหรับหัวข้อการนำเสนอที่เน้นเรื่องความครอบคลุม ความเหมาะสม และความชัดเจนของเนื้อหารายงาน ทำได้ในระดับดี ส่วนหัวข้อโครงสร้างรายงานที่คำนึงถึงการให้บทสรุป ดัชนีข้อมูล และการอ้างอิงยังแหล่งข้อมูลหรือรายงานฉบับอื่นนั้น ทำได้ในระดับปานกลาง

ในส่วนที่บริษัทยังสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ คือ แนวการนำเสนอที่เป็นนวัตกรรม สำหรับในหัวข้อที่บริษัทส่วนใหญ่ ควรดำเนินการปรับปรุงและทำการรายงานเพิ่มเติม คือ การจัดทำเนื้อหาที่เป็นสรุปภาพรวมของรายงานหรือบทสรุปของผู้บริหารเพื่อให้ผู้ใช้รายงานที่ไม่มีเวลา สามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อหาสรุปในส่วนนี้ได้โดยกระชับและสะดวกรวดเร็ว

หวังว่า ข้อมูลข้างต้น จะเป็นประโยชน์แก่บริษัทที่กำลังจัดทำรายงานด้าน CSR อยู่ในเวลานี้ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาเนื้อหารายงานฉบับรอบปีปัจจุบันได้ไม่มากก็น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, March 06, 2014

ต่อยอด CSR เป็น CSV

แนวโน้มหนึ่งในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ที่ทางสถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวลไว้ใน 6 ทิศทาง CSR ปี 2557 คือ แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) จะถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในธุรกิจเพื่อตอบโจทย์สังคมเพิ่มมากขึ้น

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ประเมินว่าจะมีธุรกิจที่นำแนวคิด CSV มาใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และการตอบสนองต่อประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นทางสังคม ที่สร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ โดยมีผลตอบแทนทางธุรกิจเป็นสิ่งจูงใจเพิ่มมากขึ้น

แนวคิด CSV ถูกพัฒนาต่อยอดจาก CSR เชิงกลยุทธ์ โดยไมเคิล อี พอร์เตอร์ กูรูด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ร่วมกับ มาร์ค เครเมอร์ ซึ่งทั้งสองท่านได้ให้นิยามว่า คือ การนำวิธีการทางธุรกิจมาใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม โดยคำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ มาสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน

องค์กรธุรกิจที่ขับเคลื่อนแนวคิด CSV ให้เกิดเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ จะมีการนำประเด็นปัญหาสังคมมาใช้เป็นโจทย์ร่วมในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร และให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีหุ้นส่วนภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญจำเพาะในประเด็นทางสังคมนั้นๆ

ขณะที่ในบริบทของ CSR การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ จะครอบคลุมทั้งในเรื่องและประเด็นทางสังคมที่องค์กรต้องปฏิบัติตามกฎหมายเป็นพื้นฐาน รวมถึงเรื่องและประเด็นที่สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการคาดหวังให้องค์กรดำเนินการ โดยไม่จำกัดว่าเรื่องนั้น องค์กรจะมีสินทรัพย์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่หรือไม่ก็ตาม แนวคิด CSV จึงมิได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาทดแทนเรื่อง CSR หรือเรื่องความยั่งยืน

การขับเคลื่อน CSV จึงมีความแตกต่างกับเรื่อง CSR เชิงกลยุทธ์ และ Philanthropy เริ่มจากแรงจูงใจที่องค์กรต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มิใช่เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงความใจบุญที่มีต่อชุมชน หรือแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย

ส่วนทรัพยากรที่ใช้ในการขับเคลื่อน CSV ก็อยู่ในงบประมาณปกติขององค์กร มิได้ถูกเจียดออกมาเป็นเงินทุนสนับสนุนในรูปของเงินให้เปล่าหรือเงินบริจาค หรือจัดสรรแยกออกมาเป็นงบ CSR ต่างหาก

ในแง่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ การขับเคลื่อนเรื่อง CSV เป็นการทำงานข้ามสายงานที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในทุกๆ ส่วนงาน มิได้จำกัดอยู่เพียงแผนก CSR หรือ แผนกความยั่งยืน หรือขึ้นอยู่กับองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปของมูลนิธิแยกต่างหากจากการดำเนินงานของกิจการ

ซึ่งรูปแบบที่ปรากฏในการขับเคลื่อน CSV มักจะให้ผลเป็นตัวแบบใหม่ทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดความสามารถในการทำกำไรระยะยาว มากกว่าเป็นเพียงแผนงาน โครงการ หรือความริเริ่ม ที่มุ่งสร้างค่าความนิยม หรือชื่อเสียง และการยอมรับจากสังคม ทั้งนี้ สังคมจะได้รับการแก้ปัญหาที่ยืนยาวจากการขับเคลื่อน CSV นอกเหนือจากการได้รับทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการบริจาค หรือทรัพยากรที่ดีขึ้นจากกิจกรรม CSR ขององค์กร

สำหรับองค์กรที่สนใจในการนำแนวคิด CSV ไปใช้ อาจริเริ่มดำเนินการในระดับที่ต่างกันตามแต่ละองค์กร ขึ้นกับความพร้อมของทรัพยากรและเงื่อนไขที่องค์กรมีอยู่ในขณะนั้นว่าสอดคล้องกับระดับที่เป็นการส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมโดยตรงผ่านทางตัวสินค้าและบริการ หรือเป็นการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า หรือเป็นการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น เช่น การสร้างงาน การสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน สวัสดิการสังคม

โดยองค์กรต้องสามารถที่จะระบุตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคมให้สอดคล้องกับระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่ดำเนินการ เพื่อใช้กำหนดทิศทางในการตอบโจทย์การสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมได้อย่างชัดเจน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]