สิ้นเดือนมีนาคมนี้ บรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่างขมีขมันในการเตรียมจัดส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ให้เสร็จสิ้นตามกำหนดต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งในปีนี้ จะมีการเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเน้นที่การดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ปรับปรุงเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556
บริษัทจดทะเบียนจำนวนหนึ่ง เลือกใช้วิธีเปิดเผยข้อมูล CSR โดยอ้างอิงไปยังรายงานที่จัดทำแยกเล่ม ในรูปของรายงานความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือรายงานแสดงผลการดำเนินงานครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในชื่ออื่นที่เปิดเผยในเว็บไซต์ของบริษัท โดยไม่จำเป็นต้องสรุปรายละเอียดไว้ภายใต้หัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม ในแบบ 56-1 เพิ่มเติมอีก
เพื่อให้เห็นภาพรวมของการจัดทำรายงานความยั่งยืนหรือรายงานในรูปอื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน บทความนี้ จะขอนำผลการดำเนินงานจากโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืน มาประมวลให้เห็นจุดเด่น จุดด้อยในการจัดทำรายงานของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการในปี 2556 จำนวน 48 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET 43 แห่ง บริษัทจดทะเบียนในตลาด mai จำนวน 2 แห่ง และบริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 3 แห่ง
จากจำนวนของรายงานที่ส่งเข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วย รายงานความยั่งยืน/CSR ร้อยละ 77.1 และรายงานประจำปี ร้อยละ 22.9 ปรากฏผลดังนี้
ด้านความสมบูรณ์ ในหัวข้อสารัตถภาพที่คำนึงถึงประเด็น ตัวบ่งชี้ ผลกระทบที่มีสาระสำคัญ และในหัวข้อบริบทขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการรายงานในระดับดีมาก สำหรับหัวข้อกลยุทธ์ที่ให้น้ำหนักกับข้อยึดมั่นของฝ่ายบริหาร การผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าไว้ในกลยุทธ์หลักทางธุรกิจ และการวัดผลการดำเนินงาน มีการรายงานในระดับดี ส่วนหัวข้อความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย ที่เป็นเรื่องของการระบุผู้มีส่วนได้เสีย การให้ลำดับความสำคัญผู้มีส่วนได้เสีย และการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียนั้น มีการรายงานในระดับปานกลาง
เรื่องที่บริษัทส่วนใหญ่ยังขาดการรายงานหรือมีการรายงานที่ยังไม่ชัดเจน คือ การแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงานในทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่เกี่ยวโยงกับความยั่งยืน สำหรับหัวข้อที่บริษัทส่วนใหญ่ควรดำเนินการปรับปรุงและทำการรายงานเพิ่มเติม คือ การระบุผู้มีส่วนได้เสียองค์กร และการบ่งชี้ระดับของความสำคัญที่เกี่ยวโยงกับองค์กร รวมทั้งกระบวนการและรายละเอียดของการบ่งชี้และการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย
ด้านความเชื่อถือได้ ในหัวข้อกระบวนการจัดการที่เป็นเรื่องของระบบการบริหาร มาตรฐานที่นำมาใช้ และการมอบหมายผู้รับผิดชอบ หัวข้อการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับภาระรับผิดชอบ การดูแลการปฏิบัติงาน และการประเมินผลการปฏิบัติงาน หัวข้อผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย มีข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบได้และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้ และหัวข้อการสอบทานที่คำนึงถึงประเภทและระดับของการตรวจสอบ รวมทั้งหน่วยงานที่ให้ความเชื่อมั่นนั้น มีการรายงานในระดับดี ส่วนหัวข้อความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่ให้ความสำคัญกับการสานเสวนา การสนองตอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย และกระบวนการที่โปร่งใสนั้น มีการรายงานในระดับปานกลาง
เรื่องที่บริษัทส่วนใหญ่ยังมีการรายงานที่ไม่ชัดเจน คือ การกำกับดูแลในแง่ของการมอบหมายกรรมการที่รับผิดชอบในประเด็นเรื่องความยั่งยืน สำหรับในหัวข้อที่บริษัทส่วนใหญ่ ควรดำเนินการปรับปรุงและทำการรายงานเพิ่มเติม คือ การระบุและให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบและการดำเนินงานขององค์กรที่อยู่ในความสนใจและมีเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งกระบวนการในการคัดเลือกความเห็นเหล่านั้นมาเปิดเผย
ด้านการสื่อสารและนำเสนอ ในหัวข้อความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่คำนึงถึงความหลากหลายของช่องทางการเข้าถึงรายงาน การให้ความสมดุลของกลุ่มผู้ใช้รายงานที่มีความแตกต่างกัน และช่องทางการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้รายงาน ทำได้ในระดับดีมาก สำหรับหัวข้อการนำเสนอที่เน้นเรื่องความครอบคลุม ความเหมาะสม และความชัดเจนของเนื้อหารายงาน ทำได้ในระดับดี ส่วนหัวข้อโครงสร้างรายงานที่คำนึงถึงการให้บทสรุป ดัชนีข้อมูล และการอ้างอิงยังแหล่งข้อมูลหรือรายงานฉบับอื่นนั้น ทำได้ในระดับปานกลาง
ในส่วนที่บริษัทยังสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ คือ แนวการนำเสนอที่เป็นนวัตกรรม สำหรับในหัวข้อที่บริษัทส่วนใหญ่ ควรดำเนินการปรับปรุงและทำการรายงานเพิ่มเติม คือ การจัดทำเนื้อหาที่เป็นสรุปภาพรวมของรายงานหรือบทสรุปของผู้บริหารเพื่อให้ผู้ใช้รายงานที่ไม่มีเวลา สามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อหาสรุปในส่วนนี้ได้โดยกระชับและสะดวกรวดเร็ว
หวังว่า ข้อมูลข้างต้น จะเป็นประโยชน์แก่บริษัทที่กำลังจัดทำรายงานด้าน CSR อยู่ในเวลานี้ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาเนื้อหารายงานฉบับรอบปีปัจจุบันได้ไม่มากก็น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, March 20, 2014
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment