Saturday, September 24, 2022

ความเชื่อมโยงระหว่าง ESG กับ Bottom Line ของกิจการ

ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่มารุมเร้าทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะชะงักงันในสายอุปทาน ปัญหาเงินเฟ้อโลก ความผันผวนของค่าเงิน และจากปัจจัยภายในที่เป็นผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อพนักงาน ลูกค้า ชุมชนอันเป็นแหล่งที่ตั้งของสถานประกอบการ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นอย่างมาก จนเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งที่ถูกบรรจุเป็นหลักเกณฑ์ในการขอสินเชื่อของธนาคาร พัฒนาเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบของผู้ลงทุนสถาบัน เป็นปัจจัยใหม่ในการตัดสินใจจับจ่ายของลูกค้า และกลายมาเป็นข้อพิจารณาในการสมัครเข้าทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เป็นต้น

มัวร์ โกลบอล กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและการบัญชี อายุกว่า 100 ปี ซึ่งมีสำนักงานกระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ ได้ให้ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจ (Cebr) ทำการสำรวจอัตราการรับเอาหลักการ ESG ของกิจการขนาดใหญ่จำนวน 1,262 แห่งในสามภูมิภาคหลัก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปี พ.ศ.2565 โดยวิเคราะห์อิทธิพลที่มีต่อผลประกอบการ เทียบกับกิจการที่มิได้ให้ความสำคัญต่อการนำเอาหลักการ ESG ไปปฏิบัติใช้

ผลสำรวจในรายงานที่มีชื่อว่า The $4 Trillion ESG Dividend: Bottom line benefits of adopting ESG practices ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน พบว่า กิจการที่เน้นเรื่อง ESG ในรอบสามปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 9.7% ขณะที่กิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 4.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน

โดยยอดรายได้ที่เพิ่มขึ้นของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG ในกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ มีมูลค่าอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับกิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG จะเติบโตอยู่เพียง 402.4 พันล้านเหรียญ

ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่า หากกิจการทั้งหมดที่ทำการสำรวจ หันมาเน้นเรื่อง ESG อย่างถ้วนหน้า ยอดรายได้ที่เติบโตขึ้นจะขยับไปอยู่ที่ 4 ล้านล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นอีก 27%

ส่วนอัตราการเติบโตของกำไร สำหรับกิจการที่เน้นเรื่อง ESG ในรอบสามปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 9.1% ขณะที่กิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่ 3.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน

หนึ่งในเหตุผลที่ยอดรายได้และกำไรมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG เป็นเพราะ 83%ของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG เชื่อว่า การนำเอาเรื่อง ESG มาขับเคลื่อนธุรกิจ ได้ช่วยเพิ่มการคงอยู่ของลูกค้า (Customer Retention)

และแน่นอนว่า การรับเอาเรื่อง ESG มาปฏิบัติใช้ มิได้เกิดขึ้นโดยปราศจากต้นทุน โดยกิจการชั้นนำที่ถูกสำรวจ รายงานว่า ได้มีการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณในการดำเนินการ จึงทำให้อัตราการเติบโตของกำไร มีตัวเลขที่ต่ำกว่าการเติบโตของรายได้อยู่เล็กน้อย

อย่างไรก็ดี 84% ของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG ระบุต่อว่า ค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับการปรับปรุงพัฒนาเรื่อง ESG ได้ถูกชดเชยด้วยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

ในแง่ของบุคลากร จากข้อมูลการสำรวจ พบว่า กิจการที่เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของกำลังคน (Headcount) อยู่ที่ 9.9% ขณะที่กิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของกำลังคนอยู่ที่ 4.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

เหตุผลที่อัตราการเติบโตของกำลังคนสูงกว่ากิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG เป็นเพราะ 51% ของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG มีตำแหน่งงานเฉพาะด้าน ESG รองรับในผังองค์กร และมีโอกาสการบรรจุบุคลากรในตำแหน่งงานทั่วไปที่ว่างลง เนื่องจากสามารถดึงดูดผู้สมัครงานใหม่ที่มีคุณสมบัติ จากภาพลักษณ์ด้าน ESG ที่องค์กรดำเนินการและเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ

ผลสำรวจชิ้นล่าสุดนี้ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ESG กับ Bottom Line ทางธุรกิจ ซึ่งกิจการยากที่จะปฏิเสธว่า การดำเนินงานเรื่อง ESG ไม่มีส่วนสัมพันธ์ในทางที่ไปเสริมรายได้หรือผลกำไร (หลายกิจการปัจจุบัน มองว่าเป็นภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายทางเดียว) และยังอาจสูญเสียโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งการได้บุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานกับองค์กร


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 10, 2022

มาตรฐาน GRI กับความเข้าใจผิดเรื่องความยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจทั่วโลก ต่างให้ความสนใจกับการดำเนินงานโดยคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่เป็นปัจจัยความยั่งยืนอันส่งผลต่อสถานะของกิจการ ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่า เรื่องความยั่งยืน มิได้เป็นเพียงความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการ แต่ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจและตลาดใหม่ที่เอื้อต่อการเติบโตของกิจการ

การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในกิจการโดยทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ การวางแผน การดำเนินการ และการเปิดเผยผลการดำเนินงาน ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่นิยมใช้ คือ การใช้กระบวนการรายงานตามมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) ในการขับเคลื่อน ด้วยความที่เป็นวิธีซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เพราะเป็นการคิดย้อนกลับจากผลการดำเนินงานที่คาดหวังก่อนล่วงหน้า เพื่อนำมาใช้กำกับทิศทางการดำเนินการผ่านตัวชี้วัดที่ระบุให้สอดคล้องกับผลที่คาดหวัง และย้อนมาสู่การกำหนดกรอบการทำงาน นโยบาย และกลยุทธ์ ก่อนที่จะดำเนินงาน

เป็นการหาคำตอบด้านความยั่งยืนที่ต้องการบรรลุในบริบทของกิจการ แล้วนำมาตั้งเป็นโจทย์สำหรับการขับเคลื่อนได้อย่างตรงจุด มากกว่าการกำหนดเป็นนโยบายหรือหลักการด้านความยั่งยืนแล้วถ่ายทอดลงไปในระดับปฏิบัติการให้ดำเนินการหรือกำหนดตัวชี้วัดกันเองในแต่ละฝ่าย

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ KPMG ระบุว่า มาตรฐาน GRI เป็นมาตรฐานสากลที่ภาคธุรกิจนิยมใช้มากสุด โดยมีสัดส่วนราว 3 ใน 4 ของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม G250 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500)

อย่างไรก็ดี องค์กรธุรกิจหลายแห่งที่นำมาตรฐาน GRI มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

ความเข้าใจผิด #1 มาตรฐาน GRI ใช้สำหรับเขียนรายงานความยั่งยืน ตอนสิ้นปี

ที่ถูก คือ มาตรฐาน GRI มุ่งเน้นให้กิจการสามารถพัฒนากระบวนการรายงาน (Reporting) ขึ้นในองค์กร มิใช่มาตรฐานแนวทางในการเรียบเรียงเนื้อหารายงานเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เพราะหลักการสำคัญของ GRI คือ การบูรณาการเรื่องความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการผ่านกระบวนการรายงาน

ในมาตรฐาน GRI คำว่า การรายงานความยั่งยืน อ้างถึงกระบวนการรายงานที่เริ่มตั้งแต่การกำหนดประเด็นสาระสำคัญ (Material Topics) ของกิจการ โดยพิจารณาจากผลกระทบที่มีนัยสำคัญที่สุดขององค์กร ไปจนถึงผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลซึ่งเปิดเผยแก่สาธารณะต่อการดำเนินงานกับผลกระทบเหล่านั้นในรอบปี ดังนั้น การใช้มาตรฐาน GRI จึงต้องเริ่มตั้งแต่ต้นปี

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การนำมาตรฐาน GRI ไปใช้อ้างอิง กิจการจะได้ “กระบวนการรายงาน” เป็น Product และได้ “เล่มรายงาน” เป็น By-product

ความเข้าใจผิด #2 บริษัทต้องดำเนินการและรายงานให้ครบถ้วนทุกประเด็นความยั่งยืน

ที่ถูก คือ กิจการต้องดำเนินงานและรายงานในประเด็นความยั่งยืนที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีนัยสำคัญโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการในทุกประเด็น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดบนเงื่อนไขของทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ความสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการเลือกประเด็นที่สำคัญเพื่อดำเนินการ มากกว่าความสามารถในการเปิดเผยประเด็นทั้งหมดที่ได้ดำเนินการ

หลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ สามารถใช้กับการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของกิจการ ที่มิใช่การดำเนินการให้ดูครบทั้ง 17 เป้าประสงค์ (Goals) แต่ควรจะเลือกตอบสนองเฉพาะเป้าประสงค์ที่มีความเกี่ยวโยงกับลักษณะธุรกิจและนัยสำคัญของผลกระทบที่เกิดจากกิจการ โดยลงลึกไปถึงระดับเป้าหมาย (Targets) และระดับตัวชี้วัด (Indicators) ที่เกี่ยวข้อง

ในมาตรฐาน GRI ระบุให้กิจการควรกำหนดประเด็นสาระสำคัญสำหรับการรายงาน ด้วยการเข้าใจบริบทองค์กร การระบุผลกระทบที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้น การประเมินนัยสำคัญของผลกระทบ และการจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบที่มีนัยสำคัญที่สุดสำหรับการรายงาน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ตามมาตรฐาน GRI กิจการไม่จำเป็นต้องรายงานใน “ทุกเรื่อง” แต่ต้องดำเนินการและรายงานให้ “ถูกเรื่อง”

ความเข้าใจผิด #3 บริษัทต้องให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ

เรื่องนี้มีความเข้าใจผิดกันมาก ในหมู่ที่ปรึกษา นักวิชาชีพด้านความยั่งยืน แม้กระทั่งองค์กรผู้จัดทำรายงานที่เป็นบริษัทชั้นนำ ก็ยังมีการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่คลาดเคลื่อน โดยไปให้น้ำหนักกับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ

ที่ถูก คือ กิจการต้องจัดลำดับความสำคัญของประเด็นโดยให้น้ำหนักกับผลกระทบที่เกิดจากธุรกิจที่มีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (People และ Planet) ในลักษณะที่มุ่งไปภายนอก (Outwards) มิใช่การให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนที่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท (Profit) ในลักษณะที่มุ่งมาภายใน (Inwards)

ในมาตรฐาน GRI ระบุว่า กิจการอาจระบุผลกระทบที่ต้องการรายงานได้ในหลายรูปแบบ แต่เมื่อใช้มาตรฐาน GRI กิจการต้องลำดับความสำคัญของการรายงานในประเด็นซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ในมาตรฐาน GRI นิยามประเด็นดังกล่าวว่า เป็นประเด็นสาระสำคัญของกิจการ

เพราะวัตถุประสงค์ของการรายงานความยั่งยืนโดยใช้มาตรฐาน GRI เน้นให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานของกิจการ ที่สนับสนุนหรือมุ่งตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ในบริบทความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI กิจการต้องให้ความสำคัญในเรื่องที่ “เรากระทบโลก” มิใช่ในเรื่องที่ “โลกกระทบเรา”

หวังว่า บทความนี้ จะช่วยไขความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่องค์กรธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนอย่างถูกทิศทาง สมตามเจตนารมณ์ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากมาตรฐาน GRI ไม่มากก็น้อย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]