Sunday, August 18, 2019

ตลาดทุน 4.0

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความยั่งยืนในตลาดทุนและภาคการเงิน 3 งานไล่เลี่ยกัน เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวในเรื่องการลงทุน-การเงินที่ยั่งยืนในบ้านเรา ที่องค์กรในภาคดังกล่าว ทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน และบรรดาผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ต้องพิจารณาปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นกระแสใหญ่ของภาคการเงินและตลาดทุนโลกไม่มากก็น้อย

เริ่มจากงาน “Bangkok Sustainable Banking Forum 2019” (13 ส.ค.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการสื่อสารไปยังสถาบันการเงินต่างๆ ในฐานะผู้จัดสรรทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ต่อบทบาทในการเสริมสร้างความยั่งยืนทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม และการร่วมจัดการกับความท้าทายและปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)


ในงานนี้ 15 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย ตกลงร่วมกันที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ 4 ข้อ คือ การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Leadership and Responsible Lending Commitment) การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน (Internal Implementation Mechanisms) และมีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล (Transparency)

ธนาคารพาณิชย์ 15 ราย ที่ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารยูโอบี ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

ถัดมาเป็นงานเปิด “โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ” (14 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องการเชิญชวนให้องค์กรในตลาดทุน ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม บูรณาการเข้าไปอยู่ในการประกอบธุรกิจ (in-process) และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประชาคมโลก


ในงานนี้ 13 องค์กรในตลาดทุน ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะมุ่งสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล ด้วยการที่องค์กรแต่ละแห่ง จะเลือกเรื่องที่ต้องการดำเนินการตามบทบาทของแต่ละหน่วยงาน กำหนดเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ และรายงานความคืบหน้าในแต่ละปี โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

องค์กรในตลาดทุน 13 แห่ง ที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

งานที่สาม เป็น “การประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (ESG Collaborative Engagement) ของนักลงทุนสถาบัน” (15 ส.ค.) ที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ต้องการริเริ่มผลักดันแนวปฏิบัติการระงับลงทุน (Negative List Guideline) ในบริษัทจดทะเบียนที่มีประเด็นปัญหา ESG ด้วยหลักการกำหนดรายชื่อบริษัทที่นักลงทุนสถาบันจะไม่เข้าลงทุนเพิ่ม ภายหลังการเข้ามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและฟื้นมูลค่าการลงทุนในบริษัทที่ลงทุน ไม่สำเร็จ (เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ข้อที่ 4: Escalating Investee Companies)


ในงานนี้ ผู้ลงทุนสถาบัน 32 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท ได้ร่วมกันลงนามรับแนวปฏิบัติการระงับลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีประเด็นปัญหา ESG ดังกล่าว ไปดำเนินการ โดยตกลงร่วมกันที่จะไม่เข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทที่มีปัญหานั้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือจนกว่าจะแก้ไขปัญหาสำเร็จ เพื่อผลักดันให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักการ ESG ต่อไป

ผู้ลงทุนสถาบันที่ร่วมลงนาม 32 ราย ประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำนักงานประกันสังคม (สปส) บลจ. กรุงไทย บลจ. กรุงศรี บลจ. กสิกรไทย บลจ. ทหารไทย บลจ. ทาลิส บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. ธนชาต บลจ. บัวหลวง บลจ. บางกอกแคปปิตอล บลจ. พรินซิเพิล บลจ. ฟิลลิป บลจ. ภัทร บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บลจ. วรรณ บลจ. วี บลจ. สยาม ไนท์ ฟันด์ แมเนจเม้นท์ บลจ. อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) บลจ. อินโนเทค บลจ. เอ็มเอฟซี บลจ. แอสเซท พลัส บมจ. กรุงเทพประกันชีวิต บมจ. พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต บมจ. ไทยประกันชีวิต บมจ. ไทยรีประกันชีวิต บมจ. ไทยสมุทรประกันชีวิต บมจ. เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต บจก. เอไอเอ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, August 04, 2019

ธนาคาร ยุค ESG เริ่มแล้ว

การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของภาคเอกชน ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้ได้ผลเต็มที่ ยากที่จะสำเร็จได้ด้วยการทำงานแบบเป็นเอกเทศโดยองค์กรเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีภาคีร่วมดำเนินงานจากภายนอก

รูปแบบของหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานที่ปรากฎในปัจจุบัน จำแนกได้เป็นสามจำพวกหลัก ได้แก่ หุ้นส่วนในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain partnerships) ด้วยความร่วมมือระหว่างกิจการภายในห่วงโซ่คุณค่า จะเป็นการสานทักษะ เทคโนโลยี และทรัพยากร และนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ สู่ตลาด ความริเริ่มในสาขาอุตสาหกรรม (Sector initiatives) ที่ใช้เป็นแหล่งรวมผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานและข้อปฏิบัติทั่วทั้งอุตสาหกรรม และฟันฝ่าอุปสรรคความท้าทายที่มีร่วมกัน หุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi-stakeholder partnerships) ที่ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม จะมาเสริมแรงในการจัดการกับปัญหาความท้าทายที่ซับซ้อน

ในแวดวงธนาคารของไทย ได้มีความตื่นตัวในการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่เป็นสายงานหลัก โดยเฉพาะสายงานการลงทุน และการให้สินเชื่อ โดยใช้แนวปฏิบัติที่เป็นภายในของแต่ละธนาคารเอง รวมทั้งแนวทางที่พึงปฏิบัติอันเกิดจากการผลักดันของหน่วยงานกำกับดูแล

ในเดือนหน้า (22-23 ก.ย.) จะมีการประกาศ “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” หรือ “Principles for Responsible Banking” โดยหน่วยงานภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP Finance Initiative) ซึ่งจัดว่าเป็นความริเริ่มในสาขาอุตสาหกรรม (Sector initiatives) ที่สำคัญในแวดวงธนาคาร และได้มีธนาคารชั้นนำทั่วโลกจำนวน 30 แห่ง เข้าชื่อเป็นธนาคารร่วมก่อการ (Founding Banks) ที่พร้อมสนับสนุนหลักการดังกล่าว

The 30 Founding Banks

100+ Additional banks that have committed to becoming Signatories of the Principles

หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยหลักการที่เป็นการปรับแนวทาง (Alignment) ผลกระทบและการกำหนดเป้าหมาย (Impact & Target Setting) ลูกค้าประจำและผู้ใช้บริการ (Clients & Customers) ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ธรรมาภิบาลและการปลูกฝังวัฒนธรรม (Governance & Culture) ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ (Transparency & Accountability) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หลักการที่ 1 ธนาคารจะปรับกลยุทธทางธุรกิจให้สอดคล้องและเอื้อต่อความจำเป็นพื้นฐานของบุคคลและเป้าประสงค์ของสังคม ตามที่ระบุในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Agreement) และกรอบอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ

หลักการที่ 2 ธนาคารจะเพิ่มระดับของผลกระทบเชิงบวก พร้อมกันกับลดระดับของผลกระทบเชิงลบอย่างต่อเนื่อง และจัดการกับความเสี่ยงที่มีต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์ บริการ และการดำเนินงานของธนาคาร เพื่อการนี้ ธนาคารจะมีการกำหนดและเผยแพร่เป้าหมายที่ธนาคารสามารถสร้างผลกระทบที่มีนัยสำคัญสูงสุด

หลักการที่ 3 ธนาคารจะให้บริการลูกค้าที่เป็นคู่สัญญาของธนาคารและลูกค้าที่เป็นผู้ใช้บริการทั่วไปอย่างรับผิดชอบ เพื่อผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน และเปิดทางให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งแก่คนรุ่นปัจจุบันและในรุ่นต่อไป

หลักการที่ 4 ธนาคารจะปรึกษาหารือ สานสัมพันธ์ และเป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ในเชิงรุกและอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าประสงค์ทางสังคม

หลักการที่ 5 ธนาคารจะแปลงข้อผูกพันที่ได้เห็นพ้องตามหลักการ ไปดำเนินการให้เกิดผล ผ่านการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลและการปลูกฝังให้เป็นวัฒนธรรมแห่งธนาคารที่รับผิดชอบ

หลักการที่ 6 ธนาคารจะมีการทบทวนแนวทางการปฏิบัติตามหลักการ ทั้งในระดับปัจเจกและในระดับกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ มีความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ต่อผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในตอบสนองเป้าประสงค์ทางสังคม

ธนาคารของไทย ที่อยากจะเข้าร่วมลงนามรับหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ฉบับที่เป็นสากลนี้ และแสดงความจำนงภายใน 22 สิงหาคมนี้ จะได้มีโอกาสเข้าร่วมในการเปิดตัว Principles for Responsible Banking ในเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly) ณ นครนิวยอร์ก ในช่วงระหว่างวันที่ 22-23 กันยายนนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]