Tuesday, December 25, 2007

รัฐบาลใหม่กับปัญหาสินบนและความโปร่งใส

กรณีตำรวจนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา จับกุมตัวนายเจอรัลด์ กรีน นักธุรกิจชาวอเมริกันวัย 75 ปี และนางแพทริเซีย ภรรยาวัย 52 ปี เจ้าของบริษัท ฟิล์ม เฟสติวัล แมนเนจเมนท์ ในข้อหาจ่ายเงินสินบนมากกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์ หรือ 56 ล้านบาท ให้กับอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อให้ได้สิทธิจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ หรือ Bangkok International Film Festival (BKK IFF) ในช่วงระหว่างปี 2545-2549 ได้กลายเป็นข่าวร้อน และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย ในสายตาของนานาชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากข่าวชิ้นนี้ ทำให้นึกไปถึงผลสำรวจการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index-CPI) ประจำปี พ.ศ.2550 ที่เพิ่งประกาศโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI) ซึ่งพบว่าประเทศไทยได้ 3.3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 84 จากทั้งหมด 179 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 11 จาก 22 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย

การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันในปี พ.ศ.2550 นี้ ได้จัดอันดับจากประเทศต่างๆ จำนวน 179 ประเทศทั่วโลก ใช้ผลการสำรวจจากแหล่งข้อมูล 14 แห่ง ที่ได้ดำเนินการสำรวจในปี พ.ศ 2549 และ 2550 ผลการจัดอันดับประจำปี 2550 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 84 (3.3 คะแนน) จากทั้งหมด 179 ประเทศทั่วโลกตกจากอันดับที่ 63 (3.6 คะแนน) ในปี 2549 และอันดับที่ 59 (3.8 คะแนน) ในปี 2548


ตารางแสดงค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย ปี 38-50

ปีคะแนนอันดับจำนวนประเทศ
503.3084179
493.6063163
483.8059159
473.6064146
463.3070133
453.2064102
443.206191
433.206090
423.206898
413.006185
403.063952
393.333754
382.793441
ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก www.transparency-thailand.org


ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เป็นตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ และมหาวิทยาลัย Gottingen ในประเทศเยอรมนี และได้ใช้สำรวจเพื่อจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา ในการจัดอันดับตัวชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ให้นิยามว่า คอร์รัปชัน หมายถึง "การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน"

ดังนั้น การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศต่างๆ จึงไม่ได้รวมถึงปัญหาคอร์รัปชันในภาคธุรกิจ ลักษณะคำถามที่ใช้ในการสำรวจเป็นคำถามเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ การเบียดบังทรัพย์สินของรัฐและการใช้งบประมาณผิดประเภท

ข้อมูลที่ใช้การวิเคราะห์ CPI ได้มาจากการวิเคราะห์ผลการสำรวจของหน่วยงานวิจัย ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เช่น Economist Intelligence Unit สำนักแกลลัปโพลล์ สถาบันเพื่อการพัฒนาการบริหารการจัดการ ที่ปรึกษาความเสี่ยงทางธุรกิจและทางการเมือง Political Risk Services World Development Report World Economic Forum และ Harvard Institute for International Development โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี เพื่อที่จะลดค่าความเบี่ยงเบนของคะแนนให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ ค่าคะแนนของ CPI เริ่มตั้งแต่ 0 คะแนน ถึง 10 คะแนน โดย 0 คะแนน เป็นคะแนนต่ำสุด หมายถึง ภาพลักษณ์คอร์รัปชันสูงสุด ส่วน 10 คะแนน เป็นคะแนนสูงสุดหมายถึง มีภาพลักษณ์คอร์รัปชันน้อยที่สุด หรือมีภาพความโปร่งใสสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดดังกล่าวมิใช่การวัดระดับปริมาณของคอร์รัปชัน แต่เป็นการวัด "ภาพลักษณ์" ของคอร์รัปชัน ซึ่งได้จากการรับรู้หรือจากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจเท่านั้น ดังนั้น ค่าคะแนนที่ได้จึงเป็นตัวชี้วัดภาพลักษณ์ของคอร์รัปชันโดยรวมของประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันตามหน่วยงานที่เป็นแหล่งข้อมูล

ยังมีอีกหนึ่งดัชนีที่จัดทำขึ้นโดยองค์กร เพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เรียกว่า ดัชนีบ่งชี้ผู้จ่ายสินบน (Bribe Payers Index หรือ BPI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างในภาคเอกชนต่อพฤติกรรมการจ่ายสินบนขององค์กรธุรกิจในประเทศต่างๆ โดยผลการสำรวจในปีล่าสุด (2549) ระบุว่า บริษัทสัญชาติไต้หวัน ตุรกี รัสเซีย จีน และอินเดีย มีพฤติกรรมการจ่ายสินบนมากที่สุด

สำหรับกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนในระดับสูง หรือมีภาพลักษณ์ว่ามีพฤติกรรมการจ่ายสินบนน้อยที่สุด ได้แก่ บริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย ออสเตรีย แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ขณะที่ประเทศไทยเองยังไม่อยู่ใน 30 ประเทศ ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติทำการสำรวจ แต่เป็นหนึ่งใน 125 ประเทศผู้ให้ข้อมูล โดยมีผู้ตอบจำนวน 46 ตัวอย่างจากประเทศไทย จากผลสำรวจทั้งหมด 11,232 ตัวอย่าง

การสำรวจดัชนีบ่งชี้ผู้จ่ายสินบน จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2542 และครั้งที่สองในปี 2545 การให้คะแนนมีค่าระหว่าง 0 ถึง 10 คะแนน โดยคะแนนเต็ม หมายถึง มีภาพลักษณ์ว่าไม่มีพฤติกรรมการจ่ายสินบนเลย และประเทศที่ได้คะแนนน้อยหรือไม่มีคะแนนเลย หมายถึง มีภาพลักษณ์ว่ามีพฤติกรรมการจ่ายสินบนมากสุด

ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงอยากเสนอให้บรรจุภารกิจในการเพิ่มคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ด้วยการเลือกผู้บริหารในคณะรัฐบาลและออกนโยบายในการบริหารประเทศอย่างโปร่งใส มิฉะนั้นแล้ว ในปี 2551 ประเทศไทยอาจจะมีอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เป็นเลขสามหลักทำลายสถิติในรอบ 14 ปีก็เป็นได้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Monday, December 24, 2007

6 ชนิดกิจกรรมเพื่อสังคม

สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองในเทศกาลตรุษฝรั่ง ชาวไทยเชื้อสายฝรั่ง หรือผู้ที่มีความผูกพันอยู่กับคุณค่าหรือวัฒนธรรมตะวันตก ก็จะได้มีโอกาสอยู่ร่วมกับครอบครัวในวันคริสต์มาส เป็นวันที่ได้มีโอกาสประกอบคุณงามความดีให้แก่ตนเองและแก่ครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบุพการี รวมทั้งญาติสนิทมิตรสหาย กระทั่งคนที่เราอยากจะช่วยเหลือแบ่งปันความสุขในระหว่างเทศกาลนี้ร่วมกัน

เรื่องราวของการทำความดีตามประสาซีเอสอาร์ในสัปดาห์นี้ จึงขอคลุกเคล้าด้วยเนื้อหากลิ่นอายฝรั่ง ว่าด้วยชนิดของกิจกรรมเพื่อสังคมที่องค์กรธุรกิจสามารถศึกษาและนำไปใช้ในองค์กรได้ โดยที่ ศ. ฟิลิป คอตเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น และแนนซี่ ลี อาจารย์สมทบแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยาลัยซีแอตเติล ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดที่หันมาศึกษาเรื่องซีเอสอาร์อย่างจริงจัง จนตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Corporate Social Responsibility ได้จำแนกรูปแบบของซีเอสอาร์ไว้เป็น 6 ชนิดกิจกรรม...(อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs 20IDEAs) External Link [Archived]

ในวารดิถีวันตรุษฝรั่งนี้ ขอให้ผู้อ่านคอลัมน์ 20CEOs 20IDEAs ทุกท่าน จงมีแต่สันติสุขและความสงบทางใจ สมกับคำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ พร้อมกับแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้ที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในองค์กร เพียงเท่านี้ ก็เรียกได้ว่ามีซีเอสอาร์ในหัวใจกันแล้วครับ...
Merry CSR 2008.

Wednesday, December 19, 2007

วันนี้เรามีระบบสุขภาพพอเพียงแล้วหรือยัง

ประเทศไทยได้จัดทำ “แผนพัฒนาสาธารณสุข” มาตั้งแต่มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยในช่วงสามแผนแรก ระหว่าง พ.ศ. 2504 - 2519 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 และ 5 (พ.ศ. 2520-2529) ได้ขยายบริการสาธารณสุขสู่พื้นที่ห่างไกลในชนบทควบคู่กับการพัฒนางานด้านสาธารณสุขมูลฐาน จึงทำให้มีโรงพยาบาลระดับอำเภอที่เรียกว่า “โรงพยาบาลชุมชน” ครบทุกอำเภอและมีสถานีอนามัยครบทุกตำบล

ต่อมา ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) พบว่าปัญหาสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป เนื่องมาจากวิถีการดำรงชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งค่านิยมใหม่ในสังคมไทย ที่เน้นการดูแลสุขภาพด้วยการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

ดังนั้น เมื่อมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 - 8 (พ.ศ. 2535 - 2544) กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่จากเดิมที่มุ่งสร้างสถานบริการสาธารณสุข มาเน้นการพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและหันมาให้ความสำคัญกับ “การสร้างสุขภาพดี” มากกว่า “การซ่อมสุขภาพ” เน้นที่การออกกำลังกาย การควบคุมการบริโภค และการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านต่างๆ รวมทั้งการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2544-2549) มีการนำโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค มาใช้เพื่อประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนบางกลุ่ม โดยในระยะแรกได้ทดลองดำเนินการเฉพาะบางพื้นที่ ต่อมารัฐบาลในเวลานั้น ได้ขยายเป็นโครงการที่ดำเนินการเต็มพื้นที่ทั่วประเทศภายใต้นโยบาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

สำหรับแผนพัฒนาสุขภาพ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้ระบุวิกฤติสุขภาพไว้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาสุขภาพภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการทำลายสุขภาวะของสังคม การบริหารประเทศที่มุ่งพัฒนาแต่ด้านวัตถุและสนับสนุนบริโภคนิยม ส่งผลให้ประชาชนดำเนินชีวิตแบบแก่งแย่งแข่งขัน มุ่งเอารัดเอาเปรียบกัน ขาดความเอื้ออาทรและความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน สถาบันทางสังคมอ่อนแอ ครอบครัวแตกแยก เกิดความขัดแย้งและมีความรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง ไม่คุ้มค่า และก่อให้เกิดปัญหามลภาวะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสุขภาวะของสังคมและสุขอนามัยของประชาชน

ขณะที่กระแสการตื่นตัวและความเอาใจใส่ต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวมก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน มีการส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น การปฏิรูประบบสุขภาพ งานด้านประชาสังคม ตลอดจนมีการรวมตัวเป็นกลุ่มหรือชมรมผู้บริโภคที่รักสุขภาพเพิ่มมากขึ้น การทวงถามถึงสิทธิผู้บริโภคและสิทธิผู้ป่วยขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด

การพัฒนาสุขภาพในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพเชิงบูรณาการที่เป็นองค์รวม โดยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางหลัก แนวทางที่ว่านี้หมายถึงการพัฒนาสุขภาพทุกด้านทุกมิติให้มุ่งสู่ทิศทางเดียวกันเพื่อสร้าง “ระบบสุขภาพพอเพียง” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

สังคมไทยขณะนี้ กำลังเผชิญกับวิกฤติสุขภาพที่สำคัญ 3 ประการ คือ

วิกฤติแรก อยู่ที่ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของระบบบริการสาธารณสุขที่สูงมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยา รวมทั้งการพัฒนาระบบที่ผ่านมายังพึ่งพิงการนำเข้ายาและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศที่มีราคาแพงและไม่เป็นธรรม

วิกฤติที่สอง เกิดจากกระแสการพัฒนาสุขภาพในสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้ระบบสุขภาพภาคประชาชนอ่อนแอ ชุมชนไม่สามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้ มีปัญหาการพัฒนาระบบยาของชุมชน การมียาชุด ยาอันตราย ยาเสื่อมคุณภาพ กระจายอยู่ในชุมชน รวมทั้งการใช้ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช การใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งรัดการเจริญเติบโตของสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร และการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร เป็นต้น

วิกฤติที่สาม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติสองประการแรก คือ วาทกรรมทางด้านสุขภาพภายใต้ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม ที่เชื่อว่า “เงิน” สามารถซื้อได้ทุกอย่าง แม้แต่ ชีวิต สุขภาพ และความงาม มีการสื่อสารสร้างความเชื่อกับผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม เห็นได้จากโฆษณาและการส่งเสริมการขายเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา จนส่งผลให้เกิดการบริโภคยา อาหาร หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนบริการทางการแพทย์ที่เกินจำเป็น

จากวิกฤติสามประการข้างต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบสุขภาพพอเพียงจะต้องถูกสร้างให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และปลูกฝังให้เกิดเป็นฐานคิดใหม่ทางสุขภาพของสังคมไทย ด้วยแนวทางหลัก 4 ประการ ได้แก่

ประการแรก ผู้ให้บริการสุขภาพ ต้องประกอบวิชาชีพด้วยคุณธรรมและธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด มิใช่มุ่งประกอบการแต่ในเชิงพาณิชย์

ประการที่สอง องค์กรบริการสุขภาพ ต้องสร้างสมรรถนะในการพัฒนา ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้อยู่บนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สาม องค์กรสาธารณสุขภาครัฐ ต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญา โดยเฉพาะเรื่องยาสมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเองให้เกิดเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ในด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ รวมทั้งสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างกิจกรรมทางสุขภาพ (การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การคุ้มครองผู้บริโภค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ)

และประการที่สี่ สถาบันการศึกษา ต้องปลูกฝังบัณฑิตด้านสุขภาพให้มีความเมตตา กรุณา และคำนึงถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของผู้รับบริการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาสุขภาพในระยะยาวของสังคมไทย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากเอกสารประกอบการประชุมระดมสมองครั้งที่สาม ชุดมิติสุขภาวะ โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

Tuesday, December 11, 2007

การศึกษาแบบพอเพียง ไม่ใช่ให้เพียงพอ

การศึกษาไทยเมื่อสมัย 100 ปี ที่ผ่านมานั้น มีความยึดโยงอยู่กับสถาบันทางสังคมเป็นหลัก โดยเฉพาะสถาบันทางศาสนา เช่น วัด ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ การเรียนรู้ในอดีตมิได้มีลักษณะแยกส่วนอย่างชัดเจน แต่เป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม คนส่วนใหญ่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำงานปฏิบัติจริง ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำมาหากิน จากครอบครัวโดยส่งต่อจากพ่อแม่ปู่ ย่า ตา ยาย สู่ลูกหลาน และได้เรียนรู้จากธรรมชาติแวดล้อมรอบตัว

ชุมชนเองก็ถือเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์ ศิลปหัตถกรรม ที่มีการถ่ายทอดผ่านทางพ่อครู แม่ครู ปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น ด้วยการฝากตัวเป็นศิษย์ การถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ มักแฝงไว้ด้วยคติธรรม ความเชื่อ โดยมีหลักของจารีตและศีลธรรมกำกับให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอีกด้วย

เมื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาในประเทศไทย สถาบันการศึกษาที่เคยอยู่กับครอบครัวและชุมชน ได้ถูกโรงเรียนเข้าครอบงำ สถาบันการศึกษาของชุมชนที่ถูกมองว่าล้าสมัยและคร่ำครึ ทำให้คนรุ่นใหม่ถูกดึงออกจากสถาบันการศึกษาแบบเดิมเข้าสู่ระบบการศึกษาสมัยใหม่โดยผ่านการเรียนการสอนที่มีหลักสูตรมาจากส่วนกลางแยกตามศาสตร์สาขาต่างๆ ที่มักขาดความเชื่อมโยงระหว่างกัน ขาดความความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น และขาดการคำนึงถึงความสัมพันธ์กับบริบทรอบข้าง ทั้งระหว่างคนด้วยกันเอง และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ความเป็นชุมชนเริ่มอ่อนแอลง ต่างคนต่างแก่งแย่งแข่งขันโดยมุ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ ทรัพยากรธรรมชาติจึงถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง

เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา จะต้องเป็นการศึกษาที่รู้เท่าทันตนเอง ชุมชน สังคม และการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นการศึกษาที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และต้องเปิดโอกาสในการเข้าถึงความรู้อย่างเสมอภาค ทั้งนี้ ความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ มิได้หมายถึงการจัดการศึกษาให้แก่ทุกๆ คนในแบบเดียวกัน หรือด้วยวิธีปฏิบัติอย่างเดียวกัน

แต่ความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ หมายถึง การจัดการศึกษาให้พอเพียงกับความต้องการของกลุ่มต่างๆ ครอบคลุมถึงผู้ด้อยโอกาส เด็กและกลุ่มบุคคลพิเศษต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยไม่จำกัดสิทธิ หรือมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกัน มีมาตรการและกลไกที่สนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาในทุกรูปแบบ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ในอันที่จะเสริมสร้างให้บุคคลมีความรอบรู้รอบด้าน สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุและผล เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชุมชนและท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองยังเป็นกระบวนการของการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นกระบวนการส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถเรียนรู้จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ช่วยส่งเสริมการการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเชิงลึก โดยชุมชนจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น โดยยึดการสังเคราะห์ความรู้ทั้งจากภายในและภายนอกชุมชนที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

การมุ่งเน้นให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต โดยการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตนั้น จะเอื้อต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ช่วยเพิ่มพูนความรอบรู้และทักษะในการดำรงชีวิตในสังคม ช่วยให้นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้อย่างรู้เท่าทัน และเป็นอิสระจากภาวะบีบคั้นต่างๆ อันเกิดจากความไม่เป็นธรรม และการคอยแต่ที่จะพึ่งพาผู้อื่นอยู่เรื่อยไป

การศึกษาทางเลือกที่จะนำไปสู่ความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ มีอยู่หลากหลายรูปแบบที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน อาทิ การศึกษาโดยครอบครัว (Home School) การศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนทางเลือก เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนรุ่งอรุณ การศึกษาจากปราชญ์ชาวบ้าน การศึกษาผ่านสถาบันการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โรงเรียนชาวนา สถาบันโพธิยาลัย เป็นต้น การศึกษาโดยกลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาอาชีพ การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง การศึกษาโดยผ่านสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ เช่น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม วิทยุ สิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งเรียนรู้สาธารณะต่างๆ

เป้าหมายในการศึกษาจะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงการเรียนเพื่อให้มีงานทำ แต่ต้องมีเป้าหมายที่สร้างให้เกิด “ทักษะ” ในการดำรงชีวิตร่วมอยู่ด้วย เป็นการศึกษาที่ต้องสร้างให้เกิดการรู้จักใช้สอย เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้จักตน และเป็นการศึกษาเพื่อให้รู้จักอยู่ร่วมกัน

การศึกษาที่มุ่งสร้างให้เกิดทักษะในการดำรงชีวิตดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับคุณลักษณะในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ให้เห็นอย่างครบถ้วน ถือเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง สมดังพระบรมราโชวาทฯ ที่ได้ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2522 ว่า

“นอกจากจะอาศัยความรู้ความสามารถทางวิชาการตามที่ได้ศึกษามาแล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีความรอบรู้และความเข้าใจอันกระจ่างและเพียงพอในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับงานที่จะทำทั้งหมด รวมทั้งระบบชีวิตของคนไทย อันได้แก่ ความเป็นอยู่ ความต้องการ วัฒนธรรม และความรู้สำนึกคิดโดยเบ็ดเสร็จด้วย จึงจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้”... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากเอกสารประกอบการประชุมระดมสมองครั้งที่สาม โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

Thursday, December 06, 2007

อย่าถลุงเทคโนโลยีและพลังงานจนเพลิน

เมื่อพิจารณาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและพลังงาน การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นหน่วยผลิตในทางเศรษฐกิจ มีขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีและพลังงานได้ในระดับหนึ่ง การดำเนินธุรกิจด้วยความมีเหตุผล ความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน โดยอาศัยเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ก็จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในแต่ละภาคส่วนสามารถเลือกระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีและพลังงานจากต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ได้ประเมินสถานภาพด้านเทคโนโลยีไว้ว่า มีกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำงานด้านการออกแบบและการวิจัยและพัฒนาไม่ถึงร้อยละ 2.0 และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมีเพียง 6.7 คนต่อประชากรหมื่นคน ขณะที่ผลิตภาพของการผลิตรวมคิดเป็นร้อยละ 1.89 ในปี 2548 ซึ่งถือว่ายังต่ำ

ส่วนสถานภาพด้านพลังงาน ระบุว่าอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานต่ออัตราการเติบโตของ GDP (ความยืดหยุ่นของการใช้พลังงาน) มีค่าเท่ากับ 1.4 และมีการตั้งเป้าการลดค่าความยืดหยุ่นให้อยู่ในระดับ 1.0 ประเด็นวิกฤติที่รวบรวมได้จากการระดมสมองเพื่อจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ประการแรก ประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนระดับกลางโดยเฉพาะสายอาชีวะและระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ทั้งปริมาณและคุณภาพ ฉุดรั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ประการที่สอง การลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอยู่ในระดับต่ำ องค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาแล้วนำไปใช้ประโยชน์ ในเชิงพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ ความสามารถในการซึมซับเทคโนโลยี (Technology Absorption) อยู่ในระดับต่ำและตกเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้า

และประการที่สาม เศรษฐกิจไทยยังมีจุดอ่อนในเชิงโครงสร้างที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน พลังงาน เงินทุน และเทคโนโลยี ในสัดส่วนที่สูง โดยที่ผลิตภาพการผลิตยังต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงจากการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด นอกจากนี้ ลักษณะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีการเพิ่มมูลค่าเพียงในระดับต้น เป็นการรับจ้างผลิตโดยที่ไม่มีแบรนด์เป็นของตนเอง การสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการและการเพิ่มผลิตภาพการผลิตจากองค์ความรู้ยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้วยประเด็นวิกฤติข้างต้น กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันด้านเทคโนโลยี จึงควรเน้นไปที่การทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในภาคการผลิตที่ประเทศไทย มีศักยภาพและสอดคล้องกับฐานทรัพยากรของประเทศ เช่น หมวดเกษตร-เกษตรอินทรีย์ หมวดอาหาร-อาหารแปรรูป หมวดยา-สมุนไพร ซึ่งรวมไปถึงพลังงานทางเลือก เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต อีกทั้ง ควรเน้นการพัฒนาคนเพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น และมีการเชื่อมงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษากับภาคเศรษฐกิจจริงให้เกิดขึ้นให้ได้

การบริหารจัดการความรู้นับเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งเช่นกัน เทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีบทบาทในการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้ ความสะดวกในการบริหารจัดการ และการจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้หรือเครือข่ายต่างๆ จะสามารถช่วยให้เทคโนโลยีการผลิตในท้องถิ่นหนึ่งถ่ายทอดไปยังท้องถิ่นอื่นๆ ได้

กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันด้านพลังงาน ในมิติของการลดการใช้พลังงาน (ทำให้ตัวตั้งในค่าความยืดหยุ่นของการใช้พลังงานต่ำลง) ควรเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือหาพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกอื่นๆ ส่งเสริมให้มีการจัดทำ Energy Index เพื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานในการผลิตกับประเทศอื่นๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม ในมิติของการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ (ทำให้ตัวหารในค่าความยืดหยุ่นของการใช้พลังงานสูงขึ้น) ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการในประเทศที่ใช้พลังงานน้อย แต่มีมูลค่าเพิ่มสูง และหลีกเลี่ยงการสนับสนุนการลงทุนจากภายนอกในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพืช มีประเด็นที่ต้องระวัง เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชพลังงานอาจไปแย่งการปลูกพืชอาหารอื่นๆ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานควบคู่กันไป

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ควรลดการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในการผลิตที่จำเป็นต้องใช้พลังงานสูง เพราะไทยเองก็ต้องพึ่งการนำเข้าพลังงานจากภายนอก ทำให้รัฐต้องอุดหนุนการใช้พลังงานให้กับบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นไปโดยปริยาย นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าวยังสามารถดำรงบทบาทเป็นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ลงทุนระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม เพื่อขยายฐานการผลิตของไทย ให้เกิดความสมดุลระหว่างการลงทุนจากต่างประเทศและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ ซึ่งการรับบทบาทนี้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบร่วมด้วย

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรเข้มข้น (เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า) อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (เช่น สิ่งทอ และภาคบริการ) และอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรในประเทศเข้มข้น (เช่น สินค้าเกษตร อาหารและเกษตรแปรรูป สมุนไพร) ล้วนแต่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก อัตราการเปิดประเทศของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงขึ้น โดยในปี 2548 อัตราการเปิดประเทศสูงถึงร้อยละ 131.7

แนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย จึงมิใช่การพยายามปิดประเทศ แต่เป็นการจัดการทรัพยากรในภาคธุรกิจ การบริหารการบริโภคในภาคครัวเรือน รวมไปถึงการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและกระแสโลกาภิวัตน์ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดการเทคโนโลยีและพลังงานในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link