Tuesday, December 25, 2007

รัฐบาลใหม่กับปัญหาสินบนและความโปร่งใส

กรณีตำรวจนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา จับกุมตัวนายเจอรัลด์ กรีน นักธุรกิจชาวอเมริกันวัย 75 ปี และนางแพทริเซีย ภรรยาวัย 52 ปี เจ้าของบริษัท ฟิล์ม เฟสติวัล แมนเนจเมนท์ ในข้อหาจ่ายเงินสินบนมากกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์ หรือ 56 ล้านบาท ให้กับอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อให้ได้สิทธิจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ หรือ Bangkok International Film Festival (BKK IFF) ในช่วงระหว่างปี 2545-2549 ได้กลายเป็นข่าวร้อน และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย ในสายตาของนานาชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากข่าวชิ้นนี้ ทำให้นึกไปถึงผลสำรวจการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index-CPI) ประจำปี พ.ศ.2550 ที่เพิ่งประกาศโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI) ซึ่งพบว่าประเทศไทยได้ 3.3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 84 จากทั้งหมด 179 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 11 จาก 22 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย

การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันในปี พ.ศ.2550 นี้ ได้จัดอันดับจากประเทศต่างๆ จำนวน 179 ประเทศทั่วโลก ใช้ผลการสำรวจจากแหล่งข้อมูล 14 แห่ง ที่ได้ดำเนินการสำรวจในปี พ.ศ 2549 และ 2550 ผลการจัดอันดับประจำปี 2550 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 84 (3.3 คะแนน) จากทั้งหมด 179 ประเทศทั่วโลกตกจากอันดับที่ 63 (3.6 คะแนน) ในปี 2549 และอันดับที่ 59 (3.8 คะแนน) ในปี 2548


ตารางแสดงค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย ปี 38-50

ปีคะแนนอันดับจำนวนประเทศ
503.3084179
493.6063163
483.8059159
473.6064146
463.3070133
453.2064102
443.206191
433.206090
423.206898
413.006185
403.063952
393.333754
382.793441
ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก www.transparency-thailand.org


ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เป็นตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ และมหาวิทยาลัย Gottingen ในประเทศเยอรมนี และได้ใช้สำรวจเพื่อจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา ในการจัดอันดับตัวชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ให้นิยามว่า คอร์รัปชัน หมายถึง "การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน"

ดังนั้น การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศต่างๆ จึงไม่ได้รวมถึงปัญหาคอร์รัปชันในภาคธุรกิจ ลักษณะคำถามที่ใช้ในการสำรวจเป็นคำถามเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ การเบียดบังทรัพย์สินของรัฐและการใช้งบประมาณผิดประเภท

ข้อมูลที่ใช้การวิเคราะห์ CPI ได้มาจากการวิเคราะห์ผลการสำรวจของหน่วยงานวิจัย ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เช่น Economist Intelligence Unit สำนักแกลลัปโพลล์ สถาบันเพื่อการพัฒนาการบริหารการจัดการ ที่ปรึกษาความเสี่ยงทางธุรกิจและทางการเมือง Political Risk Services World Development Report World Economic Forum และ Harvard Institute for International Development โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี เพื่อที่จะลดค่าความเบี่ยงเบนของคะแนนให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ ค่าคะแนนของ CPI เริ่มตั้งแต่ 0 คะแนน ถึง 10 คะแนน โดย 0 คะแนน เป็นคะแนนต่ำสุด หมายถึง ภาพลักษณ์คอร์รัปชันสูงสุด ส่วน 10 คะแนน เป็นคะแนนสูงสุดหมายถึง มีภาพลักษณ์คอร์รัปชันน้อยที่สุด หรือมีภาพความโปร่งใสสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดดังกล่าวมิใช่การวัดระดับปริมาณของคอร์รัปชัน แต่เป็นการวัด "ภาพลักษณ์" ของคอร์รัปชัน ซึ่งได้จากการรับรู้หรือจากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจเท่านั้น ดังนั้น ค่าคะแนนที่ได้จึงเป็นตัวชี้วัดภาพลักษณ์ของคอร์รัปชันโดยรวมของประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันตามหน่วยงานที่เป็นแหล่งข้อมูล

ยังมีอีกหนึ่งดัชนีที่จัดทำขึ้นโดยองค์กร เพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เรียกว่า ดัชนีบ่งชี้ผู้จ่ายสินบน (Bribe Payers Index หรือ BPI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างในภาคเอกชนต่อพฤติกรรมการจ่ายสินบนขององค์กรธุรกิจในประเทศต่างๆ โดยผลการสำรวจในปีล่าสุด (2549) ระบุว่า บริษัทสัญชาติไต้หวัน ตุรกี รัสเซีย จีน และอินเดีย มีพฤติกรรมการจ่ายสินบนมากที่สุด

สำหรับกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนในระดับสูง หรือมีภาพลักษณ์ว่ามีพฤติกรรมการจ่ายสินบนน้อยที่สุด ได้แก่ บริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย ออสเตรีย แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ขณะที่ประเทศไทยเองยังไม่อยู่ใน 30 ประเทศ ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติทำการสำรวจ แต่เป็นหนึ่งใน 125 ประเทศผู้ให้ข้อมูล โดยมีผู้ตอบจำนวน 46 ตัวอย่างจากประเทศไทย จากผลสำรวจทั้งหมด 11,232 ตัวอย่าง

การสำรวจดัชนีบ่งชี้ผู้จ่ายสินบน จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2542 และครั้งที่สองในปี 2545 การให้คะแนนมีค่าระหว่าง 0 ถึง 10 คะแนน โดยคะแนนเต็ม หมายถึง มีภาพลักษณ์ว่าไม่มีพฤติกรรมการจ่ายสินบนเลย และประเทศที่ได้คะแนนน้อยหรือไม่มีคะแนนเลย หมายถึง มีภาพลักษณ์ว่ามีพฤติกรรมการจ่ายสินบนมากสุด

ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงอยากเสนอให้บรรจุภารกิจในการเพิ่มคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ด้วยการเลือกผู้บริหารในคณะรัฐบาลและออกนโยบายในการบริหารประเทศอย่างโปร่งใส มิฉะนั้นแล้ว ในปี 2551 ประเทศไทยอาจจะมีอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เป็นเลขสามหลักทำลายสถิติในรอบ 14 ปีก็เป็นได้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

2 comments:

Unknown said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ ประวัติคุณน่าสนใจมาก

Unknown said...

ในเชิงรูปธรรมทำอย่างไรคะ ในการสร้างองค์กรใสสะอาด หากต้องทำเป็นโครงการสร้างความโปร่งใสในองค์กร เช่น กรมสรรพากร