การศึกษาไทยเมื่อสมัย 100 ปี ที่ผ่านมานั้น มีความยึดโยงอยู่กับสถาบันทางสังคมเป็นหลัก โดยเฉพาะสถาบันทางศาสนา เช่น วัด ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ การเรียนรู้ในอดีตมิได้มีลักษณะแยกส่วนอย่างชัดเจน แต่เป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม คนส่วนใหญ่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำงานปฏิบัติจริง ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำมาหากิน จากครอบครัวโดยส่งต่อจากพ่อแม่ปู่ ย่า ตา ยาย สู่ลูกหลาน และได้เรียนรู้จากธรรมชาติแวดล้อมรอบตัว
ชุมชนเองก็ถือเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์ ศิลปหัตถกรรม ที่มีการถ่ายทอดผ่านทางพ่อครู แม่ครู ปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น ด้วยการฝากตัวเป็นศิษย์ การถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ มักแฝงไว้ด้วยคติธรรม ความเชื่อ โดยมีหลักของจารีตและศีลธรรมกำกับให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอีกด้วย
เมื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาในประเทศไทย สถาบันการศึกษาที่เคยอยู่กับครอบครัวและชุมชน ได้ถูกโรงเรียนเข้าครอบงำ สถาบันการศึกษาของชุมชนที่ถูกมองว่าล้าสมัยและคร่ำครึ ทำให้คนรุ่นใหม่ถูกดึงออกจากสถาบันการศึกษาแบบเดิมเข้าสู่ระบบการศึกษาสมัยใหม่โดยผ่านการเรียนการสอนที่มีหลักสูตรมาจากส่วนกลางแยกตามศาสตร์สาขาต่างๆ ที่มักขาดความเชื่อมโยงระหว่างกัน ขาดความความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น และขาดการคำนึงถึงความสัมพันธ์กับบริบทรอบข้าง ทั้งระหว่างคนด้วยกันเอง และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ความเป็นชุมชนเริ่มอ่อนแอลง ต่างคนต่างแก่งแย่งแข่งขันโดยมุ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ ทรัพยากรธรรมชาติจึงถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง
เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา จะต้องเป็นการศึกษาที่รู้เท่าทันตนเอง ชุมชน สังคม และการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นการศึกษาที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และต้องเปิดโอกาสในการเข้าถึงความรู้อย่างเสมอภาค ทั้งนี้ ความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ มิได้หมายถึงการจัดการศึกษาให้แก่ทุกๆ คนในแบบเดียวกัน หรือด้วยวิธีปฏิบัติอย่างเดียวกัน
แต่ความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ หมายถึง การจัดการศึกษาให้พอเพียงกับความต้องการของกลุ่มต่างๆ ครอบคลุมถึงผู้ด้อยโอกาส เด็กและกลุ่มบุคคลพิเศษต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยไม่จำกัดสิทธิ หรือมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกัน มีมาตรการและกลไกที่สนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาในทุกรูปแบบ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ในอันที่จะเสริมสร้างให้บุคคลมีความรอบรู้รอบด้าน สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุและผล เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชุมชนและท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองยังเป็นกระบวนการของการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นกระบวนการส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถเรียนรู้จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ช่วยส่งเสริมการการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเชิงลึก โดยชุมชนจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น โดยยึดการสังเคราะห์ความรู้ทั้งจากภายในและภายนอกชุมชนที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง
การมุ่งเน้นให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต โดยการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตนั้น จะเอื้อต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ช่วยเพิ่มพูนความรอบรู้และทักษะในการดำรงชีวิตในสังคม ช่วยให้นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้อย่างรู้เท่าทัน และเป็นอิสระจากภาวะบีบคั้นต่างๆ อันเกิดจากความไม่เป็นธรรม และการคอยแต่ที่จะพึ่งพาผู้อื่นอยู่เรื่อยไป
การศึกษาทางเลือกที่จะนำไปสู่ความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ มีอยู่หลากหลายรูปแบบที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน อาทิ การศึกษาโดยครอบครัว (Home School) การศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนทางเลือก เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนรุ่งอรุณ การศึกษาจากปราชญ์ชาวบ้าน การศึกษาผ่านสถาบันการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โรงเรียนชาวนา สถาบันโพธิยาลัย เป็นต้น การศึกษาโดยกลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาอาชีพ การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง การศึกษาโดยผ่านสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ เช่น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม วิทยุ สิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งเรียนรู้สาธารณะต่างๆ
เป้าหมายในการศึกษาจะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงการเรียนเพื่อให้มีงานทำ แต่ต้องมีเป้าหมายที่สร้างให้เกิด “ทักษะ” ในการดำรงชีวิตร่วมอยู่ด้วย เป็นการศึกษาที่ต้องสร้างให้เกิดการรู้จักใช้สอย เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้จักตน และเป็นการศึกษาเพื่อให้รู้จักอยู่ร่วมกัน
การศึกษาที่มุ่งสร้างให้เกิดทักษะในการดำรงชีวิตดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับคุณลักษณะในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ให้เห็นอย่างครบถ้วน ถือเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง สมดังพระบรมราโชวาทฯ ที่ได้ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2522 ว่า
“นอกจากจะอาศัยความรู้ความสามารถทางวิชาการตามที่ได้ศึกษามาแล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีความรอบรู้และความเข้าใจอันกระจ่างและเพียงพอในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับงานที่จะทำทั้งหมด รวมทั้งระบบชีวิตของคนไทย อันได้แก่ ความเป็นอยู่ ความต้องการ วัฒนธรรม และความรู้สำนึกคิดโดยเบ็ดเสร็จด้วย จึงจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้”... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
(เรียบเรียงจากเอกสารประกอบการประชุมระดมสมองครั้งที่สาม โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
Tuesday, December 11, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment