Friday, December 19, 2008

องค์กรกระชับรูป (Lean Enterprise)

คอลัมน์ “บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม” ซึ่งหากจะเขียนในภาษาอังกฤษ ก็น่าจะมีชื่อว่า Business Administration & Social Responsibility นัยว่า จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎี รวมทั้งแนวปฏิบัติในการบริหารธุรกิจ ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนประสมของความรับผิดชอบต่อสังคมผนวกอยู่ในวิถีของการดำเนินธุรกิจนั้นด้วย หรือถ้าจะพูดไม่ให้เยิ่นเย้อมากนัก ก็เป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง

ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นชื่อคอลัมน์ มิได้มีทัศนคติต่อธุรกิจในแง่ลบแต่ฝ่ายเดียว หรือคิดเอาว่าธุรกิจที่ผ่านมาไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเลยหรือ ในความเป็นจริง ทุกธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดหรือในสาขาใด ต่างก็มีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ ไม่อย่างนั้น กิจการนั้นๆ ก็คงไม่สามารถอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะสังคมหรือภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็คงไม่ปล่อยให้กิจการดำเนินอยู่โดยปราศจากการประณามหรือการลงโทษใดๆ

แต่ประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาอยู่ที่ “ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่ผ่านมานั้นเพียงพอหรือยัง” ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ในวันนี้สังคมเริ่มตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ธุรกิจเองก็พยายามสำรวจตัวเองต่อประเด็นคำถามนี้อย่างจริงจังเช่นกัน

ผมไม่ได้มองแบบนักอุดมคติว่า ธุรกิจจะต้องลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เหลือศูนย์ หรือไม่ให้มีเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในวิชาเศรษฐศาสตร์เอง ก็กล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่า ในทุกกระบวนการผลิต ก็คือ การทำลายรูปแบบหนึ่ง เป็นการแปรสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งหากสิ่งที่แปรสภาพใช้การได้ เราก็เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ (product) ซึ่งรวมทั้งสินค้า (goods) และบริการ (service) แต่หากสิ่งที่แปรสภาพมาใช้การไม่ได้ เราก็เรียกว่า ของเสีย (waste) และในความเป็นจริง จะไม่มีกระบวนการผลิตใด ที่จะไม่มีของเสียออกมาเลย

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของปัจจัยนำเข้า (input) สู่กระบวนการผลิต ธุรกิจก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นปัจจัยในการผลิตไม่มากก็น้อย ฉะนั้น ทุกกิจการไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ต่างก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดึงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดไปมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงแค่ธุรกิจ แม้กระทั่งเราๆ ท่านๆ ที่นั่งอ่านบทความนี้อยู่ เราก็หายใจเอาอากาศดีจากธรรมชาติเข้าไปในร่างกาย แล้วปล่อยเอาอากาศเสีย คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ภายนอก หนทางแก้ในกรณีนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่การหายใจเข้าให้น้อยๆ เพื่อรักษาอากาศดีให้คงอยู่ไว้มากๆ หรือการหายใจออกให้น้อยๆ เพื่อไม่ไห้มีอากาศเสียมากกว่าที่เป็นอยู่

แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการที่ก้าวล้ำมากกว่าองค์กรธุรกิจ หลายท่านอาจแย้งด้วยซ้ำไปว่า เอาไปเปรียบเทียบกันได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นความจริงว่า ธุรกิจยังต้องการการพัฒนาสมรรถภาพอีกมาก เราจึงได้มีเครื่องมือในการพัฒนาสมรรถนะทางธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการของเสีย อย่างเช่น lean manufacturing และ six sigma ซึ่งในปัจุบันถูกรีแพคเกจในชื่อของ total quality management (TQM)

TQM เปรียบเสมือนเครื่องมือยุคแรกในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตรงที่มุ่งจัดการกับของเสียให้ลดลง ทำให้องค์กรปราศจากไขมันส่วนเกินจากการใช้ทรัพยากรนำเข้าที่ด้อยประสิทธิภาพ อันเป็นบ่อเกิดของการสูญเปล่า 7 ประการ ได้แก่ การผลิตเกิน (overproduction) การขนส่ง (transportation) การรอคอย (waiting) สินค้าคงคลัง (inventory) การชำรุด (defect) กระบวนการมากเกินไป (overprocessing) และการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น (unnecessary movement) โดยที่การพัฒนาเพื่อลดการสูญเปล่านี้ นำไปสู่การเป็น “องค์กรกระชับรูป” หรือ Lean Enterprise

ในปัจจุบัน เรากำลังก้าวข้ามบริบทของการพัฒนาเพื่อลดของเสีย มาสู่ยุคของการพัฒนาที่ไร้ของเสีย (zero waste) ที่ไม่ได้หมายถึงการลดของเสียให้เหลือศูนย์ แต่เป็นการออกแบบระบบการผลิตที่สามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตหนึ่งมาเป็นทรัพยากรนำเข้า (input) ของอีกกระบวนการผลิตหนึ่ง เช่น การนำขยะมาผลิตเป็นพลังงาน และเป็นยุคของการพัฒนาระบบการผลิตที่สามารถใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (renewable resources) ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดไป เช่น การผลิตที่อาศัยเชื้อเพลิงจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

ดังนั้น เครื่องมือสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในวันนี้ จึงมีความน่าสนใจและตอบโจทย์หลายเรื่องที่เครื่องมือในยุคเก่าไม่สามารถให้ได้ ซึ่งจะได้ทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป...จากคอลัมน์ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม External Link

รวมบทความ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม

1. องค์กรกระชับรูป (Lean Enterprise)
2. ทิศทาง CSR ปี 2552
3. เมื่อ CSR ขยับเป็นวาระนานาชาติ
4. รายงาน CSR ประเทศไทย
5. การปลูกฝัง CSR ในองค์กร
6. การทำซีเอสอาร์เชิงระบบ
7. วิสัยทัศน์ CSR ระดับองค์กร
8. ข้อแนะนำ CSR สำหรับ SMEs
9. รางวัลโนเบลว่าด้วยธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ
10. เมื่อพบว่า การให้ ≠ การได้รับ


 

Monday, November 24, 2008

ดึงเศรษฐกิจพอเพียงแก้วิกฤตการเงินโลก


บทสัมภาษณ์ ในรายการ สุรนันท์ วันนี้ ทางโพสต์ทีวี

สุรนันทน์ : โครงการจัดทำแผนที่เดินทาง หรือ Road Map และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ โครงการนี้คืออะไรครับ
ดร.พิพัฒน์ : โครงการนี้เริ่มเมื่อปีที่แล้ว มีจุดมุ่งหมายหลักเกิดจากที่ผ่านมามีคนพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงค่อนข้างมาก แต่ภาพรวมในการที่จะพาหรือขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ทิศทางนั้นยังไม่เด่นชัดนัก อาจเพราะหลายหน่วยงาน ต่างคนต่างทำ ในกลุ่มนักวิชาการที่ร่วมกันดำเนินงานภายใต้กองทุนสำนักงานวิจัยฯ ก็พยายามจะรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
โดยมองหาข้อมูลที่จะทำให้หลายภาคส่วนได้มีโอกาสนำ Road Map นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ คำว่า แผนที่เดินทาง ก็เหมือนกับทิศทางที่จะสามารถนำพาตัวเองหรือองค์กรหรือประเทศไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียง

สุรนันทน์ : หน้าที่ของอาจารย์คือทำให้ แผนที่นี้ให้เกิดขึ้น หมายความว่าแผนที่นี้ต้องตกผลึกทางความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก่อน แล้วเศรษฐกิจพอเพียงนี้คืออะไร
ดร.พิพัฒน์ : ในระดับของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดในการที่ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ประเทศ นำไปใช้ในแนวปฏิบัติทั่วกัน แต่ถ้ามองในระดับย่อยลงมา ระบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบการผลิต การบริโภค การจัดจำหน่าย การแจกจ่ายต่างๆ ให้สอดคล้องกับตัวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สุรนันทน์ : เบื้องต้นคือมีปรัชญาในการใช้ชีวิต แล้วพัฒนาเป็นระบบเศรษฐกิจหรือครับ
ดร.พิพัฒน์ : คือเศรษฐกิจพอเพียง เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นเพียงแค่ระบบเศรษฐกิจ แต่จะกว้างกว่านั้น การเป็นปรัชญาทำให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายเรื่อง ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม มีผู้พยายามเปรียบเทียบระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับทุนนิยมว่า ฝั่งหนึ่งใช้เงินเป็นตัวตั้ง อีกฝั่งใช้ความพอประมาณ แต่นี่คือเอาของ 2 สิ่งซึ่งอยู่คนละมิติมาเทียบกันมากกว่า มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ส่วน Road Map นี้ เป็นการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศที่สำคัญเช่นกัน

สุรนันทน์ : ในต่างประเทศ เศรษฐกิจพอเพียงของเขาต่างหรือเหมือนกับเรา
ดร.พิพัฒน์ : ต้องเริ่มจากการยอมรับก่อนว่า ในวันนี้เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นเศรษฐศาสตร์สาขาหลักที่อาจจะเรียกว่าทุนนิยมในที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกในวันนี้มีระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์ทางเลือก อาจจัดได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในกระแสนี้ โดยมีคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งที่กำลังพยายามพัฒนาตรงนี้อยู่

ถ้ามองเพียงแค่ชื่อเศรษฐกิจพอเพียง จะสงสัยว่าทำกันอยู่แค่ในไทย จะแพร่หลายได้อย่างไร เราต้องมองถึง Content หรือเนื้อหาจะพบว่าระบบเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์ทางเลือกอื่นทั่วโลก มีจุดร่วมที่ตรงกันหลายอย่าง เช่น Green Economics, Solidarity Economics หรือเศรษฐศาสตร์สมานฉันท์ เรื่องเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความสุข (Growth Happiness Index) ที่ประเทศภูฏานใช้ หรือแม้กระทั้งนักเศรษฐศาสตร์อย่าง อมาตยา เซน ที่พูดถึงการให้ความสำคัญของสมรรถภาพของมนุษย์

โดยเน้นการพัฒนาคนเป็นตัวตั้ง ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง เหล่านี้มีความสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน จะเห็นภาพว่าสิ่งที่เรากำลังพยายามพัฒนาเครือข่ายนี้ ไม่ใช่จะเอาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยไปจับใส่ประเทศต่างๆ เราก็ร่วมกันหาแนวทางที่ถูกต้องสำหรับบริบทที่เหมาะสมของประเทศนั้นๆ แล้วแลกเปลี่ยนในสิ่งที่เป็น Advantage ซึ่งมี Benefit ระหว่างกัน

ศ.ดร.อภิชัย : คือเราไม่ต้องการให้คนไทยนั้นเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของประเทศไทยเท่านั้น ขณะเดียวกันยังมีเศรษฐกิจทางเลือกอยู่ในประเทศอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเศรษฐกิจพอเพียง

สุรนันทน์ : แต่บางคนบอกว่าเศรษฐกิจทางเลือกไม่ใช่ทางเลือก เป็นเพียงส่วนขยายที่มารองรับช่องโหว่ของระบบทุนนิยมเท่านั้น จริงหรือไม่ครับ
ศ.ดร.อภิชัย : มองได้ทุกรูปแบบครับ คือขณะที่ทุนนิยม เป็นร่มใหญ่อยู่ แล้วเราพยายามทะลุมันออกไป อาจเจ็บตัวได้ เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าเป็นการขยาย หรืออุดช่องโหว่ ก็ใช่ แต่ถามว่าเนื้อแท้จริงๆ แล้ว ไปในทิศทางเดียวกันกับทุนนิยม หรือคนละทิศทาง นี่คือประเด็น ทุนนิยมมีคำจำกัดความว่า “ทุนเป็นปัจจัยการผลิตหลัก การขยายตัวต้องสะสมทุน ดังนั้นการสะสมทุนได้เร็ว ต้องมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

ในกระบวนการสร้างกำไรนี้ก็ไปสร้างความเดือดร้อนสร้างปัญหาด้วย ดังนั้นถ้าคิดในบริบทอย่างนี้ โลกจะไม่สามารถอยู่ได้ในระยะยาว เพราะว่าทุนนิยมนั้นก่อตัวขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนประมาณศตวรรษที่ 18 แล้ว ช่วงนั้นโลกยังมีทรัพยากรอยู่มาก

สุรนันทน์ : จะทดแทนกันได้ไหม อะไรคือปัจจัยการผลิต อะไรคือสิ่งที่อาจารย์ทั้งสองท่านต้องการให้เห็น เช่น กระบวนการผลิต กระบวนการจำหน่าย จะต่างกันไหม
ศ.ดร.อภิชัย : จริงๆ ปัจจัยการผลิตของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ต่างกับทุนนิยม แต่เน้นเรื่องการบริโภคแต่พอประมาณ เพราะในทางเป็นจริง มันจะมีจุดที่ดีที่สุดอยู่จุดหนึ่ง น้อยเกินไปไม่ดี มากเกินไปก็ไม่ดี แต่ปกติเรามักถูกบดบังด้วยความโลภ หรือความไม่มั่นคงในชีวิต เราเลยเน้นเรื่องการสะสม และก่อเกิดเป็นปัญหา

สุรนันทน์ : จากการไปคุยกับนักวิชาการต่างประเทศถึง 13 คนนั้น มีใคร คิดอย่างไรกันบ้าง
ดร.พิพัฒน์ : หลักๆ ก็ อมาตยา เซน ที่พูดถึงไปแล้ว มีกษัตริย์จิกมี แห่งภูฏาน มี ศาสตราจารย์ปีเตอร์ วอ อาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เคยสอนในเมืองไทยอยู่หลายมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ปีเตอร์ คอกินส์ นักเศรษฐศาสตร์จากแคนาดา ตอนนี้มาประจำในเมืองไทยด้วย มีอาจารย์จากประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งน่าสนใจมากเพราะเขานำเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ไปปฏิบัติในหมู่บ้าน ในชุมชนด้วย

สุรนันทน์ : แล้วแนวคิดของแต่ละท่านนั้นมีตรงกันบ้างไหม
ดร.พิพัฒน์ : ทั้ง 13 ท่าน มีโอกาสศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้วพอควร มีสิ่งสะท้อนแนวทางร่วมกัน ที่จับได้คือ โลกเราในวันนี้ไม่สามารถที่จะเดินด้วยระบบทุนนิยมได้อีกต่อไป หลายท่านถึงกับบอกว่าอาจจะถึงทางตันในไม่ช้านี้ ผมไม่รู้ว่านักเศรษฐศาสตร์ในระบบทุนนิยมจะแก้อย่างไร แต่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้มองว่า มีทางเลือกหนึ่งที่จะมาทำให้หันเหทิศทางของการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ยั่งยืนกว่าได้ อย่าง อมาตยา เซน เน้นชัดเจนเรื่องการพัฒนาโดยคำนึงถึงความสำคัญของคน

มีหลักคิดที่เรียกว่า Capability Approach คือการพัฒนาโดยคำนึงถึงสมรรถภาพของมนุษย์ เขาบอกว่าที่ผ่านมาเวลาที่เราเน้นเรื่องของความสำเร็จ เน้นว่าแต่ละประเทศพัฒนาสำเร็จอย่างไร ไปดูที่ความมั่งคั่ง ไปดูที่รายได้ แต่ไม่ได้มองเลยว่าโอกาสของคนคนหนึ่งที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นมีความเหมาะสมตามอัตภาพเขาหรือไม่ แล้วเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะของ อมาตยา เซน เอง เขาพูดว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่ต้องการอีกแล้ว คือพอเพียงแล้วหยุดพัฒนา แต่เขาชี้ว่า พอ คือ พอเพียงที่จะมีชีวิตอยู่และทำให้คุณภาพชีวิตของคนคนนั้นดีขึ้น

สุรนันทน์ : เป็นปัญหาเดียวกันไหม จากการคุยกันทั้ง 13 ท่าน เพราะแต่ละประเทศก็มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป อย่างภูฏาน หรือติมอร์ฯ อาจจะพูดเข้าใจได้ แต่ประเทศที่เจริญแล้วมีวิถีการบริโภคอีกแบบ พูดกับคนไทยในกรุงกับต่างจังหวัดยังแตกต่างกันเลย
ดร.พิพัฒน์ : กษัตริย์จิกมี เองยังพูดว่าประเทศไทยเรามีความซับซ้อน มีความท้าทายกว่าภูฏาน ถ้าเราเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ การจะนำไปสู่ความสำเร็จคงไม่ง่าย แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามีความตรงกันอยู่คือ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง หรือแนวคิด GNH (Gross National Happiness) ของภูฏาน

หลักคิดของ GNH คำนึงถึง 4 เรื่องหลัก คือ การศึกษา เน้นมากในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความสำนึกในเรื่องของความสุข ความอยู่ดีกินดี โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เขาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแถบชนบทของเขาเอง เรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรม เรื่องของสังคมความเป็นอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในหลักเศรษฐกิจพอเพียงทั้งนั้น

สุรนันทน์ : ถ้าทำ Road Map เสร็จแล้ว จะมีการระดมสมองอะไรกันต่อไหม
ดร.พิพัฒน์ : จะทิ้งท้ายว่า Road Map ตัวนี้ ไม่ได้เป็นแค่แผน คิดแล้วจบไป เพราะมีส่วนที่เป็นจุดเชื่อมร้อยที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เฉพาะเรื่องของคนไทย หลักต่างๆ ที่อยู่ในแนวทางที่เสนอแนะนั้น ต่างชาติในเวทีสากล ทั้ง UN หรือ World Bank ก็มีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Agenda 21 หรือ Millennium Gold เหล่านี้ สอดรับในแนวทางคล้ายกันนะครับ โลกจะไปทางนี้ อย่างที่มีการระบุว่า ต่อไปโลกเราต้องมีการพัฒนาโดยคำนึงถึงเรื่อง Sustainable Production และ Sustainable Consumption ซึ่ง 2 เรื่องนี้เราไม่ได้พูดเองนะ สากลเขาพูด ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องความพอประมาณ ผลิตให้พอดี บริโภคให้พอดี

ดังนั้น Road Map ตัวนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องที่เรา ทำกัน แล้วมาวิพากษ์วิจารณ์กันเฉพาะในประเทศ แต่สามารถเชื่อมไปถึงแผนที่สำหรับโลกที่จะเดินไปถึง เพราะอย่างนักวิชาการที่ได้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ บอกเลยว่าถ้าเรามีองคาพยพดีๆ ประเทศไทยจะมีบทบาทในการนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเศรษฐกิจทางเลือกอีกแบบหนึ่ง ให้ขับเคลื่อนเข้าไปสู่เวทีโลกได้

(จากคอลัมน์ สุรนันท์วันนี้) External Link

Tuesday, October 21, 2008

เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก

วันนี้ ได้ไปร่วมแถลงข่าวเปิดบทสัมภาษณ์ “เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก” (Sufficiency Economy in Global View) ร่วมกับอาจารย์อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการ สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บชท.) อาจารย์สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคุณพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ณ ห้องประชุม Lotus Suite 9 ชั้น 22 ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ และผู้มีชื่อเสียงระดับโลกถึง 13 คน และรวบรวมเป็นบทความไว้ที่เดียวกันจำนวน 12 บทความ เป็นการยื่นข้อเสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่โลก

โดยมีตัวอย่างบุคคลที่ทางโครงการฯ สัมภาษณ์ ได้แก่ ศ.ดร. วูล์ฟกัง ซัคส์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญของประเทศเยอรมนี ให้ความสนใจการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมาก และมองว่าน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกประเทศในเวลานี้ อีกทั้งมีแนวคิดผลักดันเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นที่รู้จักในเยอรมนี

นอกจากนี้ยังมี ศ.ดร.อมาตยา เซน ศาสตราจารย์ชาวอินเดียเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 1998 ซึ่งมองว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการใช้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และใช้โอกาสให้พอเพียงกับชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ได้หมายถึงความไม่ต้องการ แต่ต้องรู้จักใชข้ชีวิตให้ดีพอ อย่าให้ความสำคัญกับเรื่องของรายได้และความร่ำราวย แต่ให้มองที่คุณค่าของชีวิตมนุษย์

ด้าน ฯพณฯ จิกมี ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฏาน ได้ให้ทัศนะว่า หากประเทศไทยกำหนดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นวาระระดับชาติ และดำเนินตามแนวทางนี้อย่างจริงจัง “ผมว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างโลกใบใหม่จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชีวิตที่ยั่งยืน และสุดท้ายจะไม่หยุดเพียงแค่ในประเทศ แต่จะเป็นหลักการและแนวปฏิบัติของโลก ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ไทยก็คือผู้นำ”

อาจารย์สีลาภรณ์ บัวสาย กล่าวว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์และผู้นำระดับโลกพบแล้วว่า ความรู้และอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้นเมื่อศตวรรษที่แล้วได้เป็นพลังขับเคลื่อนโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว และถึงขณะนี้เราเห็นแล้วว่า โลกเกิดความไม่สมดุลอย่างรุนแรง แสดงว่าความรู้ไม่สมบูรณ์ และเทคโนโลยีที่อุตสาหกรรมใช้ก็สร้างการบริโภคพลังงานมากจนเกิดความไม่สมดุล เกิดปัญหาโลกร้อน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ความไม่สมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีคำถามว่า เมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ ความรู้อะไร วิธีคิดแบบไหน ที่จะทำให้โลกอยู่รอดได้

"ประเทศไทยโชคดีมากด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงสร้างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น และบอกด้วยว่า ต้องมุ่งเข้าหาความพอประมาณ มีเหตุผล และความมีภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกันเป้าหมายนี้ยังเป็นทั้งวิธีการ และวิธีคิดด้วย แล้วเราต้องคิดต่อว่า จะทำอย่างไร เราต้องการการถกเถียงในระดับโลกเพื่อตกผลึกว่า วิธีคิดแบบไหน ความรู้แบบไหน ที่จะผลักดันความก้าวหน้าของโลกศตวรรษใหม่ เพราะโลกมาถึงทางตันแล้ว"

ส่วนอาจารย์อภิชัย พันธเสน กล่าวว่า วิกฤติทุกครั้งมีพื้นฐานมาจากความโลภ เพราะระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและวิชาเศรษฐศาสตร์สอนให้มนุษย์แสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองมากที่สุด และการผลิตเป็นสิ่งที่ดีเพราะก่อให้เกิดรายได้ แต่สิ่งที่ไม่ได้สอนคือ ยิ่งผลิตมากยิ่งก่อให้เกิดของเสียมาก และยิ่งผลาญทรัพยากรในอัตราเร่งมากขึ้น พร้อมกับย้ำว่า “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงต้องเน้นที่ความพอเพียงกับคุณธรรมอันประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ซึ่งเป็นสองสิ่งที่สำคัญ แต่คนไม่ค่อยพูดถึง”

"เศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีอยู่แค่สองความหมายคือ พอเพียง กับ คุณธรรม ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ต้องไปควบคู่กัน โดยชนชาติตะวันตกนั้นอาจไม่เข้าใจในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความโลภทั้งสิ้น ถ้าโลภแค่คนหรือสองคนก็คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบที่เป็นอยู่ แต่ความโลภปัจจุบันได้กลายเป็นสถาบัน"

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ sufficiencyeconomy.com

Friday, September 26, 2008

รวมบทความ 20CEOs-20IDEAs

1. เรื่อง CSR ที่ CEO ควรรู้
2. CEO ในแบบ NGO
3. 6 ชนิดกิจกรรมเพื่อสังคม
4. เคลื่อนขบวน CSR ทางไหนดี
5. รัฐ เกี่ยวอะไรกับ CSR
6. CSR กับการบริโภคที่ยั่งยืน
7. CSR ในมุมมองของ OECD
8. CSR ในการนำเสนอข่าว
9. CSR CAMP ที่เขาใหญ่
10. CSR ในสังคมอีสาน
11. CSR ถิ่นล้านนา
12. ล่องใต้ ดู CSR อันดามัน
13. เจาะข้อมูล CSR ลุ่มเจ้าพระยา

เจาะข้อมูล CSR ลุ่มเจ้าพระยา

หลายจังหวัดในประเทศไทยขณะนี้ กำลังประสบภาวะน้ำท่วมหนัก ครัวเรือนหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายมาก และคงต้องใช้เวลานานกว่าที่จะฟื้นสู่สภาพปกติ ก็อยากจะขอหน่วยราชการซึ่งต้องดูแลรับผิดชอบให้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ และอยากเชิญชวนให้ภาคเอกชนที่มีทรัพยากรและมีกำลังเหลือจากการประกอบธุรกิจเข้ามาร่วมกันช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง

การเข้าช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยดังกล่าว ถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) รูปแบบหนึ่ง ที่จัดอยู่ในชนิดของการบริจาค (Philanthropy) เงิน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ที่เมื่อดูจากผลการสำรวจวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์ในการลงพื้นที่ 75 จังหวัดทั่วประเทศ จะพบว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของสัดส่วนกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย

กรณีของจังหวัดในภาคกลางที่สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และบจ. โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ออกตระเวนเดินสายเปิดเวทีสัญจรในพื้นที่ทั้ง 25 จังหวัด (รวมภาคตะวันออก) ก็ได้ค้นพบประเด็นซีเอสอาร์ที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นเช่นกัน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

Tuesday, September 09, 2008

ล่องใต้ ดู CSR อันดามัน

ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ในแต่ละภูมิภาค ย่อมมีความแตกต่างกันตามบริบทของสังคมไม่มากก็น้อย ถ้าพิจารณาภูมิประเทศของภาคใต้ จะพบว่าภาคใต้มีศักยภาพด้านที่ตั้งที่มีพื้นที่เปิดสู่ทะเลทั้งสองด้าน มีอาณาเขตด้านใต้ติดต่อกับประเทศมาเลเซียและมีข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบ JDS และกรอบ IMT-GT มีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายทั้งบนบกและในทะเล จึงเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล และประมงที่สำคัญของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคใต้จะมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่กลับมีปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรที่เป็นฐานการผลิตโดยเฉพาะทรัพยากรประมง และปัญหามลภาวะจากขยะและน้ำเสียในเมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งปัญหาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

ทั้งนี้ ผลการระดมความคิดเพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนา CSR ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ จากการเดินสายเปิดเวทีสัญจรในพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัด โดยสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และ บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีความต้องการนำ CSR มาใช้จัดการกับปัญหามลภาวะจากขยะ น้ำเสีย และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ซึ่งกำลังเข้ามาสร้างผลกระทบให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างมาก

สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคตะวันออก ในวันที่ 22-25 กันยายนนี้ คณะวิทยากรจากสถาบันไทยพัฒน์ จะเดินสายเปิดเวทีให้ความรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง และชลบุรี ตามลำดับ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและค้นหาแนวทางการพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัด ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ csrcampus.com... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

Friday, August 22, 2008

CSR ถิ่นล้านนา

เมื่อคราวที่แล้วได้พูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ในสังคมอีสาน 19 จังหวัด ที่โครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค (CSR Campus) โดยสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม,ดีแทค,โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย สำหรับผลการระดมสมองเพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนา CSR ในสังคมภาคเหนือ สามารถรวบรวมได้ทั้งสิ้น 4 ประเด็น ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเกษตรปลอดภัย

สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคกลาง ปลายเดือนสิงหาคมนี้ คณะวิทยากรจากสถาบันไทยพัฒน์ จะเดินสายเปิดห้องเรียนและค้นหาโมเดล CSR ในภาคกลาง 8 จังหวัด สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ csrcampus.com... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

Thursday, July 17, 2008

CSR ในสังคมอีสาน

ความตื่นตัวในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ขณะนี้มิได้จำกัดวงอยู่เพียงในเขตกรุงเทพฯ หรือกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในเมืองเท่านั้น แต่ได้แผ่ขยายวงไปยังภูมิภาคสู่นักธุรกิจและผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ต่างก็ให้ความสนใจในเรื่อง CSR เช่นกัน ดูได้จากมาตรวัดจำนวนผู้ที่เข้าร่วมฟังการบรรยายและอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค (CSR Campus) ซึ่งได้จัดตระเวนไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้สนใจร่วมเฉียดพันคนในภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัด

ในห้องเรียน CSR Campus สัญจร นอกจากการบรรยายให้ความรู้ที่ถูกต้องเจาะลึกแล้ว ยังมีการพูดถึงเทคนิคการพัฒนา CSR ในกระบวนการธุรกิจ วิธีการดำเนินกิจกรรม CSR ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการดำเนินกิจการโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นตัวตั้ง และการทำเวิร์คชอปเพื่อร่วมกันคิดค้นและพัฒนากิจกรรม CSR เชิงกลยุทธ์ทั้งขององค์กร รวมทั้งแนวทาง CSR ของจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานทุกจังหวัด

ผลจากการระดมสมองในแต่ละจังหวัดผ่านโมเดล CSR Campus ทำให้สามารถรวบรวมประเด็น CSR ในสังคมอีสานได้ทั้งสิ้น 5 กลุ่ม ได้แก่ เรื่องข้าวและเกษตรอินทรีย์ การฟื้นฟูแหล่งผลิตและอารยธรรมดั้งเดิม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาเมืองและชุมชนน่าอยู่ และการแก้ไขภาวะโลกร้อน

นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคเหนือ เดือนกรกฎาคมนี้ คณะวิทยากรจากสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะร่วมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จับมือเดินสายเปิดห้องเรียนและค้นหาโมเดล CSR ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ csrcampus.com... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

Friday, June 13, 2008

CSR CAMP ที่เขาใหญ่


เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการประชุมผู้นำเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility : CSR) และเจ้าหน้าที่บริหารความรับผิดชอบประจำองค์กร (Corporate Responsibility Officer: CRO) หรือ "CSR CAMP" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำกรอบนโยบาย CSR เชิงบูรณาการ สำหรับการขับเคลื่อนงาน CSR ในภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดการประสานเพื่อสร้างพลังของการพัฒนาสังคมร่วมกัน

การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนองค์กรทั้งในภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานส่งเสริมภาครัฐ สถาบันวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมจำนวน 51 คน จาก 40 องค์กร อยู่ร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อระดมสมองในรูปแบบของค่ายความคิดที่มีกิจกรรมทั้งการให้ข้อมูล การบรรยาย การสนทนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และสันทนาการรอบกองไฟผูกเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน

ในงานได้มีการนำผลจากการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วย การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR Roundtable Series) จำนวน 4 ครั้งที่ได้จัดขึ้นในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2551 ซึ่งได้ประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนราว 200 คน มารายงานต่อที่ประชุม CSR CAMP และได้มีการหารือถึงบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ที่สามารถใช้กลไกการอำนวยการ (facilitating) การเป็นหุ้นส่วน (partnering) และการสนับสนุน (endorsing) ภาคธุรกิจให้สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม นอกเหนือจากการใช้อำนาจบังคับในทางกฎหมายเท่านั้น

เวิร์คชอปในด้านชุมชนและสังคม มีผู้แทนจากเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The NETWORK) เป็นผู้นำการประชุม ได้ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญในกรอบของการอำนวยการ เช่น มีมาตรการปรับระดับความรู้ความเข้าใจในเรื่อง CSR ของเจ้าหน้าที่รัฐ มีนโยบายการจัดการศึกษาเรื่อง CSR ให้เป็นหลักสูตรตั้งแต่ระดับโรงเรียน สร้างให้เกิดกระบวนการยกระดับ CSR ของคนในสังคมจากจริต (ความประพฤติ) ไปสู่จารีต (วัฒนธรรม) และพัฒนาแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิถีของสังคมไทย (เศรษฐกิจพอเพียง) ส่วนในกรอบของการเป็นหุ้นส่วน รัฐจะต้องมีนโยบายการบริหารจัดการที่เอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างธุรกิจและสังคม และในกรอบของการสนับสนุน รัฐควรส่งเสริมให้มีการจัดการด้านการบริโภคอย่างยั่งยืน เป็นต้น

เวิร์คชอปในด้านธุรกิจ มีผู้แทนจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เป็นผู้นำการประชุม ได้ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญในกรอบของการอำนวยการ เช่น การสร้างเครื่องมือจูงใจทางการเงิน การส่งเสริมให้มีการนำหลัก CSR สากลมาใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับกิจการ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน CSR ในเอเชีย รวมถึงการสร้างสิ่งจูงใจแก่องค์กรที่ดำเนินเรื่อง CSR อย่างมีนวัตกรรม ส่วนในกรอบของการเป็นหุ้นส่วน รัฐจะต้องสร้างกลไกการเชื่อมโยงระหว่างเอกชนและท้องถิ่น มีการพัฒนาฐานข้อมูล CSR อย่างบูรณาการ และในกรอบของการสนับสนุน รัฐควรส่งเสริมให้มีการผนวก CSR เข้ากับกระบวนการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

เวิร์คชอปในด้านสิ่งแวดล้อม มีผู้แทนจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำการประชุม ได้ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญในกรอบของการอำนวยการ เช่น รัฐควรกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐอย่างทั่วถึง การส่งเสริมให้มีหลักสูตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปลุกจิตสำนึก CSR ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนในกรอบของการเป็นหุ้นส่วน รัฐจะต้องมีกระบวนวิธีที่ทำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานให้เกิดความสอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ส่วนในกรอบของการสนับสนุน รัฐควรให้การสนับสนุนในเรื่องของการอนุรักษ์เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการกำหนดให้ CSR เป็นวาระแห่งชาติ เป็นต้น

สำหรับเวิร์คชอปในภาครัฐ มีการนำเสนอประเด็น CSR เชิงนโยบาย โดยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ และจากสำนักส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมีผู้แทนจากศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้นำการประชุม ได้ร่วมกันหารือถึงกรอบนโยบายในแต่ละประเด็นตามมิติความสำคัญ ความเร่งด่วน และโอกาสสำเร็จ พร้อมกับการระบุถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเป็นกรอบนโยบาย CSR เชิงบูรณาการที่จะนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป

นอกจากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่กล่าวถึงงาน CSR CAMP ครั้งนี้ยังได้มีเวที Dinner Talk สำหรับร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้นำเครือข่าย CSR และ CRO ภาคเอกชน โดยมีผู้แทนจากหลายองค์กรร่วมเป็นผู้นำการสนทนา อาทิเช่น กสท โทรคมนาคม, เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN), โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ไปรษณีย์ไทย, องค์การ PLAN ประเทศไทย ทำให้ได้ข้อมูลการทำงานด้าน CSR ของหน่วยงานต่างๆ

รวมทั้งเรื่องราวเบื้องหลังความประทับใจ ความยากลำบากในการฝ่าฟันเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลอย่างไม่ย่อท้อ จนกลายมาเป็นความอิ่มใจที่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวด้วยคำพูดใดๆ รวมทั้ง CSR CAMP คราวนี้ ยังได้มีฉันทามติแต่งตั้ง CSR AMBASSADOR คนแรกของเมืองไทย ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ความดีสู่สังคมในโอกาสต่อไป...(จากคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link

Friday, May 30, 2008

การทำงานด้านพระพุทธศาสนาในยุคไอที: ปัญหาและทางออก

 พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี : ช่วงที่ 1 (15.03 นาที)
 พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี : ช่วงที่ 2 (19.06 นาที)
 แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต : ช่วงที่ 1 (15.19 นาที)
 แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต : ช่วงที่ 2 (09.10 นาที)
 พิพัฒน์ ยอดพฤติการ : ช่วงที่ 1 (15.50 นาที)
 พิพัฒน์ ยอดพฤติการ : ช่วงที่ 2 (09.22 นาที)

ได้ร่วมในงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ประจำปีการศึกษา 2551 ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งในงานนี้ได้มีโอกาสร่วมอภิปรายกับ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี และแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ในหัวข้อเรื่อง “การทำงานด้านพระพุทธศาสนาในยุคไอที: ปัญหาและทางออก” มีคุณวุฒินันท์ กันทะเตียน นิสิตระดับปริญญาเอก เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยจัดขึ้นที่อาคารมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม 2551
 

Wednesday, May 14, 2008

CSR ในการนำเสนอข่าว

กระแสการดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กรธุรกิจในปัจจุบัน ได้ทวีความสำคัญและเป็นที่จับตาของสังคมเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่ไม่เคยให้ความสนใจกับการประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR ขององค์กร ก็หันมาศึกษาและค้นหาวิธีการในการเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

การที่องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญกับการสื่อสารกิจกรรม CSR สู่ภายนอกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ข่าวสารความเคลื่อนไหวในกิจกรรม CSR ขององค์กรต่างๆ ปรากฏในสื่อต่างๆ อย่างทวีคูณ การสื่อสาร CSR ในประเด็นต่างๆ ที่องค์กรต้องการให้สังคมรับรู้ จึงมีความหลากหลายซับซ้อนขึ้น หลายครั้งมีการหยิบยกเรื่อง CSR มาเป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร มีการกล่าวอ้างเรื่อง CSR เพื่อปกปิดพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของธุรกิจ หรือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสังคมต่อตัวกิจการให้จำกัดอยู่ในกรอบที่องค์กรธุรกิจต้องการ

แม้การส่งเสริมให้ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนควรให้การสนับสนุน แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้เท่าทันองค์กรธุรกิจที่อาศัยสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ โดยใช้เรื่อง CSR เป็นเครื่องนำทาง สื่อมวลชนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ รู้จักแยกแยะว่าเรื่องใดเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม เรื่องใดเป็นกิจกรรมเพื่อธุรกิจ รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทเชิงวิเคราะห์ (Analytical Role) ของสื่อมวลชน มิให้ถูกชักจูงและเชื่อคล้อยตามข้อมูลที่ได้รับโดยปราศจากความลังเลสงสัย และนำเสนอข่าวในมิติเดียว

นอกจากความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดีด้วยแล้ว สื่อมวลชนยังถูกคาดหวังให้มีการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ และเป็นหน้าด่านในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง CSR ที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อย่างน้อยที่สุด จะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่คัดกรองตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะส่งผ่านไปสู่กระบวนการบริโภคข้อมูลของสาธารณชน โดยไม่ผลักภาระให้แก่สังคมในการแยกแยะตัดสินแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากยังมีสังคมกลุ่มใหญ่ที่ขาดทักษะและวิจารณญาณในการบริโภคข้อมูลเหล่านี้เองได้

สื่อมวลชนจะต้องเป็นผู้ประสานงานที่ดีระหว่างธุรกิจกับสังคม การประสานงานในที่นี้คือ การเสนอตัวเข้าทำประโยชน์ให้แก่สังคม ทำหน้าที่ทั้งผู้ให้ความรู้ (Educator) และผู้ส่งเสริม (Promoter) เรื่อง CSR และเป็นผู้ช่วยชี้นำในทางที่ถูกต้อง ทั้งการส่งเสริมธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว หรือการสร้างกระแสกดดันให้ธุรกิจจำต้องปฏิบัติเพื่อมิให้สร้างความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่สังคม

สื่อมวลชนจะต้องเป็นผู้นำเสนอตัวอย่างที่ดีแก่สังคม เนื่องจากสื่อมวลชนมีอิทธิพลในการโน้มน้าวคนกลุ่มใหญ่ให้คล้อยตามหรือเห็นดีงาม มีการหยิบยกธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมาเป็นตัวอย่างให้แก่สังคมในด้านบวก เพื่อให้สังคมได้ชมเชยและธุรกิจอื่นๆ ที่เห็นดีด้วย สามารถที่จะนำไปปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันก็จะต้องเป็นผู้คัดค้านพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ด้วยการหยิบยกธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้แก่สังคมมาเป็นตัวอย่างในด้านลบ เพื่อธุรกิจอื่นๆ จะได้ไม่ปฏิบัติตาม และให้ได้รับการตำหนิจากสังคมเพื่อการแก้ไขปรับปรุง

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะต้องไม่ให้อิทธิพลของธุรกิจอยู่เหนือสำนึกรับผิดชอบ การนำเสนอข่าว CSR ของสื่อมวลชน ต้องไม่ถูกชี้นำโดยองค์กรธุรกิจแต่เพียงฝ่ายเดียว สื่อต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการสำรวจเชิงวิเคราะห์ต่อกิจกรรมที่องค์กรธุรกิจดำเนินการเพื่อสังคมว่าส่งผลกระทบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด ประโยชน์ที่สังคมได้รับเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ชุมชนที่เกี่ยวข้องมีความคิดเห็นอย่างไรต่อกิจกรรมที่องค์กรธุรกิจเข้ามาดำเนินการ

บทบาทที่สำคัญของสื่อมวลชนอีกประการหนึ่ง คือ เป็นผู้จำแนกรูปแบบการสื่อสารในการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม สามารถแยกแยะระหว่างกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) กับกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์ (PR) และทำหน้าที่นำเสนอสู่ประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ตลอดจนเป็นผู้โน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทางที่ดีขึ้น ด้วยการกระตุ้นความสนใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดการเข้ามีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรที่มีความรับผิดชอบ และคัดค้านการดำเนินงานขององค์กรที่ขาดความรับผิดชอบ

สำหรับการพิจารณาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมจากมุมมองภายในตัวสื่อเองนั้น จะเกี่ยวข้องกับจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางวิชาชีพอย่างใกล้ชิด เช่น หากสื่อเอาตัวเองไปผูกพันกับธุรกิจมากเกินไป การสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจรรยาบรรณก็มีความเป็นไปได้สูง สื่อมวลชนจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อจริยธรรมของตน และนำไปสู่การรักษาความเป็นกลางของสื่อ

การวางตัวเป็นกลางในที่นี้ มิใช่การเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ เพราะเกรงจะไปกระทบกับผู้เกี่ยวข้อง หรือการที่สื่อนำเสนอข่าวทั้งสองด้านเพื่อให้ผู้ที่พาดพิงและผู้ที่ถูกพาดพิงได้มีโอกาสชี้แจง ก็มิใช่การรักษาความเป็นกลาง แต่เป็นเรื่องของความเสมอภาค หรือการนำเสนอข่าวโดยไม่ยืนอยู่ข้างใดเลย ไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ห่วงใยความเป็นไปของสังคม ไม่ใช้วิจารณญาณในการคัดกรองความเหมาะสม อย่างการนำเสนอเรื่องดาราหย่าร้างตบตีกัน เรื่องถูกหวยถูกลอตเตอรี่ เรื่องผีเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องเกมลามก แล้วออกตัวว่าให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ล้วนมิใช่การดำรงบทบาทของความเป็นกลางอย่างถูกต้อง

การรักษาความเป็นกลางของสื่อ คือ การดำรงอยู่ในข้างที่ถูกต้อง อยู่ในฝั่งของคนดี เป็นการให้โอกาสคนดีได้มีบทบาทในสังคม เพราะคนดีย่อมสร้างระบบที่ดี และระบบที่ดีจะส่งเสริมให้คนดีได้มีโอกาสทำดีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องป้องปรามคนเลวให้ทำเลวยากขึ้นหรือไม่มีโอกาสทำเลวเลย

ความเป็นกลางจะเกิดขึ้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเลวไปสู่ดี จากการเอาเปรียบไปสู่การเสียสละ จากไร้สาระไปสู่สาระ รวมทั้งเป็นสื่อกลางที่ช่วยลดความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคม ซึ่งกำลังเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้...(จากคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link

Thursday, April 17, 2008

CSR ในมุมมองของ OECD


เศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ บรรษัทข้ามชาติที่กล่าวถึงนี้ เป็นได้ทั้งบรรษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินงานในประเทศและบรรษัทในประเทศที่ออกไปดำเนินงานในต่างประเทศ โดยหากกลุ่มบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้มีบรรทัดฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในการประกอบการอย่างโปร่งใส ไม่เอาเปรียบ และดูแลช่วยเหลือสังคม ก็ย่อมจะเป็นกลไกสาคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของสังคม

ในบริบทระหว่างประเทศ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1961 โดยพัฒนามาจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นยุโรป ได้มีการพัฒนาแนวปฎิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติที่สามารถยึดถือปฏิบัติโดยสมัครใจเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ซึ่งแนวปฎิบัติดังกล่าวเรียกว่า “แนวปฎิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ” (OECD Guidelines for Multi-National Enterprises)

OECD ได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในหมู่ชาติสมาชิก 30 ประเทศ และการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกว่า 100 ประเทศ

แนวปฎิบัติ OECD เป็นข้อแนะนำการปฏิบัติที่เป็นไปโดยสมัครใจต่อการประกอบการของบรรษัทข้ามชาติ ที่มิใช่ข้อบังคับหรือเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า ถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาลในกลุ่มประเทศ OECD และกลุ่มประเทศนอก OECD อื่นๆ โดยแนวปฎิบัติดังกล่าว มุ่งที่จะให้กลุ่มบรรษัทข้ามชาติดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในมิติที่หลากหลาย

ปัจจุบัน รัฐบาล 39 ชาติ จากประเทศสมาชิก 30 ประเทศและประเทศที่มิใช่สมาชิกอีก 9 ประเทศได้แนะนำให้ธุรกิจใช้แนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines for MNEs) ในการดำเนินงานที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์กับแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต้านทุจริต และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างตัวกิจการและภาคสังคมเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศและการขยายบทบาทการเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

ความรับผิดชอบหลักของกิจการในมุมมองของ OECD ต่อการมีส่วนร่วมของธุรกิจโดยพื้นฐาน ก็คือ การทำธุรกิจ ดังนั้น บทบาทของธุรกิจต่อสังคม คือ การดำเนินการลงทุนเพื่อที่จะให้ผลตอบแทนที่เพียงพอแก่สังคมผู้ส่งมอบทรัพยากรต่างๆ ให้กิจการนำมาใช้ประโยชน์ นั่นคือ การสร้างงาน และการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ตามที่สังคมต้องการ

อย่างไรก็ดี ความรับผิดชอบของกิจการในบริบทของ CSR อยู่นอกเหนือจากหน้าที่หลักดังกล่าว แม้กิจการมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ในทางปฏิบัติ มักต้องคำนึงถึงความคาดหวังจากสังคมที่มิได้ระบุอยู่ในข้อกำหนดทางกฎหมาย ทุกวันนี้ ธุรกิจจึงเผชิญกับความท้าทายไม่เฉพาะการดำเนินงานที่ต้องถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องไม่ขัดกับจารีตของสังคมด้วย

ปัจจุบัน ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องประสิทธิผลของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่เป็นไปโดยสมัครใจ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าจะเป็นหนทางนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่มีประสิทธิผลสำหรับการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง มองว่าเป็นเพียงภาพของการประชาสัมพันธ์ที่ไร้ผล หากแต่ต้องใช้วิธีกำหนดเป็นข้อผูกมัดทางกฎหมายและบังคับให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านั้น

สมาชิกประเทศ OECD เชื่อว่าการริเริ่มโดยสมัครใจจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจและสังคมหาหนทางที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ในหลายกรณีที่ซึ่งมาตรฐานของการปฏิบัติทางธุรกิจอันเป็นที่ยอมรับได้ยังคงมีความคลุมเครืออยู่ เห็นได้จากผลสำรวจของ OECD ในกิจการซึ่งมีการว่าจ้างหน่วยงานภายนอกทำงานให้ (Outsourcing) แทบทั้งหมดที่ได้เปิดเผยนโยบายเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานหลักตามแนวปฏิบัติของ OECD ได้ยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานที่ประกาศให้ผู้ส่งมอบรับทราบได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเทียบกับเมื่อปลายทศวรรษ 1990 แล้วจะมีตัวเลขที่แตกต่างกันมาก

กระนั้นก็ตาม กิจการ 118 แห่งจากการสำรวจกิจการที่ดำเนินธุรกิจในสาขาที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานแรงงานหลักเป็นพิเศษจำนวน 147 แห่ง กลับไม่ยอมเปิดเผยนโยบายการว่าจ้างทำงานให้ ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นทั้งหลักฐานสนับสนุนความก้าวหน้าอย่างสำคัญต่อการสร้างบรรทัดฐานที่มีประสิทธิผลจากการดำเนินโดยสมัครใจ และหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าหลายกิจการน่าจะสามารถปฏิบัติได้มากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

ฉะนั้น การปล่อยให้ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการเป็นไปอย่างสมัครใจทางเดียว โดยปราศจากข้อผูกมัดและกฎระเบียบนั้น ก็ดูออกจะใสซื่อเกินไป OECD จึงสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ สร้างพันธะที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เช่น การมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาต่อการให้สินบนของเจ้าหน้าที่รัฐในต่างแดน หรือการบังคับใช้กฎหมายภาษีระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกัน OECD ก็ได้ย้ำเตือนว่า การใช้วิธีตราและบังคับด้วยข้อกฎหมายอย่างเดียวจะเป็นการแก้ปัญหาระดับโลกนี้ได้ทั้งหมดนั้น ก็ดูออกจะเลื่อนลอยเกินความเป็นจริงเช่นกัน

การริเริ่มที่ว่าด้วยความสมัครใจนั้น อันที่จริงแล้วก็ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงเท่าใดนัก เพราะคำว่า “สมัครใจ” ตามพจนานุกรม คือการกระทำที่ปราศจากการบังคับหรือการชักจูงจากภายนอก หากยึดตามนิยามดังกล่าวก็จะเห็นว่า หลายกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นนั้น มิได้เกิดจากความสมัครใจที่แท้จริง แต่เป็นการริเริ่มที่ตอบสนองต่อแรงจูงใจทางการเงิน แรงกดดัน (ที่มิใช่การบังคับ) ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ เช่น กฎระเบียบทางสิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรปที่เสนอสิ่งจูงใจ (Incentives) ให้สำหรับการดูแลจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือการผ่อนปรนคำตัดสินลงโทษ (Lenient Sentences) ในแนวปฏิบัติพิพากษาของสหรัฐต่อกิจการที่แสดงให้เห็นได้ว่ามีระบบบริหารจัดการที่เชื่อถือได้ในการป้องกันการละเมิดกฎหมายของพนักงาน

ด้วยเหตุนี้ ความคิดที่เชื่อว่าวิธี “การผูกมัดให้ทำ” จะให้ผลที่แตกต่างไปจาก “การริเริ่มเอง” จึงฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการริเริ่มเหล่านี้กลายเป็นองค์ประกอบที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากระบบที่มีอิทธิพลต่อวิธีปฏิบัติทางธุรกิจ สิ่งที่ท้าทายกว่าคือการส่งเสริมให้เกิดส่วนประสมที่ทำงานได้ (Workable Mix) ระหว่างการริเริ่มด้วยความสมัครใจเองจริงๆ กับการริเริ่มที่ตอบสนองต่อแรงจูงใจภายนอก และนำผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าสู่การดำเนินความรับผิดชอบตามบทบาทของตนเอง

การริเริ่มเองจากภายในเป็นบทบาทที่กิจการแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่สูงขึ้น แต่กิจการโดยลำพังก็ไม่สามารถที่จะสร้างบรรทัดฐานแห่งการปฏิบัติได้สำเร็จ หากปราศจากบทบาทของภาครัฐและภาคประชาสังคมต่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแสดงบทบาทของตน โดยเฉพาะในแนวปฏิบัติของ OECD ระบุไว้ว่า ธุรกิจไม่ควรถูกเรียกร้องให้ทำหน้าที่รับผิดชอบในบทบาทของภาคีอื่น โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ของรัฐ รูปธรรมในแนวปฏิบัติของ OECD ยังชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันระหว่างเอกชนและรัฐ (Private-Public Partnerships)

โดนัลด์ จอห์นสตั้น อดีตเลขาธิการ OECD (1996-2006) ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเชื่อมั่นว่าระบบกฎหมายและกฎระเบียบจะเป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมองค์กรให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยประสบการณ์อย่างยาวนานของการเป็นทั้งนักกฎหมายและเป็นผู้ออกกฎหมาย แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนความคิดและเชื่อว่าหลักการดังที่ปรากฎในแนวปฏิบัติของ OECD จะนำไปสู่การพัฒนาพลเมืองบรรษัทที่ดี (Good Corporate Citizenship) ภายใต้แรงจูงใจบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องถูกบังคับด้วยกฎหมาย แนวปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้บรรดาบรรษัทต่างๆ สามารถที่จะดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และยังช่วยให้องค์กรเหล่านั้นได้เข้าใจด้วยว่าการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบที่สมควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร...(จากคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

(เรียบเรียงจาก Promoting Corporate Responsibility: The OECD Guidelines for Multinational Enterprises, 2004)

Tuesday, March 25, 2008

CSR กับการบริโภคที่ยั่งยืน

แนวคิดของการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption) เกิดขึ้นควบคู่กับเรื่องการผลิตที่ยั่งยืน โดยองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้นิยามไว้ในเอกสาร Advancing Sustainable Consumption in Asia : A Guidance Manual ซึ่งเผยแพร่ในปี 2548 ว่าเป็นแนวทางของการบริโภคสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล พร้อมไปกับการลดผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั้งในยุคปัจจุบันและในอนาคต อันก่อให้เกิดผลเกี่ยวเนื่องสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

การส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนประเทศไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเอากลยุทธ์การตลาดสีเขียว (Green Marketing) มาใช้ในภาคธุรกิจ ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าสีเขียว (Green Products) ออกสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดสีเขียวของประเทศไทยยังช้ากว่าประเทศอื่นๆ มาก เนื่องจากผู้บริโภคไทยไม่ค่อยผนวกเอาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อพิจารณาในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ จึงทำให้การตลาดสีเขียวของไทยยังไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าใดนัก การรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นผู้บริโภคสีเขียว (Green Consumers) อย่างจริงจัง จึงเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริโภคที่ยั่งยืนในสังคมไทยเกิดผลในเชิงรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ร่วมกับ สถาบันไทยพัฒน์ และหอการค้าไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ภายใต้หัวข้อ “สังคมไทยกับแบบแผนการบริโภคที่ยั่งยืน” ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มี.ค. 2551 ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ (บ้านราชวิถี) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจต่างๆ มาร่วมระดมความเห็น โดยมีการนำเสนอภาพรวมของการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนในประเทศไทย พร้อมกับการอภิปรายสถานการณ์การบริโภคในปัจจุบันที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการระดมสมองเพื่อค้นหาแนวทางปฏิบัติด้าน CSR ในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกำหนดนโยบาย CSR และร่วมผนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

Wednesday, March 05, 2008

จาริกบุญ ณ ศรีลังกา

เป็นความโชคดีในเรื่องเวลาที่ปลอดจากการบรรยายและกิจกรรมในงานวิจัยให้คำปรึกษาต่างๆ จึงทำให้ได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ วัดภัททันตะอาสภาราม ในการจาริกบุญ ณ ประเทศศรีลังกา ในระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2551

คณะผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ ประกอบด้วยพระภิกษุ 3 รูปและฆราวาส 12 ท่าน ได้เดินทางกราบนมัสการ ต้นพระศรีมหาโพธิ์เมืองอนุราธปุระ อดีตเมืองหลวงเก่าของศรีลังกา ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ เป็นหน่อที่แยกมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรกที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งบำเพ็ญจนตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งพระนางสังฆมิตตาเถรี พระภิกษุณี อดีตราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำมาประดิษฐานไว้เมื่อราว 2,200 ปีมาแล้ว และกินเนสบุ๊คได้บันทึกไว้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลก

เมืองที่ตั้งชื่อตามกลุ่มของดวงดาวอนุราธ ซึ่งหมายถึง ความมั่นคง ความสมบูรณ์พูนสุข และเป็นเมืองหลวงมายาวนานถึง 1,500 ปี แห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของวัดอิสุรุมุณิยะ (Isurumuniya Vihara) ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 3 ซึ่งเชื่อกันว่าพระมหินท์อรหันต์ ราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เคยมาจำพรรษาแรกที่วัดแห่งนี้ และพระมหาเจดีย์รุวันเวลิสายะ (Ruwanweliseya) หรือที่เรียกว่าพระเจดีย์สุวรรณมาลิก ที่ใหญ่และงดงาม เป็นต้นแบบพระเจดีย์ทรงโอคว่ำที่ถูกสร้างขึ้นในยุคหลัง เช่น พระปฐมเจดีย์ ในไทย รวมถึงวัดถูปาราม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุพระรากขวัญเบื้องขวา (กระดูกไหปลาร้าของพระพุทธเจ้า)

เมืองโปโลนารุวะ ได้กราบนมัสการพระอวุกนะ (Avukana) ที่มีความหมายว่า Sun eating เป็นพระยืนปางประทานพร ขนาดสูง 13 เมตร อายุกว่า 1,000 ปี เป็นพระพุทธรูปที่มีสภาพสมบูรณ์ประทับยืนที่หน้าผา สร้างโดยพระเจ้าธาตุเสนะ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 จากนั้น ได้เยี่ยมชมถ้ำดัมบูลาเมืองดัมบูลา ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี และเคยเป็นที่พำนักของกษัตริย์ Walagamba ถึง 14 ปี ภายในถ้ำจะประกอบไปด้วยพระเจดีย์ พระพุทธรูปแกะสลักหินปางสมาธิ และภาพวาดพระพุทธรูปสีสันงดงามตามผนังถ้ำที่มีอยู่ถึง 5 ห้องด้วยกัน

เมืองสิกิริยา ได้เดินทางขึ้นเขาสิกิริยา (Sigiriya Rock Fortress) ที่อดีตเคยเป็นป้อมปราการระฟ้า (Fortress in the sky) อันเลื่องชื่อ ในระหว่างทางขึ้นยอดเขา ยังพบภาพวาดสีเฟรสโก้รูปหญิงสาวชาวสิงหล ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี ปรากฏให้เห็นร่องรอยตามผนังภูผา

เมืองแคนดี้ ได้กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดพระทันตธาตุ (Sacred Tooth Relic Temple) โดยพระทันตธาตุเขี้ยวแก้วองค์นี้ เป็นส่วนพระทนต์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ในสถูปทองแวววาวซ้อนกันถึง 7 ชั้น ตามตำนานเชื่อกันว่ามีทั้งสิ้น 4 องค์ โดยพระอินทร์เก็บรักษาไว้บนสวรรค์ชั้นฟ้าองค์หนึ่ง พญานาคาเก็บไว้ในบาดาลองค์หนึ่ง ส่วนองค์ที่ 3 อยู่ที่แค้วนคันธาระในอัฟกานิสถาน ซึ่งต่อมา หลวงจีนฟาเหียนอันเชิญมาไว้ที่นานกิง ในประเทศจีน ก่อนที่จะไปประดิษฐานที่วัดหลิงกวง ชานกรุงปักกิ่ง และองค์ที่ 4 อยู่ที่กรุงแคนดี้ อดีตราชธานีของศรีลังกา มาตราบจนปัจจุบัน ชาวศรีลังกาถือว่าพระธาตุเขี้ยวแก้ว คือศูนย์รวมดวงใจและเป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธาสูงส่งในพระพุทธศาสนา

กรุงโคลัมโบ ได้กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและพระเจดีย์ ที่วัดกัลยาณีราชมหาวิหาร วัดนิกายสยามวงศ์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโคลัมโบ ซึ่งชาวศรีลังกาเชื่อว่า เมื่อกว่า 2,500 ปี มาแล้ว พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ทองคำที่วัดแห่งนี้ และพระพุทธเจ้าได้ทรงเทศน์โปรดชาวสิงหลเป็นครั้งแรกยังสถานที่นี้ ในวัดแห่งนี้ ยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 13 หน่อที่แยกมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อนุราธปุระด้วย

ในระหว่างตลอดเส้นทางการเดินทาง คณะได้ร่วมกันบริจาคทำบุญในสถานที่สำคัญต่างๆ ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจกันถ้วนหน้า ในโอกาสนี้ ผมก็ขอส่งกุศลผลบุญที่เกิดขึ้นจากการจาริกบุญในครั้งนี้ และที่มีมาก่อนหน้า ให้แก่ผู้อ่านทุกๆ ท่านโดยทั่วกัน

Tuesday, February 26, 2008

ปัจฉิมลิขิต พอเพียงภิวัตน์

ตั้งแต่ที่คอลัมน์พอเพียงภิวัตน์ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2549 เพื่อนำเสนอประเด็นและมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับปรัชญาและการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในด้านต่างๆ จวบจนวันนี้ “พอเพียงภิวัตน์” ได้ทำหน้าที่มาเป็นเวลา 1 ปี กับอีก 4 เดือน รวมทั้งสิ้น 65 ตอนด้วยกัน และขอเรียนท่านผู้อ่านว่า บทความตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์พอเพียงภิวัตน์ โดยเป็นการรวบรวมเนื้อหาที่สำคัญๆ จากตอนต่างๆ ที่ผ่านมา นำเสนอในแบบเมดเลย์ส่งท้าย

หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมิได้ขัดกับกระแสโลกาภิวัตน์ ตรงกันข้าม กลับไปส่งเสริมให้กระแสโลกาภิวัตน์ได้รับการยอมรับมากขึ้น ด้วยการเลือกรับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในแง่ดีต่อประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ไม่ดีและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อจำกัดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อความเสียหายหรือไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประเทศ ทำให้การพัฒนาและบริหารประเทศยังคงดำเนินต่อไปได้

การพิจารณาว่าสิ่งใดควรรับหรือสิ่งใดไม่ควรรับภายใต้การเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของความพอประมาณในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มิใช่การจำนนต่อสภาพของโลกาภิวัตน์ ที่ต้องรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ก็มิใช่การปฏิเสธแบบหัวชนฝาว่าไม่เอาโลกาภิวัตน์ทั้งหมด

หนทางที่จะพิจารณาเช่นนี้ได้ ผู้บริหารประเทศและประชาชนในประเทศจำต้องมีความสามารถในการพิจารณาเหตุและผล นั่นคือ การรู้ถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และการรู้ถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจหรือการกระทำนั้นๆ อย่างครบถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นน้อยที่สุด ความสามารถในการพิจารณาเหตุและผลนี้ จะต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรมที่พรั่งพร้อมในตัวของผู้บริหารประเทศและประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ (จากตอน “เศรษฐกิจพอเพียงกับกระแสโลกาภิวัตน์”)

คำว่า พอเพียง ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตรงกับคำว่า Sufficiency Economy นั้น มีความหมายกว้างกว่าแค่การพึ่งตนเองได้ เศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่มีการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันดำเนินงานในเรื่องต่างๆ มีการสร้างเครือข่ายและการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยประสานความร่วมมือกับภายนอก เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่แค่เพียงเรื่องของการพึ่งตนเองโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร และมิใช่แค่เรื่องของการประหยัด แต่ยังครอบคลุมถึงการข้องเกี่ยวกับผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน (จากตอน “เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่เรื่องการพึ่งตนเอง”)

ทัศนคติที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้การพัฒนาตนเองหยุดชะงักหรือถอยหลังและไม่คบค้าสมาคมกับผู้อื่นนั้น ไม่ถูกต้อง ตรงกันข้าม เศรษฐกิจพอเพียงมิได้สิ้นสุดที่ความพอเพียงในทางเศรษฐกิจแห่งตน แต่ยังเป็นวิถีทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งในเชิงลึกที่ก้าวสูงขึ้นและในเชิงราบที่แผ่กว้างออกไปสัมพันธ์กับผู้อื่น เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว (จากตอน “เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง”)

การพัฒนาประเทศเพื่อไปให้ถึงที่หมายนั้น มิใช่การวัดเพียงอัตราการเติบโตในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการพัฒนาและการเติบโตมีความหมายต่างกัน เศรษฐกิจอาจขยายตัวหรือเจริญเติบโตตามการผลิตหรือการบริโภคที่เพิ่มขึ้น หรือตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ เข้าทำนองว่า “โตแต่ตัว” แต่อาจไม่มีนัยของการพัฒนาที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มั่นคงและยั่งยืน (จากตอน “ที่หมายประเทศไทยในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียง”)

ความพยายามในการแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมไทยมีความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน จะต้องมาจากพื้นฐานการเมืองที่มีความโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอย่างแท้จริง มีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ส่งเสริมการกระจายรายได้ สร้างวัฒนธรรมการออมและสร้างวินัยในการใช้จ่าย ไม่มุ่งเน้นการเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนและพัฒนาจนทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ต้องดำรงขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านทุนและเทคโนโลยีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (จากตอน “เปิดประตูประเทศ แต่ปิดโอกาสประชา”)

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลเท่าที่ควร เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใสของภาครัฐและปัญหาการกระจายรายได้ ซึ่งทั้งสองปัญหานี้ส่งผลในเชิงที่เป็นปฏิกิริยาเสริมกัน กล่าวคือ ความไม่โปร่งใสทางการเมืองเป็นผลให้มีปัญหาในการกระจายรายได้ ขณะที่การมีปัญหาการกระจายรายได้ทำให้ผู้มีรายได้น้อยในชนบทตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจการเมือง อันเป็นสาเหตุของความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐ เนื่องจากทั้งสองปัญหานี้มีลักษณะเสริมกัน การแก้ไขปัญหาจึงควรดำเนินการไปพร้อมกันโดยมีจุดเน้นที่การแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสทางการเมือง (จากตอน “การเมืองแบบสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง”)

ภาพแห่งการพัฒนาประเทศในขวบปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมไทยยังมีวิกฤตการณ์หลายด้านที่ยังไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างที่หวัง แม้รัฐบาลชุดที่แล้วจะมีภาพลักษณ์ของการยึดเจตนารมณ์ในแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน แต่ก็ประสบกับความล้มเหลวในการถ่ายทอดแผนงานที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม การอภิวัตน์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในปี 2550 จึงมีแต่วาทกรรม แต่ไร้ซึ่งผลเชิงประจักษ์ในทางปฏิบัติ ประเด็นวิกฤติที่สำคัญๆ ยังคงอยู่ดังเดิม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

สังคมไทยต้องการรัฐบาลที่สามารถปรับทิศทางการพัฒนาประเทศให้อยู่ในวิถีของความพอเพียง โดยมุ่งแก้ไขประเด็นวิกฤติต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง ประชาชน ได้เลือกท่านเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ขอให้พวกท่านในฐานะผู้แทนราษฎรพึงได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบระหว่างประโยชน์สุขของคนไทยทั้งประเทศกับส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่ต่อรองกัน (จากตอน “ลาที สมญารัฐบาลพอเพียง”)

ขอบพระคุณท่านผู้อ่านทุกท่านสำหรับการติดตามบทความซีรีส์พอเพียงภิวัตน์มาโดยตลอด และคอยพบกับบทความซีรีส์ชุดใหม่ในโอกาสต่อไป ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

รวมบทความพอเพียงภิวัตน์

1. เศรษฐกิจพอเพียงกับกระแสโลกาภิวัตน์
2. "ขาดทุนคือกำไร" : หลักพอเพียงของเมกะโปรเจค
3. สร้างทุนนิยมให้พอเพียงได้อย่างไร
4. กับดักดัชนีความสุข
5. เมื่อยขากันหรือยัง
6. เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่เรื่องพึ่งตนเอง
7. EVA : เครื่องมือจัดการธุรกิจแบบพอเพียง ?
8. การจัดการความรู้ในเศรษฐกิจพอเพียง
9. หลักการทรงงาน 9 ประการ
10. ฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วย “ทฤษฎีใหม่”
11. ปฏิรูปการศึกษาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
12. สร้างภูมิคุ้มกันท้องถิ่นด้วยระบบแลกเปลี่ยนชุมชน
13. ศักราชแห่งความพอเพียงในชนทุกระดับชั้น
14. ซีเอสอาร์ : รูปธรรมของความพอเพียงในธุรกิจ
15. เศรษฐกิจพอเพียงในมุมมองของ UNDP
16. การผลิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
17. บริโภคอย่างไรให้ชีวิตสมดุล
18. เรื่องที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับทักษิโณมิกส์
19. เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง (1) (2)
20. อย่างไรถึงเรียกว่ามีเหตุผล
21. ตรวจการบ้านรัฐบาล กับข้อเสนอแนะ 6 ประการ (1)
22. ตรวจการบ้านรัฐบาล กับข้อเสนอแนะ 6 ประการ (2)
23. ตรวจการบ้านรัฐบาล กับข้อเสนอแนะ 6 ประการ (3)
24. พอเพียงแล้วห้ามกู้เงินหรือไม่
25. กระตุ้นเศรษฐกิจแบบ 3 ชั้น
26. การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจที่ชั้นฐานราก
27. "แก้มลิง" ทางการเงิน
28. จะเลือก ความผาสุก หรือ GDP
29. เล่นหวย + ออมเงิน = หวยออม
30. ก้าวแรก โรดแมพเศรษฐกิจพอเพียง
31. Scenario Planning: เครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกันในธุรกิจ
32. Balanced Scorecard: เครื่องแสดงอิทัปปัจยตาทางธุรกิจ
33. สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กับการพัฒนาประเทศ
34. ประเทศไทยกำลังขาดทั้งเครื่องยนต์และพวงมาลัย
35. ที่หมายประเทศไทยในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียง
36. จุดตรวจตราความพอเพียงของเศรษฐกิจชุมชน
37. ดัชนี GNH (สุขแต่เฉื่อย) - GDP (เหนื่อยแต่ทุกข์)
38. ค่าเงินบาท กับ หน้าที่ของเงิน
39. จากแผนฯ 1 สู่แผนฯ 10: สังคมได้อะไรบ้าง
40. บรรษัทภิบาล vs. บรรษัทบริบาล
41. การกระจาย ผลผลิต-รายได้-ความสุข
42. ประชามติ พอเพียงหรือไม่
43. ด้านมืดของโลกาภิวัตน์
44. ธรรมะในเศรษฐกิจพอเพียง
45. ศีล 4 กับเศรษฐกิจพอเพียง
46. เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม
47. สังคหวัตถุ 4 กับการนำไปใช้ในเรื่อง CSR
48. อยากเห็นพรรคธัมมิกสังคมนิยม
49. โรดแมพประเทศไทยฉบับพอเพียง
50. อรรถประโยชน์กับข่าวการเมือง
51. 9 ปี ของสังคมไทยกับความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง
52. การเมืองแบบสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง
53. เปิดประตูประเทศ แต่ปิดโอกาสประชา
54. อย่าถลุงเทคโนโลยีและพลังงานจนเพลิน
55. การศึกษาแบบพอเพียง ไม่ใช่ให้เพียงพอ
56. วันนี้ เรามีระบบสุขภาพพอเพียงแล้วหรือยัง
57. รัฐบาลใหม่กับปัญหาสินบนและความโปร่งใส
58. ลาที สมญารัฐบาลพอเพียง
59. กระแสบรรษัทบริบาล (CSR) ปีหนู
60. อย่าให้นวนิยายกลายเป็นเรื่องจริง
61. การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
62. ชาวโมโซในสังคมพอประมาณ
63. สำรวจทิศทาง CSR ขององค์กรธุรกิจ
64. หลักธุรกิจในเศรษฐกิจพอเพียง
65. 7 อุปนิสัยช่วยหยุดโลกร้อน
66. ปัจฉิมลิขิต พอเพียงภิวัตน์

Wednesday, February 20, 2008

รัฐ เกี่ยวอะไรกับ CSR

ยังจำได้ว่า เมื่อตอนที่เข้าไปผลักดันงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในหน่วยงานของรัฐ มักจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า "ภาครัฐไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเรื่องซีเอสอาร์ มันเป็นเรื่องของภาคธุรกิจเขามิใช่หรือ" หรือได้รับคำตัดพ้อทำนองว่า "แค่ภารกิจที่มีอยู่ก็มากพออยู่แล้ว ทำไมต้องไปหยิบเรื่องพรรค์นี้มาทำด้วย เราเชี่ยวชาญซะเมื่อไร ปล่อยให้ธุรกิจเขาทำไปเถอะ"

แม้ห้วงเวลานั้น จะได้มีโอกาสอธิบาย ถึงความเกี่ยวข้องของภาครัฐ กับงานซีเอสอาร์ จนเป็นที่เข้าใจกันในหมู่ผู้ร่วมเคลื่อนงานในขณะนั้น มาวันนี้ คำถามดังกล่าว ก็ได้หวนกลับมาให้ได้ยินอีกครั้งจากเจ้าหน้าที่กลุ่มใหม่ๆ ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องซีเอสอาร์ ซึ่งเป็นบทบาทของภาคธุรกิจเป็นคำรบสอง

หากมองย้อนกลับกัน จะพบว่าในสมัยหนึ่ง นักธุรกิจก็เคยตั้งคำถามทำนองเดียวกันนี้ว่า "ธุรกิจไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเรื่องดูแลสังคม มันเป็นเรื่องของภาครัฐเขามิใช่หรือ" หรือที่แข็งกร้าวหน่อย ก็จะกล่าวว่า "ธุรกิจมีหน้าที่ในการแสวงหากำไร ใครที่คิดจะช่วยเหลือสังคม ก็ไปตั้งมูลนิธิไป"

แต่ยุคสมัยนี้ นักธุรกิจกลับยอมรับบทบาทของการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม ไปพร้อมๆ กับการดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร ภายใต้บริบทของซีเอสอาร์ หลายองค์กรธุรกิจมีการตั้งหน่วยงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมขึ้นเป็นการเฉพาะ กระทั่งถึงการตั้งตำแหน่งผู้รับผิดชอบงานด้านซีเอสอาร์ขึ้นในองค์กรให้ทำหน้าที่ "เจ้าหน้าที่บริหารความรับผิดชอบประจำองค์กร" (Corporate Responsibility Officer: CRO) เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสังคมอย่างเต็มเวลา

คำถามมีต่อว่า "แล้วการทำงานของหน่วยงานภาครัฐมีอะไรที่บกพร่องหรือไร ธุรกิจถึงต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลสังคมร่วมด้วย" ข้อคำถามนี้ มิได้มีเจตนาจะให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องมาตอบคำถามที่ทำให้วงแตกหรือต้องค้นหาเหตุผลเพื่อปกป้องการปฏิบัติหน้าที่ของตนแต่ประการใด เพียงแต่ต้องการใช้คำถามเพื่อตอบคำถามที่ว่า "เหตุใด รัฐจึงต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องซีเอสอาร์"... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

Tuesday, February 19, 2008

7 อุปนิสัยช่วยหยุดโลกร้อน

1. Rethink ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง กระแสการรณรงค์เรื่องโลกร้อนจะไม่เกิดผลสำเร็จใดๆ หากทุกคนที่ได้รับฟังข้อมูลไม่ตระหนักว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลง การรอคอยให้ผู้อื่นทำไปก่อน แล้วเราจึงค่อยคิดจะทำนั้น จะทำให้ท่านได้รับการดูแลจากธรรมชาติเป็นคนท้ายๆ โลกได้ส่งสัญญาณดังขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว น้ำท่วม ลมพายุ และอุณหภูมิที่แปรปรวนอย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เราอาจเป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายจากสึนามิเพราะแผ่นดินไหว เครื่องบินตกเพราะฝนกระหน่ำ ป้ายล้มทับเพราะลมพายุ หรือถูกไฟดูดเพราะน้ำท่วม กฎธรรมชาติที่อยู่ปลายจมูก คือ โลกดูแลเรา เพราะเราดูแลโลก โลกทำร้ายเรา เพราะเราทำร้ายโลก เราไม่สามารถหลีกลี้หนีไปจากโลกได้ ฉันใด โลกก็จะตามไปดูแลหรือทำร้ายท่านได้ในทุกหนทุกแห่ง ฉันนั้น

2. Reduce โลกร้อน เพราะเราเผาผลาญทรัพยากรเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะหมุนเวียนได้ทัน โลกบูด เพราะเราบริโภคเกินจนเกิดขยะและของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ทัน ไม่มีใครปฏิเสธว่า เราทุกคนต้องการอยู่ในโลกที่เย็นและโลกที่หอม ฉะนั้น จงช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรให้เหลือแต่เท่าที่จำเป็น ช่วยกันลดการบริโภคเพื่อไม่ให้เกิดขยะและของเสียจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่ ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ต้องใช้เวลาชั่วอายุคนในการย่อยสลาย เช่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก กล่องโฟม ฯลฯ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์โดยหันมาบริโภคพืชผักผลไม้ทดแทน เพื่อลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในห่วงโซ่อาหาร ลดการใช้กระดาษในสำนักงาน ลดการพิมพ์หนังสือพิมพ์ นิตยสาร จดหมายข่าว หรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นรายงวดประจำให้พอเหมาะพอดีกับจำนวนผู้อ่าน โดยไม่ต้องอิงกับยอดของการทำให้แพร่หลาย (circulation) รวมทั้งลดการซื้อผลิตภัณฑ์ซึ่งใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

3. Reuse สำรวจของที่ซื้อมาแล้วเพิ่งใช้เพียงหนเดียวว่า สามารถใช้ประโยชน์ซ้ำได้หรือไม่ ก่อนที่จะซื้อใหม่ เช่น เครื่องแต่งกาย รองเท้า กระเป๋า กระดาษ ภาชนะใส่ของ ฯลฯ การใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ เช่น ถุงหิ้วพลาสติก กล่องใส่ของ ฯลฯ หรือหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (disposables) เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การใช้ผ้าเช็ดโต๊ะแทนกระดาษชำระ การใช้ขวดน้ำยาล้างสุขภัณฑ์ชนิดเติมซ้ำได้ (refillable) โปรดอย่าลืมว่าประโยชน์ใช้สอยในทางเศรษฐศาสตร์จะยิ่งเพิ่มขึ้น ถ้าสิ่งของนั้นยิ่งถูกใช้งาน ฉะนั้น การซื้อของมีคุณภาพที่ราคาสูงกว่า แต่ใช้งานได้ทนนาน จะดีกว่าซื้อของที่ด้อยคุณภาพในราคาถูก แต่ใช้งานได้เพียงไม่กี่ครั้ง

4. Recycle เป็นการนำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ เริ่มจากการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ ฯลฯ การลงมือปรับแต่งของใช้แล้วในบ้านให้เกิดประโยชน์ใหม่ เช่น การเก็บกรองน้ำชะล้างมารดน้ำต้นไม้ การนำของขวัญที่ได้รับในเทศกาลต่างๆ มาตกแต่งเพื่อใช้เป็นของขวัญแก่ผู้อื่นต่อ (recycled gift) โดยมีกิตติกรรมประกาศแก่ผู้ให้เดิมเป็นทอดๆ ฯลฯ การคัดแยกขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เองมอบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกิจวัตร เช่น ขวดพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม กระดาษหนังสือพิมพ์ นิตยสารเก่า แผ่นซีดีชำรุด แบตเตอรี่มือถือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ และหากพบว่ามีสิ่งของหลายอย่างที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้งานอีกเลย ก็ควรนำไปบริจาคให้แก่ผู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ผ่านหน่วยรับบริจาคต่างๆ เช่น วัดสวนแก้ว หรือประกาศผ่าน freecycle.org (bangkok) ดีกว่าทิ้งให้เสื่อมโทรมหรือเก็บไว้เฉยๆ โดยเปล่าประโยชน์

5. Repair ของหลายอย่างสามารถซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเดิม แต่ผู้บริโภคกลับได้รับการปลูกฝังค่านิยมให้ต้องเปลี่ยนหรือซื้อของใหม่ใช้อยู่ตลอด ด้วยเหตุที่ผู้ผลิตต้องการรักษาตัวเลขยอดขายสินค้าและชิ้นส่วนให้ได้มากที่สุด จนทำให้ค่าบริการหรือค่าซ่อมแพงกว่าการซื้อของใหม่ใช้ ฉะนั้น วิธีการแรก คือ พยายามใช้ของให้ถูกวิธีเพื่อยืดอายุการใช้งานและหลีกเลี่ยงการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควร หากสิ่งของใดมีกำหนดเวลาที่ต้องบำรุงรักษา หมั่นตรวจสอบและปฏิบัติตามตารางการบำรุงรักษานั้นๆ เช่น รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ รวมถึงเรียนรู้วิธีการซ่อมแซมเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อนมากนัก โดยศึกษาจากคู่มือที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์หรือดาวน์โหลดคู่มือจากเว็บไซต์เจ้าของผลิตภัณฑ์ หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีระยะเวลารับประกันการใช้งาน ให้เก็บใบรับประกันสินค้าไว้เพื่อใช้สิทธิ์ยกเว้นค่าบริการซ่อมบำรุงในระยะเวลาที่รับประกัน ท้ายสุด หากซ่อมไม่ได้จริงๆ หรือพิจารณาแล้วว่าไม่คุ้มค่าซ่อม ให้สอบถามผู้ขายว่ามีนโยบายการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดกับสินค้ารุ่นใหม่หรือไม่ เพื่อเราจะได้มีโอกาสซื้อสินค้าในราคาที่ต่ำลง และเจ้าของผลิตภัณฑ์จะได้นำสินค้าที่ชำรุดนั้นไปแปลงสภาพอย่างถูกวิธี

6. Refuse การปฏิเสธเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้ถูกนำมาใช้หรือถูกทำลายเร็วขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เวลาธรรมชาติในการฟื้นสภาพตัวเองตามระบบนิเวศ โดยเริ่มจากสิ่งเล็กน้อยนอกตัว เช่น ปฏิเสธการใช้สินค้าที่เป็นต้นเหตุในการฆ่าชีวิตสัตว์หรือทำลายสิ่งแวดล้อม บอกเลิกรับจดหมายนำเสนอขายสินค้าที่ในชีวิตนี้จะไม่ซื้อแน่ๆ เรื่อยมาถึงสิ่งที่เราต้องเติมใส่ร่างกาย เช่น ปฏิเสธการบริโภคอาหารที่ต้องเดินทางมาจากแดนไกล เพราะระหว่างกระบวนการเก็บรักษาและการขนส่งอาหารในแต่ละเที่ยวจะไปเพิ่มแก๊สเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุหลักของภาวะโลกร้อน รวมไปถึงปฏิเสธการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และเสพสิ่งที่เป็นอบายมุขทุกอย่างที่ทำให้ โลกหมุนเพราะความมึนเมา จนกระทั่งถึงสิ่งสำคัญที่อยู่ข้างในกาย เช่น ปฏิเสธการทำความชั่วซึ่งเป็นบ่อเกิดของความรุ่มร้อนในจิตใจ เพราะเมื่อจิตร้อน กายก็ร้อน สิ่งรอบข้างก็ได้รับกระแสร้อน สุดท้ายทั้งโลกก็ร้อนขึ้น

7. Return หน้าที่หนึ่งของมนุษย์ในฐานะผู้อาศัยโลกเป็นที่พักพิง คือ การตอบแทนคืนแก่โลก ใครใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติประเภทใดเยอะ ก็ต้องคืนทรัพยากรประเภทนั้นกลับให้มากๆ โดยเฉพาะนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม ที่มีเครื่องขยายพิสัยโดยใช้บริษัทเป็นเครื่องมือในการทำ "กำไร" จากการแปลงทรัพยากรและวัตถุดิบต่างๆ ให้เป็นสินค้าและบริการคราวละมากๆ โปรดอย่าลืมว่าท่านกำลังใช้บริษัทเป็นเครื่องมือในการทำ "กรรม" และได้ขยายพิสัยของกรรมในขณะเดียวกัน ยิ่งเป็นมหาเศรษฐีมีกำไรสะสมมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องตอบแทนคืนแก่โลกแก่สังคมมากเท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้าท่านเป็นผู้ให้แก่โลกแก่สังคมมากเท่าใด โลกก็จะตอบแทนคืนแก่ท่านมากเช่นกัน ฉะนั้น จงอย่าติดหนี้โลก วันดีคืนดีอาจกลายเป็นวันร้ายคืนร้าย เพราะโลกจะมาทวงหนี้จากท่าน หากเป็นหนี้ระยะสั้น ก็ต้องชดใช้กันในชีวิตนี้ แต่หากเป็นหนี้ระยะยาว โลกก็จะตั้งบัญชีค้างชำระรอทวงในชาติต่อๆ ไป พร้อมด้วยดอกเบี้ยที่ทับถมทวีคูณ ตราบที่ท่านยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่บนโลกใบนี้ ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, February 12, 2008

หลักธุรกิจในเศรษฐกิจพอเพียง

ธุรกิจเป็นภาคที่มีความสำคัญ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตหลักในระบบเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ตัวเองที่สามารถเลือกว่าจะดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่เท่านั้น แต่ธุรกิจยังมีความสามารถในการโน้มน้าวผู้บริโภคให้มีพฤติกรรมไปในทางที่พอเพียงหรือไม่พอเพียงได้อีกด้วย

ปัญหาของภาคธุรกิจที่ต้องการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในขณะนี้ คือ การขาดทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบยืนยันผลของการประยุกต์อย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปปฏิบัติซ้ำได้สำเร็จ เช่น ในภาคเกษตรกรรม ที่มีรูปแบบของ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงคิดค้นขึ้นด้วยพระองค์เอง และได้ใช้พื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาทดลองจนแน่พระทัยว่าประสบผลสำเร็จ ทำให้มีสถานภาพเป็นทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบแล้ว

การแปลง "ปรัชญา" เศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็น "ทฤษฎี" ธุรกิจในแต่ละสาขา จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในภาคการผลิต ภาคการค้า หรือภาคการบริการต่างๆ

ด้วยเหตุที่ การดำเนินธุรกิจต่างมีเป้าหมายในการแสวงหากำไรสูงสุด แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมิได้ขัดกับหลักการแสวงหากำไรสูงสุดในธุรกิจ แต่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งคำนึงถึงกำไรสูงสุดในทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Profit) มากกว่ากำไรสูงสุดในทางบัญชี (Accounting Profit) ซึ่งการพิจารณาที่ตัวกำไรทางเศรษฐศาสตร์ได้คำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสต่างๆ และส่วนเพิ่มมูลค่า (Value Added) ขององค์กรที่แท้จริง

การดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจจะต้องลดกำไรลงหรือต้องลดกำลังการผลิตลง จึงจะเรียกว่าพอเพียง ทุกธุรกิจยังสามารถแสวงหากำไรสูงสุดได้ และต้องยังคงมุ่งหมายให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการผลิต เพื่อการพัฒนาก้าวหน้าขององค์กร เพียงแต่ว่าในกระบวนการนั้น ต้องทำให้เกิดการเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุด ทั้งการเบียดเบียนตนเอง และการเบียดเบียนผู้อื่น

ตัวอย่างของการเบียดเบียนตนเอง คือ การมุ่งแต่จะหารายได้ให้มากที่สุด ด้วยการทำงานหามรุ่งหามค่ำ มากจนเสียสุขภาพตนเองในระยะยาว หรือมากจนละเลยหน้าที่ในครอบครัว บุตรหลานขาดการอบรมเลี้ยงดู เติบใหญ่มาเป็นคนที่ขาดคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสทั้งสิ้น แม้ธุรกิจจะมีผลกำไรทางบัญชีสูงจากกรณีนี้ แต่เมื่อหักลบกลบค่าเสียโอกาสแล้ว ก็จะมีผลกำไรทางเศรษฐศาสตร์ที่ติดลบจำนวนมหาศาล

ตัวอย่างของการเบียดเบียนผู้อื่น คือ การทำการค้าแสวงหากำไรด้วยการเอาเปรียบผู้บริโภค การทุจริตคอร์รัปชัน การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สมบัติสาธารณะเพื่อสร้างรายได้แก่ธุรกิจเฉพาะกลุ่ม การหลบเลี่ยงภาษี การทิ้งกากของเสียสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัด จะเห็นว่า มูลค่ากำไรทางบัญชีที่ปรากฏนั้น มิได้สะท้อนคุณภาพของกำไรที่มีต่อผลกระทบสู่ภายนอก (Externalities) ทั้งมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม แต่อย่างใด

หลักการธุรกิจที่ถอดความได้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นไปในลักษณะประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน เข้าทำนอง “ได้ประโยชน์ตน แต่ไม่เสียประโยชน์ท่าน” ดังพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2550 ที่ว่า

“...ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พอเพียงคืออะไร ไม่ใช่เพียงพอ คือว่า ไม่ได้หมายความว่า ให้ทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง ทำกำไรก็ทำ ถ้าเราทำกำไรได้ดี มันก็ดี แต่ว่าขอให้มันพอเพียง ถ้าท่านเอากำไรหน้าเลือดมากเกินไป มันไม่ใช่พอเพียง นักเศรษฐกิจเขาว่าพระเจ้าอยู่หัว นี่คิดอะไรแปลกๆ ก็แปลกสิ ขายไม่ให้ได้กำไร ซื้ออะไรไม่ขาดทุน เป็นเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่ต้องหน้าเลือด แล้วไม่ใช่จะมีกำไรมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ให้พอเพียง ไม่ใช่เรื่องของการค้าเท่านั้นเอง เป็นเรื่องของการพอเหมาะพอดี...”

ทั้งนี้ การสื่อสารเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มนักธุรกิจให้ได้ผลนั้น สิ่งสำคัญ คือผู้รับสารเองต้องพร้อมที่จะรับสารนั้นด้วย ซึ่งความพร้อมที่ว่านี้จะมาจาก 2 เงื่อนไข เงื่อนไขแรก คือ องค์กรหรือธุรกิจนั้นอาจกำลังประสบกับวิกฤติ มีปัญหาหนี้สิน หาทางออกไม่ได้ เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยตอบคำถาม หาทางออก และช่วยแก้ไขวิกฤติได้ ธุรกิจในกลุ่มนี้จะรับสารได้เร็ว เพราะต้องการแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ให้ดีขึ้น เรียกได้ว่า เห็นทุกข์ ก็เห็นธรรม

ขณะที่ธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเพลิดเพลินอยู่กับการค้าขาย ยังมีกำไร มีความสุขอยู่ และไม่จำเป็นต้องขวนขวายแนวทางใหม่ๆ ทำให้รับสารได้ยาก นักธุรกิจกลุ่มนี้จะต้องชี้ให้เห็นว่าหากทำธุรกิจโดยประมาทเช่นนี้ต่อไป วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะไม่ยั่งยืน อาจจะต้องเจอกับวิกฤติ เนื่องจากขาดภูมิคุ้มกันทางธุรกิจที่ดีพอ ซึ่งหากผู้ประกอบการในช่วงปี 2540 ได้รับรู้ ปฏิบัติตนและดำเนินธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ธุรกิจก็อาจไม่เจอกับวิกฤติจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ ฉะนั้นถ้าผู้รับสารพร้อมที่จะรับ คนที่สื่อสารก็พร้อมที่จะส่งสารได้อย่างถูกต้อง ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด

ปัญหาใหญ่ในการทำความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่นักธุรกิจนั้น คือ การศึกษาทำความเข้าใจอย่างลวกๆ ผิวเผิน แล้วด่วนตีความไปตามกรอบคิดและประสบการณ์ของตนเอง เช่น คิดว่าเศรษฐกิจเพียงก็คือการประหยัด ไม่เป็นหนี้ หรือ เศรษฐกิจพอเพียงคือการที่อยู่อย่างสันโดษไม่ยุ่งกับใคร หรือเหมาะกับเกษตรกรมากกว่านักธุรกิจ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือ การยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ใช้เป็นเหตุผลที่ไม่ต้องทำอะไรไปมากกว่านี้ ซึ่งทั้งหลายที่กล่าวมานั้นเป็นการด่วนสรุปอย่างเข้าใจผิดทั้งหมด

นอกจากนั้น การตีความที่เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ นักธุรกิจส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่เรียกว่าน้ำเต็มแก้ว มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ทั้งจากความสำเร็จในธุรกิจที่ทำและจากการเป็นที่ยอมรับในวงสังคม หากนักธุรกิจเหล่านี้เปิดใจกว้างเพื่อทำความเข้าใจกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ก็จะพบว่าเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ขัดกับเรื่องของทุนนิยม ไม่ได้ขัดกับเรื่องของธุรกิจที่ต้องแสวงหากำไร ไม่ได้ห้ามการเป็นหนี้ และเศรษฐกิจพอเพียงก็จำเป็นจะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช่การอยู่คนเดียว ข้อเท็จจริงเหล่านี้ จะค้นพบได้ก็ต่อเมื่อเปิดใจเรียนรู้อย่างไม่เอนเอียง... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, February 05, 2008

เศรษฐกิจพอเพียง กับ บรรษัทบริบาล (CSR)

ที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจมักคุ้นกับหลักการกำกับดูแลกิจการ หรือที่เรียกว่า บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ในฐานะที่เป็นคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ แต่ในปัจจุบันได้มีแนวปฏิบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาและนำมาปรับใช้ในกิจการ นั่นคือ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทบริบาล ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่ก่อให้เกิด “ภูมิคุ้มกันที่ดี” ให้แก่องค์กร

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทบริบาล มาจากคำว่า บรรษัท + บริ (แปลว่า ทั้งหมด ออกไป โดยรอบ) + บาล หมายถึง การดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยกร่างขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้แก่บริษัทจดทะเบียนและกิจการทั่วไป โดยมีอยู่ด้วยกัน 8 หมวด ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และการจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

เรื่องของบรรษัทบริบาล ถือเป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่จัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ ในฐานะที่เป็นพลเมืองบรรษัท (Corporate Citizen) ในสังคม

ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เงื่อนไขคุณธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจนั้น ประกอบด้วยคุณธรรม1 ที่ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต สำหรับรองรับสนับสนุนวิชาความรู้ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ส่วนที่สอง คือ ความอดทน มีความเพียร ประกอบการงานด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง เป็นความเพียรที่มีลักษณะกล้าแข็งไม่ขาดสาย มีความหนักแน่นอดทน ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไป และส่วนที่สาม คือ ความรอบคอบระมัดระวัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะจัดการให้ถูกจุดถูกขั้นตอน ส่วน คุณธรรม2 ที่เกี่ยวกับความเมตตา การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

หากนำหลักคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ เรื่องบรรษัทบริบาลมาพิจารณาเทียบเคียงกับระดับของความพอเพียง จะพบว่า บรรษัทบริบาลนั้น เป็นหลักปฏิบัติที่จัดอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า องค์กรธุรกิจที่มีบรรษัทบริบาล แสดงให้เห็นว่า นโยบายของกิจการมิได้จำกัดอยู่เพียงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กรด้วย หลักการของบรรษัทบริบาล คือ การเน้นให้องค์กรธุรกิจรู้จักคิดแบ่งปัน และดำเนินกิจการโดยไม่เบียดเบียนสังคมส่วนรวม การรู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือ และเอาใจใส่ในการดูแลสังคม สงเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว...(จากคอลัมน์ Sufficiency Life)


1 คือ สัจจะ ขันติ และทมะ ในหมวดฆราวาสธรรม 4.
2 คือ เมตตา 3 และสาธารณโภคิตา ในหมวดสารณียธรรม 6.

สำรวจทิศทาง CSR ขององค์กรธุรกิจ

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (CSR) ประจำปี 2551 ในประเทศไทย ซึ่งจากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ด้านซีเอสอาร์ในปีนี้ จะยังคงมีความเคลื่อนไหวคึกคักอย่างต่อเนื่องจากแรงส่งในปี 2550

จากกระแสโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาระดับโลก ธุรกิจจะพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคม ประเภท “ECO-CONSCIOUS” เพิ่มขึ้น องค์กรธุรกิจที่มีแผนพัฒนากิจกรรม CSR ในปีนี้ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากประเด็นในเรื่องคน ปรากฏการณ์ที่ธุรกิจค้าปลีกต่างออกมารณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าในการจับจ่ายใช้สอย หรือการปรับรื้อสายการผลิตเครื่องยนต์ที่ตอบสนองต่อการใช้พลังงานทางเลือกในอุตสาหกรรมยานยนต์ สะท้อนให้เห็นถึงกระแสของ CSR ประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี

ที่ผ่านมา แต่ละองค์กรธุรกิจได้กำหนดบทบาทในการขับเคลื่อน CSR ให้แก่ส่วนงานในองค์กรที่แตกต่างกันออกไป ทำให้การดำเนินงาน CSR ของแต่ละองค์กรมีจุดเน้นหนักที่แตกต่างกันตามภารกิจหลักของส่วนงานที่ได้รับมอบหมายนั้นๆ ในปีนี้ ผังองค์กรของกิจการหลายแห่งจะปรากฏบทบาทของ “เจ้าหน้าที่บริหารความรับผิดชอบประจำองค์กร” (Corporate Responsibility Officer: CRO) ในชื่อตำแหน่งที่เรียกแตกต่างกัน แต่มีภาระงานเดียวกัน คือ การบูรณาการงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อน และสร้างให้เกิดผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

จากการที่องค์กรธุรกิจหลายแห่งได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน CSR ด้วยการสร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นในลักษณะ Engaged CSR ในปีนี้ ธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จในการสร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นในองค์กร จะยกระดับสู่การสร้างสมรรถนะแห่งความรับผิดชอบของกระบวนการ CSR ในลักษณะที่เป็น High Performance CSR ด้วยกระบวนการ CSR ดังกล่าว จะสร้างให้เกิดสมรรถนะในการดำเนินงานด้าน CSR ให้แก่องค์กรอย่างมาก โดยมีฐานจากการสร้างพันธะความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรนั้นๆ

นอกจากนี้ ธุรกิจจะจับมือร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบ “JOINT-RESPONSIBILITY” เพิ่มขึ้น โดยกิจกรรม CSR ในแบบที่ใช้งบประมาณไม่มากตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำ ยังเป็นทางเลือกสำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการช่วยเหลือสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ พัฒนาการของ CSR ที่กลุ่มองค์กรธุรกิจจะร่วมมือกันดำเนินโครงการในลักษณะของการ “ร่วมรับผิดชอบ” จะมีปรากฏให้เห็นมากขึ้น องค์กรธุรกิจบางกลุ่มจะใช้ทรัพยากรร่วมที่มีอยู่ในเครือข่ายสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมในนามของกลุ่ม ขณะที่กลุ่มพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ จะจับมือดำเนินกิจกรรม CSR ในแบบร่วมกันรับผิดชอบนี้มากขึ้น

การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในรูปของ “SUSTAINABILITY REPORT” เพื่อสื่อสารกับสังคม จะมีมากขึ้น โดยบริษัทที่ทำเรื่อง CSR จะเสาะหาวิธีรายงานผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน มีรูปแบบของการรายงานผลที่เป็นมาตรฐานสากล มีการเผยแพร่ Sustainability Report ที่แยกต่างหากจากรายงานประจำปี (annual report) ซึ่งจะทำให้องค์กรธุรกิจสามารถนำเสนอผลลัพธ์ที่ครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การใช้แรงงาน และความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ เพื่อสื่อสารกับสังคมได้อย่างครบถ้วน

ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสำคัญกับการตั้งคณะทำงานหรือกลุ่มงานที่มีภารกิจในการส่งเสริม CSR ขององค์กรธุรกิจมากขึ้น มาตรการส่งเสริม CSR ในด้านต่างๆ จะถูกประกาศออกมาเป็นระยะๆ เช่น การลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (SRI) การพัฒนา CSR สำหรับเอสเอ็มอี แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การส่งเสริมการจัดทำรายงาน CSR ดังนั้นธุรกิจจึงควรติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการส่งเสริม CSR เหล่านี้ เพื่อการปรับตัวและใช้เกื้อหนุนการดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กร

ธุรกิจควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าเรื่องซีเอสอาร์มิได้จำกัดอยู่กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หรือต้องเป็นองค์กรที่ร่ำรวยมั่งคั่ง หรือต้องมีผลกำไรทางธุรกิจก่อนเสมอไป องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือกระทั่งหาบเร่แผงลอย ก็สามารถดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ได้เช่นกัน กิจกรรมซีเอสอาร์หลายกิจกรรมไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นตัวตั้ง เช่น การคัดแยกกากหรือเศษอาหารเหลือทิ้งก่อนเทลงท่อปฏิกูลเพื่อป้องกันปัญหาท่ออุดตันของร้านขายอาหารตามบาทวิถีก็จัดว่าเป็นซีเอสอาร์หรือความรับผิดชอบต่อสังคมรูปแบบหนึ่ง

อีกทั้งธุรกิจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มพร้อมกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ ขนาดของกิจการ และความพร้อมขององค์กร สำหรับธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจต้องให้ความสำคัญกับชุมชนหรือระบบนิเวศที่อยู่รายรอบโรงงานเป็นพิเศษ สำหรับกิจการขนาดเล็กที่ต้องอาศัยพนักงานเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จ อาจต้องสร้างกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อครอบครัวของพนักงานเป็นสำคัญ สำหรับองค์กรที่ฝากความสำเร็จไว้กับสายอุปทานก็อาจต้องคำนึงถึงกิจกรรมซีเอสอาร์กับคู่ค้าเป็นอันดับต้นๆ

แม้องค์กรธุรกิจหลายแห่งจะมีการคัดเลือกปัญหาทางสังคมเพื่อเข้าร่วมแก้ไขในประเด็นเดียวกัน แต่ก็ไม่จำเป็นที่รูปแบบของกิจกรรมจะต้องมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันเสมอไป องค์กรควรพิจารณากำหนดรูปแบบของซีเอสอาร์ในลักษณะที่เป็นกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ (strategic initiatives) ซึ่งจะมีลักษณะจำเพาะที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กร ผนวกกับการออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ที่สามารถผสมผสานเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะความรับผิดชอบสูง หรือที่เรียกว่า High Performance CSR นั่นเอง (เรียบเรียงจากรายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2551” ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thaicsr.com) ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, January 29, 2008

ชาวโมโซในสังคมพอประมาณ

หนึ่งในแนวคิดของการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถสร้างให้เกิดแรงจูงใจต่อการนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้จากการสำรวจทัศนคติของกลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ คือ การสร้างสังคมที่มีแนวปฏิบัติสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้โดยอิสระและสะดวก มีผู้ร่วมในกลุ่มที่คอยเป็นพี่เลี้ยงหรือให้คำแนะนำ สมาชิกมีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน พร้อมร่วมเดินไปข้างหน้าอย่างอบอุ่นใจ

สังคมพอประมาณ (Moderation Society) หรือ “โมโซไซตี้” ที่เขียนเป็นคำย่อว่า “โมโซ” (MO-SO) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวคิดข้างต้นที่มุ่งให้สมาชิกในสังคมพอประมาณมีวิถีปฏิบัติที่อยู่ในแนวทางสายกลาง ไม่สุดขั้วไปทางด้านใดด้านหนึ่งตามกลุ่มที่เรียกว่า “ไฮโซ” หรือ “โลโซ” เป็นทางเลือกท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม สำหรับผู้ที่ต้องการปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ค่านิยมที่กำหนดโดยชาวโมโซไซตี้ คือ สังคมอันพึงปรารถนาที่สมาชิกชาวโมโซทุกคนจะร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยความจริง ความดีงาม และความสุข มีการวางแนวทางขับเคลื่อนไว้ 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็นกายภาพในเชิงสัญลักษณ์ และระดับพฤติกรรมที่เริ่มตั้งแต่จิตสำนึก

ในเชิงสัญลักษณ์ ชาวโมโซทุกคนจะมีสายข้อมือที่เป็นเอกลักษณ์ สายข้อมือแต่ละเส้นจะมีเลขประจำตัวที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อใช้เข้าร่วมกิจกรรมในกลุ่มโมโซต่างๆ โดยความมุ่งหมายของการใส่สายข้อมือ คือ การทำให้มีสติเตือนใจผู้ใส่ว่าควรอยู่ในความพอประมาณ และให้มีความตั้งใจว่าจะเป็นคนรู้จักคิดก่อนใช้ ตามคติพจน์ของชาวโมโซว่า “เน้นสติ เหนือสตางค์”

ในเชิงของการสร้างจิตสำนึกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ชาวโมโซจะร่วมกันคิดออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและพื้นที่ ตลอดจนการเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมของหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้วและมีความสอดคล้องกับหลักการของชาวโมโซ ซึ่งจะทำให้กิจกรรมต่างๆ ของชาวโมโซมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน โมโซไซตี้ มีโครงการนำร่องที่ดำเนินงานร่วมกับกลุ่ม YIY ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิดของตัวเองในการริเริ่มทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน โรงเรียน และครอบครัว ในแบบฉบับของตัวเองด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม คือ โครงการ “มือใหม่หัดทำดี” (First Hand Out)

กิจกรรมในโครงการมือใหม่หัดทำดีที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการมหาลัยขยะ โครงการน้ำใจไทยเพื่อเยาวชนใต้ร่วมพัฒนาชาติ โครงการผ้าสีขาว โครงการธุรกิจวัยเยาว์ โครงการสานฝันปันน้ำใจ โครงการหน่อกะลา โครงการละครโรงเล็ก โครงการ The story of…not handicapped heart และโครงการกลุ่มเยาวชนร่วมสร้างกำลังใจ

ตัวอย่างเสียงสะท้อนของ กลุ่มกระทิงน้อย ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 8 คน ที่ดำเนินโครงการมหาลัยขยะ ได้กล่าวถึงเหตุผลและแรงบันดาลใจว่า “กลุ่มของพวกเราได้รับการอบรมในค่ายเยาวชนต่างๆ ทำให้ตระหนักถึงปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ไม่ว่าด้านสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาขยะที่ล้นเมืองอันเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว ไร้จิตสำนึกของมนุษย์ด้วยเหตุนี้ จึงได้ตั้งเป้าไปยังกลุ่มของเด็กและเยาวชนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกพวกเขาจะเป็นกลุ่มที่เจริญเติบโตขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติต่อไป”

กิจกรรมที่กลุ่มอยากดำเนินการ คือ “การทำ VCD เป็นรายการการ์ตูน ภายในรายการจะมีนิทานให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคม ส่งไปตามโรงเรียนภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล” โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ “เมื่อพวกเราได้มาทำโครงการนี้ พวกเราก็จะได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ให้เด็กและเยาวชน โดยนำสื่อที่เยาวชนสนใจมานำเสนอดีกว่าสอนโดยตรง ทำให้เด็กนำความรู้ที่ได้ นำไปช่วยเหลือสังคมในด้านไม่ทิ้งขยะ ลดปริมาณขยะอนุรักษ์ธรรมชาติ”

อีกหนึ่งตัวอย่างจากกลุ่ม Charity จำนวนสมาชิก 3 คน ที่ดำเนินโครงการสานฝันปันน้ำใจ ได้กล่าวถึงเหตุผลและแรงบันดาลใจว่า “เนื่องจากทางกลุ่มได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา แต่ยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนได้ครบ ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาส และมีความรู้สึกที่แตกต่างจากเพื่อนๆ พวกเราจึงอยากจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสทางการศึกษา ได้นำเงินไปซื้อหนังสือ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

กิจกรรมที่กลุ่มอยากดำเนินการ คือ “การจำหน่ายสินค้าทำมือ เช่น เสื้อเพนท์, สร้อย, กำไล, ต่างๆ ที่มีสัญลักษณ์สื่อถึงเด็ก เพื่อนำเงินที่ได้ไปมอบให้เด็กนักเรียน ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนได้ตามโรงเรียนในจังหวัดลำปางที่ขาดแคลน เพื่อเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไป” โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ “ทำให้เด็กๆ และเพื่อนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาส และทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญอีกประการคือการได้ใช้เวลาว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์”

แนวคิดของโมโซไซตี้นี้ มิได้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าของ รวมทั้งมิได้มีคณะกรรมการหรือองค์กรที่เป็นทางการในการขับเคลื่อน แต่จะคงรูปแบบที่ยืดหยุ่น มีความเป็นอิสระ คล้ายคลึงกับการเรียกบุคคลที่มีวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมแบบหนึ่งว่า ไฮโซ ดังนั้น ผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายชาวโมโซ ก็เรียกตัวเองว่าเป็นชาวโมโซและเข้าร่วมกิจกรรมในโมโซไซตี้ได้ แม้กระทั่งคนไฮโซก็เป็นชาวโมโซได้ หากมีพฤติกรรมที่รู้จักใช้จ่าย ไม่สุรุ่ยสุร่าย เน้นสติเหนือสตางค์ หรือในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่อยากเป็นชาวโมโซในบางโอกาส ก็ทำได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องบอกเลิกการเป็นสมาชิกแต่ประการใด เพราะในบางกิจกรรมอาจไม่เหมาะกับบุคลิกของตนเอง

ถ้ายังอยู่ในวัยเรียน การทำตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ตั้งใจเรียนหนังสือ ช่วยเหลืองานบ้าน และรู้จักประหยัด ก็ถือว่าได้ปฏิบัติตัวเป็นส่วนหนึ่งของชาวโมโซแล้ว ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน การเป็นส่วนหนึ่งของชาวโมโซ คือการมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน รู้จักการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม ไม่โลภ และไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น รวมไปถึงการทำตัวเป็นพลเมืองดีของสังคมช่วยเหลือและแบ่งปันกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า

ปัจจุบัน มีผู้สนใจทั้งในระดับองค์กรและในระดับบุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโมโซไซตี้ โดยการรับสายข้อมือไปร่วมรณรงค์และขับเคลื่อนสังคมพอประมาณ ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงพฤติกรรมแล้วจำนวน 38 องค์กร และมีชาวโมโซที่ร่วมลงทะเบียนแล้วจำนวน 4,600 คน... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, January 22, 2008

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจที่พัฒนาจนมาเป็นระบบที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้นั้น ล้วนมีพื้นฐานจากกิจกรรมหลักสองประการ ได้แก่ กิจกรรมการผลิต และกิจกรรมการบริโภค หากระบบใดมีภาวะของการผลิตเท่ากับภาวะของการบริโภคแล้ว ก็จะเป็นระบบเศรษฐกิจที่สมดุลในตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยแวดล้อมภายนอกใดๆ เรียกว่าเป็นระบบที่อยู่ในภาวะอุดมคติ

ในความเป็นจริง ระบบเศรษฐกิจในชุมชนหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ จะไม่สามารถดำรงภาวะคงตัวได้อย่างสมบูรณ์ในตัวเอง จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนหรือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ชุมชนจึงอาจผลิตของที่มิได้ใช้เพื่อการบริโภคเองทั้งหมด หรือก็มิได้บริโภคในสิ่งที่ตัวเองผลิตได้เท่านั้น

ตราบเท่าที่ชุมชนนั้นๆ สามารถที่จะรักษาสัดส่วน หรือขนาดของการผลิตให้เท่ากับสัดส่วนหรือขนาดของการบริโภคอยู่ได้ ชุมชนนั้นก็จะไม่ประสบกับปัญหาในระบบเศรษฐกิจ แต่หากเมื่อใดก็ตามที่ชุมชนนั้นไม่สามารถรักษาระดับของการผลิตให้ใกล้เคียงกับระดับของการบริโภคเป็นระยะเวลานาน ในกรณีนี้คือ สัดส่วนการผลิตน้อยกว่าสัดส่วนการบริโภค ชุมชนก็จะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ เกิดภาวะที่ต้องพึ่งพาปัจจัยการบริโภคจากภายนอกมาก ซึ่งหากไม่พยายามลดสัดส่วนการบริโภคของตัวเองลง ก็จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคเหล่านั้น

การพัฒนาในยุคที่ผ่านมา ยังทำให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจนั้นแยกออกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องบริโภคในสิ่งที่ตนเองผลิตได้ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้องผลิตในสิ่งที่ตนเองต้องการบริโภค

ผลที่ตามมาก็คือ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนและการจัดสรรผลผลิตในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมมุ่งเน้นที่การแลกเปลี่ยนและการจัดสรรผลผลิต กลายมาเป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและการจัดสรรผลผลิตที่นอกจากจะใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแล้ว ยังใช้เงินทำหน้าที่ในการรักษามูลค่า ใช้เป็นทุน และใช้เป็นสินค้าได้ด้วย ผู้ผลิตจึงมุ่งผลิตสินค้าและบริการขายแลกกับเงินเพื่อการสะสมทุนและการลงทุนสำหรับการผลิตในรอบต่อไป ในขณะที่ผู้บริโภคก็มุ่งทำงานแลกกับเงินเพื่อการเก็บออมและการใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าและบริการ พัฒนาการของระบบเศรษฐกิจจึงเข้าสู่ยุคทุนนิยมไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุนี้ ทุกชุมชนต่างก็พยายามแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด และเพื่อสะสมความมั่งคั่งไว้ในชุมชนของตัว สภาวการณ์ของการแข่งขันเช่นนี้ ก่อให้เกิดผลได้ผลเสียในระบบเศรษฐกิจของแต่ละชุมชน ชุมชนใดที่ไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับชุมชนอื่นๆ ได้ ก็จะถูกดึงเอาทรัพยากรและความมั่งคั่งออกไปจากชุมชน จะเกิดการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนระบบเศรษฐกิจในชุมชนนั้นล่มสลายในที่สุด

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน มักมุ่งไปที่ความพยายามในการลดการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอก โดยใช้วิธีการชดเชยหรือมาตรการตอบโต้ในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือหรือเข้าไปแก้ไขปัญหา อาทิเช่น ขบวนการช่วยเหลือจากมูลนิธิในรูปของเงินบริจาค ทุนการศึกษา ทุนประกอบอาชีพ ฯลฯ ขบวนการอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐในรูปของโครงการจำนำผลผลิต โครงการประกันราคาผลผลิต การจัดมหกรรมหรือนิทรรศการเพื่อระบายผลผลิต ฯลฯ และขบวนการเพิ่มอำนาจต่อรองจากองค์การพัฒนาเอกชนในรูปของการรวมกลุ่มชาวบ้าน เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหา การเผยแพร่ปัญหาให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้าง การสร้างกลุ่มแกนนำชุมชน ฯลฯ

แม้แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยการสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน หรือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ก็อาจจะไม่ช่วยลดภาวะความเสียเปรียบไปได้ และอาจจัดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จึงควรมุ่งให้ชุมชนมี "การผลิตหรือการบริโภคเพื่อแก้ทุกข์" โดยเริ่มจากสิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐาน หรือปัจจัยสี่และสิ่งที่เป็นความมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต เป็นพื้นฐานก่อน และหากมีศักยภาพเหลือพอ จึงค่อยมี "การผลิตหรือการบริโภคเพื่อสร้างสุข" ในสิ่งที่เป็นความสะดวกสบายหรือสิ่งที่เป็นความหรูหราได้บ้าง แต่สิ่งที่ชุมชนพึงละเว้นเด็ดขาด คือ "การผลิตหรือการบริโภคเพื่อสร้างทุกข์" ในสิ่งที่เป็นอบายมุขต่างๆ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนโดยรวม

การพิจารณากิจกรรมการผลิตและการบริโภคข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงทางเลือกในกระบวนการผลิตและการบริโภคที่ควรนำไปสู่ "การสิ้นไปของความทุกข์" มากกว่าการใช้ทรัพยากรไปเพื่อการสร้างสุขหรือความพึงพอใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการตัดสินใจเลือกเส้นทางการผลิตและการบริโภคโดยใช้เหตุผลจากการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ตลอดจนคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากทางเลือกนั้นๆ อย่างรอบคอบ เป็นคุณลักษณะด้าน "ความมีเหตุผล" ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนการแก้ไขโดยการลดสัดส่วนการบริโภคให้มีปริมาณพอเหมาะพอดีกับสัดส่วนการผลิต เป็นคุณลักษณะด้าน "ความพอประมาณ" ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่งผลให้สามารถลดภาระหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมมา เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในส่วนที่เกินกำลังการผลิตของตัวเอง

ขณะที่การแก้ไขโดยการผลิตในสิ่งที่ต้องบริโภคใช้สอยในครัวเรือนหรือในชุมชน หรือการบริโภคในสิ่งที่ชุมชนผลิตได้เอง ไม่ต้องซื้อหามาจากภายนอก เป็นความพยายามที่จะไม่ทำให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจนั้นแยกออกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อการสร้าง "การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว" อันเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพาจากภายนอก

ด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เป็นการแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงความสมดุล ที่ถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะทั้งสามประการ คือ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]