Friday, October 24, 2014

เผยดัชนีต้านทุจริตบริษัทไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยผลตัวชี้วัดการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริต (Anti-corruption Progress Indicator) ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ตามแผนพัฒนาความยั่งยืน ที่เน้นให้บริษัทมีแนวปฏิบัติที่ดี ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมีแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง เป็นต้นแบบให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตาม

จากการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริตของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 567 รายพบว่า 344 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 60.67 มีคะแนนอยู่ที่ระดับ 1 ขึ้นไป คือ บริษัทแสดงให้เห็นถึงคำมั่นจากผู้บริหารและขององค์กร ว่ามีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ในจำนวนนี้มี 28 บริษัทจดทะเบียน มีคะแนนอยู่ที่ระดับ 4 คือ ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ต.ค. 2557)

การประเมินดังกล่าวช่วยให้บริษัทจดทะเบียนทราบถึงระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการในด้านที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต และสามารถนำผลการประเมินมาพิจารณาประกอบการวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันมิให้บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ส่วนผู้ลงทุนจะได้ทราบความมุ่งมั่นและนโยบายการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของบริษัท และสามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต

ปัจจุบัน ยังมีบริษัทที่มิได้เปิดเผยข้อมูลในเรื่องนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต จำนวน 176 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ31.04 และมีการเปิดเผยเพียงบางส่วน จำนวน 47 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.29

สำหรับผลการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริต แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1: มีนโยบาย (Committed) ระดับ 2: ประกาศเจตนารมณ์ (Declared) ระดับ 3: มีมาตรการป้องกัน (Established) ระดับ 4: ได้รับการรับรอง (Certified) และระดับ 5: ขยายผลสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง (Extended)

ข้อมูล Anti-corruption Progress Indicator ที่จัดทำขึ้นนี้ จะช่วยบ่งชี้ความก้าวหน้าและแนวทางการยกระดับให้แก่บริษัทจดทะเบียนในเรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนในการดำเนินธุรกิจของตนเองไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ การต่อต้านการทุจริตให้เป็นผลนั้น ไม่ได้เกิดจากการบอกให้ผู้อื่นเลิกทุจริต แต่เกิดจากการลงมือปฏิบัติโดยเริ่มจากตนเองและองค์กรของตน ให้ปลอดจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ปฏิบัติตาม

ผู้ที่สนใจข้อมูลสรุปภาพรวมผลการประเมิน Anti-corruption Progress Indicator หรือต้องการตรวจสอบผลประเมิน Anti-corruption Progress Indicator รายบริษัทจดทะเบียน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.thaicsr.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 16, 2014

กลยุทธ์ธนาคารคู่สังคม

ธนาคารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกคาดหวังจากสังคม ในฐานะแหล่งเงิน เสมือนเชื้อเพลิงหลักขับเคลื่อนประเทศ การมุ่งกำไรของธนาคารเพียงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กิจการและความมั่งคั่งแก่ผู้ถือหุ้นในบริบทของสังคมปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อการเป็นที่ยอมรับจากสังคมอีกต่อไป

จากเหตุดังกล่าว ทำให้ทุกธนาคาร จึงต้องพัฒนาบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) และความริเริ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) ให้เป็นที่ประจักษ์ สามารถวัดผล จับต้องได้

ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารใช้การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ส่วนใหญ่มิได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการหลักในธุรกิจธนาคาร หรือเป็น CSR-after-process สำหรับสื่อสารหรือแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้เกิดเป็น CSR ในรูปของโครงการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย พร้อมด้วยคำถามที่ติดตามมาในหมู่ผู้ขับเคลื่อนงาน CSR ในธนาคารว่า กิจกรรมเหล่านี้จะก่อให้เกิดความยั่งยืน ที่มิได้จำกัดอยู่เพียงการสร้างการรับรู้ได้อย่างไร

ธนาคารบางแห่ง ได้ริเริ่มบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับกระบวนการหลักในธุรกิจธนาคาร หรือเป็น CSR-in-process ปรับเปลี่ยนการทำงานจากรายโครงการและกิจกรรมรายครั้ง มาเป็นกระบวนการในธุรกิจที่สืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด (Going Concern) เพื่อตอบคำถามเรื่องความยั่งยืน มากกว่าการสร้างการรับรู้ อันเป็นจุดเริ่มของการใช้สินทรัพย์หลักของธนาคาร นั่นคือ Core Business ในการขับเคลื่อนบทบาทความรับผิดชอบของกิจการและสร้างการยอมรับจากสังคม

สำหรับธนาคารที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ จนสามารถดูแลและจัดการกับผลกระทบทางลบได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว สามารถดำเนินการยกระดับมาสู่การส่งมอบผลกระทบในทางบวก จากการใช้สินทรัพย์และความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ มาสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าร่วม (CSV) ตามกลุ่มธุรกิจของธนาคาร


การสร้างคุณค่าร่วม สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ (Products) และริเริ่มตลาดใหม่ โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ระดับของการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains) และระดับของการพัฒนากลุ่มความร่วมมือ (Cluster) ในท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ

ในระดับผลิตภัณฑ์ ธนาคารสามารถพัฒนาบริการที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะทางการเงินในระยะยาวให้แก่ลูกค้าปัจจุบัน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่สนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยายบริการให้ครอบคลุมตลาดกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการธนาคาร

ในระดับห่วงโซ่คุณค่า ธนาคารสามารถปรับแต่งกระบวนการและการดำเนินงานภายใน ให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมบนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รูปแบบทางธุรกิจ และ/หรือ กลไกการให้บริการที่ตอบโจทย์อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำของธนาคาร พร้อมกับสนองความต้องการพื้นฐานทางสังคมอย่างมีประสิทธิผล

ในระดับกลุ่มความร่วมมือ ธนาคารสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้เกี่ยวข้องหลักและสถาบันที่อยู่ในระบบนิเวศทางธุรกิจ ผลักดันให้เกิดตลาดที่มีคุณค่าร่วมกัน สามารถสร้างผลกำไรและรองรับการขยายตัวในอนาคต

โดยทั่วไป กลุ่มธุรกิจของธนาคาร สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มลูกค้าบุคคลและรายย่อย (Retail Banking) กลุ่มลูกค้าธุรกิจ (Corporate Banking) และกลุ่มลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง (Private Banking)

สำหรับกลุ่ม Retail Banking ธนาคารอาจใช้แนวคิดในการดำเนินกลยุทธ์ (Strategic Theme) ด้วยบทบาทการสานความรุ่งเรืองให้แก่ลูกค้าโดยการเข้าถึงตลาดใหม่และการเพิ่มบัญชีลูกค้า ใช้กระบวนการหลักในธุรกิจธนาคารและความสัมพันธ์กับลูกค้า แทนการดำเนินโครงการ CSR ทั่วไป สนับสนุนให้เกิดสุขภาวะทางการเงินในระยะยาวสำหรับลูกค้าปัจจุบัน และขยายบริการให้ครอบคลุมกลุ่มบุคคลและเอสเอ็มอีที่ยังเข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร

ทั้งนี้ อุปสรรคกีดขวางสำคัญต่อการดำเนินกลยุทธ์ธนาคารในกลุ่มลูกค้าบุคคลและรายย่อย คือ ช่องทางการให้บริการที่คุ้มกับต้นทุน สำหรับลูกค้าในพื้นที่ห่างไกล และ/หรือบริการบัญชีสำหรับธุรกรรมขนาดย่อม ขีดความสามารถในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตที่แม่นยำในระบบที่ใช้อยู่ปัจจุบันสำหรับการเรียกเอกสารและหลักประกัน และความเข้าใจที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าในกลุ่มดังกล่าว

สำหรับกลุ่ม Corporate Banking ธนาคารอาจใช้แนวคิดในการดำเนินกลยุทธ์ด้วยบทบาทการเติมเชื้อให้ภาคเศรษฐกิจเติบโตเพื่อขยายอุปสงค์ที่มีต่อบริการของธนาคาร สร้างกลยุทธ์การให้บริการในระดับห่วงโซ่อุปทาน และ/หรือเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น นอกเหนือจากลูกค้าหรือธุรกรรมในระดับบุคคล และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยบริการทางการเงินที่สนับสนุนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ อุปสรรคกีดขวางสำคัญต่อการดำเนินกลยุทธ์ธนาคารในกลุ่มลูกค้าธุรกิจ คือ ขีดความสามารถในการยกระดับบริการจากลูกค้าหรือธุรกรรมระดับบุคคล รวมถึงความสัมพันธ์ในท้องถิ่นที่มากกว่าลูกค้าปัจจุบัน และรอบการได้ผลตอบแทนคืนที่มีระยะเวลายาว

สำหรับกลุ่ม Private Banking ธนาคารอาจใช้แนวคิดในการดำเนินกลยุทธ์ด้วยบทบาทการร่วมแก้ปัญหาของสังคมโลกโดยการทำงานเชิงลึกกับธุรกิจที่มีฐานลูกค้ากำลังเติบโต จัดโครงสร้างการลงทุนที่สนองตามกลุ่มตลาด แทนการลงทุนก้อนเดียวในกลุ่มเดียว สร้างบริการสำหรับส่วนตลาดลูกค้าที่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และการลงทุนในโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ อุปสรรคกีดขวางสำคัญต่อการดำเนินกลยุทธ์ธนาคารในกลุ่มลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง คือ ความรู้สึกที่มีต่อความจำกัดของสภาพคล่องและขนาดของการลงทุน ความไม่อยากรับความเสี่ยงที่เกิดจากรูปแบบธุรกิจที่ยังไม่เป็นที่พิสูจน์ในตลาดเกิดใหม่ และแนวโน้มที่จะใช้เงินช่วยเหลือแทนการลงทุนสำหรับตลาดที่อยู่นอกธุรกิจหลัก

จากการสร้างคุณค่าร่วมที่นำมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคมในแบบทั่วไป สามารถประยุกต์มาสู่การสร้างคุณค่าร่วมในธุรกิจธนาคารที่พัฒนาเป็นกลยุทธ์ธนาคารคู่สังคมได้ด้วยประการฉะนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 02, 2014

การลงทุนเป็นโอกาส ผู้ลงทุนควร...

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วม UN Sustainable Stock Exchanges (SSE) Initiative เป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 13 แห่ง รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก และตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน เพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้องค์กรและผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มดำเนินงานโดยยึดหลักความยั่งยืน เป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาล คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการมุ่งสนับสนุนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนและการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ

UN SSE Initiative เป็นความริเริ่มร่วมกันระหว่างองค์การสากลแห่งสหประชาชาติ 4 แห่ง ได้แก่ หลักการสหประชาชาติว่าด้วยการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (UNPRI) การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ความริเริ่มด้านการเงินภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP-FI) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC) เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับตลาดหลักทรัพย์ที่เข้าร่วม ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ลงทุน หน่วยงานกำกับดูแล และบริษัทจดทะเบียน เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในองค์กร โดยเฉพาะการดำเนินงานในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับเป็นตลาดหลักทรัพย์รายแรกในอาเซียนที่เข้าร่วม UN SSE Initiative โดยจะมีกำหนดการแถลงต่อที่ประชุม Sustainable Stock Exchanges Global Dialogues เดินหน้าเพื่อพัฒนาความยั่งยืนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้มีการประกาศโรดแมปการพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2557-2561) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนตามเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ CG in substance: เสริมสร้างให้คณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนสร้างผลการดำเนินงานที่ดีให้กิจการอย่างยั่งยืนและน่าเชื่อถือโดยเน้นการปฏิบัติอย่างจริงจัง CSR in process: การดำเนินธุรกิจปกติประจำวันของบริษัทจดทะเบียนเป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นแรงผลักดันให้ภาคเอกชนอื่นดำเนินการด้วย และ Anti-corruption in practice: บริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัทต้นแบบที่มีแนวปฏิบัติอย่างจริงจังและสร้างวัฒนธรรมการไม่คอร์รัปชันให้ภาคธุรกิจไทยได้

ล่าสุด ในฝั่งของบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนไทยที่เข้าเป็นสมาชิกราว 478 บริษัท ดำเนินกิจกรรมผ่าน 5 ชมรม ได้แก่ ชมรม CSR ชมรมนักลงทุนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ชมรมเลขานุการบริษัทไทย ชมรมบริหารความเสี่ยง และชมรม HCM (Human Capital Management) โดยภายใต้ชมรม CSR ได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาบริษัทจดทะเบียนสมาชิกในแนวทาง CSR in process การผนวกการพัฒนาความยั่งยืนเข้าในกลยุทธ์องค์กร และการสร้างคุณค่าร่วม ที่สอดคล้องกับทิศทางในแผนการพัฒนาความยั่งยืนของสำนักงาน ก.ล.ต.

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ คือ การพัฒนาในฝั่งของผู้ลงทุน ต่อการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ที่ไม่ใช่เพื่อผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีการพิจารณาถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หรือผู้จัดการลงทุนซึ่งทำหน้าที่ดูแลการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน จำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติสำหรับการลงทุนที่ดี ใช้ข้อมูลการดำเนินงานในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG ที่กิจการเปิดเผย ประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบด้าน

เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็ดเงินจากกลุ่มผู้ลงทุนที่คำนึงถึงเรื่อง ESG มีจำนวนราว 3.74 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.3 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 33.3 ล้านล้านเหรียญในปัจจุบัน หรือเทียบได้ว่า ในทุกๆ 9 เหรียญเงินลงทุน จะมี 1 เหรียญที่ลงทุนโดยใช้เกณฑ์ ESG ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน

บริษัทจัดทำข้อมูลหลักทรัพย์รายใหญ่ระดับโลก อาทิ เอสแอนด์พี ดาวโจนส์ ฟุตซี่ เอ็มเอสซีไอ ต่างมีการพัฒนาดัชนีด้านความยั่งยืนโดยใช้ข้อมูล ESG เป็นฐานในการคำนวณ การที่บริษัทจดทะเบียนไทยมีการเปิดเผยข้อมูล ESG เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนไทยได้เข้าอยู่ในดัชนีเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกใน DJSI ประจำปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 10 บริษัท ได้แก่ BANPU, CPN, IRPC, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCC, TOP, TUF

จากคำเตือนที่ได้ยินอยู่เสมอว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” อีกหน่อยคงจะมีคำขวัญมาตีคู่ว่า “การลงทุนเป็นโอกาส ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ESG ก่อนการตัดสินใจลงทุน”...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]