Saturday, November 20, 2021

การประเมินลงทุนธีม "ESG" มีความสำคัญไฉน ?

จากข้อมูลของ SustainAbility ที่เผยแพร่ในเอกสาร Rate the Raters 2020: Investor Survey and Interview Results ระบุว่า จำนวนของมาตรฐานและกรอบการดำเนินงาน ผู้ให้บริการข้อมูล ผู้ประเมินและจัดอันดับด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานประเมินและจัดอันดับด้าน ESG มีอยู่มากกว่า 600 แห่งในปี ค.ศ. 2018

ในการสำรวจดังกล่าว พบว่า แหล่งข้อมูลสามอันดับแรกที่ผู้ลงทุนใช้ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทที่ลงทุน ได้แก่ การใช้ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG มากสุด รองลงมาเป็นการใช้ข้อมูลจากการสานสัมพันธ์โดยตรงกับบริษัท และอันดับสามเป็นการใช้ข้อมูลจากการเปิดเผยรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการ

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงสาเหตุที่ผู้ลงทุนใช้ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG มากสุด เนื่องเพราะเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อการสร้างผลตอบแทนการลงทุน สามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมเพิ่มเติมจากบทวิจัยอื่นในแง่ของผลการดำเนินงานและความเสี่ยงด้าน ESG ของกิจการ อีกทั้งข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวยังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียหลัก รวมถึงเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลการดำเนินงาน ESG ของกิจการที่มีคุณภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือ

ปัจจุบัน หน่วยงานประเมิน ESG มีวิธีการใช้ข้อมูลในการประเมินที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ ได้แก่ ค่ายที่ใช้วิธีการประเมินจากการรวบรวมข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่เปิดเผยในแหล่งต่างๆ อาทิ Bloomberg, Thomson Reuters, MSCI กับค่ายที่ใช้วิธีการขอข้อมูล (Requested Information) จากกิจการ ผ่านแบบสำรวจหรือแบบสอบถามเพื่อทำการประเมิน อาทิ DJSI Index Family ของ S&P Global, CDP, JUST Capital ฯลฯ


S&P Global ในฐานะผู้จัดทำดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) และดัชนี S&P ESG ได้มีการเชิญบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนีดังกล่าว เข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2564

สำหรับการประเมินในปีนี้ S&P Global ยังได้เปิดโอกาสให้บริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของชุมชนผู้ลงทุนวงกว้าง อีกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีหลัง เพิ่มเติมเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ในจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี DJSI (Group A) มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมิน จำนวน 37 แห่ง โดยในปีนี้ ยังมีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี S&P ESG (Group B) ให้เข้าร่วมการประเมิน CSA เพิ่มเติมอีก 25 แห่ง และอีกจำนวน 72 แห่งในรอบหลัง (ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของทั้งสองดัชนี) รวมบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 134 แห่ง

สำหรับในปี 2564 นี้ บริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI มีจำนวน 24 แห่ง ประกอบด้วย ADVANC, AOT, BANPU, BDMS, BJC, BTS, CPALL, CPF, CPN, DELTA, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU เพิ่มขึ้นเป็นลำดับในห้วงเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ที่มีบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2544

สถิติที่สำคัญ
ปี 64 ได้รับเชิญ 37 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 24 บริษัท (เพิ่ม BDMS BJC DELTA)
ปี 63 ได้รับเชิญ 36 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 21 บริษัท (เพิ่ม EGCO)
ปี 62 ได้รับเชิญ 36 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 20 บริษัท (ADVANC เข้า)
ปี 61 ได้รับเชิญ 32 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 19 บริษัท (เพิ่ม BTS SCB)
ปี 60 ได้รับเชิญ 37 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 17 บริษัท (เพิ่ม CPALL IVL HMPRO TRUE) (ADVANC ออก)
ปี 59 ได้รับเชิญ 33 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 14 บริษัท (เพิ่ม KBANK)
ปี 58 ได้รับเชิญ 34 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 13 บริษัท (เพิ่ม ADVANC AOT CPF)
ปี 57 ได้รับเชิญ 30 บริษัท ได้รับคัดเลือก 10 บริษัท (เพิ่ม BANPU CPN IRPC MINT PTTEP TU)
ปี 56 ได้รับเชิญ 34 บริษัท ได้รับคัดเลือก 4 บริษัท (เพิ่ม PTTGC TOP)
ปี 55 ได้รับเชิญ 22 บริษัท ได้รับคัดเลือก 2 บริษัท (เพิ่ม PTT)
ปี 47-54 คงมีบริษัทเดียวที่ได้รับคัดเลือก
ปี 44 มีบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือก (คือ SCC)
ปี 42 เริ่มมีดัชนี DJSI

ในมุมมองของผู้ลงทุนโดยใช้ธีม ESG นอกจากการพิจารณาประเด็นความยั่งยืนที่บริษัทมีการดำเนินการเป็นที่โดดเด่นแล้ว การพิจารณาผลประกอบการในบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) ของกิจการ ยังคงถือเป็นภาคบังคับสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนซึ่งไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

เมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI World ในรอบปี พบว่า มีตัวเลขผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 22.28% ขณะที่ผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI Emerging อยู่ที่ 17.58% เมื่อเทียบกับดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ ESG100 ที่ทำการประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 25.12% โดยที่ดัชนี Thaipat ESG Index ให้ผลตอบแทนเหนือดัชนี DJSI World (ต่างกัน 2.84%) และ DJSI Emerging (ต่างกัน 7.54%)

และเมื่อพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 64 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ของหุ้น DJSI ทั้ง 24 ตัว (Equal-weighted) พบว่า มีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 12.58% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนราคาของดัชนี SET Index ในอัตรา 13.91% ขณะที่ดัชนี Thaipat ESG Index ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 15.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน (ข้อมูล ณ 18 พ.ย. 64)

การลงทุนในหุ้นที่ถือว่ามีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนตามการประเมิน CSA ดังกล่าว ยังไม่อาจตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน ในแง่ของการได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ยังต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของตลาดโดยรวม


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 06, 2021

ปรับองค์กร - เปลี่ยนโลก

“ไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกสำรอง” (There is no Plan B, because we do not have a Planet B) เป็นคำกล่าวของนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ค.ศ.2007-2016) ต่อสื่อมวลชนที่หน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อปี 2557

ในภาคธุรกิจ หากนำคำกล่าวนี้มาขยายความ คงจะหมายถึงว่า ถ้าธุรกิจมัวแต่สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรือง โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและถูกทำลาย ไม่เพียงแต่ธุรกิจจะไม่มีความยั่งยืน เมื่อถึงเวลานั้น มนุษยชาติจะไม่มีที่ยืนที่อาศัยบนโลกใบนี้ด้วย

เหตุผลของการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ จึงไม่ใช่เพื่อการทำให้กิจการมีความยั่งยืน เฉพาะองค์กร เพียงในความหมายที่แคบ แต่เป็นการทำให้ทั้งกิจการและสังคม (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) มีความยั่งยืนดำเนินควบคู่กันไป

ที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่มองประเด็นปัญหาทางสังคมว่าเป็นบทบาทของภาครัฐที่ต้องเป็นผู้แก้ไขดำเนินการ กิจการจึงมักแสดงออกด้วยการร่วมรับผิดชอบในรูปของความช่วยเหลือหรือการบริจาคเป็นครั้งคราวตามโอกาส

แต่กิจการที่ตระหนักว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่องค์กรควรมีส่วนเข้าไปร่วมแก้ไข ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจะเพิ่มขึ้น เกิดสำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง กิจการในกลุ่มนี้จะมีการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการแก้ไขปัญหา จัดการ ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินการอย่างเป็นระบบ

ปัจจุบัน จะมีกิจการจำพวกหนึ่งมีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อประเด็นทางสังคมเหล่านั้น โดยแทนที่จะมองว่าเป็น “ปัญหา” แต่กลับมองว่าเป็น “โอกาส” ทางธุรกิจ กิจการกลุ่มนี้จึงมีการพัฒนากลยุทธ์องค์กร โดยใช้ประเด็นทางสังคมเหล่านั้น มาเป็น “โจทย์” ทางธุรกิจ

เท่ากับว่า หากกิจการตีโจทย์แตก จะมีทั้งผลได้ทางธุรกิจและผลลัพธ์ทางสังคมเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกัน เรียกว่า เป็นการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value) ให้กับทั้งธุรกิจและสังคมในคราวเดียว โดยไม่จำเป็นต้องให้ในรูปแบบความช่วยเหลือหรือการบริจาคตามหลัง

การเพิ่มความเป็นรูปธรรมในสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่วัดด้วยผลได้ทางธุรกิจ ก่อให้เกิดผลที่ติดตามมาหลายประการ

ประการแรก ทำให้องค์กรธุรกิจ เคลื่อนย้ายจุดสนใจที่มีต่อการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม จากระดับโครงการนำร่องเพียงเพื่อให้ได้ภาพการดำเนินงานทางสังคม มาสู่ระดับกลยุทธ์การดำเนินงานทางธุรกิจ และจากส่วนตลาดที่ด้อยความสำคัญในสายตาของธุรกิจ กลายมาเป็นส่วนตลาดที่มีนัยสำคัญในวิถีของธุรกิจได้

ประการที่สอง ทำให้องค์กรธุรกิจ รื้อและสร้างความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของกิจการขึ้นใหม่ จากเดิมที่มุ่งผลิตสินค้าและบริการเพียงเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ มาสู่การปรับสายผลิตเพื่อให้สินค้าและบริการของตนสามารถสนองตอบต่อประเด็นทางสังคมด้วย โดยท่ามกลางองค์กรที่คิดทำ เพียงเพื่อให้ได้ภาพพีอาร์ มากกว่าเรื่องเนื้อหา จะมีหลายองค์กรที่เริ่มหยั่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสังคม ได้รับผลบวกที่เป็นความผูกพันและแรงจูงใจให้กับบุคลากรที่ทำงานอยู่ รวมทั้งดึงดูดบุคลากรใหม่ที่มีฝีมือและศักยภาพ ให้เข้าร่วมงานกับองค์กร ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมที่เอื้อต่อการขยายขอบข่ายของธุรกิจ

ประการที่สาม ทำให้องค์กรธุรกิจ รื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือบรรดาเอ็นจีโอต่างๆ จากเดิมที่มองเพียงว่าเอ็นจีโอมีสถานะที่เล่นบทเป็นคู่กรณีหรือคู่ปรับกับธุรกิจ มาสู่การปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ที่เอ็นจีโอสามารถเป็นหุ้นส่วนหรือคู่หูร่วมดำเนินงาน

ประการที่สี่ ทำให้แวดวงตลาดทุนตื่นตัวหันมาให้ความสนใจลงทุนกับกิจการที่ใช้กลยุทธ์คุณค่าร่วม จากเดิมที่ผู้ลงทุนมีความกังขากับการพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินลงทุนโดยใช้ปัจจัยทางสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องน้อยมากในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ มาสู่การให้ความสำคัญในกิจการที่ยึดมั่นในความมุ่งประสงค์ใหม่ ที่แตกต่างจากการประชาสัมพันธ์หรือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วไป และสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้โดยไม่มีสัดส่วนที่ตายตัว

ประการที่ห้า ทำให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบภายนอก (Externality) ที่เป็นต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของกิจการผู้ก่อผลกระทบ ซึ่งมิได้ถูกคำนวณรวมอยู่ในธุรกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เพราะกิจการย่อมต้องเลือกเลือกแสวงหากำไรที่เพิ่มขึ้น และผลักภาระดังกล่าวให้แก่สังคม ส่งผลให้ต้นทุนหรือราคาสินค้าและบริการ ไม่ได้สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายตามที่ควรจะเป็น ซึ่งความจริงอีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะกิจการนั้นๆ ต่างหาก ที่ดำเนินงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น จึงได้มีของเสียหรือมลภาวะออกมาสู่ภายนอก โดยหากกิจการพัฒนาวิธีการที่สามารถบริหารทรัพยากรและจัดการกระบวนการผลิตหรือกระบวนการอื่นๆ ในธุรกิจ จนไม่มีของเสียหรือของเหลือทิ้ง (หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้) ต้นทุนในการจัดการผลกระทบสู่ภายนอกก็เป็นศูนย์ ในระยะยาว ธุรกิจจะมีกำไรเพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในเชิง Trade-off อีกต่อไป

การสร้างคุณค่าร่วม จึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้โจทย์ความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างความต้องการของสังคมและของธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาในห้วงเวลาที่ผ่านมา และเป็นแนวทางที่สามารถใช้ปรับแนวการดำเนินงานขององค์กร เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]