Thursday, May 29, 2014

เก็บตก SRI Forum ใน ดี.ซี.

ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว (20-21 พ.ค. 2557) หลังจากการประชุม Shared Value Leadership Summit ที่นครนิวยอร์ก ผมได้เดินทางต่อมายังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเข้าร่วมในการประชุมอีกงานหนึ่งของ The Forum for Sustainable and Responsible Investment หรือ US SIF สมาคมที่ประกอบด้วยผู้ลงทุนสถาบัน องค์กรธุรกิจ และนักวิชาชีพราว 400 ราย ดูแลเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ


US SIF (ย่อจากชื่อเดิม คือ Social Investment Forum) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นชื่อ The Forum for Sustainable and Responsible Investment ได้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถือเป็นฮับการลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เน้นความยั่งยืน มีความรับผิดชอบ และมุ่งผลกระทบ ที่รวมกลุ่มกันค่อนข้างประสบผลสำเร็จ จนมีการตั้งหน่วยงานสกุล SIF ในประเทศต่างๆ ตามมามากมาย ได้แก่ UKSIF (สหราชอาณาจักร), Eurosif (ยุโรป), ASrIA (เอเชีย), AfricaSIF (แอฟริกา), VBDO (เนเธอร์แลนด์), SIO (แคนาดา), SWESIF (สวีเดน), RIAA (ออสเตรเลีย), FIR (ฝรั่งเศส), FNG (เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์), SIF-Japan (ญี่ปุ่น), SpainSIF (สเปน), Forum per la Finanza Sostenibile (อิตาลี), KoSIF (เกาหลี), DanSIF (เดนมาร์ก)

จุดมุ่งหมายร่วมกันของบรรดาสมาชิกที่สังกัดหน่วยงานสกุล SIF เหล่านี้ คือ การส่งเสริมบทบาทการลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG (Environmental, Social และ Governance) ในการสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่น่าพอใจในระยะยาว พร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก

เนื่องจากเป็นมือใหม่หัดขับ จึงประเดิมการประชุมในช่วงแรกด้วยการสมัครเข้ารับการฝึกอบรมปูพื้นฐานในหลักสูตร Fundamental of Sustainable and Responsible Investment จากจอมยุทธ์ในวงการ (อาทิ Morgan Stanley, Trillium Asset Management, Mercer, Calvert Investments, Goodfunds Wealth Management) ทำให้รู้ศัพท์แสงที่พอจะไปกล้อมแกล้มคุยกับคนอื่นได้ในช่วงถัดไป แถมพกด้วย Certificate ติดกลับมาเมืองไทยเพิ่มอีกใบ (เสียดายว่าหลักสูตรนี้สามารถเก็บหน่วยกิตเพื่อทำคุณวุฒิทางด้านวิชาชีพ CFP, CFA, IMCA ซึ่งเราไม่ได้เกี่ยว) แต่ก็ได้ไอเดียเพื่อมาทำเค้าโครงการอบรมเรื่อง SRI ในบ้านเราอยู่เหมือนกัน

ในช่วงเปิดงานเป็นการประชุมรวม (Plenary Session) ที่เบอร์หนึ่งของ US SIF (อเมริกา), ASriA (เอเชีย) และบอร์ดของ Eurosif (ยุโรป) มาอัปเดตแนวโน้มเรื่อง Sustainable Investment ในแต่ละมุมโลก โดยผู้ดำเนินรายการซึ่งก็เป็นเบอร์หนึ่งจาก Sustainalytics บริษัทแถวหน้าด้านการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยั่งยืนให้กับนักลงทุนทั่วโลก ได้เชื้อเชิญให้ผู้แทนหน่วยงานสกุล SIF จากแคนาดา ออสเตรเลีย แอฟริกา ฯลฯ ร่วมแชร์ความเคลื่อนไหวในถิ่นของตนด้วย (มีสรุปรายงานแนวโน้ม SRI ในอเมริกาที่ US SIF จัดทำทุกๆ 2 ปี โดยปีล่าสุด ค.ศ.2012 สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.ussif.org)

การประชุมช่วงต่อไปที่ผมใจจดใจจ่อมากที่สุด ไม่ใช่เพราะหัวข้อของช่วงการประชุม แต่เป็นวิทยากรผู้หนึ่งในช่วงการประชุมนี้ ชื่อ Jed Emerson ซึ่งผมได้อ่านหนังสือที่เขาแต่งชื่อ Impact Investing เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว และทำให้ได้ความคิดความเข้าใจต่อเรื่องตามชื่อหนังสือไว้อย่างมาก

Emerson เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า Blended Value ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เพื่ออธิบายถึงการทำให้ได้มาซึ่งคุณค่าที่แยกจากกันไม่ได้ระหว่างเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (คล้ายคลึงกับแนวคิด Triple Bottom Line) ก่อนที่ Michael E. Porter จะบัญญัติคำว่า Shared Value อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2554 เพื่ออธิบายถึงการทำให้ได้มาซึ่งคุณค่าที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม

ปัจจุบัน Emerson เป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านการลงทุนที่ยั่งยืน และมุ่งผลกระทบให้แก่ 4 ครอบครัวด้วยสินทรัพย์รวมกันกว่า 1.4 พันล้านเหรียญ และยังรั้งตำแหน่ง Chief Impact Strategist ในองค์กรชื่อ ImpactAssets เพื่อบุกเบิกการลงทุนในแบบ Impact Investing ตามที่เขาถนัด

บุคคลสำคัญอีกท่านที่ผมได้มีโอกาสพบในการประชุมครั้งนี้ คือ William B. Rosenzweig ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมและช่วยก่อตั้ง TED conference, Net Impact, Business for Social Responsibility, Global Social Venture Competition (GSVC) เป็นต้น

เมื่อได้สัมผัส Rosenzweig ตัวเป็นๆ ต้องยอมรับเลยว่า เขาเป็นผู้มีพลังสร้างสรรค์และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างได้อย่างมากมาย จนต้องหาเรื่องสนทนาเพื่อจะชักชวนให้มาเมืองไทยสักครั้ง และสิ่งที่เขาตอบผมคือ Then, It’s your job to bring me there! เอาสิครับ งานเข้าเลย สมกับเป็นผู้แปลงไอเดียให้เป็นแอ็คชั่นจริงๆ

นับว่าเป็นการประชุม 2 วันที่คุ้มค่า และทำให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่อง Sustainable and Responsible Investment (ย่อว่า SRI เช่นกัน) ในโหมดการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นรายใหญ่ๆ อย่างมีนัยสำคัญ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 15, 2014

เลียบเวที Shared Value Summit

สัปดาห์นี้ ผมเดินทางมาร่วมประชุม “Shared Value Leadership Summit” ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นโดย Shared Value Initiative อันเป็นความริเริ่มของ “ไมเคิล อี. พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” เจ้าของต้นตำรับแนวคิด CSV ร่วมกับองค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร Foundation Strategy Group (FSG) ที่ทั้งสองท่านได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดไปสู่ภาคปฏิบัติ

งานจัดขึ้น 2 วัน (13-14 พ.ค. 2557) พูดคุยกันในกว่า 10 หัวเรื่อง ภายใต้ธีมที่มีชื่อว่า “Investing in Prosperity” มีผู้สนใจเข้าร่วมจาก 136 องค์กร รวมประมาณ 400 คน


“ไมเคิล อี. พอร์เตอร์”
เป็นผู้กล่าวนำการประชุม โดยชี้ให้เห็นถึงสถานะและความเคลื่อนไหวของการสร้างคุณค่าร่วมที่เติบโตขึ้นมาก นับตั้งแต่บทความ The Big Idea: Creating Shared Value ได้ถูกตีพิมพ์ใน Harvard Business Review เมื่อปี 2554 จากการที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและทางสังคมไปพร้อมกัน

การนำเสนอสถานะของ CSV ในช่วงแรกที่เกี่ยวกับภาคเอกชน ไม่ได้มีอะไรใหม่มากนัก พอร์เตอร์ ยังคงใช้เอกสารเก่ามานำเสนอ โดยเป็นฉบับที่ผมได้หยิบมานำเสนอให้กับองค์กรธุรกิจในประเทศไทยได้รับทราบไปแล้ว เมื่อครั้งที่แถลงทิศทาง CSR ปี 2557 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่ข้อมูลที่พอร์เตอร์ได้เพิ่มเข้ามาใหม่ในการนำเสนอคราวนี้ เป็นสถานะของ CSV กับบทบาทของภาคประชาสังคมและบทบาทของภาครัฐ โดยพอร์เตอร์ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการขององค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่ง ที่ได้ใช้ประโยชน์จาก CSV ในการแปลงพันธกิจ สู่การเป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานกับองค์กรธุรกิจ และกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อาทิ องค์กรไม่แสวงหากำไร PATH, Mercy Corps, และ TechnoServe (รายละเอียดติดตามได้ที่ http://sharedvalue.org/2014summit)

ขณะที่บทบาทของภาครัฐต่อเรื่อง CSV สามารถทำได้ด้วยการดูแลกฎระเบียบ ให้เอื้อต่อการสร้างคุณค่าร่วมของภาคธุรกิจ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร สิ่งจูงใจ และกำลังหนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น เกณฑ์วิธีที่มุ่งผลลัพธ์ (เหนือระเบียบปฎิบัติ) โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อ การหาตลาดรองรับ สินเชื่อระยะสั้น สิทธิประโยชน์จากการลงทุนร่วม ฯลฯ

ผมคิดว่าในไม่ช้านี้ ภาครัฐก็คงนำเรื่อง CSV มาปรับใช้ในการดำเนินงานเพื่อส่งมอบคุณค่าร่วม เหมือนกับที่ได้นำเรื่อง CSR ของภาคเอกชนมาใช้ ในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยงานมาแล้ว สังเกตได้จากความสนใจขององค์กรระหว่างประเทศที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ หลายองค์กรอยู่ในระดับที่เป็นผู้กำหนดทิศทางที่สามารถชี้นำแนวนโยบายแห่งรัฐของประเทศต่างๆ ทั้งสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์การอนามัยโลก (WHO) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) และธนาคารโลก เป็นต้น

นอกจากนี้ พอร์เตอร์ยังได้พูดถึงมิติของ Shared Value ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ลงทุน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญไม่น้อย ต่อการผลักดันให้บริษัทที่ได้รับเงินลงทุน ปรับวิถีการดำเนินกิจการไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม โดยฉายภาพให้เห็นพัฒนาการของรูปแบบการลงทุน จากนักลงทุนผู้หวังกำไรล้วนๆ (Economic Purists) ซึ่งรวมถึงนักลงทุนเน้นคุณค่า หรือ Value Investors ที่คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานและโอกาสในระยะยาว มาเป็นการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investing) ในช่วงที่ CSR เติบโต สู่การลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability Investing) โดยใช้ข้อมูล ESG ประกอบการตัดสินใจ และการลงทุนมุ่งผลกระทบ (Impact Investing) ที่ให้น้ำหนักกับกิจการประเภท Social Enterprise ซึ่งเป็นตลาดที่จำกัดเฉพาะกลุ่ม จนเปิดช่องให้พอร์เตอร์ได้โอกาสเสนอแนวคิดการลงทุนเน้นคุณค่าร่วม (Shared Value Investing) ที่ใช้ต่อยอดการบริหารพอร์ตการลงทุนในปัจจุบันได้ทันที โดยคาดว่าเรื่อง Shared Value Investing จะเป็นบทความลำดับถัดไปของพอร์เตอร์และเครเมอร์ภายในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

หลังจบการบรรยาย ผมได้มีโอกาสสนทนาช่วงสั้นๆ กับพอร์เตอร์ ในฐานะที่เป็น Shared Value Initiative Affiliate ในประเทศไทย มีเรื่องที่เขาได้พูดถึงเมืองไทย และโอกาสที่จะทำงานในบางเรื่องร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างคุณค่าร่วม และความก้าวหน้าทางสังคมที่พอร์เตอร์กำลังศึกษาอยู่

ไว้กลับไปเมืองไทยจะได้หาโอกาสเล่าให้ฟังกันครับ!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 08, 2014

สร้างตัวช่วยความยั่งยืน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าว “โครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย” ด้วยการจัดทำดัชนีชี้วัดเพื่อประเมินระดับการพัฒนาด้าน CSR และ Anti-corruption สำหรับบริษัทจดทะเบียน เป็นครั้งแรกของไทย

อาจกล่าวได้ว่า CSR และ Anti-corruption เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาความยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และสถาบันไทยพัฒน์ ต่างก็มีพันธกิจและการขับเคลื่อนงานที่ต้องการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนให้มีการพัฒนาเพื่อยกระดับการดำเนินงานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ก.ล.ต. ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนระยะ 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) โดยการพัฒนาความยั่งยืนในส่วนที่เกี่ยวกับ CSR และ Anti-corruption จะมีการจัดทำ CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Progress Indicator เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และใช้เป็นกลไกเสริมการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวม

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานด้านวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ได้จัดทำรูปแบบการประเมินระดับการรายงานความยั่งยืน เมื่อปี 2556 และได้นำมาใช้ในโครงการประกาศรางวัลรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการจัดทำรายงานความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยในปี 2557 สถาบันไทยพัฒน์มีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดรูปแบบการประเมินดังกล่าวจากการประเมินระดับการรายงานความยั่งยืน (สิ่งที่เปิดเผย) ให้ครอบคลุมการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืน (สิ่งที่ดำเนินการ) ด้วย

ด้วยพันธกิจและแผนงานที่สอดคล้องกัน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้สถาบันไทยพัฒน์ดำเนินการพัฒนารูปแบบการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนที่อ้างอิงจากกรอบการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานสากลเป็นครั้งแรกของไทย เพื่อใช้ประเมินระดับการพัฒนาทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Progress Indicator โดยจะแสดงระดับการพัฒนาตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับสูงสุดของการพัฒนาด้วยการใช้สเกล 0-5

การประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทยด้วยตัวชี้วัด CSR และ Anti-corruption จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกบริษัทจดทะเบียนที่สามารถนำข้อมูลระดับการพัฒนาของตนเอง ไปใช้ประกอบการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรอบ ตั้งแต่ระดับกิจการสู่ระดับชุมชน ระดับสังคม ในอันที่จะส่งผลให้กิจการมีความยั่งยืน

ความคาดหวังในช่วงแรกของโครงการ อยู่ที่การส่งเสริมให้บริษัทได้ตระหนักในความสำคัญและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทิศทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงตามศักยภาพของแต่ละบริษัท และคาดว่าในปี 2557 จะมีการพัฒนาการอย่างน้อยในระดับเริ่มต้นหรือระดับที่ 1 หมายถึงบริษัทมีเจตนารมณ์ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และสามารถสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ยังสามารถนำผลประเมินมาใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยผลการประเมินคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 และจะเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.

ที่สำคัญ บริษัทจดทะเบียนสามารถนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาแนวทางและมาตรการในการสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกรอบหรือมาตรฐานที่เป็นสากล ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.thaicsr.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 01, 2014

CSR ระหว่างได้ทำกับได้ผล

ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ที่สร้างคุณค่าหรือผลกระทบสูงต่อสังคม เกิดจากการที่องค์กรสามารถผนวกเรื่องดังกล่าวเข้าไว้ในการดำเนินงานที่ทุกส่วนงานในองค์กรมีส่วนร่วมผ่านทางการปฏิบัติหน้าที่อย่างรับผิดชอบของตนเอง และเป็นผลจากการทำงานอย่างบูรณาการของแหล่งดำเนินงาน แผนก / ส่วนงาน หรือกระบวนการหลักของธุรกิจอย่างเป็นเอกภาพ

หลายบริษัทตีความเรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อเรื่อง CSR ไปในทางที่วัดผลด้วยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งเป็น CSR ที่อยู่นอกกระบวนงาน (CSR-after-process) โดยถือเป็นความสำเร็จที่สามารถขยายการมีส่วนร่วมจากบุคลากรเฉพาะฝ่ายหรือแผนก CSR ไปสู่บุคลากรในฝ่ายหรือแผนกอื่นๆ ซึ่งไม่ตรงจุด

การมีส่วนร่วมผ่านทางการปฏิบัติหน้าที่อย่างรับผิดชอบ คือ การส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนงาน ในแหล่งดำเนินงาน และในกระบวนการหลักของธุรกิจ (CSR-in-process) มิใช่ผ่านทางกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนงาน จึงจะตอบโจทย์เรื่องผลกระทบและการสร้างคุณค่าจากการดำเนินธุรกิจปกติได้อย่างตรงจุด

ตัวอย่างผลกระทบจากการประหยัดพลังงานของบริษัทที่สำนักงานใหญ่ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่น ไม่ได้มีนัยสำคัญในการดำเนินงานของบริษัท หากสาขาหรือโรงงานที่ประกอบการอยู่ทั่วประเทศจำนวนนับร้อยนับพันแห่ง มิได้ดำเนินการด้วย

ตัวอย่างผลกระทบจากการลดปริมาณของเสียในกระบวนการผลิต ไม่ได้เป็นสาระสำคัญของการดำเนินงาน หากกระบวนการผลิตดังกล่าวยังส่งเสริมให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมโหฬาร

ตัวอย่างผลกระทบจากการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสังคมของบริษัท ไม่ได้มีน้ำหนักความสำคัญต่อการดำเนินงาน หากบริษัทยังคงจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการในสิ่งที่มอมเมาหรือให้โทษแก่สังคมอยู่ในกระบวนการหลักของธุรกิจ

สัดส่วนของแหล่งดำเนินงาน แผนก / ส่วนงาน หรือกระบวนการหลักของธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับดำเนินงาน CSR ของบริษัท ถือเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญในการประเมินระดับของการสร้างคุณค่าหรือผลกระทบต่อสังคม

หลักธรรมชาติที่เป็นสัจธรรม คือ เมื่อมีการกระทำเกิดขึ้น ย่อมมีผลของการกระทำนั้นติดตามมา การกระทำใดที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่สามารถลบล้างผลด้วยการกระทำอีกอย่างหนึ่ง ทำได้เพียงแก้ไขหรือเยียวยาผลที่เกิดจากการกระทำนั้น แต่สำหรับการกระทำใดที่ยังไม่เกิดขึ้น สามารถระงับหรือยกเลิกเพื่อมิให้เกิดผลจากการกระทำนั้นได้

จากสัจธรรมข้อนี้ ธุรกิจไม่สามารถดำเนินงาน CSR เพื่อลบล้างผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการธุรกิจ แต่ทำได้โดยการแก้ไขเยียวยาผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเหล่านั้น (การเลือกทำ CSR กับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น ถือว่าไม่ตรงจุด) หรือทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการธุรกิจเพื่อลดหรือป้องกันมิให้ผลกระทบนั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต (การเลือกทำ CSR ในเรื่องอื่น ถือว่าไม่ตรงจุดเช่นกัน)

บริษัทที่เข้าใจในสัจธรรมข้อนี้ จึงสามารถออกแบบให้การดำเนินงาน CSR ขององค์กรสร้างคุณค่าหรือผลกระทบสูงต่อสังคม ด้วยการให้ความสำคัญที่กระบวนการหลักของธุรกิจ มากกว่าโครงการหรือกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นต่างหากจากกระบวนการหลักของธุรกิจ และให้น้ำหนักกับการผนวกเรื่อง CSR เข้ากับการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร มากกว่าการมอบหมายให้เฉพาะแผนกหรือส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งไปดำเนินการ หรือเลือกดำเนินการเฉพาะแหล่งดำเนินงานบางแห่งในลักษณะ Show Case เท่านั้น

คุณค่าที่เกิดขึ้นระหว่าง CSR ที่ได้ทำ กับ CSR ที่ได้ผล จึงมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]