Saturday, April 23, 2022

การสื่อสารเรื่องก๊าซเรือนกระจก สำคัญต่อธุรกิจวิถียั่งยืน

ช่วงนี้ จะเป็นฤดูของการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นข้อมูลทางการเงินที่จะเผยแพร่อยู่ในรายงานประจำปี (Annual Report) เป็นหลัก และข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเผยแพร่อยู่ในรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นหลัก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งปรากฎการณ์โลกร้อนและโลกรวน ได้กลายเป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ในแง่ที่ว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ลงทุน มีวิธีบริหารจัดการกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในส่วนที่องค์กรเป็นผู้ก่อผลกระทบนั้นมากน้อยเพียงใด และอย่างไร

โดยหนึ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ลงทุนมีการเรียกดูข้อมูล และเป็นเหมือนภาคบังคับที่องค์กรต้องเปิดเผย ได้แก่ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและโลกรวน

ในบทความนี้ จะมาขยายความถึงสิ่งที่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของกิจการต้องการเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจลงทุนหรือใช้กำหนดท่าทีต่อการร่วมงาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นข้อมูลที่องค์กรต้องเปิดเผยในฐานะที่เป็นประเด็นสาระสำคัญ (Material Topics) ของกิจการ

กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ขอบเขต คือ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากการดำเนินงานขององค์กร (Direct Emissions) ในขอบเขตที่ 1 (Scope 1) กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ในขอบเขตที่ 2 (Scope 2) และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Other Indirect Emissions) ในขอบเขตที่ 3 (Scope 3)

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมภายในองค์กร ที่กิจการเป็นเจ้าของหรือควบคุมแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้แบบอยู่กับที่ (Stationary Combustion) ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้แบบที่มีการเคลื่อนที่ (Mobile Combustion) ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการในอุตสาหกรรมจำเพาะ (เช่น ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า แอมโมเนีย) (Process Emissions) และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการรั่วไหล (Fugitive Emissions)

การแสดงตัวเลขปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางตรงที่กิจการปล่อย ควรจำแนกตามหน่วยธุรกิจ แหล่งดำเนินงาน ประเทศ ชนิดแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก (แบบอยู่กับที่ แบบที่มีการเคลื่อนที่ กรณีที่เกิดจากกระบวนการผลิต กรณีที่เกิดจากการรั่วไหล) และชนิดกิจกรรม

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานทุติยภูมิ (Secondary Energy) ที่กิจการซื้อหรือจัดหามาจากแหล่งภายนอก การปล่อย “ทางอ้อม” ตามความหมายนี้ เป็นผลพวงมาจากความต้องการใช้พลังงานของกิจการ โดยอาศัยแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกที่กิจการอื่นเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ควบคุม (เช่น ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า)

กิจการหลายแห่ง มีตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 (ทางอ้อม) โดยการซื้อพลังงานไฟฟ้ามาใช้ ในปริมาณที่สูงกว่าตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 (ทางตรง) มาก และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อน สูงเป็นอันดับสามของโลก

การคำนวนตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 แนะนำให้ใช้เอกสารมาตรฐาน GHG Protocol Scope 2 Guidance สำหรับกิจการ โดยคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้ตัวเลขข้อมูลการใช้พลังงานในกิจกรรม (Activity Data) คูณกับค่าตัวประกอบการปล่อย (Emission Factor)

ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 ให้แสดงปริมาณเป็นค่าสัมบูรณ์ (Absolute) และรายงานในหน่วยตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยการปรับบรรทัดฐาน (Normalize) ให้หารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ที่มีหน่วยเป็นบาท) ในรอบการรายงานเดียวกัน โดยมีหน่วยที่รายงานเป็น ตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อบาท

การที่ให้มีการคำนวณโดยปรับบรรทัดฐานให้มีหน่วยเป็นตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อบาท ก็เพื่อให้กิจการสามารถนำไปรายงานเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตัวชี้วัดที่ 9.4.1 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยมูลค่าเพิ่ม ตามเป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) ได้ด้วย

ทั้งนี้ กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อเฝ้าติดตามระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกิจการระหว่างรอบการรายงาน

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 3 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากที่ระบุในขอบเขตที่ 1 และ 2 ซึ่งสามารถตรวจวัดปริมาณก๊าซได้ โดยการเปิดเผยข้อมูลในขอบเขตที่ 3 ขึ้นอยู่กับองค์กร ไม่ถือเป็นข้อบังคับ ตัวอย่างของกิจกรรมในขอบเขตนี้ ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวหรือระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการทำงานของบุคลากร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ เช่น การใช้น้ำประปา วัสดุสำนักงานภายในองค์กร การใช้พลังงานไฟฟ้าทางอ้อมของบ้านพักพนักงาน ฯลฯ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการขนส่งผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ คนงาน หรือกระบวนการจัดการกากของเสีย การบำบัดน้ำเสียโดยหน่วยงานภายนอก การเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อการหุงต้มจากกิจกรรมการประกอบอาหารภายในโรงอาหารที่เกิดจากการจ้างเหมาบริการ เป็นต้น

จากการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ จำนวน 758 ราย ในปี 2564 โดยสถาบันไทยพัฒน์ ที่เผยแพร่ไว้ในรายงาน The State of Corporate Sustainability in 2021 พบว่า มีกิจการที่เปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 120 ราย คิดเป็น 15.83% หรือประมาณ 1 ใน 6 ของกิจการทั้งหมดที่ทำการสำรวจ

เป็นโอกาสที่กิจการในไทย จะยกระดับการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย ให้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและใช้ดึงดูดให้เกิดการร่วมทำงานกับกิจการ เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและแก่สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, April 09, 2022

บอกผู้คนและโลกอย่างไร ว่าองค์กรเรายั่งยืน

ทุกๆ กิจการในวันนี้ ต่างก็พยายามขับเคลื่อนและสื่อสารเรื่องความยั่งยืนให้สังคมได้รับทราบ แต่การที่สังคมจะรับสารที่องค์กรสื่อ ได้ตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่นั้น นอกจากความสามารถในการสื่อสารแล้ว ตัวสารเอง จะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสื่อสาร และเป็นความท้าทายของทุกกิจการ ที่มักประสบกับคำถามที่ว่า แล้วเนื้อหาที่จะสื่อสารออกไปมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร

ในที่นี้ เมื่อเราพูดถึงความยั่งยืนของกิจการ จะหมายถึง การดำเนินงานหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร เป็นการผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจที่ส่งผลโดยตรงต่อการประกอบการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

และในวิถีของธุรกิจ ปัจจัยความยั่งยืนที่ว่านั้น จะต้องส่งผลใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การเติบโตของรายได้ จากผลิตภัณฑ์ บริการ และ/หรือ กลยุทธ์ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นฐานในการพัฒนา 2) การประหยัดต้นทุน จากการดำเนินงานปรับปรุงผลิตภาพที่ขับเคลื่อนด้วยความริเริ่มด้านความยั่งยืน และ 3) การจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ

ในแง่ของการเติบโต (Growth) เนื้อหาที่ควรพิจารณานำมาสื่อสาร คือ การจำแนกประเภทรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ประโยชน์จากความยั่งยืน เช่น ธุรกิจยานยนต์ อาจจะมีการแยกหมวดรายได้จากยอดขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปกับรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจประกอบชิ้นส่วนหรืออะไหล่รถยนต์ อาจมีการแยกยอดจำหน่ายชิ้นส่วนหรืออะไหล่ระหว่างรถยนต์ทั่วไปกับรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจอาหารที่แปรรูปจากผลิตผลทางการเกษตร อาจมีการจัดหมวดรายได้แยกระหว่างอาหารที่มาจากวัตถุดิบทั่วไปกับวัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิก ธุรกิจการเงินการลงทุน อาจมีการแบ่งประเภทรายได้จากการลงทุนในแบบทั่วไปกับการลงทุนที่ยั่งยืน หรือการปล่อยสินเชื่อปกติกับสินเชื่อเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค อาจจัดประเภทรายได้ที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกับการใช้พลังงานทางเลือก ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง อาจมีการจำแนกรายได้ที่มาจากสายผลิตภัณฑ์ปกติกับสายผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เป็นต้น

ทั้งนี้ กิจการแต่ละแห่ง สามารถกำหนดวิธีการจำแนกประเภทตามบริบทการดำเนินงานขององค์กรและระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนของตน โดยคำนึงถึงแนวโน้มและอุปสงค์ของตลาด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาสำหรับการตอบสนองต่อการเติบโตของรายได้จากการใช้ประโยชน์จากความยั่งยืน

การพิจารณาเรื่องการเติบโต มีความเหมาะสมกับกิจการที่มีหลายสายหรือหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่เปิดโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยน (Transition) ผลิตภัณฑ์เดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์อันมีคุณลักษณะที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนเพิ่มขึ้น โดยมีตัววัดด้านการเติบโตของรายได้ เป็นหลักกิโลที่บ่งบอกถึงความคืบหน้าในขนาด (Scale) และฝีก้าว (Pace) ของการปรับเปลี่ยน

สำหรับกิจการที่ได้พัฒนามาถึงจุดที่ผลิตภัณฑ์และบริการส่วนใหญ่หรือทั้งหมดตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนแล้ว การวิเคราะห์ดังกล่าว จะช่วยในการระบุปัจจัยเพิ่มเติมอื่นๆ ที่มีต่อการเติบโตของรายได้ อาทิ ความสำเร็จของแผนงานขององค์กรหรือแผนงานที่องค์กรให้การสนับสนุน ในการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด หรือการเข้าถึงตลาด/กลุ่มเป้าหมายที่ยังมิได้รับการตอบสนอง ด้วยตัววัดอย่างเช่น ร้อยละของรายรับที่มาจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการดำเนินกลุยทธ์การเติบโตโดยรวมของกิจการเช่นกัน

ในแง่ของการประเมินผลิตภาพ (Productivity) จำต้องอาศัยข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากหลายฝ่ายทั่วทั้งองค์กร มิใช่ตัวเลขของการประหยัดต้นทุนจากโครงการใดโครงการหนึ่ง ผู้ลงทุนไม่อาจประเมินขนาดหรือขอบเขตจากตัวเลขโครงการ และอนุมานว่า คือ กลยุทธ์องค์กรที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญต่อการปรับปรุงโครงสร้างต้นทุน ความท้าทายหลักของกิจการอยู่ที่ความสามารถในการระบุรายการดำเนินการที่สอดคล้องกับที่ผู้ลงทุนใช้ในการวิเคราะห์ประเด็นโครงสร้างต้นทุน รวมทั้งการตอบคำถามถึงค่าใช้จ่ายที่กิจการลดได้เมื่อพิจารณาผลลัพธ์รวมจากแผนงานหรือความริเริ่มด้านความยั่งยืนในรอบปี

กิจการสามารถนำระบบงานการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) มาช่วยในการรวบรวมข้อมูลต้นทุนที่ประหยัดได้ทั่วทั้งองค์กร และใช้ช่วยฝ่ายบริหารในการปรับปรุงผลิตภาพ อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้ลงทุนจะสนใจตัวเลขอย่างเช่น ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ของบริษัทที่เข้าลงทุน แต่ปัจจัยอย่างเช่น การจัดหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถให้คงอยู่กับองค์กร อาจมิใช่ปัจจัยที่เป็นประเด็นสาระสำคัญ (Material) ที่ส่งผลโดยตรง หรืออีกนัยหนึ่ง ถูกจัดว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางอ้อม ซึ่งยากต่อการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นในบรรทัดสุดท้ายของกิจการ

ในแง่ของการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ความท้าทายของการสื่อสาร คือ การเลือกรายการความเสี่ยงที่ถูกคัดกรองจากบรรดาความเสี่ยงที่สำคัญๆ ทั้งหมดของกิจการ ซึ่งอาจมีจำนวนมาก ให้เหลือเฉพาะรายการที่จำเป็นต้องติดตามและรายงาน โดยอาศัยเกณฑ์ระดับความวิกฤต ความควรจะเป็น และความมีนัยสำคัญที่เป็นได้ ขณะที่ผู้ลงทุนจะให้น้ำหนักของการจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ในบริบทที่ความเสี่ยงนั้นมีศักยภาพในการส่งผลกระทบต่อรายได้ ความสามารถในการทำกำไร และ/หรือชื่อเสียงที่ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อมายังบรรทัดแรก (ยอดขาย) และบรรทัดสุดท้าย (กำไร) ของกิจการ

ข้อพิจารณาสำหรับความเสี่ยงที่เป็นประเด็นเฉพาะ อาทิ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน กิจการอาจจำเป็นต้องนำแนวทางหรือมาตรฐานเฉพาะเรื่อง เช่น หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ที่ให้เกณฑ์ระดับความรุนแรงของผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยการพิจารณาขนาด (น้ำหนักผลกระทบ) ขอบเขต (จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ) และสภาพความเสียหายซึ่งไม่อาจเยียวยาได้ เป็นต้น

แนวโน้มของโลกที่ให้ความสนใจต่อประเด็นความยั่งยืน ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงกดดันจากกฎระเบียบ ทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นจากนี้ไป การหยิบฉวยโอกาสของกิจการ สามารถทำได้โดยการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการใช้ประเด็นความยั่งยืนทั้งที่ดำเนินการอยู่และที่เห็นโอกาสในการดำเนินการ พร้อมทั้งสื่อสารสู่ภายนอกในภาษาที่บุคคลทั่วไปและผู้ลงทุนเข้าใจได้ง่าย และหากกิจการสามารถสื่อสารถึงข้อได้เปรียบจากการดำเนินกลยุทธ์ภายใต้แนวโน้มที่เกิดขึ้น ผู้ลงทุนย่อมให้คุณค่าส่วนเพิ่ม (Premium) แก่กิจการที่นำล้ำหน้ากิจการอื่น ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]