Saturday, November 18, 2023

'หุ้น ESG' ให้ผลตอบแทนชนะตลาดจริงหรือ

ข้อมูลการลงทุนในกองทุนประเภท ESG (Environmental, Social and Governance) ในประเทศไทย จากการเปิดเผยของมอร์นิ่งสตาร์ ระบุว่า มีอยู่จำนวน 113 กองทุน แบ่งเป็นลงทุนในหุ้นไทย จำนวน 22 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 2.5 พันล้านบาท และลงทุนในต่างประเทศ จำนวน 91 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 4.3 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เรียกว่า กว่า 94% ของกองทุน ESG ที่ขายในไทยส่วนใหญ่ลงทุนในต่างประเทศ โดยมีเพียง 6 บลจ. ที่มีการออกกองทุน ESG ที่ลงทุนในหุ้นไทย

การที่ภาครัฐมีแนวคิดจัดตั้งกองทุน Thai ESG Fund เพื่อช่วยพยุงตลาด รวมทั้งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยมีลักษณะคล้ายกองทุน LTF แต่มุ่งเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง ESG เชื่อว่าจะส่งเสริมให้เกิดการออกกองทุน ESG ที่ลงทุนในหุ้นไทยกันมากขึ้น

ในจำนวนหุ้นไทยทั้งหมด 886 หลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน) จะมีหลักทรัพย์ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ESG อยู่ราว 1 ใน 4 ของหลักทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูง โดยมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนราว 3 ใน 4 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมด

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการจัดทำฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ได้เล็งเห็นข้อจำกัดที่การเปิดเผยข้อมูล ESG มีการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ จึงได้ก่อตั้งประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community) ขึ้นในปี พ.ศ. 2562 สำหรับใช้เป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมให้ธุรกิจได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูล ESG ให้กระจายครอบคลุมไปยังหลักทรัพย์อีกราว 3 ใน 4 ของตลาด เพื่อเป็นตัวเลือกในการลงทุนให้มีความหลากหลาย โดยรวมไปถึงบริษัทนอกตลาดและกิจการอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เพิ่มเติม

ปัจจุบัน ข้อมูลผลประเมิน ESG ของกิจการในไทย ที่สถาบันไทยพัฒน์รวบรวม ครอบคลุมทั้งบริษัทจดทะเบียน กองทุน บริษัทนอกตลาด และกิจการอื่น มีจำนวนรวม 905 กิจการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูล ESG ดังกล่าวในวงกว้าง

ด้วยเหตุที่การใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ในแง่ของการลงทุน จะมีส่วนที่ไปเติมเต็มการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขทางการเงิน โดยที่รายงานทางการเงินนั้น เป็นข้อมูลที่ผู้ลงทุนใช้วิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัทที่เป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการในอดีต (Past Performance) ส่วนประเด็น ESG ซึ่งมีทั้งข้อมูลในเชิงปริมาณและคุณภาพนั้น ผู้ลงทุนจะใช้สำหรับประเมินการดำเนินงาน เพื่อคาดการณ์ถึงแนวโน้มผลประกอบการในอนาคตของบริษัท (Forward-looking Perspective)

ตัวอย่างรายการการลงทุนสีเขียวที่บริษัทมีการปรับปรุงหม้อไอน้ำของโรงไฟฟ้าโดยเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมาเป็นพลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้า จะทำให้ล่วงรู้ว่าตัวเลขผลประกอบการในอนาคตจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น ด้วยการดำเนินงานในประเด็น ESG ดังกล่าว ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ประหยัดได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การใช้ข้อมูล ESG เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างบริษัท สำหรับตัดสินใจลงทุน จะไม่สามารถใช้ประเด็น ESG ชุดเดียวกันร่วมกันได้ในทุกธุรกิจ อาทิ ธุรกิจการเงิน จะมีประเด็น ESG สำคัญที่ต้องพิจารณา ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญสำหรับธุรกิจที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ที่ซึ่งการจัดการด้านพลังงาน น้ำ มลอากาศ และของเสีย จะเป็นประเด็น ESG ที่สำคัญต่อการพิจารณามากกว่า

ทำให้การประเมินการดำเนินงานโดยใช้ประเด็น ESG ทั่วไป (Generic Topics) ชุดเดียวกันสำหรับการให้คะแนน (Scoring) และการจัดระดับ (Rating) จะไม่มีนัยสำคัญในผลลัพธ์ที่ได้มากนัก

การประเมินข้อมูล ESG จึงจำเป็นต้องใช้ประเด็นจำเพาะในอุตสาหกรรม (Industry-specific Topics) สำหรับเปรียบเทียบ ให้คะแนน และจัดระดับบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

นอกจากนี้ ในการประเมินข้อมูลเชิงลึก ยังต้องอาศัยการพิจารณากลยุทธ์องค์กรในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญต่อบริษัท (Company-specific Topics) เพื่อให้ล่วงรู้ถึงทิศทางต่อการดำเนินงานในประเด็น ESG นั้น ๆ ว่า องค์กรใช้เป็นตัวขับคุณค่าในแง่ของการสร้างการเติบโต (Growth) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) หรือการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) โดยส่งผลต่อบรรทัดสุดท้ายของกิจการที่แตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมนั้นอย่างไร

โดยการประเมินข้อมูล ESG สำหรับคัดเลือกบริษัทเข้าเป็นองค์ประกอบของดัชนี Thaipat ESG จะครอบคลุมไปถึงการพิจารณาประเด็นจำเพาะในอุตสาหกรรม และประเด็นสาระสำคัญต่อบริษัทที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

Thaipat ESG Index เป็นดัชนี ESG แรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีโดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ ซึ่งการขจัดปัจจัยในเรื่องขนาดหรือความใหญ่ของหลักทรัพย์ ทำให้ดัชนีสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาได้อย่างทัดเทียมกันในแต่ละหลักทรัพย์ และทำให้โอกาสที่หลักทรัพย์คุณภาพขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG ของสถาบันไทยพัฒน์ สามารถส่งผลต่อค่าของดัชนีได้ทัดเทียมกับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

โดยหากเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่าง Thaipat ESG Index (Total Return) ตั้งแต่วันฐาน (30 มิ.ย. 58) จนถึงวันที่ 13 พ.ย. 66 กับดัชนี SET100 และ SET50 (Total Return) พบว่า ดัชนี Thaipat ESG ให้ผลตอบแทนรวมอยู่ที่ 22.70% (หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 2.47% ต่อปี) ขณะที่ดัชนี SET100 และ SET50 ให้ผลตอบแทนรวมอยู่ที่ 10.74% และ 11.18% (หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 1.22% และ 1.27% ต่อปี) ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในอดีตของดัชนี มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 04, 2023

ตลาดข้อมูล ESG ในกลุ่มกิจการ Private Markets

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และกระทบกับกิจการในทุกขนาดทุกสาขา ไม่จำกัดอยู่เพียงบรรษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังครอบคลุมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่มีบริษัทรายใหญ่ดำเนินการเรื่อง ESG ได้ผลักดันให้คู่ค้าที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย


ออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก คาดการณ์ว่า ตลาดบริการข้อมูลด้าน ESG ทั่วโลก จะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.59 พันล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2566 โดยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) อยู่ที่ร้อยละ 23 ต่อปี ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยด้านบริการข้อมูล ESG ของบริษัทนอกตลาด (Private Markets) รวมถึง SMEs จะมีตัวเลขสูงถึงร้อยละ 42 ต่อปีในช่วงเดียวกัน

ในรายงานของออพิมัส ยังได้ระบุถึงผู้ให้บริการจำนวน 15 ราย ที่เป็นผู้เล่นในตลาด Private Markets โดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักตามลักษณะบริการ ได้แก่

กลุ่ม Tool for self-collection เป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้เก็บข้อมูลด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องจากบริษัทที่เข้าลงทุนด้วยตนเอง โดยผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย IHS Markit (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ S&P Global), ISS, และ Novata

กลุ่ม Database of information เป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้าน ESG โดยทำหน้าที่เก็บรวบรวม บันทึกข้อมูล และนำเสนอเป็นชุดข้อมูลสำเร็จรูปให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย CDP, Clarity AI, FactSet, Moody's, Preqin, S&P, และ Sustainalytics

กลุ่ม On-demand evaluation เป็นผู้ให้บริการประเมินข้อมูลด้าน ESG ตามสั่ง หรือตามความต้องการของลูกค้าเป็นรายครั้ง และจัดทำเป็นรายงานข้อมูล ESG เป็นรายบริษัท หรือกลุ่มบริษัทที่เข้าลงทุน โดยผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย APEX Group, EcoVadis, ERM, EthiFinance, และ Metric

ด้วยแนวโน้มการเติบโตในความต้องการข้อมูล ESG ของบริษัทนอกตลาดที่เพิ่มขึ้น การประเมินข้อมูลด้าน ESG ของกลุ่มกิจการ Private Markets จะเป็นกลไกสำคัญที่สร้างให้เกิดระบบนิเวศแห่งความยั่งยืนที่ครอบคลุมกิจการในทุกภาคส่วน และตอบสนองความต้องการในข้อมูลด้าน ESG ของผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาด Private Markets

ในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ด้วยการตั้งหน่วยงาน ESG Rating ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อพัฒนาชุดข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจที่อิงกับมาตรฐานสากล และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จวบจนปัจจุบัน จึงได้มีโครงการ ESG Rating for Private Markets และการจัดทำรายชื่อกลุ่มกิจการ ESG Private List สำหรับบริษัทนอกตลาด เพื่อทำการรวบรวมและประเมินข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทนอกตลาด เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าวในวงกว้าง

โดยประโยชน์ของการจัดทำรายชื่อกลุ่มกิจการ ESG Private List จะทำให้เกิดข้อมูล ESG สำหรับสถาบันการเงินใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน หรือบริการอื่นที่เกี่ยวข้องให้แก่กลุ่ม SMEs เป้าหมาย รวมทั้งการได้ข้อมูล ESG ในการจัดกลุ่ม SMEs เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อ/จัดจ้าง ที่ต้องใช้เกณฑ์ ESG ในการเพิ่ม/จำกัดสิทธิประโยชน์ที่คู่ค้าพึงได้รับ

สำหรับหน่วยงานที่ร่วมโครงการ สามารถใช้ต่อยอดเป็นการจัดกิจกรรม/เวทีมอบรางวัล ESG Award ให้แก่ SMEs ที่เป็นคู่ค้า/ลูกค้า ในนามขององค์กร และยังเป็นโอกาสการลงทุนในบริษัทนอกตลาด ที่มีศักยภาพและเป็นไปตามเกณฑ์ ESG สำหรับผู้ลงทุนสถาบันหรือบริษัทจัดการลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาด Private Markets อีกด้วย

หน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่สนใจขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มกิจการ Private Markets สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืนของกิจการไทย ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]