ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และกระทบกับกิจการในทุกขนาดทุกสาขา ไม่จำกัดอยู่เพียงบรรษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังครอบคลุมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่มีบริษัทรายใหญ่ดำเนินการเรื่อง ESG ได้ผลักดันให้คู่ค้าที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย
ออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก คาดการณ์ว่า ตลาดบริการข้อมูลด้าน ESG ทั่วโลก จะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.59 พันล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2566 โดยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) อยู่ที่ร้อยละ 23 ต่อปี ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยด้านบริการข้อมูล ESG ของบริษัทนอกตลาด (Private Markets) รวมถึง SMEs จะมีตัวเลขสูงถึงร้อยละ 42 ต่อปีในช่วงเดียวกัน
ในรายงานของออพิมัส ยังได้ระบุถึงผู้ให้บริการจำนวน 15 ราย ที่เป็นผู้เล่นในตลาด Private Markets โดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักตามลักษณะบริการ ได้แก่
กลุ่ม Tool for self-collection เป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้เก็บข้อมูลด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องจากบริษัทที่เข้าลงทุนด้วยตนเอง โดยผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย IHS Markit (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ S&P Global), ISS, และ Novata
กลุ่ม Database of information เป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้าน ESG โดยทำหน้าที่เก็บรวบรวม บันทึกข้อมูล และนำเสนอเป็นชุดข้อมูลสำเร็จรูปให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย CDP, Clarity AI, FactSet, Moody's, Preqin, S&P, และ Sustainalytics
กลุ่ม On-demand evaluation เป็นผู้ให้บริการประเมินข้อมูลด้าน ESG ตามสั่ง หรือตามความต้องการของลูกค้าเป็นรายครั้ง และจัดทำเป็นรายงานข้อมูล ESG เป็นรายบริษัท หรือกลุ่มบริษัทที่เข้าลงทุน โดยผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย APEX Group, EcoVadis, ERM, EthiFinance, และ Metric
ด้วยแนวโน้มการเติบโตในความต้องการข้อมูล ESG ของบริษัทนอกตลาดที่เพิ่มขึ้น การประเมินข้อมูลด้าน ESG ของกลุ่มกิจการ Private Markets จะเป็นกลไกสำคัญที่สร้างให้เกิดระบบนิเวศแห่งความยั่งยืนที่ครอบคลุมกิจการในทุกภาคส่วน และตอบสนองความต้องการในข้อมูลด้าน ESG ของผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาด Private Markets
ในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ด้วยการตั้งหน่วยงาน ESG Rating ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อพัฒนาชุดข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจที่อิงกับมาตรฐานสากล และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จวบจนปัจจุบัน จึงได้มีโครงการ ESG Rating for Private Markets และการจัดทำรายชื่อกลุ่มกิจการ ESG Private List สำหรับบริษัทนอกตลาด เพื่อทำการรวบรวมและประเมินข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทนอกตลาด เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าวในวงกว้าง
โดยประโยชน์ของการจัดทำรายชื่อกลุ่มกิจการ ESG Private List จะทำให้เกิดข้อมูล ESG สำหรับสถาบันการเงินใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน หรือบริการอื่นที่เกี่ยวข้องให้แก่กลุ่ม SMEs เป้าหมาย รวมทั้งการได้ข้อมูล ESG ในการจัดกลุ่ม SMEs เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อ/จัดจ้าง ที่ต้องใช้เกณฑ์ ESG ในการเพิ่ม/จำกัดสิทธิประโยชน์ที่คู่ค้าพึงได้รับ
สำหรับหน่วยงานที่ร่วมโครงการ สามารถใช้ต่อยอดเป็นการจัดกิจกรรม/เวทีมอบรางวัล ESG Award ให้แก่ SMEs ที่เป็นคู่ค้า/ลูกค้า ในนามขององค์กร และยังเป็นโอกาสการลงทุนในบริษัทนอกตลาด ที่มีศักยภาพและเป็นไปตามเกณฑ์ ESG สำหรับผู้ลงทุนสถาบันหรือบริษัทจัดการลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาด Private Markets อีกด้วย
หน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่สนใจขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มกิจการ Private Markets สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืนของกิจการไทย ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, November 04, 2023
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment