Saturday, March 26, 2022

พิสูจน์ "ความยั่งยืน" ผ่านข้อมูล "ESG"

สาเหตุที่ภาคธุรกิจนิยมจัดทำและเผยแพร่รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มิใช่เพียงเพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และพร้อมต่อการตรวจสอบซักถามเท่านั้น

แต่รายงานแห่งความยั่งยืนยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการปรับปรุงการดำเนินงานในทั้งสามด้านได้อย่างเป็นระบบ โดยมีตัวบ่งชี้การดำเนินงาน และแนวการบริหารจัดการที่ชัดเจน ตามหลักการที่ว่า “เรื่องที่วัดผลได้ยาก จะบริหารจัดการได้ยาก” (You can’t manage what you can’t measure)

การที่รายงานแห่งความยั่งยืนได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง เนื่องเพราะเป็นการให้ข้อมูลที่สะท้อนผลการดำเนินงานที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน (Non-financial Disclosure) ได้อย่างเป็นระเบียบแบบแผน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของกิจการ นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้รับจากรายงานประจำปีในแบบเดิม ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งบอกถึงความสามารถขององค์กรและผลประกอบการที่ผ่านมาในอดีตของกิจการ

ความแตกต่างสำคัญระหว่างรายงานทั้งสองฉบับอยู่ตรงที่ ประการแรก รายงานแห่งความยั่งยืน มุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้ใช้รายงาน (Target Audience) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ในทุกกลุ่ม ตั้งแต่ภาคประชาสังคมจนถึงกลุ่มผู้ลงทุน ขณะที่รายงานประจำปีในรูปแบบเดิม จะเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มผู้ลงทุน (Investors) เป็นหลัก

ด้วยเหตุที่กลุ่มผู้ใช้รายงานแต่ละกลุ่ม มีความคาดหวังหรือมีความสนใจในข้อมูลที่เปิดเผยไม่เหมือนกัน จึงนำมาสู่ความแตกต่างประการที่สอง คือ สารัตถภาพ (Materiality) หรือสาระสำคัญของข้อมูลที่นำมาเปิดเผย โดยในรายงานแห่งความยั่งยืน จะให้องค์กรพิจารณานัยสำคัญของผลกระทบที่เกิดจากองค์กร (ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม) โดยวิเคราะห์เทียบกับอิทธิพลต่อการประเมินและตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้ได้ประเด็นที่มีสาระสำคัญ (Material Topics) มาบรรจุไว้ในรายงาน หลังจากการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นได้ทั้งพนักงาน เจ้าของกิจการ ผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ชุมชนที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงาน ผู้ลงทุน เจ้าหนี้ ลูกค้า ฯลฯ

ขณะที่ รายงานประจำปีในรูปแบบเดิม จะพิจารณาสาระสำคัญของข้อมูลที่นำมาเปิดเผย จากสิ่งที่เกี่ยวเนื่องและสำคัญซึ่งส่งอิทธิพลต่อการประเมินของผู้ลงทุน ว่ามีผลกระทบกับความสามารถต่อการสร้างคุณค่าให้กับกิจการ ซึ่งในการวิเคราะห์นี้ จะได้มาซึ่งประเด็นนัยสำคัญทางการเงิน (Financially Material Topics) ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนหรือเจ้าของเงินทุน


ทำให้ในปัจจุบัน กิจการที่ต้องการสื่อสารถึงผลการดำเนินงานขององค์กรทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง จึงเลือกที่จะจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เพิ่มเติมจากรายงานประจำปีในรูปแบบเดิม (หรือใช้วิธีผนวกข้อมูล ESG และข้อมูลทางการเงินรวมไว้ในรายงานฉบับเดียวกัน)

ในความเป็นจริง มีกิจการอีกจำนวนมากที่คงเปิดเผยข้อมูลโดยใช้การรายงานประจำปีในแบบเดิม โดยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูล ESG เลยทำให้องค์กรไม่สามารถกำหนดตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ไม่มีการติดตามวัดผล รวมถึงไม่มีการบริหารจัดการในประเด็นสำคัญเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืน และการสร้างคุณค่าในระยะยาว

นอกจากนี้ กิจการยังสูญเสียโอกาสต่อการเข้าถึงเม็ดเงินลงทุนที่ถูกบริหารจัดการภายใต้หลักการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งจากการสำรวจของแมคคินซี่และกลุ่มพันธมิตรการลงทุนที่ยั่งยืนระดับสากล (Global Sustainable Investment Alliance: GSIA) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์โดยใช้ปัจจัย ESG ทั่วโลก มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 22.8 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2016 ขยับขึ้นมาเป็น 30.6 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2018 และมาอยู่ที่ 37.8 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2020

และคาดการณ์ว่า จะมีมูลค่าสูงถึง 53 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2025 คิดเป็นร้อยละ 37.72 หรือมากกว่าหนึ่งในสามของสินทรัพย์การลงทุนทั้งหมดที่ 140.5 ล้านล้านเหรียญ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวันนี้ กิจการที่ขึ้นชื่อว่าดำเนินธุรกิจด้วยวิถียั่งยืน จำเป็นต้องเปิดเผยทั้งข้อมูลที่มีนัยสำคัญทางการเงิน แล้วสื่อสารให้แก่กลุ่มผู้ลงทุน และข้อมูลความยั่งยืนที่เป็นผลมาจากการทดสอบสารัตถภาพ แล้วสื่อสารให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย

เพราะบรรทัดสุดท้ายของการรายงาน คือ ความโปร่งใสพร้อมรับการตรวจสอบที่ต้องสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียโดยรวม ตลอดจนการปรับปรุงการดำเนินงานโดยใช้การรายงานเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวิถีของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการควบคู่ไปพร้อมกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, March 12, 2022

CSR เป็นขององค์กร แล้วความยั่งยืนเป็นของใคร

บ่อยครั้งที่ผู้ดูแลงานความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) มักจะมีคำถามเกิดขึ้นในทำนองว่า CSR เป็นขององค์กร และเมื่อดำเนินงานแล้ว ผลที่ได้ ซึ่งมักอ้างอิงไปถึงเรื่องความยั่งยืน จะตกอยู่กับใคร

หลายท่านอาจจะงงว่า มีคำถามอย่างนี้ด้วยหรือ ก็ต้องเรียนว่า ใช่ และคำตอบก็มีอยู่ 2 แบบ ด้วย

คำตอบแบบแรก การทำ CSR คือ การดำเนินความรับผิดชอบของกิจการที่มีต่อสังคม ฉะนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็ต้องเป็นไปเพื่อ ‘ความยั่งยืนของสังคม’ โดยรวม เช่น การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในรูปของการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นเฉพาะหน้ารวมทั้งการพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้เลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว หรือการดูแลบำบัดน้ำเสีย ของเสีย อากาศเสีย ก่อนปล่อยออกนอกโรงงาน เพื่อมิให้ชุมชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ฯลฯ

คำตอบแบบที่สอง ในเมื่อการทำ CSR เป็นขององค์กร เป็นการใช้ทรัพยากรของกิจการ ดังนั้น ผลที่องค์กรควรจะได้รับ คือ ‘ความยั่งยืนขององค์กร’ จากการที่กิจการได้แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม พูดอีกนัยหนึ่ง คือ สังคมให้การยอมรับสิ่งที่องค์กรดำเนินการ ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีข้อขัดแย้งหรือเกิดปัญหากับสังคม เช่น การปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า การไม่เอารัดเอาเปรียบคู่ค้า จริยธรรมและความโปร่งใสในการให้บริการ ฯลฯ

อันที่จริง ถ้าเราไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ว่าจะเป็นคำตอบแบบใด การที่องค์กรได้ทำ CSR ในทั้งสองกรณี ก็ต้องถือว่าดีอยู่แล้ว เพราะผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่องค์กรได้รับผิดชอบต่อกลุ่มเหล่านั้น ได้รับประโยชน์สมตามเจตนารมณ์

แต่ในภาพใหญ่ ผลรวมของการทำ CSR ที่มาจากองค์กรต่างๆ ซึ่งพิจารณาได้ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลก ยังมีข้อถกเถียงว่า จะนำไปสู่ความยั่งยืนของสังคม หรือความยั่งยืนขององค์กร มากกว่ากัน

ข้อถกเถียงในประเด็นนี้ ยิ่งมีการขยายวงมากขึ้น เมื่อกระแสเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินงานขององค์กรในปัจจุบัน เนื่องจากภาคธุรกิจได้ขานรับเอาแนวคิด ESG มาใช้เป็นภาษากลางในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน

ต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า ESG ปรากฎอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2004 ในเอกสารรายงานชื่อ “Who cares wins” ที่สนับสนุนแนวคิดของการบูรณาการปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในตลาดทุน ซึ่งเชื่อกันว่า ไม่เพียงนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสังคมที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวตลาดทุนเอง ด้วยการทำให้ตลาดทุนมีความยั่งยืนมากขึ้น

รายงานฉบับนี้ เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการที่ นายโคฟี อันนัน ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้เขียนจดหมายถึงบรรดาซีอีโอของสถาบันการเงินชั้นนำ 55 แห่ง เพื่อให้ช่วยหาวิธีในการผนวกเรื่อง ESG เข้ากับตลาดทุน ฉะนั้น ต้นเรื่องของแนวคิด ESG จึงมาจากผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน

การผลักดันการผนวกเรื่อง ESG จึงถูกดำเนินการผ่านบริษัทที่ลงทุน (Investees) นั่นก็คือ บรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งหากบริษัทที่ลงทุนไม่สนใจหรือไม่ขานรับเรื่อง ESG ไปดำเนินการ ผู้ลงทุนอาจจะมีมาตรการในระดับขั้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การลดน้ำหนักการลงทุน การลดการถือครอง ไปจนถึงการขายหลักทรัพย์ออกจากพอร์ตการลงทุน

นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ลงทุนมีความโน้มเอียงที่จะใช้คำ ESG ในการสานสัมพันธ์กับบริษัท มากกว่าที่จะใช้คำ CSR เนื่องจากยูนิเวิร์สของผู้ที่เกี่ยวข้องกับ CSR ในแง่ของการได้รับประโยชน์ คือ ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ขณะที่ยูนิเวิร์สของผู้ที่จะได้รับประโยชน์จาก ESG คือ กลุ่มผู้ลงทุนเป็นหลัก

ทีนี้ ในแง่ของการใช้ ESG เป็นเครื่องมือสำหรับการตัดสินใจลงทุน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทนที่น่าพอใจ ก็เลยกลายเป็นว่า การคำนึงถึงปัจจัย ESG แทนที่จะให้น้ำหนักกับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (People และ Planet) ในลักษณะมุ่งไปภายนอก (Outwards) กลับกลายเป็นการคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท (Profit) ในลักษณะมุ่งมาภายใน (Inwards) เพื่อที่จะกำกับดูแลให้บริษัทมีการส่งมอบผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับการลงทุนของตน

พัฒนาการในเรื่องนี้ ได้มาถึงจุดที่มีการต่อเติมเครื่องมือการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) ซึ่งเป็นการค้นหาและระบุประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญที่บริษัทจำเป็นต้องดำเนินการ อันถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน จากเดิมที่ใช้เกณฑ์ผลกระทบที่เกิดจากองค์กรทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (แบบ Outwards) เพิ่มมาเป็นใช้เกณฑ์ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดกับองค์กร (แบบ Inwards) ร่วมด้วย เรียกว่าเป็น หลักการทวิสารัตถภาพ หรือ Double Materiality Principle โดยปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเอกสารแนวทางการรายงานข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน: ส่วนเสริมของการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้เสนอ เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2019

ปัจจุบัน คณะที่ปรึกษาการรายงานข้อมูลทางการเงินแห่งยุโรป (EFRAG) เป็นผู้จัดทำร่างข้อกำหนดการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (CSR Directive) รวมถึงหลักการทวิสารัตถภาพ แก่คณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อเสนอต่อสภายุโรปให้บังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะมีผลในปี ค.ศ.2024 (สำหรับการรายงานในรอบบัญชีปี ค.ศ.2023)

กระทั่ง สำนักประเมินข้อมูลและจัดทำดัชนีระดับโลก ยังใช้เครื่องมือประเมินในแบบ Inwards เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุน โดยพิจารณาปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะส่งผลต่อบรรทัดสุดท้ายของกิจการ มากกว่าการให้น้ำหนักต่อผลกระทบที่กิจการก่อขึ้นกับผู้คนและผืนโลก (อ่านเพิ่มเติมใน The ESG Mirage)

ไม่เป็นที่สงสัยว่า ทุนได้เลือกข้างความยั่งยืน ไปเรียบร้อยแล้ว แต่จะเป็นความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือเป็นความยั่งยืนของกำไรและองค์กร คำตอบของคำถามนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ระบบทุนนิยมได้ถือกำเนิดขึ้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]