Sunday, January 20, 2019

Value x Impact แนวทาง CSR ปี 62

ในรอบปีที่ผ่านมา ความตื่นตัวในเรื่องของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) มีปัจจัยจากแรงขับดันหลักในสองขั้ว คือ การทำตามกระแส ทั้งที่เกิดจากองค์กรข้างเคียงในอุตสาหกรรม จากคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ และจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นขั้วของการทำ CSR ในเชิงรับ กับการทำเพราะเห็นคุณค่า ที่เกิดจากการได้ประโยชน์ร่วมทั้งแก่องค์กร (อาทิ ช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มผลิตภาพ ขยายโอกาสทางธุรกิจ) และสังคม (อาทิ ช่วยกระจายรายได้ เพิ่มทักษะอาชีพคนในชุมชน สิ่งแวดล้อมดีขึ้น) เป็นขั้วของการทำ CSR ในเชิงรุก

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจระดับความก้าวหน้าในการทำ CSR ของบริษัทจดทะเบียนราว 600 บริษัท ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 พบว่า ร้อยละ 73 มีการทำ CSR ในแบบเบื้องต้นที่เป็นเชิงรับ ขณะที่อีกร้อยละ 27 เป็นการทำ CSR ในแบบก้าวหน้าที่เป็นเชิงรุก และตัวเลขในปี พ.ศ.2561 มีสัดส่วนของ CSR แบบเบื้องต้นอยู่ราวร้อยละ 71 และมีสัดส่วนของ CSR แบบก้าวหน้าอยู่ราวร้อยละ 29 คือ มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ซึ่งถือว่ายังมีระดับความก้าวหน้าที่ไม่มากนัก

ในขั้วที่ทำตามกระแสนิยม รูปแบบที่เห็นบ่อย คือ เป็นกิจกรรม (Event) รายครั้ง เช่น กิจกรรมรักษ์โลก รวมพลเก็บขยะ ปลูกป่า สร้างฝาย ฯลฯ เป็นกิจกรรมซึ่งสามารถทำเป็นหมู่คณะ เน้นจิตอาสา และสามารถประชาสัมพันธ์ให้เห็นเป็นรูปธรรมง่าย แต่ไม่เกี่ยวกับกระบวนงานทางธุรกิจที่ทำอยู่ปกติ

ในขั้วที่ทำเพราะเห็นคุณค่า รูปแบบที่เกิดขึ้น คือ เป็นกระบวนการ (Process) ที่ต่อเนื่อง เช่น การลดขยะในการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการจำหน่ายสินค้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำใช้ไฟ ฯลฯ เป็นกระบวนการซึ่งอยู่ในสายงานหรือการปฏิบัติงานปกติ เน้นปลูกฝังให้อยู่ในหน้าที่ เป็นกิจกรรมรักษ์โลกเหมือนกัน แต่ทำอยู่ในกระบวนการธุรกิจปกติ ซึ่งในแบบหลังนี้ องค์กร จะได้คุณค่าร่วม ในแง่ของการเพิ่มผลิตภาพ การประหยัดต้นทุน นอกเหนือจากการช่วยโลก

ผลที่ได้รับในแบบที่ทำเพราะเป็นกระแส จะเน้นเรื่องการได้มาซึ่ง “ชื่อเสียงและภาพลักษณ์” (Reputation และ Image) ขณะที่ผลลัพธ์ในแบบหลัง จะเน้นเรื่องการได้มาซึ่ง “คุณค่าและผลกระทบ” (Value และ Impact) ทำให้การเปรียบเทียบผลระหว่างสองแบบนี้ จึงวัดกันไม่ได้ตรงๆ เพราะจุดหมายปลายทางต่างกัน

แน่นอนว่า องค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการทำ CSR จะต้องยกระดับจากกิจกรรม (Event) มาเป็นกระบวนการ (Process) นั่นหมายความว่า กิจการเหล่านี้ จำต้องปรับเป้าหมายของการทำ CSR ให้มุ่งไปที่การได้มาซึ่งคุณค่าและผลกระทบมากขึ้นจากเดิม

สถาบันไทยพัฒน์ เห็นว่า เรื่อง Value x Impact จะเป็นแนวทางการทำ CSR ในปี 2562 สำหรับองค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการทำ CSR ทั้งในบริบทที่ช่วยตอบโจทย์ความยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างผลประกอบการในระยะยาวให้แก่กิจการ

องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่สนใจ อัปเดตเครื่องมือและวิธีการในการเพิ่มคุณค่าและผลกระทบจากการทำ CSR ในบริบทที่มุ่งสู่ความยั่งยืน สามารถติดตามได้จากงานแถลงทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2562 ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ครับ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, January 06, 2019

ปีหมูที่ (ไม่) ปลอดภัย

สวัสดีปีใหม่ 2562 แด่ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ เปิดรับศักราชใหม่ ด้วยประเด็นที่ร้อนแรงทั้งในเรื่องของภัยธรรมชาติ เรื่องการเมือง และกระทบมายังเรื่องของเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้


ในเรื่องของภัยธรรมชาติ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 30 ปี ของพายุปาบึก ที่พัดเข้าอ่าวไทย ซึ่งมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นพายุที่มีความรุนแรงลูกที่สาม รองจากพายุเขตร้อนแฮร์เรียต ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2505 (57 ปีมาแล้ว) ซึ่งมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และพายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี พ.ศ.2532 (30 ปีมาแล้ว) ซึ่งมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พายุเขตร้อนแฮร์เรียต ที่เกิดขึ้นในครานั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 900 คน และพายุไต้ฝุ่นเกย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน และสูญหายอีกกว่า 400 คน

เนื่องจาก ปาบึก เป็นพายุเขตร้อน ที่มีความเร็วลมรุนแรงน้อยกว่าสองลูกแรก จึงน่าจะสร้างให้เกิดความเสียหายน้อยกว่ามาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีทรัพย์สินทางราชการและเอกชนเสียหาย จนต้องได้รับการฟื้นฟูบูรณะจำนวนไม่น้อย

ในเรื่องการเมือง การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก่อให้เกิดการกระเพื่อมทั้งในเรื่องเครดิตของ คสช. และการสืบทอดอำนาจของขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ว่าจะอ้างด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม เพราะอย่าลืมว่า วันที่ท่านได้เข้ามาดูแลประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2557 นั้น มาในสถานภาพใด

ความสงบเรียบร้อยเป็นเรื่องสำคัญพื้นฐาน ที่ต้องไม่ปล่อยให้ชีวิตพลเรือนล้มตายจากความวุ่นวายในสังคม และเป็นเหตุให้ท่านได้เข้ามาดูแลปกป้อง ครั้นเมื่อเหตุนั้นถูกรำงับไปแล้ว พลเรือนย่อมต้องรับผิดชอบในกิจวัตรของตนตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละกลุ่มแต่ละบุคคล (จะอ้างการอยู่ต่อ ด้วยเหตุที่ยังมิได้เกิดขึ้นในอนาคตมิได้)

แม้จะมีความพยายามในการสร้างความได้เปรียบต่างๆ นานา จะมีประโยชน์อันใด ที่สามารถรบชนะ แต่แพ้สงคราม และการได้รับชัยชนะในเกมที่ตนเองคุมกฎกติกา จะเกิดเป็นความภาคภูมิใจก็หาได้ไม่

ในสถานการณ์ปกติ ควรปล่อยให้ พลเรือนในทุกหมู่เหล่า ได้หา ‘ทางออก’ ที่เหมาะสมกันเอง และท่านควรถอยฉาก เพื่อดำรงบทบาทในการเป็น 'ทางออกฉุกเฉิน' ให้กับประเทศ เมื่อเวลาเกิดไฟไหม้หรือมีภัยคุกคามในวันข้างหน้า

กลับมาอยู่ในสถานะที่อยู่เหนือความเป็นคู่ขัดแย้ง แต่คอยค้ำจุนสนับสนุนพรรครัฐบาล และกำกับทิศทางให้ทำงานเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติต่อไป

ในเรื่องเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังคุกรุ่นจากสงครามการค้า การปกป้องประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจ ที่ทำให้กติกาทางการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไป ย่อมส่งผลกระทบกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไม่มากก็น้อย รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศที่มาจากเรื่องการเมือง กระทบต่อเนื่องไปยังตลาดทุน และการลงทุนของภาคเอกชน

ตัวช่วยเดียวที่มีในขณะนี้ คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่กระจายเม็ดเงินไปสู่ภาคก่อสร้างและบริการที่เกี่ยวเนื่อง

ส่วนการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายของผู้บริโภค เพื่อให้จีดีพีเพิ่มนั้น เป็นไปได้ยากแล้ว เพราะคนชั้นกลางถึงล่าง ไม่ได้มีเงินในกระเป๋าเพิ่ม ถ้าจะดัน (ทุรัง) จริงๆ อัตราการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน ก็จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ปีใหม่นี้ จึงไม่ใช่ปีที่ง่าย เป็นปีหมูที่ไม่ปลอดภัย สำหรับผู้ที่คิดอ่านอย่างไม่รอบคอบระมัดระวัง ความประมาทจะทำให้เกิดความเสียหาย แต่จะเป็นปีหมูที่ปลอดภัย สำหรับผู้ที่ทำตามทำนองคลองธรรม ความมีสติจะคุ้มครองรักษาให้อยู่รอดปลอดภัย

ขอให้โชคดีถ้วนหน้า ในปีใหม่นี้ กันทุกท่านนะครับ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link