Thursday, October 29, 2015

ปัญหาทุจริตในภาคธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องเล็ก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 ต.ค.) เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย (PACT) ร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) หรือ PwC ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรธุรกิจที่สนใจจำนวน 68 บริษัท

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทุจริต เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกภาคส่วนในสังคมต่างรับรู้และเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และได้กลายเป็นปัญหาหลักในการประกอบธุรกิจของบริษัทไทย โดยผลสำรวจของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม ในรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันสากล ปี พ.ศ.2557-2558 ระบุว่า ปัจจัยที่เป็นปัญหาสูงสุดของการทำธุรกิจในประเทศไทย คือ ปัญหาการทุจริค โดยมีอัตราสูงถึงร้อยละ 21.4

มูลค่าการทุจริตที่เกิดระหว่างองค์กรธุรกิจในภาคเอกชนด้วยกันเอง อาจสูงกว่ายอดทุจริตที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายเท่าตัว มีความยากต่อการเก็บตัวเลข เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษีอากรของประชาชนโดยตรง จึงไม่ได้รับการตรวจสอบเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ ทำให้ไม่มีใครทราบสถานะที่เป็นจริง ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตที่ถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการก็สูงขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงานในภาคเอกชน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ก็ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า

จากการสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ Thailand Economic Crime Survey ประจำปี 2557 โดย PwC พบว่า ร้อยละ 89 ของการทุจริตเกิดขึ้นจากการกระทำของคนในองค์กร ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 61 และระดับโลกที่ร้อยละ 56

ปัญหาการทุจริตในองค์กร กลายเป็นอุปสรรคที่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในภูมิภาค ซึ่งนอกจากการทุจริตจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินแล้ว ปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อชื่อเสียง คุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานในองค์กรด้วย

โดยเฉพาะการทุจริตที่เกิดขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ในอุตสาหกรรมภาคการผลิต สามารถส่งผลกระทบไปทั้งซัพพลายเชน ปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หากบุคลากรภายในองค์กร เช่น ผู้จัดการแผนกจัดซื้อ หรือฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมในการฉ้อโกงด้วย

เมื่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จัดหาไม่ได้คุณภาพ อันเนื่องมาจากการทุจริต ปัญหาที่เกิดขึ้นติดตามมา มีตั้งแต่ความปลอดภัย การเรียกคืนสินค้า ชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กร หรือความเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้

การทุจริตเปรียบเหมือนโรคระบาดที่ติดต่อกันง่าย สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในองค์กรที่มีการป้องกันอย่างรัดกุม เนื่องจากอาชญากรทางเศรษฐกิจใช้เทคนิคการทุจริตใหม่ๆ ตลอดเวลา องค์กรจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามกรณีทุจริตอย่างรอบด้าน มีความทันสมัยและทันต่อเหตุทุจริตที่อาจเกิดขึ้น

หลักสูตรต้านทุจริตที่สามองค์กรร่วมกันจัดทำขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจและการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกัน มิให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต พร้อมทั้งกรณีศึกษา อันจะนำไปสู่การยกระดับการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย

เนื้อหาในหลักสูตร ประกอบด้วย ความหมายและความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต กระบวนงานในการต่อต้านการทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ การวางกระบวนงานภายในองค์กรเพื่อยกระดับความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริต และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูล 56-1, 56-2 และ 69-1 เป็นต้น โดยเป็นหลักสูตรเต็มวัน และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ผลตอบรับจากผู้เข้าอบรมในหลักสูตร เห็นว่า การอบรมดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระดับมาก ที่อัตราร้อยละ 79 และระดับปานกลางที่ร้อยละ 21

นับเป็นก้าวสำคัญที่หน่วยงานภาคเอกชนทั้ง 68 แห่งนี้ ได้เข้าร่วมและเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีป้องกัน ตรวจสอบ ฟื้นฟู และตอบสนองต่อเหตุทุจริต ตามหลักการและแนวปฏิบัติในการต้านทุจริตที่เป็นสากล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการวางนโยบายและการควบคุมภายในให้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละองค์กรต่อไป...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 22, 2015

แผนธุรกิจคู่สังคม

บทความตอนนี้ จะพาท่านไปรู้จัก วิธีการจัดทำแผนธุรกิจสำหรับความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม อันเป็นขั้นตอนที่ต่อจากการระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และเป็นจุดเริ่มต้นของการแปลงรูปจากธุรกิจปกติ ไปสู่รูปแบบของธุรกิจคู่สังคม (Shared Value Business)

จากการที่องค์กรธุรกิจ ถูกคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสียและสังคมโดยรวม ให้ดำเนินกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ซึ่งกิจการส่วนใหญ่มักเข้าใจไปว่า กิจกรรม CSR ดังกล่าว เป็นส่วนที่องค์กรธุรกิจต้องทำเพิ่มเติมจากการประกอบธุรกิจปกติ หรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่

ด้วยมโนทัศน์นี้ ทำให้ผลลัพธ์ของกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่องค์กรออกแบบและดำเนินการ มิได้มีส่วนเสริมหนุนต่อผลประกอบการในทางธุรกิจโดยตรง ทั้งที่ กิจการสามารถออกแบบให้กิจกรรมดังกล่าวส่งมอบผลลัพธ์ทั้งทางสังคมและทางธุรกิจควบคู่ไปพร้อมกันได้ โดยที่ผู้มีส่วนได้เสียและสังคมโดยรวมมิได้มีข้อคัดค้าน ตราบที่กิจการสามารถตรวจตราดูแลและจัดการกับผลกระทบเชิงลบได้อย่างมีความรับผิดชอบ

การออกแบบกิจกรรม CSR ที่คำนึงถึงการบูรณาการเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ หรือที่เดิมเรียกว่า Strategic CSR กำลังได้รับการพัฒนาสู่รูปแบบของการสร้างเป็นคุณค่าร่วม หรือ Shared Value ที่ให้ผลลัพธ์ทั้งทางสังคมและทางธุรกิจไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่องค์กรมีอยู่ พัฒนาจนกลายเป็นกลยุทธ์ที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กร

การออกแบบความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม มิได้เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อใช้ยกระดับการดำเนินงานขององค์กรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และมิได้ใช้เป็นกลยุทธ์เสริมเพียงเพื่อให้องค์กรอยู่เหนือคู่แข่งขัน แต่เป็นจุดเริ่มในการปรับแกนของกลยุทธ์ธุรกิจ ให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งขัน จนกลายเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรใช้สร้างผลกำไรทางธุรกิจ ไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม และยากที่องค์กรอื่นจะลอกเลียนแบบได้


วิธีการออกแบบความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม (Shared Value Initiative) ประกอบด้วยกระบวนการใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้น Facilitate: การก่อเค้าโครงของความริเริ่ม ขั้น Define: การกำหนดปัจจัยนำเข้าที่จำเป็นและประเด็นที่จะใช้ขยายผล ขั้น Research: การวิจัยหาแผนการดำเนินงานต้นแบบ และขั้น Develop:การจัดทำแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์

กิจกรรมในขั้น Facilitate ประกอบด้วย การจัดทำแบบร่างและสมมติฐานในภาพรวมสำหรับความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม การกลั่นกรองประเด็นคำถามหลัก วิธีดำเนินการวิจัย และแผนงานในการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย และการจัดประชุมขับเคลื่อนงานระหว่างผู้เกี่ยวข้องในองค์กร

กิจกรรมในขั้น Define ประกอบด้วย การดำเนินการวิจัยระดับทุติยภูมิ การสัมภาษณ์หรือลงภาคสนาม กิจกรรมสัมภาษณ์ผู้นำในธุรกิจ และการกลั่นกรองแบบร่างตามข้อค้นพบใหม่ที่รวบรวมได้

กิจกรรมในขั้น Research ประกอบด้วย การสัมภาษณ์ผู้ให้การอุปถัมภ์แผนงานที่มีความคล้ายคลึงกัน และ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพัฒนากรณีศึกษาของแผนงานดังกล่าว การจัดทำแบบจำลองผลกระทบทางสังคมและทางธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับ การทบทวนกรณีศึกษาและกลั่นกรองงานออกแบบความริเริ่ม

กิจกรรมในขั้น Develop ประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลและดำเนินการติดต่อหุ้นส่วนเป้าหมาย การประชุมหารือเชิงปฏิบัติการเพื่อแปลงแบบร่างที่เป็นภาพรวมสู่รายละเอียดกลยุทธ์สำหรับนำไปปฏิบัติ และการจัดทำแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ ที่ครอบคลุมถึงผลลัพธ์เป้าหมาย รายการกิจกรรม งบประมาณ และแผนลดความเสี่ยง

โดยสิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการออกแบบความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม คือ แผนธุรกิจสำหรับความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แผนธุรกิจคู่สังคม” ที่แสดงรายละเอียดแนวทางกิจกรรม ทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ หุ้นส่วนความร่วมมือ ผลลัพธ์ทางสังคมและทางธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับ เป็นต้น

ธุรกิจที่ดำเนินการมาถึงขั้นนี้ จะมีความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม ที่เป็นแผนงานพร้อมดำเนินการในกรอบเวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และสมรรถภาพที่องค์กรมีอยู่ รวมถึงหุ้นส่วนภายนอกที่จะร่วมดำเนินการ ในการขยายผลสัมฤทธิ์ เพื่อปูทางสู่การเป็นกิจการคู่สังคม (Shared Value Enterprise) ในที่สุด...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 15, 2015

จาก B2B สู่ B4B

บทความตอนนี้ จะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับแนวคิดที่พัฒนามาจากการทำธุรกิจปกติในแบบ “ธุรกิจเพื่อธุรกิจ” (B2B) มาสู่การทำธุรกิจในแบบ “ธุรกิจสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม” (B4B)

B2B หรือ Business-to-Business เป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างวิสาหกิจต่อวิสาหกิจ เป็นการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน สินค้าและบริการ ซึ่งโดยทั่วไป จะใช้เกณฑ์พิจารณาที่คำนึงถึงปัจจัยด้านคุณภาพและราคาของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งความเชื่อมั่นและศักยภาพของผู้ส่งมอบ เป็นต้น จัดเป็นธุรกรรมแบบ Conventional ที่เห็นได้เป็นปกติในธุรกิจ

B4B หรือ Business-for-Business เป็นแนวคิดของการใช้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจปกติ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาหรือสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง เพิ่มเติมจากข้อพิจารณาทางธุรกิจในแบบปกติ จัดเป็นธุรกรรมที่วิสาหกิจหนึ่ง (รายที่ให้การสนับสนุน) ดำเนินการสำหรับอีกวิสาหกิจหนึ่ง (รายที่ได้รับการสนับสนุน) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ขยายโอกาส พัฒนาคุณภาพชีวิต หรือช่วยลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

วิสาหกิจกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากแนวคิด B4B ครอบคลุมตั้งแต่ ผู้ประกอบการระยะเริ่มต้นธุรกิจ (Startup) ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) โอทอปหรือวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั่วไปด้วย

ส่วนรูปแบบของธุรกรรมตามแนวคิด B4B จำแนกได้เป็น 3 จำพวกหลัก ได้แก่ ธุรกรรมแบบเน้นสร้างโอกาส (Inclusive) แบบเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลง (Impact) และแบบเน้นสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value)

ธุรกรรมแบบเน้นสร้างโอกาส (Inclusive) เป้าประสงค์ คือ ต้องการเปิดโอกาสให้วิสาหกิจเข้าถึงตลาดในส่วนที่ไม่เคยเข้าถึงได้มาก่อน อันเนื่องมาจากการไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้น เช่น ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ขนาดของกิจการเล็กเกินไป ขาดหลักประกันสัญญา ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ฯลฯ วิสาหกิจเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนผ่านธุรกรรมในแบบ Inclusive นี้ อาทิ ผู้ประกอบการระยะเริ่มต้นธุรกิจ ธุรกิจเพื่อสังคม กลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน สหกรณ์ โอทอป วิสาหกิจชุมชน

ตัวอย่างของ B4B ในแบบ Inclusive ได้แก่ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประกอบการเครือข่ายร้านอาหาร รับซื้อผัก ผลไม้ โดยตรงจากกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนที่ทำแปลงเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายของคนกลาง และได้ราคาที่เป็นธรรม หรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าบุคคลหรือรายย่อยจำนวนมาก จัดซื้อของขวัญหรือของชำร่วยเพื่อมอบในช่วงเทศกาลสำคัญๆ จากกลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน สหกรณ์ โอทอป เพื่อกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นและช่วยส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือธุรกิจทั่วไปที่ต้องจัดอาหารของว่างเลี้ยงรับรองลูกค้าในสำนักงานเป็นการทั่วไปอยู่แล้ว จัดซื้ออาหารของว่างจากกลุ่มแม่บ้านหรือร้านค้ารายย่อยในชุมชนที่สำนักงานตั้งอยู่ เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนหรือท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมทางธุรกิจปกติที่สร้างงานสร้างรายได้ นอกเหนือจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในแบบบริจาคให้เปล่าแก่ชุมชน เป็นต้น

ธุรกรรมแบบเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลง (Impact) เป้าประสงค์ คือ ต้องการใช้อำนาจหรือมูลค่าการจัดซื้อ ที่เป็นทั้งการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตหรือแปรรูป (Direct Materials) และวัสดุที่เป็นส่วนประกอบหรือเพื่อใช้สอยในสำนักงาน (Indirect Materials) เพื่อมุ่งลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านทางวิสาหกิจที่ได้รับคำสั่งซื้อให้ร่วมดำเนินการ วิสาหกิจเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนผ่านธุรกรรมในแบบ Impact นี้ กลุ่มแรกจะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ตั้งขึ้นโดยมีพันธกิจในการดำเนินงานเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง แต่ก็สามารถเป็นได้ทั้งวิสาหกิจทั่วไปที่พร้อมจะตอบสนองวัตถุประสงค์ทางสังคมเพื่อแลกกับคำสั่งซื้อนั้นๆ ได้ด้วย

ตัวอย่างของ B4B ในแบบ Impact ได้แก่ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการใช้แรงงานเป็นหลัก ว่าจ้างให้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ทำงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ทุพพลภาพ สร้างอาชีพหรือตำแหน่งงานที่มีคุณค่าในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมให้แก่คนกลุ่มดังกล่าว หรือธุรกิจที่ต้องการลดหรือขจัดการทุจริตในสังคม สร้างแนวร่วมการต้านทุจริตในห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการผลักดันให้คู่ค้าดำเนินนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ไม่ว่าด้วยการเรียก รับ และจ่ายสินบน ผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ หรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการใช้กระดาษในสำนักงานจำนวนมาก จัดซื้อกระดาษที่ผลิตมาจากป่าปลูก เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติ นอกเหนือจากการรณรงค์ลดใช้กระดาษ เป็นต้น

ธุรกรรมแบบเน้นสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) เป้าประสงค์ คือ ต้องการทำงานร่วมกับวิสาหกิจผู้ส่งมอบในลักษณะที่เป็นหรือเทียบเท่ากับหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าทั้งกับธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการนำความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่มีอยู่ มาใช้เป็นฐานในการสร้างคุณค่าร่วม ธุรกรรมในระดับนี้ เกิดขึ้นจากการนำประเด็นปัญหาทางสังคม (และสิ่งแวดล้อม) ที่อยู่ในความสนใจหรือที่ยังมิได้รับการตอบสนอง มาพัฒนาเป็นโจทย์ที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขด้วยรูปแบบทางธุรกิจ วิสาหกิจเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนผ่านธุรกรรมในแบบ Shared Value นี้ เป็นได้ทั้งวิสาหกิจในระดับฐานราก (คุณค่าทางสังคมเกิดขึ้นในตัววิสาหกิจเอง) จนถึงวิสาหกิจทั่วไปโดยไม่จำกัดขนาด (คุณค่าทางสังคมเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของวิสาหกิจ)

ตัวอย่างของ B4B ในแบบ Shared Value ได้แก่ ธุรกิจค้าน้ำมันรายใหญ่ ทำงานร่วมกับสหกรณ์ในชุมชน พัฒนารูปแบบของปั๊มสหกรณ์และปั๊มชุมชน นำน้ำมันมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์หรือคนในชุมชน สร้างรายได้จากการขายน้ำมัน และครัวเรือนที่เป็นสมาชิกยังได้รับเงินปันผลเป็นรายรับเพิ่มด้วย หรือธุรกิจเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ ทำงานร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ พัฒนาสินค้าที่เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ขายปลีกผ่านเครือข่ายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือรับผลิตเครื่องแบบข้าราชการ เครื่องแบบพนักงานบริษัท ขายส่งผ่านเครือข่ายธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นต้น

แนวคิด B4B ทั้ง 3 รูปแบบ Inclusive • Impact • Shared Value สามารถนำมาใช้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยกระจายเม็ดเงินรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ด้วยการแสวงหาความร่วมมือในภาคเอกชน รวมถึงร่วมดูแลผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 01, 2015

บอร์ดยั่งยืน กับวาระ ‘สังคม 2020’

สัปดาห์ที่ผ่านมา (24 ก.ย) ได้มีคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Network Board: SDNB) หรือ “บอร์ดยั่งยืน” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ที่ผลักดันงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจตนารมณ์ที่จะทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และสานเครือข่ายการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ทำงานเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในระดับสากล ภายใต้วาระ “สังคม 2020” หรือ Society 2020


ผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดยั่งยืนที่จัดตั้งขึ้น มาจากทั้งภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน ประกอบด้วย คุณศิริชัย สาครรัตนกุล ดร.วัฒนา โอภานนท์อมตะ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล ดร.สุนทร คุณชัยมัง คุณสุกิจ อุทินทุ รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ และดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ รวมทั้งสิ้น 7 ท่าน โดยมีสถาบันไทยพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ

สืบเนื่องจากเวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Summit) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ชาติสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศได้มีการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) 17 ข้อ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2558

ทั้งวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้รับการรับรองโดยชาติสมาชิก จะมีอิทธิพลต่อทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกนับจากนี้ จวบจนปี พ.ศ.2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี

การขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนของประเทศไทย ควรจะมีการสร้างความเคลื่อนไหว (Movement) ที่ให้ภาคส่วนต่างๆ ตื่นตัวและมีช่องทางที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้เสนอแนวคิดการขับเคลื่อน “วาระ Society 2020” โดยมีกรอบเวลา 5 ปีในระยะแรก (สิ้นสุดปี ค.ศ.2020) ด้วยวิสัยทัศน์ “People -> Perform, Business -> Transform, State -> Reform” และจะมีการประเมินการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาสู่การขับเคลื่อนในกรอบเวลา 10 ปี (สิ้นสุดปี ค.ศ.2030) ตามวาระสังคม 2030 ในระยะต่อไป

Mandate ในการทำงานของบอร์ดชุดนี้ มุ่งหวังตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ในระดับสังคมวงกว้าง เน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้ อันมีขอบข่ายที่กว้างกว่าโจทย์การพัฒนาความยั่งยืน หรือ Sustainability Development ในระดับองค์กรหรือระดับห่วงโซ่ธุรกิจ

คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเชิญชวนหน่วยงานที่สนใจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับวาระสังคม 2020 และสอดคล้องกับSDGs เข้าร่วมขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 ในรูปของกลุ่มความร่วมมือผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder Group) เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ได้แก่ (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล

ทั้งนี้ บทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเน้นการทำหน้าที่เป็นกลไกประสานหน่วยงาน โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่จะทำงานในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์ SDGs ในระดับที่สูงขึ้น ภายใต้หลักการ 5Ps ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ประชาชน (People) โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

ด้วยแพลตฟอร์มดังกล่าว คาดหวังจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ ตามวาระสังคม 2020 ที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติด้วย...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]