บทความตอนนี้ จะพาท่านไปรู้จัก วิธีการจัดทำแผนธุรกิจสำหรับความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม อันเป็นขั้นตอนที่ต่อจากการระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และเป็นจุดเริ่มต้นของการแปลงรูปจากธุรกิจปกติ ไปสู่รูปแบบของธุรกิจคู่สังคม (Shared Value Business)
จากการที่องค์กรธุรกิจ ถูกคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสียและสังคมโดยรวม ให้ดำเนินกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ซึ่งกิจการส่วนใหญ่มักเข้าใจไปว่า กิจกรรม CSR ดังกล่าว เป็นส่วนที่องค์กรธุรกิจต้องทำเพิ่มเติมจากการประกอบธุรกิจปกติ หรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่
ด้วยมโนทัศน์นี้ ทำให้ผลลัพธ์ของกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่องค์กรออกแบบและดำเนินการ มิได้มีส่วนเสริมหนุนต่อผลประกอบการในทางธุรกิจโดยตรง ทั้งที่ กิจการสามารถออกแบบให้กิจกรรมดังกล่าวส่งมอบผลลัพธ์ทั้งทางสังคมและทางธุรกิจควบคู่ไปพร้อมกันได้ โดยที่ผู้มีส่วนได้เสียและสังคมโดยรวมมิได้มีข้อคัดค้าน ตราบที่กิจการสามารถตรวจตราดูแลและจัดการกับผลกระทบเชิงลบได้อย่างมีความรับผิดชอบ
การออกแบบกิจกรรม CSR ที่คำนึงถึงการบูรณาการเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ หรือที่เดิมเรียกว่า Strategic CSR กำลังได้รับการพัฒนาสู่รูปแบบของการสร้างเป็นคุณค่าร่วม หรือ Shared Value ที่ให้ผลลัพธ์ทั้งทางสังคมและทางธุรกิจไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่องค์กรมีอยู่ พัฒนาจนกลายเป็นกลยุทธ์ที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กร
การออกแบบความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม มิได้เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อใช้ยกระดับการดำเนินงานขององค์กรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และมิได้ใช้เป็นกลยุทธ์เสริมเพียงเพื่อให้องค์กรอยู่เหนือคู่แข่งขัน แต่เป็นจุดเริ่มในการปรับแกนของกลยุทธ์ธุรกิจ ให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งขัน จนกลายเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรใช้สร้างผลกำไรทางธุรกิจ ไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม และยากที่องค์กรอื่นจะลอกเลียนแบบได้
วิธีการออกแบบความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม (Shared Value Initiative) ประกอบด้วยกระบวนการใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้น Facilitate: การก่อเค้าโครงของความริเริ่ม ขั้น Define: การกำหนดปัจจัยนำเข้าที่จำเป็นและประเด็นที่จะใช้ขยายผล ขั้น Research: การวิจัยหาแผนการดำเนินงานต้นแบบ และขั้น Develop:การจัดทำแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์
กิจกรรมในขั้น Facilitate ประกอบด้วย การจัดทำแบบร่างและสมมติฐานในภาพรวมสำหรับความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม การกลั่นกรองประเด็นคำถามหลัก วิธีดำเนินการวิจัย และแผนงานในการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย และการจัดประชุมขับเคลื่อนงานระหว่างผู้เกี่ยวข้องในองค์กร
กิจกรรมในขั้น Define ประกอบด้วย การดำเนินการวิจัยระดับทุติยภูมิ การสัมภาษณ์หรือลงภาคสนาม กิจกรรมสัมภาษณ์ผู้นำในธุรกิจ และการกลั่นกรองแบบร่างตามข้อค้นพบใหม่ที่รวบรวมได้
กิจกรรมในขั้น Research ประกอบด้วย การสัมภาษณ์ผู้ให้การอุปถัมภ์แผนงานที่มีความคล้ายคลึงกัน และ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพัฒนากรณีศึกษาของแผนงานดังกล่าว การจัดทำแบบจำลองผลกระทบทางสังคมและทางธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับ การทบทวนกรณีศึกษาและกลั่นกรองงานออกแบบความริเริ่ม
กิจกรรมในขั้น Develop ประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลและดำเนินการติดต่อหุ้นส่วนเป้าหมาย การประชุมหารือเชิงปฏิบัติการเพื่อแปลงแบบร่างที่เป็นภาพรวมสู่รายละเอียดกลยุทธ์สำหรับนำไปปฏิบัติ และการจัดทำแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ ที่ครอบคลุมถึงผลลัพธ์เป้าหมาย รายการกิจกรรม งบประมาณ และแผนลดความเสี่ยง
โดยสิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการออกแบบความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม คือ แผนธุรกิจสำหรับความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แผนธุรกิจคู่สังคม” ที่แสดงรายละเอียดแนวทางกิจกรรม ทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ หุ้นส่วนความร่วมมือ ผลลัพธ์ทางสังคมและทางธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับ เป็นต้น
ธุรกิจที่ดำเนินการมาถึงขั้นนี้ จะมีความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม ที่เป็นแผนงานพร้อมดำเนินการในกรอบเวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และสมรรถภาพที่องค์กรมีอยู่ รวมถึงหุ้นส่วนภายนอกที่จะร่วมดำเนินการ ในการขยายผลสัมฤทธิ์ เพื่อปูทางสู่การเป็นกิจการคู่สังคม (Shared Value Enterprise) ในที่สุด...(หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, October 22, 2015
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment