Thursday, September 30, 2010

ใช้ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ค แบบ SMART

ทุกวันนี้ เยาวชนกำลังซึมซับวัฒนธรรมการใช้งานเครื่องมือติดต่อสื่อสารในเครือข่ายทางสังคมกันอย่างแพร่หลาย โดยไม่รู้ว่าจะมีกฎ กติกา มารยาท ที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราได้มากน้อยแค่ไหน ในหลายครั้งเยาวชนตกเป็นเหยื่อของการคุกคามจากผู้ที่ไม่หวังดี การป้องกันจึงย่อมดีกว่าการแก้ไข

แม้โลกออนไลน์จะเป็นประตูเปิดไปสู่แหล่งความรู้มากมายมหาศาล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเราใช้งานไม่เป็นและรู้ไม่เท่าทัน ภัยร้ายที่แฝงมาก็อันตรายมหาศาลเช่นกัน เราจึงควรใช้มันอย่างฉลาด ด้วยกฎ “SMART” ที่ประมวลมาจากคู่มือ Child Online Protection (COP) ซึ่งจัดทำโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)

SET YOUR LIMITS
ระมัดระวังในการที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลในครอบครัว รวมทั้งของเพื่อนๆ บนโลกออนไลน์ โดยตั้งค่าโปรแกรมสื่อสารหรือเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คให้ปกป้องข้อมูลส่วนตัวสูงสุด หรือเปิดเผยได้เฉพาะกับเพื่อนหรือบุคคลที่รู้จักจริงๆ เท่านั้น (ใช้ชื่อเล่น แทนชื่อจริงก็ปลอดภัยดี) จงอย่าปักใจเชื่อข้อมูลที่ได้รับร้อยเปอร์เซ็นต์ หากจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้น ควรตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อื่นๆ ประกอบ และเมื่อต้องส่งข้อมูลให้ผู้อื่น ให้แน่ใจว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นการละเมิดสิทธิ หลอกลวง หรือหมิ่นประมาทผู้อื่น เพราะกฎหมายยังคงตามไปคุ้มครองในโลกออนไลน์เหมือนในโลกจริง ที่สำคัญ คิดให้หนัก เวลาจะโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือไฟล์ส่วนตัว เพราะเมื่อส่งไปแล้ว มันอาจจะไม่สามารถลบหรือยกเลิกได้ มีหลายคนต้องเสียใจ เจ็บใจ และทุกข์ใจไปตลอดชีวิต

MEETING ONLINE FRIENDS OFFLINE
เราอาจพบเพื่อนใหม่ในโลกออนไลน์ได้ จงคิดให้รอบคอบ หากจะต้องนัดพบกันจริงๆ ควรพาผู้ใหญ่หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปกับเราด้วย เพราะคนที่เราคุยด้วยผ่านโลกออนไลน์ที่ดูว่าจะดี อาจจะไม่เหมือนกับตัวตนจริงๆ เวลาพบกันก็ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ควรบอกพ่อแม่หรือชวนคนที่สามารถคุ้มครองเราได้ไปกับเราด้วย ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร

ACCEPTING INVITATIONS / FRIENDSHIPS
การสนทนาพูดคุยออนไลน์กับคนที่เรารู้จักในโลกจริงอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ แต่บางทีเราอาจจะมีเพื่อนของเพื่อน...และของเพื่อน มาขอทำความรู้จักกับเราในโลกออนไลน์ด้วย เราก็จะรู้สึกสนุกที่ได้รู้จักเพื่อนเพิ่มขึ้น แต่ให้จำไว้เสมอว่า เพื่อนของเพื่อน ไม่ใช่เพื่อนของเราตรงๆ การจะบอกข้อมูลหรือให้การสนิทสนมเสมือนเพื่อนของเราโดยตรงนั้น เขาอาจจะไม่รักษาความลับหรือ take care เราเหมือนเพื่อนเราจริงๆ ก็ได้ อย่าไปคิดว่าการเก็บสะสมคอนแทคหรือเฟรนด์ให้ได้ “ปริมาณ” เยอะๆ จะดูโก้เก๋ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค การคัดเลือกเพื่อนที่มี “คุณภาพ” ต่างหากที่จะทำให้เราดูไฮโซกว่า

REACT
บางครั้งเราอาจจะหลุดไปยังเว็บไซต์หรือวงสนทนาซึ่งมีเนื้อหาไม่เหมาะสมหรือน่าขยะแขยง ให้รีบกลับออกมาหรือบล็อกไม่ให้เข้ามา ทางที่ดีควรจะปรึกษาผู้ใหญ่หรือใครที่ไว้ใจได้ ถ้าดูแล้วเหตุการณ์จะเลยเถิดหรือบานปลาย เช่น มีการยั่วยวนด้วยภาพหรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม มีความพยายามนัดพบเพื่อติดต่อสัมพันธ์ในแบบรักๆ ใคร่ๆ มีการพูดจาดูถูกดูหมิ่นให้เสียๆ หายๆ ขอให้ระลึกว่า การจะสั่งสมประสบการณ์หรือพยายามแก้ไขปัญหาโดยลำพังคนเดียวนั้น ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เราควรต้องหาตัวช่วยในการเสริมพลังบวก เริ่มจากเพื่อนสนิท พ่อแม่ คุณครู หรือผู้ใหญ่ที่เราเชื่อใจ

TELL SOMEONE ABOUT YOUR CONCERNS
ไม่มีข้อกังวลหรือปัญหาใดๆ ในโลก (ออนไลน์) นี้ ที่ยากเกินแก้ไข การหันหน้ามาปรึกษาหารือกับผู้ที่เราไว้วางใจในโลก (ออปไลน์) เป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ใช่เราคนเดียวที่อาจต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือปัญหาแบบนี้ เพื่อนของเราหลายคนได้รับการแก้ไข และใช้ชีวิตอย่างชิลด์ชิลด์ได้ ก็เพราะมีผู้ไกด์ช่องทางให้ในแบบสุโค่ย คำตอบหลายเรื่องรอเราอยู่ อย่าลืมว่า โลกออปไลน์ยังมีที่ให้เรายืนอยู่เสมอ วันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะกลายเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือคนที่เคยเจอปัญหาเหมือนเราบ้างก็ได้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link

Thursday, September 23, 2010

ปฏิรูปเรื่องใหญ่ คอร์รัปชันเรื่องใหญ่กว่า

ปัจจุบันคำว่า Collective Action หรือ การทำงานวิถีกลุ่ม กำลังได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความตื่นตัวภายในภาคธุรกิจเอกชนกันเอง ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทางที่ดีขึ้น ด้วยการร่วมไม้ร่วมมือกันทำงานในลักษณะภาคีเครือข่าย

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ได้แก่ การที่หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย และศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเอกชนระหว่างประเทศ (CIPE) ร่วมกันผลักดันความริเริ่มการทำงานวิถีกลุ่มในประเทศไทย (Collective Action Initiative in Thailand) ในการต่อต้านคอร์รัปชัน เริ่มจากการประมูลงานภาครัฐ โดยมีแผนจะประกาศเปิดตัวในเวทีการประชุมเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันระดับโลกในราวกลางเดือน พ.ย. นี้

สำหรับกรอบแนวทางการทำงานวิถีกลุ่มที่ได้จากเวทีประชุมกลุ่ม Dealing with Moral for Competitiveness: Ethical and Moral Guideline for Thailand เมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อตกลงว่าการทำงานวิถีกลุ่มนั้น จะตั้งอยู่บนวิถีเชิงบวก ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสวงหาความร่วมมือตามความถนัดและประสบการณ์ของแต่ละองค์กร

การทำงานวิถีกลุ่ม เน้นการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ และไม่ผลักภาระรับผิดชอบให้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สนับสนุนให้องค์กรประเภทภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะสมาคมธุรกิจการค้า และอุตสาหกรรมต่างๆ ดำรงบทบาทนำในการพัฒนาทักษะกระบวนการทำงานวิถีกลุ่ม

ความก้าวหน้าในการทำงานวิถีกลุ่มจะวัดจากการชักนำสมาชิกในภาคีเครือข่ายให้มาร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิด Economy of Scale และขยายพลังจากการสะสม Collect Action ของหน่วยงานที่เข้าร่วม โดยจัดให้มีคณะทำงานรับผิดชอบ จัดการ กำกับดูแล ติดตามและพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นตอน

คณะทำงานรับผิดชอบ อาจจัดตั้งในลักษณะ Joint Group ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในลักษณะ Action-Oriented โดยการนำของผู้นำภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการทำหน้าที่ส่งเสริมการทำงานวิถีกลุ่มให้เติบโตและเข้มแข็ง ด้วยหลัก 4 ประการ

ยึดคุณค่าและวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม
ปรับทัศนคติที่เห็นว่าการทำธุรกิจด้วยคุณธรรมจริยธรรมจะทำให้สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน
มุ่งขจัดค่านิยมในทางที่ส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชันในหมู่ธุรกิจ
ใช้มาตรการทางสังคม (Social Sanction) ในการปกป้องการกระทำที่ชอบ และประณามการกระทำที่ไม่ดี (ในเชิงพฤติกรรม) มากกว่าที่ตัวบุคคล (ในเชิงปัจเจก)

การสำรวจความคิดเห็นต่อเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ในเวที “Thailand Competitiveness Conference 2010” ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 100% คิดว่าการปฏิบัติทางจริยธรรม (Ethical Practices) มีส่วนสำคัญกับขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน มีความรุนแรงที่สุดในภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 87 ขณะที่ในภาคธุรกิจเอกชน ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 13 โดยผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่าการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยการริเริ่มจากภาคเอกชนในแบบ Collective Effort ที่จะไม่ส่งเสริมเรื่องการให้สินบน หรือว่าจูงใจที่ผิดกฎหมาย มีความเป็นไปได้มาก คิดเป็นร้อยละ 30 อยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 40 เป็นไปได้น้อย คิดเป็นร้อยละ 40 และไม่มีผู้ใดเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลย (ร้อยละ 0)

สำหรับตัวบ่งชี้ด้านคุณธรรมที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยในปัจจุบันเรียงลำดับจากมากสุด ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต อยู่ที่ร้อยละ 60.7 ความรับผิดชอบต่อสังคม อยู่ที่ร้อยละ 32.1 และความพอเพียง อยู่ที่ร้อยละ 7.1

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดต่างแสดงความเห็นว่าสมควรจะนำประเด็นการปฏิบัติทางจริยธรรม (Ethical Practices) มาพิจารณาอย่างต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

ขอเชิญท่านร่วมสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจเอกชน เกี่ยวกับ "การสร้างแนวร่วม (Collective Action) ในการต่อต้านคอร์รัปชัน" (Opinion Survey of Private Sector Leaders on Anti-Corruption Collective Action in Thailand) โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย หอการค้าไทย ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้ที่ http://bit.ly/cqPqEG ภายในวันที่ 24 กันยายนนี้ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 16, 2010

ถึงเวลาทำคุณธรรมให้จับต้องได้

สัปดาห์นี้ ศูนย์คุณธรรมร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดการประชุมเวทีสมัชชาคุณธรรม : ภาคกลาง ใน โครงการสมัชชาคุณธรรมปี 2553 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านคุณธรรมในประเด็นที่มีความสำคัญ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง ร่วมกับองค์กรทางศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ ซึ่งมีองค์กรและเครือข่ายภาคีต่างๆ ในภาคกลางเข้าร่วมการประชุมจำนวน 170 คน

สมัชชาคุณธรรมเป็นกลไกสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรภาคีในทุกภาคส่วนของสังคมที่มีปณิธานและเป้าหมายร่วมกันเพื่อร่วมมือรวมพลังทั้งในด้านความคิด ความรู้ การกระทำ เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีสู่สังคมและนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนคุณธรรมความดีอย่างมีพลังต่อเนื่อง ในการประชุมครั้งนี้ได้นำเอาผลการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) ที่มีการวางกรอบแนวทางในการขับเคลื่อน และจากการประชุมโต๊ะกลม (roundtable) ที่เสนอยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน มาเป็นข้อมูลตั้งต้น

กรอบแนวทางในการขับเคลื่อนจากเวทีประชุมกลุ่มย่อย ได้แก่ แนวทางปฏิบัติในด้านคุณธรรม ควรเริ่มจากครอบครัวไปสู่ระดับนโยบาย ควรมีคู่มือคุณธรรมในการเตรียมตัวเป็นพ่อแม่เพื่อปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกตั้งแต่เล็ก ใช้โมเดลการปฏิบัติเรื่องศาสนชุมชน เช่น โครงการพระธรรมจาริก มจร. และผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น ประเพณีตากคัมภีร์ จ.แพร่ เป็นกรณีศึกษา โดยองค์กรสื่อต้องมีบทบาทเชิงรุกในการเผยแพร่หรือส่งเสริมเรื่องนี้ ในที่ประชุมได้เสนอให้มีการตั้งสภาคุณธรรมสูงสุด 5 ศาสนาในประเทศไทย โดยภาคศาสนาต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน เนื่องจากไม่สามารถพึ่งภาคการเมืองในปัจจุบันได้

ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนจากเวทีประชุมโต๊ะกลม จะใช้ “วิถีชุมชนวัด” (หมายรวมถึง วัด โบสถ์ มัสยิด และศาสนสถานอื่นๆ) นำสังคมสู่สันติสุข โดยคำนึงถึงบริบทของชุมชนเป็นฐาน เพราะในศาสนาพุทธ วัดถือเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชีวิตจิตใจของคนไทยมาแต่ดั้งเดิม ในศาสนาคริสต์ ชุมชนวัดเป็นรากฐานสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติพันธกิจกิจร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้อภิบาลในแต่ละวัด ชุมชนคริสต์ชนพื้นฐานเป็นเครื่องหมายของการมีชีวิตชีวาของชุมชน ในศาสนาอิสลาม มัสยิด ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวมุสลิมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันรวมตัวกันสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน รวมทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ก็จะมีโบสถ์และวัดในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและปฏิบัติศาสนกิจอย่างมั่นคงเรื่อยมา

วิถีชุมชนวัด เป็นวิธีการสำคัญในการพัฒนาชีวิตจิตใจ สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันฉันพี่น้อง ด้วยการสนับสนุนให้สมาชิกในชุมชน อาทิ พระ นักบวช ครู และผู้นำชุมชน ได้รับการปลุกจิตสำนึกและสร้างทักษะเรื่องกระบวนการวิถีชุมชนวัด กระทั่งสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนวัดอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง โดยต้องจัดให้มีคณะทำงานรับผิดชอบ จัดการ กำกับดูแล ติดตามและพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นตอน

คณะทำงานรับผิดชอบ อาจจัดตั้งเป็นสภาชุมชนวัด โดยการนำของพระสงฆ์เจ้าอาวาส หรือผู้นำของศาสนสถาน ร่วมกับองค์กรและเครือข่ายภาคีต่างๆ ในการทำหน้าที่ส่งเสริมวิถีชุมชนวัดให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยยึดคุณค่าทางวัฒนธรรมของชุมชน มุ่งรื้อฟื้นคุณค่าที่ดีงามของสถาบันครอบครัว เน้นให้ชุมชนวัดเป็นแหล่งอบรมคุณค่าศาสนา วัฒนธรรม และการเคารพวิถีชีวิตที่งดงามของพี่น้องร่วมชุมชน ตลอดจนคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยตระหนักว่าการเสวนาทางสังคม (Social Dialogue) จะนำมาซึ่งความเข้าอกเข้าใจและเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้ชุมชน

กระบวนการพัฒนาวิถีชุมชนวัด จะตั้งอยู่บนวิถีเชิงบวก ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสวงหาสิ่งที่ดีตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคลและองค์กร ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการมองไปข้างหน้า ร่วมกันถักทอความฝันให้เป็นความจริง สร้างสรรค์แนวทาง รูปแบบ และวิธีการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานที่ประสานสอดคล้องขับเคลื่อนอนาคตที่นำไปสู่สังคมสันติสุขร่วมกัน

สำหรับผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในเวทีสมัชชาคุณธรรมภาคกลาง ได้มาซึ่งแผนงาน/แผนปฏิบัติการตามแนวทางวิถีชุมชนวัดประมาณ 15 เรื่องจากผู้แทนทั้ง 5 ศาสนาและเครือข่ายภาคี เพื่อที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยการประชุมเวทีนี้จัดครั้งต่อไปที่ภาคอีสาน จ.สกลนคร (24 กันยายน) ภาคใต้ จ.สงขลา (30 กันยายน) และภาคเหนือ จ.แพร่ (13 ตุลาคม) ผู้สนใจติดตามจาก moralcenter.or.th และ thaipat.org ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 09, 2010

เวทีนี้...นับหนึ่งแล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงาน Thailand Competitiveness Conference 2010 เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมีศูนย์คุณธรรม และสถาบันไทยพัฒน์เป็นหนึ่งใน Knowledge Partners ที่รับผิดชอบดำเนินการสัมมนาและสรุปผลของกลุ่ม Dealing with Moral for Competitiveness : Ethical and Moral Guideline for Thailand ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นเป็นปีแรก ก็ด้วยเหตุที่สถานการณ์เรื่องคุณธรรม จริยธรรมในประเทศไทย มีทีท่าว่าจะเสื่อมถอยอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐและเอกชนที่มีระดับของความรุนแรงมากขึ้น ที่หากไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่ออันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

อุปสรรคสำคัญที่ได้มีการสะท้อนในเวทีการระดมความคิด ได้แก่ ทัศนคติของนักธุรกิจที่เห็นว่าการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม จะทำให้แข่งขันไม่ได้ หรือถ้าต้องแข่งขันในกติกา ทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ก็จะไม่สามารถมีชัยชนะเหนือคู่แข่งขันได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องขวนขวายดิ้นรนเพื่อจะอยู่รอดในธุรกิจ เมื่อผนวกกับการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายและขาดการกำกับดูแลกติกาอย่างเข้มงวดของภาครัฐ จึงทำให้วิกฤตการณ์ด้านคุณธรรม จริยธรรมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

หนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่มีการตกผลึกความคิดร่วมกันในที่ประชุมคือ การขับเคลื่อนการทำงานในแบบร่วมไม้ร่วมมือกัน (Collective Effort) โดยมีกติกาในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ชัดเจนและวัดผลได้ และมีมาตรการในการดำเนินงาน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ มาตรการสร้างสำนึกและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เน้นให้เกิดความตระหนักจากภายใน และนำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมภายนอก (อาทิ การอบรมจิต) และมาตรการทางกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการบังคับใช้ (Law Enforcement) รวมไปถึงการใช้กฎทางสังคมในลักษณะที่เป็น Soft Law (อาทิ Social Sanction) ซึ่งต้องดำเนินควบคู่กันทั้งสองมาตรการ

สำหรับข้อตกลงเรื่องตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ในระดับปัจเจกบุคคล จะใช้ตัวบ่งชี้ 3 ตัวหลัก คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความพอเพียง ที่สามารถขยายให้ครอบคลุมในระดับองค์กร ในมิติของ บรรษัทภิบาล (CG) บรรษัทบริบาล (CSR) และเศรษฐกิจพอเพียง (SE) ในระดับสังคมส่วนรวม จะใช้ตัวบ่งชี้ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความเสมอภาค ที่นำไปสู่การสร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ส่วนแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม (Initiatives) ที่พร้อมริเริ่มดำเนินงาน มีอยู่ 6 แผนงาน คือ

(1)การรณรงค์ต่อต้านการทุจริตโดยภาคเอกชนร่วมกันดำเนินงานในลักษณะ Collective Action โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยเป็นผู้ริเริ่มดำเนินงาน
(2)การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีเอสซีจีอาสาเป็นผู้ริเริ่มดำเนินงาน เพื่อการขยายผลสู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม
(3)การจัดทำตัวอย่างการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) และการเยี่ยมชมกิจการตัวอย่าง โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
(4)การผลักดันยุทธศาสตร์และแนวทางดำเนินงานให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในหมู่บริษัทจดทะเบียน โดย CSR Club
(5)การจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมเพื่อเสริมสร้างค่านิยมในเรื่องคุณธรรมให้เกิดจากภายใน ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(6)การพัฒนาหลักสูตรสำหรับนักการเมือง โดยมีความร่วมมือเบื้องต้นระหว่างศูนย์คุณธรรมและคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา

โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยการและการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ซึ่งจะมีการตั้งกลุ่มทำงานในลักษณะ Joint Group ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในลักษณะ Action-Oriented และในระหว่างทางก็จะมีการเพิ่ม Partnership ในแต่ละภาคส่วนให้มาร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิด Economy of Scale และการขยายพลังจาก Collect Action ของหน่วยงานที่เข้าร่วม

องค์กรใดที่สนใจเข้าร่วมการขับเคลื่อนในครั้งนี้ ก็ขอได้โปรดอดใจรอสักนิด เพราะหน่วยงานที่อาสารับผิดชอบการขับเคลื่อนทั้ง 6 แผนงานข้างต้น กำลังกำหนดรูปแบบกิจกรรม วิธีการเข้าร่วม ฯลฯ และจะได้มีการทยอยประกาศในเร็ววันนี้ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 02, 2010

4 บทบาท CSR ภาครัฐ

เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การพิทักษ์ประโยชน์ของส่วนรวมถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของภาครัฐ แต่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงกิจกรรมขององค์การภาคเอกชน และกลุ่มที่ผลักดันนโยบายสาธารณะต่างๆ ได้เรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมแสดงจุดยืนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกอบการ
เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐ ได้มีการออกกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการทางภาษี ทั้งในเชิงบังคับและจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ในอันที่จะปกป้องประโยชน์ของส่วนรวมและเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม

อย่างไรก็ดี บทบาทของหน่วยงานของรัฐในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในปัจจุบัน มิได้จำกัดอยู่เพียงการใช้กฎหมายแบบบังคับและควบคุม การวางระเบียบและตรวจสอบ หรือการใช้มาตรการทางภาษี ในลักษณะที่ทำให้เป็นไปตามอาณัติ (mandating) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบทบาทของการอำนวยการ (facilitating) การเป็นหุ้นส่วน (partnering) และการสนับสนุน (endorsing) ภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคมนั้นๆ ได้อีกด้วย

ธนาคารโลกได้ระบุถึงบทบาทของหน่วยงานของรัฐในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ไว้ 4 ลักษณะ ดังนี้

บทบาทของรัฐ
การใช้อำนาจ (mandating)การใช้กฎหมายแบบบังคับและควบคุมการเป็นผู้วางกฎระเบียบและจัดตั้งหน่วยงานตรวจตราเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการใช้รางวัลจูงใจและบทลงโทษทางการเงินและทางกฎหมาย
การอำนวยการ (facilitating)การใช้บทกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ

การจัดหาเงินทุนสนับสนุน
การสร้างสิ่งจูงใจ

การเพิ่มความตระหนัก
การสร้างเสริมสมรรถภาพ

การสร้างเหตุกระตุ้นทางการตลาด
การเป็นหุ้นส่วน (partnering)การควบรวมทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมการสร้างพันธภาพกับผู้มีส่วนได้เสียการสานเสวนา
การสนับสนุน (endorsing)การสนับสนุนทางการเมือง การประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณชน
ที่มา: Fox, Ward, Howard (2002), World Bank

ในลักษณะของการใช้อำนาจ จะประกอบด้วย การใช้กฎหมายแบบบังคับและควบคุม (command and control legislation) การเป็นผู้วางกฎระเบียบและมีหน่วยงานคอยตรวจตราให้เป็นไปตามระเบียบนั้น (regulators and inspectorates) การใช้รางวัลจูงใจและบทลงโทษทางการเงินและทางกฎหมาย (legal and fiscal penalties and rewards)

ในลักษณะของการอำนวยการ จะประกอบด้วย การใช้บทกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ (enabling legislation) การสร้างสิ่งจูงใจ (creating incentives) การสร้างเสริมสมรรถภาพ (capacity building) การจัดหาเงินทุนสนับสนุน (funding support) การเพิ่มความตระหนัก (raising awareness) และการสร้างเหตุกระตุ้นทางการตลาด (stimulating markets)

ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วน จะประกอบด้วย การควบรวมทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม (combining resources) การสร้างสัมพันธภาพกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder engagement) และการสานเสวนา (dialogue)

ในลักษณะของการสนับสนุน จะประกอบด้วย การสนับสนุนทางการเมือง (political support) และการประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณชน (publicity and praise)

ฉะนั้น หน่วยงานของรัฐที่กำลังสนใจหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดทำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของหน่วยงานที่ต้องดำเนินการเองก็ดี หรือเป็นนโยบายที่ต้องไปส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินการก็ดี พึงระลึกว่า จะต้องใช้องค์ประกอบใน 4 ลักษณะข้างต้นเพื่อการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ในฐานะผู้กำกับที่ต้องมีทั้งพระเดช-พระคุณ และอย่างเสมอภาคเป็นธรรมต่อผู้เล่นในภาคอุตสาหกรรมทั้งพระเอก-พระรอง ไม่อย่างนั้น ก็จะมีแต่ผู้ร้ายทีเผลอกันหมดทั้งวงการ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]