Thursday, March 25, 2010

ถึงคราวกราดเอ็ม 79 ในองค์กร

มาตรการ (Measure) 7 ขั้น 9 ข้อ หรือ M79 นำมาใช้ในการระบุกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ที่องค์กรพึงกระทำ และไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในแต่ละองค์กร

เมื่อถูกถามว่า “กิจการของท่านได้ทำ CSR หรือยัง” หรือ “องค์กรของเรามี CSR หรือยัง” อย่าไปหลงตอบใครเขาว่า องค์กรของเรายังไม่มีเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงเพราะเราไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน จึงด่วนสรุปเอาว่า “ในเมื่อไม่เคยได้ยินคนในองค์กรพูดถึง ก็แสดงว่ายังไม่มี”

ทุกองค์กรที่ดำเนินธุรกิจยืนหยัดมาจนทุกวันนี้ได้ ต้องมีการดำเนินกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับหัวเรื่องหลัก (Core Subjects) ของความรับผิดชอบต่อสังคมมาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ความเข้มข้นในการดำเนินงานและความครอบคลุมในประเด็นต่างๆ (Issues) จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละองค์กร

องค์กรสามารถระบุรายละเอียดของความเกี่ยวเนื่องในแต่ละหัวข้อหลัก และสามารถจำกัดประเด็นให้เหลือเฉพาะแต่ที่มีนัยสำคัญที่องค์กรควรดำเนินการเป็นอันดับแรกๆ ได้ด้วยมาตรการ (Measure) 7 ขั้น 9 ข้อ หรือ M79 ที่นำมาใช้ในการระบุกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรพึงกระทำ และไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกันในแต่ละองค์กร

กระบวนการค้นหาสิ่งที่เกี่ยวเนื่อง (Relevance) สามารถใช้มาตรการ 7 ขั้น ดังนี้
แจกแจงรายการกิจกรรม (Activities) ที่มีอยู่ทั้งหมด
แยกแยะระหว่างกิจกรรมที่องค์กรดำเนินการเอง กับกิจกรรมที่องค์กรร่วมดำเนินการ อย่าลืมว่า แม้เป็นกิจกรรมที่องค์กรมิได้ดำเนินการเอง แต่ก็สามารถสร้างให้เกิดผลกระทบเสมือนหนึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรได้
จำแนกให้เห็นว่า กิจกรรมที่ดำเนินอยู่ทั้งในฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำ (Value Chain) นั้นจัดอยู่ในเรื่องหลักใด และครอบคลุมในประเด็นใด
ตรวจสอบทางเลือกที่องค์กรสามารถสร้างให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนการยกระดับสังคมให้มีสุขภาวะและสวัสดิการที่ดี
ระบุพฤติกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบตามที่สังคมคาดหวังว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบเหล่านั้น
วิเคราะห์เชื่อมโยงกับถิ่นที่ตั้ง ลักษณะของกิจการ วิสัยทัศน์ ค่านิยม และสไตล์การบริหารองค์กร
ที่ลืมไม่ได้คือ การให้ความสำคัญกับกิจกรรมรายวัน (Day-to-Day Activities) ที่สัมพันธ์กับเรื่องหลักและประเด็นต่างๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า กิจกรรมในโอกาสจำเพาะ เช่น การสร้างอาคาร หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ ซึ่งต้องคำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบสังคมในแง่ของประสิทธิภาพ การใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำ หรือการออกแบบสำหรับผู้ทุพพลภาพ ตามแต่กรณี

แม้องค์กรอาจรับรู้และเข้าใจความคาดหวังของสังคมในเรื่องต่างๆ ที่องค์กรต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นจะคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ที่สมควรดำเนินการได้อย่างครบถ้วนทั้งหมด ฉะนั้นองค์กรจึงควรต้องทำความเข้าใจและชี้แจงกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ถึงประเด็นกิจกรรมที่องค์กรดำเนินการอยู่ และมีนัยสำคัญต่อสังคม ซึ่งอาจถูกละเลยหรือมองข้ามไป

อีกกรณีหนึ่ง ที่องค์กรมักเข้าใจผิดว่า การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค หรือกฎหมายสิ่งแวดล้อม นั้น เพียงพอแล้วต่อการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในเรื่องนั้นๆ แต่หากองค์กร ได้พิจารณาเรื่องหลัก และประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างรอบคอบ จะพบว่า ยังมีอีกหลายประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กรซึ่งมิได้ถูกระบุไว้ในกฎหมาย หรือมิได้มีการบังคับตามกฎหมายอย่างจริงจัง และมีผลกระทบกับการดำเนินงานขององค์กร

แม้เรื่องหลักหรือประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม จะถูกบัญญัติไว้เป็นข้อปฏิบัติทางกฎหมาย เช่น การจำกัดปริมาณของมลพิษที่ปล่อยสู่บรรยากาศไม่ให้เกินขีดค่าๆ หนึ่ง สำหรับองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จะไม่เพียงปฏิบัติตามข้อกฎหมาย แต่จะปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ด้วยการแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดในการลด หรือกำจัดการปล่อยมลพิษ ให้มีปริมาณหรือค่าที่ต่ำที่สุด

เมื่อองค์กรสามารถระบุรายละเอียดของประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานขององค์กรได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การคัดเลือกประเด็นซึ่งมีนัยสำคัญ (Significance) ที่องค์กรควรมุ่งเน้นดำเนินการ ด้วยการพิจารณาตามมาตรการ 9 ข้อ ดังนี้
โอกาสในการต่อยอดขยายผลกระทบของประเด็นนั้นๆ ต่อเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงสุขภาวะ และเรื่องสวัสดิการสังคม
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ หรือจากการละเว้นการดำเนินการ ในประเด็นนั้นๆ
ระดับความห่วงใยของผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ
ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นนั้นๆ เทียบกับทรัพยากรและความทุ่มเทที่ใส่ลงไปในกิจกรรมนั้นๆ
ความง่ายในการคุมอุปสรรค และแต้มต่อทางโอกาสในการเข้ามีส่วนร่วมในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงเรื่องสุขภาวะ และเรื่องสวัสดิการสังคม
ขีดสมรรถนะปัจจุบันขององค์กร ที่มีต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบ มาตรฐานนานาชาติ หลักประพฤติปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล แนวปฏิบัติที่ทันสมัยและดีที่สุด
สมรรถนะการดำเนินงานขององค์กรในเครือ
อานุภาพในการชี้นำองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในสายอุปทาน (Supply Chain)
การตอบรับจากพนักงานและศักยภาพในการมีส่วนร่วมที่มีต่อกิจกรรมนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง

การนำมาตรการ 7 ขั้น 9 ข้อ (M79) ในการตรวจสอบกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมก่อนการดำเนินงานจริง จะช่วยให้ทิศทางการทำ CSR ขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลจริง ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการยุบแผนกหรือฝ่าย หรือต้องมาปฏิวัติ เลือกตั้งผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กรกันใหม่ทุกปี...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, March 18, 2010

เขียวทั้งแผ่นดิน

การขยายตัวของกิจกรรมการผลิตในภาคธุรกิจและแบบแผนการบริโภคในภาคครัวเรือนได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์อย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในรูปของความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม น้ำแล้ง และภัยธรรมชาติที่บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น

ประเทศไทยมีปัญหามลพิษเพิ่มขึ้น คุณภาพอากาศและน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน ปริมาณขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายมีมากถึงปีละ 22 ล้านตัน ขณะที่การนำเข้าสารอันตรายที่ใช้ในการผลิตมีมากขึ้น ขาดกลไกการจัดการทั้งการควบคุมกระบวนการผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง ทำให้เกิดการแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมและปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งการเกิดการระบาดและแพร่เชื้อโรคที่มีรหัสพันธุกรรมใหม่ๆ

การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งความซ้ำซ้อน ช่องว่าง และการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ ทำให้สถานการณ์ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาพที่กำลังเป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

ภาคธุรกิจเอง ก็ต้องเผชิญกับผลกระทบของการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ข้อตกลงระหว่างประเทศและสนธิสัญญาเพื่อให้มีการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลกในประเด็นต่างๆ รวมทั้งการกีดกันทางการค้าที่เชื่อมโยงกับประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

องค์กรธุรกิจจึงต้องยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการใช้พลังงานทางเลือกทดแทน เพื่อรับมือกับวิกฤติพลังงานที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ทางเลือกและแนวปฏิบัติด้าน CSR ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถที่จะจำแนกออกได้เป็น 3 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource Efficiency) ประสิทธิผลในตัวผลิตภัณฑ์ (Product Effectiveness) และภาระรับผิดชอบในกระบวนการ (Process Accountability)

ภายใต้หมวดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร องค์กรธุรกิจสามารถพัฒนาการผลิตหรือการให้บริการที่มี CSR ด้วยการพิจารณาที่ปัจจัยนำเข้า (input) คือ การใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นวัตถุดิบและพลังงานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ เพื่อการบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่ต้นทางและการลดของเสียและมลพิษที่เกิดขึ้นในปลายทาง

ตัวอย่างได้แก่ มาตรการประหยัดพลังงาน การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ การจัดหาทรัพยากรจากหน่วยงานที่นำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ การซื้อวัตถุดิบเท่าที่จำเป็นต่อการผลิตหรือการให้บริการ การปฏิเสธการซื้อวัตถุดิบที่เป็นต้นเหตุในการทำลายธรรมชาติหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดแจ้ง การรณรงค์ให้ผู้ส่งมอบ (suppliers) จัดหาวัตถุดิบหรือทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ภายใต้หมวดประสิทธิผลในตัวผลิตภัณฑ์ องค์กรธุรกิจสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มี CSR ด้วยการพิจารณาที่ปัจจัยส่งออก (output) ในส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นได้ทั้งสินค้า (goods) และบริการ (services) โดยคำนึงถึงความสามารถในการสร้างผลผลิต “ที่ใช้การได้” เมื่อเทียบกับของเสียจากการผลิต

ตัวอย่างได้แก่ การผลิตสินค้า/บริการที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค การมีกระบวนการเรียกคืนสินค้า/บริการที่ไม่ปลอดภัย การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอแก่ผู้บริโภค โดยคำนึงถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เช่น ไม่โฆษณาเกินจริง ฉลากสินค้าควรมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ใช้ภาษาเรียบง่ายต่อการทำความเข้าใจ บอกวิธีการใช้สินค้าอย่างปลอดภัยรวมถึงการกำจัดซากขยะหลังการใช้งาน ฯลฯ

ภายใต้หมวดภาระรับผิดชอบในกระบวนการ องค์กรธุรกิจสามารถพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจที่มี CSR ด้วยการพิจารณาที่ตัวกระบวนการ (process) โดยคำนึงถึงวิธีการที่ถูกต้องดีงามในการดำเนินธุรกิจ ในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัย (cause) และคำนึงถึงความมุ่งหมายในการดำเนินธุรกิจในฐานะที่ก่อให้เกิดผลกระทบ (effect) สู่ภายนอกทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

ตัวอย่างได้แก่ การจัดให้มีระบบการทำงานที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงานอย่างเหมาะสม เช่น การมีระบบป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน การจัดให้มีสถานที่ทำงานที่สะอาดเพื่อความปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากอุบัติภัยและโรคภัย การสำรวจตรวจสอบสภาพชุมชนและสังคมโดยรอบที่ตั้งของธุรกิจว่าได้รับผลกระทบในทางลบจากการดำเนินการของธุรกิจหรือโครงการที่จะดำเนินการในอนาคตมากน้อยเพียงใด การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแก่พนักงานและสาธารณชน การจัดเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อจัดการกับปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ฯลฯ

หากเรายังไม่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยแนวทางการบริหารจัดการในเชิงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ฐานทรัพยากรซึ่งได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอาจเสื่อมโทรมจนไม่สามารถใช้เป็นรากฐานที่มั่นคงของการพัฒนาและการดำรงชีวิตของชุมชนและสังคมอีกต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, March 11, 2010

ประเทศไทย สบายดี (แบบใหม่)

คำว่า New Normal ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมภายใต้บริบทปัจจุบันที่มีเงื่อนไขแตกต่างไปจากเดิม และไม่สามารถที่จะฟื้นคืนสภาพปัจจัยต่างๆ ให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป

ด้านเศรษฐกิจ กระแสเรื่องจุดปกติใหม่ หรือ New Normal เกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่การเติบโตจากนี้จะมีอัตราที่เชื่องช้า การว่างงานยังคงมีอัตราสูง การก่อหนี้ของภาคประชาชนมีแนวโน้มลดลง ปรากฏการณ์นี้ส่อเค้าจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้เกิดอาการเซื่องซึมยาวนาน การกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับไปสู่จุดปกติเดิมก่อนวิกฤติแทบไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน บรรดาธุรกิจในทุกแขนงกำลังเรียนรู้พฤติกรรมและเงื่อนไขใหม่เพื่อวางกลยุทธ์ไว้รองรับการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจไปสู่จุดปกติใหม่นี้กันอย่างขะมักเขม้น

ด้านสังคม อิทธิพลจากความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ น์ความตกต่ำทางวัฒนธรรม ภัยคุกคามที่เกิดกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม ก่อให้เกิดเงื่อนไขใหม่ในการดำรงวิถีชีวิตท่ามกลางปัญหาเก่าที่หมดหนทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการจมปลักในความยากจนซ้ำซาก การสะสมความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น การฉวยประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมเสมอภาค จึงทำให้ประชาชนหมดความอดกลั้น และไม่ลังเลที่จะแสวงประโยชน์ส่วนตน เหนือประโยชน์ส่วนรวม การรวมตัวเพื่อเรียกร้องประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบส่วนใหญ่ กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของพลเมืองผู้ที่มีเสียงดังย่อมได้รับตามคำเรียกร้อง

แม้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของเศรษฐกิจโลกเนื่องด้วยพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ แต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับปัจจัยภายในประเทศที่ฉุดรั้งการพัฒนาและการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางสังคมที่รุนแรงขึ้นจากปัจจัยทางการเมือง คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพที่เสื่อมโทรมมากขึ้นอันเป็นผลจากการดำเนินธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบ และขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพของรัฐที่สะสมมายาวนานต่อเนื่อง

ประชาชนจึงต่างลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตนในทุกช่องทางทั้งการใช้กฎหมายและการกดดันทางสังคมโดยไม่อะลุ้มอล่วย ด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ การดำรงอยู่ของธุรกิจและสังคมจะไม่สามารถหวนกลับไปสู่จุดปกติเดิมได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะต้องมีความวุ่นวายและไม่เป็นปกติเช่นนี้ตลอดไป เพราะสังคมกำลังเรียนรู้และพัฒนาเข้าสู่ความสมดุลใหม่ หรือเรียกว่า ประเทศไทยจะยังอยู่สบายดีภายใต้จุดปกติใหม่ โดยทุกภาคส่วนจะมีการปรับตัวและยอมรับความเป็นปกติใหม่นี้ร่วมกันได้

ในภาคธุรกิจ การคำนึงแต่ผลกำไร (Profit) จะไม่ถือเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป หากมิได้รวมเรื่องการคำนึงถึงผู้คน (People) ในสังคม และโลก (Planet) ที่เป็นผู้มอบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่ตั้ง

กลไกสำคัญซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่ไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร แต่ยังต้องผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในทุกกระบวนการดำเนินงานขององค์กรให้ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบองค์รวมนี้ จะต้องคำนึงถึงทุกองค์ประกอบสำคัญอย่างควบคู่กัน ทั้งในเรื่องขอบเขต (Scope) แนวนโยบาย (Platform) โครงสร้าง (Structure) กลยุทธ์ (Strategy) การดำเนินงาน (Performance) ตัวชี้วัด (Measure) และการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) สร้างสมให้เกิดเป็นคุณค่า CSR ขององค์กรที่สังคมตระหนักในระยะยาว

ในภาคสังคม การรอให้ภาครัฐดูแลความเป็นอยู่เพื่อให้ดำรงชีพได้อย่างปกติในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตรวมถึงการปกป้องสิทธิในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับกันในอดีต แต่ปัจจุบันประชาชนกลับลุกขึ้นมาทวงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิทธิในการฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ถือเป็นเรื่องปกติใหม่ ที่ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้และให้การยอมรับจากนี้ไป

ภายใต้จุดปกติใหม่นี้ ภาครัฐต้องมีความเข้มแข็งและเฉียบขาดมากกว่าที่เป็นมา ความเป็นธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องทำให้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่การทำงานด้วยคำพูด (Lip Service)

การขจัดทุจริตคอร์รัปชันจะต้องเกิดขึ้นในทุกระดับเพื่อฟื้นศักดิ์ศรีของความเป็นนักการเมืองที่ทำงานเพื่อประเทศชาติและข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หาไม่แล้วบทบาทของรัฐจะค่อยๆ ถูกลบเลือนไปจากสมการของประเทศไทยสบายดี (แบบใหม่)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, March 04, 2010

เมื่อผู้ถือหุ้นถามหา CSR (นะเธอ)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องการในปัจจุบัน นอกเหนือจากการเจริญเติบโต ก็คือ ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหมายถึง การที่องค์กรสามารถแสวงหากำไร หรือประกอบธุรกิจอยู่ได้ในสังคมอย่างต่อเนื่อง และ CSR ก็ได้กลายมาเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างให้เกิดความยั่งยืนนั้น

ปรัชญาของธุรกิจในการแสวงหากำไรสูงสุดที่กิจการยึดมั่นในการดำเนินงาน ไม่ได้เป็นเรื่องที่สวนทางกับหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงแต่ธุรกิจที่มี CSR นั้น นอกจากจะพยายามแสวงหาหนทางในการทำกำไรสูงสุด (Maximize Profit) แล้ว ยังพยายามแสวงหาหนทางในการลดข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด (Minimize Conflict) ด้วย นี่คือเหตุผลที่ CSR เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

หากจะพิจารณา CSR เทียบกับเรื่องของ CRM (Customer Relationship Management) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียหนึ่งของกิจการ CSR นั้น จัดได้ว่าเป็น CRM ในเวอร์ชั่นลูกค้านั่นเอง หากแต่ขอบเขตของ CSR ยังเป็นทั้ง CRM ในเวอร์ชั่นคู่ค้า CRM ในเวอร์ชั่นพนักงาน CRM ในเวอร์ชั่นชุมชน ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมในทุกๆ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ในอันที่จะสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น

ความต่างอีกประการระหว่าง CSR กับ CRM ในมุมของการได้รับประโยชน์ จะเห็นว่าเหตุที่ธุรกิจใส่ใจในเรื่อง CRM มากกว่าก็เป็นเพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า จะส่งผลโดยตรงต่อรายได้และเม็ดเงินที่ได้รับของกิจการเพิ่มขึ้น (ในทางบวก) ขณะที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน คู่ค้า หรือชุมชน อาจจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มรายได้หรือกำไรของกิจการในทันที แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเลือกที่จะละเลยการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อพนักงาน คู่ค้า หรือชุมชน เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างทั่วถึง นี่จึงทำให้ธุรกิจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดข้อพิพาทหรือขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มดังกล่าว จนเป็นเหตุให้รายได้หรือกำไรของกิจการได้รับผลกระทบ (ในทางลบ) โดยตรง

อีกสาเหตุหนึ่งที่ CSR มักไม่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นของกิจการ เกิดจากการมองว่า CSR เป็นกิจกรรมที่ทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นลดลง เนื่องจากกิจการต้องเจียดกำไรหรือคืนผลตอบแทนส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม เพราะเข้าใจเรื่อง CSR ว่าเป็นการบริจาค (Philanthropy) และเป็นกิจกรรมที่ทำก็ต่อเมื่อมีกำไร คือเกิดขึ้นหลังจากบรรทัดสุดท้าย (คือกำไรสุทธิ) ของการดำเนินงานเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นจึงมักไม่ค่อยเป็นแฟนพันธุ์แท้ในเรื่อง CSR เท่าใดนัก

การบริจาคนั้นถือเป็นเพียงหนึ่งในเจ็ดชนิดกิจกรรม CSR ที่กูรูด้านการตลาดอย่างฟิลิป คอตเลอร์ ได้ให้นิยามไว้ หรือเป็นเพียงประเด็นหนึ่งภายใต้หัวข้อหลัก 7 ประการที่ (ร่าง) มาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) ได้ระบุไว้เท่านั้น นั่นก็แสดงว่ายังมีอีกถึงหกชนิดหกหัวข้อที่กิจการสามารถดำเนินการได้ นอกเหนือจากเรื่องของการบริจาคซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ CSR

อันที่จริงแล้วการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถเริ่มได้ตั้งแต่บรรทัดแรก (คือรายได้) ของการดำเนินงาน และนับตั้งแต่วันแรกของการดำเนินกิจการ ตัวอย่างเช่น การพิจารณาเรื่องวัตถุดิบในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึงแหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น การจัดซื้อจัดหาที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรม การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ครบถ้วนถูกต้อง การขายและการตลาดที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค การให้บริการและการรับประกันที่เพียงพอ เป็นต้น

การทำ CSR ที่กล่าวมาข้างต้น มุ่งที่การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน ผู้ส่งมอบ คู่ค้า ฯลฯ นอกเหนือจากเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากองค์กรดำเนินธุรกิจโดยที่ไม่มีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทกับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ กิจการก็ย่อมจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีปฏิปักษ์ สามารถแสวงหากำไรหรือประกอบธุรกิจอยู่ได้ในสังคมอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

ตัวอย่างความเสียหายที่มีความชัดเจนและรุนแรง หากกิจการดำเนินไปโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง CSR เช่น กรณีที่ธุรกิจไปมีข้อพิพาทกับผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นภาครัฐในแง่ของใบอนุญาต สัมปทาน หรือการได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง ตลอดจนเรื่องการเสียภาษีต่างๆ จนเป็นปัญหานำไปสู่การฟ้องร้อง ให้ระงับการดำเนินงาน ยุติกิจการ หรือ ถูกยึดทรัพย์ ฯลฯ

เรียกว่าการทำ CSR ในกรณีนี้ มิได้เป็นเหตุที่ทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นลดลง ตรงกันข้ามกลับจะทำให้ธุรกิจมีภูมิคุ้มกันและเอื้อต่อการสร้างผลตอบแทนที่ต่อเนื่องและไร้มลทินให้แก่ผู้ถือหุ้น ไม่มีเหตุที่จะกล่าวโทษหรือมาตำหนิใดๆ ได้

จากนี้ไป ผู้ถือหุ้นที่ต้องการรักษาความมั่งคั่งในระยะยาว คงไม่ได้พิจารณาเลือกลงทุนในกิจการที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องถามหา CSR ในกิจการนั้นๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหากับผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่รายรอบกิจการจนทำให้ธุรกิจสุ่มเสี่ยงต่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโตในแบบยั่งยืน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]