Thursday, December 19, 2013

เหลียวหลังแลหน้า CSR ปี 56

ในรอบปี 2556 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและเรื่องความยั่งยืน เริ่มจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน (Global Conference on Sustainability and Reporting) ที่จัดโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนพฤษภาคม มีผู้เข้าร่วมงานถึง 1,600 คน จากเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก

GRI ได้ใช้เวทีประชุมระดับโลกครั้งนี้ ประกาศแนวทางการรายงานแห่งความยั่งยืนฉบับใหม่ เรียกว่า ฉบับ G4 โดยหัวใจสำคัญของกรอบการรายงานในฉบับใหม่นี้ เน้นใช้กระบวนการรายงานเพื่อบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร (Integrating sustainability into the corporate strategy) โดยตอกย้ำเรื่องสารัตถภาพ (Materiality) หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนที่เป็นสาระสำคัญในลักษณะ “Report on what really matters and where it matters”

กรอบการรายงานฉบับ G4 สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการจัดทำรายงาน ทั้งในรูปแบบ Sustainability Report ที่แยกเล่ม หรือในรูปแบบ Integrated Report ที่รวมอยู่ในเล่มรายงานประจำปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายขององค์กรในการสื่อสารกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีความสนใจแตกต่างกัน

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีผลกับบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง คือ การประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อเดือนตุลาคม เป็นผลให้บริษัทจดทะเบียนต้องดำเนินการเปิดเผยข้อมูล CSR ตามประกาศฯ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูล CSR โดยส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ในรูปของการบริจาคหรือการอาสาช่วยเหลือสังคมในลักษณะต่างๆ ที่นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจปกติ (CSR-after-process) แต่ประกาศฯ ฉบับดังกล่าว เน้นการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) โดยให้ความสำคัญกับการเลือกเรื่องที่จะดำเนินการและนำมาเปิดเผย ซึ่งจะเป็นเครื่องกำหนดทิศทางและการเติบโตในการรายงาน CSR ของบริษัทจดทะเบียนนับจากนี้ไป

สอดรับกับเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องรายงาน CSR อีกเช่นกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดย CSR Club และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) เพิ่มเติมจากข้อมูลทางการเงินให้แก่กลุ่มผู้ลงทุนในแวดวงตลาดทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ของกิจการ ได้ใช้ประเมินทิศทางการดำเนินงานของบริษัท ช่วยคาดการณ์ถึงผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท และลดทอนข้อจำกัดของข้อมูลทางการเงินที่มักสะท้อนภาพโดยให้น้ำหนักกับผลการดำเนินงานในอดีต ด้วยการใช้ข้อมูลที่มิใช่การเงินและสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (อาทิ ทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อม) ขยายภาพสะท้อนการดำเนินงานในมิติที่กว้างขึ้นจากเดิม

การประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนครั้งแรกนี้ ได้ถูกจัดขึ้นเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานสัมมนา CSR Thailand ประจำปี 2556 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.มาการิม วิบิโซโน ผู้อำนวยการมูลนิธิอาเซียน เป็นประธานมอบรางวัล โดยมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลดีเยี่ยม และมีบริษัทที่ได้รับรางวัลดีเด่นอีก 16 บริษัท

สำหรับทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวโน้มด้านความยั่งยืนในปีหน้า นอกจากความตื่นตัวของการรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมและรายงานความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุนแล้ว ผลจากการกำหนดแนวทางการเปิดเผยข้อมูลโดยเน้นที่ข้อมูลการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) จะทำให้กระบวนการรายงานถูกใช้เป็นเครื่องมือ (Tool) สร้างการเปลี่ยนแปลงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ไล่เรียงตั้งแต่การผนวกเรื่อง CSR เข้ากับกลยุทธ์องค์กร การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ รวมถึงตัวชี้วัดการดำเนินงานในทั้งสามด้าน (เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม) เพื่อให้ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจภายใต้บริบทแห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง

เดือนมกราคมนี้ สถาบันไทยพัฒน์จะนำเสนอแนวโน้มในแนวทางดังกล่าวนี้อย่างละเอียด รวมทั้งการเปิดเผยถึงทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2557 ท่ามกลางภาวการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับกระแสแห่งการปฏิรูปในทุกด้าน ปัจจัยความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีความรุนแรงในระดับชาติ อันเป็นผลพวงจากการขาดสำนึกรับผิดชอบของคนในชาติที่มีต่อสังคมส่วนรวม...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 07, 2013

งาน CSR ที่เมืองลีล

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมระดับโลก World Forum Lille ที่เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (CSR) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลีล ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเดิลติดกับพรมแดนประเทศเบลเยียม เป็นเวลา 3 วัน เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

World Forum Lille เป็นงานประชุมประจำปีที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นเวทีระดับโลกเพื่อการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน และนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของภาคเอกชน สร้างรูปแบบทางธุรกิจที่สามารถแสวงหากำไรและรับผิดชอบควบคู่กัน ท่ามกลางวิกฤตทางเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะที่เวทีระดับโลกอื่นๆมุ่งตอบโจทย์การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมเฉพาะด้าน


งานประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 นั้บตั้งแต่การจัดครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า Réseau Alliances ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของบริษัทใน 7 เมืองของแคว้นนอร์-ปาดกาแล ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพื่อผลักดันการดำเนินธุรกิจในหมู่สมาชิกโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

การประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานราว 6,500 คน มีวิทยากรจาก 34 ประเทศ รวมกว่า 200 คน เข้าร่วมการประชุมนำเสนอและเวิร์คช็อปกว่า 100 หัวข้อ

ธีมของงานในปีนี้ คือ ‘Responsible Economy’ หนทางในการดำเนินธุรกิจและการบริโภค เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้ข้อเสนอใหม่ๆ ที่รวมถึง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบและโครงสร้างองค์กร เพื่อปรับรื้อนิยามของพันธกิจ วัตถุประสงค์ และบทบาทที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้บริโภค เพื่อนำเสียงสะท้อนมาปรับปรุงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน การเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการ ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติทางธุรกิจ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ประกอบด้วยจริยธรรมและข้อผูกพันที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการปรับแต่งสภาพการทำงานในองค์กร การสร้างทุนจากการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร

เพื่อให้เข้ากับธีมของงาน การจัดงานประชุมครั้งนี้ในหลายกิจกรรม ผู้จัดได้ใช้สถานที่ในใจกลางเมือง เพื่อเปิดกว้างให้ร้านค้าท้องถิ่นและผู้คนในเมืองได้มีส่วนร่วมกับงานประชุมที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมซึ่งเดินทางมาจากทั่วโลกด้วย

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมในหลายเวที ได้พบปะบุคคลสำคัญหลายคน อาทิ Ervin Laszlo ผู้ก่อตั้ง Club of Budapest ซึ่งมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ Club of Rome ซึ่งครั้งหนึ่งเขาได้เป็นสมาชิกอยู่ด้วย และคนส่วนใหญ่มักจะรู้จักองค์กรนี้ผ่านผลงานการตีพิมพ์รายงานเรื่อง “The Limits to Growth” เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่พูดถึงรอยเท้าทางนิเวศของมนุษยชาติที่ส่งผลต่อโลกอันมีทรัพยากรที่จำกัด เรียกได้ว่าเป็นต้นเรื่องของขบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนเลยทีเดียว

อีกท่านหนึ่งที่ได้มีโอกาสสนทนาด้วย คือ Jane Valls ซีอีโอของไอโอดี สาธารณรัฐมอริเชียส ที่ขับเคลื่อนเรื่องบรรษัทภิบาล คล้ายกับหน่วยงานไอโอดีบ้านเรา ซึ่งเพิ่งทราบว่า เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมาย CSR ว่าด้วยการหัก 2% บนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนมาสนับสนุนการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลอินเดียกำลังดำเนินรอยตามการออกกฎหมายแบบเดียวกันนี้ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2557 เป็นต้นไป

ผมยังได้พบปะกับ Fabrice Hansé ผู้อำนวยการเครือข่าย Forum Empresa ซึ่งเป็นเครือข่าย CSR ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา 19 ประเทศ ที่มีสมาชิกองค์กรธุรกิจราว 3,300 กิจการ พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องการขับเคลื่อน CSR ในองค์กรธุรกิจ รวมทั้งแนวทางความร่วมมือที่เป็นไปได้ระหว่างกัน

สำหรับเวทีที่มีผู้แทนจากประเทศไทย เข้าร่วมเป็นวิทยากรนำเสนอ เป็นการประชุมในหัวข้อ CSR in South East Asia โดยในเวทีประกอบด้วย คุณโชคชัย อัศวรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายพัฒนาธุรกิจ บมจ.บางจากปิโตรเลียม กับผู้แทนจากสิงคโปร์ (Thomas Thomas, CEO, ASEAN CSR Network) พม่า (Daw Khine Khine Nwe, Joint Secretary General, Union of Myanmar Federation of Chambers of Commerce and Industry) และกัมพูชา (Ly Eang Hay, CEO, Confirel) ซึ่งไทยได้นำเสนอภาพรวมตั้งแต่ลักษณะทางกายภาพ จุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศ การขับเคลื่อนขององค์กรธุรกิจไทยในบริบทของ CSR-in-process รวมถึงกรณีศึกษาของบางจากที่โดดเด่น ถึงกับทำให้มีน้องๆ ต่างชาติที่พอฟังจบ ต่างกรูเข้ามาขอติดต่อทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่บางจากกันอย่างไม่รีรอ

ในช่วงดินเนอร์ที่ผู้จัดงานเลี้ยงขอบคุณวิทยากรและหน่วยงานร่วมจัด ผมได้มีโอกาสสนทนากับ Philippe Vasseur ประธานและผู้ก่อตั้ง World Forum Lille และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร อาหาร และประมง ของฝรั่งเศส เผื่อการประชุมคราวหน้า จะมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยที่สนใจกับหอการค้าแคว้นนอร์-ปาดกาแล ที่มากกว่าแค่การเข้าร่วมประชุมในงาน

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามผลการประชุม World Forum Lille สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.worldforum-lille.org...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 17, 2013

ต้นตำรับ CSV มาเอง

สัปดาห์นี้ (15-17 ตุลาคม 2556) ผมได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมอบรมเรื่อง Shared Value ซึ่ง Foundation Strategy Group องค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร ที่ก่อตั้งโดย “ไมเคิล อี พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” เจ้าของต้นตำรับแนวคิด CSV เป็นผู้จัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเฉพาะสำหรับองค์กรที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 17 แห่ง จาก 12 ประเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้าน Shared Value ฉบับต้นตำรับ โดยมี มาร์ค เครเมอร์ มานำการอบรมด้วยตนเอง

ด้วยบุคลิกของนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เครเมอร์ บอกว่า การตกผลึกความคิดกว่าจะลงตัวเป็น CSV ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาและพอร์เตอร์ (นับจากความพยายามในบทความชิ้นแรก ‘The Competitive Advantage of Corporate Philanthropy’ ที่เผยแพร่เมื่อปี 2545 มาสู่บทความชิ้นที่สอง ‘The Link Between Competitive Advantage and Corporate Social Responsibility’ ในปี 2549 จนถึงบทความล่าสุด ‘The Big Idea: Creating Shared Value’ ที่ตีพิมพ์ในปี 2554) ดูจะเทียบไม่ได้เลยกับความยากในการแปลงแนวคิด CSV ไปใช้ในองค์กรที่ได้เชื้อเชิญเขาและพอร์เตอร์เข้าให้คำปรึกษา เพื่อทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

พูดง่ายๆ คือ สร้างทฤษฎี นั้นไม่ยากเท่ากับ ปฏิบัติให้ได้ผลตามทฤษฎี

แต่ก็ต้องชื่นชมในความเป็นนักกลยุทธ์ทางธุรกิจ ที่ให้ความสนใจและมุ่งมั่นในการเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาทางสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งนับว่าดีกว่าแนวคิดประเภทรวยเร็ว-รวยด่วน พ่อรวยสอนลูก-สอนให้รวยกว่าพ่อ หรือเอาแต่รวยถ่ายเดียว จนเมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนหนังสือชุดดังกล่าว จำต้องยื่นขอล้มละลายบริษัทตัวเอง และถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงและยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินโดยไม่สุจริต

กลับมาที่เครเมอร์ เขาชี้ให้เห็นถึงมุมมองหรือท่าทีที่องค์กรธุรกิจมีต่อประเด็นปัญหาทางสังคม จากระดับต่ำสุดที่ไม่ได้ตระหนักว่าเป็นปัญหาแก่องค์กร จึงแสดงออกด้วยการเพิกเฉย หรือรับผิดชอบให้น้อยที่สุด และหากเลี่ยงไม่ได้ ก็จะใช้วิธีการบริจาคเป็นทางออก

ระดับต่อมา คือ ตระหนักว่าเป็นปัญหาแก่องค์กร จึงเพิ่มกิจกรรมการบริจาคให้มากขึ้น ใช้การประชาสัมพันธ์ และการสร้างสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย เป็นเครื่องมือดำเนินการ

ระดับที่ถัดขึ้นมาอีกขั้น คือ สำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการแก้ไขปัญหา หรือใช้ความถนัดที่องค์กรมีอยู่จัดการ ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินการกับปัญหานั้นๆ

ส่วนระดับที่ Shared Value จะเกิดขึ้น คือ การพิจารณาว่าเป็นโอกาส แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งจะเปิดทางให้องค์กรสามารถเห็นช่องทางในการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ขยายการเติบโตของรายได้ และสร้างความแตกต่างในคุณค่าที่นำเสนอเหนือองค์กรอื่น

เนื่องจากความสับสนระหว่างเรื่อง Philanthropy และ CSR กับเรื่อง CSV ยังคงมีอยู่ และหลายองค์กรยังจำแนกไม่ออก ตัวช่วยที่เครเมอร์ให้ระหว่างการอบรม คือ คุณลักษณะของ CSV จะต้องมี ‘ภาวะคู่กัน’ (Duality) ของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อองค์กรและสังคม มิใช่เกิดขึ้นเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

หมายความว่า ถ้าเป็น CSR หรือความรับผิดชอบขององค์กรที่สังคมได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว จะไม่จัดว่าเป็น CSV หรือถ้าเป็น Philanthropy หรือการบริจาคที่มีการส่งมอบคุณค่าที่ได้เกิดขึ้นแล้ว (มิใช่คุณค่าที่สร้างขึ้นใหม่) ก็ไม่ถือว่าเป็น CSV เช่นกัน

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า CSV เป็นแนวคิดซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำธุรกิจที่องค์กรใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน

หลังการอบรม หนึ่งในคำถามบนโต๊ะสนทนาที่ผมถามเครเมอร์ คือ เขาและพอร์เตอร์ จะออกหนังสือเรื่อง Creating Shared Value เมื่อไร เพราะเชื่อขนมกินได้ว่า หนังสือเล่มนี้จะกลายเป็น Best Seller ระดับโลกในแวดวงหนังสือธุรกิจอย่างแน่นอน คำตอบของเครเมอร์ คือ อย่างเร็วสุด ก็คงจะเป็นปลายปีหน้า (ผมคิดในใจ ถ้านานขนาดนั้น คงจะมีหนังสือ CSV ฉบับภาษาไทย ออกก่อนต้นตำรับภาษาอังกฤษแน่เลย ฮา)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 10, 2013

ใช้ CSR สร้าง Shared Value

ว่าไปแล้วเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR ที่บอกว่า จะเข้าสู่ยุค CSV หรือที่ย่อมาจาก Creating Shared Value คงเป็นเหมือนการนำหนังเก่ามาทำใหม่ ใส่ตัวแสดงให้หนุ่มขึ้น สาวขึ้น สดใสขึ้น แต่พล็อตเรื่องก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิม

พล็อตที่ว่านี้ คือ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนเรื่อง CSR ด้วยการผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในกระบวนการธุรกิจ โดยหลีกเลี่ยงการมองเรื่อง CSR ว่าเป็นงานที่แยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจ หรือต้องไปสร้างโครงการ พัฒนากิจกรรมเพื่อสังคมขึ้นใหม่ทุกปี เพื่อแสดงให้เห็นว่า องค์กรได้ทำเรื่อง CSR อย่างต่อเนื่อง

CSR ในลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นโครงการหรือกิจกรรมต่างหาก ก็เพราะองค์กรมิได้คิดให้เชื่อมร้อยกับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่ตั้งแต่แรก หรือมีการวางแผนดำเนินการภายหลังที่ผลกระทบจากกระบวนการธุรกิจนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว จึงมักเรียกกันว่าเป็น CSR-after-process และผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ คือ ชุมชนและสังคมที่มิได้อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจ รวมถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยรวม

ส่วน CSR จำพวกที่องค์กรธุรกิจในปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น และเริ่มตระหนักแล้วว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มากกว่าในแบบแรก คือ CSR-in-process ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคม หรือ CSV ไปพร้อมกัน

หลักการสำคัญของ CSR-in-process คือ ‘อย่าพยายามนำ CSR มาเป็นงาน แต่ให้ทำงานที่มีอยู่อย่างมี CSR’ ภายใต้หลักการนี้ จะทำให้เห็นความแตกต่างในสามเรื่องสำคัญ ได้แก่ โครงสร้างการดำเนินงาน กลยุทธ์การดำเนินงาน และผลลัพธ์จากการดำเนินงาน

ในเรื่องโครงสร้างการดำเนินงาน การที่กิจการหลายแห่งได้ตั้งหน่วยงาน CSR ขึ้นในองค์กร ไม่ได้หมายความว่า จะต้องถ่ายโอนหรือมอบหมายงาน CSR ทั้งหมดขององค์กร มาให้หน่วยงานที่ตั้งขึ้นนี้ดำเนินการ หรือไม่ใช่ว่า เมื่อองค์กรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง CSR โดยตรง จากนี้ไปหน่วยงานอื่นก็ไม่จำเป็นต้องทำงานที่เกี่ยวกับ CSR แล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น เพราะพนักงานในองค์กรจะอ้างว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงาน CSR ควรดำเนินการ มิใช่เรื่องของฉันอีกต่อไป

การขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น มีบริบทที่คล้ายคลึงกับเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานที่พนักงานทุกฝ่ายต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง มิใช่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ฝ่ายเดียว ฉันใดฉันนั้น หน่วยงาน CSR ที่ตั้งขึ้น มีหน้าที่ในการดูแลอำนวยการเพื่อให้มั่นใจว่า ทุกฝ่ายได้บูรณาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในกระบวนงานทั่วทั้งองค์กร

ในเรื่องกลยุทธ์การดำเนินงาน เมื่อเห็นว่า CSR เป็นเรื่องสำคัญ กิจการหลายแห่งจึงได้ริเริ่มพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงาน CSR ขึ้น ถึงขนาดที่จัดทำเป็นแผนแม่บท CSR และแผนปฏิบัติการ CSR อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ที่น่ากังวล คือ แผนยุทธศาสตร์ CSR ที่จัดทำขึ้น ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์องค์กร หรือมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ CSR ขึ้นใหม่เพื่อรองรับกับยุทธศาสตร์ CSR ดังกล่าว โดยมิได้นำเอาแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมในแผนปฏิบัติการฉบับที่องค์กรมีอยู่แล้ว มาพิจารณาความเกี่ยวข้องต่อเรื่อง CSR เลย

การจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน CSR ขึ้นเฉพาะสำหรับหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ หรือสำหรับหน่วยงานอื่นๆ ในองค์กร แยกต่างหากจากแผนปฏิบัติการฉบับปกติ จะเป็นการสร้างภาระความซ้ำซ้อนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และตามหลักการของ CSR-in-process ข้างต้น สถานะของ CSR ควรจะต้องผนวกอยู่ในแผนระดับองค์กร แล้วจึงมีการถอดความหรือถ่ายทอดลงมาสู่ระดับส่วนงานต่างๆ ภายใต้กระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการปกติของแต่ละหน่วยงานตามลำดับ

กระบวนทัศน์ที่องค์กรควรจะมีต่อ CSR-in-process กับกลยุทธ์การดำเนินงาน คือ หลีกเลี่ยงการจัดทำ ‘CSR Strategy’ แต่ให้พัฒนา ‘Strategic CSR’ ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์องค์กร เพราะมิฉะนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติงานจะมีความยุ่งยากในการตอบสนองต่อแผนหลายฉบับ (ที่ไม่บูรณาการ) ตัวชี้วัดหลายชุด (ที่ไม่มีนัยสำคัญ) และกิจกรรมหลายประเภท (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานหลักที่ทำ)

ในเรื่องผลลัพธ์จากการดำเนินงาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการวางกลยุทธ์การดำเนินงาน หากกิจการใช้วิธีการดำเนินกลยุทธ์ CSR แยกต่างหากจากกลยุทธ์องค์กร ผลจากการดำเนินกลยุทธ์ CSR อาจตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ (Objectives) ที่กำหนดในระดับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม แต่อาจไม่ส่งผลลัพธ์ต่อเป้าประสงค์ (Goals) ในระดับองค์กร นี่จึงเป็นสาแหตุที่การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของหลายองค์กร ไม่สามารถตอบโจทย์การนำองค์กรไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ฉะนั้น การขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทาง CSR-in-process จะเป็นหนทางที่เอื้อให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) จากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในเนื้องานหรือในกระบวนงาน อันส่งผลต่อความยั่งยืนของทั้งตัวกิจการและสังคมโดยรวม...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 26, 2013

CSR หรือ CSV ดี

ผมมีโอกาสเข้าร่วมงานประชุม CSR Asia Summit 2013 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย โดย CSR Asia สำหรับห้องสัมมนาที่ผมให้ความสนใจ คือ Creating Shared Value หรือ CSV ที่นำการสนทนาโดย Chad Bolick และ Richard Welford

เท้าความกันสักเล็กน้อยว่า แนวคิดเรื่อง CSV ถูกบัญญัติขึ้นโดย ไมเคิล อี พอร์เตอร์ เจ้าสำนักทางด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Competitiveness) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความที่เขียนร่วมกับ มาร์ค เครเมอร์ ชื่อว่า ‘The Link Between Competitive Advantage and Corporate Social Responsibility’ ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2549 โดยให้คำนิยามไว้ว่า เป็นการพัฒนาเชิงสังคมในวิถีของการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วยรูปแบบทางธุรกิจ

นั่นหมายความว่า วิธีการสร้างคุณค่าร่วม ตามแนวทาง CSV ของพอร์เตอร์ จะต้องผนวกเข้ากับความสามารถในการแสวงหากำไรและการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร โดยใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญ (ที่เป็นเอกลักษณ์) ของกิจการในการสร้างให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างคุณค่าทางสังคม

จุดยืนของพอร์เตอร์ในเรื่อง CSV ก้าวล้ำไปถึงขั้นที่บอกว่า เป็นการใช้วิถีทางของทุนนิยมในการแก้ไขปัญหาสังคม มิใช่การดำเนินตามมาตรฐานทางจริยธรรมและค่านิยมส่วนบุคคลอันแรงกล้าแต่ประการใด

และยังสำทับด้วยว่า CSV มิใช่การแบ่งปันคุณค่าที่เกิดขึ้นแล้วหรือมีอยู่แล้วให้แก่สังคมในรูปของการบริจาค มิใช่การสร้างสมดุลในผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย และที่สำคัญและท้าทายอย่างยิ่ง คือ CSV มิใช่เรื่องเดียวกันกับความยั่งยืน (Sustainability)

ได้ฟังดังนี้แล้ว ผู้บริหารหลายคน คงต้องกุมขมับคิดหลายตลบ หากจะตัดสินใจนำเอาแนวคิดเรื่อง CSV มาใช้แทนเรื่อง CSR ในองค์กร

ผมวิเคราะห์อย่างนี้ว่า การที่พอร์เตอร์ต้องการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในข้างต้น ประการแรก เกิดจากความล้มเหลวของการนำแนวคิด CSR ไปปฏิบัติให้เกิดผล โดยองค์กรธุรกิจไม่สามารถแสดงให้เห็นผลลัพธ์จากการดำเนินงาน CSR ในมุมที่สังคมได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น หรือประเด็นปัญหาสังคมต่างๆ ได้รับการดูแลป้องกันและแก้ไขด้วยความเป็น ‘บริษัทที่ดี’ (good company) มากไปกว่าการเป็น ‘บริษัทที่ทำการตลาดดี’ (good marketing) โดยใช้ CSR เป็นเครื่องมือสื่อสาร

ประการที่สอง หากอ่านบทความชิ้นแรกที่พอร์เตอร์กล่าวถึงเรื่อง CSV จะพบว่า การสร้างคุณค่าร่วม หรือ Shared Value ให้เกิดขึ้นนั้น จำต้องอาศัยการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR นั่นหมายความว่า พอร์เตอร์เองยอมรับว่า CSV เกิดจาก Strategic CSR เพียงแต่ความพยายามในการนำเสนอแนวคิด Strategic CSR ในบทความชิ้นนั้น ไม่แรงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ CSR ในองค์กร และไม่เด่นชัดพอที่จะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่าง CSR ในแบบเดิม (ซึ่งพอร์เตอร์เรียกว่า Responsive CSR) กับ CSR ในแบบใหม่ หรือ Strategic CSR ที่เขาได้บัญญัติขึ้น ความพยายามในคำรบสองจึงเกิดขึ้นในบทความชื่อ ‘The Big Idea: Creating Shared Value’ ตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม ปี 2554 และประสบผลสำเร็จกับคำว่า CSV มากกว่าคำว่า Strategic CSR

ประการที่สาม แม้ CSV บนฐานคิดของทุนนิยม ซึ่งมิได้มีรากมาจากเรื่องจริยธรรม จะถูกวิพากษ์จากภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง (พอร์เตอร์เองก็คงคาดการณ์ไว้แล้ว) แต่เขาได้ชั่งน้ำหนักและประเมินแล้วว่า การที่จะให้ภาคธุรกิจรับแนวคิดดังว่านี้ไปปฏิบัติ จำเป็นต้องชี้ให้เห็นประโยชน์และความเชื่อมโยงต่อเรื่องที่ธุรกิจคาดหวัง นั่นคือ กำไรและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการตอบรับของภาคธุรกิจต่อแนวคิด CSV (ซึ่งก็คือ Strategic CSR) ถือเป็นบทพิสูจน์ในความกล้าหาญของพอร์เตอร์ได้เป็นอย่างดี (แถมยังสามารถเคลมในแบรนด์ CSV นี้ได้ในแบบเต็มๆ)

กล่าวโดยสรุป พอร์เตอร์นำแนวคิดเรื่อง Strategic CSR ที่เขากับเครเมอร์ ได้เคยเสนอไว้เมื่อปี 2549 มารีแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ CSV ในปี 2554

ฉะนั้น องค์กรที่บอกว่า ตนเองกำลังจะเปลี่ยนหรือยกระดับจาก CSR มาสู่ CSV ก็หมายความได้ว่า ท่านกำลังจะให้ความสำคัญกับการทำ Strategic CSR มากกว่า CSR ในแบบเดิมๆ ที่ท่านทำอยู่นั่นเอง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 12, 2013

ล้วงลับ CSR Summit สิงคโปร์

สัปดาห์ก่อน ผมเดินทางไปร่วมงานประชุม International CSR Summit 2013 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดย Singapore Compact ผู้ที่ริเริ่มและร่วมก่อตั้ง ASEAN CSR Network ซึ่งพี่ไทยเราก็เป็นหนึ่งใน 5 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง โดยมี CSR Club ในสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เป็นกรรมการเครือข่ายในนามตัวแทนประเทศไทย

เรื่องน่าสนใจที่อยากนำเสนอในบทความนี้ ไม่ใช่เนื้อหาเรื่อง CSR ที่พูดคุยกันอยู่บนเวทีการประชุม แต่เป็นเรื่องที่ผมได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนนอกเวทีต่อการขับเคลื่อน CSR ในภาคเอกชนของสิงคโปร์ ซึ่งมีนัยหลายอย่าง บ่งชี้ให้เห็นว่า เรายังต้องทำงานอีกมาก หากต้องการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัย CSR เป็นเครื่องมือ

สภาธุรกิจสิงคโปร์ ซึ่งได้รับสถานะจากทางการในฐานะตัวแทนภาคเอกชนในการทำงานร่วมกับภาครัฐ คล้ายคลึงกับสภาหอฯ หรือสภาอุตฯ บ้านเรา มีหน่วยงานที่ทำงานพัฒนาศักยภาพเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในการสนทนากับผู้บริหารของสภาธุรกิจสิงคโปร์ เขาเล่าให้ฟังว่า แต่ละปีจะมีกิจกรรมร่วมๆ 300 กิจกรรม โดยมีโจทย์ที่จะผลักดันภาคเอกชนให้อยู่ใน Value Chain ของตลาดโลก ในบทบาท Integrator

จะเห็นว่า สิงคโปร์รู้และใช้จุดแข็งในบทบาท Trader ที่มีมาแต่ในอดีต จากที่ตนเองไม่ได้เป็นแหล่งการผลิตหรือมีนิคมอุตสาหกรรมใหญ่โต พื้นที่ประเทศก็ไม่ได้มากหรือมีทรัพยากรทางธรรมชาติเหลือเฟือ ในวันนี้ กำลังผันตนเองมาเป็น Integrator ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจโลก เป็นจุดขาย ในทัศนะของสภาธุรกิจสิงคโปร์ มองว่าความยั่งยืนไม่ได้เป็นกระแสที่มาแล้วก็ไป แต่ให้ความสำคัญถึงขนาดเป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของธุรกิจ หากภาคเอกชนไม่ปรับตัวรับกับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้

ที่ผ่านมา กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุน ฐานการผลิต ไปยังแหล่งที่มีต้นทุนแรงงานต่ำ หรือใกล้แหล่งวัตถุดิบ ขณะที่ กระแสความยั่งยืนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผู้ส่งมอบในสายอุปทาน ไปยังผู้ที่สามารถใช้พลังงานทดแทน มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กร หรือมีรายงานแห่งความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณชน

หันกลับมามองประเทศไทย ผมไม่ทราบว่า สภาหอฯ และสภาอุตฯ ในฐานะภาคเอกชนที่มีบทบาทเทียบเท่าสภาธุรกิจสิงคโปร์ ได้มีหน่วยงานภายในอย่าง Sustainable Development Capacity Building Division เช่นที่มีในสภาธุรกิจสิงคโปร์ กำลังทำงานทางด้านนี้อยู่หรือไม่ หรือมีโจทย์ที่ชัดเจนในการนำภาคเอกชนเตรียมพร้อมรองรับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้อย่างไร

ถ้าจะมาล้วงลับในระดับองค์กร ก็ยิ่งน่าตกใจ เพราะขณะที่องค์กรธุรกิจบ้านเรา กำลังภาคภูมิใจกับการที่ได้ทำความเข้าใจแล้วว่า CSR ไม่ใช่เพียงเรื่องการบริจาค หรือการอาสาสมัคร แต่จะต้องพัฒนา CSR ในกระบวนการธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และชุมชนที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงาน เพื่อให้ได้รับซึ่ง ‘License to operate’ นั้น องค์กรธุรกิจในสิงคโปร์ กำลังตั้งโจทย์การพัฒนา CSR ในกระบวนการธุรกิจ สนองตอบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘Global Operating License’ แล้ว

ในบ้านเรา องค์กรธุรกิจหลายแห่ง ยังมัวยุ่งอยู่กับการตั้งคณะกรรมการหรือส่วนงาน CSR ขึ้นในองค์กร แล้วก็มีคำถามตามมาว่า จะเอาไว้ภายใต้ฝ่ายไหนดี หรือจะมีใครควรเข้ามาเป็นคณะทำงานบ้าง ยิ่งในบางองค์กร พอมีเรื่อง SD หรือ Sustainability เข้ามา เลยตั้งเป็นสองคณะเลย แล้วก็ต้องมาตอบคำถามต่อว่า บทบาทของทั้งสองคณะนั้นแตกต่างกัน ทำงานเชื่อมประสานกันได้อย่างไร ทำไปทำมา แทนที่จะใช้เวลาในการขับเคลื่อนงาน CSR อย่างเต็มที่ กลับต้องมาติดกับดักเรื่องโครงสร้าง พาลทำให้คนที่ได้รับมอบหมาย ไม่สามารถทำงานสอดประสานกันได้อย่างที่ควรจะเป็น

ในเวทีเวิร์คช็อป ‘Building a Culture of Innovation and Sustainability’ ที่ผมได้เข้าร่วมและสังเกตการณ์ วิทยากรจาก UNIDO ผู้ที่เข้าไปทำ CSR Roadmap ให้กับภาคเอกชนในเวียดนาม ชวนผู้เข้าร่วมคุยเรื่องการฝัง DNA นวัตกรรมทาง CSR ที่นำไปสู่ความยั่งยืน ให้ได้ทั่วทั้งองค์กร พร้อมฉายภาพให้เห็นว่า องค์กรไม่ควรจะมอง CSR เป็นส่วนงาน หรือเป็นหนึ่ง Silo ในโครงสร้างผังองค์กร แต่ควรจะหลอมรวมเรื่อง CSR เข้าเป็นส่วนหนึ่งใน DNA ขององค์กร

ตัววัดความสำเร็จของ CSR จากเดิมที่เป็นการวัดปริมาณกิจกรรม รูปธรรมของการทำ CSR หรือการมีโครงสร้างหน่วยงานที่ชัดเจน คงจะต้องเปลี่ยนเป็น การไม่รู้ว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่เป็น CSR การไม่ได้ทำ CSR อย่างเป็นรูปธรรม หรือ การไม่มีโครงสร้างหน่วยงานที่ชัดเจน สำหรับใช้เป็น KPI แห่งความสำเร็จแทน

สำหรับการขับเคลื่อนในระดับเครือข่าย สามารถนำบทเรียนในระดับองค์กรมาใช้ โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นการตั้งหน่วยงานใหม่ หรือคณะกรรมการอื่นใดเพิ่มเติม โจทย์อยู่ที่การผลักดันให้องค์กรระดับเครือข่ายที่มีในปัจจุบัน หลอมรวมเรื่องการขับเคลื่อน CSR ไว้ในวาระงานขององค์กร โดยอาศัยคณะกรรมการ หรือคณะทำงานที่มีอยู่ในแต่ละแห่ง เป็นกลไกในการขับเคลื่อน

ส่วนข้อที่อ้างว่า จะไม่เกิดการบูรณาการงาน CSR เพื่อรองรับการขับเคลื่อนในระดับประเทศนั้น ไม่เป็นประเด็น เพราะหน่วยงานเหล่านั้น ได้รับโจทย์การขับเคลื่อนในระดับที่ตนเองดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่เชื่อ ก็ลองถามสภาธุรกิจสิงคโปร์ดู...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 29, 2013

ESG นำความยั่งยืนสู่องค์กร

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดย CSR Club และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทำการเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ลงทุนในแวดวงตลาดทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ของกิจการ ในรูปของรายงานความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการในอดีต ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญของข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการข้อมูลด้าน ESG จึงมีเพิ่มขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่อใช้ประเมินและวิเคราะห์ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน

Financial Times ได้บัญญัติความหมายของ ESG ว่าเป็นคำที่ใช้ในตลาดทุนโดยผู้ลงทุนเพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท

ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) หรือที่มักอ้างอิงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม

การเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินในรูปของรายงาน ซึ่งบริษัททั่วโลกดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

จากตัวเลขของ CorporateRegister.com ที่เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่รายงานประเภทนี้ พบว่ามีรายงานอยู่เกือบ 50,000 ฉบับ ที่ถูกเผยแพร่โดยบริษัทกว่า 10,000 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นรายงานที่มาจากประเทศไทยเพียง 231 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.47 ของรายงานที่เผยแพร่ทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค. 56)

ในวันเปิดตัวโครงการประกาศรางวัลความยั่งยืน ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในด้านการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ เชื่อมั่นว่า รางวัลนี้จะสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมุ่งเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนในทุก ๆ ด้าน และจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลและการจัดทำรายงานความยั่งยืน

คุณวัฒนา โอภานนท์อมตะ ประธาน CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนว่า เนื่องจากปัจจุบันหลายๆ ธุรกิจกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG เพราะผู้ลงทุนต้องการข้อมูลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ มาประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมในการเลือกลงทุน สำหรับ CSR Club เอง ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่พยายามผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ESG จึงได้เข้าร่วมส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทที่ทำดีในด้านนี้ให้ทำดีต่อเนื่องไป ส่วนบริษัทที่กำลังริเริ่มดำเนินการก็จะช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ผมในฐานะผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มองถึงการพิจารณารางวัลความยั่งยืนในโครงการนี้ว่า บริษัทที่ประสงค์จะขอเข้ารับการพิจารณารางวัล สามารถนำส่งรายงานความยั่งยืน หรือรายงานในชื่ออื่น (CSR Report, Integrated Report, Annual Report etc.) ซึ่งเปิดเผยข้อมูล ESG หรือผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ครบทั้งสามด้าน จำนวน 7 ฉบับ มายังสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ภายในวันที่ 15 กันยายน 2556 ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกจากคุณภาพของรายงานความยั่งยืน ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) โดยจะไม่มีการใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใด ๆ เพิ่มเติม

ส่วนคณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการซึ่งคร่ำหวอดในเรื่อง ESG และเป็นผู้ใช้ข้อมูลดังกล่าวโดยตรง ได้แก่ คุณโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณะนิเทศศาสตร์ฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ ผศ.ดร.สมพร กมลศิริพิชัยพร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการรางวัลรายงานความยั่งยืนนี้ จะมีส่วนช่วยในการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของตลาดทุนไทยให้เทียบเท่ากับตลาดทุนชั้นนำ อันจะนำไปสู่การยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในภูมิภาคและในระดับสากล

โดยรางวัลดังกล่าวจะมีการประกาศผลในงาน CSR Thailand ประจำปี 2556 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 15, 2013

สื่อสารอย่างไรในเรื่อง CSR

ในซีรี่ส์บทความเรื่องการสื่อสารความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่กำลังจัดให้ท่านผู้อ่านในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา จู่ๆ ก็มีกรณีเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วในทะเลของบริษัทในกลุ่ม ปตท ที่ก่อให้เกิดคราบน้ำมันดิบกระจายไปยังอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดและอื่นๆ

จนเกิดปรากฏการณ์ที่ได้รับการวิพากษ์กันอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะการแก้ไขสถานการณ์ แต่ยังรวมถึงการสื่อสารขององค์กรต่อเรื่องดังกล่าวด้วย จึงประจวบกับที่ผมจะได้อธิบายถึงวิธีการสื่อสารเรื่อง CSR ในประเด็นที่ว่าจะสื่ออย่างไร (How) พอดี

จุดมุ่งหมายในการสื่อสารเรื่อง CSR ก็เพื่อต้องการให้ผู้รับสาร ‘ยอมรับ’ และเห็นคล้อยตามเนื้อหาในสารที่สื่อออกไป ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการยอมรับดังกล่าว ต้องมาจาก ‘คุณภาพ’ ของตัวสาร และวิธีในการสื่อ (ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ส่งสารด้วย)

การสื่อสารเรื่อง CSR ให้ได้คุณภาพนั้น มีข้อพิจารณาสำคัญอยู่ 6 ประการด้วยกัน คือ ความสมดุล (Balance) การเปรียบเทียบได้ (Comparability) ความแม่นยำ (Accuracy) ความทันต่อเหตุการณ์ (Timeliness) ความชัดเจน (Clarity) และความเชื่อถือไว้วางใจได้ (Reliability)

ในเรื่องความสมดุลของการสื่อสาร CSR การเปิดเผยข้อมูลควรสะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมทั้งในแง่บวกและแง่ลบของสถานการณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้รับสารสามารถประเมินสถานการณ์ในภาพรวมได้ ซึ่งหมายถึง การให้ข้อมูลโดยปราศจากอคติ การคัดเลือกถ้อยคำ การละเว้นข้อเท็จจริง การนำเสนอข้อมูลเฉพาะบางส่วน การขยายความเกินจริง อันส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนต่อความเข้าใจหรือการวินิจฉัยของผู้รับสาร การสื่อสารที่มีความสมดุล ควรให้เนื้อหาที่แสดงถึงการดำเนินงานทั้งในด้านที่เป็นไปตามคาดหมายและด้านที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญต่อผู้รับสาร และที่สำคัญคือ การแยกแยะข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง กับข้อมูลที่เป็นการตีความหรือการคาดการณ์ขององค์กรออกจากกันอย่างชัดเจน

ในเรื่องการเปรียบเทียบได้ การเปิดเผยข้อมูลในเรื่องเดียวกัน ควรมีความสอดคล้องต้องกัน (Consistency) ในวิธีการนำเสนอ หน่วยวัด การเก็บตัวอย่าง วิธีการคำนวณ สมมติฐานที่ใช้ ตามบรรทัดฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเห็นพัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา และเอื้อต่อการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการดำเนินงานขององค์กรอื่นในเรื่องเดียวกัน โดยองค์กรอาจระบุถึงเงื่อนไขของการดำเนินงานอันก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่น ลักษณะทางกายภาพ ขนาดของกิจการ หรือปัจจัยแวดล้อมอื่นในช่วงเวลานั้น รวมทั้งหมายเหตุหรือสาเหตุที่องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอ หน่วยวัด การเก็บตัวอย่าง วิธีการคำนวณ สมมติฐานที่ใช้ (ถ้ามี)

ในเรื่องความแม่นยำ การเปิดเผยข้อมูลควรมีรายละเอียดและความถูกต้องแม่นยำที่เพียงพอต่อการประเมินสถานการณ์และผลการดำเนินงาน ซึ่งสามารถแสดงในรูปแบบที่เป็นทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยคำนึงถึงลักษณะของข้อมูลและการใช้ข้อมูลนั้นๆ หากเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ วิธีการวัด การนับ หรือการคำนวณ ต้องสามารถทำซ้ำและให้ผลที่คล้ายคลึงกัน โดยมีค่าความผิดพลาดหรือความเบี่ยงเบนที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการสรุปสถานการณ์หรือผลการดำเนินงาน หากเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ต้องคำนึงถึงการกล่าวอ้างอย่างสมเหตุสมผล โดยมีข้อมูลอื่นสนับสนุน หรือมีหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้

ในเรื่องความทันต่อเหตุการณ์ การเปิดเผยข้อมูลควรคำนึงถึงเงื่อนเวลาที่ผู้รับสารต้องการหรือคาดหวังว่าจะได้รับการสื่อสารจากองค์กร ทันตามกำหนด ไม่เนิ่นช้าจนเหตุการณ์บานปลาย หรือก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ มีการระบุถึงเวลาของเหตุการณ์ที่นำมาสื่อสารอย่างชัดเจน รวมถึงการปรับปรุงข้อมูลของเหตุการณ์ครั้งล่าสุด และช่วงเวลาสำหรับการสื่อสารในครั้งถัดไป อย่างไรก็ดี องค์กรควรให้น้ำหนักความเหมาะสมระหว่างการให้ข้อมูลที่รวดเร็วทันต่อเวลา กับการทำให้แน่ใจว่าข้อมูลที่สื่อสารออกไปได้รับการตรวจสอบยืนยันและเชื่อถือได้

ในเรื่องความชัดเจน องค์กรควรเปิดเผยข้อมูลหรือสื่อสารให้เห็นภาพของสถานการณ์ที่เข้าใจได้ง่าย สามารถเข้าถึงข่าวสารและใช้งานข้อมูลนั้นได้อย่างสะดวก การใช้รูปภาพ กราฟิก หรือตารางประกอบการอธิบาย จะมีส่วนช่วยเสริมความเข้าใจหรือทำให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ในบางกรณี องค์กรจำเป็นต้องให้รายละเอียดของสถานการณ์ มากกว่าการสรุปเหตุการณ์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนของเรื่องที่ต้องการสื่อสาร หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิค คำเฉพาะ ที่ยากต่อการทำความเข้าใจในวงกว้าง หากจำเป็นต้องใช้ ควรมีคำแปลหรือคำอธิบายเพิ่มเติมประกอบ รวมทั้งการคำนึงถึงการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่มีข้อจำกัดทางภาษา ข้อจำกัดทางกายภาพ ฯลฯ

ในเรื่องของความเชื่อถือไว้วางใจได้ นอกจากการเปิดเผยข้อมูลของสถานการณ์ที่ต้องการสื่อสารแล้ว องค์กรควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกระบวนการหรือวิธีการในการรวบรวม จัดเก็บ ประมวล วิเคราะห์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูล รวมทั้งการอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งกำเนิด การระบุผู้รับผิดชอบข้อมูล หรือการรับรองข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้รับสาร

องค์กรควรมอบหมายบุคคลที่เป็นตัวแทนและมีอำนาจเต็มในเรื่องดังกล่าว กระทำการสื่อสารในนามองค์กรอย่างชัดเจน ไม่ควรให้ประธาน กรรมการ หรือผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ออกมาสื่อสารโดยพลการ แม้จะเป็นผู้มีอำนาจของกิจการ เพราะท่านเหล่านั้น อาจไม่ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง

แม้จะเป็นไปโดยเจตนาที่ดี แต่เมื่อการสื่อสารไม่ได้คุณภาพ ก็จะไปมีผลบั่นทอนความเชื่อมั่นและมีแนวโน้มที่จะเกิดการ ‘ไม่ยอมรับ’ และไม่เห็นคล้อยตามเนื้อหาในสารที่สื่อออกไป ซึ่งจะทวีความยากลำบากให้แก่องค์กรในการฟื้นความเชื่อมั่นและสร้างการยอมรับในภายหลัง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 01, 2013

สื่อสารอะไรกันในเรื่อง CSR

ผมเคยได้ชวนท่านผู้อ่านมารู้จักกับการสื่อสารเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยเริ่มจากเหตุผลของการที่องค์กรจำเป็นต้องดำเนินการสื่อสารกับสังคม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีความคาดหวังหรือความสนใจแตกต่างกัน

หลังจากที่องค์กรได้เข้าใจว่าจะสื่อสาร CSR ไปเพื่ออะไร (Why) และจะต้องสื่อสารกับใคร (Who) แล้ว คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่ว่า องค์กรจะต้องสื่อสารอะไร (What) กับสังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร

ตัวสารหรือ Message ที่จะนำมาสื่อนั้น ในฐานะขององค์กรซึ่งเป็นผู้ส่งสาร ที่อาจไม่ได้มีการให้เวลาหรือความใส่ใจกับเรื่อง CSR มากเท่ากับเรื่องธุรกิจหรือการทำมาหากิน ก็มักจะเริ่มจากคำถามที่ว่า เรามีอะไรบ้างล่ะ ไปรวบรวมมา แล้วก็ให้ PR เค้าไปเรียบเรียงสื่อสาร

แนวทางนี้ คือ การใช้ผู้ส่งสารเป็นตัวตั้ง ‘สื่อในสิ่งที่องค์กรอยากบอกกล่าว

หากเทียบในมุมของการทำมาหากินในปัจจุบัน คงมีผู้ประกอบการส่วนน้อย ที่ทำธุรกิจโดยเริ่มจากคำถามว่า เรามีอะไรบ้างล่ะ ไปผลิตหรือไปรับมาขายเลย หรือให้ฝ่ายผลิตภัณฑ์ เค้าไปคิดทำตลาดเอาเอง

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ กระทั่งหาบเร่แผงลอย ก็ยังต้องคิดก่อนว่า ทำเลแถวนี้ขายอะไรดี สินค้าอะไรที่ยังไม่มีขายแถวนี้บ้าง ลูกค้าย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นใคร แล้วจึงค่อยถามว่า แล้วเรามีอะไรดีกว่าหรือแตกต่างจากรายอื่นในย่านนี้หรือในตลาดนี้

หลักการทำธุรกิจแบบ ‘รู้เขา -> รู้เรา’ นี้ สามารถนำมาใช้กับการสื่อสารเรื่อง CSR ได้ไม่ต่างกัน

ข้อพิจารณาของสิ่งที่จะนำมาสื่อสารในบริบทของ CSR ในกรณีนี้ คือ การใช้ผู้รับสารเป็นตัวตั้ง ‘สื่อในสิ่งที่ผู้มีส่วนได้เสียอยากทราบ’ โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

ประการแรก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร ข้อนี้มีความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว คือ ถ้าองค์กรไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องสื่อสารให้เป็นภาระข่าวสารแก่สังคมเพิ่มเติม และก็ไม่ใช่เรื่องที่ผู้มีส่วนได้เสียอยากทราบ ซึ่งหากองค์กรใดออกมาเพ้อเจ้อในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ก็ควรตั้งข้อสังเกตว่า องค์กรนั้นกำลังสร้างภาพ หรือต้องการเบี่ยงเบนความสนใจ หรือปกปิดประเด็นบางอย่างที่ไม่ต้องการให้สังคมสนใจหรือไม่

หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า แล้วมีองค์กรที่ทำตามเกณฑ์ข้อนี้ไม่ได้ด้วยหรือ เพราะการสื่อสาร CSR ขององค์กร ก็ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่องค์กรดำเนินการ

แต่สิ่งที่เป็นอยู่จริง คือ สำหรับองค์กรที่มีผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ค่อยเป็นมิตรกับสังคม หรือมีกระบวนการผลิตหรือแปรรูปที่มีส่วนไปทำลายสิ่งแวดล้อมสูง เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ มักจะหลีกเลี่ยงนำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการดำเนินงานของตนมาสื่อสาร

ประการที่สอง เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งครอบคลุมถึงสังคมโดยรวมด้วย โดยส่วนใหญ่ องค์กรมักจะสื่อสารเฉพาะผลกระทบที่เป็นเชิงบวก โดยละเว้นการสื่อสารที่เป็นผลกระทบทางลบ เช่น องค์กรสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งปีได้เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่ได้บอกว่าแล้วทั้งกระบวนการผลิตหรือการดำเนินงานขององค์กรได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเป็นจำนวนเท่าใด หรือในหลายกรณี องค์กรเลือกที่จะสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียเฉพาะกลุ่มที่เสียงดัง แต่ไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มิได้แสดงออกหรือมีข้อท้วงติงหรือข้อกังวล ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงาน และต้องการทราบแนวทางการจัดการขององค์กร

ประการที่สาม เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดผลกระทบขึ้นในอนาคต ข้อนี้เป็นการสื่อสารในเรื่องซึ่งอาจจะเกินวิสัยของผู้มีส่วนได้เสียที่จะประเมินได้ว่าตนเองต้องการทราบหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การแจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อมีการบริโภคหรือการใช้งานสะสม การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือทางสุขภาพ (HIA) ของโครงการที่องค์กรจะริเริ่มดำเนินการ ก็อยู่ในเกณฑ์ข้อนี้ด้วย

เมื่อองค์กรสามารถพิจารณาเรื่องหรือสิ่งที่จะนำมาสื่อสารได้ตามเกณฑ์ข้างต้นแล้ว คราวนี้จึงค่อยเติมสิ่งที่องค์กรอยากบอกกล่าว สิ่งที่องค์กรทำได้ดีกว่าหรือแตกต่างจากรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือในพื้นที่เดียวกัน ภายใต้กรอบของเรื่องหรือสิ่งที่ผู้มีส่วนได้เสียนั้นๆ อยากทราบครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 11, 2013

สื่อสาร CSR ไปทำไม ใครอยากฟัง?

ผมได้เคยเขียนบทความที่เกี่ยวกับการสื่อสารเรื่อง CSR ในคอลัมน์นี้ โดยให้ชื่อว่า ‘สื่อสาร CSR ดีหรือไม่ดี’ เพื่อตอบคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องสื่อสารหรือบอกกล่าวให้สังคมหรือผู้อื่นได้รับรู้ถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และได้ให้แนวการสื่อสารในบทความชิ้นนั้นไว้ 2 ข้อ คือ ‘บอกตามจริง’ และ ‘สื่อสารเป็น’

ในบทความนี้ จะถือโอกาสขยายความต่อถึงคำว่า ‘สื่อสารเป็น’ นั้นมีหลักในการพิจารณาอะไรบ้าง และจะดำเนินตามนั้นได้อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วัตรปฏิบัติของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ก็เป็นเช่นเดียวกับการดำเนินงานในเรื่องอื่นๆ คือ อย่างไรเสีย ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรียกได้ว่า ตลอดกระบวนการของการปฏิบัติ ตั้งแต่การวางแผน การจัดสรรทรัพยากร การลงมือทำ การตรวจสอบติดตาม การประเมินผล ล้วนจำเป็นต้องมีการสื่อสารในระหว่างทางของกระบวนการควบคู่กันไป มิใช่เพียงแค่ตอนเริ่มต้นและตอนสิ้นสุดกระบวนการเท่านั้น จะมากน้อยก็ตามแต่กรณี

ด้วยเหตุนี้ การสื่อสาร จึงถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในการขับเคลื่อน CSR ให้เกิดผลสำเร็จ โดยแนวการพิจารณาการสื่อสารเรื่อง CSR นั้น องค์กรสามารถทำความเข้าใจได้ด้วยการตอบคำถามว่า เราสื่อสาร CSR ไปเพื่ออะไร (Why) จะต้องสื่อสารกับใคร (Who) สื่ออะไร (What) และสื่ออย่างไร (How)

ต่อคำถามการสื่อ CSR ไปเพื่ออะไร (Why) ประการแรก คือ ‘แจ้งเพื่อทราบ’ หมายความว่า องค์กรมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน CSR ที่อยากจะบอกกล่าวแก่บุคลากรในองค์กรหรือบุคคลภายนอกองค์กร ทั้งในเรื่องของความมุ่งหมาย แผนงาน กลยุทธ์ ผลการดำเนินงาน การปฏิบัติตามกฎหมายหรือพันธสัญญาที่ได้ให้ไว้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ฯลฯ โดยผลจากการสื่อสารในข้อนี้ จะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียรับรู้และทราบถึงความเป็นไปในเรื่อง CSR ขององค์กร สร้างให้เกิดความโปร่งใสและความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานขององค์กร

ประการที่สอง คือ ‘แจ้งเพื่อพิจารณา’ ในที่นี้ มุ่งหมายตั้งแต่การขอความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการต่อเรื่อง CSR ที่สื่อสาร รวมทั้งการขอให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือในการดำเนินงานเรื่อง CSR นั้นๆ การสื่อสารในข้อนี้ จะก่อให้เกิดรูปแบบของการสานเสวนา (Dialogue) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) โดยผลจากการสื่อสารในข้อนี้ จะทำให้องค์กรได้รับความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาและมุมมองในการปรับปรุงและยกระดับการดำเนินงานทั้งในเรื่อง CSR และในเรื่องอื่นๆ ขององค์กร

ต่อคำถามว่าจะต้องสื่อสารกับใคร (Who) จุดที่มักผิดพลาดขององค์กร คือ การมอบงานสื่อสาร CSR ไว้กับฝ่าย PR ให้ดำเนินการ โดยใช้กรอบความคิดและประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ ทำให้ ‘ตัวสาร’ หรือ Message ที่ร่างขึ้น ถูกออกแบบสำหรับใช้สื่อกับผู้รับสารหลัก คือ สาธารณชน ตามชื่อฝ่าย Public Relations

อันที่จริง สังคมในบริบทของ CSR มิได้หมายถึง สาธารณชน แต่ประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่มที่มีความคาดหวังและความสนใจในเรื่องขององค์กรที่แตกต่างกัน และอาจแตกต่างจากความคาดหวังและความสนใจของสาธารณชนด้วย เช่น ผู้ลงทุนอาจสนใจแต่ข้อมูล CSR ที่มีผลต่อการเติบโตของบริษัท ไม่ต้องการเห็นตัวเลขสูงๆ ในงบบริจาคเพื่อการกุศลของบริษัท (บางองค์กร จึงมีส่วนงาน Investor Relations เข้ามารับผิดชอบ) หรือ ลูกค้าอาจสนใจแต่เรื่อง CSR ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเอง ไม่สนใจว่าบริษัทจะไปดูแลสิ่งแวดล้อมที่ไหนอย่างไร หรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีเพียงใด (บางองค์กร จึงตั้งผู้รับผิดชอบงานด้าน Customer Relations ขึ้น) หรือ พนักงานจะสนใจเรื่องที่บริษัทดูแลสวัสดิภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการที่เหมาะสมเป็นธรรม การให้โอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน มากกว่ากิจกรรมอาสาที่อยู่นอกเหนืองานในหน้าที่ (บางองค์กร จึงให้ฝ่าย HR เข้ามาดูแลเรื่อง Employee Relations)

เห็นได้ว่า การสื่อสารเรื่อง CSR จำต้องอาศัยทั้งฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายขาย ฝ่ายตลาด ฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฯลฯ ในการเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย แล้วแต่ว่าใครคือผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนั้นๆ ในภาพนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ จึงเป็นเพียงส่วนงานหนึ่งที่ทำหน้าที่สื่อสารหรือให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นสาธารณชน ซึ่งอาจไม่สามารถสื่อสารหรือเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มผู้ลงทุน กลุ่มลูกค้า หรือกลุ่มพนักงาน ได้ดีเท่าส่วนงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

แนวปฏิบัติพื้นฐานของการสื่อสารและการทำงานเรื่อง CSR คือ การระบุให้ได้ว่า ใคร คือ ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการบ้าง และการค้นหาว่า ความคาดหวังหรือความสนใจของแต่ละผู้มีส่วนได้เสียเป็นอย่างไร

ยังมีอีกสองคำถามที่ยังไม่ได้ตอบ คือ สื่ออะไร (What) และสื่ออย่างไร (How) ซึ่งผมจะขออนุญาตยกไปพูดคุยกันในโอกาสต่อไปครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 04, 2013

เหตุผลที่องค์กรทำ CSR

มีหลายเหตุผลที่สนับสนุนให้องค์กรธุรกิจดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR กับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้อง หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร

ในแง่หลักการ องค์กรจำเป็นต้องพิจารณาว่า ใครเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กรบ้าง มีผลกระทบใดที่หากองค์กรไม่ดำเนินการป้องกันหรือแก้ไขแล้ว จะมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดข้อร้องเรียน ข้อพิพาท หรือปัญหาในวันข้างหน้า การคิดทำ CSR ในรูปแบบนี้ มักจะเรียกว่าเป็นแบบ Responsive CSR คือ เป็นการมุ่งตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือที่ยังไม่เกิด แต่คาดว่าจะก่อให้เกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นๆ

เมื่อองค์กรเริ่มเรียนรู้และมีพัฒนาการในการทำ CSR มากขึ้น ก็จะเริ่มตั้งโจทย์ที่ท้าทายและน่าสนใจยิ่งขึ้นว่า จะนำเอาเรื่อง CSR มาสนับสนุนการทำธุรกิจ หรือใช้เป็นกลยุทธ์ในทางธุรกิจ โดยมิได้จำกัดวงแค่การพิจารณาเรื่องการจัดการกับผลกระทบ แต่เป็นเรื่องการส่งมอบคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่องค์กรสามารถสร้างขึ้นเพิ่มเติมได้อย่างไร แนวคิดนี้ ก่อให้เกิดรูปแบบของการคิดทำ CSR ที่เรียกว่า Strategic CSR คือ เป็นการมุ่งสร้างให้เกิดคุณค่าระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย จากการใช้ความสามารถทางธุรกิจตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่องค์กรเลือกมาดำเนินการ

ปัจจุบัน การทำ CSR ของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ อยู่ภายใต้สองรูปแบบดังที่กล่าวมา ซึ่งในองค์กรหนึ่งๆ จะมีอยู่ทั้งสองรูปแบบ โดยแบบแรก เป็นความจำเป็นที่องค์กรต้องดำเนินการ หากองค์กรไม่ต้องการมีปัญหากับสังคม โดยมีโจทย์เรื่องผลกระทบเป็นตัวตั้ง ส่วนแบบที่สอง เป็นทางเลือกที่องค์กรสามารถดำเนินการ หากต้องการสร้างโอกาสทางการตลาดในสังคมเพิ่มเติม โดยมีโจทย์เรื่องคุณค่าเป็นตัวตั้ง

ในความเป็นจริง ที่เป็นภาคปฏิบัติการทำ CSR ขององค์กร แม้จะเป็นไปตามหลักการดังว่า แต่มีหลายองค์กรที่นำไปดัดแปลง บิดเบือน จะด้วยความที่ไม่เข้าใจก็ดี หรือเจตนาที่จะลดภาระงาน ลดงบประมาณก็ดี จนทำให้ผิดเพี้ยนไปจากโจทย์เดิมมาก ช่องว่างระหว่างหลักการและการทำจริงจึงเกิดมีขึ้น และกลายเป็นประเด็นด้านความน่าเชื่อถือและความสำเร็จในการทำ CSR ของภาคเอกชน

การบิดเบือนในรูปแบบแรกที่เป็น Responsive CSR จากการทำเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบ กลายมาเป็นการทำเพื่อไม่ให้โดนต่อว่า ใช้การประชาสัมพันธ์หรือกิจกรรมเพื่อสังคมกลบเกลื่อน หรือเบี่ยงเบนความสนใจ แทนการมุ่งป้องกัน ปรับปรุง แก้ไขที่เหตุและผลกระทบของเรื่องนั้นๆ

ตัวอย่างที่มีให้เห็นอยู่เนืองๆ เช่น องค์กรดำเนินโรงงานที่ปล่อยมลอากาศ น้ำทิ้ง และของเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชน แต่มีการทำ CSR ด้วยการพาผู้นำชุมชนไปทัศนศึกษาดูโรงงาน เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ หรือบริษัทแม่ในต่างประเทศ หรือมีกิจกรรมบริจาคทุน ข้าวของเครื่องใช้ หรือสาธารณสถานให้ชุมชน เป็นต้น

การบิดเบือนรูปแบบสองที่เป็น Strategic CSR จากการทำเพื่อสร้างคุณค่าร่วม กลายมาเป็นการทำเพื่อจะขายของ ใช้การตลาดหรือการส่งเสริมการขาย จูงใจหรือโน้มน้าวความสนใจในผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ขององค์กร แทนการสร้าง พัฒนา และส่งมอบคุณค่าที่สังคมได้ประโยชน์จริงๆ

ตัวอย่างในกรณีนี้ ได้แก่ องค์กรใช้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพ ดำเนินการรณรงค์ให้ผู้บริโภคห่วงใยในสุขภาพและโภชนาการ โดยมีการแนะนำ ให้ทดลอง รับสมัครสมาชิก เพื่อซื้อหาและจำหน่ายสินค้าของบริษัท คล้ายกับการใช้รถเร่ฉายหนังขายยาสมัยก่อน

จะเห็นว่า ความสำเร็จและความน่าเชื่อถือของการทำ CSR ที่ทุกองค์กรต่างปรารถนาให้เกิดขึ้นนั้น อยู่ที่ตัวองค์กรเองในการนำมาปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการและตอบให้ตรงกับโจทย์ที่ต้องการ ไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยแนวคิดใหม่หรือหลักการใหม่ นอกเหนือจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การที่มีองค์กรพยายามจะยกระดับการทำ CSR ให้เหนือกว่าที่เป็นอยู่ หรือให้มีความโดดเด่นกว่าองค์กรอื่น ด้วยการสร้างสรรค์คำใหม่ หรือวลีใหม่ๆ มองอีกนัยหนึ่ง ก็อาจตีความได้ว่า องค์กรนั้นกำลังใช้การสื่อสารหรือการสร้างภาพลักษณ์ในเรื่อง CSR เพื่อกลบเกลื่อนหรือเบี่ยงเบนความสนใจในสิ่งที่องค์กรกำลังสร้างผลกระทบต่อสังคมอยู่ก็เป็นได้

เหตุผลของการทำ CSR ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และที่ปรากฎในตำราวิชา CSR มีอยู่มากมายหลายประการ แต่เหตุผลที่องค์กรทำ CSR ในความเป็นจริงนั้น มีอยู่ไม่กี่ประการ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 20, 2013

ตามรอยการประชุมโลกว่าด้วยความยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดงานเสวนาตามรอยการประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน ในหัวข้อ “GRI Global Conference Debrief on Sustainability and Reporting” ถอดรหัสการสร้างองค์กรยั่งยืน ด้วยกรอบการรายงานสากลฉบับใหม่ล่าสุด ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI)


การเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ รวมทั้งถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่สนใจ จากการที่ทีมงานได้เดินทางไปร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน (Global Conference on Sustainability and Reporting) ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2556 โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,600 คน จาก 80 กว่าประเทศทั่วโลก

เท้าความกันสักนิดหนึ่งว่า GRI เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งโดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย Ceres ทำหน้าที่พัฒนากรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนและนำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2543 ซึ่งเรียกว่า ฉบับ G1

ถัดจากนั้น ในปี พ.ศ.2545 GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554

ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา GRI ได้ยกระดับกรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนเป็นฉบับ G4 และได้ใช้เวทีประชุมระดับโลกที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประกาศแนวทางการรายงานฉบับใหม่นี้ โดยได้มีการปรับปรุงจากฉบับ G3.1 ที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงถูกใช้อ้างอิงโดยบริษัทในประเทศไทยที่ได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนหรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบ GRI ด้วย

รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นรายงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน มีองค์กรทั่วโลกที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI แล้วมากกว่า 5,000 แห่ง โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ

โดยจากการสำรวจข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน พบว่า สามารถให้ผลตอบแทนอยู่เหนือกลุ่มบริษัทที่อยู่ในดัชนีอย่าง MSCI World และ S&P 500 ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

หัวใจของการรายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI มิได้อยู่ที่การจัดทำเพื่อให้ได้เล่มรายงานเป็นผลลัพธ์หลัก แต่เป็นการใช้กระบวนการของการจัดทำรายงานมาสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรในบริบทของความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ที่ไม่จำกัดเฉพาะการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน แต่ยังรวมถึงลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม

ในงานเสวนา ยังได้มีการนำเสนอเนื้อหาและเครื่องมือใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน สถานการณ์ความเคลื่อนไหวเรื่องความยั่งยืนและการจัดทำรายงานในระดับโลก แนวโน้มของ External Assurance และการปรับปรุงกระบวนการรายงานด้วย GRI Taxonomy โดยทีมงานของสถาบันที่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมใหญ่และกิจกรรมคู่ขนาน ทั้งใน Plenary Meeting ใน Master Class Training และในช่วง Regional Presentation เพื่อรวบรวมเนื้อหาและข้อมูลสำคัญๆ จากเวทีประชุมที่กรุงอัมสเตอร์ดัม นำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่ต้องการรับทราบเนื้อหาและข้อมูลจากงานประชุมดังกล่าว โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้กว่า 200 คน จาก 114 องค์กรและ 4 มหาวิทยาลัย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Wednesday, June 05, 2013

กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สืบเนื่องจากการที่องค์การสหประชาชาติจัดให้มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ระหว่างวันที่ 5 - 16 มิถุนายน 2515 ณ กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ผลจากการประชุมในครั้งนั้น ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ขึ้น และรัฐบาลจากนานาประเทศได้รับข้อตกลงจากการประชุมในครั้งนั้น แล้วดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน รวมทั้งได้นำผลจากการประชุมดังกล่าวมาจัดทำเป็นรายงานเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิถีการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากนานาชาติทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อม โดยในแต่ละปี UNEP ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก

สำหรับในปี 2556 นี้ UNEP ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Think-Eat-Save” ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ใช้หัวข้อภาษาไทยว่า “กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” อันเป็นการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐในเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth)

แนวคิด Think-Eat-Save เป็นการรณรงค์ให้พลเมืองโลกตระหนักในความสูญเสียที่เป็นอาหารเหลือทิ้งและเศษอาหาร เพื่อปลุกเร้าให้ลด “Foodprint” เพราะข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในทุกๆ ปี จะมีอาหารที่ถูกทิ้งไปราว 1.3 พันล้านตัน ซึ่งเท่ากับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราทั้งหมด ขณะที่ประชากรโลกทุกๆ 1 ใน 7 คนได้รับความอดอยากหิวโหย และมากกว่า 2 หมื่นคนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เสียชีวิตเพราะขาดอาหาร

โลกในขณะนี้ จำต้องจัดหาทรัพยากรรองรับประชากรจำนวน 7 พันล้านคน (และจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคนในปี ค.ศ.2050) FAO คาดการณ์ว่า หนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตทั่วโลก มิได้รับการบริโภค และถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้ร่อยหรอลงเพื่อนำมาผลิตอาหารที่ไม่ถูกบริโภค และยังเป็นการสร้างผลกระทบทางลบจากขยะอาหารเหลือทิ้งทับถมสู่สิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างของอาหารที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัต เช่น นมจำนวน 1 ลิตร ต้องใช้น้ำ 1,000 ลิตร ไปในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง หรือแฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น จะเกี่ยวข้องกับน้ำ 16,000 ลิตร ที่ต้องถูกใช้ไปกับอาหารวัว ไม่นับรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์และจากห่วงโซ่อุปทานอาหาร ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสูญเปล่า หากอาหารที่ผลิตนั้น ไม่ได้ถูกนำมาบริโภค

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สายการผลิตอาหารโลก ครอบครองพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยไปร้อยละ 25 และเป็นกิจกรรมที่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้น้ำจืดเพื่อการบริโภคถึงร้อยละ 70 ต่อการทำลายป่าในอัตราร้อยละ 80 และต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อัตราร้อยละ 30 นับเป็นมูลเหตุซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่สุดต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องพิจารณาตัดสินใจเลือกอาหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย หรืออาหารอินทรีย์ (Organic Food) ที่ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต เลือกซื้ออาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่น ที่ช่วยลดการขนส่งและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สมกับคำขวัญที่ว่า “กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 30, 2013

เปิดตัวกรอบการรายงานฉบับ G4

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Global Conference on Sustainability and Reporting ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจัดโดย Global Reporting Initiative (GRI) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,600 คน จาก 80 กว่าประเทศทั่วโลก

ในงาน 3 วัน (22-24 พ.ค. 2556) มีทั้งการสัมมนา การนำเสนอ การประชุมโต๊ะกลม การประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรมแบบ Master Class และกิจกรรมเชื่อมเครือข่าย (Networking) รวมกันได้ 50 วาระ (Session) เรียกได้ว่า หน่วยงานไหน ถ้ามาคนเดียว ไม่สามารถวิ่งรอกเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนแน่ๆ

ไฮไลท์ของงานในครั้งนี้ คือ การเปิดตัวแนวทางการรายงานของ GRI ฉบับ G4 ซึ่งได้มีการปรับปรุงจากฉบับ G3.1 ที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงถูกใช้อ้างอิงโดยบริษัทในประเทศไทยที่ได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนหรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบ GRI ด้วย

เรื่องใหม่ที่ได้มีการปรับปรุงในฉบับ G4 โดยสังเขป คือ การปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อการกำกับดูแล จริยธรรมและความสุจริต ห่วงโซ่อุปทาน การต่อต้านทุจริต และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรูปแบบสามัญของการเปิดเผยแนวการบริหารจัดการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยให้ความสำคัญในระดับประเด็น (Aspects)

อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกรื้อและปรับโฉมโดยสิ้นเชิง คือ การเปิดเผยระดับของการรายงาน ที่แต่เดิมกำหนดเหมือนเกรด A, B, C ทำให้เกิดความสับสนว่า เป็นการบ่งบอกถึงคุณภาพของการรายงาน หรือผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน แทนที่จะเป็นปริมาณหรือระดับของการเปิดเผยข้อมูลในรายงานตามแนวทาง GRI โดยในฉบับ G4 นี้ จะใช้การระบุว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ (‘in accordance’ criteria) แนวทางการรายงานของ GRI ในแบบหลัก (Core) หรือแบบรวม (Comprehensive) แทนวิธีการเดิม

ความแตกต่างระหว่างหลักเกณฑ์ทั้งสองแบบ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลทั่วไปในแบบรวม จะเพิ่มรายละเอียดของกลยุทธ์และการวิเคราะห์ การกำกับดูแล จริยธรรมและความสุจริต มากกว่าในแบบหลัก ส่วนการเปิดเผยข้อมูลจำเพาะ ทั้งสองแบบกำหนดให้เปิดเผยแนวการบริหารจัดการเฉพาะประเด็นที่มีสาระสำคัญเท่านั้น

ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลตามตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ในแบบหลัก ให้เปิดเผยอย่างน้อย 1 ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นซึ่งถูกระบุว่ามีสาระสำคัญ ส่วนในแบบรวม ต้องรายงานครบทุกตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นซึ่งถูกระบุว่ามีสาระสำคัญดังกล่าว

ส่วนการรับประกันแบบรายงานจากภายนอก (External Assurance) เพื่อเพิ่มเครื่องหมาย ‘ + ’ ต่อหลังเกรดตามแนวทางการรายงานในฉบับ G3 หรือ G3.1 นั้น ในฉบับ G4 นี้ ได้ยกเลิกไปพร้อมกับการให้เกรดเช่นกัน แต่ในตารางดัชนีข้อมูล (Content Index) ได้เพิ่มสดมภ์ (Column) เพื่อให้ระบุว่าข้อมูลที่เปิดเผยส่วนใดบ้าง ได้รับการประกันจากภายนอก

แนวทางการรายงาน ฉบับ G4 ได้ตอกย้ำเรื่องสารัตถภาพ (Materiality) ของกระบวนการรายงานและเปิดเผยข้อมูล โดยพิจารณาถึงสิ่งซึ่งองค์กรควรดำเนินการตามขอบเขต What matters, How matters, and Who matters และตั้งอยู่บนพื้นฐานของกรอบความคิด Why (it) matters ที่เปิดทางให้องค์กรสามารถใช้การรายงานดังกล่าว พัฒนารูปแบบรายงานให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ อาทิ รายงานแบบเบ็ดเสร็จ (Integrated Report) ให้แก่นักลงทุนที่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนและการสร้างมูลค่าในระยะยาว

สำหรับองค์กรที่เพิ่งศึกษาหรือริเริ่มจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทาง GRI ฉบับ G3.1 ก็อย่าเพิ่งตกใจหรือสงสัยว่า จะต้องมาศึกษาหรือเรียนรู้กระบวนการรายงานในฉบับ G4 โดยทันทีหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ครับ เพราะองค์กรยังสามารถจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามฉบับ G3.1 ไปได้อีกสองรอบการรายงาน (จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2558) หลังจากนั้น GRI ถึงจะยกเลิกแนวทางการรายงานฉบับ G3.1

หมายความว่า รายงานรอบปีนี้ ปีหน้า และปีมะรืน ก็ยังคงใช้ฉบับ G3.1 ได้อยู่ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 23, 2013

ผูกเงื่อนตายให้ CSR

มีการพูดกันว่าความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) นั้น ถูกนำมาเป็นเครื่องมือที่องค์กรธุรกิจใช้สำหรับสร้างภาพประชาสัมพันธ์อย่างฉาบฉวย เป็นมุขทางการตลาด มิได้ทำเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจังแข็งขัน

ก็เห็นอยู่ว่า CSR มีทั้งในรูปแบบที่เป็นกิจกรรม หรือ Event เพื่อสังคม จัดกันที่ใช้เงินหลายล้านบาท ไม่ได้วัดความสำเร็จกันที่ผลลัพธ์มากนัก ใช้เกณฑ์ว่า ‘ได้ทำ’ หรือ ได้ใช้งบที่ตั้งไว้หมด คือ สำเร็จเสร็จแล้ว

CSR รูปแบบนี้ ก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ต่อไป ตราบที่บริษัทมีเป้าหมายในการทำ CSR เพื่อ PR อย่างแข็งขัน แต่สำหรับบริษัทที่ต้องการทำ CSR เพื่อผลลัพธ์ที่มากกว่านั้น ก็คงต้องมีแนวทางอื่นเสริม ที่มิใช่เพียงแค่การจัดกิจกรรม CSR เป็นครั้งๆ ซึ่งวิธีหนึ่งก็คือ การผนวกหรือฝังเรื่อง CSR เข้าไปในการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งอาจเรียกเป็นภาษาทางการว่า การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร

กระบวนการแรกเริ่มที่สำคัญในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร ตามหลักวิชา จะประกอบด้วย การสร้างสมรรถภาพในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม การกำหนดทิศทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และการกำกับดูแลองค์กรในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคม

การสร้างสมรรถภาพในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม มีจุดเริ่มที่การปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมให้อยู่ในทุกส่วนขององค์กร ซึ่งเกิดจากการให้คำมั่นและการสร้างความเข้าใจร่วมกันในทุกระดับ เริ่มจากผู้นำสูงสุด ด้วยการชี้ให้เห็นถึงนัยและประโยชน์ของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือใช้การต่อยอดจากค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรที่มีอยู่

การสร้างสมรรถภาพในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งอาจครอบคลุมไปถึงการฝึกอบรมให้แก่ผู้จัดการและคนงานในสายอุปทาน

การกำหนดทิศทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ทำได้โดยการผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ ภารกิจ ค่านิยม นโยบาย กลยุทธ์การดำเนินงาน วัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ ที่ซึ่งบุคลากรในทุกระดับ สามารถรับรู้ว่าเป็นแนวทางของบริษัทที่ต้องปฏิบัติตาม

การกำหนดทิศทางทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ยังรวมถึงการแปลงไปสู่วัตถุประสงค์ขององค์กรที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ตามลำดับความสำคัญของเรื่องและประเด็นที่จะดำเนินการ โดยมีความชัดเจนและสามารถวัดผลหรือพิสูจน์ยืนยันได้ ทั้งนี้ ความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียจะมีส่วนช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ ที่นำไปสู่การจัดทำรายละเอียดการดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบ ระยะเวลา งบประมาณ และผลที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินงานอื่นๆ ขององค์กร

กลไกหนึ่งที่สำคัญและมีประสิทธิผลในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร คือ การขับเคลื่อนผ่านระบบการกำกับดูแลองค์กร โดยมีการกำหนดโครงสร้างและกระบวนการอย่างชัดเจน หรืออาจใช้วิธีแบบไม่เป็นทางการ โดยผู้นำองค์กรใช้ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวขับเคลื่อน

ทั้งนี้ กระบวนการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กรให้ครอบคลุมในทุกหัวข้อและในประเด็นที่เลือกมาดำเนินการนั้น อาจมิได้เกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว บริษัทจึงควรมีแผนดำเนินงานรองรับทั้งประเด็นที่สามารถดำเนินการได้ในทันที และประเด็นที่จะดำเนินการในระยะต่อไป โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ สมรรถภาพขององค์กร ทรัพยากรที่มีอยู่ และลำดับความสำคัญของประเด็น

เรียกได้ว่า หากองค์กรใช้วิธีการผนวกหรือฝังเรื่อง CSR เข้าไปในการดำเนินงานขององค์กรแล้ว ก็เท่ากับเป็นการผูกเงื่อนตายให้ CSR ได้มีบทบาทในทุกส่วนขององค์กร และดำเนินไปโดยบุคลากรในทุกระดับ ทำให้ยากต่อการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบจริงจังและแข็งขัน ที่ไปช่วยเพิ่มตัวคูณสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, April 18, 2013

ความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจ

วันนี้ องค์กรธุรกิจได้นำคำว่า ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) มาใช้ในหลายบริบท ทั้งในระดับองค์กร ที่คำนึงถึงเฉพาะความสามารถขององค์กรในการตอบสนองต่อความจำเป็นทางธุรกิจในปัจจุบัน และมีความคล่องตัวและการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ที่ทำให้องค์กรมีความพร้อมต่อธุรกิจ ตลาด และสภาพแวดล้อมการดำเนินงานในอนาคต

และในระดับที่กว้างถัดมา คือ ความยั่งยืนที่ครอบคลุมในระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) หรือในระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ขยายการคำนึงถึงปัจจัยภายนอกองค์กรที่แวดล้อมอยู่รายรอบองค์กร ซึ่งก็ยังเป็นไปเพื่อเสริมหนุนขีดความสามารถขององค์กรในการตอบสนองต่อประเด็นทางธุรกิจเป็นสำคัญ แต่ได้ถ่ายทอดอิทธิพลให้องค์กรข้างเคียงในห่วงโซ่ธุรกิจได้ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ไปจนถึงความยั่งยืนในระดับที่กว้างสุด คือ ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม ที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับองค์กรหรือหน่วยงานในภาคส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม

ความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจขององค์กร โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นผู้ส่งมอบ ผู้ป้อนวัสดุอุปกรณ์ แรงงานในองค์กร ลูกค้า ผู้จัดส่ง ผู้จัดเก็บ ผู้จัดจำหน่าย ชุมชนท้องถิ่น ฯลฯ โดยสามารถจำแนกออกเป็นฝั่งต้นน้ำ ฝั่งปลายน้ำ และภายในตัวองค์กรซึ่งมีพนักงานที่สามารถเป็นได้ทั้งลูกค้าและสมาชิกหนึ่งของชุมชนด้วย

การพิจารณาความเกี่ยวข้องของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ ควรคำนึงถึงผลกระทบที่มีนัยสำคัญอันเกิดจากการดำเนินงานขององค์กร โดยข้อพิจารณาที่สำคัญ คือ กิจกรรมขององค์กร ผลิตภัณฑ์ บริการ และความเกี่ยวโยงในห่วงโซ่ธุรกิจ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมกับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น หน่วยงานที่องค์กรมีส่วนแห่งความเป็นเจ้าของ อาทิ กิจการใหญ่ กิจการย่อย กิจการร่วมค้า ฯลฯ ความเกี่ยวโยงกับคู่ค้าในฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงกิจกรรมและความเกี่ยวโยงในรูปแบบอื่นระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มิใช่หน่วยงานของรัฐ และปัจเจกบุคคล

องค์กรอาจนำแนวทางหรือข้อมูลการระบุผู้มีส่วนได้เสียที่มีอยู่มาใช้สำหรับการพิจารณาความเกี่ยวข้องของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ โดยคำนึงถึงประสิทธิผลสูงสุด ที่สมควรตามเหตุปัจจัยและความมุ่งหมาย โดยที่องค์กรหนึ่งๆ อาจมีหลายห่วงโซ่คุณค่าเพื่อรองรับกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการที่หลากหลายขององค์กร

ทั้งนี้ การพิจารณาความเกี่ยวข้องของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ องค์กรอาจมีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เนื่องจากเงื่อนไขและสิ่งที่องค์กรดำเนินการมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา โดยผลลัพธ์ที่ได้ คือ ภาพในลักษณะองค์รวมของห่วงโซ่ธุรกิจที่องค์กรสามารถระบุได้ถึงความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียและผลกระทบในส่วนต่างๆ ของห่วงโซ่ธุรกิจ

บริบทความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจ จะมุ่งเน้นถึงความจำเป็นของการพิจารณาผลกระทบด้านความยั่งยืน ความเข้าใจในผลกระทบที่เกิดจากองค์กร และการพึ่งพิงทรัพยากรที่องค์กรได้รับจากระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเหตุให้องค์กรจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ งานวิจัยและการพยากรณ์แนวโน้มเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เป้าหมายและตัวบ่งชี้ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏในนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในแหล่งดำเนินงานขององค์กร รวมทั้งสมรรถนะการดำเนินงานขององค์กรในเรื่องนั้นๆ เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น มาเสริมการพิจารณาบริบทความยั่งยืน

นอกจากนี้ องค์กรควรใช้ข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาประกอบการพิจารณาทบทวนบริบทความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจ เช่น ขนาดของผลกระทบและนัยที่มีต่อการดำเนินงานในปัจจุบันและในอนาคต การเปรียบเทียบผลกระทบตามมาตราส่วน ตามเกณฑ์สัมบูรณ์ ตามขีดจำกัดระหว่างสากลและท้องถิ่น ผลที่ตามมาจากผลกระทบ ปริมาณและชนิดของผลที่เกิดขึ้น (ทั้งบวกและลบ) รวมทั้งผลกระทบภายนอก (Externalities) ความรุนแรงของผลกระทบที่สะสมเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลา และการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีนัยสำคัญเชิงสัมพัทธ์และเชิงสัมบูรณ์ขององค์กรที่มีต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

การพิจารณาบริบทความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจ ถือเป็นข้อต่อสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถขยายขอบเขตการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่จำกัดวงอยู่ในระดับองค์กร ไปสู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของสังคมโดยรวมได้ในที่สุด...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, April 04, 2013

ตอบโจทย์ความยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้มีงานสัมมนาที่น่าสนใจซึ่งจัดโดยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ Sustainability Reporting : "An Effective Tool for Corporate Communication in Sustainability Era" โดยในงานนี้ได้มีการเชิญ Ms.Nikki McKean-Wood ผู้จัดการอาวุโสด้านเครือข่ายสัมพันธ์ ของ Global Reporting Initiative (GRI) มาเป็นวิทยากรหลักเพื่อแนะนำเครื่องมือการสื่อสารขององค์กรในยุคแห่งความยั่งยืน

นับเป็นครั้งที่สองแล้ว ที่ GRI ได้มาจัดกิจกรรมในบ้านเรา โดยในครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2553 ที่ Mr. Enrique Torres ผู้จัดการอาวุโสด้านการสอนและการอบรมของ GRI ได้เดินทางมาจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อแนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย

การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และมีอัตราที่เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบันที่มีความต้องการใช้ข้อมูลเรื่องบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม มาประกอบการลงทุนและการทำธุรกรรมกับบริษัทและองค์กรที่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ลงทุนสถาบันจำนวน 5 แห่งในประเทศไทย ซึ่งบริหารเม็ดเงินรวมกันเกือบ 7 ล้านล้านบาท ได้ประกาศจุดยืนร่วมกันในการให้ความสำคัญที่จะพิจารณาความเหมาะสมในการทำธุรกรรมกับบริษัทและองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม หรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน

ปัจจุบัน มีหลายประเทศที่ส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจในประเทศของตน จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนเผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และมีองค์กรธุรกิจจำนวนเกือบ 5,000 แห่งทั่วโลกได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI โดยมีรายงานที่เผยแพร่แล้วนับหมื่นฉบับ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน จัดทำและเผยแพร่เอกสารแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป มีแนววิธีการจัดทำข้อมูลรายงานการดำเนินงานของกิจการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิงจากกรอบการรายงานของ GRI ที่ประกอบด้วย เนื้อหา คุณภาพ ขอบเขตของการรายงาน มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เกณฑ์วิธีตัวชี้วัด และการวัดระดับการรายงาน โดยจัดทำขึ้นเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน และส่วนที่เป็นวิธีจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI Sustainability Reporting Guidelines รุ่น 3.1 ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ GRI

ในประเทศไทย มีองค์กรที่ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI ฉบับ G3 และ G3.1 และเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนแล้วจำนวน 18 แห่ง อาทิ บมจ.บางจากปิโตรเลียม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ การบินไทย บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ท่าอากาศยานไทย ฯลฯ

บริษัทและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการให้การประกอบการของตนเองมีความยั่งยืน สามารถพัฒนากระบวนการรายงานแห่งความยั่งยืน ให้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสารกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้การดำเนินงานซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืน ถูกเฝ้าสังเกตและติดตามอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และมีการส่งผ่านข้อมูลไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อใช้ปรับแต่งนโยบายและกลยุทธ์ รวมถึงการปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร ด้วยการใช้รายงานแห่งความยั่งยืน เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและยกระดับบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, March 21, 2013

รายงาน CSR แบบบ่องตง

ปัจจุบัน เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระการดำเนินงานที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปว่าการดำเนินธุรกิจซึ่งมีเป้าหมายในการมุ่งแสวงหากำไรและความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการ

การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO26000) มีเป้าหมายยอดสุดอยู่ที่การสร้างผลได้สูงสุดในความทุ่มเทขององค์กร อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการสื่อสารเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร

แนวทางการสื่อสารเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่สำคัญ คือ การรายงานข้อมูล CSR ให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยที่ตัวรายงานสามารถจัดทำในรูปแบบที่เป็นรายงานฉบับแยกต่างหาก หรือจัดทำเป็นส่วนหนึ่งในรายงานประจำปีขององค์กร ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจการและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย

ในหลายประเทศ ได้มีการผลักดันบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ ให้จัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งการออกเป็นข้อกำหนด และให้เป็นไปโดยสมัครใจ โดยประเทศที่มีการออกเป็นกฎเกณฑ์ให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่อสาธารณะ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ ชิลี มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ ปากีสถาน สเปน อินเดีย เป็นต้น

การรายงานข้อมูล CSR ที่ดี ควรคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการ ที่ช่วยสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับตัวรายงาน ได้แก่ ขอบเขต (Scope) ของข้อมูลที่จะรายงาน ความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Inclusiveness) และสารัตถภาพ (Materiality) ของเนื้อหา

ในประเด็นเรื่องขอบเขตของข้อมูลที่จะรายงาน กิจการควรรายงานข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามหัวข้อที่อ้างอิงอยู่ในมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่เป็นสากล เช่น ISO 26000, UN Global Compact, GRI หรือแนวทางอันเป็นที่ยอมรับในประเทศนั้นๆ ซึ่งมักจะมีหัวข้อครอบคลุมในเรื่องต่างๆ ที่ประกอบด้วย การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม การต่อต้านการทุจริต การเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การจัดการสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม

ในประเด็นเรื่องความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย กิจการควรให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยคำนึงถึงความแตกต่างและความครอบคลุมตามลักษณะและประเภทของธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการเป็นได้ทั้งปัจเจกหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เช่น พนักงาน หรือเจ้าของกิจการ และมิได้เป็นส่วนหนึ่งในองค์กร แต่มีความสนใจต่อการดำเนินงานขององค์กร (Interest Parties) หรือได้รับผลจากการดำเนินงานขององค์กร (Affected Parties) เช่น ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนรอบถิ่นที่ตั้งสถานประกอบการ รวมทั้งผู้ที่ไม่สามารถแสดงตนหรือจัดตั้งกลุ่มเพื่อสะท้อนความต้องการของตน เช่น ผู้ด้อยโอกาส ชนรุ่นหลัง สัตว์ป่า ฯลฯ ซึ่งอาจถูกมองข้ามหรือละเลยจากการสำรวจของกิจการ

ในประเด็นเรื่องสารัตถภาพของเนื้อหาที่นำมารายงาน กิจการควรคำนึงถึงเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง (Relevant) ซึ่งส่งผลกระทบกับขีดความสามารถของกิจการต่อการสร้างคุณค่าทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว พร้อมกันกับการพิจารณาเรื่องที่มีนัยสำคัญ (Significant) ต่อขนาดของผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญ (Prioritization) ภายใต้เงื่อนไขการกำกับดูแลกิจการของบริษัทและความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

เนื้อหาที่นำมาเรียบเรียงไว้ในรายงาน ควรเป็นข้อมูลประเภทที่แสดงถึงผลลัพธ์หรือผลกระทบในภาพรวมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในแต่ละหัวข้อที่เห็นชัดและวัดได้ ไม่ควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของกิจกรรมและโครงการ หรือวิธีการและผลการดำเนินงานที่แยกเป็นรายกิจกรรมหรือรายโครงการ

และที่สำคัญ กิจการควรตระหนักว่าสิ่งที่มีนัยสำคัญซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างใหญ่หลวง คือ การหลีกเลี่ยงหรือละเว้นที่จะรายงานข้อมูลตามที่เป็นจริง หรือพยายามตกแต่งข้อมูล ปรับตัวเลข หน่วยวัด การนำเสนอกราฟิก อันทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

หวังว่าแนวทางการรายงานข้อมูล CSR ที่กล่าวมาข้างต้น คงจะเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมตัวในการจัดทำข้อมูล CSR ขององค์กร สำหรับการเปิดเผยต่อสาธารณชนในรายงานประจำปี หรือรายงานด้าน CSR ได้ไม่มากก็น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, March 14, 2013

'คอตเลอร์' กับการตลาดเพื่อโลกที่ดีขึ้น

ชื่อของฟิลิป คอตเลอร์ ในแวดวงการตลาด ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เขาเป็นเจ้าของตำรา Marketing Management ที่นักศึกษาบริหารธุรกิจทั่วโลกใช้เรียนในวิชาการตลาด ผลิตผลงานที่เป็นซีรี่ส์หนังสือการตลาดทั้งของตนเองและที่ร่วมกับนักเขียนอื่นๆ รวม 55 เล่ม มีบทความตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำกว่า 150 เรื่อง และยังเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง รวมทั้งเดินสายให้การฝึกอบรมและสัมมนาทั่วทุกภูมิภาคของโลก จวบจนปัจจุบันด้วยวัย 82 ปี

อีกด้านหนึ่ง คอตเลอร์ ยังเป็นผู้ผลักดันสำคัญในการนำศาสตร์ด้านการตลาดมาช่วยเหลือและพัฒนาสังคม เขาเป็นผู้นิยามคำว่า “Social Marketing” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 จากที่ตัวเองได้เกิดและเติบโตมาในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) พบเห็นความแตกต่างระหว่างคนมั่งมีและคนยากไร้ ฉุดให้เขามาสนใจในเรื่องของการกระจายรายได้ จนเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสำเร็จการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ทั้งในระดับโทและเอก

ในชีวิตการทำงาน คอตเลอร์ พยายามที่จะใช้ความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขสิ่งรบกวนจิตใจที่ได้เห็นปัญหาสังคมหลายเรื่องไม่ได้รับการดูแล หนึ่งในความพยายามนั้น คือ การนำเสนอเรื่องการตลาดเพื่อสังคม หรือ Social Marketing ที่เป็นการนำกลยุทธ์การตลาดในทางธุรกิจหรือที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ มาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยมุ่งให้เกิดผลที่เป็นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาวะของสังคมกลุ่มเป้าหมาย

ทัศนะของคอตเลอร์ นักการตลาดเพื่อสังคมมี 2 แบบด้วยกัน คือ แบบที่ใช้การสื่อสารสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยลำพัง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะทำได้เพียงการปรับเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างในระดับมโนสำนึก กับแบบฉบับของนักการตลาดเพื่อสังคม ที่คอตเลอร์เรียกว่าเป็นตัวจริง โดยนักการตลาดเพื่อสังคมกลุ่มนี้ จะนำเรื่อง 4P [Product, Price, Place, Promotion] มาผสมผสานกับหลัก STP [Segmentation, Targeting, Positioning] อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรม

คอตเลอร์ ชี้ให้เห็นว่า โลกยุคปัจจุบัน กำลังต้องการสิ่งที่เรียกว่า ‘การตลาดเพื่อสังคมฝั่งต้นน้ำ’ หรือ Upstream Social Marketing ที่มุ่งไปยังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคมผู้ประกอบการ นอกเหนือจากการตลาดเพื่อสังคมฝั่งปลายน้ำ หรือ Downstream Social Marketing ซึ่งมุ่งเปลี่ยนแปลงที่พฤติกรรมของสังคมผู้บริโภคอย่างเดียว

ตัวอย่างเช่น ปัญหาโรคอ้วน ที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ คอตเลอร์ ระบุว่าไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของผู้บริโภค (ปลายน้ำ) ให้ถูกหลักโภชนาการเพียงฝั่งเดียว หากฝั่งผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม (ต้นน้ำ) โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำอัดลม ร้านอาหารจานด่วน ยังกระหน่ำโฆษณาอย่างไม่ยั้ง ในทางปริมาณ แบบบิ๊กไซส์ บิ๊กคัพ ทั้งเพิ่มความหวาน ความมัน ความเค็ม ความเผ็ด สนองรสปาก โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ และสุขภาพกันอย่างจริงจัง

คอตเลอร์ในวันนี้ ยังมีแนวคิดในเรื่องการแก้ปัญหาสังคมหลายอย่าง โดยพยายามโยงให้เห็นถึงแนวคิดการประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship) นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) รวมทั้งรูปแบบของความเคลื่อนไหวเพื่อสังคม (Social Activism) อื่นๆ ที่เชื่อมโยงและสามารถใช้ประโยชน์จากการตลาดเพื่อสังคมที่เขาเป็นผู้นำเสนอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างระเบียบวิธีใหม่ๆ ทางการตลาด ในอันที่จะสร้างโลกใบนี้ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

จากความมุ่งมั่นของคอตเลอร์ในเรื่องการตลาดเพื่อสังคม ทำให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาได้รับการเสนอชื่อเป็นบุคคลแรกสำหรับรางวัล “Marketing for a Better World” Award จากมูลนิธิสมาคมการตลาดแห่งสหรัฐอเมริกา

(เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ฟิลิป คอตเลอร์ โดยสมาคมการตลาดเพื่อสังคมระหว่างประเทศ, มกราคม 2556)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Wednesday, March 06, 2013

Philip Kotler in Thailand

Philip Kotler in Thailandเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556 ศ.ดร.ฟิลิป คอตเลอร์ ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเป็นวิทยากรในงานสัมมนาและอบรมในหัวข้อ "Value-Driven Marketing" ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก ผมได้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาและอบรมในครั้งนี้ และได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คอตเลอร์ ในช่วงพบปะสื่อมวลชนด้วย งานในครั้งนี้จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านการตลาดยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยการสร้างคุณค่าจากมุมมองของนักการตลาดระดับโลก เพื่อที่นักการตลาด นักธุรกิจไทย จะได้นำไปประยุกต์ใช้ และเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจ สังคม และชุมชน ไปพร้อมกัน

ในงาน คอตเลอร์ได้แบ่งเนื้อหาของการนำเสนอออกเป็น 4 ช่วง โดยช่วงแรก เป็นเรื่องของการนำการตลาดมาขับเคลื่อนการเติบโตของกิจการ (Using marketing to drive your company's growth) ช่วงที่ 2 เป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านสู่การตลาดยุค 3.0 (Moving toward marketing 3.0) ช่วงที่ 3 เป็นเรื่องของการสร้างตราสินค้าที่แข็งแกร่ง (Building a strong brand) และในช่วงที่ 4 เป็นเรื่องของนวัตกรรมนำเส้นทางสู่ความสำเร็จ (Innovating your path to success) พร้อมด้วยช่วงการสัมภาษณ์เจาะลึก โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น ประธาน บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในประเด็น "How to develop a superior company reputation through sustainability-driven thinking" ซึ่งเป็นการถอดแนวคิดการตลาด 3.0 สู่การขับเคลื่อนองค์กรให้เหนือกว่าด้วยการทำการตลาดแบบยั่งยืน

ดูวีดีโอเกี่ยวกับงานสัมมนา
คอตเลอร์ ชี้เทรนด์การตลาดยุคใหม่ (กรุงเทพธุรกิจทีวี)

ฟังบทสัมภาษณ์สรุปเนื้อหางานสัมมนา
 สรุปสัมมนาคอตเลอร์ (ตอนที่ 1)
 สรุปสัมมนาคอตเลอร์ (ตอนที่ 2)
 ย่อยหนังสือคอตเลอร์เล่ม Good Works

ข่าวและบทความหลังงานสัมมนา
จับเข่าคุยกับ Philip Kotler ค้นหาสูตร Marketing 4.0 (กาแฟดำ)
“ฟิลิป คอตเลอร์” เจ้าของแนวคิด Marketing 3.0 เปิดคอร์ส “Values Driven Marketing” (ไทยพับลิก้า)
'คอตเลอร์' กับการตลาดเพื่อโลกที่ดีขึ้น (หน้าต่าง CSR)
ถอดรหัสคอตเลอร์ (1) (Marketing Hub)
'คอตเลอร์'เชียร์หนุนเอสเอ็มอี (การตลาด Marketing)
เปิดคัมภีร์ “ฟิลิป ค็อตเลอร์”ทำธุรกิจด้วยจิตวิญาณพร้อมปรับตัวสู่ยุค 4.0 (Management&HR)


Thursday, February 28, 2013

ผู้ว่าฯ กทม. กับนโยบาย CSR

ปัจจุบันเรื่องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในภาคธุรกิจเอกชน แต่ยังรวมไปถึงบทบาทที่หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนกลาง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องแสดงต่อประชาชนพลเมืองผ่านกระบวนการดำเนินงานตั้งแต่ระดับของการกำหนดนโยบาย การวางแผนงาน การปฏิบัติหน้าที่ และการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างรับผิดชอบต่อสังคม

ในต่างประเทศ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะปรากฏในรูปของการบริหารกิจการเมืองที่ผนวกเอาหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ มีการรายงานผลการดำเนินงานด้วยรูปแบบของรายงานที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น Sustainability Report โดยตัวอย่างของเมืองที่นำเอาแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม มาเป็นกลไกสำคัญในการบริหารและการรายงาน อาทิ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองเคปทาวน์ ประเทศนิวซีแลนด์ และเมืองวูลเวอร์แฮมป์ตั้น ประเทศอังกฤษ

กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นเมืองชั้นนำซึ่งได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ และเป็นหนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (ICLEI - Local Governments for Sustainability) ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วม 1,012 เมือง ใน 84 ประเทศทั่วโลก สามารถนำเอาแนวทางการบริหารกิจการเมืองที่ผนวกเอาเรื่องของการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอย่างเป็นรูปธรรม

กรุงเทพมหานคร ควรกำหนดนโยบายการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมให้มีความสอดคล้องกับนโยบายในระดับประเทศและสอดรับกับทิศทางของการพัฒนาเมืองในระดับสากล ภายใต้แนวทางพื้นฐานหลัก 3 ประการคือ

ประการที่หนึ่ง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับสำนักและสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครขององค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ

ประการที่สอง สร้างกลไกและแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมบนพื้นฐานของความโปร่งใสและความเป็นเอกภาพ เพื่อให้องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมและป้องกันมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน

ประการที่สาม ผลักดันให้มีการบรรจุเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในนโยบายอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่อง และเอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ

กรุงเทพมหานคร ควรกำหนดวาระของการดำเนินนโยบาย CSR ให้สอดคล้องกับแผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 4 ปี ตามวาระของผู้บริหาร โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ดำเนินการโดยมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จในปี 2556 และระยะการดำเนินนโยบาย 3 ปี (พ.ศ. 2557-2559) โดยนโยบาย CSR ที่ควรดำเนินการในปีแรก ได้แก่

(1) ศึกษารวบรวมและจัดระดับองค์ความรู้ด้าน CSR เพื่อใช้ในการเผยแพร่ โดยกำหนดให้มีการวางแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้มีการนำนโยบาย CSR ของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ไปเผยแพร่ในระดับสำนักและสำนักงานเขต

(2) ริเริ่มบูรณาการงาน CSR ไว้ในแผนปฏิบัติราชการ โดยมีการประสานและสนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของสำนักและสำนักงานเขต การกำหนดให้มีกิจกรรม ตัวชี้วัด และเกณฑ์การชี้วัดการปฏิบัติงานด้าน CSR ที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม ระยะ 4 ปี

(3) จัดหาช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้าน CSR อย่างทั่วถึง ด้วยการใช้สื่อในปัจจุบันที่กรุงเทพมหานครมีอยู่ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือด้วยการสร้างช่องทางใหม่ในการสื่อสาร เช่น Bangkok City Channel สำหรับการเผยแพร่เรื่อง CSR โดยเฉพาะ การจัดฝึกอบรมในระดับสำนักและสำนักงานเขต การจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้เกิดการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการต่างๆ ในวงกว้าง

(4) มอบหมายให้มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้มีการติดตามความก้าวหน้าและการประเมินผลการดำเนินงานด้าน CSR อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับการดำเนินงานในปีแรก และเพื่อใช้เป็นข้อมูลฐานตั้งต้น (Baseline Data) สำหรับการดำเนินนโยบายในระยะ 3 ปีข้างหน้า

และมีนโยบาย CSR ที่ขอนำเสนอให้ กทม ดำเนินการภายในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2557-2559) โดยควรผนวกการดำเนินนโยบาย CSR เข้ากับการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ใน 3 เรื่องหลักด้วยกัน คือ Gateway - Green - Good Life

นโยบาย CSR สำหรับการพัฒนามหานครให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Gateway) ควรประกอบด้วย

1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา วัฒนธรรม และสุขภาพ โดยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและองค์กรอิสระ ในการดำเนินงานร่วมกัน ภายใต้แบบแผนที่กรุงเทพมหานครกำหนดขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และสุขภาพ โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น กำหนดแนวทางในการบริหารราชการกรุงเทพมหานครที่เอื้อต่อการพัฒนาและการจัดการด้านการศึกษา วัฒนธรรม และสุขภาพ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานในรูปของ CSR

2) ปลูกจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในภาคธุรกิจ นำร่องในธุรกิจท่องเที่ยว ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงาม รวมถึงการส่งเสริม CSR ในสายอุปทาน (supply chain) ของการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น สร้างกลไกและช่องทางให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวที่ปฏิบัติตามนโยบาย CSR อย่างเป็นรูปธรรม

นโยบาย CSR สำหรับการพัฒนามหานครให้มีความยั่งยืน เท่าเทียม โปร่งใส (Green) ควรประกอบด้วย

3) เพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเก็บภาษีหน่วยงานหรือองค์กรที่ก่อมลพิษ มีการผลักดันให้ CSR ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และมีการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น ส่งเสริมให้มีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหน่วยงานในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นแบบอย่าง

4) เป็นมหานครตัวอย่างแห่งการจัดการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหานครที่น่าอยู่และยั่งยืน (Sustainable Metropolis) ตามวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานคร (Bangkok - 2020) ในบทบาทที่เป็นทั้งการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของกรุงเทพมหานครเอง และบทบาทในการผลักดันให้หน่วยงานอื่นๆ ได้ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการใช้กลไกที่มีอยู่ โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น จัดให้มีโครงสร้างและหน่วยงานเพื่อรองรับการบริหารจัดการงานด้าน CSR ที่ชัดเจน หรือ ประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรที่ขับเคลื่อน CSR จนมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนเป็นประจำทุกปี

นโยบาย CSR สำหรับการพัฒนามหานครให้สวยงาม ปลอดภัย น่าอยู่ เข้มแข็ง มีความสุข (Good Life) ควรประกอบด้วย

5) เสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และอยู่ดีมีสุข รวมทั้งส่งเสริมให้คนในกรุงเทพมหานครมีชีวิตและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับชุมชนและเครือข่ายภาคีต่างๆ โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เอาใจใส่ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

6) สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนส่งเสริมการฝึกอาชีพและเผยแพร่วิถีชีวิตพอเพียงให้แก่ประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักในการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้และการรณรงค์ทางสื่อต่างๆ ในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น ร่วมกับบริษัท ห้างร้านต่างๆ เปิดโอกาสให้คนในชุมชนที่อยู่รายรอบสถานประกอบการเข้าฝึกงานเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการทำงานของตนเอง

ฝากท่านผู้ว่าฯ คนใหม่ไว้ด้วยครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, February 14, 2013

CSR แห่งความรัก

วันนี้เป็นวันแห่งความรัก ชาว CSR ที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม อาจจะมีวิธีแสดงความรักต่อสังคมที่แตกต่างกันไป บทความหน้าต่าง CSR ในวันแห่งความรักนี้ จึงขอประมวลวิธีแสดงความรักของชาว CSR ที่มีต่อสังคมใน 3 ประเภท ดังนี้

ชาว CSR ประเภท ‘รักที่จะให้’ คือ การดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานที่ชาว CSR กลุ่มนี้สังกัดอยู่ ซึ่งโดยมากเป็นองค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไร ในรูปของการให้ การบริจาค และการอาสาสมัคร เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านต่างๆ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการนั้น มักแยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการหลักของกิจการและเกิดขึ้นภายหลัง เช่น การแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ การบริจาคเงิน วัสดุใช้สอยให้แก่ชุมชนรอบถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการ การเป็นอาสาสมัครช่วยบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เรียกว่า CSR-after-process และมักเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือเวลาทำงานตามปกติ

ชาว CSR ประเภท ‘รักที่จะทำ’ คือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานของชาว CSR หรือเป็นการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น การป้องกันหรือกำจัดมลพิษในกระบวนการผลิตเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามข้อกำหนดในฉลากผลิตภัณฑ์ การเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องครบถ้วนต่อผู้บริโภค การชดเชยความเสียหายให้แก่ลูกค้าที่เกิดจากความผิดพลาดและความบกพร่องของพนักงาน ซึ่งการดำเนินความรับผิดชอบเหล่านี้ เรียกว่า CSR-in-process และมักเป็นกิจกรรมที่อยู่ในเวลาทำงานปกติของกิจการ

ชาว CSR ประเภท ‘รักที่จะเป็น’ คือ การก่อตั้งหรือปรับเปลี่ยนองค์กรหรือหน่วยงานของชาว CSR ที่เกิดจากการผสมผสานอุดมการณ์ในแบบนักพัฒนาสังคมเข้ากับการบริหารจัดการในแบบผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการผนวกจุดแข็งระหว่างแผนงานของภาคประชาสังคมกับกระบวนการที่มีประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ในอันที่จะสร้างให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในทุกกระบวนการของกิจการ ขณะเดียวกันก็สามารถอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งพาการดำเนินงานของตนเอง แทนการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกหรือได้รับการอุดหนุนจากภาษีของประชาชน ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้ เรียกว่าเป็น CSR-as-process และชาว CSR ที่บริหารองค์กรเหล่านี้ มักเรียกตัวเองว่า ผู้ประกอบการสังคม (social entrepreneur)

อันที่จริงในทุกองค์กร ล้วนแต่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงความเข้มข้นของการดำเนินงานที่มีมากน้อยไม่เหมือนกัน องค์กรหนึ่งอาจมีความสำนึกรับผิดชอบสูงกว่า ขณะที่อีกองค์กรหนึ่งอาจมีการใช้ทรัพยากรในการดำเนิน CSR ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า หรือองค์กรหนึ่งอาจสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางกว่า หรือองค์กรอีกแห่งหนึ่งอาจส่งมอบผลลัพธ์จากการดำเนิน CSR ให้แก่สังคมได้ประสิทธิผลมากกว่า ดังนั้น การพิจารณาเรื่อง CSR ในองค์กรหนึ่งๆ จึงต้องคำนึงถึงทั้ง ‘วิธีการ-ผลลัพธ์’ ควบคู่กัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรักด้วยวิธีใดก็ตาม อย่างน้อยที่สุด สังคมจะได้รับการดูแลและเอาใจใส่จากชาว CSR ไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญคือ ชาว CSR ต้องไม่เลือกที่จะรักสังคมเพียงบางช่วงเวลา ขณะที่ในเวลาอื่น ยังคงสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่รับผิดชอบ หรือขาดความตระหนักในคุณค่าแห่งความรักที่มอบให้แก่กัน จนทำให้นิยามของ CSR แห่งความรัก กลายเป็นเรื่อง ‘ลูบหน้าปะจมูก’ หรือ ‘ตบหัวแล้วลูบหลัง’ ที่ไปบั่นทอนคุณค่าของเรื่อง CSR ลงอย่างน่าเสียดาย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, February 07, 2013

การเปิดเผยข้อมูล CSR ในรายงานประจำปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ได้ผลักดันให้ทุกภาคส่วนของสังคม หันมาให้ความสนใจการพัฒนาการดำเนินงานที่คำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างมีความเชื่อมโยงกัน จนกลายเป็นทิศทางหลักของโลก ที่นานาประเทศให้ความเห็นชอบร่วมกันสำหรับใช้เป็นกรอบการพัฒนาทั้งในในระดับองค์กรจนถึงระดับประเทศ

ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เปิดเผยในเวทีแถลงทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2556 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญในการสร้างรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุน สังคม และประเทศ ผ่านทางสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาความรู้และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในกำกับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สำหรับในปี 2556 นี้ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ได้กำหนดแผนงานที่สำคัญซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลักการ CSR ยุคการพัฒนาที่ยั่งยืน 2.0 กล่าวคือ การส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ (Corporate Sustainability Reporting)

ซึ่งในปีที่ผ่านมา สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ได้จัดทำและเผยแพร่คู่มือแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามหลักการรายงานสากล GRI (Global Reporting Initiatives) ขึ้น และในปีนี้ มีแผนที่จะจัดอบรมสัมมนาเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนได้รับความรู้ความเข้าใจและสามารถนำหลักการรายงานดังกล่าวไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบัน ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญในการเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลมากขึ้น การจัดทำรายงานเปิดเผยข้อมูลตามหลัก GRI จะทำให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้อง เกี่ยวกับกลยุทธ์และการดำเนินงานของบริษัทในเรื่องดังกล่าวประกอบการตัดสินใจลงทุน

อีกทั้งการจัดทำรายงานดังกล่าว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่องค์กรต่างๆ สามารถใช้ประเมินตนเอง เพื่อให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้ทราบว่า ยังมีกระบวนการทำงานใดบ้างที่องค์กรต้องปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ในช่วงเสวนา "Integrated CSR Reporting" ยังได้มีการชี้แจงแนวทางการเปิดเผยข้อมูล CSR ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และรายงานประจำปี โดยคุณวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน CSR ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี ส่วนบริษัทที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ใหม่ ก็ให้เปิดเผยข้อมูลไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) โดยประกาศนี้คาดว่าจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป

ในส่วนของสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานด้านวิชาการ ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ได้มีการยกร่างกรอบการรายงานข้อมูล CSR ในเล่มรายงานประจำปี (Integrated CSR Reporting Framework) เพื่อสำรวจความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียน ในการใช้กรอบการรายงานฉบับดังกล่าว เป็นแนวทางสำหรับจัดทำรายงาน CSR ที่สอดคล้องกับหลักการรายงานสากล GRI

โดยมีเนื้อหาที่แนะนำให้รายงานประกอบด้วย 10 หัวข้อ ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม การต่อต้านการทุจริต การเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การจัดการสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามเอกสารแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (พ.ศ. 2555) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้น

สำหรับท่านที่ต้องการศึกษาและแสดงความคิดเห็นต่อร่างกรอบการรายงานข้อมูล CSR ในเล่มรายงานประจำปีฉบับดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดเนื้อหาพร้อมแบบแสดงความคิดเห็นได้ที่ http://bit.ly/iCSRreport...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]