Thursday, February 28, 2013

ผู้ว่าฯ กทม. กับนโยบาย CSR

ปัจจุบันเรื่องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในภาคธุรกิจเอกชน แต่ยังรวมไปถึงบทบาทที่หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนกลาง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องแสดงต่อประชาชนพลเมืองผ่านกระบวนการดำเนินงานตั้งแต่ระดับของการกำหนดนโยบาย การวางแผนงาน การปฏิบัติหน้าที่ และการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างรับผิดชอบต่อสังคม

ในต่างประเทศ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะปรากฏในรูปของการบริหารกิจการเมืองที่ผนวกเอาหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ มีการรายงานผลการดำเนินงานด้วยรูปแบบของรายงานที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น Sustainability Report โดยตัวอย่างของเมืองที่นำเอาแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม มาเป็นกลไกสำคัญในการบริหารและการรายงาน อาทิ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองเคปทาวน์ ประเทศนิวซีแลนด์ และเมืองวูลเวอร์แฮมป์ตั้น ประเทศอังกฤษ

กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นเมืองชั้นนำซึ่งได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ และเป็นหนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (ICLEI - Local Governments for Sustainability) ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วม 1,012 เมือง ใน 84 ประเทศทั่วโลก สามารถนำเอาแนวทางการบริหารกิจการเมืองที่ผนวกเอาเรื่องของการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอย่างเป็นรูปธรรม

กรุงเทพมหานคร ควรกำหนดนโยบายการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมให้มีความสอดคล้องกับนโยบายในระดับประเทศและสอดรับกับทิศทางของการพัฒนาเมืองในระดับสากล ภายใต้แนวทางพื้นฐานหลัก 3 ประการคือ

ประการที่หนึ่ง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับสำนักและสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครขององค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ

ประการที่สอง สร้างกลไกและแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมบนพื้นฐานของความโปร่งใสและความเป็นเอกภาพ เพื่อให้องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมและป้องกันมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน

ประการที่สาม ผลักดันให้มีการบรรจุเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในนโยบายอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่อง และเอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ

กรุงเทพมหานคร ควรกำหนดวาระของการดำเนินนโยบาย CSR ให้สอดคล้องกับแผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 4 ปี ตามวาระของผู้บริหาร โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ดำเนินการโดยมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จในปี 2556 และระยะการดำเนินนโยบาย 3 ปี (พ.ศ. 2557-2559) โดยนโยบาย CSR ที่ควรดำเนินการในปีแรก ได้แก่

(1) ศึกษารวบรวมและจัดระดับองค์ความรู้ด้าน CSR เพื่อใช้ในการเผยแพร่ โดยกำหนดให้มีการวางแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้มีการนำนโยบาย CSR ของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ไปเผยแพร่ในระดับสำนักและสำนักงานเขต

(2) ริเริ่มบูรณาการงาน CSR ไว้ในแผนปฏิบัติราชการ โดยมีการประสานและสนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของสำนักและสำนักงานเขต การกำหนดให้มีกิจกรรม ตัวชี้วัด และเกณฑ์การชี้วัดการปฏิบัติงานด้าน CSR ที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม ระยะ 4 ปี

(3) จัดหาช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้าน CSR อย่างทั่วถึง ด้วยการใช้สื่อในปัจจุบันที่กรุงเทพมหานครมีอยู่ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือด้วยการสร้างช่องทางใหม่ในการสื่อสาร เช่น Bangkok City Channel สำหรับการเผยแพร่เรื่อง CSR โดยเฉพาะ การจัดฝึกอบรมในระดับสำนักและสำนักงานเขต การจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้เกิดการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการต่างๆ ในวงกว้าง

(4) มอบหมายให้มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้มีการติดตามความก้าวหน้าและการประเมินผลการดำเนินงานด้าน CSR อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับการดำเนินงานในปีแรก และเพื่อใช้เป็นข้อมูลฐานตั้งต้น (Baseline Data) สำหรับการดำเนินนโยบายในระยะ 3 ปีข้างหน้า

และมีนโยบาย CSR ที่ขอนำเสนอให้ กทม ดำเนินการภายในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2557-2559) โดยควรผนวกการดำเนินนโยบาย CSR เข้ากับการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ใน 3 เรื่องหลักด้วยกัน คือ Gateway - Green - Good Life

นโยบาย CSR สำหรับการพัฒนามหานครให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Gateway) ควรประกอบด้วย

1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา วัฒนธรรม และสุขภาพ โดยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและองค์กรอิสระ ในการดำเนินงานร่วมกัน ภายใต้แบบแผนที่กรุงเทพมหานครกำหนดขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และสุขภาพ โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น กำหนดแนวทางในการบริหารราชการกรุงเทพมหานครที่เอื้อต่อการพัฒนาและการจัดการด้านการศึกษา วัฒนธรรม และสุขภาพ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานในรูปของ CSR

2) ปลูกจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในภาคธุรกิจ นำร่องในธุรกิจท่องเที่ยว ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงาม รวมถึงการส่งเสริม CSR ในสายอุปทาน (supply chain) ของการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น สร้างกลไกและช่องทางให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวที่ปฏิบัติตามนโยบาย CSR อย่างเป็นรูปธรรม

นโยบาย CSR สำหรับการพัฒนามหานครให้มีความยั่งยืน เท่าเทียม โปร่งใส (Green) ควรประกอบด้วย

3) เพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเก็บภาษีหน่วยงานหรือองค์กรที่ก่อมลพิษ มีการผลักดันให้ CSR ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และมีการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น ส่งเสริมให้มีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหน่วยงานในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นแบบอย่าง

4) เป็นมหานครตัวอย่างแห่งการจัดการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหานครที่น่าอยู่และยั่งยืน (Sustainable Metropolis) ตามวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานคร (Bangkok - 2020) ในบทบาทที่เป็นทั้งการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของกรุงเทพมหานครเอง และบทบาทในการผลักดันให้หน่วยงานอื่นๆ ได้ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการใช้กลไกที่มีอยู่ โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น จัดให้มีโครงสร้างและหน่วยงานเพื่อรองรับการบริหารจัดการงานด้าน CSR ที่ชัดเจน หรือ ประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรที่ขับเคลื่อน CSR จนมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนเป็นประจำทุกปี

นโยบาย CSR สำหรับการพัฒนามหานครให้สวยงาม ปลอดภัย น่าอยู่ เข้มแข็ง มีความสุข (Good Life) ควรประกอบด้วย

5) เสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และอยู่ดีมีสุข รวมทั้งส่งเสริมให้คนในกรุงเทพมหานครมีชีวิตและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับชุมชนและเครือข่ายภาคีต่างๆ โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เอาใจใส่ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

6) สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนส่งเสริมการฝึกอาชีพและเผยแพร่วิถีชีวิตพอเพียงให้แก่ประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักในการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้และการรณรงค์ทางสื่อต่างๆ ในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น ร่วมกับบริษัท ห้างร้านต่างๆ เปิดโอกาสให้คนในชุมชนที่อยู่รายรอบสถานประกอบการเข้าฝึกงานเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการทำงานของตนเอง

ฝากท่านผู้ว่าฯ คนใหม่ไว้ด้วยครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: