Thursday, February 14, 2013

CSR แห่งความรัก

วันนี้เป็นวันแห่งความรัก ชาว CSR ที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม อาจจะมีวิธีแสดงความรักต่อสังคมที่แตกต่างกันไป บทความหน้าต่าง CSR ในวันแห่งความรักนี้ จึงขอประมวลวิธีแสดงความรักของชาว CSR ที่มีต่อสังคมใน 3 ประเภท ดังนี้

ชาว CSR ประเภท ‘รักที่จะให้’ คือ การดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานที่ชาว CSR กลุ่มนี้สังกัดอยู่ ซึ่งโดยมากเป็นองค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไร ในรูปของการให้ การบริจาค และการอาสาสมัคร เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านต่างๆ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการนั้น มักแยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการหลักของกิจการและเกิดขึ้นภายหลัง เช่น การแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ การบริจาคเงิน วัสดุใช้สอยให้แก่ชุมชนรอบถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการ การเป็นอาสาสมัครช่วยบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เรียกว่า CSR-after-process และมักเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือเวลาทำงานตามปกติ

ชาว CSR ประเภท ‘รักที่จะทำ’ คือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานของชาว CSR หรือเป็นการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น การป้องกันหรือกำจัดมลพิษในกระบวนการผลิตเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามข้อกำหนดในฉลากผลิตภัณฑ์ การเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องครบถ้วนต่อผู้บริโภค การชดเชยความเสียหายให้แก่ลูกค้าที่เกิดจากความผิดพลาดและความบกพร่องของพนักงาน ซึ่งการดำเนินความรับผิดชอบเหล่านี้ เรียกว่า CSR-in-process และมักเป็นกิจกรรมที่อยู่ในเวลาทำงานปกติของกิจการ

ชาว CSR ประเภท ‘รักที่จะเป็น’ คือ การก่อตั้งหรือปรับเปลี่ยนองค์กรหรือหน่วยงานของชาว CSR ที่เกิดจากการผสมผสานอุดมการณ์ในแบบนักพัฒนาสังคมเข้ากับการบริหารจัดการในแบบผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการผนวกจุดแข็งระหว่างแผนงานของภาคประชาสังคมกับกระบวนการที่มีประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ในอันที่จะสร้างให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในทุกกระบวนการของกิจการ ขณะเดียวกันก็สามารถอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งพาการดำเนินงานของตนเอง แทนการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกหรือได้รับการอุดหนุนจากภาษีของประชาชน ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้ เรียกว่าเป็น CSR-as-process และชาว CSR ที่บริหารองค์กรเหล่านี้ มักเรียกตัวเองว่า ผู้ประกอบการสังคม (social entrepreneur)

อันที่จริงในทุกองค์กร ล้วนแต่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงความเข้มข้นของการดำเนินงานที่มีมากน้อยไม่เหมือนกัน องค์กรหนึ่งอาจมีความสำนึกรับผิดชอบสูงกว่า ขณะที่อีกองค์กรหนึ่งอาจมีการใช้ทรัพยากรในการดำเนิน CSR ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า หรือองค์กรหนึ่งอาจสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางกว่า หรือองค์กรอีกแห่งหนึ่งอาจส่งมอบผลลัพธ์จากการดำเนิน CSR ให้แก่สังคมได้ประสิทธิผลมากกว่า ดังนั้น การพิจารณาเรื่อง CSR ในองค์กรหนึ่งๆ จึงต้องคำนึงถึงทั้ง ‘วิธีการ-ผลลัพธ์’ ควบคู่กัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรักด้วยวิธีใดก็ตาม อย่างน้อยที่สุด สังคมจะได้รับการดูแลและเอาใจใส่จากชาว CSR ไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญคือ ชาว CSR ต้องไม่เลือกที่จะรักสังคมเพียงบางช่วงเวลา ขณะที่ในเวลาอื่น ยังคงสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่รับผิดชอบ หรือขาดความตระหนักในคุณค่าแห่งความรักที่มอบให้แก่กัน จนทำให้นิยามของ CSR แห่งความรัก กลายเป็นเรื่อง ‘ลูบหน้าปะจมูก’ หรือ ‘ตบหัวแล้วลูบหลัง’ ที่ไปบั่นทอนคุณค่าของเรื่อง CSR ลงอย่างน่าเสียดาย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: