จากฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก ในข้อมูลหมวดที่เป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) Target 12.6 – Country Tracker ในรอบการรายงานปี 2558 ประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยจำนวน 41 เล่ม
ในปี พ.ศ.2559 สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าเป็น GRI Data Partner เพื่อร่วมจัดทำฐานข้อมูล SDD ของ GRI ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 12.6 ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศ ผลักดันให้กิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท
ทำให้ ในรอบการรายงานปี 2559 ประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 108 เล่ม (เพิ่มขึ้น 1.6 เท่า) และในรอบการรายงานปี 2560 เพิ่มจำนวนเป็น 120 เล่ม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11)
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานข้อมูล SDD ของ GRI มากเป็นอันดับ 5 ของโลก
เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการส่งเสริมให้กิจการมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ได้แก่ การประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่สถาบันไทยพัฒน์จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ SDC ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน ในรูปแบบของการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรูปแบบอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืนของธุรกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน
ในการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ปี 2562 แบ่งออกเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ Sustainability Disclosure Award (รางวัลเกียรติคุณ) มีองค์กรที่ได้รับรางวัล จำนวน 27 แห่ง Sustainability Disclosure Recognition (ประกาศเกียรติคุณ) มีองค์กรที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ จำนวน 21 แห่ง และ Sustainability Disclosure Acknowledgement (กิตติกรรมประกาศ) มีองค์กรที่ได้รับกิตติกรรมประกาศ จำนวน 36 แห่ง ตามลำดับ
สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA* ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 45% ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 35% ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนน 20% ตามลำดับ
ทั้งนี้ การคัดเลือกบริษัทที่ได้รับรางวัล พิจารณาจากข้อมูลความยั่งยืนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ รายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมบูรณาการในรายงานประจำปี หรือรายงานในรูปแบบอื่น ทั้งที่เป็นรูปเล่มรายงาน ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ อินโฟกราฟิก ฯลฯ โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม
สำหรับกิจกรรมการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2562 ภายใต้ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (SDC) ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 104 องค์กร นอกจากจะเป็นการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่องค์กรที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะแล้ว ยังต้องการเชิดชูองค์กรธุรกิจที่ได้รับรางวัลทั้ง 84 แห่ง ที่ได้ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ 12.6 ร่วมกันด้วย
ขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในปีนี้ ทั้ง 84 ราย และหวังว่าจะสามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป
--------------------------------------
* CERES ย่อมาจาก Coalition for Environmentally Responsible Economies หรือแนวร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และ ACCA ย่อมาจาก the Association of Chartered Certified Accountants หรือสมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Sunday, December 22, 2019
Sunday, December 08, 2019
Social Business ธุรกิจในทศวรรษ 2020
ศ.มูฮัมมัด ยูนุส ผู้บุกเบิกแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ได้นิยาม Social Business ไว้ว่า เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และที่น่าสนใจ คือ โมเดล Social Business สามารถใช้เงินทุนให้เกิดประโยชน์แก่สังคม แตกต่างจากธุรกิจปกติ โดยเงินต้นที่เป็นทุนยังอยู่ครบ
ด้วยเหตุที่การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ทำให้โครงสร้างหรือรูปแบบการถือครองหุ้นเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนบุคคล จึงไม่มีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมในภาคส่วนนี้ ยูนุสใช้คำเรียกว่าเป็น Citizen Sector อันหมายถึงกลุ่มของปัจเจกชนซึ่งทำงานอยู่ในภาคเอกชน ที่นำความเชี่ยวชาญหลัก (Core Expertise) ในธุรกิจ มาใช้แก้ไขปัญหาสังคมส่วนรวม แทนการใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน
ทั้งนี้ เงินลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม เมื่อใดที่เจ้าของเงินลงทุนต้องการเอาเงินต้นกลับคืน ก็สามารถทำได้ภายใต้ระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ส่วนกำไรที่ทำมาหาได้ทั้งหมดระหว่างดำเนินงาน ต้องคงไว้ในกิจการ
Social Business ไม่มีการปันผลกำไร (Non-dividend) เนื่องจากไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าหรือความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม จึงมีอิสระที่จะเลือกเข้าถึงตลาดในส่วนที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากธุรกิจปกติ เช่น การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาวะหรือยกระดับคุณภาพชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพะวงเรื่องการทำกำไรสูงสุด
ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการเงินลงทุนที่ได้รับโดยไม่ให้ขาดทุน (Non-loss) สร้างเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงกิจการ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินอุดหนุนจากภายนอก เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มุ่งสร้างคุณค่าสูงสุด (Maximize Value) ให้แก่สังคม ตรงกันข้ามกับธุรกิจปกติที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ การมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง มิได้เป็นเงื่อนไขในการจำกัดขนาดของ Social Business แต่อย่างใด ธุรกิจเพื่อสังคมบางแห่ง เป็นกิจการขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจจัดหาพลังงานสะอาดให้แก่ครัวเรือนในชนบท ที่ชื่อ กรามีน ศักติ (แปลว่า กำลัง) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1996 ในรูปองค์กรไม่แสวงหากำไร และได้แปลงสภาพเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในปี ค.ศ.2010 ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ 2,834 ล้านบาท และมีพนักงานทำงานอยู่กว่า 12,000 คน
Social Business ตามแนวคิดของยูนุส ก่อประโยชน์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคม โดยประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ได้แก่ การแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรมที่ไม่ผูกติดกับเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ การสร้างทางเลือกให้แก่กลุ่มเป้าหมายจากการเป็นผู้ที่รอรับความช่วยเหลือ เป็นผู้ที่มีกำลังซื้อในระดับราคาที่จับจ่ายได้ การใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในการส่งมอบผลลัพธ์ที่สืบเนื่องไม่สิ้นสุด การเสริมสร้างกรอบคิดทางธุรกิจในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การเพิ่มความเป็นรูปธรรมในการตรวจสอบและประเมินความคุ้มค่าที่สังคมได้รับด้วยตัวเลขทางบัญชี เป็นต้น
ส่วนประโยชน์สำหรับธุรกิจที่นำโมเดล Social Business มาใช้ ได้แก่ ความคุ้มค่าของเม็ดเงินช่วยเหลือสังคมที่ให้ผลยั่งยืนกว่าการทำ CSR ในรูปการบริจาค โอกาสในการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบตลาดหรือลูกค้ากลุ่มใหม่ ความภาคภูมิใจของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องซึ่งนำไปสู่ความผูกพันกับองค์กร และการรับรู้ที่น้อมไปในทางซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อตราสินค้า เป็นต้น
ด้วยโมเดล Social Business นี้เอง เปิดโอกาสเจ้าของทุนมีทางเลือกในการแปรเงินทุนดำเนินงาน จากการทำธุรกิจที่มุ่งกำไรสูงสุด มาสู่การทำธุรกิจที่สร้างคุณค่าสูงสุด เป็นทางเลือกของธุรกิจในทศวรรษ 2020 ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และทำประโยชน์แก่สังคมควบคู่ไปพร้อมกัน
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
ด้วยเหตุที่การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ทำให้โครงสร้างหรือรูปแบบการถือครองหุ้นเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนบุคคล จึงไม่มีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมในภาคส่วนนี้ ยูนุสใช้คำเรียกว่าเป็น Citizen Sector อันหมายถึงกลุ่มของปัจเจกชนซึ่งทำงานอยู่ในภาคเอกชน ที่นำความเชี่ยวชาญหลัก (Core Expertise) ในธุรกิจ มาใช้แก้ไขปัญหาสังคมส่วนรวม แทนการใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน
ทั้งนี้ เงินลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม เมื่อใดที่เจ้าของเงินลงทุนต้องการเอาเงินต้นกลับคืน ก็สามารถทำได้ภายใต้ระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ส่วนกำไรที่ทำมาหาได้ทั้งหมดระหว่างดำเนินงาน ต้องคงไว้ในกิจการ
Social Business ไม่มีการปันผลกำไร (Non-dividend) เนื่องจากไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าหรือความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม จึงมีอิสระที่จะเลือกเข้าถึงตลาดในส่วนที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากธุรกิจปกติ เช่น การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาวะหรือยกระดับคุณภาพชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพะวงเรื่องการทำกำไรสูงสุด
ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการเงินลงทุนที่ได้รับโดยไม่ให้ขาดทุน (Non-loss) สร้างเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงกิจการ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินอุดหนุนจากภายนอก เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มุ่งสร้างคุณค่าสูงสุด (Maximize Value) ให้แก่สังคม ตรงกันข้ามกับธุรกิจปกติที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ การมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง มิได้เป็นเงื่อนไขในการจำกัดขนาดของ Social Business แต่อย่างใด ธุรกิจเพื่อสังคมบางแห่ง เป็นกิจการขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจจัดหาพลังงานสะอาดให้แก่ครัวเรือนในชนบท ที่ชื่อ กรามีน ศักติ (แปลว่า กำลัง) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1996 ในรูปองค์กรไม่แสวงหากำไร และได้แปลงสภาพเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในปี ค.ศ.2010 ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ 2,834 ล้านบาท และมีพนักงานทำงานอยู่กว่า 12,000 คน
Social Business ตามแนวคิดของยูนุส ก่อประโยชน์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคม โดยประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ได้แก่ การแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรมที่ไม่ผูกติดกับเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ การสร้างทางเลือกให้แก่กลุ่มเป้าหมายจากการเป็นผู้ที่รอรับความช่วยเหลือ เป็นผู้ที่มีกำลังซื้อในระดับราคาที่จับจ่ายได้ การใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในการส่งมอบผลลัพธ์ที่สืบเนื่องไม่สิ้นสุด การเสริมสร้างกรอบคิดทางธุรกิจในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การเพิ่มความเป็นรูปธรรมในการตรวจสอบและประเมินความคุ้มค่าที่สังคมได้รับด้วยตัวเลขทางบัญชี เป็นต้น
ส่วนประโยชน์สำหรับธุรกิจที่นำโมเดล Social Business มาใช้ ได้แก่ ความคุ้มค่าของเม็ดเงินช่วยเหลือสังคมที่ให้ผลยั่งยืนกว่าการทำ CSR ในรูปการบริจาค โอกาสในการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบตลาดหรือลูกค้ากลุ่มใหม่ ความภาคภูมิใจของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องซึ่งนำไปสู่ความผูกพันกับองค์กร และการรับรู้ที่น้อมไปในทางซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อตราสินค้า เป็นต้น
ด้วยโมเดล Social Business นี้เอง เปิดโอกาสเจ้าของทุนมีทางเลือกในการแปรเงินทุนดำเนินงาน จากการทำธุรกิจที่มุ่งกำไรสูงสุด มาสู่การทำธุรกิจที่สร้างคุณค่าสูงสุด เป็นทางเลือกของธุรกิจในทศวรรษ 2020 ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และทำประโยชน์แก่สังคมควบคู่ไปพร้อมกัน
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Subscribe to:
Posts (Atom)