Tuesday, March 27, 2007

พอเพียงแล้วห้ามกู้เงินหรือไม่

คำถามหนึ่งที่ถูกถามบ่อยมาก คือ ทำเศรษฐกิจพอเพียงแล้วห้ามกู้เงินหรือเปล่า หรือมีหนี้ไม่ได้หรือเปล่า ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2542 มีใจความว่า
“แต่ว่าพอเพียง ในทฤษฎีหลวงคือ ให้สามารถดำเนินงานได้ แต่ที่ว่าเมืองไทยไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียง นี่ไม่ได้ตำหนิ ไม่เคยพูด นี่พูดในตอนนี้ พูดเวลานี้ ขณะนี้ว่าประเทศไทย ไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ค่อนข้างจะแย่ เพราะว่าจะทำให้ล่มจม เศรษฐกิจพอเพียงที่หมายถึงนี้ คือว่า อย่างคนที่ทำธุรกิจ ก็ย่อมต้องไปกู้เงิน เพราะว่าธุรกิจ หรือกิจการอุตสาหการสมัยใหม่นี้ คนเดียวไม่สามารถที่จะรวบรวมทุนมาสร้างกิจการ กิจกรรมที่ใหญ่ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้กิจกรรมที่ใหญ่”

เศรษฐกิจพอเพียงที่หมายถึงนี้ คือ อย่างคนที่ทำธุรกิจก็ย่อมต้องไปกู้เงิน เพราะว่าธุรกิจ หรือกิจกรรมที่มีขนาดใหญ่ คนเดียวไม่สามารถที่จะรวบรวมทุนมาดำเนินการเองได้ทั้งหมด ธุรกิจขนาดใหญ่จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกู้ยืมเงินมาดำเนินกิจการได้ ฉะนั้น ชัดเจนว่าเศรษฐกิจพอเพียง มิได้ปฏิเสธการกู้เงิน หรือการสร้างหนี้ และยังมีพระราชดำรัสองค์ที่อัญเชิญต่อมา อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า
“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ ... อันนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องสอนว่า กู้เงิน เงินนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์”

แม้เศรษฐกิจพอเพียงจะมิได้ปฏิเสธเรื่องของการกู้ยืมเงิน แต่ก็ทราบดีว่า คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องหนี้สินมากกว่าที่คิด เพราะสังคมในทุกวันนี้เป็นสังคมที่กระตุ้นเรื่องของการบริโภค ซ้ำยังมีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ ออกมาเกื้อหนุนให้ตัดสินใจซื้อสินค้าโดยให้มีอุปสรรคน้อยที่สุด ในองค์กรหลายๆ แห่ง จึงมีพนักงานที่มีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตมากมาย อันที่จริงแล้ว การมีบัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องที่ขัดกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่การพิจารณาตัดสินใจใช้จ่ายในสิ่งของแต่ละรายการในบัตรเครดิตนั้นต่างหาก ที่จะเป็นหรือไม่เป็นเศรษฐกิจพอเพียง... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, March 06, 2007

ข้อเสนอแนะ 6 ประการ

ในฐานะที่ได้ร่วมในคณะนักวิจัยในการจัดทำรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550 “เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน” ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งประชาชาติ (UNDP) ในรายงานฉบับนี้ ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติที่จัดว่าเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ 6 ประการ ที่จะขออนุญาตนำมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะกับคณะรัฐบาลผู้มีหน้าที่ดูแลและกำหนดนโยบายบริหารประเทศ และกับเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติราชการให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรม

1. เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการขจัดความยากจนและการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของคนจน

หลักคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงไม่เน้นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณมากซึ่งผลประโยขน์ส่วนใหญ่ มักจะตกแก่นักการเมืองหรือผู้รับช่วงสัญญาจากรัฐบาลมากกว่าที่จะเป็นประโยชน์แก่คนจนหรือประชาชนกลุ่มเป้าหมาย การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และโครงการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันไม่สามารถทดแทนโครงการที่ทำงานในระดับพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ชุมชนและครัวเรือนได้มีส่วนร่วม ปัญหาความยากจนไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการที่ถูกกำหนดมาจากเบื้องบนหรือวิธีการปูพรม

หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจน คือการทำให้คนจนหรือชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่เข้าใจได้ง่ายมาก แต่บ่อยครั้งมักจะถูกตีความแบบผิดๆ การพึ่งตนเอง ไม่ได้หมายความถึงการที่ชุมชนตัดขาดจากการค้าขายกับตลาดภายนอก หรือไม่ติดต่อสัมพันธ์กับคนนอกชุมชน แต่หมายถึงการพยายามพึ่งพาทรัพยากร ความรู้ ภูมิปัญญาของตนมากกว่าที่จะพึ่งคนอื่น ในบางกรณี การพึ่งตนเองอาจหมายถึงการบริโภคของที่ผลิตเองในครัวเรือนหรือชุมชนให้มากขึ้น บ่อยครั้งการพึ่งตนเองจะแสดงออกในรูปแบบของการทำกิจกรรมที่ใช้ภูมิปัญญา ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพย์สินอื่น ๆ ของชุมชนเป็นหลัก โดยพยายามพึ่งภายนอกให้น้อยลง ดังนั้นรูปแบบการพึ่งตนเองของครัวเรือนหรือชุมชนจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมด

การที่จะพึ่งตนเองได้ จำเป็นต้องค่อยเป็นค่อยไป ด้วยพลังจากในชุมชนเอง โดยค่อยๆ สั่งสมความรู้ ทุนและความสามารถด้านอื่นๆ โดยไม่ก้าวกระโดดจนเกินความสามารถของตนหรือใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น และต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงการประยุกต์ใช้หลักการของความพอประมาณ ความมีเหตุผลและปัญญา และความมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงในทุกๆ ขั้นตอนของการกระทำนั่นเอง

ปัญหาความยากจนและการพัฒนาชนบทเกี่ยวพันกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างแยกกันไม่ออก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความสามารถในการพึ่งตนเองของคนจนในชนบท ดังนั้น การจัดการสิ่งแวดล้อมจึงต้องใช้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเช่นกัน โครงการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ควรใช้งบประมาณมาก และควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยไม่ทำลายห่วงโซ่ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและความสมดุลในระบบนิเวศน์ ควรพยายามใช้วิธีการที่อิงธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเท่าที่จำเป็น ในชุมชนหลายแห่งที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในวิถีการดำรงชีวิต การจัดการสิ่งแวดล้อมในลักษณะดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในแผนชุมชน

โครงการหรือกิจกรรมการพัฒนาทุกเรื่อง ต้องทำให้คนจนและชุมชนมีความสามารถที่จะป้องกันกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ คนจนส่วนมากไม่สามารถหลุดพ้นจากความจนได้ เนื่องจากมีความเปราะบางต่อวิกฤตแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่ปัญหาในครอบครัว จนถึงวิกฤตที่เกิดจากความไม่มั่นคงของสถานการณ์โลก การเปิดเสรีทางการตลาด และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการคมนาคม ทำให้ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างรุนแรงและรวดเร็วยิ่งกว่าในอดีต

แนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การถอนตัวจากโลกาภิวัตน์ เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ประเทศจะต้องเสียประโยชน์มากมายเพื่อแลกกับการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจพอเพียงมุ่งที่จะสร้างความสมดุลของการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่น/ระดับชาติ และระดับโลก เพื่อให้คนในสังคมสามารถจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากความผันแปรในสถานการณ์ภายนอกประเทศได้อย่างหมาะสม

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางสำหรับนโยบายขจัดความยากจนของรัฐบาลโดยให้มีโครงการที่เน้นการพัฒนาขีดความสามารถของคนจนในการพึ่งตนเองทั้งในกิจกรรมการผลิต การสร้างวินัยในการใช้จ่าย และการจัดการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบ

  • จัดสรรที่ดินให้แก่คนจนที่ไม่มีที่ทำกินหรือที่ทำกินไม่มีคุณภาพ โดยเวนคืนจากที่ดินในครอบครองของหน่วยงานที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้

  • สนับสนุนให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตามแนวที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยออกกฎหมายป่าชุมชนและกฎระเบียบสนับสนุนอื่นๆ

  • สร้างหลักประกันว่าการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาความยากจนมีการกระจายตัวอย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีความจำเป็นจริงๆ และการใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์

2. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานของการสร้างพลังอำนาจของชุมชนและการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ

การที่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เช่น ในกรณีของเครือข่ายอินแปงที่วงจรการร่วมกันผลิต และการแลกเปลี่ยนซื้อขายผลผลิตของชุมชนภายในเครือข่ายด้วยกันเอง เป็นฐานมั่นคงที่ทำให้เครือข่าย สามารถขยายการติดต่อซื้อขายกับตลาดภายนอกได้อย่างยั่งยืน และมีหลักประกันที่มั่นคง ในกรณีชุมชนเขตเมืองก็เช่นเดียวกัน แต่รายละเอียดวิธีการดำเนินงานอาจแตกต่างกัน การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนยากจนในเมือง ควรเน้นการส่งเสริมกิจกรรมสร้างรายได้ที่มีความยั่งยืนในระยะยาว และการพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้

ภาวะผู้นำและการรวมกลุ่ม/องค์กร เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง องค์กรด้านศาสนาไม่ว่าในศาสนาใดก็ตาม ควรมีบทบาทที่สำคัญในการปลูกฝังหลักธรรมและค่านิยมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง องค์กรชุมชนควรมีสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและงบประมาณจากการกระจายอำนาจ

บทบาทสำคัญประการหนึ่งขององค์กรชุมชน คือการรวบรวม จัดเก็บ และแบ่งปันองค์ความรู้และบทเรียนที่ได้รับจากการปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้ของชุมชนไม่ควรพึ่งพาแต่การศึกษาในระบบเท่านั้น เช่นในกรณีของเครือข่ายอินแปง มีการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อส่งผ่านความรู้ให้แก่ลูกหลานรุ่นต่อไป และบุคคลภายนอก

ชุมชนควรมีระบบสวัสดิการภายใน และมีวิธีการในการจัดสรรและกระจายสวัสดิการแก่ผู้ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ด้วยเหตุต่างๆ เช่น พิการ ชราภาพ ครอบครัวแตกแยก ภัยธรรมชาติ ขาดโอกาสและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร เป็นต้น การให้เงินอุดหนุนจากภายนอกบางครั้งอาจทำลายทัศนคติและความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชน เพราะขาดการวางแผนที่ดีและขาดการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และบ่อยครั้งที่มีลักษณะแจกฟรี ในกรณีที่จำเป็น เงินทุนที่สนับสนุนจากภายนอกควรจัดสรรผ่านองค์กรชุมชนเพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดการงบประมาณของชุมชนโดยไม่ทำลายให้ชุมชนอ่อนแอลง

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ควรมีกลยุทธการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยการส่งเสริมความสามารถให้ชุมชนพึ่งตนเองได้

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • ปรับเป้าหมายการพัฒนาชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง โดยมุ่งเน้นการทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ และการพัฒนากิจกรรมด้านเศรษฐกิจของชุมชนเป็นเป้าหมายหลัก

  • เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในด้านการจัดการเงินทุนและศึกษาความเป็นไปได้ในการยกระดับกองทุนต่างๆ ของชุมชน ให้เป็นธนาคารท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์และระบบการกู้ยืมภายในชุมชนด้วยหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง

  • สร้างหลักประกันว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการพัฒนาท้องถิ่น

  • ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และกรณีตัวอย่างจากชุมชนและเครือข่ายต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จ

  • ยกเลิกโครงการประเภทให้เปล่าและสนับสนุนโครงการที่ให้ชุมชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการวางแผนและดำเนินการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกในชุมชนให้มากที่สุด

  • สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนร่วมมือกันแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการส่งเสริมโครงการพัฒนาชุมชนตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง

3. เศรษฐกิจพอเพียงช่วยยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทด้วยการสร้างข้อปฏิบัติในการทำธุรกิจที่เน้นผลกำไรระยะยาวในบริบทที่มีการแข่งขัน

การบริหารธุรกิจให้เกิดกำไรในโลกทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากกว่าการคิดถึงแค่ต้นทุนและผลตอบแทน ธุรกิจต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกกลุ่ม ตั้งแต่นายจ้างไปจนถึงลูกค้าและสังคมโดยรวม นอกจากนี้ ยังต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในสิ่งแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ต้องสามารถตอบคำถาม และการตรวจสอบของหน่วยงานราชการ และกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งถูกต่อต้านหรือขจัดออกไป เนื่องจากความผิดในเชิงจริยธรรม บรรยากาศที่เสียไปจากการกระทำดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย บริษัทธุรกิจในยุคนี้จึงจำเป็นต้องมีวินัยและวิธีบริหารแบบใหม่เพื่อเป็นหลักประกันผลกำไรและการเติบโตที่ยั่งยืน

วินัยดังกล่าวเกิดจากการบูรณาการแนวคิดเรื่องการจัดการความเสี่ยง การสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บรรษัทภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเข้าด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง แต่เศรษฐกิจพอเพียงมีมิติเพิ่มขึ้นอีก 2 ด้าน

ด้านแรก แนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงนำเสนอกระบวนการสำหรับการวางแผนและการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของธุรกิจที่มีเป้าหมายอยู่ที่ผลกำไรที่ยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หลักการทั้งสามประการของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้เป็นกรอบบูรณาการสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ที่สร้างภูมิคุ้มกันในองค์กรต่อความเสี่ยงภายนอก มีบรรษัทภิบาล และมีความระมัดระวังต่อผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้านที่สอง แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแสดงให้เห็นถึงระดับของความรับผิดชอบที่มากกว่าการกระทำตามกฏและกติกาเท่านั้น มีบริษัทใหญ่ในเมืองไทยจำนวนไม่น้อยที่พบว่าการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้นำการบริหารธุรกิจ และการสร้างความเข้าใจในปรัชญานี้ให้เกิดขึ้นร่วมกันในหมู่พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สามารถทำให้เกิดวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวได้อย่างดียิ่ง

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • นำหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบรรจุไว้ในหลักสูตรการอบรมผู้บริหารบริษัทต่างๆ และในข้อพึงปฏิบัติของบรรษัทภิบาล ซึ่งควบคุมโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  • จัดทำดัชนีความยั่งยืน (Composite Sufficiency Economy Index) ให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยพิจารณาให้สิทธิพิเศษ และ/หรือผลประโยชน์อื่น ให้กับบริษัทที่มีดัชนีความยั่งยืนสูง ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ลงทุนในบริษัทที่มีดัชนีความยั่งยืนสูง

  • ชักชวนหรือรณรงค์ให้สมาคมทางธุรกิจใหญ่ต่างๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่สมาชิกของตน ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายในประเทศ นำเอาปรัชญาเศรษฐกิจเพียงไปบรรจุไว้ในหลักสูตร

  • ให้สภาวิจัยแห่งชาติและกองทุนสนับสนุนการวิจัย ส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจเอกชน เพื่อสร้างองค์ความรู้เฉพาะสำหรับการพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย

  • เผยแพร่ความสำเร็จของบรรดาธุรกิจทุกขนาดที่ปฏิบัติตัวสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วประสบความสำเร็จในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและต่อสังคมส่วนรวม ให้สาธารณชนให้รับรู้อย่างกว้างขวาง

  • พัฒนาศักยภาพของธุรกิจชุมชน และธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตร โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และเทคโนโลยีท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

  • สนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ แบ่งปันช่วยเหลือกันในเรื่องวัตถุดิบ อุปกรณ์ และการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาตลาด (หมายถึง ผลิตภัณฑ์และการให้บริการต่าง ๆ ) ที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหวังการสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคและสังคม มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนหรือของแต่ละธุรกิจเอง

  • จัดให้มีการบริการให้คำแนะนำแก่ธุรกิจต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

4. หลักการเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญยิ่งต่อการปรับปรุงมาตรฐานของธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ

ความสำเร็จของการพัฒนาคนขึ้นอยู่กับคุณภาพของการบริหารงานภาครัฐค่อนข้างมาก การเบียดบังผลประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับ คืออุปสรรคสำคัญของการพัฒนาคน เพราะทำให้ผลของการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ มีประสิทธิภาพน้อยลง และบ่อยครั้งทำให้ทิศทางของยุทธศาสตร์ต้องถูกบิดเบือนไป คนจนและคนด้อยโอกาสเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากบริการที่ใช้ต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น แต่คุณภาพลดลง

ในสถานการณ์เช่นนี้ เงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาด้วยหลักคุณธรรมและความรู้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสย้ำเสมอถึงความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างซื่อสัตย์สุจริตและเต็มความสามารถโดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้มาโดยมิชอบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะต่อต้านคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ผ่านองค์กรและสถาบันของรัฐ แต่ความสำเร็จยังอยู่ในวงจำกัด

รัฐบาลที่ผ่านๆ มาให้การยอมรับหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการหามาตรการที่จะนำหลักการนี้มาใช้ในการปรับปรุงมาตรฐานการบริหารและการบริการของภาครัฐ ทั้งๆ ที่มีหลายอย่างที่สามารถทำได้ เช่น พัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรที่มีหน้าที่ติดตามและลงโทษการประพฤติมิชอบในระบบราชการ รวมถึงปรับปรุงระบบในการคัดเลือกผู้มาทำหน้าที่ในองค์กรดังกล่าว นอกจากนี้ต้องผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมในระบบราชการซึ่งถูกละเลยมาหลายปี และส่งเสริมภาคประชาสังคมให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยเฝ้าระวัง

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • หาทางส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการโกงและประพฤติมิชอบในระบบราชการเพื่อมิให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงหรือชี้นำ

  • บูรณาการหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเข้าในแผนบริหารราชการแผ่นดินและพัฒนาตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักการดังกล่าวทั้งในระดับองค์กรและตัวบุคคล

  • พัฒนากรอบแนวทางที่ใช้ในการติดตามกระบวนการตัดสินใจอนุมัติและการดำเนินงานโครงการของภาครัฐให้เป็นไปตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง

  • ปรับปรุงกฏหมายว่าด้วยเสรีภาพด้านข่าวสารข้อมูล เพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ถูกปิดกั้น

5. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์ที่เข้ามากระทบโดยฉับพลัน เพื่อปรับปรุงนโยบายต่างๆ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการเติบโตที่เสมอภาคและยั่งยืน

วิกฤตด้านการเงินที่มีผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นสัญญานเตือนให้รู้ถึงอันตรายและความยุ่งยากของระบบเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีการเคลื่อนทุนจำนวนมหาศาลระหว่างประเทศต่างๆ อย่างไร้ระเบียบ วิกฤตเหล่านี้ทำให้การพัฒนาคนต้องชะงักในทุกด้าน การเลิกจ้างงานทำให้คนจำนวนมากต้องหลุดเข้าสู่วงจรของความยากจน และทำให้ทุนทางสังคมต้องอ่อนแอลง

หลักของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งภายในเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากภายนอก สามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายมหภาคของประเทศ เพื่อให้อยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่ผันผวน ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้กลายเป็นหลักคิดสำคัญในการกำหนดนโยบายมหภาคของประเทศไทย ได้แก่ ลดหนี้ต่างประเทศ เพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนจากปัจจัยทางการเมือง ใช้นโยบายเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเพื่อสร้างวินัยในการบริหารอัตราดอกเบี้ย ควบคุมเพดานเงินกู้ภาครัฐ สร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพร้อมรับความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญต่อการวางแผนการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยทั่วไปในการวางแผนระดับมหภาค นโยบายด้านสังคมอาจถูกแยกออกเป็นคนละส่วนกับวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจ และมักไม่มีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในระหว่างการดำเนินการ แนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกเรื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงาน ให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคและความยั่งยืนของการพัฒนา และสร้างภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์ที่มากระทบโดยกระทันหัน ดังนั้นการใช้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงในนโยบายการพัฒนาประเทศจะทำให้มีการใช้ทุนและทรัพยากรทุกประเภทของประเทศอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างความเข้มแข็งภายใน ในการรับมือกับโลกาภิวัตน์

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • สร้างหลักประกันว่าการดำเนินการต่างๆ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 เป็นไปตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง และตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการร่างแผนดังกล่าว

  • กำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาอัตราการออมเงินภายในประเทศที่ลดลงอย่างมาก เพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ และประชาชนมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับอนาคต

  • ปรับนโยบายเกี่ยวกับพลังงานต่างๆ ให้มีความสอดคล้องต้องกันให้มากขึ้น เน้นการพึ่งตนเองให้มากขึ้น ด้วยการเร่งวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานทดแทนให้คุ้มค่าสูงสุด

  • คงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคไว้ แต่ปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน

6.ในการปลูกฝังจิตสำนึกพอเพียง จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนค่านิยม และความคิดของคนเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาคน

ความสำเร็จระยะยาวของการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นอยู่กับการปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กลายเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมการพัฒนาของประเทศ

เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มต้นและจบลงที่คน คนเป็นทั้งผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผู้รับผลจากการเปลี่ยนแปลง นี่คือจุดแข็งของปรัชญานี้ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นความยากลำบากด้วย ดังที่ผู้นำคนหนึ่งของเครือข่ายอินแปงเคยพูดว่า “มันไม่ใช่งานที่ง่าย ผมรู้ว่าจะต้องออกแรงให้มากขึ้น” คนที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้ผล มักจะมีคุณสมบัติที่เหมือนกันหลายอย่าง ได้แก่ ชอบที่จะทำงานหนัก มีความซื่อสัตย์ สนุกสนานกับการเรียนรู้ และการสร้างปัญญาให้เกิดกับตัวเอง เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคม และการอยู่ร่วมกับระบบนิเวศน์วิทยาอย่างสมดุล คนเหล่านี้ไม่ใช่พวกวัตถุนิยม แต่มักจะคำนึงถึงหลักการบริโภคแบบยั่งยืน มีความเคารพธรรมชาติ และความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน โดยสรุป พวกเขามีจิตสำนึกและวิธีคิดในแบบฉบับเฉพาะ

ขณะนี้ได้มีการนำเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงระดับอาชีวศึกษา และการศึกษานอกโรงเรียน โดยเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ฝึกฝนให้เด็กและเยาวชน คิดวิเคราะห์เป็นตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างค่านิยมในการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกำลังมีการทดลองนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการบริหารสถานศึกษาด้วย ความพยายามดังกล่าวจะได้ผลก็ต่อเมื่อครูและผู้บริหารโรงเรียนเห็นคุณค่า มีความศรัทธาและมีแรงจูงใจในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

การศึกษาในโรงเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาโดยรวม คนเราเริ่มเรียนรู้จากครอบครัว จากคนรอบข้างและเพื่อน ความรู้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงในการพบปะสังสรรค์กับคนอื่นๆ และสิ่งต่างๆ รอบตัว และจากการดูดซับจากสื่อชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของคนในยุคปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ช่องทางการรับรู้ข่าวสารความรู้และความบันเทิงจากทั่วโลกกว้างขวางขึ้น และบ่อยครั้งที่คุณภาพของวิธีการนำเสนอ ทำให้คนพลอยคิดไปด้วยว่า เนื้อหาของรายการต้องมีคุณภาพเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ประเภทของข้อมูล มักถูกกำหนดด้วยความต้องการของตลาดที่ถูกบิดเบือนด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจ

การนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในตลาดที่เต็มไปด้วยการโฆษณาสินค้าบริโภคนิยมที่น่าตื่นตาตื่นใจ จึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการดึงดูดความสนใจ และสร้างความตระหนักถึงคุณประโยชน์ และความจำเป็นในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และควรหาวิธีการในการสร้างค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดขึ้น และดำรงอยู่เป็นค่านิยมหลักในสังคม เริ่มจากการสร้างความเข้าใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในวงกว้างมากขึ้นผ่านสื่อต่างๆ โดยไม่ล่วงละเมิดเสรีภาพของสื่อมวลชน สิ่งที่น่าจะมีอิทธิพลมากที่สุดอาจเป็นการค้นหาและนำเสนอตัวอย่างที่ดีที่มีอยู่จริงในสังคมและกระตุ้นให้ผู้นำในสังคมทุกระดับและภาคส่วน ตั้งแต่นักการเมืองถึงวงการบันเทิง จากนักธุรกิจจนถึงชุมชน ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • พัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างแรงจูงใจในระบบการจัดการศึกษาให้บุคลากรเหล่านั้นสนใจและอยากที่จะปฏิบัติตนและปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

  • ปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรู้และคุณธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการนำหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ

  • ขยายรูปแบบการบริหารและจัดการสถานศึกษา โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงให้กว้างขวาง และครอบคลุมมิติต่างๆ ยิ่งขึ้น

  • ให้การสนับสนุนการศึกษานอกโรงเรียนให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชน และส่งเสริมการบูรณาการการพัฒนาและการเรียนรู้ในชุมชน โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

  • หาวิธีส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงผ่านสื่อมวลชน รวมถึงการเพิ่มเวลาให้กับรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาคน การพัฒนาสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

  • สร้างการยอมรับในสังคมต่อบุคคลในชุมชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคอื่นๆ ที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

Monday, March 05, 2007

หนังสือ "เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร"

ปัจจุบัน ความสนใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้แผ่ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้กระทั่งองค์การสหประชาชาติ โดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ยังได้จัดทำรายงานประจำปี 2550 ในหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน" เพื่อนำไปเผยแพร่ใน 135 ประเทศทั่วโลก

กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีผู้ที่เข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องของคนชนบท เป็นเรื่องเกษตรกรรม หรือสรุปเอาเองว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือ การใช้จ่ายอย่างประหยัด การไม่เป็นหนี้ การเป็นอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องกับใคร และที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือ การใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นข้ออ้างในการไม่พยายามขวนขวายทำสิ่งใดๆ อย่างเต็มที่ หรือใช้เป็นเหตุผลเพื่อยอมรับสภาพที่เป็นอยู่

หนังสือ เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง อะไร เล่มนี้ เกิดขึ้นจากการค้นคว้ารวบรวมพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และพระบรมราโชวาทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้พระราชทานไว้ในวโรกาสต่างๆ พร้อมด้วยคำอธิบายคุณลักษณะและเงื่อนไขที่ประกอบขึ้นเป็นความพอเพียงตามนัยแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี รวมถึงเงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม ตลอดจนคำอธิบายระดับและจุดหมายของเศรษฐกิจพอเพียง

หนังสือมีความหนา 100 หน้า เนื้อในพิมพ์ 2 สี ใช้กระดาษถนอมสายตา ราคา 120 บาท ผู้สนใจสามารถหาซื้อได้ที่ร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ หรือตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

เศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายถึง ...
...แค่การใช้จ่ายอย่างประหยัด
...การห้ามไม่ให้เป็นหนี้
...การเป็นอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องกับใคร
...การไม่ขวนขวายทำสิ่งใดๆ อย่างเต็มที่
...เหตุผลเพื่อใช้ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่

เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง อะไร ค้นพบได้ในหนังสือเล่มนี้


Audio File ฟังการย่อยเนื้อหาในหนังสือ "เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง อะไร" ประกอบตัวอย่าง External Link