Saturday, August 24, 2024

การเปิดเผยข้อมูลผลกระทบความยั่งยืน

ผลกระทบความยั่งยืน (Sustainability Impacts) ตามความเข้าใจของผู้ที่ทำงานในสาขาวิชาชีพด้านความยั่งยืน ประกอบด้วย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคม และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ มุ่งหมายถึง ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และในระดับโลก โดยองค์กรสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านทางวิธีปฏิบัติในการแข่งขัน วิธีปฏิบัติในการจัดหา ภาษีและเงินจ่ายแก่รัฐ เป็นต้น

ผลกระทบทางสังคม มุ่งหมายถึง ผลกระทบที่มีต่อปัจเจกและกลุ่มคนที่รวมกันเป็นชุมชน กลุ่มเปราะบาง หรือสังคม ฯลฯ รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของผู้คนในสังคม โดยองค์กรสามารถสร้างผลกระทบต่อผู้คนผ่านทางวิธีปฏิบัติในการจ้างงาน (เช่น ค่าจ้างที่จ่ายแก่พนักงาน) ทางสายอุปทาน (เช่น เงื่อนไขสภาพการทำงานของคนงานของผู้ส่งมอบ) ทางผลิตภัณฑ์และบริการ (เช่น ความปลอดภัยและการเข้าถึงได้) เป็นต้น

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มุ่งหมายถึง ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต รวมทั้งอากาศ แผ่นดิน น้ำ และระบบนิเวศ โดยองค์กรสามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านทางการใช้พลังงาน การใช้ที่ดิน การใช้น้ำ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เป็นต้น

GRI (Global Reporting Initiative) เป็นมาตรฐานโลกว่าด้วยการรายงานผลกระทบ (Impact Reporting) ซึ่งถูกพัฒนามาจากความริเริ่มในปี ค.ศ. 1997 โดยมีการออกกรอบการรายงานความยั่งยืนสากลฉบับแรก เมื่อปี ค.ศ. 2000 และได้กลายเป็นรากฐานในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนมาจวบจนปัจจุบัน

หัวใจสำคัญหนึ่งในมาตรฐาน GRI คือ การระบุและประเมินผลกระทบ (Impacts) อย่างสม่ำเสมอ ที่เอื้อให้องค์กรล่วงรู้และสามารถจัดการกับผลกระทบที่กำลังดำเนินอยู่และที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างเท่าทัน เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมประจำวัน และในระหว่างสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง

ต่อจากนั้นองค์กรจึงนำผลกระทบที่ถูกระบุมาจัดลำดับโดยเลือกชุดประเด็นที่มีนัยสำคัญสูงสุดเข้าสู่กระบวนการรายงาน ซึ่งในที่นี้ เรียกว่า การกำหนดประเด็นสาระสำคัญ (Material Topics) หรือสารัตถภาพสำหรับการรายงาน

ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เริ่มจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ได้นำเอาสารัตถภาพเชิงผลกระทบ หรือ Impact Materiality (ตามแนวทางในมาตรฐาน GRI) มาบรรจุไว้เป็นข้อกำหนดของการประเมินทวิสารัตถภาพ (Double Materiality) คู่กับสารัตถภาพเชิงการเงิน หรือ Financial Materiality (ตามแนวทางในมาตรฐาน IFRS) ออกเป็นมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนในประเทศของตน

เหตุที่การประเมินประเด็นสาระสำคัญต้องพิจารณาทั้งสารัตถภาพในเชิงผลกระทบและในเชิงการเงินควบคู่กัน เพราะประเด็นสาระสำคัญเชิงผลกระทบ ใช้ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในมิติที่เป็นความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ขณะที่ประเด็นสาระสำคัญเชิงการเงิน ใช้ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ถือหุ้นในมิติที่เป็นการสร้างมูลค่าและความยั่งยืนของกิจการ

ฉะนั้น การที่องค์กรใด มีแนวคิดในการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ตามแนวทางในมาตรฐาน IFRS อย่างเดียว แสดงว่า ยังขาดความเข้าใจในเรื่องทวิสารัตถภาพ เพราะองค์กรคงมิได้มีความมุ่งประสงค์ที่จะสื่อสารกับผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนกลุ่มเดียวอย่างแน่นอน แต่ยังคงต้องการที่จะสานสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ด้วยการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบความยั่งยืน ที่ซึ่งมาตรฐาน GRI ได้ให้แนวทางดังกล่าวไว้

ทั้งนี้ คำว่า Impact หรือผลกระทบ ในความหมายตามมาตรฐาน GRI ที่ได้ให้นิยามไว้ คือ ผลที่องค์กรมีต่อหรือที่สามารถมีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และผู้คนในสังคม รวมถึงผลที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของคนเหล่านั้น ซึ่งเกิดจากกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ทางธุรกิจขององค์กร

ผลกระทบ สามารถเป็นได้ทั้ง ผลที่กำลังเกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ผลในทางบวกหรือในทางลบ ผลในระยะสั้นหรือในระยะยาว ผลโดยเจตนาหรือโดยไม่เจตนา และผลที่ย้อนกลับได้หรือที่ย้อนกลับไม่ได้ โดยผลกระทบเหล่านี้ แสดงถึงส่วนร่วมขององค์กร ทั้งในทางบวกและทางลบ ที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมและทั่วถึง จึงเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารผลกระทบความยั่งยืนให้เป็นไปตามที่คาดหวัง รวมทั้งสามารถโน้มน้าวให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็นคู่ความร่วมมือ แทนการผลักไสให้กลายเป็นคู่พิพาทกับกิจการโดยไม่ตั้งใจ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 10, 2024

กรรมการพิชาน : บทบาทใหม่ด้านความยั่งยืน

ข้อแถลงผลกระทบ (Impact Statement) ที่จัดทำขึ้น สามารถใช้เป็น ‘สารจากกรรมการ’ ที่บรรจุไว้ในรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อแถลงถึงความคืบหน้าในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการพิชานประจำปี เพิ่มเติมจากที่กิจการมี Income Statement ไว้สื่อสารกับผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน

คำว่า พิชาน ตามพจนานุกรม แปลว่า ความรู้สึกตัว, การรับรู้อารมณ์หรือสิ่งเร้า กรรมการพิชาน ในที่นี้ มุ่งหมายถึง ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่กรรมการได้สมกับความเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) ด้วยความระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น โดยมีความตระหนักรู้ในผลกระทบด้านความยั่งยืน (Sustainability Impacts) ที่มีต่อตัวกิจการและที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการอย่างรอบด้าน


คุณลักษณะเด่นของกรรมการพิชาน คือ สามารถที่จะประเมินผลกระทบด้านความยั่งยืนในสองทาง ทั้งผลกระทบที่มีต่อตัวกิจการเอง (Outside-in) ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการ และผลกระทบจากกิจกรรมขององค์กรที่มีต่อโลกภายนอก (Inside-out) ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ผลจากการประเมินดังกล่าว จะทำให้ได้มาซึ่งประเด็นสาระสำคัญ 2 ชุด ที่เรียกว่า ชุดสารัตถภาพเชิงการเงิน (Financial Materiality) ซึ่งเป็นความเสี่ยงและโอกาสที่มีต่อตัวกิจการ และชุดสารัตถภาพเชิงผลกระทบ (Impact Materiality) ซึ่งเป็นผลกระทบที่มีต่อส่วนรวม รวมเรียกว่า ทวิสารัตถภาพ (Double Materiality) ที่ประกอบขึ้นจากผลกระทบ ความเสี่ยงและโอกาส (Impacts, Risks and Opportunities: IROs) ที่เป็นสาระสำคัญของกิจการนั้น ๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญทางการเงิน สำหรับใช้จัดทำรายงานทางการเงินที่เป็นงบดุล งบกําไรขาดทุน งบกระแสเงินสด จะมีความแตกต่างจากข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญทางการเงิน สำหรับใช้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ในส่วนที่เป็นการเปิดเผยผลทางการเงินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงและโอกาสที่สำคัญ ซึ่งมิได้ถูกรวมอยู่ในรายงานทางการเงิน ณ วันที่เผยแพร่ เนื่องจากมิใช่ข้อมูลสาระสำคัญตามเกณฑ์การบันทึกบัญชีการเงินในรอบการรายงานปัจจุบัน แต่จัดเป็นข้อมูลสาระสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลทางการเงินในอนาคต

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ รายงานทางการเงินอิงการเปิดเผยชุดข้อมูลสาระสำคัญที่สะท้อนความเสี่ยงและโอกาสจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต (past events / historical information) ขณะที่รายงานแห่งความยั่งยืน ยังคำนึงถึงการเปิดเผยชุดข้อมูลสาระสำคัญที่สะท้อนความเสี่ยงและโอกาสจากเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (forward-looking information) เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ขอบเขตการเปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญในรายงานแห่งความยั่งยืน ยังได้ขยายครอบคลุมไปถึงความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจ อาทิ ในสายคุณค่า (value chain) ทั้งฝั่งต้นน้ำ / ปลายน้ำ นอกเหนือจากตัวกิจการเอง ที่ซึ่งในรายงานทางการเงิน อาจมิได้จัดเป็นข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญทางการเงินที่ต้องเปิดเผยตามมาตรฐานการบัญชีและแนวปฏิบัติทางการบัญชี

จะเห็นว่า บทบาทของกรรมการ จากเดิมซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนเป็นหลัก จำเป็นต้องเสริมสร้างขีดสมรรถนะและเพิ่มพูนคุณสมบัติให้สามารถทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการในบทบาทใหม่ โดยยังประโยชน์ทั้งแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนทั้งต่อกิจการและต่อส่วนรวมควบคู่ไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ บทบาทใหม่ด้านความยั่งยืน ของผู้ที่เป็นกรรมการพิชาน ตามความหมายในที่นี้ จะต้องมีคุณสมบัติที่ประกอบด้วย

1) เข้าใจเรื่องผลกระทบสองทาง เนื่องจาก ปัจจัยด้านความยั่งยืน ก่อให้เกิดความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการ (Outside-in) ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดผลกระทบสู่ภายนอกที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม (Inside-out)

2) รู้จักเครื่องมือ Double Materiality สำหรับใช้ประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เป็นชุดประเด็นสารัตถภาพเชิงการเงิน (Financial Materiality) และใช้ประเมินผลกระทบที่เป็นชุดประเด็นสารัตถภาพเชิงผลกระทบ (Impact Materiality) เพื่อระบุผลกระทบ ความเสี่ยงและโอกาส (IROs) ที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับกรรมการในการกำกับดูแลและติดตาม

3) สามารถจัดทำ Impact Statement สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อบอกกล่าวถึงประเด็นสาระสำคัญที่เป็นผลกระทบ ความเสี่ยงและโอกาส (Material IROs) ของกิจการ รวมถึงการกำกับดูแล (Governance) ในบทบาทของกรรมการพิชาน พร้อมการเปิดเผยถึงตัววัดและผลลัพธ์ (Metrics and Results) ในรอบปี

ข้อแถลงผลกระทบ (Impact Statement) ที่จัดทำขึ้น สามารถใช้เป็น ‘สารจากกรรมการ’ ที่บรรจุไว้ในรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อแถลงถึงความคืบหน้าในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการพิชานประจำปี เพิ่มเติมจากที่กิจการมี Income Statement ไว้สื่อสารกับผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน (ซึ่งในรายงานประจำปีบริษัท มักจะมีการจัดทำ Message from President หรือ ‘สารจากประธาน’ เพื่อบอกกล่าวความเคลื่อนไหวสำคัญในรอบปีถึงสิ่งที่เผชิญ การดำเนินงานโดยสรุป และภารกิจที่จะผลักดันต่อไป)


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]