Thursday, December 31, 2015

โค้งตัดใหม่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ปี 2558 ผ่านพันไป พร้อมกับสุดเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในโค้งแรกที่ใช้เวลาเดินทาง 15 ปี ด้วยเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ.2543

บทสรุปของการเดินทางในโค้งแรกของการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย สามารถหาอ่านได้จากบทความที่แล้ว ในชื่อตอนว่า ‘สุดโค้งแรกการพัฒนาที่ยั่งยืน

โลกกำลังเริ่มต้นศักราชใหม่ ในเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยโค้งตัดใหม่ที่ใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) 17 ข้อ เป็นแผนที่นำทาง ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางนับจากนี้ไปอีก 15 ปี จวบจนปี พ.ศ.2573

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ชุดนี้ ได้ผ่านการรับรองโดย 193 ประเทศสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2558 ภายใต้เอกสารวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ที่ชื่อว่า ‘Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development


ทางโค้งตัดใหม่ SDGs ประกอบไปด้วยถนน 5 สาย (Areas) 17 แยก (Goals) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ในถนนสายที่ 1 - สายพหุชน (People) มี 5 แยก คือ แยก 1: การขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่ แยก 2: การขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน แยก 3: การทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ แยก 4: การทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และแยก 5: การบรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน

ในถนนสายที่ 2 - สายพิภพ (Planet) มี 6 แยก คือ แยก 1: การทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน แยก 2: การทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน แยก 3: การทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน แยก 4: การดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น แยก 5: การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และแยก 6: การพิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ในถนนสายที่ 3 - สายพิพรรธน์ (Prosperity) มี 4 แยก คือ แยก 1: การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน แยก 2: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม แยก 3: การลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ และแยก 4: การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน

ในถนนสายที่ 4 - สายปัสสัทธิ (Peace) มี 1 แยก คือ การส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ

ในถนนสายที่ 5 - สายภาคี (Partnership) มี 1 แยก คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับถนนสายที่ 5 นี้ ประเทศไทย สามารถริเริ่มบทบาทความเป็นผู้นำในการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในรูปของแนวพื้นที่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Corridor) กับประเทศเพื่อนบ้านในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม) โดยใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของทั้งห้าประเทศในอนุภูมิภาค ซึ่งมีพื้นที่รวมกันราว 2 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมกันราว 240 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของอาเซียนโดยประมาณ (ทั้งขนาดพื้นที่และประชากร) และมีจีดีพีรวมกันประมาณ 5.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นหนึ่งในสี่ ของอาเซียน

ถัดจากนั้น ไทยสามารถใช้การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับภูมิภาคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Regional Partnership for Sustainable Development) เป็นคานงัด (Leverage) ไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศสำคัญๆ นอกภูมิภาค ที่มีข้อตกลงอยู่แล้ว อาทิ GMS (กับจีน) Mekong-Ganga (กับอินเดีย) Mekong-Japan (กับญี่ปุ่น) Mekong-ROK (กับสาธารณรัฐเกาหลี)

หวังเอาไว้ว่า การเข้าโค้งตัดใหม่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย นับจากปี พ.ศ.2559 เป็นต้นไป จะบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดในกรอบ SDGs ในอีก 15 ปีข้างหน้า!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, December 24, 2015

สุดโค้งแรกการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในเดือนกันยายน พ.ศ.2543 องค์กรสหประชาชาติ ได้จัดการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษ ณ สำนักงานใหญ่ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งผู้นำจาก 189 ประเทศสมาชิก ได้รับรองปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ และประกาศร่วมกันที่จะดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs)

อาจกล่าวได้ว่า MDGs เป็นเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในโค้งแรก หรือ First S (Sustainability) Curve ที่ใช้เวลาเดินทาง 15 ปี และกำลังสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2558 นี้

ทางโค้ง MDGs ประกอบไปด้วย 8 แยก (เป้าประสงค์) 18 ตรอก (เป้าหมาย) และ 48 ซอย (ตัวชี้วัด)

ในส่วนของประเทศไทย ได้พัฒนาต่อยอด MDGs ให้มีความท้าทายยิ่งขึ้น ด้วยแนวคิด MDG ‘Plus’ ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ เพื่อเน้นความสำคัญของการเคลื่อนต่อไปข้างหน้าหลังจากผ่านตรอก (บรรลุเป้าหมาย) ที่กำหนดแล้ว

ทั้งนี้ ทางแยก (เป้าประสงค์) จะเป็นตัวกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยึดถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ขณะที่ เป้าหมาย MDG ‘Plus’ จะเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสามารถแปลความหมายตามสภาพการณ์และบริบทเฉพาะ และเป็นการแสดงการรับรู้ว่าเป้าหมายแรกเป็นเป้าหมายพื้นฐานมากกว่าเป็นเพดาน และไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่พิเคราะห์ยุทธศาสตร์ MDG ‘Plus’ โดยเพิ่มตรอก (เป้าหมาย) พิเศษขึ้น เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2546


ในโค้งแรกของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประเทศไทยใช้เวลาเดินทางมา 15 ปี มาดูกันว่า ในแต่ละแยก (เป้าประสงค์) เราได้ผ่านตรอก (บรรลุเป้าหมาย) มากน้อยเพียงใด

ในแยกที่ 1 การขจัดความยากจนและความหิวโหย มี 2 ตรอก คือ (1) การลดสัดส่วนประชากรยากจนลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี พ.ศ.2553-2558 และ (2) การลดสัดส่วนประชากรที่หิวโหยลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี พ.ศ.2553-2558 ปรากฏว่า ไทยผ่านทั้ง 2 ตรอก

ในแยกที่ 2 การให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา มี 1 ตรอก คือ การให้เด็กทุกคนทั้งชายและหญิงสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี พ.ศ.2558 ปรากฏว่า ไทยไม่ผ่านตรอกนี้

ในแยกที่ 3 การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี มี 1 ตรอก คือ การขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ภายในปี พ.ศ.2548 และในทุกระดับการศึกษา ภายในปี พ.ศ.2558 ปรากฏว่า ไทยผ่านตรอกนี้

ในแยกที่ 4 การลดอัตราการตายของเด็ก มี 1 ตรอก คือ การลดอัตราการตายของเด็กอายุต่ากว่าห้าปีลง สองในสาม ในช่วงปี พ.ศ.2533-2558 ปรากฏว่า ไทยไม่ผ่านตรอกนี้

ในแยกที่ 5 การพัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ มี 1 ตรอก คือ การลดอัตราการตายของมารดาลง สามในสี่ ในช่วงปี พ.ศ.2533-2558 ปรากฏว่า ไทยไม่ผ่านตรอกนี้

ในแยกที่ 6 การต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ มี 2 ตรอก คือ (1) การชะลอและลดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ภายในปี พ.ศ.2558 และ (2) การป้องกันและลดการเกิดโรคมาลาเรียและโรคสำคัญอื่นๆ ภายในปี พ.ศ.2558 ปรากฏว่า ไทยไม่ผ่านทั้ง 2 ตรอก

ในแยกที่ 7 การรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มี 3 ตรอก คือ (1) การกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนและลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) การลดสัดส่วนประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและส้วมที่ถูกสุขลักษณะลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ.2558 และ (3) การยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในชุมชนแออัด 100 ล้านคนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ.2563 ปรากฏว่า ไทยผ่าน 1 ตรอก (เรื่องแหล่งน้ำและส้วม) และยังไม่ผ่าน 2 ตรอก

ในแยกที่ 8 การส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก มี 7 ตรอก คือ (1) การพัฒนาระบบการค้าและการเงินให้เป็นระบบเสรี ตั้งอยู่บนกฎระเบียบ คาดการณ์ได้ และไม่แบ่งแยก (2) การให้ความสำคัญกับประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (3) การให้ความสำคัญกับประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล และประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กที่เป็นเกาะ (4) การแก้ปัญหาหนี้ในประเทศกำลังพัฒนาผ่านนโยบายระดับประเทศและระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว (5) การร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาจัดทำและนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติเพื่อให้เยาวชนได้รับงานที่มีคุณค่าและมีประสิทธิภาพ (6) การร่วมมือกับบริษัทเวชภัณฑ์ดำเนินการให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็น (7) การร่วมมือกับภาคเอกชนดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีและการสื่อสาร ปรากฏว่า ไทยผ่านตรอก (1)-(4) ไม่มีข้อมูลในตรอก (5) ไม่ผ่านในตรอก (6) และผ่านบางส่วนในตรอก (7)

หากไม่ได้นำน้ำหนักความสำคัญของแต่และตรอกมาพิจารณา โดยรวมแล้วไทยผ่าน 8 ตรอกเศษ ไม่ผ่าน 8 ตรอกเศษ และไม่มีข้อมูล 1 ตรอก ทำให้ความสำเร็จของการเดินทางในโค้งแรกของการพัฒนาที่ยั่งยืน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46 ของเป้าหมายทั้งหมด ถือว่า หลุดโค้ง!

(ข้อมูลอ้างอิง: สภาพัฒน์, รายงานผลการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ปี 2558)

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Wednesday, December 23, 2015

ปรับโจทย์ CSR ปี 59: ศักราช 'ความยั่งยืน'

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยการรับรองของชาติสมาชิก 193 ประเทศ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 เพื่อใช้เป็นทิศทางการพัฒนาที่นานาประเทศ รวมทั้งไทย จะใช้อ้างอิงนับจากนี้ไป จวบจนปี ค.ศ.2030 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า

ทำให้ ปี ค.ศ.2016 จะเป็นการเริ่มต้นศักราชแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ปีที่ 1 (A.D. 2016 = S.D. 1) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ที่ได้ประกาศใช้ ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาในเรื่อง (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล


ภาคธุรกิจ จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่จำต้องมีการปรับโจทย์ใหม่ (Re-proposition) ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและสภาพการณ์ทางสังคมที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม

ในประเทศไทย เงื่อนไขแรก ที่เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต้องปรับโจทย์ใหม่ เพื่อนำวิธีการที่ต่างจากเดิมมาใช้พัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคม คือ การให้ (Philanthropy) ที่ทำให้ผู้รับอ่อนแอลง เป็นความช่วยเหลือที่ให้ผลตรงกันข้ามกับการสร้างความเข้มแข็ง และไม่ได้นำไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง (เทียบเคียงได้กับโครงการประชานิยมของภาครัฐ)


จาก Philanthropy สู่ Philanthropic Investments


เนื่องจากงบประมาณและทรัพยากรในฝั่งผู้ให้ ที่ไม่ได้มีอย่างไม่จำกัด หรือสามารถจัดสรรให้ได้ตลอดกาล พร้อมกับเงื่อนไขที่ต้องการเปลี่ยนจาก ‘การให้แบบพึ่งพา’ มาเป็น ‘การให้แบบยั่งยืน’ เพื่อให้ฝั่งผู้รับเกิดความเข้มแข็ง และยืนอยู่บนขาตนเองได้ในที่สุด

ธุรกิจที่ดำเนินตามวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมุ่งแก้โจทย์ว่า ทำอย่างไร ผู้รับจึงจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในปลายทางของความช่วยเหลือที่งบประมาณ ทรัพยากร และระยะเวลา มีอยู่อย่างจำกัด

ที่ดีไปกว่านั้น คือ ธุรกิจสามารถนำงบประมาณและทรัพยากรที่ใช้ช่วยเหลือ คืนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อมอบให้แก่ผู้รอรับความช่วยเหลือรายอื่นๆ ต่อไป (ตรงกับแนวคิด Social Business ของมูฮัมหมัด ยูนุส)

ความช่วยเหลือในแบบ Philanthropy (การทำบุญสุนทาน) ที่เป็นการให้เปล่า โดยใช้เงินต้นทั้งก้อนไปในโครงการเดียว จึงควรได้รับการปรับโจทย์ใหม่ เป็นความช่วยเหลือในแบบ Philanthropic Investments (การลงทุนสุนทาน) ที่เป็นการใช้เงินต้นก้อนเดียวกันในโครงการ พัฒนาจนสัมฤทธิ์ผล และสามารถนำเงินต้นก้อนดังกล่าว กลับคืนเพื่อไปใช้ในโครงการอื่นต่อไป

ธุรกิจที่ให้ความช่วยเหลือในแบบ Philanthropic Investments สามารถจะเติมงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในแต่ละปี เพื่อพัฒนาโครงการที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อพร้อมกัน ให้แก่ผู้รอรับความช่วยเหลือได้หลายกลุ่มหลายโครงการ ด้วยเงินงบประมาณก้อนเดิมที่ใช้หมุนได้หลายรอบ โดยไม่สูญเปล่า ไม่สะเปะสะปะ

เงื่อนไขประการต่อมา ที่เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต้องปรับโจทย์ใหม่ คือ การบริหารความคาดหวังที่มิได้มีเพียงเรื่องผลประกอบการหรือผลตอบแทนที่ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น (Shareholders) หรือการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องครอบคลุมไปถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของกิจการโดยรวม ที่เกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือการดูแลผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด (อาทิ การเลียนแบบสินค้าที่ผู้ค้ารายใหญ่มีอิทธิพลเหนือคู่ค้ารายย่อย)


จาก CG สู่ ESG


เนื่องจาก CG (Corporate Governance) เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานของกิจการ ที่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย และดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้สิทธิที่พึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนด กระนั้นก็ตาม องค์กรที่มี CG ดี อาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการจากสังคม (License to operate) เพียงเพราะได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ประกอบกับในแวดวงผู้ลงทุนที่ตระหนักถึงการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ได้ให้น้ำหนักความสำคัญกับผลกระทบจากการประกอบการที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากผลตอบแทนที่ได้รับภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือที่เป็นไปตามกฎหมาย ผนวกรวมเข้าด้วยกันเป็นหลักการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็น ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งส่งผลต่อกิจการในแง่ของผลประกอบการที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ควบคู่ไปกับการพิจารณาผลประกอบการทางการเงิน

คำเรียก ESG ถูกบัญญัตขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2547 ในเอกสารรายงานชื่อ “Who Cares Wins” ที่องค์การสหประชาชาติผลักดันให้มีการศึกษา และในปีถัดมา ได้ถูกพัฒนาเป็น “หลักการลงทุนที่รับผิดชอบ” (Principles for Responsible Investment - PRI) ที่ในปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นสถาบันการเงินและผู้ถือสินทรัพย์ ให้การรับรองหลักการดังกล่าวกว่า 1,400 แห่ง มีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันกว่า 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ธุรกิจที่ดำเนินตามวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมุ่งแก้โจทย์ว่า ทำอย่างไร องค์กรจึงจะสามารถสร้างการยอมรับทั้งจากกลุ่มผู้ลงทุนและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ด้วยการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่าการคำนึงถึงเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย ในทางที่ขจัดหรือลดข้อขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ และเป็นที่น่าเชื่อถือต่อผู้ลงทุน มีทั้งผลประกอบการทางการเงินอันเป็นที่น่าพอใจต่อผู้ลงทุน และผลประกอบการที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินอันเป็นที่ยอมรับต่อผู้มีส่วนได้เสีย

การนำประเด็น ESG มาพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของการวางกลยุทธ์องค์กร สามารถใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT) ที่มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมีมุมมองที่กว้างขึ้นสำหรับการจัดทำประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Theme) ที่เอื้อต่อการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

เงื่อนไขประการล่าสุด ที่เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต้องปรับโจทย์ใหม่ คือ ความคาดหวังของสังคมที่เพ่งเล็งไปยังจุดซึ่งแกนของธุรกิจ (Core Business) ต้องสร้างให้เกิดคุณค่าทางสังคมร่วมด้วย นอกเหนือจากการสร้างมูลค่าให้แก่องค์กรเพียงลำพัง (อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล)


จาก CSR สู่ CSV


เนื่องจากความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) มิได้มุ่งแต่ตอบสนอง แก้ไข หรือเยียวยาเฉพาะผลกระทบ “เชิงลบ” ที่เกิดจากการประกอบการเท่านั้น แต่กิจการต้องสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีในธุรกิจ ส่งมอบคุณค่าหรือผลกระทบ “เชิงบวก” ให้แก่สังคม ควบคู่ไปพร้อมกันกับคุณค่าที่องค์กรได้รับ

พัฒนาการที่เกิดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อแนวคิดดังกล่าว คือ ความพยายามในการสร้างกิจการรูปแบบใหม่ ที่มีหลายชื่อเรียก อาทิ Benefit Corporation, Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของกิจการที่ในบ้านเรา เรียกว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise

แม้กิจการรูปแบบใหม่ดังกล่าว จะเป็นความหวังในการส่งมอบคุณค่าหลักทางสังคม (โดยตัวกิจการเอง สามารถปันผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้นได้) แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่สามารถสร้างให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจำนวนและโมเมนตัมของกิจการประเภทดังกล่าว ยังไม่มากพอถึงขีดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และยังส่งผลไปถึงความจำกัดของตัวเลือกสำหรับการลงทุนที่รับผิดชอบ ที่ทำให้ปริมาณเม็ดเงินลงทุนสำหรับสนับสนุนกิจการประเภทนี้ ไม่สามารถขยายตัวได้เท่าที่ควร (วิสาหกิจเพื่อสังคม ต้องพิสูจน์ความสำเร็จของโมเดลธุรกิจหรือความอยู่รอดของกิจการ ไม่ต่างจากวิสาหกิจทั่วไป ยังไม่ต้องนับว่า ได้สร้างคุณค่าทางสังคมมากน้อยเพียงใด เพราะหากวิสาหกิจนั้น ไม่สามารถอยู่รอด คุณค่าทางสังคมที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของการส่งมอบ ก็ไม่เกิดขึ้นเช่นกัน)

ด้วยเหตุนี้ จุดสนใจในปัจจุบัน จึงอยู่ที่การผลักดันให้วิสาหกิจทั่วไปหรือธุรกิจปกติ สร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value - CSV) ระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่เป็นแกนของธุรกิจนั้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง ซึ่งต่างจากเรื่อง CSR ที่สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการคาดหวังให้องค์กรดำเนินการ โดยไม่คำนึงว่าเรื่องและประเด็นเหล่านั้น องค์กรจะมีสินทรัพย์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่หรือไม่ก็ตาม

ธุรกิจที่ดำเนินตามวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมุ่งแก้โจทย์ว่า ทำอย่างไร องค์กรจึงจะสามารถนำประเด็นปัญหาทางสังคมที่รอการแก้ไขหรือที่อยู่ในความสนใจขององค์กร ภายใต้บริบทของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่เป็นแกนธุรกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อองค์กรสามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจนั้นได้ ก็เท่ากับว่า สามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมนั้นได้ไปในตัว เกิดเป็นคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมกัน

ในปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ภาคธุรกิจ สามารถมีส่วนร่วมในการเริ่มต้นศักราชแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเลือกตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 17 ข้อ ได้ตามที่องค์กรเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวเนื่องต่อการสร้างคุณค่า เป็นเรื่องซึ่งมีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

สวัสดีปีใหม่ครับ!

จากบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, December 03, 2015

รายงานเพิ่มพูนความยั่งยืน

เมื่อพูดถึงกรอบการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ (Sustainability Report) ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น หนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึงองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) องค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดทำและประกาศกรอบการรายงานสากลฉบับ G1 เป็นฉบับแรก ในปี พ.ศ.2543 พัฒนาเรื่อยมาจนเป็นฉบับ G4 ในปี พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อ้างอิงอยู่ในปัจจุบัน และได้กลายเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน ที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก

รายงานแห่งความยั่งยืน เป็นรายงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน มีองค์กรทั่วโลกที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI แล้วมากกว่า 5,000 แห่ง ใน 90 กว่าประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ

หัวใจหลักของกรอบการรายงานสากลของ GRI ฉบับ G4 คือ การสร้างให้เกิดกระบวนการรายงาน (Reporting Process) ขึ้นในองค์กร มิใช่มุ่งหวังเพียงเพื่อให้องค์กรได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เป็นเรื่องหลัก รวมทั้งการตอกย้ำเรื่องสารัตถภาพ (Materiality) ที่ให้องค์กรดำเนินงานและเปิดเผยข้อมูลเฉพาะในเรื่องที่สำคัญ (What matters) และตรงส่วนงานที่เรื่องนั้นมีความสำคัญ (Where it matters) ตลอดจนสามารถใช้กระบวนการรายงานดังกล่าวในการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การสหประชาชาติ โดยชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) จำนวน 17 ข้อ ที่ได้จัดทำขึ้น ต่อจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) จำนวน 8 ข้อ ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2558 ทั้งนี้ เพื่อใช้สานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเพื่อใช้เป็นเป้าหมายสำหรับการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้

องค์กรทั้งในภาคธุรกิจและภาคสังคม ที่ได้มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบ GRI อยู่แล้ว สามารถประมวลและเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กร ให้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับสู่รายงานเพิ่มพูนความยั่งยืน (Enhanced Sustainability Report) สำหรับสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียและสังคมในวงกว้าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงคำมั่นและการดำเนินงาน ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ตัวบ่งชี้การดำเนินงานของ GRI ที่ถูกจำแนกในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถจัดจำพวกให้อยู่ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นรายเป้าประสงค์ (Goals) ทั้ง 17 ข้อ โดยมีเป้าหมาย (Targets) รองรับตามธีมธุรกิจ (Business Theme) ที่เกี่ยวเนื่อง

ตัวอย่างของ SDG ข้อที่ 1 เรื่องการขจัดความยากจน จะสอดรับกับธีมธุรกิจด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ยากไร้ และด้านการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีตัวชี้วัด G4-EC8 ผลกระทบทางอ้อมเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายผลกระทบ เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินงานขององค์กร ที่ให้ผลสนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อดังกล่าว

ตัวอย่างของ SDG ข้อที่ 2 เรื่องการขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน จะสอดรับกับธีมธุรกิจด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีตัวชี้วัด G4-EC7 การพัฒนาและผลกระทบจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสนับสนุน เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินงานขององค์กร ที่ให้ผลสนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อดังกล่าว

ตัวอย่างของ SDG ข้อที่ 3 เรื่องการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ จะสอดรับกับธีมธุรกิจด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งมีตัวชี้วัด G4-LA6 ชนิดและอัตราของการบาดเจ็บ โรคจากการทำงาน จำนวนวันสูญเสียและการขาดงาน และจำนวนผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติงาน จำแนกตามภูมิภาค และเพศ รวมถึงตัวชี้วัด G4-LA7 แรงงานที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินงานขององค์กร ที่ให้ผลสนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อดังกล่าว

จะเห็นได้ว่า ภาคธุรกิจสามารถเริ่มต้นตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทันที ด้วยสิ่งที่องค์กรตนเองได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการประมวลและเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กร ให้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากนั้น องค์กรธุรกิจจึงค่อยพิจารณาเพิ่มเติมการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องหรือตอบสนองต่อ SDG ในข้อที่มีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังทำไม่ได้เต็มที่ และในข้อที่ยังมิได้มีการดำเนินการ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า องค์กรธุรกิจทุกแห่ง จะต้องดำเนินการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทั้ง 17 ข้อ แต่กิจการต้องสามารถเลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อการสร้างคุณค่า เป็นเรื่องซึ่งมีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 19, 2015

UN เปิดตัว SDG ในไทย

เมื่อวันอังคาร (17 พ.ย.) ที่ผ่านมา ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศ (UNRC) และทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNCT) ได้จัดงานแนะนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในประเทศไทย พร้อมกับการฉลองครบรอบ 70 ปีของสหประชาชาติ โดยมีองค์กรภาคีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ประเทศไทย ถือเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับระบบสหประชาชาติในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยหน่วยงานหรือโครงการและองค์การที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 28 แห่งซึ่งล้วนมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Country Team - UNCT) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานของสหประชาชาติที่ดำเนินโครงการสำคัญที่มุ่งเน้นในประเทศไทยโดยเฉพาะ มีพันธกรณีในการเสริมสร้างความร่วมมือฉันท์มิตรที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลไทยและผู้มีส่วนได้เสียในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานของ UNCT ทั้งหมด อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศ (UN Resident Coordinator - UNRC)

UNRC ได้รับการแต่งตั้ง โดยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีการประสานการทำงานและความร่วมมือในระบบสหประชาชาติและผู้บริจาครายอื่น ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ในแต่ละประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้กิจกรรมของสหประชาชาติมีการผสานกันอย่างกลมกลืน และสนับสนุนวาระโลกของสหประชาชาติ

อันที่จริง ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผ่านทางกรอบภาคีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework - UNPAF) ที่เน้นความสำคัญใน “การเข้าร่วมเป็นภาคี” เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่ในวาระของรัฐบาลและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในองค์การสหประชาชาติให้ความช่วยเหลือ

โดยในกรอบภาคีความร่วมมือ UNPAF ฉบับปี พ.ศ. 2555-2559 ได้ให้ความสำคัญใน 6 กลุ่มงาน ประกอบด้วย (1) การคุ้มครองทางสังคม (2) สิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (3) ข้อมูลสารสนเทศเชิงยุทธศาสตร์ (4) การเปลี่ยงแปลงสภาพภูมิอากาศ (5) ความร่วมมือระหว่างประเทศ (6) เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (ปัจจุบัน UNCT กำลังทำงานเพื่อเตรียมการจัดทำกรอบภาคีความร่วมมือ UNPAF ฉบับปี พ.ศ.2560-2564)

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ ยังได้มีการริเริ่มความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในประเด็นด้านอื่นๆ เช่น เอชไอวีและโรคเอดส์ การโยกย้านถื่นฐาน เพศสภาพ และการศึกษา รวมทั้งการสัมมนาความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนหารือระหว่างผู้เกี่ยวข้องต่อประเด็นการพัฒนาที่สำคัญในประเทศไทยด้วย

(ในภาพจากซ้าย คุณสุกิจ อุทินทุ รองประธานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ กลุ่มบริษัทไมเนอร์ และกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน
คุณลุค สตีเว่นส์ ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ และเลขานุการคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

สำหรับงานแนะนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นพร้อมกับงานนิทรรศการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของสหประชาชาติ และการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ โดยชาติสมาชิก 193 ประเทศ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ผู้ที่สนใจงานนิทรรศการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน UNRC และ UNCT เปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าชมฟรี ในระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2558 นี้ ที่ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน หัวมุม ถ.พระราม 1 และ ถ.พญาไท ตรงข้ามห้างมาบุญครอง และสยามดิสคัฟเวอรี่ มีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 12, 2015

เปิดเวทีขับเคลื่อนสังคม 2020

สังคม 2020” เป็นวาระที่ถูกริเริ่มขึ้นในจังหวะเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ซึ่งใช้อ้างอิงมาแล้ว 15 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 สู่การพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งนานาประเทศรวมทั้งไทยจะใช้อ้างอิงนับจากนี้ไป จวบจนปี ค.ศ.2030 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า

สังคม 2020 ถูกออกแบบให้เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ที่มุ่งให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในลักษณะเครือข่าย บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ให้สามารถเชื่อมโยงกับการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยการขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 มีกรอบเวลา 5 ปีในระยะแรก (สิ้นสุดปี ค.ศ.2020) และจะมีการประเมินการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาสู่การขับเคลื่อนในกรอบเวลา 10 ปี (สิ้นสุดปี ค.ศ.2030) ในระยะต่อไป

วาระสังคม 2020 ได้ถือโอกาสนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อที่เพิ่งประกาศในปีนี้ มาใช้เป็นกรอบการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีเป้าหมายร่วมแห่งการพัฒนาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ด้วยการอ้างอิงหลักการ และเป้าหมาย พร้อมตัวบ่งชี้การดำเนินงาน จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับการเห็นพ้องทั้งในระดับระหว่างองค์กรและระหว่างประเทศ จะช่วยขจัดและลดการสูญเสียเวลาและทรัพยากรที่แต่เดิม หน่วยงานที่เข้าเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานในภารกิจต่างๆ ร่วมกัน ต้องใช้ในการรวบรวม กลั่นกรอง และเห็นพ้องในหลักการ เป้าหมาย และตัวชี้วัดดังกล่าว ก่อนการดำเนินงาน และบ่อยครั้ง ก็ไม่สามารถได้ข้อสรุปร่วมกัน เป็นเหตุให้การดำเนินงานในลักษณะหุ้นส่วนความร่วมมือในหลายเวที ไม่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์

นอกจากนี้ ในการออกแบบการร่วมดำเนินงาน ยังได้คำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของหน่วยงานที่เข้าเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานมาใช้ในการขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 เพราะเชื่อว่า ในทุกหน่วยงานจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะตน ที่มีความโดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา และที่สำคัญ คือ การทำงานตามวาระสังคม 2020 จะเน้นที่การต่อยอดการทำงานของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่เริ่มจากศูนย์ แต่ต้องเปิดกว้างและสามารถเปิดรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อขยายผลการดำเนินงานของหน่วยงานในเชิงปัจเจก มาสู่ผลลัพธ์ในเชิงท้องถิ่น ภูมิภาค และโลกโดยรวม

ด้วยการวางแนวทางการขับเคลื่อนตามวิถีทางนี้ จะทำให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพ จากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และประสิทธิผล จากการส่งมอบผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ตามความมุ่งหวังของหน่วยงานและของสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ การร่วมขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 สามารถดำเนินการได้ใน 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็น “องค์กรริเริ่ม” และระดับที่เป็น “องค์กรเข้าร่วม” ดำเนินงาน

“องค์กรริเริ่ม” หมายถึง หน่วยงานที่มีความประสงค์จะเป็นผู้ริเริ่มและนำการดำเนินงานโดยองค์กรริเริ่ม ซึ่งได้มีการเสนอแผนงานหรือโครงการที่มีระยะเวลาการดำเนินงานอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ.2020 ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อพร้อมกัน

“องค์กรเข้าร่วม” หมายถึง หน่วยงานที่มีความประสงค์จะเป็นผู้เข้าร่วมดำเนินงานที่หน่วยงานอื่นเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์กรเข้าร่วมมีความสนใจและสามารถให้การสนับสนุนทุน ทรัพยากร หรือความเชี่ยวชาญที่องค์กรมีอยู่

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 จะมีการจัดกลุ่มการพัฒนาในแต่ละด้าน ในรูปของคณะกรรมการหรือคณะทำงานผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย เพื่อดำเนินเงินตามแผนงานหรือความริเริ่มที่องค์กรริเริ่มเป็นผู้เสนอ

หน่วยงานที่สนใจ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความประสงค์จะทำงานเชื่อมโยงกับวาระสังคม 2020 เข้าร่วมดำเนินงานในรูปแบบของหุ้นส่วนความร่วมมือ สามารถดาวน์โหลดเอกสาร Society 2020 Partnership Submission Form เพื่อให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลหน่วยงาน ประเด็นที่องค์กรสนใจ เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน รูปแบบความร่วมมือ ทุน/ปัจจัยที่ให้การสนับสนุน และโครงการ/ความริเริ่มที่ต้องการขับเคลื่อน ฯลฯ ได้ที่ sdnb.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 05, 2015

ย้อนรอยการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปีนี้ สหประชาชาติ ได้ประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งจะเป็นข้อผูกพันสำหรับชาติสมาชิกที่ได้ให้การรับรอง รวมทั้งประเทศไทย ในการนำไปใช้ บทความนี้ จะพาท่านย้อนรอยดูที่มาและความเคลื่อนไหวแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งสำคัญๆ ของโลก

เส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเวทีนานาชาติ มีจุดเริ่มต้นที่การก่อตั้งคณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ หรือคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ในปี ค.ศ.1984 จากข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่มีต่อกระบวนการเตรียมตัวด้านสภาวะแวดล้อม นับจากปี ค.ศ.2000 เป็นต้นไป อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UNCHE) ที่จัดขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน เมื่อปี ค.ศ.1972 ซึ่ง 113 ประเทศที่เข้าร่วม ได้ให้ความตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและเกินขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติโดยมนุษย์

คณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า อนาคตของเรา (Our Common Future) ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ.1987 อันเป็นที่มาของแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” โดยได้ให้นิยามไว้ในรายงานฉบับดังกล่าวว่า “เป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

ถัดจากนั้น ได้มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Earth Summit) หรือที่เรียกว่า การประชุม Rio เกิดขึ้นที่ กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในปี ค.ศ.1992 โดยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สำหรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของประชาคมโลก ที่เรียกว่า ปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา และแผนปฏิบัติการ 21 ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทสำหรับการดำเนินงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

ต่อมาได้มีการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษ (Millennium Summit) ในปี ค.ศ.2000 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้มีการรับรองและยืนยันถึงพันธกรณีร่วมกันที่จะดำเนินการเรื่องสำคัญของมนุษยชาติ ตามปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ และกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) เป็นวาระการพัฒนาของโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี อันประกอบด้วย เป้าหมายหลัก 8 ข้อ ได้แก่ (1) ขจัดความยากจนและความหิวโหย (2) ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา (3) ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี (4) ลดอัตราการตายของเด็ก (5) พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ (6) ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ (7) รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (8) ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก

และในปี ค.ศ.2002 การประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Earth Summit) หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า การประชุม Rio+10 ได้ถูกจัดขึ้นที่ นครโจฮันเนสเบอร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยได้มีการรับรองเอกสารพันธกรณี 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาโจฮันเนสเบอร์กว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการดำเนินงานโจฮันเนสเบอร์ก ซึ่งกำหนดมาตรการในการช่วยเร่งรัดการอนุวัตตามแผนปฏิบัติการ 21 รวมถึงพันธกรณีของข้อตกลงและอนุสัญญาต่างๆ ที่เป็นผลจากการประชุม Earth Summit ในปี ค.ศ.1992

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Earth Summit) หรือที่เรียกว่า การประชุม Rio+20 ได้เวียนมาจัดขึ้นที่ กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล อีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ.2012 โดยได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ที่มีชื่อว่า อนาคตที่เราต้องการ (The Future We Want) ซึ่งนับเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อใช้แทน MDGs ซึ่งสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.2015

และในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้ใช้เวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Summit) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs จำนวน 17 ข้อ

SDGs 17 ข้อ ประกอบด้วย (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว จะถูกใช้เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกนับจากนี้ จวบจนปี ค.ศ.2030 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 29, 2015

ปัญหาทุจริตในภาคธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องเล็ก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 ต.ค.) เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย (PACT) ร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) หรือ PwC ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรธุรกิจที่สนใจจำนวน 68 บริษัท

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทุจริต เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกภาคส่วนในสังคมต่างรับรู้และเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และได้กลายเป็นปัญหาหลักในการประกอบธุรกิจของบริษัทไทย โดยผลสำรวจของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม ในรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันสากล ปี พ.ศ.2557-2558 ระบุว่า ปัจจัยที่เป็นปัญหาสูงสุดของการทำธุรกิจในประเทศไทย คือ ปัญหาการทุจริค โดยมีอัตราสูงถึงร้อยละ 21.4

มูลค่าการทุจริตที่เกิดระหว่างองค์กรธุรกิจในภาคเอกชนด้วยกันเอง อาจสูงกว่ายอดทุจริตที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายเท่าตัว มีความยากต่อการเก็บตัวเลข เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษีอากรของประชาชนโดยตรง จึงไม่ได้รับการตรวจสอบเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ ทำให้ไม่มีใครทราบสถานะที่เป็นจริง ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตที่ถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการก็สูงขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงานในภาคเอกชน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ก็ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า

จากการสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ Thailand Economic Crime Survey ประจำปี 2557 โดย PwC พบว่า ร้อยละ 89 ของการทุจริตเกิดขึ้นจากการกระทำของคนในองค์กร ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 61 และระดับโลกที่ร้อยละ 56

ปัญหาการทุจริตในองค์กร กลายเป็นอุปสรรคที่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในภูมิภาค ซึ่งนอกจากการทุจริตจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินแล้ว ปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อชื่อเสียง คุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานในองค์กรด้วย

โดยเฉพาะการทุจริตที่เกิดขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ในอุตสาหกรรมภาคการผลิต สามารถส่งผลกระทบไปทั้งซัพพลายเชน ปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หากบุคลากรภายในองค์กร เช่น ผู้จัดการแผนกจัดซื้อ หรือฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมในการฉ้อโกงด้วย

เมื่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จัดหาไม่ได้คุณภาพ อันเนื่องมาจากการทุจริต ปัญหาที่เกิดขึ้นติดตามมา มีตั้งแต่ความปลอดภัย การเรียกคืนสินค้า ชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กร หรือความเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้

การทุจริตเปรียบเหมือนโรคระบาดที่ติดต่อกันง่าย สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในองค์กรที่มีการป้องกันอย่างรัดกุม เนื่องจากอาชญากรทางเศรษฐกิจใช้เทคนิคการทุจริตใหม่ๆ ตลอดเวลา องค์กรจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามกรณีทุจริตอย่างรอบด้าน มีความทันสมัยและทันต่อเหตุทุจริตที่อาจเกิดขึ้น

หลักสูตรต้านทุจริตที่สามองค์กรร่วมกันจัดทำขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจและการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกัน มิให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต พร้อมทั้งกรณีศึกษา อันจะนำไปสู่การยกระดับการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย

เนื้อหาในหลักสูตร ประกอบด้วย ความหมายและความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต กระบวนงานในการต่อต้านการทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ การวางกระบวนงานภายในองค์กรเพื่อยกระดับความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริต และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูล 56-1, 56-2 และ 69-1 เป็นต้น โดยเป็นหลักสูตรเต็มวัน และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ผลตอบรับจากผู้เข้าอบรมในหลักสูตร เห็นว่า การอบรมดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระดับมาก ที่อัตราร้อยละ 79 และระดับปานกลางที่ร้อยละ 21

นับเป็นก้าวสำคัญที่หน่วยงานภาคเอกชนทั้ง 68 แห่งนี้ ได้เข้าร่วมและเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีป้องกัน ตรวจสอบ ฟื้นฟู และตอบสนองต่อเหตุทุจริต ตามหลักการและแนวปฏิบัติในการต้านทุจริตที่เป็นสากล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการวางนโยบายและการควบคุมภายในให้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละองค์กรต่อไป...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 22, 2015

แผนธุรกิจคู่สังคม

บทความตอนนี้ จะพาท่านไปรู้จัก วิธีการจัดทำแผนธุรกิจสำหรับความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม อันเป็นขั้นตอนที่ต่อจากการระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และเป็นจุดเริ่มต้นของการแปลงรูปจากธุรกิจปกติ ไปสู่รูปแบบของธุรกิจคู่สังคม (Shared Value Business)

จากการที่องค์กรธุรกิจ ถูกคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสียและสังคมโดยรวม ให้ดำเนินกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ซึ่งกิจการส่วนใหญ่มักเข้าใจไปว่า กิจกรรม CSR ดังกล่าว เป็นส่วนที่องค์กรธุรกิจต้องทำเพิ่มเติมจากการประกอบธุรกิจปกติ หรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่

ด้วยมโนทัศน์นี้ ทำให้ผลลัพธ์ของกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่องค์กรออกแบบและดำเนินการ มิได้มีส่วนเสริมหนุนต่อผลประกอบการในทางธุรกิจโดยตรง ทั้งที่ กิจการสามารถออกแบบให้กิจกรรมดังกล่าวส่งมอบผลลัพธ์ทั้งทางสังคมและทางธุรกิจควบคู่ไปพร้อมกันได้ โดยที่ผู้มีส่วนได้เสียและสังคมโดยรวมมิได้มีข้อคัดค้าน ตราบที่กิจการสามารถตรวจตราดูแลและจัดการกับผลกระทบเชิงลบได้อย่างมีความรับผิดชอบ

การออกแบบกิจกรรม CSR ที่คำนึงถึงการบูรณาการเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ หรือที่เดิมเรียกว่า Strategic CSR กำลังได้รับการพัฒนาสู่รูปแบบของการสร้างเป็นคุณค่าร่วม หรือ Shared Value ที่ให้ผลลัพธ์ทั้งทางสังคมและทางธุรกิจไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่องค์กรมีอยู่ พัฒนาจนกลายเป็นกลยุทธ์ที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กร

การออกแบบความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม มิได้เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อใช้ยกระดับการดำเนินงานขององค์กรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และมิได้ใช้เป็นกลยุทธ์เสริมเพียงเพื่อให้องค์กรอยู่เหนือคู่แข่งขัน แต่เป็นจุดเริ่มในการปรับแกนของกลยุทธ์ธุรกิจ ให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งขัน จนกลายเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรใช้สร้างผลกำไรทางธุรกิจ ไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม และยากที่องค์กรอื่นจะลอกเลียนแบบได้


วิธีการออกแบบความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม (Shared Value Initiative) ประกอบด้วยกระบวนการใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้น Facilitate: การก่อเค้าโครงของความริเริ่ม ขั้น Define: การกำหนดปัจจัยนำเข้าที่จำเป็นและประเด็นที่จะใช้ขยายผล ขั้น Research: การวิจัยหาแผนการดำเนินงานต้นแบบ และขั้น Develop:การจัดทำแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์

กิจกรรมในขั้น Facilitate ประกอบด้วย การจัดทำแบบร่างและสมมติฐานในภาพรวมสำหรับความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม การกลั่นกรองประเด็นคำถามหลัก วิธีดำเนินการวิจัย และแผนงานในการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย และการจัดประชุมขับเคลื่อนงานระหว่างผู้เกี่ยวข้องในองค์กร

กิจกรรมในขั้น Define ประกอบด้วย การดำเนินการวิจัยระดับทุติยภูมิ การสัมภาษณ์หรือลงภาคสนาม กิจกรรมสัมภาษณ์ผู้นำในธุรกิจ และการกลั่นกรองแบบร่างตามข้อค้นพบใหม่ที่รวบรวมได้

กิจกรรมในขั้น Research ประกอบด้วย การสัมภาษณ์ผู้ให้การอุปถัมภ์แผนงานที่มีความคล้ายคลึงกัน และ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพัฒนากรณีศึกษาของแผนงานดังกล่าว การจัดทำแบบจำลองผลกระทบทางสังคมและทางธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับ การทบทวนกรณีศึกษาและกลั่นกรองงานออกแบบความริเริ่ม

กิจกรรมในขั้น Develop ประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลและดำเนินการติดต่อหุ้นส่วนเป้าหมาย การประชุมหารือเชิงปฏิบัติการเพื่อแปลงแบบร่างที่เป็นภาพรวมสู่รายละเอียดกลยุทธ์สำหรับนำไปปฏิบัติ และการจัดทำแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ ที่ครอบคลุมถึงผลลัพธ์เป้าหมาย รายการกิจกรรม งบประมาณ และแผนลดความเสี่ยง

โดยสิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการออกแบบความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม คือ แผนธุรกิจสำหรับความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แผนธุรกิจคู่สังคม” ที่แสดงรายละเอียดแนวทางกิจกรรม ทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ หุ้นส่วนความร่วมมือ ผลลัพธ์ทางสังคมและทางธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับ เป็นต้น

ธุรกิจที่ดำเนินการมาถึงขั้นนี้ จะมีความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม ที่เป็นแผนงานพร้อมดำเนินการในกรอบเวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และสมรรถภาพที่องค์กรมีอยู่ รวมถึงหุ้นส่วนภายนอกที่จะร่วมดำเนินการ ในการขยายผลสัมฤทธิ์ เพื่อปูทางสู่การเป็นกิจการคู่สังคม (Shared Value Enterprise) ในที่สุด...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 15, 2015

จาก B2B สู่ B4B

บทความตอนนี้ จะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับแนวคิดที่พัฒนามาจากการทำธุรกิจปกติในแบบ “ธุรกิจเพื่อธุรกิจ” (B2B) มาสู่การทำธุรกิจในแบบ “ธุรกิจสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม” (B4B)

B2B หรือ Business-to-Business เป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างวิสาหกิจต่อวิสาหกิจ เป็นการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน สินค้าและบริการ ซึ่งโดยทั่วไป จะใช้เกณฑ์พิจารณาที่คำนึงถึงปัจจัยด้านคุณภาพและราคาของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งความเชื่อมั่นและศักยภาพของผู้ส่งมอบ เป็นต้น จัดเป็นธุรกรรมแบบ Conventional ที่เห็นได้เป็นปกติในธุรกิจ

B4B หรือ Business-for-Business เป็นแนวคิดของการใช้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจปกติ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาหรือสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง เพิ่มเติมจากข้อพิจารณาทางธุรกิจในแบบปกติ จัดเป็นธุรกรรมที่วิสาหกิจหนึ่ง (รายที่ให้การสนับสนุน) ดำเนินการสำหรับอีกวิสาหกิจหนึ่ง (รายที่ได้รับการสนับสนุน) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ขยายโอกาส พัฒนาคุณภาพชีวิต หรือช่วยลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

วิสาหกิจกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากแนวคิด B4B ครอบคลุมตั้งแต่ ผู้ประกอบการระยะเริ่มต้นธุรกิจ (Startup) ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) โอทอปหรือวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั่วไปด้วย

ส่วนรูปแบบของธุรกรรมตามแนวคิด B4B จำแนกได้เป็น 3 จำพวกหลัก ได้แก่ ธุรกรรมแบบเน้นสร้างโอกาส (Inclusive) แบบเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลง (Impact) และแบบเน้นสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value)

ธุรกรรมแบบเน้นสร้างโอกาส (Inclusive) เป้าประสงค์ คือ ต้องการเปิดโอกาสให้วิสาหกิจเข้าถึงตลาดในส่วนที่ไม่เคยเข้าถึงได้มาก่อน อันเนื่องมาจากการไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้น เช่น ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ขนาดของกิจการเล็กเกินไป ขาดหลักประกันสัญญา ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ฯลฯ วิสาหกิจเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนผ่านธุรกรรมในแบบ Inclusive นี้ อาทิ ผู้ประกอบการระยะเริ่มต้นธุรกิจ ธุรกิจเพื่อสังคม กลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน สหกรณ์ โอทอป วิสาหกิจชุมชน

ตัวอย่างของ B4B ในแบบ Inclusive ได้แก่ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประกอบการเครือข่ายร้านอาหาร รับซื้อผัก ผลไม้ โดยตรงจากกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนที่ทำแปลงเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายของคนกลาง และได้ราคาที่เป็นธรรม หรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าบุคคลหรือรายย่อยจำนวนมาก จัดซื้อของขวัญหรือของชำร่วยเพื่อมอบในช่วงเทศกาลสำคัญๆ จากกลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน สหกรณ์ โอทอป เพื่อกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นและช่วยส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือธุรกิจทั่วไปที่ต้องจัดอาหารของว่างเลี้ยงรับรองลูกค้าในสำนักงานเป็นการทั่วไปอยู่แล้ว จัดซื้ออาหารของว่างจากกลุ่มแม่บ้านหรือร้านค้ารายย่อยในชุมชนที่สำนักงานตั้งอยู่ เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนหรือท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมทางธุรกิจปกติที่สร้างงานสร้างรายได้ นอกเหนือจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในแบบบริจาคให้เปล่าแก่ชุมชน เป็นต้น

ธุรกรรมแบบเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลง (Impact) เป้าประสงค์ คือ ต้องการใช้อำนาจหรือมูลค่าการจัดซื้อ ที่เป็นทั้งการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตหรือแปรรูป (Direct Materials) และวัสดุที่เป็นส่วนประกอบหรือเพื่อใช้สอยในสำนักงาน (Indirect Materials) เพื่อมุ่งลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านทางวิสาหกิจที่ได้รับคำสั่งซื้อให้ร่วมดำเนินการ วิสาหกิจเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนผ่านธุรกรรมในแบบ Impact นี้ กลุ่มแรกจะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ตั้งขึ้นโดยมีพันธกิจในการดำเนินงานเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง แต่ก็สามารถเป็นได้ทั้งวิสาหกิจทั่วไปที่พร้อมจะตอบสนองวัตถุประสงค์ทางสังคมเพื่อแลกกับคำสั่งซื้อนั้นๆ ได้ด้วย

ตัวอย่างของ B4B ในแบบ Impact ได้แก่ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการใช้แรงงานเป็นหลัก ว่าจ้างให้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ทำงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ทุพพลภาพ สร้างอาชีพหรือตำแหน่งงานที่มีคุณค่าในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมให้แก่คนกลุ่มดังกล่าว หรือธุรกิจที่ต้องการลดหรือขจัดการทุจริตในสังคม สร้างแนวร่วมการต้านทุจริตในห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการผลักดันให้คู่ค้าดำเนินนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ไม่ว่าด้วยการเรียก รับ และจ่ายสินบน ผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ หรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการใช้กระดาษในสำนักงานจำนวนมาก จัดซื้อกระดาษที่ผลิตมาจากป่าปลูก เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติ นอกเหนือจากการรณรงค์ลดใช้กระดาษ เป็นต้น

ธุรกรรมแบบเน้นสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) เป้าประสงค์ คือ ต้องการทำงานร่วมกับวิสาหกิจผู้ส่งมอบในลักษณะที่เป็นหรือเทียบเท่ากับหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าทั้งกับธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการนำความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่มีอยู่ มาใช้เป็นฐานในการสร้างคุณค่าร่วม ธุรกรรมในระดับนี้ เกิดขึ้นจากการนำประเด็นปัญหาทางสังคม (และสิ่งแวดล้อม) ที่อยู่ในความสนใจหรือที่ยังมิได้รับการตอบสนอง มาพัฒนาเป็นโจทย์ที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขด้วยรูปแบบทางธุรกิจ วิสาหกิจเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนผ่านธุรกรรมในแบบ Shared Value นี้ เป็นได้ทั้งวิสาหกิจในระดับฐานราก (คุณค่าทางสังคมเกิดขึ้นในตัววิสาหกิจเอง) จนถึงวิสาหกิจทั่วไปโดยไม่จำกัดขนาด (คุณค่าทางสังคมเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของวิสาหกิจ)

ตัวอย่างของ B4B ในแบบ Shared Value ได้แก่ ธุรกิจค้าน้ำมันรายใหญ่ ทำงานร่วมกับสหกรณ์ในชุมชน พัฒนารูปแบบของปั๊มสหกรณ์และปั๊มชุมชน นำน้ำมันมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์หรือคนในชุมชน สร้างรายได้จากการขายน้ำมัน และครัวเรือนที่เป็นสมาชิกยังได้รับเงินปันผลเป็นรายรับเพิ่มด้วย หรือธุรกิจเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ ทำงานร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ พัฒนาสินค้าที่เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ขายปลีกผ่านเครือข่ายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือรับผลิตเครื่องแบบข้าราชการ เครื่องแบบพนักงานบริษัท ขายส่งผ่านเครือข่ายธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นต้น

แนวคิด B4B ทั้ง 3 รูปแบบ Inclusive • Impact • Shared Value สามารถนำมาใช้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยกระจายเม็ดเงินรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ด้วยการแสวงหาความร่วมมือในภาคเอกชน รวมถึงร่วมดูแลผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 01, 2015

บอร์ดยั่งยืน กับวาระ ‘สังคม 2020’

สัปดาห์ที่ผ่านมา (24 ก.ย) ได้มีคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Network Board: SDNB) หรือ “บอร์ดยั่งยืน” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ที่ผลักดันงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจตนารมณ์ที่จะทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และสานเครือข่ายการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ทำงานเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในระดับสากล ภายใต้วาระ “สังคม 2020” หรือ Society 2020


ผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดยั่งยืนที่จัดตั้งขึ้น มาจากทั้งภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน ประกอบด้วย คุณศิริชัย สาครรัตนกุล ดร.วัฒนา โอภานนท์อมตะ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล ดร.สุนทร คุณชัยมัง คุณสุกิจ อุทินทุ รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ และดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ รวมทั้งสิ้น 7 ท่าน โดยมีสถาบันไทยพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ

สืบเนื่องจากเวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Summit) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ชาติสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศได้มีการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) 17 ข้อ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2558

ทั้งวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้รับการรับรองโดยชาติสมาชิก จะมีอิทธิพลต่อทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกนับจากนี้ จวบจนปี พ.ศ.2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี

การขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนของประเทศไทย ควรจะมีการสร้างความเคลื่อนไหว (Movement) ที่ให้ภาคส่วนต่างๆ ตื่นตัวและมีช่องทางที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้เสนอแนวคิดการขับเคลื่อน “วาระ Society 2020” โดยมีกรอบเวลา 5 ปีในระยะแรก (สิ้นสุดปี ค.ศ.2020) ด้วยวิสัยทัศน์ “People -> Perform, Business -> Transform, State -> Reform” และจะมีการประเมินการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาสู่การขับเคลื่อนในกรอบเวลา 10 ปี (สิ้นสุดปี ค.ศ.2030) ตามวาระสังคม 2030 ในระยะต่อไป

Mandate ในการทำงานของบอร์ดชุดนี้ มุ่งหวังตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ในระดับสังคมวงกว้าง เน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้ อันมีขอบข่ายที่กว้างกว่าโจทย์การพัฒนาความยั่งยืน หรือ Sustainability Development ในระดับองค์กรหรือระดับห่วงโซ่ธุรกิจ

คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเชิญชวนหน่วยงานที่สนใจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับวาระสังคม 2020 และสอดคล้องกับSDGs เข้าร่วมขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 ในรูปของกลุ่มความร่วมมือผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder Group) เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ได้แก่ (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล

ทั้งนี้ บทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเน้นการทำหน้าที่เป็นกลไกประสานหน่วยงาน โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่จะทำงานในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์ SDGs ในระดับที่สูงขึ้น ภายใต้หลักการ 5Ps ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ประชาชน (People) โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

ด้วยแพลตฟอร์มดังกล่าว คาดหวังจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ ตามวาระสังคม 2020 ที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติด้วย...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 24, 2015

เป้าหมายโลกต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กันยายน -1 ตุลาคม 2558

สาระสำคัญในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 สหประชาชาติกำหนดให้ภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรม และครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิง และปกป้องโลกและทรัพยากรธรรมชาติ


เป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน 17 ประการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล (Global Goals for Sustainable Development) ประกอบด้วย

เป้าหมายที่ 1ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่
เป้าหมายที่ 2ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
เป้าหมายที่ 3ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ
เป้าหมายที่ 4ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
เป้าหมายที่ 5บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน
เป้าหมายที่ 6ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 7ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน
เป้าหมายที่ 8ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 9พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม
เป้าหมายที่ 10ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
เป้าหมายที่ 11ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
เป้าหมายที่ 12ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 13ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
เป้าหมายที่ 14อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 15พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายที่ 16ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ
เป้าหมายที่ 17เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

กล่าวได้ว่า การดำเนินงานของรัฐบาลภายใต้แนวทางการพัฒนาประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีนัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว

อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนเป็นเป้าหมายหลัก โดยน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ต้องลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งเสริมบทบาทของสตรีในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สร้างและพัฒนาคนให้เรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งภัยธรรมชาติ โรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

ประเทศไทย มีศักยภาพและความพร้อมที่จะดำเนินการตามเป้าหมาย “วาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015” ซึ่งจะเป็นทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกต่อจากนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 17, 2015

วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

สัปดาห์หน้า คณะผู้แทนไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ จะเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

หนึ่งในภารกิจที่สำคัญสำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การรับรองร่างเอกสารผลการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำ เพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ที่ชื่อว่า “Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development

ร่างเอกสารวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ สานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และเน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้


สาระสำคัญของร่างเอกสารฉบับนี้ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นอารัมภบท ปฏิญญา เป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมาย กลไกการดำเนินงาน การติดตามและทบทวนผล

ในส่วนที่เป็นอารัมภบท (Preamble) เป็นการสื่อสารวาระการพัฒนา 2030 โดยกล่าวถึงการขจัดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้หลักการ 5 Ps ได้แก่ ประชาชน (People) โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

ในส่วนที่เป็นปฏิญญา (Declaration) กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของวาระการพัฒนา 2030 และความมุ่งมั่นในการขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ

ในส่วนที่เป็นเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมาย (Sustainable Development Goals and Targets – SDGs & Targets) ประกอบด้วยเป้าประสงค์ (goals) 17 ข้อ และเป้าหมาย (targets) 169 ข้อ ครอบคลุมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทั้ง 3 มิติ

ในส่วนที่เป็นกลไกการดำเนินงาน (Means of Implementation – Mol) และหุ้นส่วนระดับโลก (Global Partnership) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยครอบคลุมการระดมทุนจากภาครัฐภายในประเทศ การระดมทุนจากภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance – ODA) การเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน

ในส่วนที่เป็นการติดตามและทบทวนผล (Follow-up and review) กล่าวถึงการติดตามความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความท้าทาย และช่องว่างในการดำเนินงาน โดยมีการทบทวนความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงในทุกระดับ ทั้งในระดับชาติ โดยส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือทางนโยบายที่มีอยู่ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงการติดตามผลในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาค โดยให้ประเทศในภูมิภาคหารือร่วมกันและระบุถึงกลไกที่เหมาะสม โดยอาจใช้กลไกที่มีอยู่แล้วในภูมิภาค และในระดับโลก โดยใช้เวทีการหารือทางการเมืองระดับสูง (High-Level Political Forum – HLPF) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมในกรอบสมัชชาสหประชาชาติเป็นเวทีหลักซึ่งมีการประชุมประจำทุกปี และจะมีการประชุมติดตามและทบทวนผลระดับโลกในระดับผู้นำครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019

นอกจากนี้ ร่างเอกสารวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ฉบับดังกล่าว ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของระบบการจัดเก็บสถิติในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

และภายหลังจากที่ได้มีการรับรองเอกสารผลการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำ เพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ฉบับดังกล่าวแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 ได้มอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกลไกหลักในระดับประเทศ ในการขับเคลื่อนให้หน่วยงานไทยนำวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ไปปฏิบัติ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงาน ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคส่วนต่างๆ

อนึ่ง คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนชุดนี้ จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2556 โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

นับจากนี้ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 10, 2015

ตัวชี้วัด CSR 4 ระดับ

บทความตอนนี้ จะขอเขียนเรื่องขององค์กรธุรกิจที่ทำ CSR (Corporate Social Responsibility) แล้วผู้บริหารที่รับผิดชอบเกิดสนใจใคร่รู้ว่า จะมีวิธีนำเสนอและกำหนดตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการดำเนินงานลักษณะใดได้บ้าง ที่สามารถสื่อความให้กับทีมงานได้เข้าใจตรงกันและในแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เพื่อจะได้ตั้งธงการทำงานของทีมไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกิดอาการสะเปะสะปะ หรือไปในทำนองขี่ช้างจับตั๊กแตนจนเกินไป

ในทางปฏิบัติ แต่ละองค์กรที่ทำ CSR จะมีดีกรีของความทุ่มเท ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้า (Input) เช่น กำลังคน งบประมาณ หรือเวลาในระดับที่แตกต่างกัน ทำให้เราๆ ท่านๆ พอจะสามารถคาดเดาคำตอบได้เหมือนกันว่า ผลสัมฤทธิ์ปลายทางของการทำ CSR ในแต่ละองค์กร ก็จะมีดีกรีของความสำเร็จที่ไม่เท่ากันตามไปด้วย

ตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ที่ผมจะขออนุญาตนำมาเรียบเรียงในบทความนี้ มีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ โดยจะขยายความพร้อมยกตัวอย่างประกอบในแต่ละระดับ ดังนี้

ระดับแรก คือ “ได้ภาพ” เป็นการนำเสนอข้อมูลปัจจัยนำเข้าที่ได้รับการจัดสรร หรือสื่อสารถึงแผนงานที่จะดำเนินการ หรือจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ หรือแสดงแบบจำลองให้เห็นถึงผลที่คาดว่าจะได้รับ ตัวอย่างที่มีให้เห็น ประมาณว่า

“…เอ่อ เพื่อนสื่อมวลชนทุกท่าน ในปีนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ที่จะร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในโครงการปลูกป่า 1 ล้านต้น ด้วยการสนับสนุนงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกได้ถึง 10,000 ตันต่อปี…”

การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เทียบเคียงได้กับการวัดมูลค่าทางการประชาสัมพันธ์ (PR Value) โดยในความเป็นจริง เราไม่ทราบเลยว่า ผลสัมฤทธิ์ปลายทางของการทำ CSR ในกรณีนี้ ตกลงแล้วได้ปลูกป่าไปจริง 1 ล้านต้นหรือไม่ มีอัตราการอยู่รอดจริงเป็นเท่าใด และสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้จริงตามตัวเลขที่เคลมหรือไม่ แต่องค์กรได้มูลค่าสำเร็จไปแล้ว คือ ได้ภาพ (Image)

ระดับที่สอง คือ “ได้ทำ” เป็นการลงมือดำเนินการโดยใช้ปัจจัยนำเข้าที่ได้รับการจัดสรร หาพันธมิตรร่วมดำเนินงาน หรือว่าจ้างหน่วยงานภายนอกดำเนินการให้ ตามแต่วิธีที่องค์กรจะใช้แปลงแผนงานสู่การปฏิบัติ ตัวอย่างที่เห็นโดยทั่วไป คือ

“…วันนี้ ทางบริษัทมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เข้ามาให้การอบรมแก่สมาชิกในชุมชนของท่าน เราเชื่อมั่นว่า ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญของทีมวิทยากร จะช่วยให้สมาชิกในชุมชน สามารถสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น และหวังว่าจะมีครัวเรือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มาร่วมรับการอบรมกับเรา...”

การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เทียบเคียงได้กับการวัดปัจจัยส่งออกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินงาน โดยในความเป็นจริง แม้โครงการจะสามารถให้การอบรมแก่ครัวเรือนได้เกินร้อยละ 50 ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ผลสัมฤทธิ์ปลายทางของการทำ CSR ในกรณีนี้ สมาชิกในชุมชน จะสามารถสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น หรือมีรายได้ที่ดีขึ้นจริงหรือไม่ แต่องค์กรได้ผลผลิตไปแล้ว คือ ได้ทำ (Output)

ระดับที่สาม คือ “ได้รับ” เป็นการดำเนินกระบวนการที่คำนึงถึงการตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ด้วยการให้ความสำคัญกับรูปแบบการดำเนินงานที่สามารถส่งมอบผลการดำเนินงานให้ใกล้เคียงหรือเท่ากับผลที่คาดว่าจะได้รับ ตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือ

“…ไตรมาสนี้ ทางบริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า ยอดสั่งซื้อผลิตภันฑ์จากชุมชนของท่าน รวมกันเป็นเงินทั้งสิ้น 6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว จากการที่ชุมชนสามารถเพิ่มผลผลิต และทำให้ครัวเรือนที่ผ่านการอบรม สามารถแปรรูปผลผลิต มีรายได้เสริมจากผลิตภัณฑ์แปรรูปที่จำหน่ายได้เพิ่มขึ้น…”

การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เป็นการวัดผลการดำเนินงานเทียบเคียงกับวัตถุประสงค์หรือผลที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ (จากตัวอย่าง คือ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และรายได้เพิ่มขึ้นจริง) โดยในความเป็นจริง องค์กรควรต้องตั้งคำถามว่า “เขาได้รับอะไรจากเรา” มากกว่าที่จะวัดว่า “เราได้ให้อะไรกับเขา” เนื่องจากในระหว่างทาง จะมีทั้งสิ่งรบกวน (noise) และการรั่วไหล (leak) ต่างๆ เกิดขึ้น นอกเหนือจากคุณภาพของผู้ให้และผู้รับ อย่างไรก็ดี หากก้าวขึ้นมาสู่การวัดผลในระดับนี้ได้ องค์กรจะได้ผลลัพธ์จากการดำเนินงาน โดยสามารถส่งมอบผลที่คาดว่าจะได้รับให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินงาน ที่ถือว่า ได้รับ (Outcome)

ระดับที่สี่ คือ “ได้ผล” เป็นการขับเคลื่อนโดยบูรณาการปัจจัยแวดล้อมกับบริบทของการดำเนินงานที่คำนึงถึงการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อขยายผลกระทบให้เกิดขึ้นทั้งในระหว่างและหลังการดำเนินงาน หรือแม้โครงการจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม ตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือ

“…หลังจากการดำเนินโครงการผ่านพ้นไป 3 ปี ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นกว่าเท่าตัว ครัวเรือนมีรายได้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในชุมชนดีขึ้น อัตราการเจ็บป่วยลดลงกว่าร้อยละ 70 อันเกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น จากการลดใช้สารเคมี และการสุขาภิบาลที่สะอาดปลอดภัยจากเดิม…”

การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เป็นการวัดผลกระทบของการดำเนินงานที่อาจอยู่นอกขอบเขตของโครงการหรือการดำเนินงานขององค์กร และมิได้เกิดขึ้นจากตัวแปรหรือปัจจัยในโครงการเพียงลำพัง แต่ยังมาจากตัวแปรหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทำให้การวัดผล CSR ในระดับนี้ องค์กรไม่สามารถเคลมได้เต็มปาก แม้ผลสัมฤทธิ์ปลายทางจะเกิดขึ้นจริง ในทำนองเดียวกัน องค์กรก็อาจจะโบ้ยได้ หากผลสัมฤทธิ์ปลายทางไม่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อย องค์กรก็แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบจากการดำเนินงานให้กับกลุ่มเป้าหมายไม่มากก็น้อย ถือว่า ได้ผล (Impact)

หวังว่า บทความนี้ คงจะช่วยจุดประกายให้องค์กรใช้พิจารณาตัวชี้วัด CSR ในโครงการต่างๆ ของท่าน ตั้งแต่ “ได้ภาพ” (Image) จนมาสู่ “ได้ผล” (Impact) กัน ตามแต่ศรัทธานะครับ...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 20, 2015

ธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ได้ร่วมกันจัดทำและประกาศหลักการ “สิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ” (Children’s Rights and Business Principles - CRBP) เมื่อปี พ.ศ.2555 เป็นเวลาสองปีนับจากความริเริ่มนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2553


ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้มีความร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ เพื่อรณรงค์ ให้บริษัทที่มีถิ่นฐานการดำเนินงานในประเทศไทย ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก ทั้งในสถานประกอบการ (Workplace) บทบาทในตลาด (Marketplace) และบทบาทในชุมชนและสิ่งแวดล้อม (Community and Environment) โดยอ้างอิงหลักการ CRBP ซึ่งประกอบด้วย 10 หลักการสำคัญ ได้แก่

หลักการที่ 1เคารพสิทธิเด็กและให้คำมั่นที่จะสนับสนุนสิทธิเด็ก
หลักการที่ 2สนับสนุนการขจัดปัญหาแรงงานเด็กในการดำเนินงานและการติดต่อทางธุรกิจ
หลักการที่ 3จัดหางานที่มีคุณค่าให้แก่คนงานที่เป็นเยาวชน ตลอดจนพ่อแม่ และผู้ดูแลเด็ก
หลักการที่ 4คำนึงถึงความคุ้มครองและความปลอดภัยของเด็กในสถานประกอบการและการดำเนินธุรกิจ
หลักการที่ 5ทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์และบริการมีความปลอดภัยและมีการส่งเสริมความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิเด็กผ่านผลิตภัณฑ์และบริการ
หลักการที่ 6ใช้สื่อโฆษณาและการตลาดในทางที่เคารพและส่งเสริมสิทธิเด็ก
หลักการที่ 7เคารพและส่งเสริมสิทธิเด็ก เมื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การถือครองและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
หลักการที่ 8คำนึงถึงสิทธิเด็ก ในการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ
หลักการที่ 9ช่วยคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภัยพิบัติต่างๆ
หลักการที่ 10หนุนเสริมบทบาทของรัฐและชุมชนในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิเด็ก

เป้าประสงค์ของสถาบันไทยพัฒน์และองค์การยูนิเซฟภายใต้ความริเริ่มนี้ เพื่อต้องการยกระดับกิจกรรมความช่วยเหลือที่องค์กรธุรกิจดำเนินการแก่เด็กและเยาวชน จากแนวคิดบนฐานของการทำการกุศล (Charity-based) สู่การทำงานโดยใช้แนวคิดฐานสิทธิ (Rights-based) ที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนงานหลักทางธุรกิจ (Core Business) แทนการจัดกิจกรรมเฉพาะกิจเป็นรายครั้ง (Event) โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่หนึ่ง: กิจกรรมสำหรับผู้บริหาร ในรูปแบบ Sharing and Discussion เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย 10 หลักการสำคัญข้างต้น การหารือเพื่อพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก และวิธีการที่องค์กรธุรกิจจะสามารถนำสิทธิเด็กไปกำหนดไว้ในนโยบายและจรรยาบรรณทางธุรกิจ

ระยะที่สอง: กิจกรรมสำหรับผู้ดูแลงานด้าน CSR และผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก ในรูปแบบ Training and Workshop เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการประเมินผลการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก รวมทั้งการค้นหาโอกาสในการสนับสนุนสิทธิเด็กตามหลักปฏิบัติทางธุรกิจ ตลอดจนขอบเขตการปฏิบัติงานที่บริษัทสามารถนำสิทธิเด็กไปผสมผสานเข้ากับนโยบายทางธุรกิจและกระบวนการบริหารจัดการองค์กร

ระยะที่สาม: กิจกรรมสำหรับผู้จัดทำข้อมูลและการรายงาน ในรูปแบบ Coaching and Exercise เพื่อชี้แนะแนวทางในการรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเด็ก บูรณาการเข้าไว้ในการรายงานแห่งความยั่งยืน ตามกรอบสากลของ GRI โดยครอบคลุมมากกว่าการใช้แรงงานเด็กและการให้ความช่วยเหลือในชุมชน

โดยวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับหนังสือ “เด็กเป็นเรื่องของทุกคน” Workbook ฉบับ 2.0 การอบรมให้ความรู้ (Training) เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก และการอบรมแนะนำ (Coaching) เกี่ยวกับกระบวนการเขียนรายงานตามกรอบมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) ในส่วนของรายละเอียดข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเด็ก ณ สถานประกอบการ

ทั้งนี้ วิสาหกิจที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 3 ระยะ จะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันไทยพัฒน์ โดยการสนับสนุนขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ด้วย

องค์กรธุรกิจที่สนใจ สามารถติดต่อเพื่อเข้าร่วมโครงการ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ http://www.thaipat.org ได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 06, 2015

รู้จักรูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืน

ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หุ้นตก ทองลง ราคาน้ำมันลด สินค้าที่เป็นเป้าหมายการลงทุนเดิมทั้งหลาย ดูจะมีแนวโน้มราคาที่ต่ำเตี้ยลงเป็นลำดับ บทความในตอนนี้ จึงขอนำเสนอทางเลือกสำหรับการลงทุนในรูปแบบใหม่ ที่กำลังเป็นเทรนด์ดาวรุ่งในแวดวงของตลาดทุนตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ครับ

การลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) เป็นวิถีการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในการคัดเลือกและบริหารพอร์ตการลงทุน

รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืนในปัจจุบัน สามารถจำแนกตามนโยบายหรือกลยุทธ์การลงทุน ออกได้เป็น 7 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ Negative/exclusionary screening, Positive/best-in-class screening, Norms-based screening, Integration of ESG factors, Sustainability-themed investing, Impact/community investing, Philanthropic investing

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบแรก คือ การไม่เข้าลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ตัวสินค้าและบริการก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมหรือขัดกับหลักศีลธรรมจรรยา (Negative/exclusionary screening) เช่น กิจการที่เป็นอบายมุขต่างๆ การค้าอาวุธ ยาพิษ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์เพื่อฆ่า ฯลฯ

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่สอง เป็นการใช้เกณฑ์คัดเลือกลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ตัวสินค้าและบริการสร้างให้เกิดผลดีต่อสังคม ส่งเสริมหลักศีลธรรมจรรยา หรือมีความโดดเด่นในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าว ท่ามกลางหลักทรัพย์หรือตราสารในกลุ่มหรือประเภทของกิจการนั้น (Positive/best-in-class screening) เช่น กิจการที่มีธรรมาภิบาลที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการพลังงานทดแทน เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่สาม เป็นการเลือกลงทุนโดยพิจารณาหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ (Norms-based screening) เช่น OECD, ILO, UN, UNICEF ฯลฯ โดยหลีกเลี่ยงที่จะไม่ลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานหรือมาตรฐานเหล่านั้น หรือใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการพิจารณาให้น้ำหนักการลงทุน

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่สี่ เป็นการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้ากับการวิเคราะห์ทางการเงิน (Integration of ESG factors) อย่างชัดแจ้งและเป็นระบบ ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยผู้จัดการลงทุน เช่น การพิจารณาปัจจัย ESG ที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีนัยสำคัญในรายอุตสาหกรรมและในรายกิจการ รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับการเติบโตและผลประกอบการของกิจการนั้นๆ โดยตรง

อนึ่ง การใช้เกณฑ์ ESG ที่เป็นของผู้จัดทำหรือผู้ให้บริการดัชนีภายนอก เช่น DJSI หรือ FTSE4Good ซึ่งมีการพัฒนาเกณฑ์ที่ใช้แตกต่างกัน จะไม่สามารถใช้วัดหรือเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างกิจการแต่ละแห่งซึ่งมีสารัตถภาพ (Materiality) ของปัจจัยด้าน ESG ที่แตกต่างกันได้

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่ห้า ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การเข้าลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับประเด็นหรือแบบแผนด้านความยั่งยืน (Sustainability-themed investing) ที่ผู้ลงทุนต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนเป็นการเฉพาะ เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสีเขียว หรือ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน ฯลฯ

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่หก คือ การเข้าลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูงทางสังคม (หรือสิ่งแวดล้อม) รวมถึงการลงทุนในระดับชุมชน (Impact/community investing) โดยมากจะเป็นการลงทุนนอกตลาดกับกิจการที่มีความยากลำบากต่อการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งหมายรวมถึงการให้สินเชื่อหรือหลักประกันแก่กิจการที่ประกอบการโดยมีความมุ่งประสงค์ (Purpose) ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เช่น กิจการประเภทวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise โดยการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวนี้ ผู้ลงทุนมีความคาดหวังหรือยอมรับในผลตอบแทน ที่อาจมีอัตราต่ำกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับเมื่อเทียบกับการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ

สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่เจ็ด เรียกว่า การลงทุนสุนทาน (Philanthropic investing) เป็นการลงทุนระยะยาวในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG เพื่อนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุน มาจัดสรรให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ เป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน สามารถวางแผนการจัดสรรทุนหรือทรัพยากรสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางสังคม (หรือทางสิ่งแวดล้อม) ได้อย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลสัมฤทธิ์หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

มีทางเลือกถึง 7 รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืนขนาดนี้แล้ว หวังว่าคงจะช่วยดันพอร์ตการลงทุนของท่านให้เพิ่มมูลค่าได้ไม่มากก็น้อย แถมยังดีกับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยนะครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 23, 2015

กำเนิดกองทุนสุนทาน

วานนี้ (22 ก.ค.) องค์กรธุรกิจชั้นนำ 6 แห่ง ได้จับมือเป็นหุ้นส่วน “การลงทุนสุนทาน” หรือ “Philanthropic Investments” ระดมเงินตั้งต้นกว่า 120 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนประเดิมในโครงการลงทุนสุนทาน โดยคาดหวังจะนำดอกผลจากการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ไปช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในแบบยั่งยืน

6 องค์กรที่ได้ร่วมกันก่อตั้งกองทุนสุนทาน ได้แก่ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ไมเนอร์ กรุ๊ป, แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์, น้ำตาลขอนแก่น, นำสินประกันภัย และ ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป

กองทุนสุนทาน เป็นการลงทุนในรูปแบบ Philanthropic Investments ภายใต้ Universe ที่เป็นกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้คัดเลือก สำหรับตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับนำผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป มาใช้สนับสนุนการขับเคลื่อน CSR ตามนโยบายขององค์กรที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการลงทุน

ในส่วนของ บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ร่วมลงเงินทุนตั้งต้นสำหรับโครงการ โดยหวังให้เกิดดอกผลสะสมเพื่อนำไปใช้ในโครงการ ‘สถานีส่งความสุขจากชาวบีทีเอสกรุ๊ปฯ’ ซึ่งเป็นโครงการ CSR หลักของบริษัทฯ ที่นำความช่วยเหลือไปมอบให้กับเด็กในโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือมาก่อน รวมทั้งโครงการ ‘คลินิกลอยฟ้า’ โครงการ ‘หนูด่วนชวนกินเจ’ การสนับสนุนให้เยาวชนเรียนรู้การประหยัดพลังงานด้วยการทัศนศึกษาระบบขนส่งมวลชน และโครงการ ‘บีทีเอสกรุ๊ปอนุรักษ์ช้างไทย’ เป็นต้น

ขณะที่ ไมเนอร์ กรุ๊ป มีความตั้งใจที่จะนำดอกผลจากการลงทุนนี้ มอบให้แก่สังคมผ่านทางมูลนิธิต่างๆ ที่กลุ่มไมเนอร์ให้การสนับสนุนอยู่ เช่น มูลนิธิไฮเน็ค ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ส่งเสริมด้านการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนในประเทศไทย มูลนิธิ โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอลเลเฟ่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อลดปัญหาช้างเร่ร่อนบนถนนในเมืองและปัจจุบันขยายขอบเขตรวมถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์ช้าง การให้ความรู้และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับช้าง และมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล หาดไม้ขาว รวมทั้ง มูลนิธิไมเนอร์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างจัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย

สำหรับ แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จะนำดอกผลจากการลงทุน ไปสนับสนุนบริษัทในเครือ คือ บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC) ที่มีนโยบายพัฒนาสตรีด้อยโอกาสให้เป็นพนักงานบริการชุมชน เพิ่มศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตของสตรีกลุ่มนี้ โดยเฉพาะมีแนวคิดที่จะพัฒนาบริษัทให้เป็นองค์กรเพื่อสังคม (SE) และพร้อมจะระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนบริษัทกิจการของบริษัท LPC ในอนาคต

เช่นเดียวกับที่ กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น มองว่าจะเป็นโอกาสที่กลุ่มบริษัทเคเอสแอลจะขยายการดำเนินบทบาทตามพันธกิจในการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียและสังคมได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคาดหวังจะนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุนสุนทาน มาทำประโยชน์ในด้านสาธารณสุข ผ่านโรงพยาบาลที่กลุ่มบริษัทเคเอสแอลให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว รวมทั้งนำมาใช้ในโครงการเพื่อการศึกษาและสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

นำสินประกันภัย ผู้ให้บริการกรมธรรม์ความคุ้มครองที่สร้างหลักประกันและการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนสุนทาน มุ่งหวังว่าจะนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุนไปใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยแก่สาธารณชน โครงการพัฒนาและเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงโครงการเพื่อการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืน

ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนสุนทาน และเป็นผู้รับบริหารจัดการกองทุน มุ่งหมายที่จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในการบริหารจัดการกองทุนสุนทานนี้ ให้ได้ผลตอบแทนที่ดี เกิดดอกผลไปทำคุณประโยชน์ต่างๆ เพื่อสังคม ตามเจตนารมณ์ของโครงการ โดยดอกผลที่ได้จากการลงทุนในส่วนของกลุ่มทิสโก้ จะนำไปทำประโยชน์แก่สังคม โดยเน้นที่การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ด้วยการจัดโครงการค่ายการเงินเยาวชน และจัดอบรมความรู้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ นอกเหนือจากการให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนผ่านมูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล และการสนับสนุนกิจกรรมด้าน ESG อันได้แก่ การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

อนึ่ง โครงการลงทุนสุนทาน เป็นความริเริ่มของสถาบันไทยพัฒน์ ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนในระยะยาว เพื่อหาดอกผล สำหรับนำไปใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ เป็นทางเลือกให้กับบริษัทจดทะเบียน มูลนิธิในสังกัดภาคเอกชน และสำนักงานธุรกิจครอบครัว สามารถวางแผนการจัดสรรทุนหรือทรัพยากรสำหรับการให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง จนโครงการหรือภารกิจที่ริเริ่มขึ้น เห็นผลหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 16, 2015

เข้าสู่ยุค Slow Business

บทความตอนนี้ ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับเทรนด์ Slow Life หรือการใช้ชีวิตแบบเนิบช้า ที่หลายท่านกำลังฝึกชะลอตัวเองให้ไม่ไหลอย่างไร้ทิศทางไปตามกระแสสังคม ซึมซับกับธรรมชาติรอบตัว ใส่ใจกับคนรอบข้างมากขึ้น ในสไตล์แบบ “ช้าๆ แต่ไม่ล้าหลัง”

อันที่จริง เทรนด์การใช้ชีวิตสไตล์นี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะ ความไม่สมดุลของการใช้ชีวิต ที่หลายท่านต้องอุทิศเวลาให้กับการทำงาน การทำมาหากิน ซึ่งต้องเร่งรีบ แข่งกับเวลา เน้นสร้างความสำเร็จให้เร็ว ด้วยหวังว่าจะได้เลิกทำงานและมีเวลาไปหาความสุข จนทำให้เสียสุขภาพ กระทบกับชีวิตครอบครัว หรือพลาดสิ่งดี ๆ ในระหว่างทางไปไม่น้อย (ในประเด็นเรื่องความสุขนี้ ผมขอแปะไว้ก่อน จะมาขยายความถึง “ความสุขที่เกิดจากการทำงาน กับความสุขที่ไขว่คว้าหลังเลิกงาน” ในโอกาสต่อไป)

แต่ในโหมดที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลกอยู่ขณะนี้ ทำให้ธุรกิจโดยรวม มีความยากลำบากที่จะเพิ่มหรือคงการเติบโตในอัตราเดิมเหมือนช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว ปัจจัยความเร่งรีบหรือการแข่งขันเพื่อคว้าโอกาสช่วงขาขึ้น จะมิใช่ตัวแปรหลักในทางธุรกิจกับโหมดเศรษฐกิจแบบชะลอตัว

กลายเป็นว่า เทรนด์ Slow Life เหมือนจะเข้ามามีบทบาทในขอบเขตของการดำเนินธุรกิจ ในแบบที่ผมขอเรียกว่า Slow Business เพื่อให้เข้ากับท้องเรื่องตามที่จั่วหัวไว้

ในอดีต เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะมีสูตรสำเร็จในการปรับตัว โดยจัดสรรเวลาให้กับกิจกรรมภายในองค์กรเพิ่มขึ้น หันกลับมาพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนงานต่างๆ ลดความสูญเสีย หรือพิจารณาตัดค่าใช้จ่ายในรายการที่ไม่สำคัญในแผนกต่างๆ

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะกรอบคิดเดิมของธุรกิจ มอง “องค์กร” เป็นหน่วยแข่งขัน ขอบเขตของกิจกรรมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จึงจำกัดอยู่ภายในองค์กรเป็นส่วนใหญ่

แต่ด้วยเงื่อนไขหรือตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปในบริบทใหม่ ที่ซึ่ง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ถูกใช้เป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจ จำต้องมีกรอบคิดที่มิได้มองเพียงระดับองค์กร ว่าเป็นหน่วยแข่งขันที่ควรได้รับการพัฒนาหรือปรับตัวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องใน “สายคุณค่า” (Value Chain) ทั้งหมด ที่ธุรกิจควรเข้าไปพัฒนากิจกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

องค์กรที่จะเดินรอยตาม Slow Business ตามแนวการพัฒนาที่ยั่งยืน วิถีทางแรก คือ การทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการขยายกิจกรรมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร มาสู่การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) ในสายคุณค่าหรือในห่วงโซ่ธุรกิจ

ทั้งนี้ เป้าประสงค์ในการสานสัมพันธ์ขององค์กรในแต่ละแห่งหรือในแต่ละสาขาอุตสาหกรรม อาจจะมีประเด็นความสนใจหรือเรื่องที่ต้องการพัฒนาแตกต่างกันไป เช่น ต้องการเพิ่มผลิตภาพในสายคุณค่า หรือต้องการลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายแฝงในสายอุปทาน ฯลฯ

ตัวอย่างของประเด็นทางสังคมที่สามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการ ได้แก่ การวางนโยบายการต่อต้านทุจริตที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนในการดำเนินธุรกิจ หรือผลักดันให้คู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจดำเนินนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต

ตัวอย่างของประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ คือ การวางนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือดำเนินการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการลดการใช้สารอันตราย การร่วมพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะดวกต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดการซากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเพิ่มยอดขายขององค์กร ไม่ว่าจะด้วยวิธี Up-Selling (เช่น เพิ่ม 10 บาท เป็นแก้วใหญ่ ไหมครับ) หรือ Cross-Selling (เช่น รับขนมจีบ ซาลาเปา เพิ่มไหมครับ) จะทำได้ยาก เพราะลูกค้าหรือผู้บริโภค มีกำลังซื้อลดลง หรือประหยัดมากขึ้น

สูตรสำเร็จเดิม ที่ธุรกิจใช้เพิ่มยอดขาย ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวคือ การลดราคา หรือ ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง หรือ ซื้อชิ้นแรก ชิ้นต่อไปลด 50% ฯลฯ ที่ธุรกิจเองก็ต้องยอมรับกับกำไรที่ลดลงด้วย

วิถีทางต่อมาของการดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ Slow Business คือ การคงส่วนแบ่งทางการตลาด เปลี่ยนโฟกัสจากการทำโปรแกรม Promotion มาเป็นโปรแกรม Retention ด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิมให้คงอยู่ และให้มียอดใช้จ่ายที่ไม่น้อยลงกว่าเดิม

วิธีการผูกพันรักษาลูกค้า (Customer Retention) จะแตกต่างจากการทำโปรโมชั่น ตรงที่ธุรกิจสามารถรักษายอดขาย โดยไม่ต้อง Trade-off กับกำไรที่ลดลง ด้วยการลดราคาหรือแถมสินค้า

ตัวอย่างของการผูกพันรักษาลูกค้าในเชิงสังคม ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วมให้ลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ ด้วยการสร้างประสบการณ์ในการเป็นที่ยอมรับจากสังคม ต่อการใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ดังกล่าว เปลี่ยนโฟกัสจากการที่ลูกค้าจะได้รับคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์ มาเป็นการได้รับคุณค่าในเชิงสังคม เช่น การมอบสิทธิ์ให้ลูกค้าเดิมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การได้สิทธิ์เลือกซื้อสินค้าก่อนลูกค้าทั่วไป รวมไปถึงการสร้างคอมมูนิติ้สำหรับกลุ่มคนที่ชอบแบรนด์เดียวกันขึ้น เพื่อสร้างให้เกิดแนวโน้มการบอกต่อไปยังคนรู้จักเพิ่มขึ้น และด้วยการบอกต่อของลูกค้ากันเอง จะมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นด้วย

ตัวอย่างของการผูกพันรักษาลูกค้าในเชิงสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสร้างแบบแผนพฤติกรรมที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีส่วนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจากการใช้ผลิตภัณฑ์ขององค์กร (ขณะที่ลูกค้าอาจยินดีจ่ายในราคาที่แพงขึ้นด้วย) อาทิ การรวมกลุ่มผู้ที่มีแบบแผนการใช้ชีวิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพและความยั่งยืน (เช่น กลุ่ม LOHAS: Lifestyle of Health and Sustainability) ที่ผลักดันให้เกิดตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงสุขภาพ (เช่น ตลาด Clean Food) ซึ่งนับวันจะมีอัตราการขยายตัวและการเติบโตที่สูงขึ้น

ยังมีวิถีทางของธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ Slow Business ตามแนวการพัฒนาที่ยั่งยืน อื่นอีก แต่ด้วยพื้นที่จำกัด จึงขออนุญาตยกไปนำเสนอในโอกาสต่อไปนะครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]