Thursday, April 18, 2013

ความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจ

วันนี้ องค์กรธุรกิจได้นำคำว่า ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) มาใช้ในหลายบริบท ทั้งในระดับองค์กร ที่คำนึงถึงเฉพาะความสามารถขององค์กรในการตอบสนองต่อความจำเป็นทางธุรกิจในปัจจุบัน และมีความคล่องตัวและการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ที่ทำให้องค์กรมีความพร้อมต่อธุรกิจ ตลาด และสภาพแวดล้อมการดำเนินงานในอนาคต

และในระดับที่กว้างถัดมา คือ ความยั่งยืนที่ครอบคลุมในระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) หรือในระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ขยายการคำนึงถึงปัจจัยภายนอกองค์กรที่แวดล้อมอยู่รายรอบองค์กร ซึ่งก็ยังเป็นไปเพื่อเสริมหนุนขีดความสามารถขององค์กรในการตอบสนองต่อประเด็นทางธุรกิจเป็นสำคัญ แต่ได้ถ่ายทอดอิทธิพลให้องค์กรข้างเคียงในห่วงโซ่ธุรกิจได้ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ไปจนถึงความยั่งยืนในระดับที่กว้างสุด คือ ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม ที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับองค์กรหรือหน่วยงานในภาคส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม

ความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจขององค์กร โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นผู้ส่งมอบ ผู้ป้อนวัสดุอุปกรณ์ แรงงานในองค์กร ลูกค้า ผู้จัดส่ง ผู้จัดเก็บ ผู้จัดจำหน่าย ชุมชนท้องถิ่น ฯลฯ โดยสามารถจำแนกออกเป็นฝั่งต้นน้ำ ฝั่งปลายน้ำ และภายในตัวองค์กรซึ่งมีพนักงานที่สามารถเป็นได้ทั้งลูกค้าและสมาชิกหนึ่งของชุมชนด้วย

การพิจารณาความเกี่ยวข้องของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ ควรคำนึงถึงผลกระทบที่มีนัยสำคัญอันเกิดจากการดำเนินงานขององค์กร โดยข้อพิจารณาที่สำคัญ คือ กิจกรรมขององค์กร ผลิตภัณฑ์ บริการ และความเกี่ยวโยงในห่วงโซ่ธุรกิจ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมกับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น หน่วยงานที่องค์กรมีส่วนแห่งความเป็นเจ้าของ อาทิ กิจการใหญ่ กิจการย่อย กิจการร่วมค้า ฯลฯ ความเกี่ยวโยงกับคู่ค้าในฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงกิจกรรมและความเกี่ยวโยงในรูปแบบอื่นระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มิใช่หน่วยงานของรัฐ และปัจเจกบุคคล

องค์กรอาจนำแนวทางหรือข้อมูลการระบุผู้มีส่วนได้เสียที่มีอยู่มาใช้สำหรับการพิจารณาความเกี่ยวข้องของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ โดยคำนึงถึงประสิทธิผลสูงสุด ที่สมควรตามเหตุปัจจัยและความมุ่งหมาย โดยที่องค์กรหนึ่งๆ อาจมีหลายห่วงโซ่คุณค่าเพื่อรองรับกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการที่หลากหลายขององค์กร

ทั้งนี้ การพิจารณาความเกี่ยวข้องของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ องค์กรอาจมีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เนื่องจากเงื่อนไขและสิ่งที่องค์กรดำเนินการมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา โดยผลลัพธ์ที่ได้ คือ ภาพในลักษณะองค์รวมของห่วงโซ่ธุรกิจที่องค์กรสามารถระบุได้ถึงความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียและผลกระทบในส่วนต่างๆ ของห่วงโซ่ธุรกิจ

บริบทความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจ จะมุ่งเน้นถึงความจำเป็นของการพิจารณาผลกระทบด้านความยั่งยืน ความเข้าใจในผลกระทบที่เกิดจากองค์กร และการพึ่งพิงทรัพยากรที่องค์กรได้รับจากระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเหตุให้องค์กรจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ งานวิจัยและการพยากรณ์แนวโน้มเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เป้าหมายและตัวบ่งชี้ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏในนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในแหล่งดำเนินงานขององค์กร รวมทั้งสมรรถนะการดำเนินงานขององค์กรในเรื่องนั้นๆ เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น มาเสริมการพิจารณาบริบทความยั่งยืน

นอกจากนี้ องค์กรควรใช้ข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาประกอบการพิจารณาทบทวนบริบทความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจ เช่น ขนาดของผลกระทบและนัยที่มีต่อการดำเนินงานในปัจจุบันและในอนาคต การเปรียบเทียบผลกระทบตามมาตราส่วน ตามเกณฑ์สัมบูรณ์ ตามขีดจำกัดระหว่างสากลและท้องถิ่น ผลที่ตามมาจากผลกระทบ ปริมาณและชนิดของผลที่เกิดขึ้น (ทั้งบวกและลบ) รวมทั้งผลกระทบภายนอก (Externalities) ความรุนแรงของผลกระทบที่สะสมเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลา และการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีนัยสำคัญเชิงสัมพัทธ์และเชิงสัมบูรณ์ขององค์กรที่มีต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

การพิจารณาบริบทความยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจ ถือเป็นข้อต่อสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถขยายขอบเขตการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่จำกัดวงอยู่ในระดับองค์กร ไปสู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของสังคมโดยรวมได้ในที่สุด...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, April 04, 2013

ตอบโจทย์ความยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้มีงานสัมมนาที่น่าสนใจซึ่งจัดโดยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ Sustainability Reporting : "An Effective Tool for Corporate Communication in Sustainability Era" โดยในงานนี้ได้มีการเชิญ Ms.Nikki McKean-Wood ผู้จัดการอาวุโสด้านเครือข่ายสัมพันธ์ ของ Global Reporting Initiative (GRI) มาเป็นวิทยากรหลักเพื่อแนะนำเครื่องมือการสื่อสารขององค์กรในยุคแห่งความยั่งยืน

นับเป็นครั้งที่สองแล้ว ที่ GRI ได้มาจัดกิจกรรมในบ้านเรา โดยในครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2553 ที่ Mr. Enrique Torres ผู้จัดการอาวุโสด้านการสอนและการอบรมของ GRI ได้เดินทางมาจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อแนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย

การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และมีอัตราที่เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบันที่มีความต้องการใช้ข้อมูลเรื่องบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม มาประกอบการลงทุนและการทำธุรกรรมกับบริษัทและองค์กรที่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ลงทุนสถาบันจำนวน 5 แห่งในประเทศไทย ซึ่งบริหารเม็ดเงินรวมกันเกือบ 7 ล้านล้านบาท ได้ประกาศจุดยืนร่วมกันในการให้ความสำคัญที่จะพิจารณาความเหมาะสมในการทำธุรกรรมกับบริษัทและองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม หรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน

ปัจจุบัน มีหลายประเทศที่ส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจในประเทศของตน จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนเผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และมีองค์กรธุรกิจจำนวนเกือบ 5,000 แห่งทั่วโลกได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI โดยมีรายงานที่เผยแพร่แล้วนับหมื่นฉบับ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน จัดทำและเผยแพร่เอกสารแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป มีแนววิธีการจัดทำข้อมูลรายงานการดำเนินงานของกิจการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิงจากกรอบการรายงานของ GRI ที่ประกอบด้วย เนื้อหา คุณภาพ ขอบเขตของการรายงาน มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เกณฑ์วิธีตัวชี้วัด และการวัดระดับการรายงาน โดยจัดทำขึ้นเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน และส่วนที่เป็นวิธีจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI Sustainability Reporting Guidelines รุ่น 3.1 ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ GRI

ในประเทศไทย มีองค์กรที่ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI ฉบับ G3 และ G3.1 และเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนแล้วจำนวน 18 แห่ง อาทิ บมจ.บางจากปิโตรเลียม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ การบินไทย บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ท่าอากาศยานไทย ฯลฯ

บริษัทและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการให้การประกอบการของตนเองมีความยั่งยืน สามารถพัฒนากระบวนการรายงานแห่งความยั่งยืน ให้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสารกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้การดำเนินงานซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืน ถูกเฝ้าสังเกตและติดตามอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และมีการส่งผ่านข้อมูลไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อใช้ปรับแต่งนโยบายและกลยุทธ์ รวมถึงการปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร ด้วยการใช้รายงานแห่งความยั่งยืน เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและยกระดับบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]