Saturday, April 20, 2024

การขับเคลื่อน ESG สำหรับบริษัทนอกตลาด

ด้วยเหตุที่บรรษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทมหาชนที่มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เนื่องเพราะแรงขับดันจากการที่กิจการเหล่านั้นมีผู้ถือหุ้นมากรายที่มีส่วนเป็นเจ้าขององค์กร จึงจำเป็นที่ต้องมีการกำกับดูแลและต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มข้นมากกว่าบริษัททั่วไป เพื่อป้องกันความเสียหายในวงกว้าง หากเกิดการฉ้อโกงหรือการบริหารงานที่ผิดพลาด


และด้วยความที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งมีการจ้างงาน มีลูกค้า รวมทั้งมีคู่ค้าทั้งในฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก หากกิจการดำเนินงานโดยหวังประโยชน์ระยะสั้น ไม่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน ก็มีโอกาสก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อสังคมในวงกว้าง

ที่สำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องผู้คนและสังคม นั่นคือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือต่อโลก ที่ซึ่งกิจการขนาดใหญ่มีการจัดหาวัตถุดิบ มีการแปรรูปทรัพยากร มีการผลิตขนาดใหญ่ และอาจมีปริมาณของเสียที่ไม่สามารถบำบัดหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เกิดเป็นมลภาวะทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางผืนดินสะสมอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเทียบระหว่างบริษัทนอกตลาดหรือกิจการที่มิได้มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กับบริษัทมหาชนหรือกิจการที่มีผู้ถือหุ้นมากราย การดำเนินการเรื่องความยั่งยืนของบริษัทนอกตลาดในประเด็นด้าน ESG อาจมิได้เข้มข้นเท่ากับบริษัทจดทะเบียนเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่บริษัทรายใหญ่ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ และมีการดำเนินการเรื่อง ESG ได้ผลักดันให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของตนต้องดำเนินการเรื่อง ESG ในระดับเดียวกันหรือได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่บริษัทรายใหญ่เป็นผู้กำหนด ทำให้คู่ค้าที่เป็นบริษัทนอกตลาด ต้องมีการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อให้ตนเองยังสามารถค้าขายหรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทานได้ตามปกติต่อไป

แม้บริษัทนอกตลาดที่มิได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทรายใหญ่ หรือทำธุรกิจอย่างเป็นเอกเทศ (Stand-alone) ยังต้องเริ่มดำเนินการเรื่อง ESG บ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ต่างหันมาให้ความใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือจากบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านราคาและคุณภาพ บริษัทนอกตลาดที่ปรับตัว ก็จะมีโอกาสรักษาตลาดหรือเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ ได้มีการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์หรือมาตรการลดหย่อนทางภาษีให้กับบริษัทที่ดำเนินการเรื่อง ESG ซึ่งกลายเป็นแต้มต่อให้บริษัทนอกตลาดที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืน มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ลดลงเมื่อเทียบกับบริษัททั่วไป

แรงขับดันที่บริษัทนอกตลาดต้องดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ในมุมมองข้างต้น จึงมิได้ตั้งอยู่บนเหตุผลเพียงเพื่อโลกสวย แต่ ESG เป็นเงื่อนไขทางธุรกิจ ที่ทำให้บริษัทอยู่รอดและเติบโต จากการไม่ถูกกีดกันให้ออกจากตลาด ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานจากการได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น

สำหรับบริษัทนอกตลาด การขับเคลื่อนประเด็นด้าน ESG โดยพื้นฐานสุด คือ ทำอย่างไรให้กิจการอยู่รอด เติบโต และมีกำไร ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยสามารถดำเนินการตามสภาพดังว่าต่อไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งคำสำคัญที่ว่า “.. ดำเนินการตามสภาพดังว่าต่อไปได้เรื่อย ๆ ..” นั่นคือ การพิจารณาที่เริ่มต้นจากความยั่งยืน “ของกิจการ”

เมื่อธุรกิจมีการดำเนินสืบเนื่องไป เจ้าของกิจการจะเริ่มตระหนักว่า การที่กิจการของตนจะยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องมองถึงประโยชน์หรือความคาดหวังของ “ผู้มีส่วนได้เสีย” (Stakeholders) ที่อยู่รายรอบกิจการด้วย มัวแต่นึกถึงเพียงทำกำไรให้ได้มาก ๆ ถ่ายเดียวไม่ได้ เช่น หากเราดูแล “ลูกค้า” ไม่ดี รายได้ที่หวังว่าจะโตก็อาจจะไม่ได้ เมื่อยอดขายไม่เข้า กำไรที่หวังว่าจะได้มากขึ้นก็ไม่มา ครั้นต้องวางแผนที่จะดูแลใส่ใจลูกค้า ลำพังเจ้าของกิจการก็ลงมือทำเองทั้งหมดไม่ได้ ต้องพึ่ง “พนักงาน” ให้มีการดำเนินการทั้งองคาพยพ และยังต้องเลยไปถึงการบริหาร “คู่ค้า” ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจ ทั้งในฝั่งต้นน้ำที่เป็นผู้ส่งมอบ กับในฝั่งปลายน้ำที่เป็นผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค

สำหรับกิจการที่มีหน่วยการผลิตเป็นโรงงานขนาดใหญ่ นอกจากการดูแลผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ส่งทอดไปถึงผู้มีส่วนได้เสียนอกห่วงโซ่ธุรกิจอีก อันได้แก่ “ชุมชน” ที่อาจได้รับมลภาวะ เช่น ฝุ่น กลิ่น เสียง จากการที่อยู่ใกล้แหล่งดำเนินงานของบริษัท หรือโรงงานมีการปล่อยของเสีย น้ำเสีย อากาศเสีย สู่ “สิ่งแวดล้อม” รอบข้าง จนกระทบต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชน

การดูแลใส่ใจผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ คือ การคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน “ของสังคมและสิ่งแวดล้อม” ที่ต้องมีควบคู่กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของตัวกิจการเอง เพราะหากชุมชนเดือดร้อนจากการประกอบการของกิจการ มีการร้องเรียน มีการเรียกร้องค่าเสียหาย มีการฟ้องร้องให้ระงับการดำเนินงาน กิจการก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่ม การประกอบการอาจสะดุดหยุดชะงัก ธุรกิจก็ดำเนินไปต่อไม่ได้อย่างราบรื่น หรือกรณีที่คู่ค้าส่งมอบวัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ มีการกระจายสินค้าล่าช้า ก็ย่อมส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ที่จะส่งมอบสู่ตลาด ทำให้สูญเสียลูกค้า เกิดความเสียหายทางธุรกิจติดตามมา ความยั่งยืนของกิจการจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดการดูแลเอาใจใส่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

สรุปความได้ว่า หลักคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนตามที่ควรจะเป็น ประการแรก จะเป็นการคำนึงถึงความยั่งยืนของกิจการ ที่จะทำอย่างไรให้กิจการอยู่รอด เติบโต และมีกำไรสูงสุด (Maximize Profit) ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มากระทบต่อการดำเนินธุรกิจและมีผลต่อบรรทัดสุดท้าย (กำไร) ของกิจการ เรียกว่า เป็นการพิจารณาปัจจัยความยั่งยืนแบบ Outside-in หรือ “โลกกระทบเรา” อย่างไร เพื่อที่จะหาหนทางในการรับมือและปรับเปลี่ยน

ประการที่สอง จะเป็นจะเป็นการคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ที่จะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้เสียสนับสนุนการดำเนินงานของกิจการ และลดโอกาสที่จะก่อให้เกิดปัญหา ข้อพิพาท หรือข้อขัดแย้งระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด (Minimize Conflict) ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายในที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อหาทางป้องกัน บรรเทา หรือเยียวยา และหาหนทางที่จะสร้างส่งผลกระทบทางบวกส่งมอบสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมแทน เรียกว่า เป็นการพิจารณาปัจจัยความยั่งยืนแบบ Inside-out หรือ “เรากระทบโลก” นั่นเอง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, April 06, 2024

ธุรกิจประกาศเป้า Net Zero อย่างไร ไม่ให้ปลอม

การประกาศเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ที่เป็นไปตามศาสตร์ทางภูมิอากาศ จึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในมาตรฐาน Corporate Net-Zero Standard เพื่อมิให้เข้าข่ายเป็นการฟอกเขียว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Target) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายโลกที่ต้องบรรลุภายในปี ค.ศ.2050

หน่วยงาน SBTi (Science Based Targets initiative) ได้จัดทำมาตรฐาน Corporate Net-Zero Standard ฉบับแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2021 สำหรับให้ภาคธุรกิจใช้ในการกำหนดเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ที่เป็นไปตามศาสตร์ทางภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วยแนวทาง หลักเกณฑ์ และข้อแนะนำที่จำเป็นต่อการกำหนดเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ให้สอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยมาตรฐานฉบับดังกล่าวได้มีการปรับปรุงเป็นเวอร์ชัน 1.2 และประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

องค์ประกอบสำคัญของมาตรฐาน Corporate Net-Zero Standard ประกอบด้วย

1)เป้าหมายระยะใกล้ (Near-term Targets) ในการให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อการขจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมในสายคุณค่า (Value-chain) ด้วยตนเอง ให้ได้ปริมาณราวครึ่งหนึ่งของการปล่อยก่อนปี ค.ศ. 2030
2)เป้าหมายระยะยาว (Long-term Targets) ในการขจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง ให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 ของการปล่อยก่อนปี ค.ศ. 2050
3)การทำให้มลอากาศส่วนตกค้างเป็นกลาง (Neutralize Residual Emissions) หลังจากที่องค์กรได้บรรลุเป้าหมายระยะยาวแล้ว ด้วยการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ดักจับและกักเก็บคาร์บอนถาวร เพื่อให้สมดุลกันระหว่างปริมาณก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือตกค้างอีกไม่เกินร้อยละ 10 หรือตามจำนวนที่ขจัดได้ไม่หมด กับปริมาณที่ลดได้จากกิจกรรมที่ดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ดำเนินการ

ปัจจุบัน มีกิจการในประเทศไทย จำนวน 34 แห่ง ที่มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยศาสตร์ทางภูมิอากาศกับหน่วยงาน SBTi

เพื่อให้เข้าใจที่มาของแหล่งกำเนิดมลอากาศ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร จำแนกออกได้เป็น 3 ขอบเขต คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดซึ่งกิจการเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นเจ้าของ (Scope 1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานที่ซื้อหรือจัดหามาจากแหล่งกำเนิดภายนอก (Scope 2) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Scope 3)

ในกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 3 จะแบ่งเป็น 15 ประเภท ประกอบด้วย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 1) สินค้าและบริการที่สั่งซื้อ 2) สินค้าประเภททุน 3) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและพลังงาน 4) การขนส่งและกระจายสินค้าต้นน้ำ 5) ของเสียที่เกิดจากการดำเนินงาน 6) การเดินทางเพื่อธุรกิจ 7) การเดินทางไปกลับของพนักงาน 8) สินทรัพย์เช่าต้นน้ำ 9) การขนส่งและกระจายสินค้าปลายน้ำ 10) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 11) การใช้ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 12) การบำบัดเมื่อสิ้นอายุผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 13) สินทรัพย์เช่าปลายน้ำ 14) สิทธิพิเศษในการผลิตหรือบริการ 15) การลงทุน

มลอากาศในขอบเขตที่ 3 เป็นที่ทราบกันว่ามีปริมาณที่ใหญ่และกว้างขวางกว่าขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคู่ค้าจำนวนมากในห่วงโซ่ธุรกิจ และมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกิจการ

จากภาพตัวอย่าง อธิบายได้ว่า ในปีแรก การบ่งชี้ปริมาณมลอากาศมิได้ครอบคลุมทั้งหมด การระบุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ เป็นผลรวมของมลอากาศในขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 โดยประมาณ ต่อมาในปีที่สาม การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกพัฒนาถึงขีดที่สามารถรวบรวมปริมาณมลอากาศในขอบเขตที่ 3 หรือใน Value-chain ทำให้การบ่งชี้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความครอบคลุมตามที่ควรจะเป็น และสะท้อนปริมาณมลอากาศที่แท้จริงยิ่งขึ้น จนกระทั่งในปีที่สิบห้า การเปลี่ยนผ่านสู่เป้าสุทธิเป็นศูนย์ คงเหลือแต่มลอากาศส่วนตกค้างซึ่งสามารถทำให้เป็นกลางได้ด้วยการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ดักจับและกักเก็บคาร์บอนถาวร เพื่อให้สมดุลกันระหว่างมลอากาศส่วนตกค้างกับปริมาณที่ลดได้จากกิจกรรมที่ดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ดำเนินการ

การประกาศเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ที่เป็นไปตามศาสตร์ทางภูมิอากาศ จึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในมาตรฐาน Corporate Net-Zero Standard เพื่อมิให้เข้าข่ายเป็นการฟอกเขียว โดย

1)การดำเนินการตามเป้าหมายระยะใกล้ ต้องครอบคลุมปริมาณมลอากาศในขอบเขตที่ 3 (ใน Value-chain)
2)การดำเนินการตามเป้าหมายระยะยาว ต้องเป็นการลดด้วยตนเอง (ไม่สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย)
3)การดำเนินการกับมลอากาศส่วนตกค้าง ต้องลดได้ตามเป้าหมายระยะยาวก่อน (จึงค่อยทำกับส่วนตกค้าง)

ฉะนั้น กิจการที่มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จำเป็นต้องพัฒนาการจัดทำบัญชีรายการก๊าซเรือนกระจกที่สามารถรวบรวมปริมาณมลอากาศในขอบเขตที่ 3 เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริงก่อนการดำเนินการตามเป้าหมายระยะใกล้ และเป้าหมายระยะยาวในลำดับถัดไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]