ด้วยเหตุที่บรรษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทมหาชนที่มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เนื่องเพราะแรงขับดันจากการที่กิจการเหล่านั้นมีผู้ถือหุ้นมากรายที่มีส่วนเป็นเจ้าขององค์กร จึงจำเป็นที่ต้องมีการกำกับดูแลและต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มข้นมากกว่าบริษัททั่วไป เพื่อป้องกันความเสียหายในวงกว้าง หากเกิดการฉ้อโกงหรือการบริหารงานที่ผิดพลาด
และด้วยความที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งมีการจ้างงาน มีลูกค้า รวมทั้งมีคู่ค้าทั้งในฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก หากกิจการดำเนินงานโดยหวังประโยชน์ระยะสั้น ไม่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน ก็มีโอกาสก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อสังคมในวงกว้าง
ที่สำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องผู้คนและสังคม นั่นคือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือต่อโลก ที่ซึ่งกิจการขนาดใหญ่มีการจัดหาวัตถุดิบ มีการแปรรูปทรัพยากร มีการผลิตขนาดใหญ่ และอาจมีปริมาณของเสียที่ไม่สามารถบำบัดหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เกิดเป็นมลภาวะทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางผืนดินสะสมอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเทียบระหว่างบริษัทนอกตลาดหรือกิจการที่มิได้มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กับบริษัทมหาชนหรือกิจการที่มีผู้ถือหุ้นมากราย การดำเนินการเรื่องความยั่งยืนของบริษัทนอกตลาดในประเด็นด้าน ESG อาจมิได้เข้มข้นเท่ากับบริษัทจดทะเบียนเท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่บริษัทรายใหญ่ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ และมีการดำเนินการเรื่อง ESG ได้ผลักดันให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของตนต้องดำเนินการเรื่อง ESG ในระดับเดียวกันหรือได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่บริษัทรายใหญ่เป็นผู้กำหนด ทำให้คู่ค้าที่เป็นบริษัทนอกตลาด ต้องมีการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อให้ตนเองยังสามารถค้าขายหรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทานได้ตามปกติต่อไป
แม้บริษัทนอกตลาดที่มิได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทรายใหญ่ หรือทำธุรกิจอย่างเป็นเอกเทศ (Stand-alone) ยังต้องเริ่มดำเนินการเรื่อง ESG บ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ต่างหันมาให้ความใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือจากบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านราคาและคุณภาพ บริษัทนอกตลาดที่ปรับตัว ก็จะมีโอกาสรักษาตลาดหรือเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ ได้มีการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์หรือมาตรการลดหย่อนทางภาษีให้กับบริษัทที่ดำเนินการเรื่อง ESG ซึ่งกลายเป็นแต้มต่อให้บริษัทนอกตลาดที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืน มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ลดลงเมื่อเทียบกับบริษัททั่วไป
แรงขับดันที่บริษัทนอกตลาดต้องดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ในมุมมองข้างต้น จึงมิได้ตั้งอยู่บนเหตุผลเพียงเพื่อโลกสวย แต่ ESG เป็นเงื่อนไขทางธุรกิจ ที่ทำให้บริษัทอยู่รอดและเติบโต จากการไม่ถูกกีดกันให้ออกจากตลาด ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานจากการได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น
สำหรับบริษัทนอกตลาด การขับเคลื่อนประเด็นด้าน ESG โดยพื้นฐานสุด คือ ทำอย่างไรให้กิจการอยู่รอด เติบโต และมีกำไร ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยสามารถดำเนินการตามสภาพดังว่าต่อไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งคำสำคัญที่ว่า “.. ดำเนินการตามสภาพดังว่าต่อไปได้เรื่อย ๆ ..” นั่นคือ การพิจารณาที่เริ่มต้นจากความยั่งยืน “ของกิจการ”
เมื่อธุรกิจมีการดำเนินสืบเนื่องไป เจ้าของกิจการจะเริ่มตระหนักว่า การที่กิจการของตนจะยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องมองถึงประโยชน์หรือความคาดหวังของ “ผู้มีส่วนได้เสีย” (Stakeholders) ที่อยู่รายรอบกิจการด้วย มัวแต่นึกถึงเพียงทำกำไรให้ได้มาก ๆ ถ่ายเดียวไม่ได้ เช่น หากเราดูแล “ลูกค้า” ไม่ดี รายได้ที่หวังว่าจะโตก็อาจจะไม่ได้ เมื่อยอดขายไม่เข้า กำไรที่หวังว่าจะได้มากขึ้นก็ไม่มา ครั้นต้องวางแผนที่จะดูแลใส่ใจลูกค้า ลำพังเจ้าของกิจการก็ลงมือทำเองทั้งหมดไม่ได้ ต้องพึ่ง “พนักงาน” ให้มีการดำเนินการทั้งองคาพยพ และยังต้องเลยไปถึงการบริหาร “คู่ค้า” ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจ ทั้งในฝั่งต้นน้ำที่เป็นผู้ส่งมอบ กับในฝั่งปลายน้ำที่เป็นผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค
สำหรับกิจการที่มีหน่วยการผลิตเป็นโรงงานขนาดใหญ่ นอกจากการดูแลผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ส่งทอดไปถึงผู้มีส่วนได้เสียนอกห่วงโซ่ธุรกิจอีก อันได้แก่ “ชุมชน” ที่อาจได้รับมลภาวะ เช่น ฝุ่น กลิ่น เสียง จากการที่อยู่ใกล้แหล่งดำเนินงานของบริษัท หรือโรงงานมีการปล่อยของเสีย น้ำเสีย อากาศเสีย สู่ “สิ่งแวดล้อม” รอบข้าง จนกระทบต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชน
การดูแลใส่ใจผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ คือ การคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน “ของสังคมและสิ่งแวดล้อม” ที่ต้องมีควบคู่กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของตัวกิจการเอง เพราะหากชุมชนเดือดร้อนจากการประกอบการของกิจการ มีการร้องเรียน มีการเรียกร้องค่าเสียหาย มีการฟ้องร้องให้ระงับการดำเนินงาน กิจการก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่ม การประกอบการอาจสะดุดหยุดชะงัก ธุรกิจก็ดำเนินไปต่อไม่ได้อย่างราบรื่น หรือกรณีที่คู่ค้าส่งมอบวัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ มีการกระจายสินค้าล่าช้า ก็ย่อมส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ที่จะส่งมอบสู่ตลาด ทำให้สูญเสียลูกค้า เกิดความเสียหายทางธุรกิจติดตามมา ความยั่งยืนของกิจการจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดการดูแลเอาใจใส่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
สรุปความได้ว่า หลักคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนตามที่ควรจะเป็น ประการแรก จะเป็นการคำนึงถึงความยั่งยืนของกิจการ ที่จะทำอย่างไรให้กิจการอยู่รอด เติบโต และมีกำไรสูงสุด (Maximize Profit) ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มากระทบต่อการดำเนินธุรกิจและมีผลต่อบรรทัดสุดท้าย (กำไร) ของกิจการ เรียกว่า เป็นการพิจารณาปัจจัยความยั่งยืนแบบ Outside-in หรือ “โลกกระทบเรา” อย่างไร เพื่อที่จะหาหนทางในการรับมือและปรับเปลี่ยน
ประการที่สอง จะเป็นจะเป็นการคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ที่จะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้เสียสนับสนุนการดำเนินงานของกิจการ และลดโอกาสที่จะก่อให้เกิดปัญหา ข้อพิพาท หรือข้อขัดแย้งระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด (Minimize Conflict) ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายในที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อหาทางป้องกัน บรรเทา หรือเยียวยา และหาหนทางที่จะสร้างส่งผลกระทบทางบวกส่งมอบสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมแทน เรียกว่า เป็นการพิจารณาปัจจัยความยั่งยืนแบบ Inside-out หรือ “เรากระทบโลก” นั่นเอง
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, April 20, 2024
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment