Saturday, July 30, 2022

ธุรกิจบริการข้อมูล ESG โต สวนกระแสเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน ความสนใจของผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ที่มีต่อข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) สำหรับใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ได้ทวีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ตามเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน

โดยจากการสำรวจของ บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ เผยว่า ขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ในกอง ESG ทั่วโลก ในปี พ.ศ.2563 มีตัวเลขอยู่ที่ 35 ล้านล้านเหรียญ และในปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 41 ล้านล้านเหรียญ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านล้านเหรียญ ในอีกสามปีข้างหน้า

ขณะที่ ตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า ขนาดของตลาดข้อมูล ESG มีมูลค่าเกินระดับ 1 พันล้านเหรียญเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีมูลค่าเกิน 1.3 พันล้านเหรียญในปีนี้ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 28 ต่อปี (CAGR) แยกเป็นข้อมูลในส่วนวิเคราะห์วิจัย เติบโตร้อยละ 24 ต่อปี มีสัดส่วนตลาดอยู่ราวร้อยละ 70 ของขนาดตลาด ขณะที่ข้อมูลในส่วนดัชนี เติบโตร้อยละ 38 ต่อปี โดยมูลค่าตลาดข้อมูลดัชนี ESG มีตัวเลขเกิน 300 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา

ในส่วนที่เป็นข้อมูลวิเคราะห์วิจัย ผู้เล่นสำคัญในตลาด คือ หน่วยงานผู้ประเมิน ที่เรียกว่า ESG Rating Providers ซึ่งทำการประมวลข้อมูลป้อนให้กับผู้จัดทำดัชนี และยังมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของกิจการ ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้แก่กิจการ และช่วยขับเน้นภาพลักษณ์ให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม

ด้วยบทบาทของผู้ให้บริการ ทำให้งานประเมิน ESG ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในตลาดทุน ที่ช่วยลดภาระงานวิจัยของผู้จัดการกองทุนในการมองหาการลงทุนที่มีศักยภาพ ช่วยชี้จุดที่เป็นข้อควรกังวลต่อการลงทุน รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการสานสัมพันธ์ภายใต้ธีมกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ดี งานประเมิน ESG มิใช่งานที่ทำให้ดีได้โดยง่าย เนื่องจาก ประการแรก ข้อมูลเบื้องหลังที่ใช้สำหรับประเมินมีปริมาณที่มากและซับซ้อน เพราะการประเมินต้องครอบคลุมข้อมูลที่มาจากสามส่วนหลักทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ผู้ประเมินจำต้องวิเคราะห์ประเด็นย่อยนับร้อยในแต่ละหัวข้อหลัก พร้อมกับการให้น้ำหนักหรือการจัดลำดับความสำคัญ (ในแต่ละอุตสาหกรรม ก็จะมีน้ำหนักและลำดับความสำคัญของประเด็นที่แตกต่างกัน)

ประการที่สอง รูปแบบการประเมิน มิได้มีแบบเดียวที่เหมือนกันตายตัว เพราะผู้ประเมินจะต้องออกแบบการประเมินให้เหมาะสมกับความมุ่งประสงค์ในการใช้และกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลายแตกต่างกัน จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์ประเมินในหลายรูปแบบ อาทิ การประเมินที่เน้นพิจารณาเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคในมิติหญิงชาย การต้านทุจริต ฯลฯ

ประการที่สาม ความพร้อมใช้และความเพียงพอของข้อมูลที่ใช้ประเมิน แม้การรายงานความยั่งยืนจะมีมานานระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องดำเนินการสำหรับองค์กรส่วนใหญ่ โดยจากการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี พ.ศ.2564 (The State of Corporate Sustainability in 2021) โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีเพียงร้อยละ 15.13 จาก 826 กิจการ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report)

นอกจากนี้ มาตรฐานและแนวทางการรายงานที่กิจการใช้อ้างอิง ก็ยังมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ ตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมิได้มีมาตรฐานหรือแนวทางการรายงานเดียวที่ถูกแนะนำให้กิจการใช้ในการเปิดเผยข้อมูล ทำให้รูปแบบการรายงานของกิจการมิได้คล้องจองเป็นแบบเดียวกัน ส่งผลให้มีความยากลำบากต่อการประเมิน และเมื่อไม่พบข้อมูลที่จะใช้สำหรับประเมิน บ่อยครั้งที่สำนักประเมินจะใช้วิธีสันนิษฐานข้อมูลจากแบบจำลองที่สร้างขึ้นเอง ซึ่งอาจให้ผลลัพธ์การประเมินที่ขาดความแม่นยำ และไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้

ด้วยเหตุผลข้างต้น เราจึงพบว่า ผลการประเมิน ESG ของแต่ละสำนักประเมิน มิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้แต่การประเมิน ESG ของกิจการเดียวกัน ยังให้ผลประเมินที่ต่างกัน จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลประเมิน ESG ยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและการตัดสินใจเลือกใช้ผู้ให้บริการประเมินตามแต่บุคคล รวมถึงความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ระหว่างกิจการที่ถูกประเมิน อาทิ การเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินงาน (Benchmarking) ก็ยังมีข้อสงสัยในความเที่ยงตรงของผลการเปรียบเทียบเช่นกัน

เส้นทางของธุรกิจผู้ให้บริการข้อมูลการประเมิน ESG ยังมีโอกาสพัฒนาและเติบโตได้อีกมาก จึงไม่แปลกที่ขนาดของตลาดข้อมูล ESG จะมีมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านเหรียญในปีนี้ โดยมากกว่าสองในสามของตลาด เป็นของผู้ให้บริการในส่วนข้อมูลวิเคราะห์วิจัย ESG ตามการคาดการณ์ของออพิมัส


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 16, 2022

7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล ที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG

นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์

คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น

ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

ในบทความนี้ จะพูดถึง 7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยต่อสาธารณชน ตามข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศเป็นแนวทางไว้อยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด

ตัววัดด้านธรรมาภิบาลทั้ง 7 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม (Number of board meetings and attendance rate) เป็นตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการบริษัท และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลและสมรรถนะของกลไกการกำกับดูแลกิจการ

จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง (Number and percentage of women board members) เป็นตัวเลขจำนวนกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท และร้อยละของกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายในมิติหญิงชาย

ช่วงอายุของกรรมการ (Board members by age range) เป็นข้อมูลแสดงลักษณะเฉพาะของกรรมการบริษัทจำแนกตามช่วงอายุ ความสมดุลด้านอายุในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจที่รอบด้าน

จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและอัตราการเข้าร่วมประชุม (Number of meetings of audit committee and attendance rate) เป็นตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผล ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของกลไกการกำกับดูแลกิจการ

ค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ (Total compensation per board member) เป็นตัวเลขค่าตอบแทนของกรรมการในรอบการรายงาน ทั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหาร (Executive Director) และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร (Non-executive Director: NED)

ค่าปรับจ่ายหรือค้างจ่ายเพื่อระงับข้อพิพาท (Amount of fines paid or payable due to settlements) เป็นจำนวนเงินค่าปรับจ่ายหรือที่ค้างจ่าย อันเนื่องมาจากกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริต ที่ถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานกำกับดูแล และศาล ในรอบการรายงาน

ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตต่อปีต่อคน (Average hours of training on anti-corruption issues per year per employee) เป็นตัวเลขจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตที่พนักงานได้รับในรอบการรายงาน

ทั้ง 7 ตัววัดธรรมาภิบาลข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 5.5.2) และเป้าที่ 16 ความสงบสุข ความยุติธรรม และการมีสถาบันที่เข้มแข็ง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 16.5.2 เป้าหมาย SDG ที่ 16.6 และตัวชี้วัด SDG ที่ 16.7.1)

นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดของ 7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 02, 2022

ESG เครดิต: หมุดหมายใหม่แห่งความยั่งยืน

ความพยายามของสังคมโลกในการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาอันเป็นผลพวงจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล มีมาอยู่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ที่ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาแบบมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และได้ริเริ่มกระบวนการเตรียมตัวด้านสภาวะแวดล้อมโดยข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่สืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UNCHE) จนนำมาสู่การเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า อนาคตของเรา ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ.1987 อันเป็นที่มาของแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

การพัฒนาทางเศรษฐกิจจากการปรับให้เป็นอุตสาหกรรมของนานาประเทศ เพื่อหวังจะให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น กลับก่อให้เกิดการปล่อยมลภาวะอย่างขนานใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สะสมต่อเนื่องจนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ย้อนกลับมาเป็นภัยต่อมนุษย์เอง

ในปี ค.ศ.1997 พิธีสารเกียวโต ได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความเห็นชอบจากกว่า 170 ประเทศในขณะนั้น ซึ่งหนึ่งในกลไกที่เกิดขึ้นจากพิธีสารเกียวโต คือ กลไกการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการคิด “คาร์บอนเครดิต” ให้ผู้ดำเนินการเป็นหน่วยปริมาณก๊าซที่ลดได้ (ERU)

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก ได้ใช้กลไกคาร์บอนเครดิต เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในประเทศของตน โดยมีการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ตามความตกลงปารีส เพื่อรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ในภาคเอกชน การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ดำเนินภายใต้บริบทของการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีคำว่า ESG (Environmental, Social and Governance) เป็นภาษาหลักในการสื่อสารกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ

นั่นหมายความว่า การสื่อสารเรื่องปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ในรูปคาร์บอนเครดิต สามารถแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมได้ ขณะเดียวกัน ธุรกิจก็ยังต้องมีเครื่องมือสื่อสารถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านสังคมและด้านธรรมาภิบาลเพิ่มเติม

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจที่รู้จักหลายแห่งว่า จะมีเครื่องมือที่คล้ายคลึงกับคาร์บอนเครดิต ที่สามารถสื่อสารถึงความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนในด้านสังคมและด้านธรรมาภิบาลด้วยหรือไม่

ด้วยคำถามนี้เอง ได้นำมาสู่การแสวงหาคำตอบ โดยการขยายกรอบแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิตที่เจาะจงในเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องสังคมและธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้องค์กรซึ่งคำนึงถึงเรื่อง ESG อยู่แล้ว สามารถได้รับ “ESG เครดิต” จากการดำเนินงานในด้านสังคมและธรรมาภิบาล นอกเหนือจากด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะสมาชิกภาคองค์กร ประเภทที่ปรึกษา ของ IEMA (Institute of Environmental Management and Assessment) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นนักวิชาชีพด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก จำนวนกว่า 18,000 คน ใน 113 ประเทศ โดยมีบทบาทหลักในการสนับสนุนการกำหนด การรับรอง และการนำมาตรฐานและข้อปฏิบัติไปใช้เพื่อการแปรเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน ได้จัดทำแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจนำโครงการที่เข้าเกณฑ์ได้รับ ESG เครดิต มาขึ้นทะเบียนเพื่อรับการประเมินและใช้ประโยชน์จาก ESG เครดิตในการสื่อสารถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนของกิจการ ที่ครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยที่กิจการสามารถสะสมเครดิตได้อย่างต่อเนื่องจากโครงการและกิจกรรมทางธุรกิจที่ได้รับการประเมิน

แพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้น จะไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทในประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์ แต่จะเป็นแพลตฟอร์มสากลที่บริษัทในประเทศอื่นๆ สามารถเข้าร่วมผ่านทางนายทะเบียนในประเทศนั้นๆ ภายใต้เครือข่ายภาคีที่ร่วมดำเนินงานกันในระดับภูมิภาค

จากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (Disclosure) ที่บริษัทใช้สานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านมาสู่เวทีรางวัลด้านความยั่งยืน (Award) ที่บริษัทใช้เพิ่มสถานะความน่าเชื่อถือด้วยการรับรองโดยหน่วยงานภายนอก วันนี้ เรากำลังจะมีแพลตฟอร์มที่บริษัทสามารถใช้สร้างการยอมรับจากสาธารณะต่อพัฒนาการด้าน ESG ของกิจการ ที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องผ่านทาง ESG เครดิต ในรูปของการสะสมคุณค่าเชิงผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งความยั่งยืนของกิจการ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]