Saturday, July 02, 2022

ESG เครดิต: หมุดหมายใหม่แห่งความยั่งยืน

ความพยายามของสังคมโลกในการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาอันเป็นผลพวงจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล มีมาอยู่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ที่ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาแบบมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และได้ริเริ่มกระบวนการเตรียมตัวด้านสภาวะแวดล้อมโดยข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่สืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UNCHE) จนนำมาสู่การเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า อนาคตของเรา ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ.1987 อันเป็นที่มาของแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

การพัฒนาทางเศรษฐกิจจากการปรับให้เป็นอุตสาหกรรมของนานาประเทศ เพื่อหวังจะให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น กลับก่อให้เกิดการปล่อยมลภาวะอย่างขนานใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สะสมต่อเนื่องจนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ย้อนกลับมาเป็นภัยต่อมนุษย์เอง

ในปี ค.ศ.1997 พิธีสารเกียวโต ได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความเห็นชอบจากกว่า 170 ประเทศในขณะนั้น ซึ่งหนึ่งในกลไกที่เกิดขึ้นจากพิธีสารเกียวโต คือ กลไกการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการคิด “คาร์บอนเครดิต” ให้ผู้ดำเนินการเป็นหน่วยปริมาณก๊าซที่ลดได้ (ERU)

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก ได้ใช้กลไกคาร์บอนเครดิต เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในประเทศของตน โดยมีการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ตามความตกลงปารีส เพื่อรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ในภาคเอกชน การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ดำเนินภายใต้บริบทของการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีคำว่า ESG (Environmental, Social and Governance) เป็นภาษาหลักในการสื่อสารกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ

นั่นหมายความว่า การสื่อสารเรื่องปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ในรูปคาร์บอนเครดิต สามารถแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมได้ ขณะเดียวกัน ธุรกิจก็ยังต้องมีเครื่องมือสื่อสารถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านสังคมและด้านธรรมาภิบาลเพิ่มเติม

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจที่รู้จักหลายแห่งว่า จะมีเครื่องมือที่คล้ายคลึงกับคาร์บอนเครดิต ที่สามารถสื่อสารถึงความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนในด้านสังคมและด้านธรรมาภิบาลด้วยหรือไม่

ด้วยคำถามนี้เอง ได้นำมาสู่การแสวงหาคำตอบ โดยการขยายกรอบแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิตที่เจาะจงในเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องสังคมและธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้องค์กรซึ่งคำนึงถึงเรื่อง ESG อยู่แล้ว สามารถได้รับ “ESG เครดิต” จากการดำเนินงานในด้านสังคมและธรรมาภิบาล นอกเหนือจากด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะสมาชิกภาคองค์กร ประเภทที่ปรึกษา ของ IEMA (Institute of Environmental Management and Assessment) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นนักวิชาชีพด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก จำนวนกว่า 18,000 คน ใน 113 ประเทศ โดยมีบทบาทหลักในการสนับสนุนการกำหนด การรับรอง และการนำมาตรฐานและข้อปฏิบัติไปใช้เพื่อการแปรเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน ได้จัดทำแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจนำโครงการที่เข้าเกณฑ์ได้รับ ESG เครดิต มาขึ้นทะเบียนเพื่อรับการประเมินและใช้ประโยชน์จาก ESG เครดิตในการสื่อสารถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนของกิจการ ที่ครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยที่กิจการสามารถสะสมเครดิตได้อย่างต่อเนื่องจากโครงการและกิจกรรมทางธุรกิจที่ได้รับการประเมิน

แพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้น จะไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทในประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์ แต่จะเป็นแพลตฟอร์มสากลที่บริษัทในประเทศอื่นๆ สามารถเข้าร่วมผ่านทางนายทะเบียนในประเทศนั้นๆ ภายใต้เครือข่ายภาคีที่ร่วมดำเนินงานกันในระดับภูมิภาค

จากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (Disclosure) ที่บริษัทใช้สานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านมาสู่เวทีรางวัลด้านความยั่งยืน (Award) ที่บริษัทใช้เพิ่มสถานะความน่าเชื่อถือด้วยการรับรองโดยหน่วยงานภายนอก วันนี้ เรากำลังจะมีแพลตฟอร์มที่บริษัทสามารถใช้สร้างการยอมรับจากสาธารณะต่อพัฒนาการด้าน ESG ของกิจการ ที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องผ่านทาง ESG เครดิต ในรูปของการสะสมคุณค่าเชิงผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งความยั่งยืนของกิจการ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: