Saturday, September 25, 2021

Natural Asset Companies (NAC) : บริษัทกู้โลก

ไม่เกินสิ้นปีนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก จะพิจารณาให้มีการซื้อขายสินทรัพย์ประเภทใหม่ เรียกว่า Natural Asset Companies (NACs) หรือบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นไปเพื่อการสร้างเสริมและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ด้วยเหตุที่ NAC มีสถานภาพเป็นธุรกิจ จึงมีการแสวงหารายได้ และสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน เหมือนธุรกิจทั่วไป

แต่ความแตกต่างที่สำคัญ คือ ธุรกิจทั่วไป มีการดำเนินงานโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะ “ผู้ใช้” และมักเป็นการเผาผลาญหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ร่อยหรอลงหรือหมดสิ้นไป เพื่อแปรสภาพหรือผลิตเป็นสินค้าและบริการสนองตลาด

อาทิ บริษัทพลังงานมีการขุดเจาะปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงจำหน่าย บริษัทเครื่องดื่มมีการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติในกระบวนการผลิต บริษัทเฟอร์นิเจอร์มีการนำไม้จากป่ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิต บริษัทการเกษตรมีการเข้าครอบครองแผ้วถางพื้นที่ทางธรรมชาติเพื่อทำการเพาะปลูกหรือทำปศุสัตว์ ฯลฯ

ขณะที่ NAC จะดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ พร้อมกันกับทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้สร้าง” หรือ “ผู้ดูแล” ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้บริการทางนิเวศ (Ecosystem Service) ที่กิจการได้รับจากธรรมชาติ สามารถดำเนินสืบต่อเรื่อยไป

อาทิ บริษัทพลังงานมีการพัฒนาเชื้อเพลิงจากแหล่งกำเนิดพลังงานหมุนเวียนที่มีไม่จำกัด (เช่น พลังแสงอาทิตย์) หรือที่มีตามวัฏจักร (เช่น ชีวมวล) บริษัทผลิตอาหารมีการเพาะปลูกหรือทำปศุสัตว์เชิงฟื้นฟู (Regenerative) ที่มีการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานทางชีวภาพของดิน ฯลฯ

วิธีการวัดมูลค่ากิจการ NAC จะพิจารณาจากสินทรัพย์ธรรมชาติ (Natural Asset) ที่บริษัทถือครองหรือประเมินจากสิทธิการเข้าถึงบริการทางระบบนิเวศที่กิจการนั้นได้รับ ซึ่งต้องมีการบันทึกบัญชีในรูปแบบที่แตกต่างจากมาตรฐานบัญชีการเงินที่ใช้ในปัจจุบัน

แนวทางหนึ่งที่มีการริเริ่มนำมาใช้แล้ว ได้แก่ การบัญชีระบบนิเวศ (Ecosystem Accounting) ที่ประกอบด้วย บัญชีขอบเขต (Extent) เงื่อนไข (Condition) บริการ (Services) ทางระบบนิเวศ และการบันทึกสินทรัพย์ (Asset) ทางระบบนิเวศในรูปตัวเงิน

แนวทางดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้ระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม (System of Environmental-Economic Accounting: SEEA) โดยคณะกรรมาธิการสถิติของสหประชาชาติได้ให้การรับรองเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หน่วยงาน Intrinsic Exchange Group (IEG) ที่กำลังทำงานร่วมกับตลาดหุ้นนิวยอร์ก เพื่อพิจารณากิจการประเภท NAC ได้มีการประเมินยอดตัวเลขบริการทางระบบนิเวศ อาทิ การกักเก็บคาร์บอน ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำสะอาด ฯลฯ ว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 125 ล้านล้านเหรียญต่อปี มากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งหมด ที่มีตัวเลขราว 90 ล้านล้านเหรียญต่อปี

ในอนาคต จะมีกิจการ NAC จำนวนไม่น้อย ที่มีโอกาสสร้างมูลค่ากิจการจากตัวเลขบริการทางระบบนิเวศ ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

และเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสาย ESG (Environmental, Social, and Governance) สามารถจัดสรรเม็ดเงินลงทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่เรียกว่า Regenerative Business อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 11, 2021

โควิด-19 !! พลิกโฉม ภาพ CSR แบบถาวร...

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นานเกือบสองปี ทำให้การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ตามแผนปกติประจำปีของทุกกิจการ จำต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ โดยรูปแบบการดำเนินงานสามารถแบ่งตามสถานการณ์ออกเป็น 3 ช่วงหลัก คือ ช่วงการรับมือ (Response) ช่วงการฟื้นสภาพ (Recovery) และช่วงการผันตัว (Resilience)

ช่วงการผันตัว ที่เรียกว่าภาวะพร้อมผัน (Resilience) หมายถึง สถานะของกิจการในการคงขีดความสามารถที่จะดำเนินงานต่อไปในอนาคต ไม่ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งขีดความสามารถ ในที่นี้ ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานในรูปแบบเดิม และการที่กิจการต้องปรับตัวไปสู่การดำเนินงานในรูปแบบใหม่

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อการผันตัว (Resilience) ของกิจการหลังสถานการณ์โควิด จำนวน 43 แห่ง ในปี 2564 พบว่า 3 ใน 4 ขององค์กรที่สำรวจ (74.4%) มีแผนเรื่อง Resilience แล้ว และกำลังดำเนินการในปีนี้ ที่เหลือราว 1 ใน 4 (25.6%) ยังไม่มีแผนในเรื่องดังกล่าว

ซึ่งในบรรดาองค์กรที่มีแผน Resilience และกำลังดำเนินการ ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด (90.7%) รองลงมาคือ ด้านลูกค้า (58.1%) และด้านสิ่งแวดล้อม (53.5%) ตามลำดับ โดยองค์กรที่ตอบแบบสำรวจกว่าสองในสาม (69.8%) ระบุว่า การมีแผน Resilience จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ ไม่ถึงหนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ (30.2%) ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว

การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์หลังสถานการณ์โควิดระลอกนี้ ยังคงให้น้ำหนักความสำคัญกับประเด็นสุขภาพสืบเนื่องต่อไป เนื่องจากโรคโควิดจะมีสภาพกลายเป็นโรคประจำถิ่น และอาจมีการติดต่อหรือแพร่ระบาดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต การดูแลสุขภาพองค์กร (บุคลากรและระบบงาน) จึงกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่กิจการจำเป็นต้องดำเนินการในวิถีปกติใหม่ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่หยุดชะงักจากการระบาดระลอกใหม่ หากเกิดขึ้น

การสร้างวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health) เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การปลูกฝังภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นกับองค์กรในระยะยาว ด้วยการนำประเด็นความยั่งยืนด้านสุขภาพองค์กร มาทบทวนให้เข้ากับสถานการณ์ทางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ในกระบวนการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) เพื่อกำหนดปัจจัยนำเข้าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สู่การปรับแต่งกลยุทธ์องค์กร (Corporate Strategy) สำหรับรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ ที่กิจการจะต้องดำเนินสืบเนื่องต่อไปหลังสถานการณ์โควิด

โฉมหน้าการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ ในกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หรือกลุ่มบิ๊กคอร์ป จะมีการกำหนดแนวทางความรับผิดชอบหมู่ หรือ ‘Herd CSR’ ขึ้นในกลุ่มบริษัท สำหรับให้กิจการในเครือดำเนินการร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อกำกับการใช้ทรัพยากรในเครือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างให้เกิดผลกระทบสูงกับสังคมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุดและชัดเจน โดยการใช้แนวทางความรับผิดชอบหมู่ในกลุ่มบิ๊กคอร์ป จะขยายผลไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains) และอาจยกระดับไปสู่การใช้ Herd CSR ภายในกลุ่มความร่วมมือ (Cluster) ในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงจากสถานการณ์โควิด

และในเวลานี้ หลายองค์กรกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงการผันตัว (Resilience) ของกิจการเพื่อให้พร้อมดำเนินงานต่อในระยะยาวแล้ว


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]