Saturday, January 30, 2021

กิจการสื่อสารความยั่งยืนกันอย่างไร

ในช่วงต้นปีของทุกปี กิจการที่ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ต่างมีการประมวลข้อมูลความยั่งยืนที่ได้ดำเนินมาตลอดทั้งปี ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จัดทำเป็นรายงานเปิดเผยในช่วงเวลาเดียวกับการเปิดเผยรายงานประจำปี (Annual Report) ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Sustainability Report

รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report เป็นเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการใช้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลการดำเนินงานในภาพรวมของกิจการได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน

องค์กรที่เป็นผู้นำในการเผยแพร่รายงานความยั่งยืน ได้แก่ เหล่าบริษัทมหาชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน และผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอันที่จะสะท้อนถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานของกิจการ

เมื่อการจัดทำรายงานความยั่งยืนเป็นที่นิยมแพร่หลาย และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงมีความพยายามในการกำหนดรูปแบบของการจัดทำรายงานให้มีบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อให้ผู้อ่านรายงานสามารถศึกษาวิเคราะห์และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลที่องค์กรเปิดเผยระหว่างกันได้

ในรายงานการสำรวจ KPMG Survey of Sustainability Reporting 2020 ระบุว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2020 ร้อยละ 96 ของบริษัทในกลุ่ม G250 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500) และร้อยละ 80 ของบริษัทในกลุ่ม N100 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง คัดจาก 5,200 บริษัท จาก 52 ประเทศทั่วโลก) มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ


ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้กำหนดมาตรฐาน รวมทั้งหน่วยงานผู้กำกับดูแล และตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ ต่างมีการออกแนวทางการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

โดยมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง คือ GRI Standards ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative)

GRI เป็นองค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นหน่วยงานที่ให้กำเนิดกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนของกิจการฉบับแรก ที่เรียกว่า G1 ในปี พ.ศ.2543 ถัดจากนั้น GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก ในปี พ.ศ.2545 และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 และพัฒนามาเป็นฉบับ G4 เมื่อปี พ.ศ.2556 จนนำมาสู่การยกระดับเป็นมาตรฐานการรายงาน GRI ในปี พ.ศ.2559

ในรายงานการสำรวจ KPMG Survey of Sustainability Reporting 2020 ฉบับเดียวกัน ระบุว่า ร้อยละ 77 ของบริษัทในกลุ่ม N100 และร้อยละ 84 ของบริษัทในกลุ่ม G250 มีการใช้แนวทางหรือกรอบการรายงาน ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ


แนวทางและมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงมากสุด ได้แก่ GRI โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม N100 และราว 3 ใน 4 ของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม G250

ส่วนแนวทางและมาตรฐานอื่นที่ใช้อ้างอิงรองลงมา ได้แก่ Sustainability Accounting Standards Board (SASB) framework และ International Standards Organization (ISO)

จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน ต่างมีการใช้ GRI เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการจัดทำรายงานเป็นหลัก

ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่จัดทำรายงานความยั่งยืน หรือรายงานที่ใกล้เคียงในชื่ออื่น เป็นจำนวนราวหนึ่งในสามของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด โดยผู้ลงทุนหรือผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถศึกษาข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าว เพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของกิจการที่เกี่ยวโยงกับประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอื้อให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของกิจการได้อย่างครอบคลุมรอบด้านมากยิ่งขึ้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, January 16, 2021

ปีแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สหประชาชาติได้ประกาศให้ ปี ค.ศ.2021 เป็นปีแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Year of Creative Economy for Sustainable Development)

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นที่กล่าวถึงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในฐานะ 'อนาคตของเศรษฐกิจโลก' และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายโดยมีที่มาจากหนังสือของจอห์น ฮาวกินส์ (John Howkins) ที่มีชื่อว่า The Creative Economy : How People Make Money from Ideas ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ.2001 ว่าด้วยเศรษฐกิจที่มีแนวคิดเติมเต็มไปด้วย 'จินตนาการ ภูมิปัญญา สังคม วัฒนธรรม และผู้คน'

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดในการนำ 'สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม' (Cultural Assets-Based) ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ ผนวกเข้ากับ 'นวัตกรรม' (Innovation) และ 'ความคิดสร้างสรรค์' (Creativity) มาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Commercialization) สร้างเป็นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การคิดต่อยอดจากสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ให้มีคุณค่ามากขึ้น

เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะสมบูรณ์ได้ ต้องมีความแข็งแกร่งของ B2P คือ Business, People and Place (ธุรกิจ, ผู้คน และพื้นที่) พัฒนาไปด้วยกัน เศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงไม่ใช่การมุ่งใช้จินตนาการเพื่อสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการคิดถึงทุกฝ่าย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แล้วผลลัพธ์ในท้ายสุดคือ ธุรกิจมีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีฐานรากที่มั่นคง และมีพันธมิตรมากขึ้น

ในหลายประเทศทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจโลกในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา จึงจัดตั้งองค์กรเฉพาะด้านเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ

ในประเทศไทย ได้มีการจัดตั้ง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย โดยมีภารกิจใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) ด้านการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) และด้านการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Place)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดไว้ว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 12 สาขาหลัก ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ดนตรี ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ การพิมพ์ การกระจายเสียง ซอฟต์แวร์ โฆษณา การออกแบบ สถาปัตยกรรม และแฟชั่น โดยมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีก 3 สาขา คือ อาหารไทย การแพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ตัวเลขใน ปี 2561 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ราว 1.46 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อ GDP ของประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 8.93

โดยสาขาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีมูลค่า 4.09 แสนล้านบาท (ร้อยละ 28.04) อุตสาหกรรมอาหารไทย 2.67 แสนล้านบาท (ร้อยละ 18.29) อุตสาหกรรมการโฆษณา 2.08 แสนล้านบาท (ร้อยละ 14.28) อุตสาหกรรมแฟชั่น 1.89 แสนล้านบาท (ร้อยละ 12.99) และอุตสาหกรรมการออกแบบ 1.25 แสนล้านบาท (ร้อยละ 8.6) ตามลำดับ

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในห้วงปีแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นความท้าทายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, January 02, 2021

2021: ปีแห่งวัฒนธรรมสุขภาพองค์กร

สวัสดีปีใหม่ ปี 2564 แด่ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

ย่างก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปีที่มีความยากต่อการคาดเดาถึงสิ่งจะเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดรอบใหม่ ที่ทำให้จำเป็นต้องมีการนำมาตรการจำกัดการเดินทาง การยกเลิกกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการปิดบริการที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสและแพร่เชื้อ มาบังคับใช้ในหลายพื้นที่อีกครั้ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาคธุรกิจที่มีการฟื้นสภาพการดำเนินงาน (Recovery) เพื่อเตรียมกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 63 อันเนื่องมาจากการปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศจากการระบาดรอบแรก กลับต้องนำมาตรการรับมือหรือเผชิญกับการแพร่ระบาด (Response) รอบใหม่ มาใช้อีกครั้งในช่วงรอยต่อของปีใหม่

แม้การรับมือในครั้งนี้ จะมีประสบการณ์ที่นำมาใช้ได้จากผลสำเร็จในรอบที่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดรอบใหม่ ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจมีความยืดเยื้อยาวนานขึ้น การพยากรณ์ยอดรายรับในอนาคต และการวางแผนเรื่องทุนสำรองและค่าใช้จ่ายของกิจการ ต้องปรับรื้อและคำนวณใหม่หมด บนสมมติฐานของการระบาดรอบใหม่

เหนือสิ่งอื่นใด คือ การปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) เป็นการปรับตัวทางธุรกิจให้มีสภาพพร้อมรองรับกับภาวะปกติใหม่ (New Normal) ด้วยมาตรการที่คำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน เนื่องเพราะประเด็นความยั่งยืนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปรับตัวเกิดผลสัมฤทธิ์

เมื่อพิจารณาประเด็นความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพ หน่วยงาน GRI (Global Reporting Initiative) ได้เผยแพร่เอกสาร Linking the GRI Standards and the Culture of Health for Business Framework เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 สำหรับให้กิจการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านนโยบายและสวัสดิการ ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน

จากการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของกิจการไทย จำนวน 115 แห่ง ในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 หรือ “The State of Corporate Sustainability in 2020” โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า องค์กรมีการเปิดเผยประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practice: COHBP) มากสุดห้าอันดับแรก ได้แก่ ประเด็นผลเชิงเศรษฐกิจ จำนวน 102 องค์กร (88.70%) รองลงมาเป็น อาชีวอนามัยและความปลอดภัย จำนวน 88 องค์กร (76.52%) การฝึกอบรมและการให้ความรู้ จำนวน 83 องค์กร (72.17%) การจ้างงาน จำนวน 79 องค์กร (68.70%) และมลอากาศ จำนวน 75 องค์กร (65.22%) ตามลำดับ


ระดับการเปิดเผยข้อมูลประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (COHBP)

ข้อมูลการเปิดเผยประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรให้ความสำคัญดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของการปฏิบัติของภาคธุรกิจด้านสุขภาพที่มีต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยองค์กรส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะดำเนินการด้านสุขภาพผ่านการมีส่วนร่วมกับชุมชน ในลักษณะของการลงทุนในชุมชนหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนในการรับมือและฟื้นฟูต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการให้ความสำคัญในการคัดกรองป้องกัน รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เสริมสร้างความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาทุนทางสังคม มีการบริหารจัดการความมั่นคงในตำแหน่งงาน การประกันสุขภาพโดยนายจ้าง เป็นต้น

สถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้น้ำหนักความสำคัญต่อประเด็นด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเรื่องวัฒนธรรมสุขภาพองค์กร จะเป็นประเด็นสาระสำคัญ (Material Topic) ในกระบวนการวิเคราะห์สารัตภาพเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนขององค์กร และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่กิจการใช้ปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินสืบเนื่องไป (Resilience) ในระยะยาว นับจากนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]