Sunday, May 27, 2018

GDP ที่เรา (ไม่) ต้องการ

การแก้ปัญหาความยากจน ด้วยการอุดหนุนโดยรัฐ จากบทเรียนที่ผ่านมาของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย ไม่ได้ช่วยสร้างให้เกิดการพึ่งพาตนเอง หรือทำให้คนยากจนเข้มแข็งขึ้นในระยะยาว

ขณะที่การแก้ปัญหาสังคม ด้วยการช่วยเหลือโดยมูลนิธิหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ทำไม่ได้อย่างต่อเนื่อง หากขาดการสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอจากแหล่งทุนภายนอก

เช่นเดียวกับที่ องค์กรธุรกิจไม่สามารถช่วยเหลือชุมชนหรือสังคมให้ยั่งยืน ได้ด้วยการบริจาคเพื่อการกุศล หรืออาสาช่วยเหลือในรูปของกิจกรรมเพื่อสังคมนอกเวลาที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ

การขจัดความยากจน ความหิวโหย หรือการดูแลสุขภาวะ ที่เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว คือ การทำให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีปัจจัยสี่ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ พัฒนาทักษะให้มี “ความเป็นผู้ประกอบการ” (Entrepreneurship) ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ความสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก คือ ความเป็นฐานรากของเศรษฐกิจ ที่หากไม่ได้สร้างให้เกิดความเข้มแข็ง ตัวอาคาร หรือส่วนยอดของเศรษฐกิจ ก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง

ถ้าพิจารณาตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความเป็นผู้ประกอบการสูง พบว่า ประเทศไทย มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนกว่า 3 ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวน 11.7 ล้านคน สร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนต่อ GDP รวมร้อยละ 42

ฐานรากของเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ เป็นผู้ประกอบการที่ถูกจัดอยู่ในหมวดเศรษฐกิจนอกภาคทางการ (Informal Economy) เช่น หาบเร่แผงลอย จักรยานยนต์รับจ้าง วิสาหกิจครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนแรงงานนอกระบบอยู่ราว 25 ล้านคน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ใน GDP แต่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60-70 เมื่อเทียบกับตัวเลข GDP

นี่คือ สาเหตุหลักที่แม้ตัวเลขการเติบโตของ GDP จะอยู่ในอัตราสูงเป็นที่น่าพอใจของคนในรัฐบาล (และคาดหวังจะให้คนในสังคมพอใจด้วย) แต่อานิสงส์นี้ กลับมิได้ตกอยู่กับคนหาเช้ากินค่ำหรือผู้ประกอบการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของพวกเขาเหล่านั้น ไม่ได้นับเป็นรายได้อยู่ในตัวเลข GDP (ที่หากนับรวมแล้ว GDP อาจจะไม่โตเลยก็เป็นได้)

มาถึงตรงนี้ นักเศรษฐศาสตร์ฟากรัฐ คงไม่นิ่งนอนใจที่จะเสนอทางออกโดยพยายามนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ให้เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งหลายมาตรการที่ดำเนินอยู่เป็นเช่นนั้น อาทิ การส่งเสริมให้เกิดความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing Business) ทั้งในแง่ของการลดระเบียบและขั้นตอนทางกฎหมาย รวมถึงการลดต้นทุนหรือธุรกรรมในการเข้าระบบ

ในความเป็นจริง แรงงานหรือผู้ประกอบการนอกภาคทางการเหล่านั้น อาจสมัครใจหรือเต็มใจที่จะอยู่นอกระบบ แม้จะมีการลดความยากในการประกอบธุรกิจแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ในสังคมปัจจุบัน ที่ได้รับอานิสงส์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีแนวโน้มที่จะเอื้อให้แรงงาน (ที่มีการศึกษา) ผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) เข้าสู่เศรษฐกิจนอกภาคทางการเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากเรามุ่งที่จะนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคทางการ ให้เข้ามาอยู่ในระบบถ่ายเดียว เราเตรียมพร้อมรับกับผลที่ติดตามมา ดังกรณีตัวอย่างเล็กๆ นี้ แล้วหรือไม่

งานบริการที่ถูกผลิตขึ้นภายในครัวเรือน เช่น การทำความสะอาด การซักรีด การเตรียมอาหาร และการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตซ้ำโดยแม่บ้าน มิได้นำมาคำนวณเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มิได้ถูกจดบันทึก

เราสามารถเพิ่มตัวเลข GDP ที่ว่า ด้วยการนำมูลค่าการผลิตในครัวเรือนเข้าสู่ระบบ ในลักษณะของการส่งเสริมให้เกิดการจ้างหน่วยงานหรือแรงงานภายนอกทำงานให้ (Outsourcing) ทั้งการทำความสะอาด การซักรีด การเตรียมอาหาร และแม้แต่การเลี้ยงดูบุตร ซึ่งทำให้มูลค่าของบริการเหล่านี้ สามารถบันทึกเป็นธุรกรรมของเศรษฐกิจในระบบ

แต่ผลที่ติดตามมา ประการแรก คือ การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายจากการจ้างผู้ทำงานให้ ทำให้ครัวเรือนต้องขวนขวายหารายได้เพิ่ม ด้วยการทำงานมากขึ้นหรือทำงานเสริมเพิ่มขึ้น ความสะดวกสบายหรือเวลาว่างที่เพิ่มขึ้น อาจต้องหมดไปกับการทำงานส่วนเพิ่มเหล่านี้

ประการต่อมา คือ ผลิตภาพที่ได้จากผู้ทำงานให้ อาจต้องแลกกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะตัวอย่างเรื่องของการเลี้ยงดูบุตรโดยบุคคลภายนอก ที่สร้างความวิตกกังวลขึ้นว่า พี่เลี้ยงจะดูแลได้ดีหรือไม่ โอกาสเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายจากการปล่อยให้เลี้ยงดูตามลำพังมีมากน้อยเพียงใด สิ่งเหล่านี้พัฒนามาเป็นความเครียด ระคนความทุกข์ที่เกิดจากการไม่ทำหน้าที่ตามบทบาทอันสมควร กังวลอยู่ลึกๆ ว่าจะมีผู้ใดมาติเตียนได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความภูมิใจ ความเอิบอิ่มใจ ซึ่งถือเป็นความสุขของชีวิตก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

สิ่งเหล่านี้ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ในสังคมตะวันตก ในหลายประเทศที่ได้ชื่อว่า เจริญแล้ว โดยที่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ต้องแลกด้วยคุณค่าที่เป็นความผูกพันในครอบครัว ความมีน้ำใจของญาติพี่น้อง (ที่ไม่คิดมูลค่า) หรือความไว้เนื้อเชื่อใจที่ได้รับจากเพื่อนบ้านหรือสมาชิกในชุมชน

ในเมื่อตัวเลข GDP ไม่ได้สะท้อนถึงคุณค่าหรือสิ่งที่เป็นความดีงามหลายอย่างในสังคมที่ควรจะจรรโลงไว้ อีกทั้งไม่สามารถจะนำเข้าสู่การคำนวณมูลค่า โดยปราศจากผลที่ติดตามมา ฉันใด เราก็ไม่ควรที่จะวัดความสำเร็จ (ทางเศรษฐกิจ) โดยยึดถือ GDP เป็นสรณะ ฉันนั้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link

Sunday, May 20, 2018

หุ้นยั่งยืน ESG100

เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (17 พ.ค.) สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ได้ประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance) ติดอันดับ ESG100 ประจำปี 2561 เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีคุณภาพ และได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 รอบนี้ ถือเป็นปีที่สี่ของการประเมินด้วยการคัดเลือกจาก 683 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 12,648 จุดข้อมูล ตามที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยต่อสาธารณะ ผ่านรายงานแห่งความยั่งยืน รายงานประจำปี หรือในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม

การประเมินในปีนี้ ได้มีการพิจารณาข้อมูลทั้งการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และผลประกอบการของบริษัทควบคู่ไปพร้อมกัน โดยใช้เรตติ้งโมเดลที่พัฒนาขึ้นจากหลักการแนวทางตามมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของ GISR (Global Initiative for Sustainability Ratings) ทำให้หลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 สามารถตอบโจทย์ทั้งผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน

การประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ประกอบด้วยเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการคัดกรอง (Screening Criteria) และเกณฑ์หลักสำหรับการประเมิน (Rating Criteria) โดยเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการคัดกรอง ประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของบริษัทต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด

ส่วนเกณฑ์หลักสำหรับการประเมิน ประกอบด้วย การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม การพิจารณาวิธีการที่บริษัทใช้ระบุและจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG และการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กร เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท และสามารถตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

ผลการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่เข้าอยู่ในยูนิเวิร์สของ ESG100 ปีนี้ มีบริษัทจดทะเบียนที่ติดอันดับ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 10 บริษัท กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 6 บริษัท กลุ่มธุรกิจการเงิน 12 บริษัท กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 14 บริษัท กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 10 บริษัท กลุ่มทรัพยากร 16 บริษัท กลุ่มบริการ 23 บริษัท และกลุ่มเทคโนโลยี 9 บริษัท โดยในจำนวนนี้ มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai เข้าอยู่ใน ESG100 อยู่ด้วยจำนวน 10 บริษัท

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าราว 12.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 69.4 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET+mai) ที่ 17.9 ล้านล้านบาท

เมื่อนำกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 มาใช้เป็นฐานในการพัฒนาแบบจำลอง เพื่อทดสอบความสามารถในการให้ผลตอบแทน โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า หุ้นใน ESG100 จะให้ผลตอบแทนที่ 81.03% ขณะที่หุ้นในดัชนี SET จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 27.90% ส่วนหุ้นในดัชนี SET100 จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 25.74% และหุ้นในดัชนี SET50 จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 27.24% แสดงให้เห็นว่า หุ้นกลุ่ม ESG100 สามารถให้ผลตอบแทนชนะตลาด อยู่ประมาณ 3 เท่า


สำหรับผลการทดสอบการให้ผลตอบแทน โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบในทำนองเดียวกันว่า หุ้นใน ESG100 จะให้ผลตอบแทนที่ 673% ขณะที่หุ้นในดัชนี SET จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 200.96% ส่วนหุ้นในดัชนี SET100 จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 177.61% และหุ้นในดัชนี SET50 จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 172.09%

ในกลางปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จะมีการเผยแพร่ ESG Index เพื่อใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับเป็นทางเลือกของการลงทุนที่ยั่งยืนในตลาดทุนไทย คล้ายกับในต่างประเทศ ที่มีดัชนีประเภทดังกล่าวใช้อ้างอิงอยู่อย่างแพร่หลาย อาทิ S&P Global 1200 ESG Factor Weighted Index, FTSE ESG Indexes, MSCI ESG Leaders Indexes, Russell 1000 ESG Index เป็นต้น

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, May 07, 2018

สังคมแห่งการชี้นำ

ปรากฏการณ์ทางสังคมในแต่ละยุคสมัย สามารถอธิบายได้ด้วยการค้นหาตัวแปร หรือปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อพฤติกรรมของวิถีชีวิตผู้คนโดยส่วนใหญ่ในยุคสมัยนั้น ๆ

บทความนี้ไม่ได้เกิดจากการวิจัยทางวิชาการ แต่เป็นการประมวลการรับรู้ของผู้เขียน ในฐานะคนในสังคมคนหนึ่ง ที่ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนย้ายจากสังคมอุตสาหกรรมสู่สังคมสารสนเทศ และได้ก้าวย่างสู่ยุคของสังคมแห่งการชี้นำในปัจจุบัน

เริ่มต้นจากการเคลื่อนย้ายของสังคมเกษตรกรรม (agricultural) หรือยุค 1.0 เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม (industrial) หรือยุค 2.0 ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลักคือ เทคโนโลยีที่มาช่วยขยายขีด หรือกำลังการผลิต ส่งผลให้เกิดการแปรรูปผลผลิตขนานใหญ่ เกิดรูปแบบบริการใหม่ ๆ ในวงจรเศรษฐกิจ ศาสตร์ทางด้านการตลาด และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อโน้มน้าวให้เกิดการซื้อ (ที่มากเกินความจำเป็น) รองรับกับปริมาณสินค้าที่สามารถผลิตได้คราวละมาก ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นในยุคนี้

การเข้าสู่สังคมสารสนเทศ (information) หรือยุค 3.0 เกิดจากปัจจัยหลักคืออินเทอร์เน็ตที่เอื้อให้เกิดเครือข่ายแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ เป็น “การเชื่อมต่อระหว่างข้อมูล” ซึ่งคนทั้งโลกสามารถเข้าถึง และแลกเปลี่ยนกันได้โดยง่าย ก่อให้เกิดเป็นโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายทุนในระบบเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะทุนที่สามารถแปลงเป็นบิตข้อมูล เช่น เงิน ทรัพย์สินทางปัญญา) รวมถึงการค้าขายแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับสังคมที่เกิดต่อจากยุคสารสนเทศ มีผู้สันทัดกรณีบัญญัติศัพท์ไว้หลากหลาย อาทิ ยุคสร้างสรรค์ หรือ creative ยุคความเป็นส่วนบุคคล หรือ personalization ยุคประสบการณ์ หรือ experience ยุคปฏิสัมพันธ์ หรือ interaction ยุคการมีส่วนร่วม หรือ participation ยุคการร่วมทำงาน หรือ collaboration ยุคแบ่งปัน หรือ sharing ยุคการแนะนำ หรือ recommendation ฯลฯ (ศัพท์คำหลังนี้ พูดให้เข้าใจง่าย คือ ยุคที่ต้องพึ่งพาการรีวิว จากทั้งผู้รู้และผู้ใช้ เนื่องจากมีสินค้าเฟ้อเต็มตลาด)

ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมยุค 4.0 เกิดจากปัจจัยหลักคือสื่อสังคมออนไลน์ ที่เอื้อให้เกิด “การเชื่อมต่อระหว่างบุคคล” เป็นเครือข่ายของชุมชนขนาดใหญ่ที่ไร้พรมแดน พัฒนาจากการสื่อสารข้อมูล ขยายวงมาสู่การแพร่กระจายของความคิดเห็น ซึ่งศัพท์ที่ผมคิดว่าเหมาะสมในการหยิบมาใช้ สะท้อนปรากฏการณ์ของยุค 4.0 คือ การเคลื่อนย้ายสู่สังคมชี้นำ (influence) ด้วยความเห็นของผู้ที่เรา (ในฐานะ fan, friend, follower) ให้การยอมรับหรือที่เราอยากคล้อยตามเป็นหลัก (ถูกหรือไม่ถูก เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ไม่ใช่ว่าเรื่องการชี้นำ เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคที่มีสื่อสังคมออนไลน์ การใช้อิทธิพลโน้มน้าวผู้คน มีมาก่อนที่จะเกิดเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ แต่ด้วยเหตุที่สื่อสังคมออนไลน์ เป็นปัจจัยหลักที่เอื้อให้เกิดการสื่อความเห็นเพื่อโน้มน้าวผู้คนได้คราวละมาก ๆ ผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่ทุกคนมีติดตัว ทำให้เข้าถึงได้ทะลุทะลวงกว่าสื่อติดโต๊ะ อย่างสิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์ หรือสื่อติดห้อง อย่างวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อติดป้าย อย่างแบนเนอร์ บิลบอร์ด (ปรากฏการณ์นี้คล้ายคลึงกับการแปรรูปผลผลิตที่มีอยู่แล้วในยุคเกษตรกรรม แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการแปรรูปได้คราวละมาก ๆ จึงวิวัฒนาการมาเป็นยุคอุตสาหกรรม)

จะชอบหรือไม่ก็ตาม สังคมได้เคลื่อนเข้าสู่ยุคที่ผู้คนมีแนวโน้มที่จะใฝ่หาความ “ถูกใจ” ก่อนความ “ถูกต้อง” อย่างเปิดเผย และยิ่งไปกว่านั้น ยังพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยอมละเมิดกฎเกณฑ์ที่วางไว้แต่เดิม เพื่อให้ความถูกใจของตนหรือของกลุ่ม ได้รับความชอบธรรม แม้จะไม่ถูกต้องก็ตาม


สรุปความได้ว่าผลของวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในทั้ง 4 ยุค ผลักดันให้ผู้คนแสวงหาและสะสม “ทรัพยากร” ที่มีค่าในยุคแรก (agricultural age) อาศัยกระบวนการผลิตที่ทันสมัย แปรรูปทรัพยากรให้เป็น “สินค้า” ที่มีค่าในยุคที่สอง (industrial age) ซึ่งเป็นวิวัฒนาการในเชิงกายภาพ (physical) กับสิ่งของบริการที่มีรูปหรือสัมผัสได้

ตามมาด้วยการสร้างและสะสม “ข้อมูล” ที่มีค่าในยุคที่สาม (information age) และได้อาศัยกระบวนการประมวลข้อมูล สังเคราะห์ให้เป็น “ความเห็น” ที่มีค่าในยุคปัจจุบัน (influence age) ถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการในเชิงตรรกะ (logical) กับสิ่งที่ไม่มีรูปหรือรับรู้ได้ผ่านความเข้าใจ

เรื่องที่น่าสนใจต่อไปคือในห้วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ได้เริ่มมีการก่อตัวของแบบแผนที่เป็นเค้าลางของสังคมยุค 5.0 ที่เราสามารถนำวิวัฒนาการในอดีตทั้ง 4 ยุค มาพยากรณ์รูปแบบของสังคมในยุคหน้า ซึ่งผมจะขออนุญาตนำมาเสนอในโอกาสต่อไป


จากบทความ 'Social Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

Sunday, May 06, 2018

ธุรกิจที่สังคมต้องการ

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (1 พ.ค.) หน่วยงาน Shared Value Initiative ที่เป็นความริเริ่มของ Foundation Strategy Group (FSG)องค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งโดย “ไมเคิล อี พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิด CSV (Creating Shared Value) ได้จัดงาน Shared Value Leadership Summit ประจำปี 2018 ณ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นครั้งที่ 8 นับจากที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.2011


หนึ่งในวิทยากรหลักในงานประจำปีนี้ ยังคงเป็น ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ที่ขึ้นมากล่าวนำ ในหัวข้อ “Shared Value, Investors and Strategy” โดยพอร์เตอร์ระบุว่า ณ เวลานี้ คือ จุดพลิกผัน (Inflection Point) อย่างใหญ่หลวงที่เป็นผลจากแนวคิดคุณค่าร่วม มากกว่าตอนที่บทความ “Creating Shared Value” ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร ฮาร์วาร์ด บิสิเนส รีวิว เมื่อปี ค.ศ.2011 ด้วยซ้ำไป

พอร์เตอร์ มิได้ปฏิเสธว่า ในห้วงเวลาเจ็ดปีที่ผ่านมา มีแนวคิดดีๆ ที่มุ่งเป้าประสงค์ไปยังการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย อาทิ Circular Economy, Net Positive, Triple Bottom Line ฯลฯ ซึ่งแนวคิดส่วนใหญ่เหล่านั้น นำเสนอถึงสิ่งที่ควรดำเนินการ แต่มิได้มี Playbook ที่แสดงให้เห็นว่า จะสามารถดำเนินการสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในระดับองค์กร คุณค่าร่วม มิใช่แนวคิดที่เสนอให้ธุรกิจทำ “สิ่งที่ดี” หรือไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ตรงกันข้าม แนวคิดคุณค่าร่วมเสนอให้กิจการยังคงพุ่งเป้าที่การทำ “ธุรกิจ” แสวงหากำไร โดยใช้รูปแบบทางธุรกิจที่สามารถสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างกิจการและสังคมไปพร้อมกัน

คุณค่าร่วม จึงจัดเป็น “กลยุทธ์” ทางธุรกิจ สำหรับกิจการที่ต้องการได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยการวางจุดยืนทางกลยุทธ์ (Strategic Positioning) และทำในสิ่งที่แตกต่าง มากกว่าการพัฒนาประสิทธิผลของการดำเนินงาน (Operational Effectiveness) และทำในสิ่งเดิมให้ดีขึ้น

ในระดับอุตสาหกรรม คุณค่าร่วม นำไปสู่การสร้างวิถีแห่งการแข่งขันที่ยกระดับจาก “Zero Sum” ไปสู่ “Positive Sum” คือ แทนที่ธุรกิจจะแข่งขันกันในแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ด้วยการห้ำหั่นราคา ในผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน และกับลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ที่เมื่อบริษัทหนึ่งได้ อีกหลายบริษัทจำต้องเสีย กลายมาเป็นการแข่งขันโดยใช้กลยุทธ์คุณค่าร่วม ที่มีมากกว่าหนึ่งบริษัทสามารถได้ประโยชน์

การแข่งขันในแบบ Zero Sum ท้ายที่สุด นอกจากจะทำให้กำไรของบริษัทถูกลดทอนลงแล้ว ยังมีส่วนทำให้โครงสร้างของอุตสาหกรรมนั้นๆ อ่อนแอลงด้วย ขณะที่การแข่งขันในแบบ Positive Sum จะนำไปสู่การขยายฐานของกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเข้าถึงบริการมาก่อน ความต้องการพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายได้รับการตอบสนองทั่วถึงยิ่งขึ้น และท้ายที่สุด มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

เนื้อหาอีกช่วงหนึ่ง ที่พอร์เตอร์นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ในฐานะที่เขาเองก็ได้รับ Ph.D. in Business Economics คือ การยอมรับว่า แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์หลายเรื่อง ก่อให้เกิดการพัฒนาที่บิดเบี้ยว และส่งผลกระทบต่อสังคมมาจนถึงทุกวันนี้ หนึ่งในนั้น คือ เรื่องผลกระทบภายนอก หรือ “Externality” ที่หมายถึง ผลกระทบซึ่งมิได้ถูกคำนวณรวมอยู่ในธุรกรรมทางเศรษฐศาสตร์ ส่งผลให้ต้นทุนหรือราคาสินค้าและบริการ ไม่ได้สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้ที่ก่อผลกระทบ เช่น น้ำทิ้ง หรือของเสียจากโรงงาน เป็นต้น

มุมมองต่อเรื่อง Externality นำไปสู่การตัดสินใจในเชิง Trade-off ที่ต้องเลือกระหว่างกำไรหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ธุรกิจจะต้องเลือกกำไรที่เพิ่มขึ้น และผลักภาระต้นทุนให้แก่สังคม

พอร์เตอร์ ให้มุมมองอีกด้านหนึ่งว่า เป็นเพราะกิจการนั้นๆ ต่างหาก ที่ดำเนินงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น จึงได้มีของเสียหรือมลภาวะออกมาสู่ภายนอก ซึ่งหากกิจการพัฒนาวิธีการที่สามารถบริหารทรัพยากรและจัดการกระบวนการผลิตหรือกระบวนการอื่นๆ ในธุรกิจ จนไม่มีของเสียหรือของเหลือทิ้ง (หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้) ต้นทุนในการจัดการผลกระทบสู่ภายนอกก็เป็นศูนย์ ในระยะยาว ธุรกิจจะมีกำไรเพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในเชิง Trade-off อีกต่อไป

พอร์เตอร์ ย้ำว่า คุณค่าร่วม คือ คำตอบของการจัดการกับปัญหา Externality ที่สามารถยังประโยชน์ให้แก่กิจการและสังคม (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) ควบคู่ไปพร้อมกัน

สำหรับท่านที่สนใจวีดิทัศน์บันทึกงานประชุมสุดยอด 2018 Shared Value Leadership Summit สามารถติดตามย้อนหลังได้ที่ https://summit.sharedvalue.org/


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]