Monday, May 07, 2018

สังคมแห่งการชี้นำ

ปรากฏการณ์ทางสังคมในแต่ละยุคสมัย สามารถอธิบายได้ด้วยการค้นหาตัวแปร หรือปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อพฤติกรรมของวิถีชีวิตผู้คนโดยส่วนใหญ่ในยุคสมัยนั้น ๆ

บทความนี้ไม่ได้เกิดจากการวิจัยทางวิชาการ แต่เป็นการประมวลการรับรู้ของผู้เขียน ในฐานะคนในสังคมคนหนึ่ง ที่ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนย้ายจากสังคมอุตสาหกรรมสู่สังคมสารสนเทศ และได้ก้าวย่างสู่ยุคของสังคมแห่งการชี้นำในปัจจุบัน

เริ่มต้นจากการเคลื่อนย้ายของสังคมเกษตรกรรม (agricultural) หรือยุค 1.0 เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม (industrial) หรือยุค 2.0 ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลักคือ เทคโนโลยีที่มาช่วยขยายขีด หรือกำลังการผลิต ส่งผลให้เกิดการแปรรูปผลผลิตขนานใหญ่ เกิดรูปแบบบริการใหม่ ๆ ในวงจรเศรษฐกิจ ศาสตร์ทางด้านการตลาด และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อโน้มน้าวให้เกิดการซื้อ (ที่มากเกินความจำเป็น) รองรับกับปริมาณสินค้าที่สามารถผลิตได้คราวละมาก ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นในยุคนี้

การเข้าสู่สังคมสารสนเทศ (information) หรือยุค 3.0 เกิดจากปัจจัยหลักคืออินเทอร์เน็ตที่เอื้อให้เกิดเครือข่ายแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ เป็น “การเชื่อมต่อระหว่างข้อมูล” ซึ่งคนทั้งโลกสามารถเข้าถึง และแลกเปลี่ยนกันได้โดยง่าย ก่อให้เกิดเป็นโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายทุนในระบบเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะทุนที่สามารถแปลงเป็นบิตข้อมูล เช่น เงิน ทรัพย์สินทางปัญญา) รวมถึงการค้าขายแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับสังคมที่เกิดต่อจากยุคสารสนเทศ มีผู้สันทัดกรณีบัญญัติศัพท์ไว้หลากหลาย อาทิ ยุคสร้างสรรค์ หรือ creative ยุคความเป็นส่วนบุคคล หรือ personalization ยุคประสบการณ์ หรือ experience ยุคปฏิสัมพันธ์ หรือ interaction ยุคการมีส่วนร่วม หรือ participation ยุคการร่วมทำงาน หรือ collaboration ยุคแบ่งปัน หรือ sharing ยุคการแนะนำ หรือ recommendation ฯลฯ (ศัพท์คำหลังนี้ พูดให้เข้าใจง่าย คือ ยุคที่ต้องพึ่งพาการรีวิว จากทั้งผู้รู้และผู้ใช้ เนื่องจากมีสินค้าเฟ้อเต็มตลาด)

ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมยุค 4.0 เกิดจากปัจจัยหลักคือสื่อสังคมออนไลน์ ที่เอื้อให้เกิด “การเชื่อมต่อระหว่างบุคคล” เป็นเครือข่ายของชุมชนขนาดใหญ่ที่ไร้พรมแดน พัฒนาจากการสื่อสารข้อมูล ขยายวงมาสู่การแพร่กระจายของความคิดเห็น ซึ่งศัพท์ที่ผมคิดว่าเหมาะสมในการหยิบมาใช้ สะท้อนปรากฏการณ์ของยุค 4.0 คือ การเคลื่อนย้ายสู่สังคมชี้นำ (influence) ด้วยความเห็นของผู้ที่เรา (ในฐานะ fan, friend, follower) ให้การยอมรับหรือที่เราอยากคล้อยตามเป็นหลัก (ถูกหรือไม่ถูก เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ไม่ใช่ว่าเรื่องการชี้นำ เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคที่มีสื่อสังคมออนไลน์ การใช้อิทธิพลโน้มน้าวผู้คน มีมาก่อนที่จะเกิดเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ แต่ด้วยเหตุที่สื่อสังคมออนไลน์ เป็นปัจจัยหลักที่เอื้อให้เกิดการสื่อความเห็นเพื่อโน้มน้าวผู้คนได้คราวละมาก ๆ ผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่ทุกคนมีติดตัว ทำให้เข้าถึงได้ทะลุทะลวงกว่าสื่อติดโต๊ะ อย่างสิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์ หรือสื่อติดห้อง อย่างวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อติดป้าย อย่างแบนเนอร์ บิลบอร์ด (ปรากฏการณ์นี้คล้ายคลึงกับการแปรรูปผลผลิตที่มีอยู่แล้วในยุคเกษตรกรรม แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการแปรรูปได้คราวละมาก ๆ จึงวิวัฒนาการมาเป็นยุคอุตสาหกรรม)

จะชอบหรือไม่ก็ตาม สังคมได้เคลื่อนเข้าสู่ยุคที่ผู้คนมีแนวโน้มที่จะใฝ่หาความ “ถูกใจ” ก่อนความ “ถูกต้อง” อย่างเปิดเผย และยิ่งไปกว่านั้น ยังพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยอมละเมิดกฎเกณฑ์ที่วางไว้แต่เดิม เพื่อให้ความถูกใจของตนหรือของกลุ่ม ได้รับความชอบธรรม แม้จะไม่ถูกต้องก็ตาม


สรุปความได้ว่าผลของวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในทั้ง 4 ยุค ผลักดันให้ผู้คนแสวงหาและสะสม “ทรัพยากร” ที่มีค่าในยุคแรก (agricultural age) อาศัยกระบวนการผลิตที่ทันสมัย แปรรูปทรัพยากรให้เป็น “สินค้า” ที่มีค่าในยุคที่สอง (industrial age) ซึ่งเป็นวิวัฒนาการในเชิงกายภาพ (physical) กับสิ่งของบริการที่มีรูปหรือสัมผัสได้

ตามมาด้วยการสร้างและสะสม “ข้อมูล” ที่มีค่าในยุคที่สาม (information age) และได้อาศัยกระบวนการประมวลข้อมูล สังเคราะห์ให้เป็น “ความเห็น” ที่มีค่าในยุคปัจจุบัน (influence age) ถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการในเชิงตรรกะ (logical) กับสิ่งที่ไม่มีรูปหรือรับรู้ได้ผ่านความเข้าใจ

เรื่องที่น่าสนใจต่อไปคือในห้วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ได้เริ่มมีการก่อตัวของแบบแผนที่เป็นเค้าลางของสังคมยุค 5.0 ที่เราสามารถนำวิวัฒนาการในอดีตทั้ง 4 ยุค มาพยากรณ์รูปแบบของสังคมในยุคหน้า ซึ่งผมจะขออนุญาตนำมาเสนอในโอกาสต่อไป


จากบทความ 'Social Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

No comments: