Saturday, January 29, 2022

การประเมิน ESG ทำอย่างไร

ปัจจุบัน กิจการที่หวังจะให้การดำเนินธุรกิจของตนได้รับการยอมรับจากสังคม และมีหลักทรัพย์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุน หนีไม่พ้นที่จะต้องได้รับการประเมินเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) จากหน่วยงานประเมินภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือและมีความเป็นกลางในการประเมิน ปลอดจากการแทรกแซงโดยกิจการที่ถูกประเมิน

จากผลการสำรวจหน่วยงานผู้ประเมินและจัดอันดับด้าน ESG ทั่วโลก พบว่า มีอยู่มากกว่า 600 แห่ง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของตลาด (SustainAbility, 2020)

โดยที่แต่ละสำนักผู้ประเมิน ต่างก็มีระเบียบวิธีและเกณฑ์ที่ใช้ประเมินแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดความยากลำบากทั้งกับองค์กรผู้เป็นเจ้าของข้อมูลที่ถูกประเมิน และกับผู้ลงทุน รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจ ในการใช้ประโยชน์จากผลประเมินที่ได้รับ

และปฏิเสธไม่ได้ว่า ในงานวิจัยหลายชิ้น บ่งชี้ว่า ผลประเมินด้าน ESG ของกิจการ จากหน่วยงานผู้ประเมินที่นำมาศึกษา ไม่พบว่ามี สหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างผลประเมินในกิจการเดียวกัน ของบรรดาองค์กรผู้ทำการประเมิน (ssrn.3438533, 2022)

กลายเป็นว่า ผู้ใช้ข้อมูล จำเป็นต้องทำการ “ประเมิน ผู้ประเมิน” (Rate the Raters) ก่อนที่จะนำข้อมูลประเมินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์

ข้อพิจารณา 3 ประการ ในการประเมินผู้ประเมินว่าจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ได้แก่ คุณภาพในการประเมินและกระบวนการประเมิน ประกอบด้วยการพิจารณาเกณฑ์และหลักการที่ใช้ในการประเมิน ความครอบคลุมในการประเมิน ประกอบด้วยปริมาณข้อมูลและประชากรที่ใช้ในการประเมิน รวมทั้งผลลัพธ์ของการประเมิน ประกอบด้วย ความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผล (Causation) ระหว่างผลการดำเนินงานด้าน ESG กับผลประกอบการและผลกระทบสู่ภายนอก

ตัวอย่างเกณฑ์ในการประเมิน ที่สถาบันไทยพัฒน์นำมาใช้ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ประกอบด้วย

การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม
การพิจารณาวิธีการที่บริษัทใช้ระบุและจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG
การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กร

และที่สำคัญ การประเมินกิจการด้าน ESG ด้วยชุดประเด็นเดียวกัน โดยปราศจากการคำนึงถึงบริบทของประเภทธุรกิจ จะไม่สามารถสะท้อนผลประเมินตามที่เป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์

ตัวอย่างชุดประเด็นด้าน ESG ที่สถาบันไทยพัฒน์นำมาใช้ในระเบียบวิธีการประเมิน โดยจำแนกตามกลุ่มธุรกิจ ได้แก่

กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วย ประเด็นการจัดการด้านพลังงานและทรัพยากรน้ำ ประเด็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นความปลอดภัยทางอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ ประเด็นการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และการสื่อสารการตลาด และประเด็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์

กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย ประเด็นการจัดการด้านพลังงาน ประเด็นความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ ประเด็นการจำกัดการใช้สารเคมีอันตรายในตัวผลิตภัณฑ์ ประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และประเด็นนวัตกรรมและการสรรหาวัตถุดิบในการผลิต

กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย ประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ประเด็นการให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสและคำแนะนำที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า ประเด็นการบริหารความเสี่ยงเชิงระบบ ประเด็นการบริหารสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และประเด็นการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ประเด็นการจัดการด้านพลังงาน น้ำ มลอากาศ และของเสีย ประเด็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ ประเด็นการจัดการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสถานการณ์ฉุกเฉิน และประเด็นการสรรหาวัสดุ

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วย ประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนาโครงการ ประเด็นการใช้ที่ดินและผลกระทบทางนิเวศ ประเด็นการจัดการด้านพลังงาน น้ำ และของเสีย ประเด็นความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และประเด็นจริยธรรม และความโปร่งใสในการให้บริการ

กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย ประเด็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นการจัดการมลอากาศ น้ำทิ้ง และของเสียอันตราย ประเด็นการจัดการผลกระทบทางนิเวศ และชุมชน ประเด็นการเตรียมความพร้อมและแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน/ภัยพิบัติ และประเด็นการบริหารสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มบริการ ประกอบด้วย ประเด็นประสิทธิภาพการใช้พลังงาน น้ำ และการจัดการของเสีย ประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประเด็นการจัดการด้านความปลอดภัยและอุบัติภัย ประเด็นการต้านทุจริตและติดสินบน และประเด็นการบริหารคุณภาพในโซ่อุปทาน

กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วย ประเด็นฟุตพริ้นท์ทางสิ่งแวดล้อม ประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ประเด็นการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน ประเด็นพฤติกรรมการแข่งขันและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และประเด็นการสรรหาวัสดุ การจัดการโซ่อุปทาน และซากผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ การประเมิน ESG ควรต้องตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไปด้วย ทำให้การระบุความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผล ระหว่างผลการดำเนินงานด้าน ESG กับผลประกอบการ จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามในกระบวนการประเมิน ESG ที่ดี


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, January 15, 2022

ESG... ย่างก้าวสู่ "ความยั่งยืน" ปี 2565

ในวันนี้ เรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) ได้กลายเป็นคำที่องค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน นิยมนำมาเป็นหัวเรื่องที่ใช้สื่อสารกับสาธารณชน ในบริบทของการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในระยะยาว

ในระดับโลก องค์การสหประชาชาติ ได้มีการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ โดยมีกำหนดระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายไว้ ในปี ค.ศ.2030 หรืออีกไม่ถึง 8 ปีนับจากนี้

ในภาคเอกชน ได้มีองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานผู้กำกับดูแล และองค์กรผู้กำหนดมาตรฐาน ออกแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเผยแพร่ให้แก่ภาคเอกชนสำหรับดำเนินการ โดยหนึ่งในนั้น คือ แนวทางและชุดตัวชี้วัด WFE ESG Metrics ที่จัดทำขึ้นโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges) สำหรับแนะนำให้บริษัทจดทะเบียนใช้เป็นตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ให้แก่ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนจำนวน 739 กิจการ รวมทั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ และรัฐวิสาหกิจ อีกจำนวน 87 แห่ง รวมทั้งสิ้น 826 กิจการ

ผ่าน 2.2 ก้าว เพื่อไปให้ถึง 10 ก้าว
ตามผลการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ ESG Disclosure จาก 826 กิจการ พบว่า มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 2.2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราได้เดินมาแล้ว 2.2 ก้าว และหากต้องการบรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลา SDGs ในปี ค.ศ.2030 เราจะต้องก้าวย่างไปข้างหน้าอีกปีละ 1 ก้าว อย่างต่อเนื่องสะสม

โดยที่ด้านธรรมาภิบาล มีความก้าวหน้ามากสุดที่ 3.88 ก้าว รองลงมาเป็นด้านสังคม 1.78 ก้าว และด้านสิ่งแวดล้อม 0.94 ก้าว ตามลำดับ

หากวิเคราะห์ข้อมูลย่างก้าวของกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่มีความก้าวหน้ามากสุดในด้านธรรมาภิบาล ได้แก่ กลุ่มธุรกิจบริการ อยู่ที่ 4.32 ก้าว ขณะที่ กิจการซึ่งมีความก้าวหน้ามากสุดในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดยด้านสังคมอยู่ที่ 2.66 ก้าว และด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 2.1 ก้าว ตามลำดับ

3 ปัจจัย ESG ที่ต้องเร่งเติมเต็ม
ในผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัจจัย ESG ที่อ้างอิงตามแนวทางและชุดตัวชี้วัดพื้นฐานของ WFE ที่กิจการควรดำเนินการได้ทั้งหมด จำนวน 30 ตัวชี้วัด

จากผลสำรวจพบว่า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการเปิดเผยต่ำสุด ได้แก่ ข้อมูลงบลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Mitigation) ขณะที่ ปัจจัยด้านสังคมซึ่งควรต้องมีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลด้านการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) ส่วนปัจจัยด้านธรรมาภิบาลซี่งไม่พบว่ามีการเปิดเผยโดยกิจการที่ทำการสำรวจ ได้แก่ ข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนจูงใจ (Incentivized Pay) บุคลากรในระดับบริหาร ที่มีการผูกโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

ปัจจัย ESG ที่องค์กรควรดำเนินการ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กิจการสามารถช่วยเติมเต็ม หรือปิดช่องว่าง (Gap) การดำเนินงานด้าน ESG เพื่อตอบสนองต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นับจากปี ค.ศ.2022 นี้ เป็นต้นไป ได้ด้วยการถามตนเองว่า

-กิจการมีงบลงทุนประจำปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐาน การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศหรือไม่
-กิจการมีข้อพึงปฏิบัติตามนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ และ/หรือนโยบายการป้องกันการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศหรือไม่
-กิจการมีการกำหนดค่าตอบแทนจูงใจโดยนำผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาพิจารณาให้แก่ผู้บริหาร หรือไม่

ย่างก้าวสู่ความยั่งยืน เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ตามแนวทาง ESG เป็นเสมือนภาษากลาง สำหรับใช้สื่อสารระหว่างองค์กรธุรกิจกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ให้รับทราบถึงผลการดำเนินงานทางธุรกิจและผลกระทบทางบวกที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิผลและเห็นพ้องต้องกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, January 01, 2022

เปิดผลสำรวจ ESG ธุรกิจไทย ปี 64

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ได้นำคำ ESG (Environmental, Social and Governance) มาใช้สื่อสารกับสาธารณะ ต่อสิ่งที่กิจการมีการดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มากขึ้น จนกลายเป็นคำสามัญที่ใช้แสดงถึงการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของภาคธุรกิจไปโดยปริยาย

สิ่งที่องค์กรธุรกิจมีร่วมกัน โดยสะท้อนออกมาจากถ้อยแถลงของผู้บริหารระดับสูงและจากคณะกรรมการบริษัท คือ เจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินการต่อเรื่อง ESG แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างกัน คือ ขีดความสามารถในการแปลงเจตนา (Intention) ให้ไปสู่การกระทำ (Action) ตามที่ได้แถลงไว้

การวัดขีดความสามารถในเรื่องดังกล่าว จะประกอบด้วยส่วนที่เป็นผลการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG Performance กับส่วนที่เป็นการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานนั้นๆ หรือ ESG Disclosure ตามที่เป็นจริง

สิ่งที่มักพบเห็น มีทั้งกรณีปกติ คือ กิจการได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์และเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการดังกล่าว กับกรณีที่กิจการมิได้ดำเนินการจึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และกรณีที่ไม่ปกติ เช่น กิจการมีการดำเนินการในเรื่อง ESG แต่มิได้เปิดเผยข้อมูลตามที่ได้ดำเนินการ กับกรณีที่กิจการมิได้ดำเนินการตามที่แถลง แต่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าได้ดำเนินการ หรือมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

ผลสำรวจปี 64 มาจากทุก บจ. ในตลาดฯ
ในปี 2564 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของกิจการและหลักทรัพย์จดทะเบียน จำนวน 826 ราย ประกอบด้วย บจ. ในตลาด SET 563 ราย ในตลาด mai 176 ราย และอื่นๆ* อีก 87 ราย พบว่า การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ด้านสังคม 61.2% ด้านเศรษฐกิจ 22.35% และด้านสิ่งแวดล้อม 16.45% ตามลำดับ

หากวิเคราะห์ข้อมูลกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่ได้คะแนนการดำเนินงาน ESG รวมสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กิจการในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร รองลงมาเป็นกิจการในกลุ่มทรัพยากร และกลุ่มธุรกิจการเงิน ตามลำดับ

สำหรับประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ 88.13% การจ้างงาน 84.83% อาชีวอนามัยและความปลอดภัย 62.8% ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม ตามลำดับ

ไฮไลต์ผลสำรวจ ESG ที่น่าสนใจ
ผลการสำรวจโดยใช้ประเด็นความยั่งยืนที่อ้างอิงจากมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) พบว่ามีเพียง 3.03% ที่มีการรายงานเรื่องข้อปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement Practices) และมีมากถึง 84.17% ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นมลอากาศ (Emissions) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีไม่ถึง 7.39% ที่มีการเปิดเผยเรื่องการประเมินสิทธิมนุษยชน (Human Rights Assessment)

ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัจจัย ESG ที่อ้างอิงตามแนวทางและชุดตัวชี้วัดของ WFE (World Federation of Exchanges) จากผลสำรวจพบว่า มากถึง 90.6% ไม่มีการรายงานเรื่องงบลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Mitigation) และมีเพียง 38.79% ที่มีการรายงานเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) และไม่พบว่ามีบริษัทใดที่มีการรายงานเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนจูงใจ (Incentivized Pay) โดยนำผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาพิจารณาให้แก่ผู้บริหาร

และเมื่อสำรวจข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อ SDGs ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดย ISAR (International Standards of Accounting and Reporting) พบว่า ยอดการลงทุนสีเขียวของกิจการที่มีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 7 (ด้านพลังงาน) มีมูลค่าราว 158,528 ล้านบาท ขณะที่ยอดการลงทุนชุมชน ซึ่งตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 17 (ด้านหุ้นส่วนความร่วมมือ) มีมูลค่าราว 8,960 ล้านบาท และไม่มีองค์กรใดเลยที่มีการเปิดเผยข้อมูลชั่วโมงการฝึกอบรมด้านการต้านทุจริต ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจใช้ตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 16 (ด้านสังคมและความยุติธรรม)

ข้อมูลผลสำรวจข้างต้น สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดเวทีรายงาน “ผลการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย ปี 2564” และการเสวนา “ESG Metrics: ตัวชี้วัดธุรกิจวิถียั่งยืน” เมื่อเร็วๆ นี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถรับชมวีดิทัศน์ย้อนหลัง และดาวน์โหลดเอกสารที่นำเสนอในเวทีทั้งสองช่วง ที่เว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


--------------------------------------
* ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ และรัฐวิสาหกิจ



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]